ThaiPublica > คอลัมน์ > เหนื่อย เบื่อ แย่ เครียด – ส่องสุขภาพจิตคนรุ่นใหม่ในยุคโควิด-19

เหนื่อย เบื่อ แย่ เครียด – ส่องสุขภาพจิตคนรุ่นใหม่ในยุคโควิด-19

16 พฤษภาคม 2022


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

30 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นวันเกิดวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ แล้ว ยังเป็นวันเวิลด์ไบโพลาร์อีกด้วย ตัวผมเองดีใจมากที่หันมาสนใจเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น ทั้งดีต่อตัวเองและดีต่อคนรอบข้าง ปีนี้นอกจากงานที่บริษัทและเทศกาลหนังสั้นนักเรียนนักศึกษา fuse.film festival 2022 ที่เพิ่งจบไป ก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เพื่อสร้างพื้นที่ออนไลน์ดูแลสุขภาพใจวัยรุ่นชื่อ CLUB WELLNESS ทำให้ได้อ่านความกังวลมากมายของคนรุ่นใหม่

สุขภาพจิตยังคงถูกปฏิบัติแตกต่างจากสุขภาพกาย เวลาป่วยทางใจไม่เหมือนป่วยทางกายที่มีคนเอาดอกไม้ไปให้ เอากระเช้ามาเยี่ยม อีกเช่นกัน เรามักตรวจสุขภาพกายเป็นประจำ แต่กับสุขภาพจิต เราดันปล่อยปละละเลย พอทำงานด้านนี้ก็ได้เห็นว่า คนในสังคมยอมรับว่าตัวเองเป็นซึมเศร้าได้มากขึ้น และกล้าไปหาจิตแพทย์กันมากขึ้น ซึ่งเป็นสถิติที่น่าดีใจมาก

แต่ในขณะที่โรคซึมเศร้าถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย โรคไบโพลาร์กลับกลายเป็นคำไว้ด่าและความไม่เข้าใจ ทำให้คนยังไม่รู้จักโรคไบโพลาร์เท่าโรคซึมเศร้า เลยเป็นหนึ่งในประเด็นที่อยากทำงานในช่วงต่อไป และอยากให้องค์กรต่างๆ เห็นความสำคัญกับโรคนี้เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้าและโรคอื่นๆ

ภาวะวิกฤติโควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเรียน การสอน การใช้ชีวิต และสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนอีกด้วย ทั้งต้องเรียนออนไลน์ หรือกลับมาเรียนที่บ้าน ต้องปรับตัวเพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัว รวมทั้งยังสร้างความกังวลใจให้เด็กเยาวชนเกิดความเครียด ความรู้สึกไม่แน่นอน มีปัญหาในการเข้าสังคม และปัญหาทางใจที่ไม่อาจมองข้ามได้

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/groups/clubwellnessthailand

ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่ม CLUB WELLNESS จึงได้จัดทำแบบสำรวจสุขภาพใจวัยรุ่น โดยสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตของเยาวชนไทยช่วงวัย 12-17 ปี และ 18-22 ปีในพื้นที่อินเทอร์เน็ต เกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิตต่อมิติโดยรวม, การอยู่ร่วมกับครอบครัว, การเรียน, ความสัมพันธ์กับเพื่อน และความคิดเห็นที่มีต่อสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านกลุ่มตัวอย่างราว 1,400 คนทั่วประเทศไทย ผมจึงอยากนำสิ่งที่ได้มาแชร์กับผู้อ่านทุกท่านกัน

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า เยาวชนกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุ 12-17 ปี รู้สึกไม่แน่ใจว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่กว่า 43.6% สะท้อนให้เห็นว่า สังคมยังไม่มีเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กวัยประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้ประเมินความแข็งแรงทางสุขภาพจิตของตนเอง และมีเยาวชนเพียง 31.7% ที่ระบุว่าตนเองสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้ ในขณะที่อีกกว่า 70% ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้อย่างสะดวก รวมทั้งมีกลุ่มตัวอย่างราว 10% ที่ระบุว่า ไม่มีความหวังในการได้รับบริการสุขภาพจิตเลย

ในขณะที่เยาวชนกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุ 18-22 ปีราว 38% ระบุว่า มีปัญหาสุขภาพจิตแต่ยังดูแลตนเองได้อยู่ ขณะที่มีกลุ่มซึ่งไม่แน่ใจว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่กว่า 41.6% โดยทั้ง 2 กลุ่มระบุตรงกันว่า ต้องใช้ความพยายามหากต้องใช้บริการด้านสุขภาพจิต

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เยาวชนเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพจิต เกิดจากทัศนคติของผู้ปกครองที่ไม่สนับสนุนการเข้าพบจิตแพทย์ ส่วนเหตุผลรองเกิดจากการอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การทำนัดในเวลาราชการที่ตรงกับช่วงที่มีเรียน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิต

ในทางกลับกัน เยาวชนที่นิยามว่าตนเองสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้นั้นระบุสาเหตุว่า ผู้ปกครองสนับสนุนการพบจิตแพทย์ รวมถึงตนเองมีความเปิดกว้างและเชื่อมั่นใจการรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ กลุ่มคำที่เยาวชนไทยที่ร่วมทำการสำรวจได้เลือกให้นิยามความรู้สึกต่อปีที่ผ่านมา พบว่า คำที่ถูกเลือกมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ “เหนื่อย-เบื่อ-แย่-เครียด” และพบว่า เยาวชนได้รับผลกระทบจากนโยบายการเรียนจากที่บ้าน ซึ่งไม่ได้มีเพียงผลกระทบต่อด้านการเรียน แต่ยังกระทบกับความสัมพันธ์กับคนรอบตัว โดยเฉพาะการไม่มีโอกาสได้พบเพื่อนใหม่ หรือทำกิจกรรมทางสังคมกับคนในวัยเดียวกัน

หนึ่งในเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก CLUB WELLNESS ได้แก่ ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจนักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง และผู้ให้คำปรึกษาประจำเฟซบุ๊กแฟนเพจ CLUB WELLNESS กลุ่มแบ่งปันพลังใจ กล่าวว่า…

สถานการณ์ในขณะนี้ไม่ง่ายสำหรับใครเลย การประคองตัวเองให้ยืนระยะได้นานที่สุดเป็นวิธีที่จะพาเราผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ และที่สำคัญ ไม่อยากให้คาดหวังว่าการเรียนการสอน เกรดเฉลี่ย จะเป็นตัวกำหนดชีวิตเรา

“เหนื่อย-เบื่อ-แย่-เครียด” นอกจากเป็น 4 คำที่สะท้อนว่าวัยรุ่นไทยกำลังต้องเผชิญกับแรงกดดันในการใช้ชีวิตที่มากขึ้นแล้ว ยังชวนให้คิดอีกว่า ท่ามกลางบรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. แม้ประชากรกลุ่มคนรุ่นใหม่จะเป็นหนึ่งในฐานเสียงสำคัญที่ทุกผู้สมัครต่าง “ปรับลุค” เพื่อช่วงชิงตลาดประชากรดังกล่าว แต่นอกจากนโยบายด้านพื้นที่ทางกายภาพ เช่น การส่งเสริมพื้นที่สาธารณะ กิจกรรมกลางแจ้ง เส้นทางจักรยาน ศูนย์สุขภาพกายแล้ว ก็ยังไม่เห็นนโยบายหรือข้อเสนอที่จะช่วยสนับสนุนสุขภาพใจใดๆ เลย

จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อไปว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตที่วัยรุ่นแทบทุกคนกำลังเผชิญอยู่นั้น จะมีพื้นที่ส่งเสียงในทางการเมือง หรือฝังอยู่ในพันธกิจขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาหรือไม่ แม้เราจะมีนักการเมืองที่อายุน้อยลงกว่าแต่ก่อนก็ตาม