ThaiPublica > คอลัมน์ > วิกฤติโควิด-19 กับปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย

วิกฤติโควิด-19 กับปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย

29 มิถุนายน 2021


ธนิสา ทวิชศรี [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
บุญธิดา เสงี่ยมเนตร [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEdฉบับเต็มเรื่อง “วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติคน” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (https://www.pier.or.th/)

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2021/05/SadWoman.png

ในวิกฤติเศรษฐกิจแต่ละครั้ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีคือ ภาคธุรกิจที่ได้รับความเสียหาย บางบริษัทถึงขั้นล้มละลาย ขณะที่บางบริษัทลดจำนวนลูกจ้างทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก แต่ภัยเงียบที่ยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก คือ “ความเครียด” ซึ่งตามมาด้วย “ปัญหาสุขภาพจิต” อันเนื่องมาจากรายได้ที่ลดลงหรือถูกให้ออกจากงาน เป็นต้น

ส่วนวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ก็มาพร้อมกับความท้าทายทางด้านสุขภาพจิต เนื่องจากประชาชนเกือบทั้งประเทศต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น การปิดเมือง การรักษาระยะห่าง และการกักตัวหากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนว่าวิกฤติครั้งนี้จะยาวนานเพียงใดและจะจบลงอย่างไร

รูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่าอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงมากหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 จากช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงในประชากรชาย และประชากรในช่วงอายุ 30–49 ปี อย่างไรก็ดี หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งจบลงไป อัตราการฆ่าตัวตายก็ได้ปรับตัวลดลง

สำหรับวิกฤติโควิดครั้งนี้ กรมสุขภาพจิตแถลงว่า ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของวิกฤติ อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติในปี 2540 และอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยทั้งปี 2563 ยังเพิ่มขึ้นถึง 7.3 คนต่อประชากร 1 แสนคน จาก 6.64 คนต่อประชากร 1 แสนคนในปีก่อนหน้า

บทความนี้ได้ทบทวนงานศึกษาที่ผ่านมาและใช้ประโยชน์จาก 4 ชุดข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลจากทางการที่รายงานโดยกรมสุขภาพจิต ข้อมูลสำรวจสวัสดิการและอนามัยโดยสำนักงานสถิติ ดัชนีสืบค้น Google (Google Search Index) และข้อมูลการคัดกรองด้านสุขภาพจิตจากสถานการณ์โควิดโดยกรมสุขภาพจิต มาช่วยฉายภาพสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงประมวลสถานการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตของประชากรในช่วงโควิด-19 ซึ่งได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ 5 ประการดังนี้

1. ปัญหาสุขภาพจิตและผู้รับบริการทางด้านสุขภาพจิตในไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้เข้ารับบริการกลับลดลงจากปีก่อนในปี 2563

จากข้อมูลสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนประชากรไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เราพบว่าสัดส่วนผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและจิตเภทปรับตัวสูงขึ้นจาก 27 คนต่อประชากร 1 หมื่นคนในปี 2552 เป็น 34 คนต่อประชากร 1 หมื่นคนในปี 2562 และสัดส่วนผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2 เป็น 5 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน

นอกจากนี้ จากข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการทางการแพทย์กับหน่วยงานในสังกัดของกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ เรายังพบว่า จำนวนผู้ป่วยรวมที่เข้ารับบริการทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวในช่วงหกปีที่ผ่านมา

จาก 1.4 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.7 ล้านคนในปี 2563 และหากพิจารณาจำนวนผู้ป่วยแยกตามประเภทโรคในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการติดแอลกอฮอล์และสารเสพติดอื่นๆ เพิ่มขึ้นถึง 8–10 เท่าตัว ผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองเพิ่มขึ้น 5 เท่า โรคทางจิตเวชอื่นๆ 2.5 เท่า และโรคซึมเศร้า 1.5 เท่า อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ป่วยโรคจิตเภทและโรควิตกกังวลโดยรวมน้อยลง

การที่จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอาจจะมาจากการที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น หรือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเข้ารับบริการทางการแพทย์มากขึ้นก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี ในปี 2563 จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการกลับลดลงเล็กน้อยจากปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการปิดเมืองทำให้ผู้ป่วยบางคนไม่ได้เข้ารับการบริการอย่างต่อเนื่อง หรือบางคนอาจมีปัญหาสุขภาพจิตแต่ไม่ได้เข้ารับบริการ เพราะหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบาด

2. Doctor Google: คนใช้ Google ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าสูงขึ้น

นอกจากข้อมูลทางการจากกรมสุขภาพจิตและข้อมูลสำรวจแล้ว เราได้ลองใช้ Google Search Index มาเป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลเพื่อพิจารณาสถานการณ์สุขภาพจิตในไทย ในยุคนี้มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Doctor Google” นั่นคือ คนใช้ Google เพื่อสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ เพื่อวินิจฉัยตนเองมากขึ้น งานวิจัยใหม่ๆ จึงได้นำ Google Search Index มาเป็นตัวชี้วัด (proxy) การเกิดโรคระบาด โดยนักวิจัยพบว่าปริมาณการสืบค้นเกี่ยวกับโรคจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ป่วย เช่น ในช่วงฤดูไข้หวัดก็มีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับไข้หวัดเพิ่มมากขึ้น

เราได้กำหนดเกณฑ์คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต 5 คำ ได้แก่ 1) โรคเครียด 2) วิตกกังวล 3) โรคซึมเศร้า 4) โรคนอนไม่หลับ และ 5) ฆ่าตัวตาย พบว่า คำค้นหาที่มีปริมาณมากที่สุดสองอันดับแรก คือ “ฆ่าตัวตาย” และ “โรคซึมเศร้า”

โดยตลอดทั้งอนุกรมมีปริมาณการค้นหา “ฆ่าตัวตาย” มากที่สุด แต่ในช่วงปี 2560–2563 กลับพบปริมาณการค้นหา “โรคซึมเศร้า” มากที่สุด ซึ่งดัชนีสืบค้น “โรคซึมเศร้า” มีปริมาณการสืบค้นเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา (รูปที่ 2)

เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจากข้อมูลสำรวจ และจำนวนผู้ใช้บริการทางการแพทย์ที่เป็นโรคซึมเศร้า พบว่า ดัชนีสืบค้นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นมากกว่าหลายเท่าตัวในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งหากมีผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตินี้ แต่ไม่ได้รับบริการทางการแพทย์เพราะมาตรการปิดเมืองหรือการหลีกเลี่ยงไปโรงพยาบาล ในระยะยาวก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า ปัญหาสุขภาพจิตอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาหนี้ ปัญหาการพนัน ความรุนแรงในครอบครัว หรือการฆ่าตัวตาย

3. ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นพร้อมกับความไม่แน่นอนที่มากขึ้น

งานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศพบว่า ภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงมีผลลัพธ์ทางลบต่อสุขภาพจิตและส่งผลให้มีอัตราการตายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น การศึกษาที่ผ่านมายังพบว่า คนที่เผชิญความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานและบทบาททางอาชีพ มักรายงานว่าสุขภาพจิตของตนเองแย่ลงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

นอกจากนี้ ความอดทนต่อความไม่แน่นอน (tolerance to uncertainty) ก็เป็นบุคลิกส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะสุขภาพจิต โดยมีงานศึกษาที่พบว่า ผู้ที่มีระดับความอดทนต่อความไม่แน่นอนต่ำมีสัดส่วนป่วยด้วยอาการโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในช่วงปิดเมือง โดยมีความกลัวและวิตกกังวลเกี่ยวกับโควิดเป็นปัจจัยหลักของความไม่แน่นอน

ความไม่แน่นอนที่มาพร้อมกับวิกฤติครั้งนี้จึงเป็นอีกปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต เราจึงได้ลองนำดัชนีสืบค้น “โรคซึมเศร้า” มาพิจารณาควบคู่กับดัชนีความไม่แน่นอนระดับภาพรวมในประเทศไทย 3 ด้าน ได้แก่

  • ความไม่แน่นอนทางการเงิน (financial uncertainty)
  • ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาค (macroeconomic uncertainty)
  • ความไม่แน่นอนทางการเมือง (political uncertainty)

และพบว่า ดัชนีสืบค้นโรคซึมเศร้ามีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับดัชนีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาคและทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเงิน แต่อาจไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองมากเท่าใดนัก

4. มาตรการปิดเมือง กักตัวเพื่อลดโรคระบาด ส่งผลต่อสุขภาพจิต

งานศึกษาที่ทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับผลของการกักตัวต่อสุขภาพจิตทั้งช่วงก่อนวิกฤติโควิดและในช่วงเกิดวิกฤติ พบว่าผู้ที่โดนกักตัวมักมีอาการผิดปกติทางจิตเพิ่มขึ้น เช่น ความวุ่นวายทางอารมณ์ ความกลัว วิตกกังวลใจ ซึมเศร้า โมโหง่าย นอนไม่หลับ และมีภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง งานวิจัยจากหลายๆ ประเทศ ที่มีการปิดเมือง เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อิตาลี และสวีเดน ก็พบปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงการปิดเมือง เช่น มีอาการวิตกจริต ซึมเศร้า มีความคิดจะฆ่าตัวตาย หรือการใช้สารเสพติดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง คนหนุ่มสาว อย่างไรก็ดี การให้ไทม์ไลน์ที่ชัดเจนในการปิดเมือง และการให้ข้อมูลถึงประโยชน์ต่อสังคมในการกักตัว สามารถช่วยบรรเทาทุกขภาวะทางจิตใจที่เกิดจากการปิดเมืองหรือกักตัวได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตของคนไทยโดยกรมสุขภาพจิตในช่วงที่มีการแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผู้เข้ารับการคัดกรองด้านสุขภาพจิตทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.79 ล้านราย ตาม 4 อาการ ได้แก่ ผู้มีความเครียดสูง ผู้มีความเสี่ยงซึมเศร้า ผู้มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย และมีภาวะหมดไฟ (burnout)

พบว่า อัตราความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตของผู้ที่เข้ารับการคัดกรองทั้งสี่ด้านนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับภาพสถานการณ์ในต่างประเทศ

5. ผู้ป่วยสุขภาพจิตเดิม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้ติดเชื้อ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มเปราะบางต่อปัญหาสุขภาพจิต

กลุ่มอาชีพบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาดในครั้งนี้ที่น่าจะยังยืดเยื้อต่อไป ยังเป็นอีกกลุ่มที่มีโอกาสพบปัญหาสุขภาพจิตสูงในช่วงวิกฤติครั้งนี้ เพราะต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโควิดโดยตรง เห็นเพื่อนร่วมงานติดโรคระบาด และมีความกังวลที่จะติดโรคระบาดเองหรือนำโรคระบาดไปติดคนรอบข้างต่อ

งานศึกษาในประเทศญี่ปุ่นสำหรับช่วงแรกที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่มีภาวะหมดไฟ ซึ่งมีอาการคาบเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า มีจำนวนมากถึงร้อยละ 30 ของบุคลากรการแพทย์ทั้งหมด โดยพยาบาลเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเป็นผู้มีภาวะหมดไฟสูงที่สุด

จากข้อมูลประเมินสุขภาพจิตฯ ข้างต้น เราพบว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ป่วยสุขภาพจิตเดิมเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางด้านสุขภาพจิตมากที่สุด นอกจากนี้ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้ติดเชื้อ มีสัดส่วนที่มีอาการเครียดสูง อาการเสี่ยงซึมเศร้า และอาการเสี่ยงฆ่าตัวตาย มากกว่ากลุ่มอื่นๆ และยังพบภาวะหมดไฟในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์สูงกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งสอดคล้องกลับงานวิจัยในญี่ปุ่นข้างต้น

ส่งท้าย

งานศึกษาในอดีตและตัวเลขจากแหล่งต่างๆ ในประเทศไทยได้ส่งสัญญาณเตือนว่าวิกฤติครั้งนี้น่าจะทำให้ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากปัจจัยเสี่ยงที่มากขึ้นและการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ลดลงในช่วงการเกิดโรคระบาด ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเห็นว่า เราควรจะต้องเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตอย่างจริงจัง และภาครัฐควรต้องแก้ปัญหาสุขภาพจิตเชิงรุก เช่น การดูแลสุขภาพจิตของกลุ่มเปราะบางให้ทั่วถึง การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น application chat bot หรือ hotline และการใช้เทคโนโลยีพร้อมกับแหล่งข้อมูลใหม่ๆ ในการคัดกรองผู้ที่มีอาการเสี่ยง เช่น การใช้ machine learning ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย หรือโรคซึมเศร้าจากข้อความในโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ ดัชนีสืบค้น หรือ Google Search Index อาจเป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลที่ภาครัฐสามารถนำมาใช้ในการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต (rapid indicator) ได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน มีต้นทุนต่ำ และครอบคลุมผู้ใช้ไปถึงผู้ที่อาจมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต แต่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ซึ่งอาจจะเป็นการช่วยจับควันอย่างทันการณ์ให้ผู้ที่มีปัญหาซึมเศร้า หรือมีปัญหารุนแรงขึ้นไปจนถึงฆ่าตัวตาย ได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที