ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > กกต.ใช้ กม.มาตราไหน ให้ผู้สมัคร ส.ส.เปิด “เฟซบุ๊ก-ยูทูบ” หาเสียงได้ ถือเป็น “เจ้าของสื่อมวลชนอื่นใด” หรือไม่?

กกต.ใช้ กม.มาตราไหน ให้ผู้สมัคร ส.ส.เปิด “เฟซบุ๊ก-ยูทูบ” หาเสียงได้ ถือเป็น “เจ้าของสื่อมวลชนอื่นใด” หรือไม่?

24 มิถุนายน 2023


ยกคำวินิจฉัยศาลฎีกาถาม กกต.ใช้ กม.มาตราไหน ออกระเบียบให้ “พรรคการเมือง-ผู้สมัคร ส.ส.” เปิด “เฟซบุ๊ก – ยูทูบ – Tik Tok” โฆษณาหาเสียงได้ด้วยตนเอง – ถือเป็น “เจ้าของสื่อมวลชนอื่นใด” หรือไม่ “เลขาธิการ กกต.” ทำหนังสือตอบไม่ถือเป็นเจ้าของสื่อมวลชน ตาม รธน. มาตรา 98 (3) – พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) งัด มาตรา 70 ยันให้ใช้เป็นช่องทางในการหาเสียงได้ “ชาญชัย” เล็งฟ้องศาลชี้ขาด

ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว เป็นคดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เขต 2 จังหวัดนครนายก ตัดสิทธินายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนครนายก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างเหตุตรวจพบนายชาญชัยไปถือหุ้นบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “AIS” เพียง 200 หุ้น เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 42 (3) แห่ง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 แม้ศาลฎีกาจะตัดสินให้สำนักงาน กกต. คืนสิทธิในการลงสมัคร ส.ส. ให้กับนายชาญชัยไปแล้ว แต่ก็ยังไม่จบ เนื่องจากนายชาญชัยไปพบหลักฐานรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. 130 คน ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนายชาญชัย จึงทำหนังสือไปสอบถาม กกต. ปรากฏได้รับคำตอบไม่เป็นที่น่าพอใจ ผู้สมัคร ส.ส. ทั่วประเทศมีนายชาญชัยเพียงคนเดียวที่ถูกละเมิด ไม่สามารถไปติดป้ายโฆษณาหรือลงพื้นที่หาเสียงเหมือนกับผู้สมัคร ส.ส. คนอื่นๆ เกือบ 1 เดือน เหลือเวลาในการหาเสียงไม่ถึง 12 วัน จนทำให้นายชาญชัยสอบตก ไม่ได้เป็น ส.ส. จังหวัดนครนายก

ที่มาของคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ กกต. สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ได้ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. 130 คน โดยหนึ่งในนั้นมีนายชาญชัยรวมอยู่ด้วย ไปถึงสำนักงาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ในเวลา 15.42 น. ของวันที่ 13 เมษายน 2566 ทางสำนักงาน กกต. ตรวจค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต พบนายชาญชัยถือหุ้นบริษัท AIS จำนวน 200 หุ้น และตรวจสอบต่อไป พบว่า บริษัท AIS ถือหุ้นบริษัทย่อยลำดับชั้นที่ 4-5 อีก 2 บริษัท คือ บริษัท เทเล อินโฟมีเดียจำกัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด ซึ่งทั้ง 2 บริษัท มีรายได้จากการประกอบธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์ ทางสำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก จึงวินิจฉัย ว่า บริษัท AIS ประกอบกิจการ “สื่อมวลชนใดๆ โดยอ้อม”

วันรุ่งขึ้น สำนักงาน กกต. จึงทำหนังสือแจ้งว่า นายชาญชัยมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 42 (3) แห่ง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากนายชาญชัยเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท AIS นายชาญชัยจึงไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ขอให้คืนสิทธิในการลงสมัคร ส.ส. ให้กับตนเอง ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้สำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก ประกาศชื่อนายชาญชัย เป็นผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จังหวัดนครนายก เพิ่มเติม

โดยในคำสั่งศาลฎีกาฉบับนี้ มีประเด็นที่ศาลได้ทำการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่สำคัญๆ อยู่หลายประเด็น เริ่มจากประเด็นที่สำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก ไปตรวจพบบริษัท AIS ถือหุ้นบริษัท เทเล อินโฟมีเดียจำกัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด ซึ่งทั้ง 2 บริษัท มีรายได้จากการประกอบธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์ ดังนั้น ทางสำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก จึงถือว่า บริษัท AIS ประกอบกิจการ “สื่อมวลชนใดๆ โดยอ้อม” และการที่นายชาญชัยไปถือหุ้น AIS จำนวน 200 หุ้น จึงมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 42 (3) แห่ง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561

แต่เนื่องจากคำว่า “สื่อมวลชนใดๆ” ยังไม่มีศาลไหนเคยมีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจนว่ามีนิยามหรือความหมายอย่างไร ศาลฎีกาจึงเชิญ ผศ.กัญภัส อู่ตะเภา คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มาเบิกความ

ผศ.กัญภัส ได้ให้นิยามคำว่า “สื่อมวลชน” หมายถึง “สื่อกลางที่นำสารและเนื้อหาสาระทุกประเภท ไปสู่มวลชนหรือกลุ่มคนจำนวนมากไม่ว่ารูปแบบใด สื่อดั้งเดิมมี เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ปัจจุบันรวมถึงสื่อใหม่หรือสื่อออนไลน์ด้วย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ หากบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดเป็นสื่อกลางในการนำข่าวสารหรือเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมากได้ หรือ ถือครองสื่อที่เป็นช่องทางการสื่อสาร หรือผลิตเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมาก และผู้คนจำนวนมากสามารถรับสารนั้นได้ ถือเป็นสื่อมวลชน

หลังจากที่ศาลฎีกาได้ฟังความเห็นในทางวิชาการแล้ว จึงมีความเห็นสอดคล้องกับสำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่บริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด เป็นเจ้าของหรือผู้ครองครอบเว็บไซต์ ซึ่งเป็นสื่อกลางในการนำข่าวสารไปถึงผู้คนจำนวนมาก ตามหลักวิชาการอยู่ในความหมายของคำว่า “สื่อมวลชนใดๆ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) รวมทั้งบริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด ที่เปิดให้บริการโฆษณาออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Yellow Pages รวมทั้งผลิตเนื้อหาโฆษณาดิจิทัล และเป็นผู้ครอบครองช่องทางการสื่อสารไปถึงผู้คนจำนวนมาก จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “สื่อมวลชนใดๆ” เช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่บริษัท AIS ไปถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท ก็ถือว่าบริษัท AIS อยู่ในความหมายของคำว่า “สื่อมวลชนใดๆ” และการที่นายชาญชัยไปถือหุ้น AIS จำนวน 200 หุ้น จึงมีลักษณะต้องห้ามลงสมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3)

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

แต่ที่นายชาญชัยรอด เพราะศาลฎีกาวินิจฉัยถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ที่มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส. อาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อมวลชน เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ตนและพรรคการเมืองที่ตนสังกัด หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น จึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย

และถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริง ปรากฏว่านายชาญชัยถือหุ้นบริษัท AIS จำนวน 200 หุ้นจากจำนวนหุ้นทั้งหมด 2,974 ล้านหุ้น ถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก นายชาญชัยย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัท AIS เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ตนและพรรคการเมืองที่ตนสังกัด หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองอื่นได้ เนื่องจากนายชาญชัยไม่ใช่เจ้าของหรือมีจำนวนหุ้นมากพอที่จะดำเนินการเช่นนั้นได้

ดังนั้น การตีความตามบทบัญญัติของกฎหมายให้นายชาญชัยมีลักษณะต้องห้าม ไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท AIS เพียง 200 หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และการที่สำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก ไม่ประกาศรายชื่อนายชาญชัยเป็นผู้สมัคร ส.ส. จึงเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3)

อ่านคำสั่งศาลฎีกา เพิ่มเติมที่นี่

ยกฎีกาถาม กกต.ใช้ กม.ใด – ให้ผู้สมัคร ส.ส.เปิด “เฟซบุ๊ก-ยูทูบ” หาเสียงได้

หลังจากศาลฎีกามีคำสั่งให้สำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก เพิ่มชื่อนายชาญชัยเป็นผู้สมัคร ส.ส. เพิ่มเติม นายชาญชัยได้นำคำสั่งของศาลฎีกามาอ่านอย่างละเอียด ปรากฏว่านายชาญชัยมีประเด็นข้อสงสัยหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณี ผศ.กัญภัส มาเบิกความในศาลฎีกา โดยให้นิยามคำว่า “สื่อมวลชน” หมายถึง “สื่อกลางที่นำสารและเนื้อหาสาระทุกประเภท ไปสู่มวลชนหรือกลุ่มคนจำนวนมากไม่ว่ารูปแบบใด สื่อดั้งเดิมมี เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ปัจจุบันรวมถึงสื่อใหม่ หรือสื่อออนไลน์ด้วย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ หากบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดเป็นสื่อกลางในการนำข่าวสารหรือเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมากได้ หรือ ถือครองสื่อที่เป็นช่องทางการสื่อสาร หรือ ผลิตเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมาก และผู้คนจำนวนมากสามารถรับสารนั้นได้ ถือเป็นสื่อมวลชน จึงทำหนังสือลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 สอบถามสำนักงาน กกต. ทั้ง 4 ประเด็นดังนี้

    1. การที่พรรคการเมืองใช้เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ในการโฆษณาหาเสียงไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้คนจำนวนมากสามารถรับทราบข่าวสารนั้น พรรคการเมืองหรือผู้สมัคร ส.ส. ที่ใช้เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ถือเป็นเจ้าของสื่อมวลชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 42 (3) หรือไม่
    2. กรณี กกต. ได้อนุมัติให้พรรคการเมือง (นิติบุคคล) และบุคคล (ผู้สมัคร ส.ส.) เป็นเจ้าของสื่ออื่นใด กกต. ใช้อำนาจใดอนุมัติ อนุญาต ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในมาตราใด
    3. กรณีตามที่กล่าวข้างต้น ผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง จะต้องถูกตรวจสอบ และถูกตัดสิทธิไม่ให้ลงสมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่
    4. ขอให้ กกต. ชี้แจงผลการดำเนินการตรวจสอบผู้สมัคร ส.ส. ที่เหลืออีก 129 คน ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนายชาญชัยให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

อ่าน หนังสือขอให้ กกต. ตีความการถือครองสื่อ เพิ่มเติมที่นี่

กกต.งัด ม.70 ยันผู้สมัคร ส.ส.เปิด “เฟซบุ๊ก” หาเสียงได้ – ไม่ถือเป็นสื่อตาม รธน.

ล่าสุด นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต 0019/11611 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ชี้แจงนายชาญชัย รวมทั้งหมด 4 ประเด็น มีรายละเอียดดังนี้

1) กรณีพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้ใช้เฟชบุ๊ก ยูทูบ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ในการโฆษณาหาเสียงไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ถือเป็นเจ้าของสื่อมวลชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) หรือไม่

ประเด็นนี้ สำนักงาน กกต. มีความเห็นว่า ตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน กำหนดว่า “การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด…” ดังนั้น พรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. จึงสามารถดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าว และตามข้อ 6 (6) ข้อ 7 และข้อ 9 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) 2565

ทั้งนี้ สำนักงาน กกต. ได้ให้ความเห็นต่อว่า ตามบทบัญญัติและระเบียบข้างต้นนั้น มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งจะใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้ง เช่นเดียวกับการหาเสียงเลือกตั้งตามมาตรา 69 มาตรา 70 มาตรา 71 มาตรา 81 และมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว และโดยวิธีต่างๆ ตามข้อ 6 ของระเบียบฉบับเดียวกัน มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าแทรกแซงกลไกการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนของบุคคลอื่น หรือนิติบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ซึ่งถูกห้ามตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว

“การหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ถือเป็นเจ้าของสื่อมวลชน ตามนัยมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และมาตรา 42 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตังกล่าว แต่ทั้งนี้ ควรต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป”

2) หาก กกต. สามารถอนุญาตให้พรรคการเมือง (นิติบุคคล) และบุคคล คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นเจ้าของสื่อมวลชนอื่นใดได้ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายใด และเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) หรือไม่

3) กรณีข้างต้น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือพรรคการเมือง จะต้องถูกตรวจสอบและถูกตัดสิทธิมิให้รับสมัครเลือกตั้งตามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และพ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42 (3) หรือไม่

สำนักงาน กกต. มีความเห็นว่า “กรณีตามข้อ 2) และข้อ 3) นั้น มีลักษณะเป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับ ข้อ 1) ซึ่งสำนักงาน กกต. มีความเห็นตาม ข้อ 1) แล้ว จึงไม่มีประเด็นจะต้องพิจารณาให้ความเห็น”

4) กรณีนายชาญชัยได้เคยยื่นรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 129 ราย ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับนายชาญชัย ที่สำนักงาน กกต. ส่งตรวจสอบก่อนหน้านี้ ซึ่งนายชาญชัยได้ขอให้แจ้งผลการดำเนินการให้ทราบด้วยนั้น

ประเด็นนี้ สำนักงาน กกต. ชี้แจงนายชาญชัยว่า กรณีเดียวกันนั้น สำนักงาน กกต. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต 0012/ว 932 ลงวันที่ 12 เมษายน 2566 เพื่อส่งข้อมูลดังกล่าวให้ผู้อำนวยการสำนักงานการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพื่อแจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ประกอบข้อ 95 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

อ่าน หนังสือชี้แจงจาก กกต. เรื่องการตีความในการถือครองสื่อ ที่นี่

หลังจากที่นายชาญชัยได้อ่านหนังสือชี้แจงจาก กกต. ปรากฏว่านายชาญชัยไม่เห็นด้วยกับการตีความเรื่องการถือครองสื่อของ กกต. จึงมีประเด็นที่นายชาญชัยเห็นแย้งดังต่อไปนี้

ประเด็นแรกที่นายชาญชัยสอบถาม กกต.ว่า การที่พรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ส.ส. ที่ใช้เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ถือเป็นเจ้าของสื่อมวลชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลืองตั้ง มาตรา 42 (3) หรือไม่ และสำนักงาน กกต. ตอบว่า “…ไม่ถือเป็นเจ้าของสื่อมวลชน ตามนัยมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 42 (3) แห่ง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ทั้งนี้ ควรต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป”นายชาญชัยกล่าวว่า เป็นคำตอบที่ย้อนแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา และหลักวิชาการตามคำเบิกความของ ผศ.กัญภัส ที่ให้การในชั้นศาลตามที่กล่าวข้างต้น

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า “หากต้องย้อนกลับไปดูที่มาของคดีนี้ สำนัก กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก ตัดสิทธิผมเรื่องอะไรอีกครั้ง เหตุที่ กกต. จังหวัดนครนายก ตัดสิทธิผม ก็เพราะผมไปถือหุ้นบริษัท AIS จำนวน 200 หุ้น ซึ่งบริษัท AIS ประกอบกิจการ “สื่อมวลชนใดๆ โดยอ้อม” ส่งผลทำให้ผมกลายเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือครองสื่อมวลชนใดๆ อันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 42 (3) แห่ง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.” ซึ่งความเห็นของสำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนนายกดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า “กรณีที่บริษัท AIS ไปถือหุ้นบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือครองเว็บไซต์อันเป็นสื่อกลางในการนำข่าวสารไปยังผู้คนจำนวนมาก อยู่ในความความของคำว่า “สื่อมวลชนใดๆ” ส่วนบริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด (มหาชน) เป็นทั้งผู้ผลิตเนื้อหา และเป็นผู้ครอบครองช่องทางการสื่อสารไปยังผู้คนจำนวนมาก ก็อยู่ในความหมายของคำว่า “สื่อมวลชนใดๆ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลืองตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) เช่นกัน”

“ดังนั้น การที่ บริษัท AIS ไปถือหุ้นในบริษัทย่อยทั้ง 2 บริษัท ซึ่งมีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อโฆษณาออนไลน์ บริษัท AIS จึงถือเป็น “สื่อมวลชนใดๆ” และการที่ผมไปถือหุ้น AIS ก็ถือว่าผมเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นสื่อมวลชนใดๆ ด้วย จึงเข้าข่ายบุคคลต้องห้ามลงสมัคร ส.ส. ตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยของสำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก แต่ที่ผมรอด เพราะศาลฎีกาวินิจฉัยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งผมถือหุ้นบริษัท AIS ในสัดส่วนที่น้อยมาก ไม่สามารถไปครอบงำ หรือสั่งการให้บริษัทหลาน บริษัทเหลนของบริษัท AIS ให้เผยแพร่ข่าวที่เป็นประโยชน์กับผมและพรรคการเมืองที่ผมสังกัดได้ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า การที่สำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก ตีความให้ผมมีลักษณะต้องห้ามลงสมัคร ส.ส. ด้วยเหตุที่ถือหุ้นบริษัท AIS เพียง 200 หุ้น ไม่เป็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงสั่งให้คืนสิทธิในการลงสมัคร ส.ส. ให้ผม”

“ชาญชัย” ถาม กกต.ตีความ “สื่อมวลชน” ขัดหลักวิชาการ-คำวินิจฉัยศาลฎีกา?

นายชาญชัย กล่าวว่า หลังจากศาลฎีกามีคำวินิจฉัยตามที่กล่าวมาในข้างต้น ผมจึงนำกรณีของบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด และบริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองช่องทางการสื่อสารไปถึงผู้คนจำนวนมาก มาเปรียบเทียบกับกรณีที่กรณีพรรคการเมือง และผู้สมัคร ส.ส. ที่ไปเปิดบัญชี เป็นเจ้าของ หรือ ผู้ครอบครองช่องทางการสื่อสาร เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ และแอปพลิเคชัน ผลิตเนื้อหาโฆษณาหาเสียงส่งไปถึงผู้คนเป็นจำนวนมาก ผมขอถาม กกต. ว่า กรณีพรรคการเมือง และผู้สมัคร ส.ส. ไปเปิดใช้เฟซบุ๊ก ยูทูบ และแอปพลิเคชันต่างๆ มีความแตกต่างจากกรณีของบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด และบริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด (มหาชน) กันอย่างไร ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทั้ง 2 บริษัทอยู่ในความหมายของคำว่าสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

“หากสำนักงาน กกต. วินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นเจ้าของสื่อมวลชนแล้ว สำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก มาตัดสิทธิผมทำไม ซึ่งผมเห็นว่าการวินิจฉัยของ กกต. ในประเด็นนี้ ขัดแย้งกับหลักวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์ และคำวินิจฉัยของศาลฎีกา รวมทั้งความเห็นของสำนักงาน กกต.เขต 2 จังหวัดนครนายก ที่หยิบยกประเด็นนี้มาใช้ในการตัดสิทธิลงสมัคร ส.ส.ของผม”

ยันไม่มีบทบัญญัติ กม. “พรรคการเมือง – ผู้สมัคร ส.ส.” เป็นเจ้าของสื่อมวลชนใดๆ

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า หลังจากที่ผมได้อ่านคำชี้แจ้งของสำนักงาน กกต. และผมก็ได้มาตรวจสอบบทบัญญัติของกฎหมาย และมาตราที่เกี่ยวข้องตามที่สำนักงาน กกต. อ้างถึง ไม่พบว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายมาตราไหน ให้อำนาจ กกต.ไปออกระเบียบอนุญาตให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส.ไปเป็นเจ้าของสื่อมวลชนอื่นใด โดยการไปเปิดเว็บไซต์ ยูทูบ เฟซบุ๊ก แอฟพลิเคชัน ผลิตเนื้อหาโฆษณาหาเสียงผ่านช่องทางการสื่อสารดังกล่าวไปถึงผู้คนจำนวนมากได้ด้วยตนเอง เริ่มจากมาตรา 69 แห่ง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ระบุว่า “ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุน ตามมาตรา 81”

มาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ระบุว่า การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ….” วรรคที่ 2 ระบุว่า “ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการหารือกับพรรคการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย….”

มาตรา 71 ระบุว่า “การหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 มาตรา 70 มาตรา 81 และมาตรา 83 คณะกรรมการจะกําหนดให้ต้องทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเที่ยงธรรมของผู้สมัครและพรรคการเมือง

ส่วนมาตรา 81 ระบุว่า ให้คณะกรรมการมีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัคร และพรรคการเมือง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ในการนี้ คณะกรรมการจะขอให้หน่วยงานอื่นของรัฐ เป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนด้วยก็ได้

วรรคที่ 2 “ในการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศสำหรับพรรคการเมืองได้ด้วย

และมาตรา 83 ระบุว่า “ให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด ปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้เฉพาะในสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องมีขนาดและจำนวนไม่เกินที่คณะกรรมการกำหนด โดยการกำหนดดังกล่าวให้หารือกับพรรคการเมืองด้วย”

นายชาญชัยกล่าวว่า หลังจากที่ได้ตรวจสอบบทบัญญัติของ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ผมไม่เห็นมีข้อความตรงท่อนไหนให้อำนาจ กกต. ไปออกระเบียบหลักเกณฑ์อนุญาตให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. เป็นเจ้าของสื่อมวลชนอื่นใด โดยไปเปิดบัญชีเฟซบุ๊ก ยูทูบ แอปพลิเคชัน สามารถผลิตโฆษณาหาเสียงไปยังผู้คนจำนวนมากได้ด้วยตนเอง ตามที่ปรากฏอยู่ในระเบียบของ กกต. เจตนารมณ์ของกฎหมาย มาตรา 70 ผมเข้าใจว่าต้องการให้พรรคการเมือง นักการเมือง ใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น และถ้าอ่านมาตรา 70 ต่อไป ในวรรคที่ 2 เขาให้ กกต.ไปหารือพรรคการเมือง สื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ ถามว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้จริงแล้วมีวัตถุประสงค์ให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส.ไปใช้บริการสื่อมวลชนใช่หรือไม่ เช่น ผู้สมัคร ส.ส.ไปให้สัมภาษณ์สื่อ หรือ ไปแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีดีเบต หรือ ไปให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนเหล่านี้ เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อ แต่ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะไปให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส.ไปเปิดเฟซบุ๊ก ยูทูบ โฆษณาหาเสียงได้โดยตรง

ยกตัวย่างเช่น มติชนร่วมกับเดลินิวส์ หรือ The Standard และสื่อออนไลน์อื่นๆ จัดเวทีดีเบต โดยเชิญผู้สมัคร ส.ส. หรือแคนดิเดตนายกฯ มาแสดงวิสัยทัศน์หรือนโยบายหาเสียงผ่านระบบออนไลน์ โดยกำหนดเวลาให้พูด คนละ 15-20 นาที

“ถามว่า ถ้าคุณไปเปิดยูทูบ เฟซบุ๊ก Tik ToK แอปพลิเคชันต่างๆ เป็นเจ้าของสื่อมวลชนเหล่านี้แล้ว คุณจัดรายการเอง ผลิตคอนเทนต์ของคุณเอง เผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้ด้วยตนเอง มันจะคำนึงถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเที่ยงธรรม ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 71 อย่างไร” นายชาญชัยกล่าว

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า จากเหตุผลตามที่กล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยของศาลฎีกา และความเห็นของสำนักงาน กกต. เขต 2 จังหวัดนครนายก ที่ใช้ตัดสิทธิในการลงสมัคร ส.ส. ของผม ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า ผมเป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นกิจการ “สื่อมวลชนอื่นใด โดยอ้อม” แต่ในขณะเดียวกัน สำนักงาน กกต. มีระเบียบให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. รวมทั้งผมด้วย ให้สามารถไปเปิดเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ Tik Tok และแอปพลิเคชันต่างๆ ใช้เป็นช่องทางในการโฆษณาหาเสียงได้ด้วยตนเอง และให้รายงานข้อมูลการถือครองสื่อของทั้งหมดส่งไปให้ กกต.พิจารณาด้วย ทั้งหมดนี้มันย้อนแย้งกันอย่างมาก ทำให้ผมเกิดข้อสงสัย จึงต้องทำหนังสือไปถาม กกต. ว่าใช้อำนาจตามกฎหมายใด อนุญาตให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. เป็น “เจ้าของสื่อมวลชนอื่นใด” สามารถโฆษณาหาเสียงได้ด้วยตนเอง และระเบียบของ กกต. ดังกล่าวนี้ ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) หรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากใน พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 6 ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตาม พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่นใดที่จำเป็นได้เท่าที่ไม่ขัด หรือแย้ง หรือที่มิได้มีบัญญัติไว้แล้วเป็นการเฉพาะใน พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับฯ นี้

“ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 70 ผมเข้าใจว่าต้องการให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. ใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการหาเสียงเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนของบุคคลอื่น หรือนิติบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. ไปเป็นเจ้าของ หรือถือครองสื่อมวลชนอื่นใด เพราะจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) ใช่หรือไม่” นายชาญชัยกล่าว

ประเด็นสุดท้ายที่ถาม ขอให้ กกต. แจ้งผลการดำเนินงานตรวจสอบผู้สมัคร ส.ส. ที่เหลือ 129 ที่มีลักษณะเช่นเดียวกันมีความคืบหน้าเป็นอย่างไร ปรากฏว่า สำนักงาน กกต. ทำหนังสือตอบผมมาว่า “สำนักงาน กกต. ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต 0032 / 932 ลงวันที่ 12 เมษายน 2566 เพื่อส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพื่อแจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป…”

“จากคำชี้แจงของ กกต. ประเด็นสุดท้าย ไม่ปรากฏว่ามีพรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. รายใด ถูกลงโทษ ไม่ประกาศชื่อให้เป็นผู้สมัคร ส.ส. เช่นเดียวกับผม ทั้งประเทศมีผมคนเดียวเท่านั้นที่ถูกละเมิด ไม่สามารถไปหาเสียงได้เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งคำชี้แจงของ กกต. ย้อนแย้งกับหลักวิชากการ คำวินิจฉัยของศาลฎีกา และความเห็นของสำนักงาน กกต.เขต 2 จังหวัดนครนายก ขณะเดียวกัน กกต. ก็ไปออกระเบียบให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. รวมทั้งผม เป็นเจ้าของสื่อมวลชนใดๆ ได้ มันย้อนแย้ง พันกันไปพันกันมา สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็คงจะต้องไปจบกันที่ศาล เป็นผู้ชี้ขาด” นายชาญชัยกล่าวทิ้งท้าย…

  • ปมหุ้นสื่อ “พิธา-ชาญชัย” เหมือนหรือต่างอย่างไร?
  • “ชาญชัย” เปิดชื่อ 130 ผู้สมัคร ส.ส. จี้ กกต.สอบถือครองหุ้นผิด รธน.หรือไม่?
  • ศาลฎีกาสั่งคืนสิทธิ์ให้ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ลงสมัคร ส.ส. ชี้ กกต.ตีความปมถือหุ้น AIS ไม่ชอบ
  • “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ร้องศาลฎีกา หลัง กกต.นครนายก ตัดสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้ง กรณีถือหุ้น AIS