ThaiPublica > เกาะกระแส > ปมหุ้นสื่อ “พิธา-ชาญชัย” เหมือนหรือต่างอย่างไร?

ปมหุ้นสื่อ “พิธา-ชาญชัย” เหมือนหรือต่างอย่างไร?

9 มิถุนายน 2023


ปมถือหุ้นสื่อ “พิธา-ชาญชัย” เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ยกเจตนารมณ์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเทียบเคียงกันได้หรือไม่?

ปม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นสื่อ ITV ยังเป็นประเด็นร้อนที่สังคมจับตา หลังจากที่มีประชาชนหลายคนไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธา ว่าอาจมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้สมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงเรื่องคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายพิธา และการเซ็นรับรองชื่อผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกล ที่อาจเป็นโมฆะ อาจจะต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีนำกรณีของนายพิธาถือหุ้นสื่อ ITV ไปเทียบเคียงกับกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้คืนสิทธิการลงสมัคร ส.ส. ให้แก่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กรณีถือหุ้น บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “AIS” จำนวน 200 หุ้น จากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด 2,974 ล้านหุ้น ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนน้อยมาก ไม่สามารถไปครอบงำหรือสั่งการให้บริษัทในเครือที่ประกอบธุรกิจสื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองอื่นได้ แนววินิจฉัยของศาลฎีกาคดีนี้ สามารถนำมาเทียบเคียงกับกรณีนายพิธาถือหุ้นสื่อ ITV จำนวน 42,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 1,560 ล้านหุ้น ได้หรือไม่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนท 2566 นายพิธา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ได้โอนหุ้น ITV ที่ถือครองในฐานะผู้จัดการกองมรดกไปให้ทายาทคนอื่นแล้ว” และยังกล่าวถึงคดีที่ศาลฎีกามีคำสั่งคืนสิทธิในการลงสมัคร ส.ส. ของนายชาญชัย โดยหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีของนายพิธา ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ทั้ง 2 คดีมีความเหมือน และแตกต่างกันอย่างไร นำมาเทียบเคียงกันตามที่ ดร.วิษณุ เครืองาม และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวถึงได้หรือไม่ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์

ก่อนอื่น นายชาญชัยอธิบายให้เห็นภาพรวมหรือที่มาที่ไปของคดีนี้ว่า เขาฟ้องร้องกันเรื่องอะไร แก้ต่างกันประเด็นไหน และผลเป็นอย่างไร เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างของทั้ง 2 คดีนี้

โดยนายชาญชัยกล่าวว่า “เริ่มต้นจากวันที่ 3 เมษายน 2566 ผมไปยื่นในสมัครขอรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่สำนักงานเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ปิดรับสมัครวันที่ 7 เมษายน 2566 ปรากฏว่าสำนักงาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ไม่ประกาศชื่อผมเป็นผู้สมัคร ส.ส. จากนั้นก็หนังสือแจ้งให้ผมรับทราบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 ว่า ผมมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 42 (3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 โดยระบุว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยเฉพาะใน (3) ระบุว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ตรวจพบว่า ผมถือหุ้นบริษัท AIS จำนวน 200 หุ้น หากไม่พอใจผลการวินิจฉัยของ กกต. ให้ไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายใน 7 วัน การที่ กกต. ไม่ประกาศรายชื่อผมเป็นผู้สมัคร ส.ส. ทำให้ผมไม่สามารถติดป้ายหาเสียง พบปะประชาชนในพื้นที่ได้ ต้องรอไปจนกว่าศาลฎีกาจะตัดสิน”

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ตอนนั้นก็รู้สึกตกใจ กรณีที่ถือหุ้น AIS ไปเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอย่างไร ไม่ทราบรายละเอียดอะไรเลย แต่ก็ต้องใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาไปก่อน โดยยืนยันว่าผมมีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมาเห็นหนังสือของสำนักงาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก (คำคัดค้าน) ส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา

ในหนังสือคัดค้านของสำนักงาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 ฉบับนี้ ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 เวลา 15.42 น. สำนักงาน กกต. (กรุงเทพฯ) มีหนังสือแจ้งมาว่า บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แจ้งผลการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ปรากฏว่ามีชื่อผมถือหุ้นบริษัท AIS จำนวน 200 หุ้น ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงทำการตรวจค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ www.set.or.th พบว่า บริษัท AIS ไปถือหุ้นบริษัทย่อยทางอ้อม 2 บริษัท คือ บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด ในสัดส่วน 99.99% ประกอบธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์, บริการรับบริหารและจัดทำระบบคอลเซ็นเตอร์ และถือหุ้นบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด ในสัดส่วน 99.94% ประกอบธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์

จากหลักฐานที่ได้จากตรวจสอบ และความเห็นของคณะทำงาน ทำให้สำนักงาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัด เชื่อโดยสุจริตว่า “ผมเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท AIS ซึ่งมีบริษัทย่อยคือ บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด ที่มีรายได้จากการให้บริการสื่อโฆษณาออนไลน์ บริการรับบริหารและจัดทำระบบคอลเซ็นเตอร์ และบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด มีรายได้จากการให้บริการธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์ เข้าข่ายเป็นการสื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะอันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการ “สื่อมวลชนใดๆ” และเมื่อไปพิจารณา ประกาศของ ก.ล.ต. ที่ กจ.17/2551 (ฉบับประมวล) ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ที่ให้นิยามคำว่า “บริษัทย่อย” ว่าคือบริษัทที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้ (ก) บริษัทที่ผู้ออกหลักทรัพย์มีอำนาจควบคุมกิจการ

ดังนั้น บริษัท AIS จึงมีอำนาจควบคุมกิจกรรม บริษัท เทเล อินโฟมีเดียจำกัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด จึงถือว่าบริษัท AIS ประกอบกิจการ “สื่อมวลชนใดๆ โดยอ้อม” มีลักษณะต้องห้าม ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส. ตามมาตรา 42 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ได้

นอกจากนี้ สำนักงาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ยังได้อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-19/2563, คำสั่งศาลฎีกา ที่ 1706/2562 และแนวทางตามหนังสือสำนักงาน กกต.ที่ ลต 0012/ว.1303 ลงวันที่ 17 กันยายน 2564 ก็ไม่ได้วางแนววินิจฉัยว่า “การถือหุ้นกิจการดังกล่าวจะต้องถึงขนาดที่จะเข้าไปบริหาร หรือครอบงำสั่งการในการการของบริษัทดังกล่าวได้” ทำให้สำนักงาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 จึงตีความตามตัวบทข้างต้น โดยเทียบเคียงกับมาตรา 101 ของรัฐธรรมนูญ และแนววินิจฉัยตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12–14/2553 ที่เคยวินิจฉัยว่า “การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหาร หรือครอบงำกิจการก็ตาม” การที่รัฐธรรมนูญห้ามการถือหุ้นไว้ชัดเจน ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มีช่องทางที่จะใช้ หรือถูกใช้ ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมีชอบในทางใดทางหนึ่ง สำนักงาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก จึงขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องของผม

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ตามที่ตนได้กล่าวมาข้างต้นนี้ หากนำมาเทียบเคียงกับคดีของนายพิธา จะเห็นว่าจุดที่เหมือนกัน คือ ถือหุ้นสื่อเหมือนกัน แต่จุดที่แตกต่างกัน คือ 1. กรณีของนายพิธานั้น ถือหุ้น ITV โดยตรง แต่กรณีของนายชาญชัย ถือหุ้นโดยออม 2. บริษัท ITV ประกอบธุรกิจสื่อโทรทัศน์ ถือเป็นสื่อเก่า (Old Media) ขณะที่บริษัท AIS ที่ผมถือหุ้นไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อ เป็น Holding Company เข้าไปถือหุ้นบริษัทหลาน เหลน ซึ่งประกอบธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์ ถือเป็นสื่อสมัยใหม่ (News Media) หรือ “สื่อมวลชนใดๆ” ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลฎีกายังไม่เคยมีแนววินิจฉัยประเด็นสื่อมวลชนใดๆ มาก่อน จึงเชิญ ผ.ศ.กัญภัส อู่ตะเภา คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เบิกความที่ศาลฎีกา

ผ.ศ.กัญภัส ให้นิยามคำว่า “สื่อมวลชน” หมายถึง “สื่อกลางที่นำสารและเนื้อหาสาระทุกประเภท ไปสู่มวลชนหรือกลุ่มคนจำนวนมากไม่ว่ารูปแบบใด สื่อดั้งเดิมมีเช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ปัจจุบันรวมถึงสื่อใหม่ หรือสื่อออนไลน์ด้วย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ หากบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดเป็นสื่อกลางในการนำข่าวสาร หรือเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมากได้ หรือถือครองสื่อที่เป็นช่องทางการสื่อสาร หรือผลิตเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมาก และผู้คนจำนวนมากสามารถรับสารนั้นได้ ถือเป็นสื่อมวลชน

“การที่ผมถือหุ้นบริษัท AIS และบริษัท AIS ไปถือหุ้นบริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด และบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหลาน เหลน ทอดที่ 4 หรือ 5 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัท AIS อยู่ในความหมายคำว่าสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3)” นายชาญชัย กล่าวว่า

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า “แต่ที่ผมรอด เพราะศาลฎีกาไปดูเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ” การที่ถือหุ้นบริษัท AIS จำนวน 200 หุ้น จากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด 2,974 ล้านหุ้น ถือว่าน้อยมาก และบริษัท AIS ไปถือหุ้นบริษัทลูก หลาน เหลน และโหลนที่ประกอบธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์นั้น สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) หรือไม่ ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายตามมาตราดังกล่าวนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ใช้ความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง หรือโจมตีคู่แข่งขันทางการเมืองในระหว่างที่มีการเลือกตั้ง ทำให้ศาลฎีกาต้องดูข้อเท็จจริงว่า การที่ผมถือหุ้นบริษัท AIS เพียง 200 หุ้น จากหุ้นสามัญทั้งหมด 2,974 ล้านหุ้น สามารถไปสั่งการให้บริษัท AIS เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผม และเป็นโทษต่อผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองอื่นหรือไม่

“ประเด็นนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผมไม่ใช่เจ้าของ หรือ มีจำนวนหุ้นสื่อมากพอที่จะไปสั่งการให้บริษัท AIS ดำเนินการดังกล่าวได้ ดังนั้น การที่สำนักงาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ตีความบทบัญญัติของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรให้ผมมีลักษณะต้องห้าม ไม่ให้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลที่ผมถือหุ้นบริษัท AIS เพียง 200 หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และการที่สำนักงาน กกต. ไม่ประกาศรายชื่อผมเป็นผู้สมัคร ส.ส. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) จึงสั่งให้ สำนักงาน กกต. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก เพิ่มชื่อผมและประกาศรายชื่อผมให้เป็นผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก”

อ่าน คำพิพากษาศาลฎีกา ฉบับเต็ม เพิ่มเติมที่นี่

นอกจากนี้ ยังมีจุดแตกต่างที่สำคัญอีกประการ คือ เรื่องระยะเวลา ถ้า กกต. ตรวจพบผู้สมัคร ส.ส. มีคุณสมบัติต้องห้ามตั้งแต่ยื่นใบสมัครขอรับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไปจนถึงก่อนวันเลือกตั้ง กรณีนี้จะอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของศาลฎีกา แต่ถ้าประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว กกต. ตรวจพบว่าผู้ชนะการเลือกตั้งขาดคุณสมบัติการลงสมัครเป็น ส.ส. กรณีนี้อยู่ในความรับผิดชอบศาลรัฐธรรมนูญ อย่างกรณีของผมเกิดขึ้นก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จึงอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง ส่วนคดีของนายพิธา เกิดขึ้นภายหลังประกาศผลเลือกตั้งไปแล้ว เรื่องจึงไปอยู่ในความรับผิดชอบของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อมวลชนโดยตรงเอาไว้มากมายหลายคดี ส่วนคดีของผมเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา เป็นกรณีถือหุ้นสื่อมวลชนทางอ้อม

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า “ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมพยายามอธิบายเห็นถึงภาพรวมคดี ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างคดีของนายพิธากับคดีของผม คราวนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า คดีของนายพิธาสามารถเทียบเคียงกับคดีของผมได้หรือไม่ นายชาญชัยกล่าวว่า เทียบเคียงกันได้บางเรื่อง แต่บางเรื่องเทียบเคียงไม่ได้ เพราะประเด็นอาจไม่เหมือนกัน เช่น ถือหุ้นสื่อเหมือนกัน แต่สื่อที่นายพิธาถือหุ้นนั้นเป็นสื่อที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วหลายกรณี ส่วนกรณีของผมถือหุ้น “สื่อมวลชนใดๆ” หรือ “สื่อใหม่” ทางอ้อม ซึ่งศาลฎีกายังไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน เพราะเป็นสื่อคนละประเภทกัน จึงต้องไปเชิญอาจารย์ทางด้านนิเทศศาสตร์มาเบิกความในชั้นศาล”

“หากหยิบยกประเด็นของผมไปแก้ต่างในชั้นศาล ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากคำสั่งของศาลฎีกาในคดีของผม หน้าที่ 9 ได้ให้นิยามคำว่าสื่อมวลชนใดๆ หมายรวมไปถึง เฟซบุ๊ก ยูทูบ Tik Tok ทวิตเตอร์ แอปพลิเคชันต่างๆ ที่นักการเมือง และพรรคการเมืองใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารกับประชาชนจำนวนมาก สุดท้ายศาลฎีกา วินิจฉัยว่า บริษัท AIS ก็ถือเป็นสื่อมวลชนใดๆ ตามที่กำหนดรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ด้วย” นายชาญชัยกล่าว

ถามว่า หากคดีของนายพิธาเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ สามารถยกประเด็นเรื่องจำนวนหุ้นที่นายพิธาถือครอง และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาต่อสู้ในชั้นศาลได้หรือไม่ นายชาญชัยกล่าวว่า “ศาลจะพิจารณาเรื่องจำนวนหุ้นที่นายพิธาถือครองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนายพิธาถูกกล่าวหาประเด็นไหน และต่อสู้อย่างไร แต่อย่าลืมว่าคดีของนายพิธาอยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยกรณีถือหุ้นสื่อไปแล้วหลายคดี อย่างเช่น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12-14/2553 วินิจฉัยว่า “การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการ ก็ตาม”

ส่วนที่ถามว่าศาลต้องดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายชาญชัยเชื่อว่า “คงต้องดูทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เจตนารมณ์ในการเข้าไปถือหุ้นเป็นอย่างไร อย่างเช่น กรณีของผมเข้าไปถือหุ้นบริษัท AIS เจตนารมณ์ก็เหมือนนักลงทุนทั่วไป เป็นสิทธิในทรัพย์สินที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย จากนั้นก็มาดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทำไมต้องกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. ไม่ให้เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อ เพราะไม่ต้องการให้ไปครอบงำ สั่งการสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งกรณีของผมมันไปต่อไม่ได้ เพราะถือหุ้นน้อยมาก จนไม่มีอำนาจไปสั่งการบริษัทลูก หลาน เหลนได้”

ถามว่าเป็นที่ทราบกันทั่วไปบริษัท ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว นายพิธาจะไปสั่งการให้บริษัท ITV นำเสนอข่าวเพื่อประโยชน์ของตนเองได้อย่างไร นายชาญชัยกล่าวว่า “ในทางพฤตินัย ใช่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ได้ตีความเหมือนกับกรณีของผม ก็มีความเป็นไปได้ เพราะเป็นกรณีการถือหุ้นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยมาแล้วหลายราย อย่างเช่น คดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด แม้จะไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้แจ้งยกเลิกการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือจดทะเบียนเลิกกิจการ ศาลมองว่าอาจจะกลับมาประกอบกิจการสื่อมวลชนเมื่อไหร่ก็ได้”

ดังนั้น การยกกรณีของผมถือหุ้น AIS ไปเทียบเคียง อาจไม่ได้ช่วยให้นายพิธาหลุดพ้นจากคดีนี้ก็ได้ ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยมาแล้วว่าหยุดประกอบกิจการ ก็ไม่ได้หมายความว่าเลิกประกอบกิจการสื่อมวลชน ประการที่สอง บริษัท ITV ไม่ได้แจ้งยกเลิกประกอบกิจการสื่อมวลชน และประการที่สาม คงต้องดูไปถึงเจตนารมณ์ของบริษัท ITV ที่ไปฟ้องร้องสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ว่ามีวัตถุประสงค์อะไรประกอบด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำสั่งของศาลฎีกา โดยนายชาญชัยได้นำประสบการณ์ที่ได้จากการต่อสู้คดีในชั้นศาลมาแสดงความเห็นในเชิงวิชาการ เพื่อให้สังคมเข้าใจว่า ระหว่างคดีของนายชาญชัยกับคดีของนายพิธา มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร เทียบเคียงกันได้หรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานต่างๆ ไม่มีเจตนาไปชี้นำคดีแต่อย่างใด…

  • “ชาญชัย” เปิดชื่อ 130 ผู้สมัคร ส.ส. จี้ กกต.สอบถือครองหุ้นผิด รธน.หรือไม่?
  • “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ร้องศาลฎีกา หลัง กกต.นครนายก ตัดสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้ง กรณีถือหุ้น AIS
  • ศาลฎีกาสั่งคืนสิทธิ์ให้ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ลงสมัคร ส.ส. ชี้ กกต.ตีความปมถือหุ้น AIS ไม่ชอบ