ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > “ชาญชัย” เปิดชื่อ 130 ผู้สมัคร ส.ส. จี้ กกต.สอบถือครองหุ้นผิด รธน.หรือไม่?

“ชาญชัย” เปิดชื่อ 130 ผู้สมัคร ส.ส. จี้ กกต.สอบถือครองหุ้นผิด รธน.หรือไม่?

10 พฤษภาคม 2023


นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส. เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 2

“ชาญชัย” เปิดรายชื่อ 130 ผู้สมัคร ส.ส. จี้ กกต.สอบถือครองหุ้นผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่? ขีดเส้นตายภายใน 3 วัน ให้ทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร

ต่อกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ได้ทำหนังสือลงวันที่ 14 เมษายน 2566 แจ้งตัดสิทธิ์นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เนื่องจากตรวจพบหลักฐานว่านายชาญชัย เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “AIS” จำนวน 200 หุ้น อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 42 (3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ที่มิให้ผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อมวลชนใดๆ ทำให้นายชาญชัย ต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา

ในระหว่างที่อยู่ในชั้นไต่สวน นายชาญชัยได้ขอให้สำนักงาน กกต.เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ส่งหลักฐานเอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยตัดสิทธิ์นายชาญชัยทั้งหมดส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา ปรากฎหลักฐานว่าสำนักงาน กกต.กรุงเทพฯ ได้จัดส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. มาให้สำนักงาน กกต.เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด 130 คน ในจำนวนนี้มีชื่อนายชาญชัยรวมอยู่ด้วย แต่นายชาญชัยถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ทำให้เสียโอกาสในการหาเสียง ต้องรอจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ศาลฎีกามีคำสั่ง ให้คืนสิทธิ์ลงสมัคร ส.ส.ให้แก่นายชาญชัย จากนั้นนายชาญชัยจึงได้ทำหนังสือพร้อมแนบหลักฐานไปสอบถามสำนักงาน กกต.กรุงเทพฯว่า “ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.อีก 129 คน ถือครองหุ้นอะไร ถือครองหุ้นบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมเช่นเดียวกับตนหรือไม่ เหตุใดไม่ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัคร ส.ส.” ปรากฏว่ายังไม่ได้รับคำตอบใดๆ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายชาญชัยจึงมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการถือครองหุ้นของผู้สมัคร ส.ส. 129 คนด้วย

นายชาญชัย กล่าวว่า ตามที่ผู้อำนวยการเขตการเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ได้ทำหนังสือแจ้งตัดสิทธิไม่ให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งต่อมาตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อขอคืนสิทธิการลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. จนกระทั่งศาลฎีกามีคำสั่งคืนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งให้แก่ตนก่อนหน้านี้นั้น ในคำสั่งของฎีกาได้วินิจฉัย คำว่า “สื่อมวลชน” เอาไว้ในหน้าที่ 8 บรรทัดที่ 13 ถึงหน้าที่ 9 บรรทัดที่ 6 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์กัญภัส อู่ตะเกา คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มาเบิกความให้ความเห็นคำว่า “สื่อมวลชน” ตามหลักวิชาการ หมายถึง “สื่อกลางที่นำสาร และเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่มวลชนหรือกลุ่มคนจำนวนมากไม่ว่ารูปแบบใด สื่อดั้งเดิมมีเช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ปัจจุบันรวมถึงสื่อใหม่ หรือ สื่อออนไลน์ด้วย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือ แอปพลิเคชันต่าง ๆ หากบุคคล นิติบุคคล หรือ องค์กรใดเป็นสื่อกลางในการนำข่าวสาร หรือ เนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมากได้ หรือ ถือครองสื่อที่เป็นช่องทางการสื่อสาร หรือ ผลิตเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมาก และผู้คนจำนวนมากสามารถรับสารนั้นได้ ถือเป็นสื่อมวลชน”

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า จากเหตุผลของศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น ตนขอเรียนถาม กกต. ว่า “ในกรณีเช่นนี้ การที่พรรคการเมืองได้ใช้ เฟซบุ๊ก ยูทูป หรือ แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ในการโฆษณาหาเสียงไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้คนจำนวนมากสามารถรับทราบข่าวสารนั้น พรรคการเมือง หรือ ผู้สมัครที่ใช้ เฟซบุ๊ก ยูทูป หรือ แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ถือว่าเป็นเจ้าของสื่อมวลชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) หรือไม่”

อีกทั้งกรณีดังกล่าวคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อนุญาติให้พรรคการเมือง (นิติบุคคล) และบุคคลคือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นเจ้าของสื่อมวลชนอื่นใดนั้น ขอเรียนถามว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจอะไรในการอนุมัติ อนุญาต หรือ กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตราใด หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ระเบียบกฎหมายใด และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งหรือไม่”

“คำวินิจฉัยของศาลฎีกาตามที่ผมกล่าวข้างต้นนั้น ถามว่าผู้สมัคร ส.ส. หรือ พรรคการเมือง จะต้องถูกดำเนินการตรวจสอบ และถูกตัดสิทธิไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) หรือไม่” นายชาญชัย กล่าว

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตนยังได้มาทวงถามกรณีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 129 คน ตามบัญชีรายชื่อที่สำนักงาน กกต.กรุงเทพส่งให้ตรวจสอบนั้น ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งกลุ่มนี้ ถือครองหุ้นอะไร ถือครองหุ้นบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมเช่นเดียวกับตนหรือไม่ เหตุใดไม่ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัคร ส.ส. จึงขอให้กรรมการการเลือกตั้งชี้แจงกรณีดังกล่าวนี้ พร้อมกับประเด็นอื่นๆตามที่กล่าวข้างต้นให้ตนรับทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้

  • “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ร้องศาลฎีกา หลัง กกต.นครนายก ตัดสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้ง กรณีถือหุ้น AIS
  • ศาลฎีกาสั่งคืนสิทธิ์ให้ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ลงสมัคร ส.ส. ชี้ กกต.ตีความปมถือหุ้น AIS ไม่ชอบ
  • อ่าน คำพิพากษาศาลฎีกา ฉบับเต็มกกต.คืนสิทธิ์สมัคร ส.ส.ให้นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ที่นี่