ThaiPublica > คอลัมน์ > มนุษย์ทองคำที่ใคร ๆ ก็ต้องการ

มนุษย์ทองคำที่ใคร ๆ ก็ต้องการ

29 มิถุนายน 2023


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

มนุษย์ทองคำที่ใคร ๆ ก็ต้องการ

มนุษย์ทองคำในที่นี้ไม่ได้หมายถึง 18 มนุษย์ทองคำแห่ง วัดเส้าหลิน ที่ตั้งด่านทดสอบยอดฝีมือก่อนออกเดินทางปฎิบัติภารกิจล้างแค้นในหนังกำลังภายในยอดนิยม เมื่อกว่า 5 ทศวรรษที่แล้ว หากหมายถึง ผู้เชี่ยวชาญมาก ๆ ในสาขาที่โลกเศรษฐกิจต้องการตัวถึงขั้นต้องแย่งชิงกันเพราะมนุษย์กลุ่มดังกล่าว หายาก และ ขาดตลาด เช่น ช่วงก่อน วิกฤติต้มยำกุ้ง วาณิชธนากร ซึ่งเป็นวิศวกรการเงิน ทำหน้าที่ ออกแบบ กระบวนการ จัด หรือ ปรับโครงสร้างกิจการ เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น หรือ วางแผนควบรวมธุรกิจ ตลอดจนครอบงำกิจการ
คือมนุษย์ทองคำยอดฮิตในยุคนั้น

ส่วนสุดยอดมนุษย์ทองคำยุคนี้คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล สาเหตุที่มนุษย์ทองคำเป็นที่ต้องการตัวในตลาด เพราะเชื่อว่าพวกเขาจะช่วยสร้างสรรค์เศรษฐกิจและเติมศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศนั้นๆได้

นับจากปีที่แล้วที่โลกเริ่มบอกลา โควิด-19 มีข่าวการเคลื่อนไหวจากประเทศต่าง ๆ ที่ออกมาประกาศ นำเสนอเงื่อนไข เชิญชวนให้บรรดามนุษย์ทองคำเข้ามา ทำงาน ลงทุน หรือ พำนักในประเทศ ปรากฎเป็นระยะ ๆ ซึ่งสะท้อนถึงดีกรีการแข่งขันเพื่อชิงตัวมนุษย์ทองคำได้ในระดับหนึ่ง

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นโดยรัฐบาลประยุทธ์คิดใหญ่ วางเป้าหมายภายใน 5 ปี งบประมาณ 2565-2569 จะเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในประเทศไทย 1 ล้านคนเพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท

ตามแผนอันสุดทะเยอทะยานนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศ เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจําพวกเข้ามา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน  เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาประเทศไทย ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ เดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยพุ่งเป้าดึงดูด “ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง” 4 กลุ่มหลักคือ

    หนึ่ง กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง 
    สอง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 
    สาม กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 
    สี่ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ เช่น ต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ฯลฯ โดยสิทธิที่นักลงทุนได้รับ เดิมรัฐบาลมอบสิทธิ การพำนักระยะยาวในไทยรวมทั้งสิทธิในการซื้อที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ ก่อนยกเลิกสิทธิในการครอบครองที่ดินหลังข้อเสนอดังกล่าวถูกปั่นจนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง

โดยการนี้ กระทรวงต่างประเทศได้ ออก Long-Term Resident Visa หรือ LTR Visa สำหรับ มนุษย์ทองคำเหล่านั้นซึ่งสามารถพำนักในไทยได้ 10 ปี ต่อวีซ่าปีละครั้ง จากเดิมทุก 90 วัน เป็นต้น

ตัวเลขจากบีโอไอรายงานว่า มีมนุษย์ทองคำยื่นขอ LTR Visa นับจากเดือนกันยายนปีที่แล้วถึงเมษายนปีนี้ (2566) ถึง 5,697 ราย

ไล่เลี่ยกับที่ไทยเริ่มเคมเปญดึงมนุษย์ทองคำนั้น ทางฮ่องกงได้ออกโปรโมชั่นดูดมนุษย์ทองคำมาประชันเช่นกัน โดยฮ่องกงหลังม็อบร่มถูกหุบร่มแล้ว จอหน์ ลี หัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง ได้เปิดตัววีซ่าสำหรับทำงานและอยู่อาศัยในฮ่องกงแบบใหม่ มีอายุ 2 ปี โดยผู้ที่จะยื่นขอวีซ่าดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติดังนี้ อาทิ มีรายรับในรอบ 12 เดือนล่าสุด ไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 12.12 ล้านบาท) สำเร็จการศึกษาสาขาใดก็ได้ แต่ต้องมาจากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่อยู่ในท็อป 100 ของโลก และมีประสบการณ์ทำงานนานไม่น้อยกว่า 3 ปี ฯลฯ มีเสียงวิจารณ์ผู้บริหารฮ่องกงว่าวีซ่าแบบใหม่ที่ออกมานั้น ดูเข้าข่ายเลือกปฎิบัติ

สิงคโปร์หนึ่งในประเทศที่เน้นการดึงต่างชาติเข้ามาเสริมศักยภาพประเทศ ได้ออกแคมเปญดึงมนุษย์ทองคำเช่นเดียวกัน โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเพื่อนร่วมภูมิภาคของไทยรายนี้ เริ่มใช้วีซ่าแบบใหม่โดยมีเป้าหมา ดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศในทุกอุตสาหหรรม
..โดยวีซ่ามีอายุ 5 ปี คุณสมบัติผู้จะยื่นขอวีซ่าดังกล่าว ข้อแรก ต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน (ราว 789,736 บาท ) เมื่อได้วีซ่าแล้ว สามารถทำงานพร้อมกันหลายบริษัทได้ คู่สมรมสามารถทำงานในสิงคโปร์ได้ ในกรณีเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่สิงคโปร์ขาดแคลนวีซ่าสาขยายเวลาได้ พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ทองคำเหล่านั้น ด้วยการลดขั้นตอนการขอวีซ่าเหลือไม่เกิน 10 วัน เป็นต้น

อีกตัวอย่าง …สหรัฐอเมริกาใช้โอกาสที่ นเรนทา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียเดินทางเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ปรับเงื่อนไขการต่อวีซ่า H-1B หรือ วีซ่า สำหรับ ผู้ประกอบอาชีพผู้ชำนาญการพิเศษ..โดยสามารถต่อวีซ่าได้ในสหรัฐฯไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศเหมือนที่ผ่านๆมา

รายงานของ รอยเตอร์ระบุว่า ปัจจุบัน มีชาวอินเดียเป็นผู้ถือวีซ่า H-1B มากที่สุดในสหรัฐฯโดยคิดเป็น 73 % ของผู้ถือวีซ่า H-1B ทั้งหมด หรือเกือบ 442,000 คน ในปีงบประมาณ 2565 แน่นอนว่าการอำนวยความสะดวกให้ ผู้ชำนาญการพิเศษ เหล่านั้น ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆคือสหรัฐฯที่มีคนเก่งไว้ใช้งาน

คาดว่าแนวโน้มการแข่งขันชิงตัวมนุษย์ทองคำคงทวีความรุนแรงขึ้นตามสถานการณ์โลกที่วัฎจักรธุรกิจเปลี่ยนเร็ว องค์กรต้องการความรู้ใหม่ในการขับเคลื่อนไม่รู้จบ

แต่อย่างไรก็ดี แม้มนุษย์ทองคำ มีความต้องการสูงในตลาดและเป็นที่ถวิลหาของประเทศต่าง ๆ แต่สังคม เศรษฐกิจ ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ หากมีแต่เหล่ามนุษย์ทองคำเท่านั้น