ThaiPublica > คอลัมน์ > วิกฤติเงินเฟ้อใกล้ปิดฉาก

วิกฤติเงินเฟ้อใกล้ปิดฉาก

31 พฤษภาคม 2023


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ข่าวเงินเฟ้อกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ไม่ใช่ข่าวเด่นของสื่อมาพักใหญ่แล้ว ต่างจากปีก่อนหน้าที่มีการนำเสนอข่าวกันอย่างครึกโครม เมื่อเงินเฟ้อยกระดับเป็น ‘วิกฤติเงินเฟ้อ’ จากพิษสงครามยูเครน ที่ผลพวงจากความขัดแย้งดันราคาก๊าซและน้ำมันพุ่งทำลายสถิติ ก่อนลามลงไปสู่ปัญหาปากท้องชาวบ้านในที่สุด ช่วงเวลานั้นโลกเหมือนลอยอยู่ในกะทะที่น้ำที่กำลังเดือดปุดๆ ทุกประเทศเจอแรงดันจากเงินเฟ้อชนิดไม่เคยพบมาก่อนในรอบหลายทศวรรษด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างสหรัฐฯกลางปี 2565 เงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับ 9 % ทำลายสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 41 ปี ญี่ปุ่นเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับ 4 % เป็นครั้งแรกในรอบ 41 ปี เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน ขณะที่อังกฤษเจอพิษเงินเฟ้อขั้นรุนแรง เงินเฟ้อทะลุพรวดขึ้นไปยืนที่ 10.4 % (ณ ก.พ. 2566) สูงสุดในรอบ 40 ปี

เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ เงินเฟ้อพุ่งแตะระดับ 6.3 % ช่วงกลางปี 2565 ทำสถิติเงินเฟ้อสูงสุดในรอบเกือบ 24 ปี ของเสือเศรษฐกิจตัวนี้ หรือ ฟิลิปินส์ เงินเฟ้อช่วงปลายปีที่แล้วทะยานขึ้นสู่ระดับ 8 % สูงสุดในรอบ 14 ปี สิงคโปร์เจอเงินเฟ้อ 5.5 % (ณ ก.พ.2566) สูงสุดในรอบ 14 ปี ประเทศไทยของเรา เงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ฯลฯ

ในส่วนประเทศที่เศรษฐกิจมีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว วิกฤติเงินเฟ้อซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก อย่าง ศรีลังกา ที่เจอวิกฤติการคลังถึงขั้นล้มละลายชั่วขณะ เงินเฟ้อพุ่งพรวดขึ้นไปถึง 66 % ตุรกีเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปกว่า 80 % สูงสุดในรอบ 24 ปี อาร์เจนตินาประเทศที่เศรษฐกิจ อมโรคประชานิยมานานหลายทศวรรษ เงินเฟ้อตีลังกาสามชั้นขึ้นไปถึง 104 % เมื่อเดือนเมษายน 2566

เมื่อคลื่นวิกฤติเงินเฟ้อที่ซัดกระหน่ำข้ามานั้น ธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติทุกประเทศได้เปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างกะทันหัน จากผ่อนคลายเป็นพิเศษเพื่อดูแลเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิด มาเป็นเข้มงวดยกระดับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ภายใต้แนวคิดที่ว่าภาระจากดอกเบี้ยที่แพงขึ้นยังไม่ร้ายเท่าการปล่อยเงินเฟ้อกัดกร่อนเศรษฐกิจ

นับจากปลายไตรมาสแรกของปีที่แล้วต่อเนื่องถึงวันนี้ การประชุมของคณะกรรมการแบงก์ชาติประเทศต่าง ๆ จบลงด้วยมติ “ขึ้นดอกเบี้ย” เป็นส่วนใหญ่ ดอกเบี้ยเฟดที่มีสถานะเหมือนดอกเบี้ยชี้นำของโลก ขึ้นมาอยู่ที่ 5 % จากการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯรวม 10 ครั้ง

ส่วนแบงก์ชาติไทยแม้ ดำเนินนโยบายขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังกระโดดจาก 0.50 % ขึ้นสู่ระดับ 1.75 % ในปัจจุบัน

ทว่าวันนี้สถานการณ์ดูเหมือนกำลังจะเปลี่ยนไป แม้แบงก์ชาติหลาย ๆ ประเทศยังคงยึดนโยบายการเงินเข้มงวดขยับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้แน่ใจว่า สามารถคุมเงินเฟ้ออยู่ อาทิ เฟด ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลาง อังกฤษ สวีเดน นิวซีแลนด์ อิสราเอล เคนยา ฮ่องกง มาเลเชีย สิงคโปร์ ฯลฯ

หากอีกด้านหนึ่งนั้น ธนาคารกลางของอีกหลาย ๆ ประเทศ เริ่มทยอยประกาศตรึงดอกเบี้ยนโยบายกันแล้วเช่นกัน อาทิ ธนาคารกลางอินเดีย ชาติที่กำลังขึ้นชั้นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแทนจีนในเร็วๆนี้ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6.5 % ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา หลังจากขยับขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว

ตามด้วยแบงก์ชาติเกาหลีใต้ หนึ่งในชาติเศรษฐกิจชั้นนำ ที่ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายซ้ำไว้ที่ 3.5 % ในการประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องครั้งที่สาม ด้วยเหตุผลว่าเงินเฟ้อชะลอตัว เช่นเดียวกับจีน ที่ประกาศคงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดียวกัน

ในอาเซียนมีธนาคารกลาง 2 แห่ง ที่ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายแล้ว คือ ธนาคารกลางอินโดนิเชีย ที่ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไว้ที่ 5.75 % ตามด้วยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6.25 % ในการประชุมเมื่อกลางเดือนพฤษาคมที่ผ่านมา หลังขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 4.25 % นับจากเดือนพฤษภาคมปีก่อนหน้า โดยธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งให้เหตุเหมือนกันว่าเงินเฟ้อชะลอลงแล้ว และยังกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยสูงจะกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อในบ้านเรา ปีที่แล้วกระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี2565 อยู่ 6.06 % โดยเงินเฟ้อเดือน สิงหาคม พีคสุดๆพุ่งขึ้นไปถึง 7.86 % ทำสถิติเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี ก่อนค่อยๆชะลอตัวลง

ล่าสุดเมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมา เงินเฟ้อทั่วไปของบ้านเรา อยู่ที่ 2.67 % ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ และลงมาอยู่ในกรอบเงินเฟ้อ ที่แบงก์ชาติกำหนดไว้ คือ 1-3 % เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงเป็นปัจจัยสำคัญ หากเทียบเงินเฟ้อไทยกับ 133 เขตเศรษฐกิจไทยอยู่ลำดับที่ 14 และเงินเฟ้อไทยต่ำสุดในอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นสถิติไม่เลวเลยทีเดียว

แม้อัตราเงินเฟ้อของบ้านเราเริ่มชะลอตัวลงเช่นอีกหลายประเทศ และเริ่มกลับเข้าไปอยู่ในกรอบเงินเฟ้อแล้ว การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) ที่มีขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 กนง.ขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอีก 0.25 % ขึ้นสู่ระดับ 2 % คาดว่าจะปรับนโยบายเข้าสู่โหมดคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงถัดไป

การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายๆชาติและที่กำลังจะตามมา ถือเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่า วิกฤติเงินเฟ้อครั้งประวัติศาสตร์ที่คุกคามเศรษฐกิจโลกมาเกือบ 2 ปี กำลังอ่อนตัวเป็นเงินเฟ้อปกติในไม่ช้า