ThaiPublica > คอลัมน์ > Barbie เราไม่ใช่ของเลียนแบบ เราไม่ใช่ของเล่นชายหื่นกาม

Barbie เราไม่ใช่ของเลียนแบบ เราไม่ใช่ของเล่นชายหื่นกาม

5 มิถุนายน 2023


1721955

“ถ้าคุณรักบาร์บี้…หนังเรื่องนี้เหมาะกับคุณ…ถ้าคุณเกลียดบาร์บี้…หนังเรื่องนี้ก็ยังเหมาะกับคุณ”

คำโปรยบนตัวอย่างล่าสุดที่เริ่มเผยเนื้อเรื่องจริง ๆ ของหนังเรื่องนี้สักที ทำให้ Barbie (2023) ฉบับภาพยนตร์เรื่องนี้น่าดูขึ้นมาทันที และแม้ว่าหนังบาร์บี้จะมีมาแล้วมากถึง 42 เรื่อง เป็นซีรีส์อีก 8 เรื่อง หนังสั้นอีก 4 เรื่อง ไปจนถึงการปรากฏตัวตามสื่อต่าง ๆ อีก เช่นในหนัง Toy Story 2 (1999), หนังวิดีโอ Kelly Dream Club (2002), Toy Story 3 (2010) ฯลฯ แต่หนัง Barbie ฉบับล่าสุดนี้จะเป็นฉบับแรกที่ใช้คนแสดงจริง ๆ

หนังกำกับโดย เกรต้า เกอร์วิก ที่ได้นักแสดงนำอย่าง มาร์ก็อต ร็อบบี้ มารับบทบาร์บี้ และไรอัน กอสลิง ในบทเคนแล้ว ยังได้ซือมู่ หลิว ดาราเอเชียที่กำลังฮอตอยู่ตอนนี้มาแสดงเป็นเคนอีกเวอร์ชั่นหนึ่งด้วย บาร์บี้ฉบับนี้เธอเบื่อหน่ายกับโลกสีลูกกวาดซ้ำซากอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ฟองสบู่สวยใส และเธออยากออกไปแสวงหาโลกจริงเพื่อค้นหาความสุขแท้ แต่ที่เราสนใจเอามาก ๆ คือ หนัง Barbie เวอร์ชั่นนี้หยิบไอเดียสำคัญมาจากหนังสือสารคดี Reviving Ophelia: Saving the Selves of Adolescent Girls (1994) ของแมรี่ ไพเฟอร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยทำเป็นหนังทีวีช่อง Lifetime ในชื่อเดียวกัน คือ Reviving Ophelia (2010)

ประเด็นของ Reviving Ophelia ทั้งในหนังและในหนังสือ ไพเฟอร์เล่าว่า “กล่าวถึงผลกระทบของแรงกดดันทางสังคมที่มีต่อเด็กสาววัยรุ่นชาวอเมริกัน” โดยกรณีศึกษามากมายในเล่มนี้มาจากประสบการณ์ของตัวผู้เขียนเองในฐานะที่เธอเป็นนักบำบัด หนังสือเล่มนี้ได้รับการอธิบายว่าเป็น “การติดอาวุธทางความคิด” และเน้นให้เห็นถึงระดับการเพิ่มขึ้นของการกีดกันทางเพศและความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อหญิงสาว ไพเฟอร์ยืนยันว่า…

“ในขณะที่ขบวนการสตรีนิยมได้ช่วยเหลือผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่ให้มีอำนาจแต่เด็กสาววัยรุ่นกลับถูกละเลยและต้องการการสนับสนุนอย่างมากเนื่องจากวุฒิภาวะที่ยังไม่พัฒนา”

(จากรูปซ้าย) ปกหนังสือ/โปสเตอร์หนัง/ภาพวาดโอฟีเลีย
[โอฟีเลีย ในชื่อหนังสือและหนังทีวี เป็นภาพแทนของเด็กสาวผู้จบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายหลังจากผิดหวังในความรักและปมในครอบครัว ชื่อนี้มาจากบทละคร Hamlet ของวิลเลียม เช็คสเปียร์ ที่เล่าถึง โอฟีเลีย สาวน้อยผู้ตกเป็นเหยื่อแห่งวังวนของความรักและความแค้น เมื่อเจ้าชายแฮมเลต ผู้มีความรักแสนหวานกับสาวน้อย โอฟีเลีย แต่แล้วแฮมเลตเกิดสงสัยว่าอาของตนซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ครองแผ่นดินคนปัจจุบันและเป็นสามีใหม่ของแม่ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของกษัตริย์องค์ก่อนผู้เป็นพ่อของแฮมเลตเอง เขาจึงทำทุกอย่างเพื่อสืบหาความจริงและแก้แค้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการหลอกใช้ โอฟีเลีย คนรักของเขาเอง เพราะโอฟีเลียเป็นลูกสาวของขุนนางคนสนิทของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน จนในที่สุดเมื่อโอฟีเลียผิดหวังในความรัก อีกทั้งพ่อของเธอยังถูกสังหารโดยแฮมเลตเจ้าชายผู้เป็นที่รัก โอฟีเลียจึงเสียสติวิปลาสก่อนจะจบชีวิตตัวเองภายใต้ลำธารน้ำ]
บาร์บี้รุ่นแรกในปี 1959 มีผมสองสีให้เลือก บลอนด์กับน้ำตาลเข้ม/ส่วนเคนออกขายครั้งแรกในปี 1961

กำเนิดคุณยายบาร์บี้

ตุ๊กตาบาร์บี้ที่ผู้คนรู้จักกันทั่วโลกในวันนี้มีอายุมากกว่า 64 ปีแล้ว เป็นคุณยายได้แล้ว นับตั้งแต่การปรากฏตัวครั้งแรกในวันที่ 9 มีนาคม 1959 (อันถือเป็นวันเกิดบาร์บี้ด้วย) เครดิตไอเดียผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ เป็นของ รูธ แฮนด์เลอร์ (เสียชีวิตไปเมื่อปี 2002 ด้วยวัย 85 ปี) นักธุรกิจและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ประธานคนแรกของบริษัทผู้ผลิตของเล่น แมทเทล อันเป็นบริษัทที่เธอกับ เอลเลียต แฮนด์เลอร์ (เสียชีวิตเมื่อปี 2011 ด้วยวัย 95 ปี) เพื่อนสมัยมัธยมที่ต่อมากลายเป็นสามีของเธอที่ร่วมกันก่อตั้งแมทเทลในสมัยสิ้นสงครามโลกเมื่อปี 1945 (ภายหลังเธอและสามีถูกบีบให้ลาออกในปี 1974 และถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงกับรายงานเท็จต่อตลาดหลักทรัพย์)

บาร์บี้ปรากฎตัวทางโฆษณาทีวีเป็นครั้งแรก

รูธ แฮนด์เลอร์ เกิดในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สืบเชื้อสายมาจากครอบครัวชาวยิว-โปแลนด์อพยพซึ่งรอดชีวิตมาได้จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยฝีมือพวกนาซี รูธกับเอลเลียตแต่งงานกันแล้วย้ายไปอยู่แอลเอในปี 1938 พวกเขามีลูกด้วยกันสองคนเป็นหญิงหนึ่งชื่อว่า บาบาร่า และชายอีกหนึ่งชื่อ เคนเนธ (เสียชีวิตในปี 1994) อันเป็นที่มาของชื่อ บาร์บี้ กับ เคน นั่นเอง

เต้านมเทียมโดยผู้ผลิตบาร์บี้

สิ้นค้าของดีชิ้นหนึ่งที่มาจากมันสมองของ รูธ แฮนด์เลอร์ ผู้ผลิตบาร์บี้ สืบเนื่องจากในปี 1970 แฮนด์เลอร์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม ก่อนจะพบว่าเต้านมเทียมในยุคนั้นมันไม่สมจริง ในที่สุดเธอจึงผลิตออกมาใช้เองภายใต้บริษัทใหม่ของเธอ Ruthton Corp. และวางตลาดในชื่อว่า “Nearly Me” ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แม้แต่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในขณะนั้น เบ็ตตี้ ฟอร์ด (ภริยาของประธานาธิบดีสหรัฐ เจอรัลด์ ฟอร์ด ในช่วงปี 1974-1977) ก็ยังใช้

เปรียบเทียบกันจะจะระหว่าง ลิลลิ กับ บาร์บี้

Barbie เป็นแค่ของเลียนแบบ

แต่จริง ๆ แล้วบาร์บี้ไม่ใช่ของออริจินัล แรงบันดาลใจใหญ่ยิ่งเกิดจากทริปตอน รูธ ไปท่องยุโรปกับสามีและลูก ๆ ของเธอ ทำให้เธอได้ไอเดียของเล่นชิ้นนี้มาจากตุ๊กตา Bild Lilli ตุ๊กตาแฟชั่นที่วางขายเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1955 จนถึงปี 1964 อันเป็นตุ๊กตาที่จำลองมาจากการ์ตูนเรื่อง Lilli ที่ตีพิมพ์ทางหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ Bild ของเยอรมนี

แต่แรกเลย บิลด์ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อ 24 มิถุนายน 1952 นักวาดการ์ตูน ไรน์ฮาร์ด บอยต์ธีน ได้รับการว่าจ้างให้วาดการ์ตูนตลกช่องเดียวจบ สำหรับเติมเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ (filler คือหนังสือพิมพ์ในแต่ละวันเมื่อมีการเรียงพิมพ์ มักจะมีบางหน้าที่มีส่วนของช่องว่างเหลือที่ไม่รู้จะใส่เนื้อหาอะไร ตำแหน่งเหลือพวกนี้แหละ คือช่องที่การ์ตูนลิลลิจะไปเติมให้มันเต็ม) เดิมทีมันจะเป็นเรื่องของเด็กเล็กเกเรก่อความวุ่นวายภายในบ้าน แต่กองบ.ก.ต่างลงความเห็นไม่ผ่านไอเดียนี้ ในที่สุดเขาจึงเปลี่ยนไปวาดตัวละครสาวผมบลอนด์มัดหางม้าสุดเซ็กซี่นั่งในเต็นท์หมอดู เธอถามหมอดูว่า “รบกวนหมอช่วยบอกชื่อที่อยู่ของชายร่างสูงหล่อรวยให้ฉันสักคนได้ไหมคะ” แล้วลิลลิก็ดังในทันที

ลิลลิเป็นหญิงหลังสงครามโลก แก่นแก้วก๋ากั่นทะเยอทะยาน เป็นนักขุดทอง แสดงออกตรงไปตรงมา และบางคนอาจจะมองว่าเธอโก๊ะกังก่งก๊งไปบ้าง การ์ตูนมักจะถูกวาดตอนที่ลิลลิกำลังแต่งตัว หรือไม่ก็เปลื้องผ้าโชว์หุ่นสุดสะบึมของเธอ ในชุดสุดเซ็กซี่ กับผู้ชายอื่น ๆ มากหน้าหลายตา

ซุ้มขายหนังสือพิมพ์ยุคหลังสงครามโลก/ลิลลิในชุดซีทรู ของเล่นสำหรับผู้ชายแมน ๆ

แต่ลิลลิไม่ใช่ของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิง

วลีเด็ดของลิลลิคือ “ในความเห็นของคุณ…ฉันควรถอดชิ้นไหนออกก่อนดี” และการจะเข้าใจลิลลิ คุณต้องรู้จัก Bild เสียก่อน มันคือแท็บลอยด์ที่มียอดขายอันดับหนึ่งของยุโรป อันดับสองคือ The Sun ของอังกฤษ และอันที่จริงทั้งสองฉบับนี้มีเนื้อหาไปในแนวทางเดียวกัน คือ “ใช้ถ้อยคำเจ็บแสบรุนแรง รวมเรื่องฉาวโฉ่ซุบซิบ ภาษาปลุกปั่นยั่วยุให้รู้สึกตื่นตระหนก” Bild เริ่มแรกมีฐานผลิตอยู่ในเมืองฮัมบรูก ก่อนจะย้ายไปเบอร์ลินเมื่อปี 2008 มียอดขายในช่วงทศวรรษแรกมากถึงห้าล้านฉบับต่อวัน ปัจจุบันตกลงเล็กน้อยเหลือเพียงสี่ล้านกว่าฉบับ

ด้วยการใช้ภาษาหวือหวา เหน็บเจ็บ ๆ คาแร็คเตอร์ของลิลลิก็เป็นเช่นนั้นไม่แพ้กัน การถูกผลิตเป็นตุ๊กตา คุณคิดว่าสินค้าที่เป็นหญิงสาวหุ่นอวบอัดสุดสะบึมทรงนาฬิกาทรายสุดเซ็กซี่นี้ ที่ผู้ซื้อสามารถจับดัดแขนดัดขาได้ แก้ผ้าก็ได้ เปลี่ยนชุดไหน ๆ ก็ได้ตามแต่จินตนาการ มันจะเป็นของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงได้หรือ…ไม่เลย ลิลลิเป็นของเล่นสำหรับผู้ใหญ่ และส่วนใหญ่เป็นเพศชาย!!

ตุ๊กตาลิลลิไม่ได้ถูกวางจำหน่ายในร้านของเล่น แต่มันวางขายตามซุ้มขายบุหรี่ ซุ้มหนังสือพิมพ์ ตรงชั้นวางที่ปกติจะขายของที่ระลึกเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ไฟแช็ค ช็อคโกแลต ดอกไม้ พวงกุญแจ ที่เปิดฝาเบียร์ ดังนั้นตุ๊กตาลิลลิเป็นเหมือนของเล่นฮา ๆ แกล้งเพื่อน ที่เพื่อนชายจะหยิบมันซื้อไปฝากพวกเพื่อนผู้ชายด้วยกัน ประหนึ่งว่ามันคือตุ๊กตายาง จิ๋มกระป๋อง ดิลโด หรือถุงยางก็ไม่ปาน

มันถูกผลิตออกมา 2 ขนาด ที่มีราคาตามความสูง ขนาด 12 นิ้ว ราคา 12 ดอยช์มาร์ค ส่วนขนาด 7.5 นิ้วราคา 7.50 ดอยช์มาร์ค ในช่วงยุค 50s มันถูกโฆษณาว่า “ลิลลิคือดาวเด่นของทุกบาร์” ก็ไม่รู้ว่าเธอไปเที่ยว ไปเกี่ยวชาย หรือทำงานในนั้น กว่าที่มันจะกลายเป็นของฝากให้ผู้ชายซื้อฝากแฟนก็เมื่อยุค 60s เมื่อมันถูกโฆษณาว่า “เหมาะจะซื้อไปฝากแฟนสาว” มีโฆษณานึงเขียนถึงลิลลิบอกกับแฟนหนุ่มของเธอว่า “เป็นการฉลาดที่คุณจะซื้อลิลลิดอลล์ให้ฉัน เพราะตอนนี้ฉันมีบางอย่างคล้ายกันมอบคืนให้กับคุณ” เป็นแก๊กตลกสองแง่สองง่ามที่มีความหมายถึงร่างกายของตัวเธอเองที่จะมอบกลับคืน หากว่าเขาจะซื้อตุ๊กตาลิลลิให้กับเธอสักตัว

Lilli the Movie!

แน่นอนว่าอะไรฮิต ๆ ก็ย่อมจะถูกสร้างเป็นหนัง Lilli ก็เช่นกัน ครั้งหนึ่งเธอเคยถูกทำเป็นหนังฉบับคนแสดงมาแล้วใน Lilli – ein Mädchen aus der Großstadt (Lilli, a Girl From the Big City-1958) หนังสืบสวนสายฮา กำกับโดย แฮร์มันน์ ไลต์เนอร์ เรื่องราวของลิลลินักข่าวสาวสวยคนดังจากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ถูกเจ้านายสั่งให้ไปทำข่าวการประชุมมิชชันนารีในซิซิลี ทันทีที่เธอขึ้นเรือเดินทาง ก็ดึงดูดความสนใจจากผู้ชายได้ทั้งเรือ ไม่เว้นแม้แต่บาทหลวง แต่แล้วในบรรดาผู้ชายทั้งหมดมีเพียงชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่า แฮร์ฮอลแลนด์ เขาชวนเธอไปกินข้าวที่บ้าน ก่อนจะพบว่าเมื่อเธอไปถึง ชายคนนั้นก็ตายเสียแล้ว อันเป็นเหตุให้ลิลลิต้องสืบคดีนี้ว่าใครคือฆาตกร หนังเรื่องนี้มีการจัดประกวดเพื่อเฟ้นหานักแสดงมารับบทลิลลิ ในที่สุดก็ได้นักแสดงชาวเดนมาร์ก แอนน์ สเมอร์เนอร์ มารับบทนี้

ถูกฟ้องเหรอ…ก็ซื้อลิขสิทธิ์ไปเลยสิ

อย่างที่เล่าว่าการ์ตูน Lilli กำเนิดในปี 1952 ก่อนจะถูกวางขายเป็นตุ๊กตาแก้ผ้าได้ในปี 1955 แล้วในที่สุดมันก็ถูกดัดแปลงเป็นตุ๊กตา Barbie ในปี 1959 โดยจากที่ลิลลิเคยเป็นแค่ตุ๊กตาพลาสติกธรรมดา แต่ของบาร์บี้ถูกผลิตจากไวนิลที่มีความยืดหยุ่นกว่า บาร์บี้ปรากฏตัวในฐานะตุ๊กตานางแบบแฟชั่นวัยรุ่น วางบนแผงขายของเล่น และเป็นของเล่นของสะสมสำหรับเด็กจนถึงวัยรุ่น ล็อตแรกถูกผลิตในญี่ปุ่นจำนวนสามแสนห้าหมื่นตัว เสื้อผ้าถูกตัดเย็บโดยช่างชาวญี่ปุ่น ตัวตุ๊กตาวางขายในราคา 3 ดอลลาร์ (เทียบมูลค่าในปัจจุบันคือ 31.27 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยตอนนี้คือราวหนึ่งพันบาท) เสื้อผ้าถูกขายชุดละ 5 ดอลลาร์ (เทียบราคาไทยปัจจุบันจะเท่ากับพันแปดร้อยบาท)กระทั่งบริษัททางเยอรมันผู้ถือสิทธิ์ในเวลานั้นยื่นฟ้องบริษัทแมทเทลผู้ผลิตบาร์บี้ว่าลอกมาจาก บิลด์ ลิลลิ ในปี 1961 คดีนี้ได้รับการตัดสินนอกศาลในปี 1964 แล้วสุดท้ายในปี 1965 แมทเทลก็ตัดสินใจซื้อสิทธิ์ทั้งหมดของ ลิลลิ ด้วยราคา 21,600 ดอลลาร์ (เทียบเป็นเงินไทยในเวลาปัจจุบันคือ เจ็ดล้านสองแสนกว่าบาท) มีผลทำให้ยุติการผลิตตุ๊กตาลิลลิทั้งหมดไปด้วยในปีเดียวกันนั้น

ครอบครัวบาร์บี้ ผองเพื่อน กิ๊กเก่า และสัตว์เลี้ยง

ชื่อเต็มของบาร์บี้คือ Barbara Millicent Roberts ในนวนิยายชุดที่ตีพิมพ์โดย Random Houseในปี 1960 พ่อแม่ของเธอมีชื่อว่า George (ในหนังสือเขาเป็นวิศวกร ต่อมาในฉบับแอนิเมชั่นเขาเป็นผู้กำกับหนังสารคดี) และ Margaret Roberts (ในแอนิเมชั่นเธอเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ และนักออกแบบบ้าน) พวกเขามาจากเมืองสมมติ Willows ในรัฐวิสคอนซิน ในนิยายชุดของ Random House บาร์บี้เข้าเรียนที่ Willows High School; ในขณะที่อยู่ในหนังสือ Generation Girl (1999) ที่ตีพิมพ์โดย Golden Books เธอเข้าเรียนที่ Manhattan International High School ในนิวยอร์กซิตี้ (ในนิยายอิงจาก Stuyvesant High School ในโลกจริง)

บาร์บี้มีความสัมพันธ์แบบโรแมนติกกับเคน (ชื่อเต็ม “เคนเน็ธ คาร์สัน”) แฟนของเธอซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกในปี 1961/ ข่าวประชาสัมพันธ์จากแมทเทลในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 ประกาศว่าบาร์บี้และเคนตัดสินใจแยกทางกัน / แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2006 พวกเขาหวังที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันอีกครั้งหลังจากที่เคนแปลงโฉมรื้อเบ้าหน้าใหม่หมด / ในปี 2011 แมทเทลเปิดตัวแคมเปญเพื่อให้เคนได้รับความรักจากตุ๊กตาบาร์บี้กลับคืนมา / ทั้งคู่กลับมารวมตัวกันอีกครั้งอย่างเป็นทางการในวันวาเลนไทน์ปี 2011 / ในการเปิดตัวหนังแอนิเมชั่น Barbie: Dreamhouse Adventures (2018) ทั้งคู่ถูกมองว่าเป็นแค่เพื่อนซี้ที่รู้จักกันมานาน หรือไม่ก็แค่เพื่อนข้างบ้านกัน

เบลน หนุ่มหล่อล่ำกิ๊กเก่าของบาร์บี้

ช่วงที่บาร์บี้กับเคนประกาศแยกทางกันเมื่อปี 2004 บาร์บี้มีกิ๊กด้วยนะ เขาเป็นหนุ่มฮอต นักโต้คลื่นชาวออสซี่ ตาสีเขียว นามว่า Blaine Gordon เบลนเป็นพี่ชายของซัมเมอร์ เพื่อนคนหนึ่งของบาร์บี้ แต่แว่วว่าหลัง ๆ เบลนดันไปกิ๊กกับ อาน่า (Ana หรือ Mirissa Suarez) เพื่อนของบาร์บี้จากเม็กซิโกซึ่งรักการว่ายน้ำและเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้เบลนถูกใจอาน่าเข้าอย่างจัง

แมทเทลได้สร้างเพื่อนและญาติมากมายให้กับบาร์บี้ แต่ก่อนอื่นคุณต้องรู้ก่อนว่า บาร์บี้จะยังคงมีอายุ 17 ปีไปตลอดกาล ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม เธอมีน้องสาวสามคน: Skipper เดิมอายุ 8 ขวบ ตอนนี้เธออายุ 14 ปีแล้ว เด็กแสบซนประจำบ้าน , Stacie อายุ 12 เป็นนักกีฬา มีทีมกีฬาเป็นของตัวเอง และChelsea (เธอมีชื่อเดิมว่า Kelly จนถึงปี 2011) อายุ 6-7 ขวบ โลกของเชลซีคือสีชมพูแหวว มีแมวชื่อ Blissa และเธอรักการกินสตอเบอร์รี่ชอร์ตเค้ก

บาร์บี้มีสัตว์เลี้ยงมากกว่า 40 ตัว รวมทั้งแมวและสุนัข ม้า หมีแพนด้า ลูกสิงโต และม้าลาย เธอเป็นเจ้าของยานพาหนะหลากหลายประเภท รวมถึงรถเปิดประทุน Beetle และ Corvette สีชมพู รถพ่วง และรถจี๊ป เธอยังมี ใบอนุญาต นักบิน และดำเนินการสายการบินพาณิชย์นอกเหนือจากการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมถึงเป็นนักบินอวกาศด้วย และอันที่จริงเธอไปถึงดวงจันทร์ก่อนนีล อาร์มสตรองจะได้เหยียบมันด้วยซ้ำ อาชีพของบาร์บี้ถูกออกแบบมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถรับบทบาทได้หลายหลาก ตุ๊กตาบาร์บี้ถูกขายโดยมีชื่อเรื่องมากมาย เช่น Miss Astronaut Barbie (1965), Doctor Barbie (1988) และNascar Barbie(1998)

บทบาทของบาร์บี้ในโลกแห่งความเป็นจริง

นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 21 ธันวาคม 2002 ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีต่อจินตนาการของเด็ก ๆ ว่า ‘ตั้งแต่วันแรกที่บาร์บี้เป็นนางแบบแฟชั่นวัยรุ่น เธอได้ปรากฏตัวในฐานะนักบินอวกาศ ศัลยแพทย์ นักกีฬาโอลิมปิก นักสกีดาวน์ฮิล ครูสอนแอโรบิก นักข่าวทีวี สัตวแพทย์ ร็อคสตาร์ แพทย์ นายทหาร นักบินกองทัพอากาศ นักการทูต แร็ปเปอร์ นักดนตรี ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (ไม่ระบุพรรค) นักเบสบอล นักประดาน้ำ ไลฟ์การ์ด นักผจญเพลิง วิศวกร ทันตแพทย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อบาร์บี้บุกเข้าไปในร้านขายของเล่นเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับช่วงทศวรรษที่ 1960 ตลาดตุ๊กตาส่วนใหญ่ประกอบด้วยเด็กทารก ออกแบบมาสำหรับเด็กผู้หญิง มีเปลโยกและมีเก้าอี้อาหารสำหรับเด็ก ด้วยการสร้างตุ๊กตาที่มีคุณสมบัติสำหรับผู้ใหญ่ แมทเทลทำให้เด็กผู้หญิงสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่พวกเธอต้องการ’

และแน่นอนว่าด้วยบุคลิกทะเยอะทะยานเป็นได้ทุกอาชีพ มีความฟุ้งเฟ้ออยากได้อยากมี เปลี่ยนแฟชั่นบ่อย ทำตัวยังกับเซเล็บ และเป็นสาววัตถุนิยม ทำให้ศิลปินต่างหยิบเธอมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทางเพศ ความยื้อแย่งแข่งกันระหว่างผู้หญิง ความรุนแรงในโลกชายเป็นใหญ่ ความวิปริตต่าง ๆ นานา สาวโลกสวยในทุ่งลาเวนเดอร์ หญิงแกร่ง สาวสมองกลวง สาวปลอมเปลือก สาวพลาสติก ไปจนถึงสาวบริโภคนิยม ฯลฯ

เป็นทุกอย่างให้เธอแล้วจริง ๆ แม้บาร์บี้พยายามจะปรับตัวแต่ก็มิวายทัวร์ลง

ตัวตึงตัวมงรันวงการดราม่าทัวร์ลงแบบงงงง

บาร์บี้เป็นตัวตึงในด้านการเป็นจุดจอดรถทัวร์อย่างแท้จริง การอยู่มานานของเธอย่อมหมายถึงการฝ่ากระแสพายุดราม่าที่ถาโถมในสังคมอันหลากหลาย นับตั้งแต่สีผิว สีผม สีตา เพศสภาพ รูปร่างอรชร สมบูรณ์แบบเกินคน ทั้งที่ผู้คนมีเชฟบ๊ะบ้าง อ้วนเผละบ้าง ผอมแห้ง เตี้ยม่อต้อ บาร์บี้ก็พยายามแก้ปัญหาเพื่อทานกระแสดราม่าต่าง ๆ นานา

แม้เมื่อบาร์บี้พยายามจะออกแบบเพื่อสนองความต้องการของกระแสโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ก็ยังไม่วายทัวร์ลงจนได้ อาทิ ในปี 2002 ไลน์ตุ๊กตาของ มิดจ์ เพื่อนคนหนึ่งของบาร์บี้ เกิดตั้งครรภ์ และมีทารกขึ้นมา แต่ไลน์ครอบครัวสุขสันต์นี้ต้องถูกดึงออกจากตลาดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทัวร์ลงกระหน่ำว่าแมทเทลกำลังส่งเสริมการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทั้งที่จริง ๆ แล้ว มิดจ์เป็นเพื่อนวัยผู้ใหญ่ และควรจะแต่งงานได้แล้ว
[จำไว้ว่า บาร์บี้ที่แท้ทรูจะไม่มีวันท้อง แม้ว่าจะเคยเห็นภาพเธอเลี้ยงเด็ก นั่นเพราะเธอรับจ้างเป็นพี่เลี้ยงเด็ก หรือมีของเล่นทารกนั่นเพราะเพื่อนเธอท้อง ถ้ามีก็น่าจะเป็นฝีมือของศิลปินมือคันจับเธอมาโมดิฟายตามใจชอบ แต่เพราะหลังจากแมทเทลโยนหินถามทางด้วยตุ๊กตามิดจ์ท้องนั่นแหละ แมทเทลจึงรู้ผลลัพธ์ว่าบาร์บี้อย่างเป็นทางการจะไม่มีวันคลอดลูก!]

ตุ๊กตา Fulla จากซาอุฯ/ตุ๊กตา Dara กับ Sara จากอิหร่าน

ในเดือนกันยายน 2003 ซาอุดิอาระเบียได้ออกกฎหมาย ห้ามขายตุ๊กตาบาร์บี้และแฟรนไชส์ ​​โดยระบุว่าไม่เป็นไปตามอุดมคติของศาสนาอิสลาม คณะกรรมการเพื่อการส่งเสริมคุณธรรมและการป้องกันอบายมุขเตือนว่า “ตุ๊กตาบาร์บี้เป็นของพวกยิว (ย้อนกลับไปที่ รูธ ผู้ให้กำเนิด แมทเทล มีพ่อแม่เป็นชาวยิวอพยพ) ที่มีเสื้อผ้าที่เปิดเผยและท่าทางที่น่าอับอาย อุปกรณ์และเครื่องมือเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมทราม ขอให้เราระมัดระวังอันตรายจากเธอ” ในประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม มีตุ๊กตาทางเลือกที่เรียกว่าฟุลลา ที่ฮาราลกว่าและเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2003 (ฮั่นแน่ หวังส่วนแบ่งตลาดเห็น ๆ) แต่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อแสดงถึงค่านิยมดั้งเดิมของอิสลาม
อย่างไรก็ตามแม้ข่าวว่าบาร์บี้มีเชื้อสายยิวยังคงแพร่สะพัด แต่บาร์บี้ยังคงมีจำหน่ายในประเทศมุสลิมเป็นส่วนใหญ่อีกหลายประเทศ อาทิ อียิปต์ และอินโดนีเซีย และจริง ๆ แล้วในอิหร่านมีตุ๊กตาSara และ Dara ซึ่งเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2002 มีจำหน่ายเป็นทางเลือกขายแข่งกับตุ๊กตาบาร์บี้ แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าก็ตาม

บาร์บี้วิศวกรคอมพิวเตอร์

ในเดือนพฤศจิกายน 2014 แมทเทลถูกวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับหนังสือ I Can Be a Computer Engineer ซึ่งพรรณนาถึงบาร์บี้ที่ไม่ชำนาญในการใช้คอมพิวเตอร์และสำออยไปให้เพื่อนชายสองคนของเธอมาช่วยทำงานให้ทั้งหมดเพื่อกู้คืนแล็ปท็อปสองเครื่อง หลังจากที่เธอแพร่ไวรัสจากเครื่องของเธอไปให้เครื่องของน้องสาวโดยไม่ได้ตั้งใจ สิ่งนี้ถูกบ่นหนักมากว่าหนังสือเล่มนี้เหยียดเพศ เนื่องจากหนังสือชุด I Can Be…เล่มอื่น ๆ ของบาร์บี้แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนมีความสามารถหลากหลาย และไม่เคยต้องไปออเซาะขอความช่วยเหลือจากเพศชาย ไม่นานแมทเทลก็โละหนังสืออกจากตลาดทันที แล้วออกตุ๊กตาบาร์บี้วิศวรกรคอมพิวเตอร์มาขายด้วยเลย

บาร์บี้ฟรีดา คาห์โล (กลางภาพ)

ในวันสตรีสากลเดือนมีนาคม 2018 แมทเทลเปิดตัวแคมเปญหญิงสาวผู้เป็นแรงบันดาลใจ “บาร์บี้เซเล็บหญิงผู้เป็นแบบอย่าง” 17 ตัว ด้วยชื่อเล่นว่า Shero หนึ่งในนั้นที่เป็นปัญหาคือ ฟรีดา คาห์โล ศิลปินหญิงนักต่อสู้ที่ถูกถอดออกจากแผงขายในเม็กซิโก เนื่องจากญาติของคาห์โล ร้องเรียนว่าแมทเทลใช้ภาพลักษณ์ของจิตรกรโดยไม่ได้รับการอนุญาต โดยมารา โรมิโอ หลานสาวของคาห์โลระบุด้วยว่า “สีผิวของตุ๊กตาสว่างเกินกว่าตัวจริง มันควรจะดูเป็นชาวเม็กซิกันมากกว่านี้ และฟรีด้าตัวจริงไม่ได้ผอมขนาดนี้ แถมยังลบเลือนความพิการของเธอออกไปด้วย (ฟรีด้าตัวจริงป่วยเป็นโปลิโอ และพิการหลังจากอุบัติเหตุใหญ่)”

แถวบนตุ๊กตาแพนดอร่า แถวล่างจากซ้าย ตุ๊กตากระเบื้องเคลือบ และซิสซี่

บรรพบุรุษตุ๊กตาแฟชั่น

จริง ๆ แล้วตุ๊กตาแฟชั่นไม่ได้เพิ่งมามีในช่วงหลังสงครามโลก อันที่จริงมันน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 1400 แต่หลักฐานเท่าที่ระบุได้คือจากจดหมายเหตุในปี 1515 ที่ส่งในนามของกษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ไปถึงมารดาของพระองค์เพื่อขอให้นางส่งตุ๊กตาแฟชั่นในชุดสไตล์ฝรั่งเศสมาให้ หรือมีหลักฐานว่าในเดือนเมษายน 1604 เฮเลนา สเนเกนบอร์ก มาร์ชิโอเนส แห่งนอร์ทแธมป์ตัน ขุนนางสวีเดนผู้เป็นนางกำนัลแห่งควีน เอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ได้ส่งตุ๊กตาแฟชั่นไปให้น้องสาวของเธอที่สวีเดน โดยตุ๊กตาเหล่านี้ต่อมาในปี 1642 ถูกเรียกโดยทั่วไปในชื่อ แพนดอร่า

ตุ๊กตาแพนดอร่าถูกใช้เพื่อจำลองการออกแบบแฟชั่น ไปจนถึงเนื้อสัมผัสของผ้าที่ไม่อาจอธิบายด้วยการวาดภาพได้ หรือบางทีก็เป็นการจำลองเพื่ออธิบายให้กับช่างตัดเสื้อ ในช่วง 1715-1785 ตุ๊กตาแพนดอร่า ถูกใช้จัดแสดงหน้าร้านเสื้อผ้าอย่างหุ่นลองเสื้อสมัยนี้ หลายครั้งมันถูกส่งข้ามพรมแดนเพื่ออธิบายเทรนด์แฟชั่นในแต่ละประเทศ จนเริ่มเลือนหายไปเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 หลังการปรากฎของนิตยสารแฟชั่นที่มาพร้อมภาพประกอบ ที่เรียกว่า Cabinet des Modes

ตุ๊กตากระเบื้อง bisque dolls ที่บ้านเราเรียกตุ๊กตาฝรั่งเศส เป็นที่นิยมในช่วง 1860-1890 เอาไว้ประดับบ้านคนมีฐานะ เปลี่ยนเสื้อผ้าได้ให้ทันสมัยเข้ากับเทรนด์แฟชั่นในแต่ละปี

และก่อนที่จะมีตุ๊กตาบาร์บี้ ในอเมริกาเคยมีตุ๊กตาแฟชั่นอยู่ก่อนแล้วในชื่อ Cissy ออกแบบโดย บริษัทตุ๊กตา อเล็กซานเดอร์ ในช่วงปี 1955-1959

แถวบนตุ๊กตาแพนดอร่า แถวล่างจากซ้าย ตุ๊กตากระเบื้องเคลือบ และซิสซี่

6 ตัวนี้ซื้อบ้านได้ทั้งหมู่บ้าน!

ตัวแรร์หายาก ตัวแพงสุดติ่ง เรารวบมาให้ดู 6 ตัว สนนราคาเทียบเป็นเงินไทยมีปาดเหงื่อ เริ่มต้นเบาะ ๆ ที่อันดับ

6.Marie Antoinette (2003) ราคา 2,999 $ หรือ แสนสี่พันกว่าบาท บาร์บี้ตัวนี้ เอ๊ยองค์นี้ เป็นหนึ่งในคอลเล็คชั่นราชวงศ์ ด้วยชุดหรูหราสไตล์มารี อังตัวเนต ผู้ล้ำแฟชั่นแห่งฝรั่งเศส

5.Inland Steel Barbie (1967) 3,232 $ หรือ แสนหนึ่งหมื่นสองพันกว่าบาท แต่เดิมมันถูกทำมาเพื่อโปรโมทบริษัทโลหะอินแลนด์ ที่ต้องสั่งสื่อทางจดหมายเท่านั้น ไม่มีวางขายตามแผงตุ๊กตา มาด้วยดีไซน์ชุดสุดล้ำที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปิน อาวอง-การ์ด Paco Rabanne โดดเด่นด้วยการตัดสีชมพูกับชุดโลหะล้ำหรู

4.Lorraine Schwartz Barbie (2010) 7,500 $ หรือ สองแสนหกหมื่นกว่าบาท นักออกแบบเครื่องประดับ Lorraine Schwartz ออกแบบให้ตุ๊กตาตัวนี้มีส่วนผสมระหว่างบียอนเซ่ ผสมกับเจนิเฟอร์ โลเปซ เฉพาะตัวบีที่ห้อยเหน็บเอวนั่นก็ปาไปสองหมื่นห้าพันดอลลาร์แล้ว

3.Original Barbie (1959) 27,450 $ หรือ เก้าแสนห้าหมื่นสี่พันกว่าบาท ที่มันแพงเพราะนี่คือราคาประมูลสูงสุดของบาร์บี้รุ่นแรกของโลก

2.De Beers 40th Anniversary Barbie (1999) 85,000 $ หรือ สองล้านเก้าแสนห้าหมื่นกว่าบาท ดีไซน์โดยแบรนด์จิวเวลรี่ เดอ เบียร์ส ในวาระครบ 40 ปีบาร์บี้ที่ดูเหมือนจะเป็นชุดน้อยชิ้น แต่จริง ๆ แล้วส่วนบราและเครื่องประดับเอวทั้งหมดคือทองคำแท้ประดับเพชร
1.Stefani Canturi Barbie (2010) 302,500 $ หรือ หนึ่งร้อยห้าล้านสองแสนกว่าบาท ตุ๊กตาทำขึ้นพิเศษเพื่อประมูลให้กับมูลนิธิวิจัยด้านมะเร็งทรวงอก ออกแบบโดย Stefano Canturi และมันแพงตรงเครื่องประดับคอที่ทำจากเพชรสีชมพูเจียรนัยทรงเหลี่ยมมรกตหนึ่งกะรัต ประดับเพชรล้อมอีกเม็ดละสามกะรัต

ซีรีส์จากหนังดังและดาราตัวท็อป
ของไทยก็มีนะ เธอคือบาร์บี้ปี 1997 เอดิชั่นพิเศษในชุด Dolls of The World