1721955
น่าสนใจทัศนคติทางการเมืองของออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมปีนี้ ที่ย้ายข้างจากหนังโลกสวยแบบปีก่อนๆ อย่าง 20 Feet from Stardom (เบื้องหลังนักร้องแบ็คอัพของศิลปินก้องโลก), Searching for Sugar Man (ตามหานักร้องโนเนมยุค 70 ที่เพลงดันไปแอบดังในหมู่ชาวแอฟริกาใต้) และ Undefeated (ตามติดทีมอเมริกันฟุตบอลไฮสคูลที่แพ้ยับติดต่อกันมาแล้วหลายฤดูกาล) แล้วหันมาประเคนรางวัลให้สารคดีว่าด้วยศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ อย่าง เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ใน Citizenfour (2014)
ลอรา,
ณ ที่แห่งนี้ ผมไม่สามารถให้อะไรคุณได้เลย นอกจากคำพูดของผม ผมเป็นลูกจ้างระดับสูงของรัฐบาลในหน่วยงาน Intelligence Community (I.C. ฝ่ายเทคนิควิเคราะห์ข่าวกรอง -หน่วยงานนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1950 ช่วงสงครามเย็น) ผมหวังว่าคุณคงเข้าใจว่าการติดต่อกับคุณนั้นมันสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง บัดนี้รู้ไว้ว่า ทุกๆ พรมแดนที่คุณข้าม, ทุกๆ ธุรกรรมที่คุณกระทำ, ทุกๆ สายที่คุณติดต่อ, ทุกๆ การคุยมือถือ, เพื่อนที่คุณมี, บทความที่คุณเขียน, เว็บที่คุณแวะเข้าไปอ่าน, เนื้อหาทุกบรรทัดที่คุณพิมพ์ และสัมภาระเดินทางทุกชิ้น ล้วนอยู่ในกำมือของระบบอันไร้ซึ่งขีดจำกัดในการเข้าถึง แต่ไร้ซึ่งการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย ท้ายที่สุดนี้ หากคุณเผยแพร่แหล่งข้อมูลเหล่านี้ ผมก็คงต้องบอกว่าคุณได้เข้ามามีส่วนพัวพันกับคดีนี้โดยทันที ผมถามย้ำเพื่อความแน่ใจว่าคุณจะทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไปสู่สาธารณชนชาวอเมริกัน
ขอบคุณและโปรดระมัดระวัง
ราษฎรสี่
นี่คือเนื้อหาบางส่วนของจดหมายฉบับแรกที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ตอบกลับมาหา ลอรา พอยทราส ผู้กำกับสารคดีหญิงเรื่องนี้ ซึ่งปรากฏในตัวอย่างหนังด้วย (อ่านฉบับเต็มที่นี่)
[หมายเหตุ: ราษฎรสี่ ในที่นี้เป็นการเล่นคำ อิงถึง ฐานันดรที่สี่ (The Fourth Estate) คำที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ในอังกฤษ ที่แบ่งฐานันดรออกเป็น 1. กษัตริย์ ขุนนาง และนักรบ 2. ผู้นำทางศาสนา หรือพระ 3. ผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากคนธรรมดา ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐสภาอังกฤษในเวลานั้น โดย เอ็ดมันด์ เบอร์ค (1729-1797) นักเขียน และนักการเมือง ได้ชี้ไปยังกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ที่เข้ามาร่วมฟังประชุมสภา และกล่าวว่า “บัดนี้มีฐานันดรที่ 4 เกิดขึ้นแล้ว” นับแต่นั้น นักหนังสือพิมพ์จึงถูกเรียกว่า “ฐานันดรที่ 4” ปัจจุบันหมายรวมไปถึงสื่อมวลชนทุกแขนง ขณะที่การปล่อยรั่วข้อมูลลับโดยสโนว์เดนนี้ การเล่นกับคำว่า “ราษฎรสี่” ได้ชี้ว่าตัวเขากระทำในฐานะสื่อมวลชนผู้ต้องการให้โลกรู้ข้อมูลเท็จจริง ซึ่งย้ำว่าขณะเดียวกัน เขาก็เป็นราษฎรด้วย อันสื่อนัยยะว่าตัวเขาสมควรจะได้รับการปกป้องจากรัฐ มิใช่ปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงศัตรูอย่างทุกวันนี้]หลายเดือนก่อนหน้านี้ พอยทราสได้เข้าพบสโนว์เดนในโรงแรมแห่งหนึ่งที่ฮ่องกง เพื่อถ่ายสัมภาษณ์สโนว์เดนไป 8 วันรวด ทำให้ได้คลิปข่าวนานกว่ายี่สิบชั่วโมง ด้วยการซักถามของนักข่าวอีกสองคน คือ เกล็นน์ กรีนวาล์ด และอีเวน แม็คแอสคิล (ทั้งคู่เป็นนักข่าวจากเว็บไซต์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian) อันเป็นคลิปภาพข่าวที่น่าตื่นเต้นที่สุดเพราะยากที่ใครจะสามารถเข้าถึงตัวสโนว์เดนผู้จำต้องระหกระเหเร่ร่อนกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ย้ายไปตามประเทศต่างๆ ที่กล้าพอจะทานอำนาจสหรัฐฯ ได้ (ล่าสุดเขาพำนักชั่วคราวอยู่ในรัสเซีย)
Citizenfour เป็นส่วนสุดท้ายของสารคดีไตรภาค Post 9/11 ประกอบด้วยอีกสองเรื่องก่อนหน้านี้คือ My Country, My Country (2006) ที่ว่าด้วยสงครามอิรัก และ The Oath (2010) ที่ว่าด้วยทหารอเมริกันในกวนตานาโม ที่คิวบา ซึ่งบทสัมภาษณ์ของเธอเรื่องนี้ยังผลให้รายงานด้านสถานการณ์ความมั่นคง อันรวมถึงทีมงานที่สัมภาษณ์ทั้งชุดนี้ และเจเรมี ชิลล์ ซึ่งปรากฏในหนังเรื่องนี้ด้วย ทำให้หนังสือพิมพ์ The Guardian และ The Washington Post คว้ารางวัลพูลิตเชอร์สาขาสื่อสาธารณะไปได้ในปี 2014
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะการคว้าออสการ์หรือพูลิตเชอร์ ดูจะสวนทางกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง ซึ่งแสดงทีท่าไม่ปลื้มด้วยเท่าไร และไม่ได้ช่วยให้สโนว์เดนได้รับการยกเว้นโทษแต่อย่างใด แม้ว่าก่อนหน้านี้ทั้งทีมผู้สร้างหนังและแฟนหนังเรื่องนี้ จะช่วยกันออกล่ารายชื่อทางโลกออนไลน์เพื่อปลดปล่อยสโนว์เดน แต่หลังจากงานออสการ์ โฆษกทำเนียบขาวก็ออกมาแถลงข่าวยืนยันอีกครั้งว่า “ผลรางวัลออสการ์ จะไม่มีผลใดใดต่อคดีของสโนว์เดน ผู้ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา”
สิ่งที่ชัดเจนมากใน Citizenfour คือ พอยทราสหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ภาพของสโนว์เดนเป็นเสมือนฮีโรหรือเป็นบุคคลศูนย์กลางของสารคดีเรื่องนี้ แต่เธอแทนความเป็นพระเอกของเรื่องด้วยการให้เห็นด้านซึ่งเป็นคนใจเย็น ถ่อมสุภาพ จริงใจ ฉลาด (และหล่อ) ไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง (โดยเฉพาะหากจะนำไปเทียบกับตัวพ่อด้านการปล่อยข่าวรั่วอย่าง จูเลียน อัสซานจ์ แห่งวิกิลีกส์ ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวเขาตกอยู่ในภาวะตึงเครียดและวิตกกังวลจากการถูกกระทำ ทำให้เขาต้องหวาดระแวง หลบๆ ซ่อนๆ อยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งหนังจึงให้ภาพแทนด้วยการถ่ายให้เห็นสโนว์เดนซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มในห้องหับคับแคบ
อันสอดคล้องกับประเด็นที่สารคดีพยายามจะพูดถึงประเด็นการถูกตรวจสอบโดยรัฐ ด้วยการดักข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นประเด็นเปิดโปงที่สโนว์เดนแฉให้โลกรู้ อันนำมาสู่การที่เขาต้องแปรสถานะกลายเป็นกบฏไปในทันที ซึ่งในแง่หนึ่งก็ได้ทำให้ตัวเขากลายเป็นผู้ถูกรัฐทำร้าย และไม่มีสิทธิ์สู้คดีกับฝ่ายรัฐที่มีอำนาจเต็มที่ในการกล่าวหา เอาผิด และลงโทษเขา…ทั้งๆ ที่การกระทำของสโนว์เดนไม่ได้บิดเบือนความจริงเลยแม้แต่น้อย
“ขอบคุณเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน สำหรับความกล้าหาญของเขา” ลอรากล่าวขณะขึ้นรับรางวัลออสการ์ ทำให้ นีล แพ็ทริค แฮร์ริส พิธีกรออสการ์โพล่งติดตลกเรื่องที่สโนว์เดนไม่สามารถมาร่วมงานออสการ์ได้ว่า “ด้วยเหตุผลว่าเขาเป็นกบฏ” ซึ่งทั้งคำขอบคุณและมุกตลกบนเวทีออสการ์ครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญถึงสิ่งที่สโนว์เดนได้ทำไปนั้นว่า ‘ทั้งเป็นประโยชน์และเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง’ แต่สโนว์เดนก็ยืนยันในหนังว่า “หากย้อนกลับไปแก้ไขอดีตได้ ผมก็จะทำแบบเดิมอีกอยู่ดี”