ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกต่างหากที่น่าขนลุก…ไม่ใช่เธอ Wednesday

โลกต่างหากที่น่าขนลุก…ไม่ใช่เธอ Wednesday

4 ธันวาคม 2022


1721955

หลังจากซีรีส์ Wednesday (2022) สตรีมทาง Netflix ไปทั่วโลกเมื่อ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซีรีส์นี้ก็พุ่งสู่อันดับ 1 ใน 93 ประเทศทั่วโลกจากหมวดซีรีส์ภาษาอังกฤษ รวมถึงในประเทศไทยด้วย แม้ว่าเน็ตฟลิกซ์จะให้บริการมากกว่า 190 ประเทศ แต่ซีรีส์นี้ก็มียอดรับชมมากกว่า 340 ล้านชั่วโมง หรือ 50 ล้านครัวเรือนภายในสัปดาห์แรก ทุบสถิติที่ซีรีส์ Stranger Things 4 เคยทำเอาไว้

Wednesday เป็นสปินออฟภาคแยกของ The Addams Family ที่ได้ราชาแห่งโลกเฮี้ยนดาร์กอย่าง ทิม เบอร์ตัน (ที่เคยทำหนังตลกร้ายสุดสยองแนวเดียวกันอย่าง Edward Scissorhands และ Beetlejuice) มานั่งแท่นเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้าง และกำกับใน 4 ตอนแรกจากทั้งหมด 8 ตอน มาร่วมกับผู้จัดอย่าง อัลเฟรด กอฟ และไมล์ส มิลลาร์ คู่หูที่เคยร่วมกันสร้างภาคแยกที่เล่าวัยเด็กของซูเปอร์แมน ใน Smallville โดยการตีความล่าสุดนี้โฟกัสไปที่ตัวละครลูกสาวคนโตของครอบครัว เวนส์เดย์ แอดดัมส์ (เจนนา ออร์เทกา) สาวเปียถัก-เย็นชา-ขวางโลก-สุดดาร์ก-ปากแซ่บแห่งครอบครัวจอมเฮี้ยนที่ในซีรีส์นี้เธออายุ 16 แล้วและถูกเฉดหัวออกจากโรงเรียนของพวกคนธรรมดา (normie) มาแล้ว 8 โรงเรียนภายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ มอร์ติเซีย (แคเธอรีน ซีต้า-โจนส์) และโกเมซ (หลุยส์ กุซมาน) แม่พ่อของเธอต้องรี่พาเธอย้ายไปเรียนที่ เนเวอร์มอร์ อะคาเดมี่ โรงเรียนสำหรับพวกนอกคอกที่มีพลังวิเศษ (outcast) แบบเธอ

The Addams Family มีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมป๊อปมาตลอด 84 ปีนี้ ทั้งการ์ตูน หนัง ซีรีส์ทีวี ฯลฯ รวมถึงวัฒนธรรมย่อย กอธหรือโกธิค ในแง่บุคลิกและแฟชั่น ในวาระครบรอบ 50 ปีของฉบับทีวีเมื่อปี 2014 หนังสือพิมพ์ เดอะ เทเลกราฟ ได้ยกให้ครอบครัวนี้ “เป็นหนึ่งในตระกูลที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา พอ ๆ กับตระกูลเคนเนดี้” คือเป็นที่จับจ้องและจดจำพอ ๆ กัน เพราะพวกเขาเป็นไอคอนของค่านิยมแบบอเมริกันชนที่ต่างกันแบบสุดโต่ง ในปีเดียวกันนั้น นิตยสารไทม์ ได้เปรียบเทียบว่า “ความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ของครอบครัวนี้เหมือน ๆ กับตระกูลเคนเนดี้ และรูสเวลต์ส เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์แบบอเมริกามากเสียจนยากที่ไม่เอ่ยถึงคนเหล่านี้ หากจะพูดถึงวัฒนธรรมอเมริกัน”

ขณะที่นิตยสารทีวีไกด์ ในปี 2013 ได้จัดอันดับ 60 ตระกูลทางทีวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล และยกให้ครอบครัวแอดดัมส์ อยู่ในอันดับที่ 9 ซ้ำยังระบุด้วยว่า “ครอบครัวนี้มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ตระกูลอื่น ๆ ในเวลาต่อมา อาทิ มนุษย์หิน Flinstones และครอบครัวปากร้ายสุดแสบ The Simpsons” ขณะที่นิยตสาร เดอะ การ์เดียน ยกให้เป็นอันดับ 4 ใน 50 หนังครอบครัวที่ดีที่สุดตลอดกาล และในปี 2020 นิตยสาร เอ็มไพร์ จัดให้ เวนส์เดย์ แอดดัมส์ อยู่อันดับที่ 93 ใน ร้อยตัวละครที่ยิ่งใหญ่ที่สุด…แต่อะไรทำให้ชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับครอบครัวนี้อย่างยิ่ง

ชาร์ลส์ แอดดัมส์ (1912-1988, 76ปี)

ผู้ให้กำเนิด

Addams มาจากนามสกุลจริงของผู้แต่งเรื่องนี้ ชาร์ล ซามูเอล แอดดัมส์ ผู้มีสาแหรกร่วมเป็นญาติห่าง ๆ ของ จอห์น อดัมส์ และจอห์น ควินซี อดัมส์ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 2 และคนที่ 6 ของสหรัฐ (แม้ว่านามสกุลจะสะกดไม่เหมือนกัน) หนำซ้ำยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ เจน แอดดัมส์ นักเขียน นักสังคมสงเคราะห์ นักเคลื่อนไหวและปฏิรูปเพื่อสันติภาพ หัวก้าวหน้า และเป็นแม่พระของชาว LGBT สตรีอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโลกในปี 1931

ในวัยเด็ก ชาร์ลส์ เพลิดเพลินกับการเที่ยวชมสุสานเพรสไบทีเรียน ในเขตเวสต์ฟิลด์ และเคยย่องเข้าไปดูในบ้านบนถนน เอล์มสตรีท และดัดลีย์ อะเวนู อันเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบบ้านของครอบครัวแอดดัมส์ในการ์ตูน รวมถึงอาคารเก่าแก่อีกหลังในมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ที่ต่อมาแอดดัมส์เข้าเรียนที่นั่นในช่วงปี 1930-1931 ซึ่งต่อมาอดีตภรรยาของเขา(เลดี้โคลีตัน ภรรยาคนที่ 2 จาก 3) ได้ใช้เงินมรดกสร้างอาคารศิลปกรรมในมหาวิทยาลัยแห่งนี้และตั้งชื่อเขาเป็นชื่ออาคารด้วย พร้อมกับประดับภาพเงาของครอบครัวแอดดัมส์ รวมถึงห้องสมุดมหาวิทยาลัยเพนน์สเตทก็มีภาพจิตรกรรมของเขาประดับอยู่

FYI

ในปี 1980 ชาร์ล แอดดัมส์ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิจิตรศิลป์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย โดยถูกกล่าวสดุดีว่า “เขาสมควรได้รับการยอมรับอย่างล้นหลาม แม้ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่เขาศึกษาอยู่ที่นี่ในช่วงยุค30s แต่เขาก็ได้มอบความสุขอันไร้ขอบเขตให้กับบรรดาคนรักสัตว์ประหลาดจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สมาชิกของครอบครัวมหาวิทยาลัยเห็นชอบที่จะมอบปริญญากิตติมศักดิ์นี้แด่เขา”

FYI

ในปี 2003 มีการประกวดออกแบบประตูสำหรับทางเข้าอาคารศิลปกรรม ในหมู่นักศึกษาเพนซิลวาเนีย ผู้ชนะคือ มาร์ค ลูเดอร์ มหาบัณฑิตปี1993 ได้ออกแบบเป็นรูป ธิง ตัวละครมือข้างเดียวใน The Addams Family โดยหล่อแบบจากมือของคณาจารย์ต่าง ๆ คณะ

FYI

แบบคฤหาสน์ของครอบครัวแอดดัมส์ ในการ์ตูน (รูปซ้ายสุด) ได้ไอเดียมาจากตึกหนึ่งในมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (รูป 2.) ส่วนรูปที่ 3. คือแบบบ้านในฉบับทีวีเวอร์ชั่นแรกในปี 1964 ส่วนรูปขวาสุดด้านบน คือบ้านบนถนนเอล์มสตรีท ที่สมัยเด็ก ๆ ชาร์ลส์เคยย่องเข้าไป สุดท้ายบ้านหลังนี้ไปปรากฏในหนัง (รูปขวาล่าง) A Nightmare on Elm Street (1984) ที่เวส คราเวน ผู้เขียนบทและกำกับ หยิบแนวคิดตลกร้ายแบบครอบครัวแอดดัมส์มาเป็นคาแร็คเตอร์ผีเฟรดดี้ ครูเกอร์ด้วย

แต่สถานศึกษาแห่งสุดท้ายที่ชาร์ลส์เรียนจบจริง ๆ คือ โรงเรียนศิลปะแกรนด์เซ็นทรัล นิวยอร์ก ในปี 1931-1932 หลังจากเรียนจบในปี 1933 ชาร์ลส์ ไปทำงานในแผนกเลย์เอาท์ของนิตยสาร True Detective คล้ายนิตยสารอาชญากรรมในบ้านเรา คือนำคดีจริง ๆ มาตีแผ่แต่เล่าในแบบนิยาย นั่นหมายความว่าภาพประกอบหลายภาพมาจากที่เกิดเหตุ ชาร์ลส์ทำหน้าที่แต่งภาพศพ บางทีก็ต้องกำจัดเลือดออกจากศพให้ภาพไม่ดูรุนแรงเกินไป และสามารถตีพิมพ์ได้

ระหว่างนั้นเขาหันไปวาดภาพการ์ตูนให้ เดอะ นิวยอร์กเกอร์ ผลงานแรกที่ชาร์ลส์วาด เป็นภาพประกอบบทความที่เขาร่างเป็นรูปของคนเช็ดหน้าต่างตึก ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1932 โดยไม่มีการลงชื่อ จนฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 1933 ก็ปรากฎลายเซ็นต์ของเขาในฉบับนั้นเป็นครั้งแรก และเรื่อย ๆ มาในฉบับอื่น ๆ

ผลงานของ ชาร์ลส์ ในช่วงแรก
    รูป 1. “ผมลืมรองเท้าสเก็ต” คือภาพแรกที่ แอดดัมส์ลงลายเซ็น ในฉบับ 4 กุมภาพันธ์ 1933
    รูป 2. “ทีนี้อย่าบอกล่ะว่านายได้นักมานุษยวิทยาเป็นมือเที่ยง”
    รูป 3. ไม่มีคำบรรยายแต่ตีความได้หลายแง่ ว่ากรงนั่นป้องกันสิ่งที่อยู่ในรถเข็น หรือกันคนภายนอก
    รูป 4. “เห็นแก่สวรรค์เหอะ คุณไม่เคยทำอะไรถูกเลยหรือ” คือแม้แต่ผูกคอตายยังผูกเชือกผิด

ตลอดชีวิตของชาร์ลส์ ผลิตผลงานมากกว่า 1,300 ชิ้น มีผลงานเรื่องอื่น ๆ ด้วย อาทิ Drawn and Quartered (1942), Monster Rally (1950) และ Out of This World (1955–1957) รวมถึงวาดภาพประกอบเครดิตต้นเรื่องของหนัง The Old Dark House (1963) และ Murder by Death (1976) อย่างไรก็ตามจากผลงานนับพันของ ชาร์ลส์ มีเพียง 80 ชิ้นเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับ The Addams Family

ภาพต้นฉบับการ์ตูนเวอร์ชั่นแรก

แหล่งกำเนิด

ครอบครัวแอดดัมส์ปรากฏตัวครั้งแรกในรูปแบบการ์ตูนช่องเดียวที่บางครั้งก็ไม่มีคำบรรยาย ในนิตยสารชั้นนำ เดอะ นิวยอร์กเกอร์ ในช่วงปี 1938-1964 ที่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเนื้อหาของนิตยสารรายสัปดาห์นี้ที่ตีพิมพ์มานานกว่า 97 ปีและปัจจุบันก็ยังพิมพ์อยู่ท่ามกลางการล้มหายตายจากของนิตยสารอีกหลายหัว มันมีภาพรวมของวัฒนธรรมป๊อปอเมริกัน ไปจนถึงวัฒนธรรมย่อยร่วมสมัย และเรื่องนอกรีต นำเสนอบันเทิงคดี สารคดี บทวิจารณ์ เรื่องสั้น นิยาย และมีส่วนหนึ่งที่โดดเด่นมากคือการ์ตูนจิกกัดสังคม นิตยสารนี้เป็นที่ขึ้นชื่อด้านข้อเท็จจริงที่มีทีมตรวจสอบมากถึง 16 คน อย่างไรก็ตามเคยเกิดคดี 2 ครั้ง แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ยิ่งทำให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

นิยาย เรื่องสั้น และการ์ตูนใน เดอะ นิวยอร์กเกอร์ เคยถูกดัดแปลงเป็นหนังไม่ต่ำกว่า 20 เรื่อง ที่เด่น ๆ ก็เช่น The Secret Life of Walter Mitty (1939 และฉบับรีเมคปี 2013), Casualties of War (1989), Boys Don’t Cry (1999), Angela’s Ashes (1999), The Hours (2002), Adaptation (2002), Brokeback Mountain (2005), The Bridge (2006) รวมถึง Coyote vs. Acme , Spiderhead สองเรื่องล่าสุดในปี 2022 นี้เอง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของนิตยสารหัวนี้ที่บัดนี้เครดิตหนึ่งของมันคือการผลิตมาสเตอร์เขย่าขวัญจอมตลกร้าย ชาร์ลส์ แอดดัมส์

    รูป 1. “อย่างน้อยก็เป็นวันที่ทำให้คุณรู้สึกดีที่มีชีวิตอยู่” ขณะที่นอกหน้าต่างเต็มไปด้วยเมฆดำทะมึน
    รูป 2. ของเล่นเด็ดของพวกเด็ก ๆ คือหั่นหัวตุ๊กตาพระนางมารี อองตัวเนตต์ด้วยกิโยติน
    รูป 3. “ศุกร์นี้ฉันไม่ว่างหรอกเธอจ๋า มีเรื่องให้ทำเยอะมาก มันเป็นวันที่ 13 รู้ใช่มั้ย”
    รูป 4. “อย่างน้อยพวกเด็ก ๆ ก็ยังเชื่อในซานตาคลอสอ่ะเนอะ” เด็ก ๆ ช่วยกันโหมไฟในปล่องรอต้อนรับซานตาคลอส

เหล่านี้คือมุขตลกโหด ๆ หม่น ๆ แบบครอบคัวแอดดัมส์ พวกแอดดัมส์ คือการเล่นกับความแปรปรวนและเสียดสีครอบครัวอเมริกันในอุดมคติ กลุ่มชนชั้นสูงผู้มั่งคั่งประหลาด ๆ ที่ชอบเรื่องน่าขยะแขยงสยดสยอง และดูเหมือนพวกเขาจะไม่รู้ตัว หรือไม่ใส่ใจด้วยว่าคนอื่นจะมองว่าพวกเขาแปลกประหลาดหรือน่ากลัวชวนขนลุก

FYI

ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าการ์ตูนครอบครัวแอดดัมส์ (1938-1964) เริ่มแรกถูกออกแบบมาให้เป็นการ์ตูนแก๊ก แบบช่องเดียวจบ นั่นแปลว่าจริง ๆ แล้วเดิมทีมันไม่มีโครงเรื่องมาก่อนในช่วงยุค30s สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันช่วยเชฟให้การ์ตูนนี้เป็นรูปเป็นร่างและมีเรื่องเกี่ยวเนื่องกันเพิ่มขึ้น มาจากการที่ในปี 1946 ชาร์ลส์ ได้พบกับ เรย์ แบรดเบอร์รี่ นักเขียนนิยายไซ-ไฟ เพื่อให้ชาร์ลส์วาดภาพประกอบเรื่องสั้น Homecoming ของ แบรดเบอร์รี่ ลงในนิตยสาร มาดมัวแซลล์ (คล้ายกุลสตรี หรือขวัญเรือน ของบ้านเรา) ซึ่งเรื่องราวชุดแรกเกี่ยวกับตระกูล เอลเลียตต์ส ตัวประหลาดแห่งรัฐอิลลินอยส์

พวกเขาเป็นเพื่อนกันหลังจากนั้น และมีแผนจะร่วมกันทำหนังสือประวัติศาสตร์ครอบครัวเอลเลียตต์ส ฉบับสมบูรณ์ แต่โปรเจ็คต์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เรื่องราวของตระกูลเอลเลียตต์ส ถูกแบรดเบอร์รี่ นำมาร้อยเรียงใหม่ในนิยาย From the Dust Returned (2001 หลังจากชาร์ลส์เสียชีวิตในปี 1988 และใช้ภาพปกที่แอดดัมส์เป็นผู้วาด) โดยมีการเชื่อมโยงตัวละครประหลาดต่าง ๆ เข้าเป็นเนื้อเรื่อง อันเห็นได้ชัดว่านี่คือรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในช่วงที่ The Addams Family เริ่มมีพล็อตเรื่อง ในนิยายของแบรดเบอร์รี่ เขาระบุว่า “ชาร์ลส์ไปตามทางของเขาเพื่อสร้าง Addams Family ส่วนผมก็ไปตามทางของผมเพื่อสร้างครอบครัวของผมในนิยายเล่มนี้” หลังจากยุค40s ชาร์ลส์ ตีพิมพ์เกี่ยวกับ Addams หลายคอลเล็คชั่น อาทิ Homebodies (1954 ขนาดชื่อยังคล้ายกับ Homecoming ของแบรดเบอร์รี่ซะงั้น) Dear Dead Days: A Family Album (1959) Black Maria (1960) Addams and Evil (1965)

FYI

อย่างไรก็ตามตระกูลแอดดัมส์ ไม่เคยมีชื่อตัวละครในฉบับการ์ตูน ยกเว้นมอร์ติเซีย และเวนส์เดย์ ที่ชาร์ลส์ตั้งชื่อให้ในปี 1962 เนื่องจากมันถูกทำขายเป็นตุ๊กตาแบบมีลิขสิทธิ์ แต่กว่าพวกแอดดัมส์จะมีชื่อครบกันทุกคนก็เมื่อมันถูกดัดแปลงเป็นThe Addams Family ฉบับทีวีในปี 1964 ในคืนวันศุกร์ที่18 กันยายน 1964 มี 2 ซีซั่น รวมทั้งหมด 64 ตอน ทางช่องABC อย่างไรก็ตามในอีกไม่กี่วันถัดมา ช่อง CBS ก็ฉายซิทคอมที่มีหน้าตาคล้ายกันในชื่อ The Munsters และฉายตัดหน้าในทุกคืนวันพฤหัสที่เริ่มวันที่ 24 กันยายน ของปีเดียวกัน มี 2 ซีซั่น 70 ตอน มันเป็นเรื่องราวของครอบครัวแฟรงค์เกนสไตน์กับแวมไพร์ที่มีลูกเป็นมนุษย์หมาป่า และมีลูกเลี้ยง(ลูกสาวของน้องสาวฝั่งแม่)เป็นคนธรรมดาชื่อมาริลีน

“โกเมซ และพักสลีย์ เป็นพวกแรงเหลือ ลุกลี้ลุกลนกับทุกเรื่อง ตรงข้ามกับมอร์ติเซียผู้เงียบขรึม งามสง่า มีไหวพริบ และบางครั้งก็เป็นอันตรายถึงชีวิต คุณยายฟรัมป์นิสัยขี้เล่นชอบปรุงยาประหลาด เวนส์เดย์ถอดแบบออกมาจากแม่เปี๊ยบ เป็นครอบครัวแน่นแฟ้นที่มีหัวหน้าครอบครัวตัวจริงคือ ตัวแม่อย่างมอร์ติเซีย…แน่นอนว่าบ้านนี้พังยับเยิน แต่พวกเขาก็สุดแสนจะภาคภูมิใจในบ้านหลังใหญ่ที่ไม่เคยมีปัญหาทางการเงินเลย”—  ชาร์ลส์ แอดดัมส์

ที่มาชื่อตัวละคร: มอร์ติเซีย มาจากศัพท์ mortician ที่แปลว่าสัปเหร่อหรือหมอผี ส่วนโกเมซ แอดดัมส์อยากให้ตัวละครนี้เป็นคนละติน จึงเสนอกับนักแสดงในบทนี้ไป 2 ชื่อให้เลือก ระหว่าง รีเพลลี หรือโกเมซ เขาเลือกชื่อหลัง อย่างไรก็ตามโกเมซเป็นนามสกุลที่ใช้กันเยอะมากในแถบอเมริกาใต้ ตอนไปฉายที่นั่นตัวละครนี้จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น โฮเมโร่ ส่วนลูกทั้งสอง เวนส์เดย์นั้นคนที่ตั้งชื่อให้คือ โจน เบลค (1932-1985) นักแสดงหญิงยุคเก่าผู้เป็นเพื่อนของชาร์ลส์ โดยหยิบไอเดียมาจากคำทำนายโบราณที่ต่อมาดัดแปลงเป็นเพลงกล่อมเด็กในชื่อ Monday’s Child (ตีพิมพ์ครั้งแรก 1838) ที่มีท่อนหนึ่งแปลว่า “เด็กวันพุธ(ลูกคนกลาง)นำความวิบัติมาสู่” ตัวละครนี้ในฉบับซิทคอมแรกมีเฉลยว่าชื่อกลางเธอคือ ฟรายเดย์(วันศุกร์) เช่นเดียวกับซีรีส์ล่าสุดก็บอกว่า “แม้จะชื่อวันพุธแต่จริง ๆ เธอเกิดวันศุกร์” ก็ไม่รู้ว่าศุกร์ 13 หรือเปล่า ส่วนพัคลีย์น้องชายแต่เดิม ชาร์ลส์ เสนอชื่อ พูเบิร์ต มาจากคำว่า puberty วัยแตกพาน แต่ถูกผู้จัดปฏิเสธเนื่องจากฟังดูมีนัยยะทางเพศเกินไป จึงใช้ชื่อที่คล้องกับคำว่าน่าเกลียด Ugly เป็น พัคลีย์

(สองรูปแรก) พูเบิร์ตปกติ (รูปสุดท้าย) พูเบิร์ตป่วยหนัก

FYI

ต่อมาชื่อพูเบิร์ตถูกใช้จริง ๆ ใน Addams Family Values (1993) น้องเล็กสุดท้องสมาชิกล่าสุดของครอบครัวแอดดัมส์ที่โผล่มาในภาคนี้แค่ภาคเดียว ซึ่งความจริงแล้วตัวละครนี้ถูกเอ่ยถึงมาตั้งแต่ฉบับหนังวิดีโอ Addams Family Reunion (1998) และThe New Addams Family (1998) ก่อนหน้านี้แล้ว โดยเวนส์เดย์เล่าว่าบ้านนี้มีลูกคนที่สามแต่ถูกพักลีย์กินลงไป โดยเวลาปกติพูเบิร์ตจะมีผิวซีดเซียว หน้าตาย ผมดำขลับเรียบแปล้ และมีหนวดเหมือนพ่อ แต่เมื่อไหร่ที่เขาป่วย ผิวเขาจะเปล่งปลั่งผมหยิกหยองสีทองระยับ ยิ้มแย้ม ตอนเกิดพวกพ่อแม่กะจะให้ชื่อ ลูซิเฟอร์(ซาตาน) เบนิโต (มุสโสลินี จอมเผด็จการ) ไม่ก็ เหมา (เหมาเจ๋อตง คอมมิวนิสต์จีน)

FYI: งานของ Charles Addams มีอิทธิพลต่อโลกของการ์ตูนและอารมณ์ขันแบบอเมริกันชนอย่างไร

บ็อบ แมนคอฟฟ์ บรรณาธิการการ์ตูนของ เดอะ นิวยอร์คเกอร์ ตั้งแต่ปี 1997-2017 เคยตอบไว้เมื่อปี 2010 ว่า “ผมว่าอิทธิพลของพวกเขามีมากอย่างเหลือล้น เขาวาดเส้นสายแบบภาพประกอบนิยายแนวกอธิคที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง มองเหตุการณ์ต่าง ๆ ในแบบปลอบประโลมที่แฝงความจริงอันน่าอึดอัดเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ที่แบ่งเป็น 2 ขั้วเสมอ ขณะที่วรรณกรรมโกธิคมักผสมผสานธีมสยองขวัญเข้ากับความโรแมนติก แต่ Addams กลับทำให้ความสยองขวัญกลายเป็นเรื่องเฮฮา มีความไม่ชอบมาพากล รบกวนจิตใจอยู่เสมอ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นมิตร คนอ่านสามารถยอมรับตัวตนและพฤติกรรมของตัวละครเหล่านี้ได้ไม่ยาก พวกเขาทั้งมืดมน และป่วย มาก่อนกาล บุคลิกชวนสยองที่ผสมอารมณ์ขันแบบนี้ต่อมาปรากฏในคาแร็คเตอร์ของ เฟรดดี้ ครูเกอร์ แห่ง A Nightmare on Elm Street (1984)
ส่วนตัวผมคิดว่าอิทธิพลของพวกเขาขยายไปไกลในวัฒนธรรมอเมริกัน มากกว่าแค่แนวชวนขนหัวลุก อารมณ์ขันของพวกเขาไม่ใช่การปลอบประโลม แม้ว่าการหัวเราะจะเป็นยารักษาที่ดีที่สุดก็เถอะ แต่มันก็ตีแผ่คุณค่าชีวิตชนชั้นกลางชาวอเมริกันด้วยว่า การที่เราหัวเราะเยาะใส่ตัวละครแบบนี้ที่ทำเรื่องชั่วช้าโหดเหี้ยม มันได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกันในฐานะที่ประวัติศาสตร์ชาติเราก็ทำอะไรโหดเหี้ยมมาตลอด”

ครอบครัวแอดดัมส์ถูกดัดแปลงเป็นหนัง ซิทคอม แอนิเมชั่น หนังวิดีโอ มิวสิคัล ซีรีส์วล็อคในยูทูบ และซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ล่าสุดนี้คือเวอร์ชั่นที่ 14 และทั้ง ๆ ที่มันมีแนวทางแบบเดียวกับหนัง ทิม เบอร์ตัน แท้ ๆ แต่ เบอร์ตัน ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ข้องเกี่ยวกับเฟรนไชส์เรื่องนี้เลย จนกระทั่งซีรีส์ Wednesday ซึ่งจริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้เบอร์ตันเกือบจะได้กำกับ เขียนบท และร่วมอำนวยการสร้าง ในฉบับแอนิเมชั่น แบบสต็อปโมชั่น (แบบที่เบอร์ตันเคยทำใน The Nightmare Before Christmas) อันเป็นช่วงที่ค่ายอิลลูมิเนชั่น (หุ้นส่วนของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส) ได้สิทธิ์ในการดัดแปลง โดยตั้งใจจะอิงจากต้นฉบับภาพวาดของ ชาร์ลส์ แต่สุดท้ายเดือนกรกฎาคม 2013 ทางค่ายก็ประกาศยกเลิก

Wednesday ถูกตีความใหม่ให้เป็นดาร์กแฟนตาซี ปนสืบสวน แนวไฮสคูล และแม้ซีรีส์นี้จะถูกบ่นว่ามันยังไม่โหดเหี้ยมเท่าเวอร์ชั่นก่อน ๆ ที่ตลกร้ายกว่านี้มาก เช่น ปาระเบิดใส่กัน เผาบ้านวอดวาย กิโยตินน้องชายทารกของตัวเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสน่ห์ของเวอร์ชั่นซีรีส์นี้คือการแสดงของ เจนน่า ออเทกา ในฉบับหน้าเหวี่ยงปากแซ่บได้อย่างเข้าถึงจิตวิญญาณดาร์กโกธิคสุดแสบ

เจนน่า เป็นลูกคนกลางจากครอบครัวเชื้อสายเม็กซิกันเปอโตริโกที่อพยพมาอยู่แคลิฟอร์เนีย หลังจากพยายามอยู่หลายปีในการเป็นเด็กในสังกัดดิสนีย์ เธอก็ลาออกมาเป็นตัวแม่หนังหวีด นับตั้งแต่ซีรีส์ You 2 (2019), The Babysitter: Killer Queen (2020), Scream (2022), Studio 666 (2022), X (2022) และ American Carnage (2022) เธอถูกทาบทามถึงสองครั้งให้มารับบทเวนส์เดย์ แต่ตอนนั้นเธอเชื่อว่าไม่มีใครรับบทนี้ได้ดีไปกว่า คริสติน่า ริชชี่ ในฉบับหนังปี 1991 อีกแล้ว กระทั่งสุดท้ายเมื่อเบอร์ตันขอร้องให้เธอมาแคสติ้งให้ได้ ตอนนั้นเธอกำลังถ่ายทำหนังสยองขวัญเรื่อง X ในฉากที่มีเลือดสาดกระจาย และด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้เธอต้องแคสติ้งผ่านโปรแกรมวิดีโอคอลล์ สุดท้ายเธอก็ได้รับบทนี้ไปจริง ๆ แถมยังได้แสดงร่วมกับ คริสติน่า ริชชี่ ด้วยที่มารับบทเป็นครู

หลายคนชื่นชมฉากแดนซ์ สุดดาร์กประหลาดฉบับเจนน่า แต่ลองไปดูต้นฉบับซิทคอมภาคแรกก่อน น้องเวนส์เดย์เวอร์ชั่นนั้นก็แดนซ์ได้วิบัติพอกัน อย่างไรก็ตามตัวตึงสายแดนซ์ที่แท้ทรู จริง ๆ ต้องยกให้ มอร์ติเซีย ฉบับ แองเจลิกา ฮิวส์ตัน ใน Addams Family Values (1993) ที่เชื่อว่าท่าเต้นเข้าขั้นหายนะแบบเธอคงไม่มีนมุษย์มนาคนไหนลอกเลียนแบบได้

สิ่งที่ดีมากอีกอย่างคือหลายคนมองว่าเวนส์เดย์ขวางโลก แต่จริง ๆ แนวคิดแบบ เวนส์เดย์ ฉบับซีรีส์นี้เป็นพวกหัวเอียงซ้ายสุดโต่ง ที่ช่วยไม่ได้จริง ๆ เพราะฝ่าย ชาร์ลส์ ที่มีญาติห่าง ๆ เป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐถึง 2 คน แถมตัวละครโกเมซยังเคยบ่นในฉบับทีวีเวอร์ชั่นแรกสุดด้วยว่า “ผมละอายใจจริง ๆ ที่มีบรรพบุรุษเป็นพวกคนขาวเล่นการเมือง” ขณะที่เวนส์เดย์ ในฉบับ Addams Family Values (1993) เธอยี้โพคาฮอนทัสเข้าไส้ โดยเฉพาะต้องมาแสดงต่อหน้าพวกอเมริกันสลิ่มโลกสวย เธอจึงจุดไฟเผาลูก ๆ สลิ่มเล่นหน้าตาเฉย เพราะโพคาฮอนทัสคือโฆษณาชวนเชื่อที่พวกอเมริกันชนหลอกใช้ชาวอินเดียแดงพื้นเมืองสร้างค่านิยมปรองดองจอมปลอม ทั้งที่ในความเป็นจริงคือพวกอเมริกันทั้งไล่ฆ่า ปล้น และข่มขืนชนพื้นเมืองเพื่อจะได้มาซึ่งดินแดน รวมไปถึงถ้าย้อนอดีตไปที่ยายฝ่ายแม่ของมอร์ติเซียที่เป็นแม่มด และเคยถูกพวกคนขาวจับเผาทั้งเป็น ก็ถูกต้องทางการเมืองแล้วที่ เวนส์เดย์ เวอร์ชั่นนี้จะเอียงซ้าย นี่ยังไม่นับว่า เจนน่าเธอยังเคยคอลเอาท์เรียกร้องสิทธิให้ผู้อพยพชาวละติน รวมถึงต้องไม่ลืมว่า ชาร์ลส์ เป็นญาติห่าง ๆ ของหญิงอเมริกันคนแรกที่คว้าโนเบลสันติภาพโลก และเป็นเลสเบี้ยนอย่างเปิดเผย เก๋เปรี้ยวล้ำสมัยท่ามกลางพวกอเมริกันชนดัดจริตในยุคบูมเมอร์อีกด้วย

ดังนั้นพฤติกรรมของเวนส์เดย์ไม่ได้น่าขนลุก หรือขวางโลก แต่ทว่าโลกต่างหากที่ขวางเธอ และน่าขยะแขยงกว่าเยอะ