ThaiPublica > คอลัมน์ > “เอสโตเนีย” ต้นแบบรัฐสมัยใหม่สู่ Digital, Smart and Green Economies

“เอสโตเนีย” ต้นแบบรัฐสมัยใหม่สู่ Digital, Smart and Green Economies

27 พฤษภาคม 2023


สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ที่มาภาพ : https://www.educationestonia.org/tiger-leap/

หลังสิ้นสุดสงครามเย็นเมื่อต้นทศวรรษที่ 90 การล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำให้มีประเทศเกิดใหม่อีก 15 ประเทศ…หนึ่งในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ มาจากกลุ่มประเทศบอลติก หรือ Baltic States ที่ประกอบด้วย ลัตเวีย (Latvia) ลิธัวเนีย (Lithuania) และเอสโตเนีย (Estonia)

เอสโตเนียประสบความสำเร็จในการเป็นต้นแบบรัฐยุคใหม่ที่พัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนประเทศจากนโยบายเชิงรุก (Proactive policies) ที่ทันกับทิศทางการพัฒนาของกระแสโลก รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการให้สร้างนวัตกรรมที่ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มมาช่วย (Innovation entreprenuership)

หลังประกาศเอกราชแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตช่วงต้นทศวรรษที่ 90 รัฐบาลเอสโตเนียภายใต้การนำของ Lennart Meri ผู้นำเอสโตเนีย มีวิสัยทัศน์ที่เริ่มต้นสร้างประเทศจากโรงเรียนโดยใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เรียกว่า Tiigrihupe หรือ Tiger Leap แปลเป็นไทยว่า “เสือกระโจน” จุดเด่นของแผนนี้ คือ การจัดให้มีการเรียนการสอน Computer ตั้งแต่ชั้นเด็กสนับสนุนให้เด็กนักเรียนมี Digital literacy ตั้งแต่ชั้นประถม (ผู้สนใจโปรดดู https://www.educationestonia.org/tiger-leap/)

ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน Computer PC เป็นเรื่องใหม่ของคนทั้งโลก และใช้งบประมาณสูงในการจัดหา แต่รัฐบาลเอสโตเนียยุคเริ่มสร้างประเทศเห็นว่าสิ่งนี้ คือ อนาคต เพราะจังหวะก้าวย่างสู่ประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็วต้องให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่มาพร้อมกับยุค Computer

การลงทุนในวันนั้น “สร้างประเทศจากโรงเรียน” โดยมี Computer เป็นตัวนำ ทำให้เด็กชาวเอสโตเนียเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ใช้วิธีคิดแบบ STEM หรือ Science, Technology, Engineering and Mathematics …จนกระทั่งปี 2002 เอสโตเนียเปิดตัว Digital ID cards ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรัฐทางออนไลน์

การมาของ E-government ทำให้รัฐบาลเอสโตเนียได้รับคำชื่นชมอย่างมากที่พัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดหลังจากแยกตัวจากสหภาพโซเวียต ขณะที่รัฐเกิดใหม่ทั้งหลายยังสาละวนกับการแย่งชิงอำนาจในกลุ่มชนชั้นนำ

ปี 2005 เริ่มใช้ระบบ I-voting หรือการลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์

ปี 2014 เปิดตัว e-residence ที่ให้โอกาสพลเมืองทั่วโลกสมัครเป็นพลเมืองออนไลน์ของเอสโตเนีย ซึ่งช่วยในเรื่องการทำธุรกิจออนไลน์ รองรับ Digital Economy

ปัจจัยที่ทำให้เอสโตเนียประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศสู่ Digital Economy และ Smart Economy ที่มุ่งเน้น IoT มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

หนึ่ง…ประชาชนเอสโตเนียมี Digital literacy อยู่ในระดับดีมาก ด้วยเหตุผลจากนโยบาย Tiger Leap ตั้งแต่เริ่มต้นสร้างประเทศจากโรงเรียน

สอง…นโยบายเชิงรุกของรัฐบาล (Proactive government policies) ที่ตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกอยู่ตลอดเวลา ทำให้เอสโตเนียปรับตัวได้เร็วโดยเฉพาะยุค Digital transformation

สาม…การให้ความสำคัญกับ Blockchain ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล วันนี้ความมั่นคงของรัฐยุคใหม่ คือ ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลประชาชนและข้อมูลภาครัฐ

Lennart Meri ประธานาธิบดีคนแรกของเอสโตเนียที่นำพาประเทศเอสโตเนียกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ที่มาภาพ : https://www.wikiwand.com/en/Lennart_Meri

รัฐบาลเอสโตเนียปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการเป็น Smart Economy โดยส่งเสริมให้ธุรกิจ Startup พัฒนานวัตกรรมที่มี Digital platform เป็นพื้นฐาน การสนับสนุนนั้นทำมานานแล้ว โดยบริษัทที่กลายเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของ Estonian Startup ยุคต้น ๆ คือ Skype ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ประสบความสำเร็จ คือ รัฐผลักดัน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม เป็น Innovation cultural ของประเทศ

ปัจจุบันเมือง Talinn เมืองหลวงของเอสโตเนีย เป็นหนึ่งใน Digital tech hub และเป็น Smart City ที่สำคัญในยุโรป

เอสโตเนียนับเป็นอีกหนึ่งประเทศน่าอยู่ไม่แพ้กลุ่มสแกนดิเนเวีย
ที่มาภาพ : https://e-estonia.com/

สุดท้ายการยกระดับประเทศเอสโตเนียในยุคใหม่ คือ การขับเคลื่อนด้วย Green Economy โดยเอสโตเนียมีแผนยุทธศาสตร์การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่เรียกว่า Estonia 2035 เน้นการพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดสภาวะโลกรวน โดยนำ Green Technologies มาใช้เป็นหลัก

กล่าวโดยสรุป ปัจจัยที่ทำให้เอสโตเนียก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา หลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น การล่มสลายของสหภาพโซเวียต เราสามารถสรุปได้ ดังนี้

    1. วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศที่มุ่งไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ วิสัยทัศน์นี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม นำไปสู่ Digital และ Smart Economy
    2. นโยบาย Tiger Leap ที่สร้างประเทศจากโรงเรียนโดยใช้ Computer เป็นพื้นฐานการพัฒนา ต่อยอดมาสู่ Digital literacy ของพลเมืองเอสโตเนีย
    3. รัฐสร้าง Innovation ecosystem ทำให้เกิด Innovation culture ในทุกระดับ ส่งผลให้ Startup ทางเทคโนโลยีขั้นสูงเติบโตได้รวดเร็วในเอสโตเนีย