ThaiPublica > คอลัมน์ > สิบบทเรียนข้างหน้า…โลกหลังยุค Pandemic (ตอนที่ 1)

สิบบทเรียนข้างหน้า…โลกหลังยุค Pandemic (ตอนที่ 1)

31 พฤษภาคม 2021


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ชิมก่อนปรุง Taste before seasoning

  • ช่วงเวลาแห่งการระบาดของ Covid-19 ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงโลกข้างหน้าว่าจะเดินไปในทิศทางใด จะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตของมวลมนุษยชาติ ปีที่ผ่านมาเริ่มมีหนังสือหลายเล่มทยอยออกมาทำนายถึงการปรับตัวของมนุษย์ในยุค Post-pandemic
  • หนังสือเรื่อง Fareed Zakaria’ s Ten lessons for a post pandemic world นับเป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจ โดยได้ถ่ายทอดมุมมองของฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria) นักข่าวชื่อดังของ CNN และคอลัมนิสต์ที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในแวดวงสื่ออเมริกัน
  • สิบบทเรียนที่ฟารีดถ่ายทอดออกมานั้นทำให้เรามองเห็นโลกข้างหน้าที่ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่การเตรียมพร้อมต่อการปรับตัวสู่โลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลง
  • การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ได้สะท้อนภาพการปรับตัวครั้งใหญ่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก…ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์และการปฏิวัติดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง

    …การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งการปรับตัวของทุกสังคม

    นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีนักคิด นักเขียน นักวิชาการหลายคนออกมาตั้งข้อสังเกตและพยายามทำนายอนาคตแบบนักอนาคตศาสตร์หลังการระบาดใหญ่ครั้งนี้หรือที่เรียกว่า post- pandemic

    การตั้งคำถามต่อการรับมือของสังคมหรือรัฐบาลต่อยุค Next Normal นับเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

    หนังสือเรื่อง Fareed Zakaria’s Ten lesson learns for a post-pandemic world นับเป็นหนังสือน่าสนใจอีกเล่มที่ถ่ายทอดจากมุมมองของนักข่าวชื่อดังจาก CNN รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์ที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

    ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria)ที่มาภาพ : https://whyy.org/wp-content/uploads/2020/12/pjimage-1-768×540.jpg

    …มารู้จัก ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria)

    ฟารีด ซาคาเรีย เกิดที่มุมไบ อินเดีย ในครอบครัวมุสลิม พ่อของเขา ราฟิก ซาคาเรีย (Rafiq Zakaria) เป็นนักการเมืองอินเดีย ในวัยเด็กของฟารีด เขาเรียนหนังสือที่มุมไบ ก่อนจะไปจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา

    ด้วยความเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียน ฟารีดรับตำแหน่งเป็นประธานชมรม Yale Political Union เป็นบรรณาธิการวารสารรายเดือนให้กับ Yale Political Monthly

    ต่อมาฟารีดสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด โดยมีบรมครูอย่าง ซามูเอล ฮัลติงตัน (Samuel P. Huntington) และ สแตนลีย์ ฮอฟฟ์มานน์ (Stanley Hoffmann) เป็นผู้ดูแลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

    ฟารีด ซาคาเรีย ที่มาภาพ : https://som.yale.edu/sites/default/files/event/featured_
    images/FRZ%20Headshot%20Yale%20April%2021%5B1%5D%20copy.jpg

    ดร.ฟารีด ซาคาเรีย จึงคลุกคลีกับแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งสอนหนังสือ ทำวิจัย เป็นบรรณาธิการวารสารวิชาการ รวมทั้งเริ่มเขียนคอลัมน์ให้กับ New York Time และ Wall Street Journal

    หนังสือเล่มน่าสนใจของเขา เช่น From Wealth to Power : The Unusual Origins of America’s World Role ตีพิมพ์เมื่อปี 1998 โดยสำนักพิมพ์ Princeton และเล่มที่น่าจะโด่งดังที่สุด คือ The Post America World เมื่อปี 2008

    ที่มาภาพ : https://images-na.ssl-images-amazon.com/images/I/51rKArW6ZKL.jpg

    ฟารีดผันตัวมาทำงานเบื้องหน้าในฐานะนักวิเคราะห์การเมือง อ่านสถานการณ์โลกในช่องข่าว CNN โดยจัดรายการชื่อ Fareed Zakaria GPS (Global Public Squares) ตั้งแต่ปี 2008

    ด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศทำให้มุมมองของเขามีความน่าสนใจและแหลมคมยิ่งนัก

    หนังสือเล่มล่าสุดของเขา คือ Fareed Zakaria ‘s Ten lesson learns for a post-pandemic world พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว (2020) ปีที่เต็มไปด้วยความโกลาหลจากการระบาดของโควิด-19

    สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือ การกล่าวถึงผลพวงของการระบาดโควิด-19 และการรับมือต่อจากนี้ไปในยุคหลังโควิด

    ฟารีดได้เขียนถ่ายทอดออกมาเป็นสิบบทเรียนที่ได้จากการตั้งข้อสังเกตต่อวิกฤติการระบาดใหญ่ การรับมือของรัฐบาลประเทศต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งมองไปอนาคตข้างหน้าว่า หลังการระบาดแล้ว มนุษยชาติจะอยู่กันอย่างไร และรับมือด้วยวิธีใด

    …บทเรียนแรก buckle up รัดเข็มขัดให้พร้อม

    คำว่า buckle หรือ หัวเข็มขัด มักใช้กับตอนที่เราคาดเข็มขัดนิรภัยก่อนออกรถ โดยฟารีดเปรียบเทียบให้เห็นว่าอภิมหาวิกฤติครั้งนี้เกิดจากผลพวงของการสูบใช้ทรัพยากรกันแบบไม่บันยะบันยังจนเป็นเหตุให้เกิดภัยธรรมชาติ ปัญหาโลกร้อน จนถึงโรคระบาดใหญ่

    ฟารีดเริ่มต้นบทเรียนแรกแบบนักสัจนิยม คือ มองโลกตามความเป็นจริงว่า โลกที่เชื่อมต่อกันทุกด้านในทุกวันนี้ด้วยพลังโลกาภิวัตน์ทั้งการค้า การลงทุน การปฏิวัติดิจิทัล ล้วนเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ต้นทุนการพัฒนาแลกมาด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการบริโภคแบบไม่สนใจเรื่องความยั่งยืน

    …จนท้ายที่สุด ธรรมชาติจึงเริ่มเอาคืน ฟารีดใช้คำว่า nature’s revenge

    …บทเรียนที่สอง ไม่สำคัญหรอกว่าเราจะมีรัฐบาลใหญ่โตแค่ไหน สำคัญแค่ว่ามีรัฐบาล “คุณภาพ” ก็พอแล้ว

    เนื้อหาของบทนี้ “ตบหน้า” รัฐบาลทรัมป์ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีพอ

    … รัฐบาลควรมีการเตรียมความพร้อมที่ดีอันแสดงให้เห็นถึง “คุณภาพของรัฐบาล” มากกว่าที่จะเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจมาก มีขนาดใหญ่โต แต่ไร้ซึ่งคุณภาพ

    การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เรามองเห็นคุณภาพรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการรับมือ จัดการกับปัญหาการระบาด ซึ่งฟารีดยกตัวอย่างกลุ่มประเทศที่จัดการปัญหาโควิด-19 ได้ดี ไล่ตั้งแต่ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมนี ออสเตรีย ออสเตรเลีย เดนมาร์ก แคนาดา ฟินแลนด์ สิงคโปร์

    กลุ่มประเทศเหล่านี้สะท้อนคุณภาพรัฐบาลในการบริหารจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอย่างมีทิศทางจนทำให้ประชาชนประคองชีวิตผ่านไปได้ในช่วงวิกฤติแบบเจ็บตัวน้อยที่สุด

    …บทเรียนที่สาม กลไกตลาดอาจไม่เพียงพอต่อไปแล้ว

    เนื้อหาของบทนี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจนโดยเฉพาะการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ที่เผชิญวิกฤติ…คนจนทั่วโลกลำบากจากวิกฤติ ขณะที่คนรวย ผู้มีอำนาจยังสามารถใช้พลังเงินและเส้นสายในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้

    ในบทเรียนนี้ ฟารีดยกตัวอย่างเดนมาร์กที่เป็นประเทศที่แม้จะเก็บภาษีสูง แต่บริการสาธารณสุข การศึกษาและสาธารณูปโภคต่างๆ ล้วนทั่วถึง และมีคุณภาพ…สิ่งเหล่านี้จะแสดงออกมาชัดเจนมากขึ้นในช่วงภาวะวิกฤติว่ารัฐบาลแต่ละประเทศสามารถจัดการความเหลื่อมล้ำได้ดีมากน้อยเพียงใด

    โปรดติดตามตอนจบ