ThaiPublica > คอลัมน์ > สิบบทเรียนข้างหน้า…โลกหลังยุค Pandemic (ตอนจบ)

สิบบทเรียนข้างหน้า…โลกหลังยุค Pandemic (ตอนจบ)

19 มิถุนายน 2021


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ชิมก่อนปรุง Taste before seasoning

  • ช่วงเวลาแห่งการระบาดของ Covid-19 ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงโลกข้างหน้าว่าจะเดินไปในทิศทางใด จะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตของมวลมนุษยชาติ ปีที่ผ่านมาเริ่มมีหนังสือหลายเล่มทยอยออกมาทำนายถึงการปรับตัวของมนุษย์ในยุค Post-pandemic
  • หนังสือเรื่อง Fareed Zakaria’ s Ten lessons for a post pandemic world นับเป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจ โดยได้ถ่ายทอดมุมมองของฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria) นักข่าวชื่อดังของ CNN และคอลัมนิสต์ที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในแวดวงสื่ออเมริกัน
  • สิบบทเรียนที่ฟารีดถ่ายทอดออกมานั้นทำให้เรามองเห็นโลกข้างหน้าที่ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่การเตรียมพร้อมต่อการปรับตัวสู่โลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลง
  • ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria)ที่มาภาพ : https://whyy.org/wp-content/uploads/2020/12/pjimage-1-768×540.jpg

    ต่อจากตอนที่1

    …บทเรียนที่สี่ ประชาชนควรฟังผู้เชี่ยวชาญและผู้เชี่ยวชาญควรฟังประชาชน (บ้าง)

    ในห้วงยามวิกฤติโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมอ นักวิทยาศาสตร์ นักระบาดวิทยา ล้วนเป็นบุคคลผู้ให้คำแนะนำกับสังคมดีที่สุด

    อย่างไรก็ดี ฟารีดมองว่าด้วยสถานการณ์หลายอย่างที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลต่างๆ อัปเดตตลอดเวลา จนหลายครั้งชาวบ้านเริ่มสับสนกับข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญป้อนให้ หนำซ้ำหากมีรสนิยมทางการเมืองปนเข้ามาด้วย ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดและไม่มีใครอยากฟังใคร

    ทุกสังคม เวลาเกิดวิกฤติ ความเหลื่อมล้ำยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโควิด-19 รอบนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาเหมือนกันทั้งโลก กล่าวคือ จะทำอย่างไรให้ผู้เชี่ยวชาญสื่อสารให้คนธรรมดาที่ไม่เข้าใจศัพท์แสงทางการแพทย์นั้น เข้าใจสารหรือเนื้อหาที่ผู้เชี่ยวชาญต้องการสื่อ

    …บทเรียนที่ห้า ชีวิตดิจิทัล

    ช่วงก่อนการระบาด การปฏิวัติดิจิทัลทำให้เราใช้ประโยชน์จาก AI (ปัญญาประดิษฐ์) ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน อย่างไรก็ดี วิกฤติโควิด กลับเจอข้อดีและข้อเสียของการนำ AI มาใช้เช่นกัน เพราะเมื่อสังคมที่ไม่ต้องการการสัมผัสแบบเดิม ทำให้ AI เข้ามาแย่งงานแรงงานจำนวนมาก

    โจทย์ใหม่หลังการระบาดใหญ่ คือ ทำอย่างไรให้เราสามารถใช้ AI ได้แบบไม่ถูกมันมาทดแทน

    …บทเรียนที่หก เรายังเป็นสัตว์สังคมกันอยู่

    บทเรียนนี้ ฟารีดชี้ให้เห็นว่า แม้จะเกิดวิกฤติแต่ผู้คนยังถวิลหาการติดต่อสื่อสารกันอยู่ ผู้คนจำนวนมากยังไม่อพยพออกนอกเมืองใหญ่ แม้เมืองใหญ่จะมีประชากรหนาแน่น เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด

    แต่การถวิลหาการติดต่อสื่อสารเหล่านี้ ได้เปลี่ยนรูปแบบให้เราเป็นสัตว์สังคมที่ใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ มาทดแทนในยุคที่การประชุมแบบเสมือนจริง (virtual meeting) เฟื่องฟู

    โจทย์ใหญ่ของเมืองใหญ่ในอนาคต คือ การแสวงหาหนทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable way) เพื่อให้การดำรงชีวิตของคนเมืองยุคคนมีลูกน้อยจนนำไปสู่สังคมผู้สูงวัย (aging society) นั้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ รวมทั้งการจัดการระบบขนส่งมวลชนที่นำพลังงานสะอาดทั้งน้ำและลมมาใช้เป็นหลักได้แล้ว

    โควิด-19 ยังทำให้เกิดแรงกดดันกับรัฐบาลทั่วโลกว่าอนาคตการพัฒนาเมืองนั้นจำเป็นต้องจัดโซนให้ชัดเจนเพื่อควบคุมกรณีเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่ เช่น การจัดโซนที่อยู่อาศัย โซนการค้า โซนโรงงานอุตสาหกรรม

    ที่มาภาพ : https://i.gr-assets.com/images/S/compressed.photo.goodreads.com/books/

    …บทเรียนที่เจ็ด ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

    ฟารีดมองเห็นวิกฤติครั้งนี้ว่านำไปสู่ “ช่องว่าง” ที่ถูกทำให้กว้างขึ้นระหว่างคนรวย คนจนในแทบทุกมิติ

    ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถล็อกเมืองได้หลายๆ รอบ เพราะการล็อกดาวน์จะนำมาซึ่งการชัตดาวน์เศรษฐกิจไปโดยปริยาย การหดตัวเศรษฐกิจอย่างรุนแรงนำมาซึ่งโอกาสของธุรกิจใหญ่ที่มีสายป่านยาวซึ่งสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ หนำซ้ำยังได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลในลำดับต้นๆ

    แถมยังถูกหวยหลังวิกฤติ ที่สามารถมาช้อนซื้อธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม รายเล็ก หรือเหล่าสตาร์ตอัปต่างๆ ที่ไปไหว ในราคาถูก

    ผลกระทบเหล่านี้ยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ …แน่นอนว่าวิกฤติโควิด-19 รอบนี้ได้เปลือยให้เห็นความเหลื่อมล้ำของผู้คนในทุกประเทศ

    …บทเรียนที่แปด โลกาภิวัตน์ยังไม่ตายหรอก

    เอาเข้าจริงแล้วโควิด-19 ทำให้นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าโลกาภิวัตน์มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว แต่ในมุมมองของฟารีดกลับเห็นต่างไป

    แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจหลายภาคส่วนหยุดชะงัก แต่พลังการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีดิจิทัลยังทำให้การค้า การลงทุน เศรษฐกิจยังหมุนไปได้และหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจอยู่ดี

    อย่างไรก็ดี ฟารีดเห็นว่า จุดจบของโลกาภิวัตน์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อวิถีชีวิตมนุษย์เปลี่ยนแปลงโดยไม่พบปะ ไม่เดินทาง ไม่แลกเปลี่ยนระหว่างกันต่างหาก เช่นเดียวกัน ประเทศแต่ละประเทศต่างไม่คบค้าสมาคมกันแล้ว ไม่มีการเชื่อมต่อกันแล้ว อยู่แบบตัวใครตัวมัน นั่นจึงหมายถึงโลกาภิวัตน์จบสิ้นแล้วจริงๆ

    …บทเรียนที่เก้า โลกสองขั้ว (bipolar)

    วิกฤติโควิด-19 ทำให้เราเห็นการก้าวขึ้นมาของโลกตะวันออกโดยมีรัฐบาลปักกิ่งของจีนถือธงนำที่ขึ้นมาท้าทายโลกตะวันตกที่มีรัฐบาลวอชิงตันของสหรัฐฯ ปักธงไว้มานานแล้ว

    โควิด-19 ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนากันทั้งการค้า การลงทุน เทคโนโลยี รวมถึงส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ใหม่นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น

    แน่นอนว่า หลังจากนี้ไป เราก้าวสู่ยุคโลกสองขั้วกันแล้ว

    …บทเรียนที่สิบ บางครั้ง การเป็นนักสัจนิยม (realists) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การเป็นนักอุดมคติ (idealists)

    บทเรียนนี้มีปรัชญาในตัวเอง ในหนังสือของฟารีดใช้คำว่า sometimes the greatest realists are the idealists

    โลกยุคโควิด-19 สะท้อนภาพของชาวโลกสวยกลุ่มนักอุดมคติกับผู้นิยมความจริง หรือพวกสัจนิยมที่มองโลกตามความเป็นจริง

    การตายของผู้คนนับล้านจากโรคระบาดไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ไม่มีเวลามานั่งโลกสวยว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้โลกเราได้ฟื้นฟูตัวเอง แต่นักสัจนิยมกลับมองว่ารัฐต่างหากควรรับผิดชอบตั้งแต่เรื่องการป้องกันการระบาด การควบคุม การฟื้นฟู รวมทั้งการสร้างสภาพความเชื่อมั่นให้กลับมาเหมือนเดิม สมกับที่ประชาชนของแต่ละประเทศไว้ใจเลือกมาบริหารและยินดีจ่ายภาษีให้

    การปะทะกันทางความคิดเหล่านี้ ฟารีดมองว่า…

    เมื่อถึงที่สุดแล้ว เราก็ต้องอยู่รอดให้ได้ต่อไปในโลกยุคหลังการระบาดใหญ่

    ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกปัจจุบันล้วนมีที่มา สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอีนุงตุงนังตั้งแต่โลกร้อนยันโรคระบาด เพราะด้วยความที่เราติดต่อกันได้อย่างเสรีในโลกยุคใหม่

    การติดต่อเชื่อมโยงผูกพันกันนั้นที่ทำให้เกิดความช่วยเหลือระหว่างกันอยู่ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับรัฐบาล รวมทั้งระดับประชาชนด้วยกันเอง

    น่าคิดเหมือนกันว่า ตั้งแต่บทเรียนแรกจนถึงบทเรียนที่เก้านั้น ดร.ฟารีด ซาคาเรีย เปิดมาแบบพวก realistic จริงๆ เพราะมองสิ่งที่เกิดขึ้นจากสภาพความเป็นจริง วิจารณ์การแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาลทรัมป์ รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงเรื่องน่ากังวลใจหลายเรื่องที่กำลังตามมา

    แต่พอมาถึงบทเรียนสุดท้าย ที่ว่าด้วยความเป็นอุดมคตินิยมนี้เองที่ทำให้เราเห็นวิธีคิดของฟารีดอีกด้านหนึ่งว่า แท้จริงแล้วโลกเรายังพอมีความหวังกันบ้างที่จะอยู่รอดปลอดภัย เพียงแต่เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและร่วมมือกันผ่านวิกฤติรอบนี้ไปให้ได้

    …เป็นการจบบทเรียนสุดท้ายแบบหล่อจริงๆ