ThaiPublica > Sustainability > Contributor > นวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อเจเนอเรชั่นอัลฟ่า (Sustainovation for Generation Alpha)…สิ่งที่เด็กเมื่อวานซืนขอร้องให้ผู้ใหญ่ช่วยกันทำ

นวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อเจเนอเรชั่นอัลฟ่า (Sustainovation for Generation Alpha)…สิ่งที่เด็กเมื่อวานซืนขอร้องให้ผู้ใหญ่ช่วยกันทำ

26 กุมภาพันธ์ 2023


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

โลกยุคหลังการระบาด Covid-19 เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ ๆ ไล่เรียงมาตั้งแต่เรื่อง Climate Change ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ การแย่งชิงทรัพยากรในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสงครามระหว่างประเทศ สงครามตัวแทน ไปจนถึงสงครามกลางเมือง นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่างช่วงอายุ (Generation Gap) ที่มาจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป

อาจกล่าวได้ว่า เจเนอเรชั่นที่ต้องพบกับผลกระทบเต็ม ๆ จากความท้าทายใหม่ ๆ เหล่านี้ คือ เจเนอเรชั่นอัลฟ่า (Generation Alpha) ซึ่งความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เด็กยุคอัลฟ่า (เกิดระหว่างปี ค.ศ. 2010-2025) ต้องเผชิญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ข้อดีอย่างหนึ่งของมนุษย์เรา คือ การพัฒนาความคิดตัวเองอยู่เสมอ ผ่านการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ลองผิดลองถูก และหาข้อสรุปให้กับตัวเอง

…การเข้ามาของ AI อย่าง Open AI ChatGPT ทำให้ปีนี้เป็นปีที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้ที่สนใจติดตามความก้าวหน้าของการนำ AI มาใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ รวมถึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะทำงานร่วมกับ AI ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร… โดยที่ AI ไม่สามารถมาแย่งงานเราทำได้

สำหรับผู้เขียนแล้ว คำตอบ คือ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ซึ่งนำมาซึ่งการปรับปรุงวิธีการทำงานใหม่

เด็ก Gen Alpha ที่เติบโตช่วงการระบาด Covid-19 พวกเขาต้องอยู่กับเรื่องโรคระบาดใหญ่ ไม่ปลอดภัยกับฝุ่นพิษ PM 2.5 พบเจอเรื่องเลวร้ายของสังคมตั้งแต่อาชญากรรมในชีวิตประจำวันแบบ “ลัก วิ่ง ชิงปล้น ข่มขืน” ไปจนถึงอาชญากรรมไซเบอร์ ทั้งแก๊งคอลเซนเตอร์ แก๊งดูดเงินทางมือถือ บ่อนพนันออนไลน์ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐชั่ว ๆ บางคนเป็นนายบ่อนหนุนหลัง

นอกจากนี้เด็ก Gen Alpha ยังต้องเจอเรื่องการคุกคาม ข่มขู่จากคนแปลกหน้าบ่อยขึ้น การบูลลี่กันในโรงเรียนด้วยวิธีแปลก ๆ พิสดาร ทั้งหมดนี้นำไปสู่การหมดพลังในการใช้ชีวิตต่อนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความสุขในที่สุด

…เรื่องเหล่านี้ ล้วนแล้วมาจากผู้ใหญ่รุ่นเราร่วมกันสร้าง ออกแบบขึ้นมาทั้งสิ้น

หากจะพูดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอีกด้านหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม หรืออะไรก็ตามแต่ เราคงปฏิเสธไปไม่ได้ว่า โลกที่ถูกออกแบบมาเช่นนี้ กำลังกลายเป็นโลกที่ไม่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นลูก รุ่นหลานเรา

ผู้เขียนขอย้อนกลับไปที่แนวคิดเรื่อง Sustainable Development ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1987 จากการตั้งคำถามของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงชาวนอรเวย์ นาง Gro Harlem Brundtland ซึ่งเธอและทีมงานจากองค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานชื่อ Our Common Future

นางBrundtland ในวัย 83 ปี ผู้ซึ่งจุดประกายเรื่อง Sustainable Development ที่มาภาพ : https://theelders.org/profile/gro-harlem-brundtland

รายงานฉบับนี้นับเป็นรายงานชิ้นสำคัญที่ทำให้พวกเราเริ่มตระหนักถึงคำว่า การพัฒนาที่กินความหมายมากกว่าความภูมิใจที่เราเห็นตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตขยายตัว โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย …ไม่สนใจเรื่อง “รวยกระจุก จนกระจาย” ไม่ใส่ใจว่าทรัพยากรและโอกาสที่เหลืออยู่ให้กับลูกหลานของพวกเราในอนาคตจะมีมากน้อยแค่ไหน

จาก Sustainable Development มาถึง Sustainable Development Goals หรือ SDGs ซึ่งเป็นแนวคิดที่องค์การสหประชาชาติเองต้องการเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ 17 เป้าหมาย

นายBan Ki Moon อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ผู้นำร่องเรื่อง SDGs ให้กับประเทศสมาชิกของ UN ที่มาภาพ :
https://theelders.org/profile/ban-ki-moon

แม้ว่าวันนี้กระแส SDGs จะเป็นกระแสนำหน้าการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แต่เราต้องตั้งคำถามกันต่อว่า… แม้เรารู้เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปรับวิธีคิดใหม่ แต่สิ่งที่เราทำกันอยู่นั้นเพียงพอแล้วหรือยังกับโลกข้างหน้าที่เป็นรุ่นของ Gen Z Gen Alpha Gen Beta หรือแม้แต่ Gen Gamma

เมื่อไม่มีกี่ปีมานี้มีคำเกิดใหม่ขึ้นมาคำหนึ่งเป็นการผสมระหว่างคำว่า Sustainability กับคำว่า Innovation กลายเป็น “Sustainovation”

คำ ๆ นี้ในบ้านเรามีศูนย์ศึกษาวิจัยนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ที่เพิ่งเผยแพร่หนังสือเรื่อง Sustainovation innovation for better world …ผู้เขียนชื่นชมและเห็นว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่กล่าวถึงโลกที่ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนเชื่อมกับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางเทคโนโลยีขั้นสูง

เด็กใน Gen Alpha นอกจากต้องเผชิญความท้าทายหลายเรื่องในการใช้ชีวิตแล้ว ความท้าทายเหล่านี้ กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับพวกเขา

ในรุ่นพวกเขา การแข่งขันสูงกว่าคนรุ่นเราหลายสิบเท่า รุ่นพวกเขายังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วจนมาแย่งงานพวกเขาในอนาคต

คำถามที่ตามมา คือ แล้ว Sustainovation เกี่ยวกับ Generation Alpha อย่างไร ?

คำตอบ คือ เกี่ยวกันตรงที่สิ่งที่เรากำลังสร้างนวัตกรรมในวันนี้ มันคือรากฐานสำหรับอนาคตที่บ่มเพาะทางความคิดให้กับคน Gen Alpha ขณะเดียวกัน Gen Baby Boomer Gen X Gen Y ได้กลายเป็น Generation “ผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์แบบ” ในอีกยี่สิบปีข้างหน้า

การออกแบบอนาคต เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน อาศัยการลงมือทำ เผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ ให้คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

คำพูดที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นคำพูดสุดเท่ แต่เอาเข้าจริง เวลาเผชิญปัญหาระดับอภิมหาวิกฤต คนพูดคำนี้มักวิ่งหนีเพื่อนก่อนเสมอ

Sustainovation คงไม่ได้เป็นแค่วาทกรรมของชาวโลกสวยอีกต่อไป หากคนรุ่นเราช่วยกันนำแนวคิดนี้ไปต่อยอด ลงมือทำ และประเมินผลตัวเอง เพื่อคอยปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ

Sustainovation พูดถึง เรื่องสนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้ายสังคม เน้นการบริโภค การผลิตที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดของ Green Economy ที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองความยั่งยืน

บทบาทการสร้าง Sustainovation ไม่จำกัดเพียงแค่ภาคเอกชนเท่านั้น รัฐบาลเองมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Sustainovation ให้ Gen Alpha เสียแต่เนิ่น ๆ ในวันนี้ ด้วยการนำแนวคิดเกี่ยวกับ Sustainability literacy ปลูกฝังในเด็กแบบสมเหตุสมผล

หนังสือเรื่อง Sustainovation : Building Sustainable Innovation in government ของ Nick Kettle (2018) เป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจซึ่งกล่าวถึงเรื่องการสร้างนวัตกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับภาครัฐ ที่มาภาพ : https://www.amazon.ca/Sustainovation-Building-Sustainable-Innovation-Government/dp/1732666709

เด็กยุค Alpha เต็มไปด้วยคำถามซึ่งพวกเขาสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเองจากข้อมูลที่ท้วมท้นเพียงแค่เสิร์ชกูเกิ้ล หรือ ใช้ ChatGPT ในอนาคต

อย่างไรก็ดีรัฐมีหน้าที่สำคัญ คือ เราจะสร้าง Sustainability literacy ให้เด็กยุคนี้ได้ควรจะทำอย่างไร

Sustainability literacy ไม่ใช่เพียงแค่เข้าถึง แต่ควร “เข้าใจ” แก่นแท้และปรัชญาวิธีคิด ซึ่งอย่างน้อยที่สุดเด็กเจนนี้สามารถหาชุดคำตอบกับตัวเองได้ว่า เพราะเหตุใด (Why) พวกเขาจึงควรรู้เรื่องนี้ มากกว่าท่องจำ รอสอบให้ผ่าน ๆ ไป

ในอนาคต แนวคิดเรื่อง Sustainability literacy ที่กระทรวงศึกษาธิการทุกประเทศ เตรียมบรรจุไว้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กยุค Alpha ประกอบด้วย

(ก) ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญกับชีวิต
(ข) หลักการเรื่อง Sustainble Development ที่ครอบคลุมทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Well being) การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม
(ค) สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง (Economic Social and Political system) ความเข้าใจในกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท้้งสามเรื่องนี้ ให้มีกรอบคิดเป็น พลเมืองโลก (Global citizens)
(ง) การบริโภคและการผลิตที่เน้นแนวคิดที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and production)
(จ) การสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ยั่งยืน ทั้งเรื่องพลังงานทดแทน และการสร้างเมืองใหม่แบบ Smart City
(ฉ) การอยู่ร่วมกันกับผู้คนในสังคมอย่างสันติ ยอมรับในความแตกต่าง หลากหลายตั้งแต่เชื้อชาติ ศาสนา ทัศนคติทางการเมือง รวมถึงเพศสภาพ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ดูไม่ไกลเกินจริงเลย หากรัฐจะลงมือทำจริงบรรจุแนวคิดเหล่านี้ในหลักสูตรการเรียนการสอน

หลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่จำเป็นต้องท่องจำแบบนกแก้ว นกขุนทอง แต่ฝึกให้เด็ก Gen Alpha ได้ “รู้จักคิดเป็น” ตั้งคำถามได้ และเคารพในคำตอบที่คนอื่นให้

เราคงไม่ต้องการถูกเด็กรุ่นหลังตราหน้าว่าเราเป็นผู้ใหญ่ที่นอกจากจะไร้วิสัยทัศน์ แล้วยังใจแคบและใจดำอีก… ทั้งที่รู้ว่า อนาคตรุ่นพวกเขาต้องเผชิญอะไรบ้าง โดยรุ่นพวกเรามีส่วนสำคัญที่สามารถออกแบบเพื่อเตรียมพร้อมเรื่องเหล่านี้ได้ แต่กลับไม่ลงมือทำ หรือ ทำแบบไม่จริงจัง เหลาะแหละ ดีแต่ประดิษฐ์ถ้อยคำหรู ตีวาทกรรมสวย ๆ ไปวัน ๆ

วันหนึ่งพวกเขาอาจเขียนถึงคนรุ่นพวกเราว่า “น่าเสียดาย” ที่คนรุ่นก่อนรู้ปัญหาแต่กลับเมินเฉย หรือทำแค่ผ่าน ๆ พอเป็นพิธีและสร้างภาระตกทอดมาถึงรุ่นพวกเขา เพียงเพราะมองเห็นพวกเขาเป็นแค่ “เด็กเมื่อวานซืน”