ThaiPublica > คอลัมน์ > เจเนอเรชันอัลฟา (Generation Alpha) โลกข้างหน้าของลูกหลานพวกเรา

เจเนอเรชันอัลฟา (Generation Alpha) โลกข้างหน้าของลูกหลานพวกเรา

31 มกราคม 2023


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Generation_Alpha#/media/File:National_Air_and_Space_Museum_-_Space_Race_Gallery_(1).jpg

กล่าวกันว่าโลกยุคหลังโควิด-19 หรือยุค next normal มีความท้าทายหลายประการ ทั้งการเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ (pandemic) ของโรคใหม่ๆ การรับมือกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น เกิดถี่ขึ้น การอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยมลภาวะ อันเกิดจากปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โลกร้อน

ปัญหาความขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ สงคราม การก่อการร้าย การแย่งชิงทรัพยากรอย่างหนักหน่วง จนนำไปสู่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้เป็นโลกใบใหม่ที่นักอนาคตศาสตร์ (Futurist) เรียกว่า โลกยุค BANI ซึ่งมาจาก Brittle เปราะบาง anxious ฉุนเฉียว งุ่นง่าน non-linear ไม่สัมพันธ์กัน และ incomprehensible ซับซ้อนอธิบายยาก

BANI เป็นสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกแบบ speed of change กล่าวคือ แม้ว่าโลกเปลี่ยนอยู่ทุกวันก็จริง แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงนั้นเร็วขึ้นกว่าเดิม

BANI ยังเป็นสภาวะที่เคลื่อนพร้อมไปทางเดียวกับโลกยุค next normal

…ด้วยเหตุนี้ หากเราหันกลับมาดูโครงสร้างประชากรในเจเนอเรชั่นล่าสุด คือ เจเนอเรชันอัลฟา (Generation Alpha) น่าสนใจว่า เด็กรุ่นนี้เติบโตมาในโลกใบใหม่ที่ทั้งเราและเขาต่างต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

คำถามที่ท้าทายคนรุ่นเรา คือ เราสามารถเตรียมพร้อมสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้ลูกหลานยุคอัลฟาได้อย่างไร ทั้งค่านิยมการใช้ชีวิต ทักษะจำเป็นในอนาคต การศึกษา ตลอดจนอาชีพ

เด็กยุคอัลฟา คือ เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010-2025 เด็กกลุ่มนี้เติบโตพร้อมกับ Smart Phone และการปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการระบาดใหญ่ของโควิด-19

พูดง่ายๆ คือ เด็กยุคนี้ต้องเผชิญกับ twin disruption ทั้ง digital และ covid disruption

ย้อนกลับไปมองโลกเราในรอบสิบสามปีที่ผ่านมา…เราพบว่า เด็กยุคอัลฟาทั่วโลกเจอเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดในชีวิตพวกเขา คือ ระหว่างปี 2020-2022

…หลายประเทศล็อกดาวน์ พ่อแม่ต้องทำงานแบบ work from home พวกเขาต้องเรียนออนไลน์ ใช้ชีวิตอยู่กับมือถือ แทบเล็ต พวกเขาต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ต้องออกจากบ้าน และเริ่มรับวัคซีนป้องกันโควิด

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Generation_Alpha#/media/File:Coronavirus_children_mask.jpg

ความท้าทายจากการอยู่ร่วมกับโรคระบาดใหญ่ ทำให้ค่านิยมของเด็กรุ่นนี้คิดต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา เพราะโลกที่พวกเขาอยู่นั้นเริ่มอยู่ยากขึ้น มีต้นทุนสูงขึ้น

อย่างน้อยที่สุด…แนวคิดการรักษาโลกอย่างยั่งยืนแบบ “ทำจริง ทำจริง ทำจริง” จะกลายเป็นเรื่องหลัก มากกว่าการเคลื่อนไหวตามกระแส หรือ “ดีแต่พูด ไม่ลงมือทำ” แบบ no action talk only

หากแต่ความยั่งยืนสามารถรักษาโลกได้ให้ต่อจากคนรุ่นหลังพวกเขา ซึ่งเป็นเด็กยุคเบตา (Generation Beta) หรือ รุ่นลูกพวกเขายุคแกมมา (Generation Gamma)

ด้วยเหตุนี้ อาชีพสำคัญในอนาคต คือ อาชีพที่ปรึกษาเรื่องความยั่งยืน หรือ sustainable consultant …มีการทำนายว่า อาชีพใหม่ที่น่าสนใจสำหรับเด็กยุคอัลฟา เช่น อาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน หรือ sustainable agriculture specialist

ทำนองเดียวกัน การคำนึงถึงพลังงานสะอาด สามารถรักษาสภาพแวดล้อม ทำให้อาชีพอย่าง renewable energy engineer เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตลาดแรงงานต้องการ

นอกจากนี้ เด็กยุคอัลฟาต้องเตรียมพร้อมกับความท้าทายของโลกยุคคนแก่เต็มเมือง (aging population) ซึ่ง อาชีพ healthcare professional หรือที่ปรึกษาด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี เป็นอีกหนึ่งอาชีพสำคัญในสังคมสูงวัย

เจเนอเรชั่นอัลฟา ถูกเทรนด้วยการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาทุกรูปแบบ ทั้งการเรียน coding ตั้งแต่อนุบาล การสอนเรื่อง digital literacy ทำให้อาชีพยอดฮิตในอนาคตคงหนีไม่พ้น data analyst, AI developer, cybersecurity specialist, social media manager, robotic engineer รวมไปถึง VR developer

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Generation_Alpha#/media/File

อย่างไรก็ดี เด็กยุคอัลฟา ทักษะที่คนรุ่นเราสามารถประคับประคองพวกเขาได้ คือ soft skill โดยเฉพาะการสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ซึ่งเอาเข้าจริงคนรุ่นพวกเรายิ่งจำเป็นต้องพัฒนาเช่นกัน

นอกเหนือจาก EQ แล้ว ยังมีเรื่องความฉลาดทางวัฒนธรรม (cultural intelligence) ที่สามารถทำงานร่วมกับผู้คนต่างวัฒนธรรม ยอมรับและเคารพในเพศสภาพที่หลากหลาย การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การสื่อสารที่กระชับ การรับฟังเชิงลึก (deep listening) ไปจนถึงการคิดให้เป็นระบบและมีความยั่งยืน (sustainable thinking)

ที่สำคัญ คือ เด็กรุ่นอัลฟาคงต้องเรียนรู้ “ทักษะล้มแล้วลุก” ให้เป็น (resilience skill)…แน่นอนว่า เด็กรุ่นนี้ต้องเผชิญความผิดหวัง การสูญเสีย การเปลี่ยนแปลงทั้งรวดเร็วและรุนแรง โอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามีสูง ดังนั้น การมีทักษะคิดยืดหยุ่นได้ ล้มแล้วลุกเป็นจึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับเด็กยุคนี้

โดยส่วนตัวผู้เขียนชื่นชมแนวทางของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่คุณหมอพยายามเผยแพร่แนวคิดเรื่อง executive function ( EF) มาตลอดหลายสิบปี ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้เราเตรียมพร้อมเด็กยุคอัลฟา รุ่นลูกของเราให้เติบโต อยู่รอดปลอดภัยในสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

สิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังกลายเป็นวิถีใหม่ ที่รุ่นผู้ใหญ่อย่างเราๆ ต้องหันมาทบทวนตัวเองเช่นกัน

…คำถาม คือ เรานี่แหละที่มีความพร้อมมากพอหรือเปล่า ที่อยากส่งสังคมแบบไหนให้ลูกหลานเจเนอเรชั่นอัลฟา