ThaiPublica > เกาะกระแส > ยุทธศาสตร์เอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง” ของไต้หวัน จาก “ฝูงห่านบิน” สู่ไฮเทค

ยุทธศาสตร์เอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง” ของไต้หวัน จาก “ฝูงห่านบิน” สู่ไฮเทค

29 พฤษภาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.taiwan.gov.tw/content_4.php

ในรายงาน World Economic Outlook 2020 ของ IMF ในปี 2019 มูลค่า GDP ต่อคน (GDP per capita) ของไต้หวันอยู่อันดับ 35 ของโลก คือ 24,827 ดอลลาร์ แต่หากวัดจากกำลังซื้อ (purchasing power parity – PPP) รายได้ต่อคนของไต้หวัน จะอยู่อันดับ 13 ของโลก คือ 57,214 ดอลลาร์

เส้นทางการพัฒนาของไต้หวัน สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ จากเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อหลังสงครามโลก มาเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตสินค้าไฮเทครายใหญ่สุดของโลก ในทศวรรษ 1980 ไต้หวันกลายเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) ในตำราการพัฒนาเศรษฐกิจ มักจะเขียนไว้ว่า มีประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศ ที่สามารถเปลี่ยนฐานะจากประเทศเกษตรกรรม รายได้ต่ำ มาเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ภายในเวลาที่ไม่นาน

ผู้ตามรุ่นแรกใน “ฝูงห่านบิน”

หนังสือชื่อ A Century of Development in Taiwan (2022) เขียนไว้ว่า หลังสงครามโลก เมื่อการผลิตของไต้หวันฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อปี 1963 เศรษฐกิจมีเงื่อนไขพร้อมที่จะพุ่งทะยานขึ้น (take-off) ในปี 1965 ไต้หวันก็เริ่มใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก เพราะตัวเองมีทรัพยากรจำกัดและตลาดในประเทศมีขนาดเล็ก

การพัฒนาอุตสาหกรรมของไต้หวัน จึงผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการส่งออก และองค์ประกอบของสินค้าที่ผลิตส่งออก ไต้หวันก้าวจากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทศวรรษ 1960 เช่น สิ่งทอ และเครื่องจักร แต่หลังจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ไต้หวันก็ทำผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและความรู้เข้มข้น เช่น คอมพิวเตอร์ และเซมิคอนดักค์เตอร์

เกาหลีใต้และไต้หวันมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เคียงข้างไปกับญี่ปุ่น ในทศวรรษ 1960 เมื่อญี่ปุ่นยกระดับสู่การผลิตอุตสาหกรรมเหล็กกล้า เกาหลีใต้และไต้หวันก็หันมาผลิตสิ่งทอ วิทยุทรานซิสเตอร์ จักรยาน และโทรทัศน์ขาวดำ เพื่อส่งออก ถึงทศวรรษ 1970 เมื่อญี่ปุ่นยกระดับสู่การผลิตรถยนต์ และเครื่องจักรกล เกาหลีใต้หันไปพัฒนาการผลิตรถยนต์ของตัวเอง ส่วนไต้หวันเลือกที่จะไปผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์แทน

ที่มาภาพ : https://www.taiwan.gov.tw/content_7.php

ขณะเดียวกัน ในทศวรรษ 1970 เนื่องจากค่าแรงของสองประเทศสูงขึ้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นแถวที่ 2 ของประเทศกำลังพัฒนา ที่ไล่ตามการพัฒนาของเกาหลีใต้กับไต้หวัน กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวเรียกกันว่า “โมเดลฝูงห่านบิน” (flying geese model) มีญี่ปุ่นเป็นหัวหน้าฝูง แถวที่ 1 คือเกาหลีใต้และไต้หวัน แถวที่ 2 คือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับไต้หวัน การเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่มาทีหลัง ทำให้ต้องใช้ยุทธศาสตร์การไล่ตามญี่ปุ่น โดยวิธีการถ่ายโอนเทคโนโลยี จากการลงทุนจากต่างประเทศ การนำเข้าสินค้าเทคโนโลยี และวิธีการ “วิศวกรรมเลียนแบบ” (reverved engineer) ในการสร้างบริษัทผู้ผลิตในประเทศขึ้นมา

วิกฤติพลังงาน 2 ครั้งในทศวรรษ 1970 ทำให้ไต้หวันมีโยบายออกไปลงทุนในต่างประเทศ ในช่วงทศวรรษ 1980 ไปลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในจีน หลังจากการเปิดประเทศในปี 1978 ข้อตกลงการเงินเรียกว่า Plaza Accord 1985 ทำให้ค่าเงินไต้หวันแข็งขึ้น เป็นตัวเร่งการออกไปลงทุนในต่างประเทศของไต้หวัน นักวิชาการบางส่วนมองว่า คือโมเดลฝูงห่านบินรอบที่ 2 ที่ไต้หวันเลียนแบบญี่ปุ่น ในการออกไปลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นครไทเปปี 1960 ที่มาภาพ : Taipei Air Station

ไปพ้นจาก “ฝูงห่านบิน” สู่ไฮเทค

ในปลายทศวรรษ 1980 การพัฒนาตาม “โมเดลฝูงห่านบิน” เริ่มเผชิญอุปสรรคการท้าทาย ด้านหนึ่ง เพราะ “อุตสาหกรรมพระอาทิตย์ตก” (sunset industry) ของญี่ปุ่น มีเหลือไม่มากแล้ว ที่จะเคลื่อนย้ายมายังฝูงห่านบินแถวแรกแบบไต้หวัน อีกด้านหนึ่งเพราะการแข่งขันมากขึ้นจากจีน ที่เป็นฝูงห่านบินแถวที่ 2 ทำให้ไต้หวันต้องเร่งพัฒนา “นวัตกรรมของตัวเอง” เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีและความรู้เข้มข้น หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมไฮเทค

นักยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเห็นว่า การที่ประเทศจะพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมนั้น จะต้องสร้างความสามารถทางเทคโนโลยี ผ่านทางกระบวนการนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีพลวัต ประเทศเอเชียตะวันออก คือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ประสบความสำเร็จในการใช้รูปแบบการส่งเสริมอุตสาหกรรมอยู่ 2 แบบ

นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมแบบแรกคือ สำหรับอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบ แต่อยู่ในภาวะหยุดนิ่งไม่ก้าวหน้า ก็ปล่อยให้อุตสาหกรรมนั้นขึ้นกับการแข่งขันตามกลไกตลาด สำหรับอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เปรียบแต่มีอนาคตและพลวัต รัฐบาลจะสร้างแรงจูงใจและให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นมา กรณีของไต้หวัน นักวิชาการด้านการพัฒนาเรียกว่า นโยบาย “การบริหารกลไกตลาด” (governing market) ซึ่งคือการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับกลไกตลาด

รัฐบาลไต้หวันมีบทบาทสำคัญในการการสร้างนวัตกรรมและการยกระดับอุตสาหกรรม แม้ว่าจะไม่มากเท่ากับบทบาทของรัฐบาลเกาหลีใต้ บทบาทดังกล่าวคือการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มคลัสเตอร์ทางอุตสาหกรรม และการให้แรงจูงใจในการดึงบุคลากรจากต่างประเทศ ที่มีความชำนาญการด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Century-Development-Taiwan-Colony-Modern/dp/1800880154

หนังสือ A Century of Development in Taiwan กล่าวว่า การสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลในปี 1973 ทำให้สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ Industrial Technology Research Institute (ITRI) กลายเป็นสถาบันวิจัยด้านนี้ ที่ใหญ่ที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง นอกจากงานด้านการวิจัย ITRI ยังบ่มเพาะบริษัทไฮเทคของไต้หวันขึ้นมามากกว่า 270 แห่ง

บริษัท TSMC (Taiwan Semi-Conductor Manufacturing Company) ผู้ผลิตตัวชิปใหญ่ที่สุดของโลก ก่อตั้งขึ้นมาโดยการแยกตัวออกมาจาก ITRI ดังนั้น บทบาทสำคัญของ ITRI คือการวิจัยต้นแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการกระจายองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไต้หวัน

ในปี 1980 รัฐบาลไต้หวันสร้าง Science and Industrial Park ขึ้นทางเหนือของประเทศ ที่มีมหาวิทยาลัยสองแห่งตั้งอยู่ เป้าหมายคือการสร้างกลุ่มงานวิจัยกับกลุ่มคลัสเตอร์ทางอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เวลาต่อมา มีการสร้าง Science and Industrial Part ขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศ มีบทบาทหล่อเลี้ยงบริษัทเทคโนโลยีของไต้หวันกว่า 900 บริษัท ทำให้ไต้หวันเป็นศูนย์กลางของโลก ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์

ที่มาภาพ : wikipedia

เส้นทางการพัฒนาของไต้หวัน สะท้อนการเอาชนะปัญหาการท้าทายของประเทศกำลังพัฒนา ปัญหาก็คือ จะเอาประโยชน์จากโอกาส ที่มาจากการสร้างนวัตกรรม หรือจะติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของไต้หวัน ที่มีฐานะเป็น “พวกบุกเบิกรุ่นที่สอง” ทำตัวเหมือนกับบริษัทคู่แข่งชั้นนำของตะวันตก ที่เป็น “พวกบุกเบิกรุ่นแรก” และก็สามารถเอาประโยชน์จากโอกาสทางนวัตกรรมไฮเทคดังกล่าว ที่การเข้าสู่ตลาดมีการกีดกันต่ำ

ในการเข้าสู่ตลาดสินค้าไฮเทค บริษัทไต้หวันต้องแข่งกับบริษัทชั้นนำของโลก แต่นวัตกรรมนั้นมีอยู่ 2 แบบ คือนวัตกรรมบุกเบิก (pioneer innovation) และนวัตกรรมไล่ตาม (catch-up innovation) สำหรับประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมที่ตามหลัง นวัตกรรมไล่ตามสำคัญกว่านวัตกรรมบุกเบิก โดยเฉพาะในช่วงการพัฒนาช่วงแรก แต่หลายสิบปีต่อมา ไต้หวันก็ยกระดับสู่นวัตกรรมบุกเบิก โดยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา

ความสำเร็จของไต้หวันคือการพัฒนาอุตสาหกรรม บนพื้นฐานการยกระดับที่สูงขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบอย่างมีพลวัต (dynamic comparative advantage) ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม ที่จะเอาประโยชน์จาก “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”
ในทศวรรษ 1990 ไต้หวันเริ่มขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ บนพื้นฐานองค์ความรู้ และการสร้างความสามารถทางนวัตกรรมภายในประเทศขึ้นมา ความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของไต้หวัน เป็นตัวอย่างการพัฒนาของประเทศ ที่ครั้งหนึ่งมีเศรษฐกิจการเกษตร มาสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมด้านไฮเทค กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานโลกด้านอุตสาหกรรมไฮเทค

เอกสารประกอบ
A Century of Development in Taiwan, Edited by Peter C.Y. Chow, Edward Elgar Publishing, 2022.