ThaiPublica > เกาะกระแส > “กับดักรายได้ปานกลาง” มีความเสี่ยงและอันตราย จีนจะพัฒนาหลุดออกมาได้หรือไม่?

“กับดักรายได้ปานกลาง” มีความเสี่ยงและอันตราย จีนจะพัฒนาหลุดออกมาได้หรือไม่?

22 ตุลาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : nytimes.com

The New York Times รายงานว่า ขณะที่ประเทศทั่วโลกกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จีนกลับแสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส

ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2020 เศรษฐกิจจีนขยายตัวพุ่งขึ้นมา 4.9% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว การเติบโตที่แข็งแรงนี้ ทำให้จีนเริ่มหวนกลับมาสู่เส้นทางการเติบโตในอัตราปีละ 6% ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การกลับมาเติบโตที่เข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจจีนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก

การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ สัดส่วน 30% จะมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีน บริษัทผู้ผลิตของจีนจะมีส่วนแบ่งตลาการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์การแพทย์ ที่มีความต้องการสูงในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ จีนเริ่มนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น เช่น แร่เหล็กจากบราซิล ข้าวโพดจากสหรัฐฯ และน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย จึงช่วยชะลอกระแสการตกต่ำของราคาสินค้าพวกวัตถุดิบต่างๆ

การพัฒนาคือ “เกมตารางบันไดงู”

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้อย่างรวดเร็ว หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อนาคตของจีนกลับสดใสอีกครั้งหนึ่ง เพราะการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ที่มีการคาดหมายทั่วไปนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของจีนในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

แต่หนังสือ Invisible China (2020) กล่าวว่า การที่จีนประสบความสำเร็จในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้หมายความว่า การเติบโตจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปแบบเส้นตรง คือ ลงทุนด้วยการทำงานหนักเท่าไหร่ และลงทุนไปจำนวนเท่าใด ก็จะได้ดอกผลกลับมาจำนวนเท่านั้น

ที่มาภาพ : Amazon.com

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Paul Collier เคยให้ข้อสังเกตว่า กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจก็เหมือน “เกมตารางบันไดงู” (Snakes and Ladders Game) หากประเทศหนึ่งโชคดี เลื่อนไปในจุดบันได ก็จะได้เลื่อนอันดับสูงขึ้น หากไปตรงอยู่ในช่องงู ก็จะไหลลื่นตกลงมาในจุดที่ต่ำลงมา

ที่ผ่านมา จีนพัฒนาไปลงอยู่ในจุดที่เป็นบันได ที่สามารถก้าวไปสู่จุดสูงขึ้น บันได้ดังกล่าวคืออุตสาหกรรมการผลิตที่อาศัยค่าแรงถูก แต่ทุกวันนี้ ค่าแรงจีนไม่ได้ถูกอีกต่อไปแล้ว จีนจึงไม่อยู่ในฐานะ ที่จะขึ้นบันไดเดิมนี้ได้อีกต่อไป แต่จะต้องอาศัยบันไดใหม่ เพื่อยกระดับตัวเองให้สูงขึ้น

ปัญหาการพัฒนาที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ แต่ละประเทศเผชิญโอกาสและปัญหาท้าทายที่แตกต่างกัน กล่าวอีกทางหนึ่ง ในแต่ช่วงของของระดับรายได้ประเทศ แต่ละประเทศ จะเผชิญกับ “บันได” ที่แตกต่างจากเดิมและ “งู” ที่แตกต่างจากเดิม สำหรับประเทศรายได้ปานกลางอย่างจีน ประเทศไทย และตุรกี ตาราง “งู” คือ สิ่งที่เรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” (middle-income trap) หลายประเทศที่พัฒนามาอยู่ในระดับจุดเดียวกับจีนในปัจจุบัน ได้กลายเป็นเหยื่อของกับดักนี้

การพัฒนาเหมือน เกมบันได ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Snakes_and_Ladders#/media/File:Snakes_and_Ladders.jpg

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนเริ่มต้นจากประเทศยากจน เหมือนอยู่ในตารางแรกของ “เกมบันไดงู” จีนสามารถหลีกเลี่ยงตาราง “งู” ที่จะไหล่ลื่นตกต่ำลงมา เพราะจีนไม่ตกอยู่ในวงจรความรุนแรงเหมือนประเทศอย่างรวันดาหรือเอลซาล์วาดอร์ หรือมีปัญหาที่กลุ่มผู้นำแย่งชิงทรัพยากรของประเทศ เหมือนเวเนซุเอลา นับจากปี 1980 เป็นต้นมา จีนสามารถอาศัยตาราง “บันได” การผลิตใช้แรงงานราคาถูก มานำประเทศให้หลุดออกจากความยากจน ทำให้รายได้ต่อคนของจีนที่วัดจากกำลังซื้อ เพิ่มจาก 1,000 ดอลลาร์ต่อคนในปี 1980 มาเป็นมากกว่า 15,000 ดอลลาร์ในปี 2016

อันตรายของ “กับกัดรายได้ปานกลาง”

ปี 2004 วารสาร Foreign Affairs พิมพ์บทความของนักรัฐศาสตร์ชื่อ Geoffrey Garrett เรื่อง Globalization’s Missing Middle โดยกล่าวว่า เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ประเทศร่ำรวยยังคงดำเนินการไปได้ค่อนข้างดี และประเทศยากจนสามารถบรรลุการเติบโตในอัตราที่เข้มแข็ง แต่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง กลับเติบโตช้าลง และประสบความสำเร็จน้อยกว่าอีก 2 กลุ่มดังกล่าว

ในปี 1980 กลุ่มประเทศรายต่ำ มีรายได้ต่อคนเฉลี่ย 300 ดอลลาร์ กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางอยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์ และประเทศรายได้สูงที่ 20,000 ดอลลาร์ เมื่อถึงปี 2000 รายได้ต่อคนประเทศรายได้สูงเพิ่ม 50% กลุ่มประเทศยากจนเพิ่ม 150% ส่วนประเทศรายได้ปานกลางเพิ่มน้อยกว่า 20%

บทความของ Foreign Affairs ตอบคำถามที่ว่า ทำไมกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ทำให้ประเทศรายได้ปานกลางดำเนินงานได้ดี คำตอบก็คือ ประเทศรายได้ปานกลางไม่สามารถหาพื้นที่ตลาดเฉพาะ (niche) ขึ้นมาได้ คือไม่สามารถแข่งขันในตลาดสินค้ามูลค่าสูง ที่ประเทศร่ำรวยเป็นผู้นำอยู่ เพราะแรงงานไม่มีทักษะ ดังนั้น ประเทศเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่น แต่ต้องหันไปแข่งกับจีนหรือประเทศยากจนอื่นๆ ในสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีเก่า เนื่องจากมีค่าแรงสูง ประเทศรายได้ปานกลางจึงไม่สามารถแข่งขันได้

ปี 2012 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานที่สั่นสะเทือนประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาก ชื่อ China 2030 ที่กล่าวว่า นับจากปี 1960 มีประเทศ 101 ประเทศที่มีฐานะรายได้ปานกลาง แต่เมื่อถึงปี 2008 หรือในระยะเวลา 48 ปี มีเพียง 13 ประเทศ ที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูง ส่วนที่เหลือยังคงเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

หนังสือ Invisible China กล่าวว่า ภาวะชะงักงันดังกล่าวเรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” และภาวะนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวและอันตราย ในระยะ 60 ปีที่ผ่านมา ประเทศส่วนใหญ่ติดกับดักรายได้นี้ โดยไม่สามารถพัฒนาก้าวหน้าไปตามตารางเกมบันไดงู อย่างเช่นเม็กซิโก บราซิล ประเทศไทย และแอฟริกาใต้ จากตัวเลขของธนาคารโลก ปี 2019 มีรายได้ต่อคนที่ 9,863, 8,717, 7,808 และ 4,736 ดอลลาร์ ตามลำดับ

การติดกับดักรายได้ปานกลาง ไม่ได้หมายความว่า การพัฒนาของประเทศเหล่านี้ไม่ได้เคลื่อนไปข้างหน้า หรือการพัฒนาเกิดการชะงักงัน หลายประเทศเดินบนเส้นทางการพัฒนาที่วกวนไปมา ประเทศเหล่านี้เติบโต เติบโต และเติบโต แล้วก็พังทลายลง หรือเติบโต เติบโต และเติบโต แล้วก็เกิดการชะงักงัน ในแต่ระช่วงที่เศรษฐกิจพังทลายหรือเกิดชะงักงัน คนจำนวนมากได้รับความเสียหาย คนทั่วไปต้องตกงาน สูญเสียเงิน สูญเสียความรู้สึกด้านความมั่นคงชีวิต และต้องมาเริ่มต้นชีวิตใหม่

บราซิลเป็นตัวอย่างของประเทศที่เกือบจะก้าวสู่ประเทศรายได้สูง มาหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถจะก้าวกระโดดข้ามอุปสรรคที่เป็นรั้วกั้นสุดท้าย นับจากทศวรรษ 1960 บราซิลประสบวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ 6 ครั้ง แต่ละครั้งทำให้ดอกผลการพัฒนาที่เกิดขึ้น ต้องถอยหลังกลับ เศรษฐกิจที่ตกต่ำในแต่ละครั้ง หมายความว่า คนบราซิลทั่วไปต้องตกงาน สูญเงินเก็บ และหมดหวังกับแผนงานอนาคต ส่วนบราซิลยังคงเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

เศรษฐกิจตกต่ำทำให้เกิดต้นทุนการเมืองและสังคม คนทั่วไปต้องหันไปมีอาชีพเศรษฐกิจนอกระบบ หรือไปก่ออาชญากรรม การตกต่ำเศรษฐกิจจึงไปเพิ่มความไม่สงบทางการเมืองและสังคม เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ต้องต่อสู้กับปัญหาความยากจน หรืออาชญากรรม ที่ฟื้นคืนกลับมาใหม่ สำหรับประชาชน การติดกับดักรายได้ปานกลาง คือความเสียหาย

china’s golden week shopping ในเดือนตุลาคม 2563 ที่มาภาพ : https://www.cnbc.com/2020/10/12/chinese-consumers-spend-big-during-the-golden-week-holidays.html

จีนจะก้าวพ้นกับดักได้อย่างไร

หนังสือ Invisible China เขียนไว้ว่า ในภาวะที่มีความเสี่ยงแบบนี้แหละ ที่จีนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน จีนประสบความสำเร็จอย่างสูง จากประเทศยากจนสู่ประเทศรายได้ปานกลาง ประชากรหลายร้อยล้านคนหลุดออกจากความยากจน แต่เมื่อจีนกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เกมเปลี่ยนไปแล้ว ทำอย่างไร ก้าวการพัฒนาต่อไปไม่ใช่เม็กซิโกหรือบราซิล แต่เป็นเกาหลีใต้

อะไรคือความแตกต่างระหว่างประเทศ ที่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขณะที่อีกหลายประเทศติดอยู่ในกับดักนี้ ประเทศที่สามารถหลุดจากกับดักเช่น สเปน ปอร์ตุเกส และกรีซ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ทำให้ได้ปัจจัยเป็นคุณหลายอย่าง เช่นมีประเทศคู่ค้าสำคัญที่มั่งคั่งของโลก ทำให้สามารถเกาะกระแสสู่การเป็นประเทศรายได้สูง จีนไม่สามารถใช้เส้นทางพัฒนาแบบนี้

กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ที่จีนสามารถอาศัยเป็นแบบอย่างคือประเทศเสือเศรษฐกิจของเอเชีย ได้แก่ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่พัฒนาข้ามขั้นตอนรายได้ปานกลาง โดยไม่มีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เรื้อรังยาวนาน ไอร์แลนด์และอิสราเอลก็มีเส้นทางพัฒนาแบบเดียวกัน

หนังสือ Invisible China ตั้งคำถามว่า ประเทศกลุ่มที่ 2 นี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเป็นประเทศรายได้สูงได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจใดๆ หรือว่าในอดีต เคยที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมาก่อน คำตอบก็คือเรื่อง ทรัพยากรมนุษย์ หรือทุนมนุษย์ (human capital)

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ คำว่า “ทุนมนุษย์” หมายถึงคุณสมบัติหรือคุณภาพในด้านต่างๆ ที่จะทำให้ประชากรในฐานะคนทำงาน สามารถมีคุณูปการต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นคุณสมบัติที่จะทำให้ชีวิตของตัวเองและครอบครัวดีขึ้น

ดังนั้น ประเทศที่ต้องการจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศนั้นต้องการทุนทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นองค์ประกอบความสำเร็จที่สำคัญที่สุด

ดัชนีชี้วัดด้านทุนมนุษย์ที่สำคัญคือ สัดส่วนของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลาย ประเทศเพิ่งเริ่มต้นเกมตารางบันไดงู จะมีสัดส่วนดังกล่าวนี้ที่ต่ำ เช่น บังคลาเทศ และเอธิโอเปียอยู่ที่ 15% ประเทศรายได้ปานอย่าง เช่น บราซิล 47% และตุรกี 37% และจีน 30% ประเทศที่รายได้สูงแล้ว เช่น สหรัฐฯ 90% เยอรมัน 87% และญี่ปุ่น 99% ดังนั้น ดัชนีอัตราเฉลี่ยของประเทศรายได้ต่ำอยู่ที่ 20% ประเทศรายได้ปานกลาง 36% และกลุ่มประเทศมั่งคั่ง OECD ที่ 78%

ความสำคัญของทุนมนุษย์

ในเส้นทางการพัฒนา ประเทศต่างๆจะมีสภาพการจ้างงานที่แตกต่างกันไป ประเทศรายได้ต่ำ คนทำงานจะมีงานแบบรายได้ต่ำ ประเทศรายได้ปานกลาง คนทำงานจะมีงานแบบรายได้ปานกลาง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะงานที่มีรายได้ต่างกัน ต้องการพื้นเพการศึกษาที่ต่างกัน เกษตรกรชาวนาในประเทศยากจน ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาเป็นทางการมาก คนงานก่อสร้างหรือคนงานโรงงานผลิตสินค้า ก็ไม่ต้องการการศึกษาเป็นทางการมากเช่นกัน แต่พนักงานสำนักงาน ช่างโรงงานไฮเทค ผู้จัดการหรือผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจบริการ ต้องมีระดับการศึกษาที่สูง

ประเด็นสำคัญก็คือว่า ประเทศที่จะก้าวสู่การมีรายได้สูง จะต้องมีแรงงานที่มีการศึกษาสำหรับงานที่รายได้สูง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ยิ่งทำให้ทักษะแรงงานสำคัญมากขึ้น ดังนั้น หากจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูง จำเป็นต้องมีแรงงานที่สามารถทำงานที่มีรายได้สูง จีนทุกวันนี้ มีสภาพคล้ายกับเม็กซิโกในทศวรรษ 1980 ไม่ใช่เกาหลีใต้ช่วงทศวรรษ 1980

เอกสารประอบ
Invisible China: How the Urban-Rural Divide Threatens China’s Rise, Scott Rozelle and Natalie Hell, The University of Chicago Press, 2020.