ThaiPublica > คนในข่าว > โลกต้องการผู้นำแบบ “เอมมานูเอล มาครง” การเป็น “พันธมิตร” กับสหรัฐฯ ไม่ใช่การเป็น “ลูกน้อง”

โลกต้องการผู้นำแบบ “เอมมานูเอล มาครง” การเป็น “พันธมิตร” กับสหรัฐฯ ไม่ใช่การเป็น “ลูกน้อง”

15 เมษายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ไปเยือนเนเธอร์แลนด์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มาภาพ : https://twitter.com/MinPres/status/1646255945230479364/photo/4

ในการไปเยือนเนเธอร์แลนด์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ยังยืนยันท่าทีของเขาต่อปัญหาไต้หวันว่า

การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็น “ลูกน้อง” ของสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้หลังจากกลับจากการไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ มาครงให้สัมภาษณ์ว่ายุโรปจะต้องมีท่าทีเป็นอิสระของตัวเองจากสหรัฐฯ ในเรื่องของไต้หวัน มาครงกล่าวว่า ยุโรปต้องมี “ความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์” ฝรั่งเศสสนับสนุนไต้หวันที่อยู่ในสภาพเดิม และการแก้ปัญหาแบบสันติวิธีต่อสถานการณที่เป็นอยู่ของไต้หวัน มาครงเตือนให้ระวังต่อการถูกดึงเข้าสู่วิกฤติเรื่องไต้หวัน อันเนื่องมาจาก “การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯกับปฏิกิริยาการตอบโต้ที่มากเกินความจำเป็นของฝ่ายจีน”

ความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์

หนังสือชื่อ Macron Unveiled (2023) กล่าวถึงความคิดด้านต่างประเทศของมาครงไว้ว่า มาครงรู้เป็นอย่างดีว่าโลกในศตวรรษ 21 เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ท่าทีและแนวคิด “ความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์” ก็ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน ผู้นำต่างประเทศคนแรก ที่มาครงเชิญมาเยือนฝรั่งเศสคือประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย และในวิสัยทัศน์ของมาครง ยุโรปคือหัวใจสำคัญของโลก ในสภาพที่มีหลายขั้วอำนาจ

มาครงต้องการเห็นฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจยุโรป ที่มีความเป็นอิสระและเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นคน
เป็นมหาอำนาจที่เป็นพลังของสิ่งที่ถูกต้อง ที่อยู่ภายในกรอบอำนาจและอิทธิพลที่เป็นไปได้ ปราศจากการตั้งเป้าหมายที่ไม่ตรงกับสภาพที่เป็นจริง ไม่ดำเนินการอะไรที่เกินความสามารถของตัวเองหรือพยายามแก้ปัญหาทุกอย่างในโลก เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรก

มาครงกล่าวถึงการที่สหรัฐฯบุกโจมตีอิรักและลิเบียว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาจากภายนอกโดยปราศจากการสนับสนุนจากประชาชน ฝรั่งเศสไม่ได้เข้าร่วมในสงครามอิรักและเรื่องนี้คือสิ่งที่ถูกต้อง”

ที่มาภาพ : https://twitter.com/EmmanuelMacron/status/1644005488265240576/video/1

ในปี 2021 มาครงเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “การที่ยุโรปจะเป็นหุ้นส่วนที่น่าเชื่อถือของสหรัฐฯได้ ยุโรปจะต้องเป็นหุ้นส่วนที่มีความเป็นอิสระ มีความสามารถทางทหารและเทคโนโลยีของตัวเองเพราะความร่วมมือกันไม่สามารถเป็นแบบพึ่งพา เมื่อไหร่ที่ความร่วมมือเป็นแบบพึ่งพา คุณจะกลายเป็นลูกน้องของใครบางคน”

ความไม่แน่นอนอันเกิดจากรัฐบาลสหรัฐฯในสมัยทรัมป์ และการที่ทรัมป์วิจารณ์องค์การนาโต และกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้ยุโรปต้องทำการประเมินทางยุทธศาสตร์ใหม่ มาครงเคยบอกกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนว่า “ยุโรปต้องมีอิสรภาพทางยุทธศาสตร์ เพราะยุโรปต้องมีส่วนรับภาระความรับผิดชอบ” แต่เยอรมันค่อนข้างระมัดระวังที่จะใช้คำว่า “อิสรภาพ”

หนังสือ Macron Unveiled กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสนั้น เรื่องต่างประเทศและการป้องกันประทศ เป็นอำนาจเอกเทศของประธานาธิบดีโดยตรง เช่นการแต่งตั้งทูตในประเทศ การเจรจาและการรับรองสนธิสัญญา การติดต่อโดยตรงกับผู้นำต่างประเทศ และเป็นตัวแทนของฝรั่งเศสในองค์กรต่างประเทศ เช่นกลุ่ม G-7 เป็นต้น

หลังจากที่โลกอยู่ในยุคสหรัฐฯเป็นมหาอำนาจเดียวมาหลายสิบปี และสิ่งนี้มาจบลงในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศนโยบายว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” ฝรั่งเศสสมัยมาครงและเยอรมันสมัยนายกรัฐมนตรีแมร์เคิ้ล ก็พยายามผลักดันให้โลกกลับมาสู่ยุค “ระเบียบโลกแบบหลายขั้ว” ที่มีพื้นฐานอยู่ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยยุโรปพยายามมีบทบาทสำคัญและสนับสนุนองค์กรระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ

มองจีนจากสถานการณ์เป็นจริง

หนังสือ Macron Unveiled อธิบายเรื่องท่าทีของมาครงต่อจีนว่า มาครงแสดงออกถึงการเป็นผู้นำที่มองสถานการณ์จากความเป็นจริง
ที่ตรงกันข้ามกับท่าทีของสหรัฐฯต่อจีน ที่มีลักษณ์ให้เลือกฝ่ายใดหรือฝ่ายหนึ่ง หรือมีท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อจีน ยุโรปมีข้อขัดแย้งกับจีนในหลายเรื่อง แต่ฝรั่งเศสและเยอรมันระมัดระวัง ที่จะไม่ทำให้จีนถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย

มาครงกล่าวเตือนว่า การรวมตัวไปต่อสู้กับจีน จะทำให้ได้สิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ตัวเองต้องการ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาหนทางที่ถูกต้อง ที่จะดำเนินการกับจีน แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็น มาครงก็แสดงท่าทีที่สอดคล้องความเป็นจริงและหนักแน่น โดยไม่ลังเลที่จะวิพากษ์วิจารณ์จีน แต่ก็หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เช่น เรื่องการปฏิบัติของจีนต่อชาวอุยกูร์ ที่มาครงกล่าวว่า “ผมจะไม่เริ่มทำสงครามกับจีนในประเด็นเรื่องนี้” ด้านหนึ่งอุยกูร์เป็นเรื่องภายในของประเทศที่มีอธิปไตย อีกด้านหนึ่งมีหนทางอื่นที่จะส่งผลต่อการกระทำของจีน

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Macron-Unveiled

ท่าทีต่ออินโด-แปซิฟิก

ต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มาครงมีแผนการใหญ่

ฝรั่งเศสเคยเป็นมหาอำนาจอาณานิคมในภูมิภาคนี้มาก่อน ดินแดนอินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศสเคยกว้างใหญ่ จากประเทศจิบูตี ในแอฟริกาตะวันออก มาจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ในอนาคต มาครงต้องการให้ฝรั่งเศสมีฐานะการดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้

แต่ฝรั่งเศสต้องการฐานะของเป็นประเทศในอินโด-แปซิฟิก ที่มีบทบาทการสร้างเสถียรภาพต่อภูมิภาคนี้ เป็นพลังถ่วงดุลต่อจีน โดยไม่ไปขยายความขัดแย้งกับจีน ส่งเสริมภูมิภาคนี้ให้มั่นคง บนพื้นฐานของการยึดระเบียบของโลกแบบหลายขั้วอำนาจ โดยไม่เน้นผลประโยชน์ความมั่งคงของสหรัฐฯเพียงอย่างเดียว

การดำเนินการทางการทูต จึงเป็นนโยบายสำคัญของฝรั่งเศส ในความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ ฝรั่งเศสจะแสวงหาความร่วมมือที่สมดุล
ในความร่วมมือทางความคิดอุดมการณ์

จุดยืนของฝรั่งเศสจะอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาว่า อะไรถูกต้องและอะไรผิดพลาด ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ แต่สิ่งนี้ไม่ทำให้ฝรั่งเศสต้องเห็นด้วยกับสหรัฐฯในทุกเรื่อง

โดยพื้นฐาน มาครงเป็นผู้นำแบบพิจารณาปัญหาในเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ผู้นำแบบยึดติดกับอุดมการณ์ แต่มีค่านิยมที่ยึดมั่นในเรื่องเหตุผล ความสุข ความก้าวหน้า และอิสรภาพ

ที่มาภาพ : https://twitter.com/EmmanuelMacron

การมองความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆและต่อผู้นำโลกของสหรัฐฯในแบบคนดีคือพวกเรา ส่วนคนร้ายคือฝ่ายตรงกันข้ามจึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับวิธีการและความคิดของมาครง

มาครงจึงเป็นผู้นำโลกในปัจจุบัน ที่เข้าใจความสำคัญของการประณีปะนอม การมองโลกแบบเป็นจริง ไม่ใช่ทางอุดมการณ์ ภาษาของมาครงจึงเป็นเรื่องทางการทูตและใช้การเจรจาแก้ปัญหา มากกว่าใช้วิธีการทางทหาร

แต่การมองโลกเชิงปฏิบัติที่เป็นจริงของมาครงก็มีคุณค่าและอุดมคติอยู่ด้วย

อุดมคตินั้นคือสิ่งที่อดีตประธานาธิบดีชาร์ล เดอโกลล์ ของฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้อย่างโด่งดังว่า…

“นับจากปี 1789 (การปฏิวัติฝรั่งเศส)ความถนัดของฝรั่งเศสคือ การรับใช้ภารกิจของมนุษย์ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของคน”

ความคิดของมาครงให้บทเรียนแก่ผู้นำโลกคนอื่น

มาครงเป็นนักศึกษาปรัชญาด้านปฏิบัตินิยม (pragmatism) ที่เชื่อเรื่องการแก้ความขัดแย้ง โดยจากการมองโลกที่เป็นจริง

แนวคิดปฏิบัตินิยมจึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดเชิงอุดมการณ์ เช่นแนวคิดของสหรัฐฯที่มองความขัดแย้งกับจีน เป็นการต่อสู้ระหว่าง “เผด็จการกับเสรีภาพ” หรือระหว่าง “อำนาจนิยมกับประชาธิปไตย”

หลังจากอัฟกานิสถาน วิกฤติการณ์ครั้งต่อไปของสหรัฐฯคือจีน การใช้วิธีการเชิงปฏิบัตินิยมต่อจีนคือ การยอมรับถึงทางออกของความขัดแย้ง ที่ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติรุ่งเรือง แม้จะยังมีความแตกต่าง ความขัดแย้งกับจีนไม่ใช่แบบฝ่ายหนึ่งชนะอีกฝ่ายหนึ่งแพ้ เพราะจีนไม่ได้คุกคามที่จะบุกสหรัฐฯ หรือส่งออกอุดมการณ์ไปทั่วโลก

การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ด้านเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจ กลับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ โลกจึงต้องการการอยู่ร่วมกันระหว่างสองมหาอำนาจ ไม่ใช่การเผชิญหน้า แนวคิดเชิงปฏิบัตินิยมของมาครง จึงเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้นำโลก

เอกสารประกอบ
Macron Unveiled, Alain Lefebvre, Gaudium Publishing, 2023.