ThaiPublica > คอลัมน์ > บ้านหรือคุกชั่วชีวิต: เข้าใจเด็กหนีออกจากบ้านและทางออกของปัญหา

บ้านหรือคุกชั่วชีวิต: เข้าใจเด็กหนีออกจากบ้านและทางออกของปัญหา

22 เมษายน 2020


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

“แม่ที่ abuse เราบริจาคเงินให้ UNICEF Thailand ทุกเดือน โดยไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าสิทธิเด็กคืออะไร เข้าใจว่าที่ทำคือบริจาคให้เด็กยากไร้ เด็กไร้บ้าน เด็กน่าสงสาร เลยอยากเอาเงินที่แม่บริจาคมาทำอะไรที่มันไม่ได้นำเสนอการสงเคราะห์เด็กน่าสงสาร”

ผมได้รับบางส่วนของ statement นี้จากผู้สมัครรับทุนภายใต้โครงการหนึ่งของ UNICEF ซึ่งปัจจุบันใช้ชีวิตอย่างอิสระหลังตัดสินใจหนีออกจากบ้านมาได้ 2 ปี

อันที่จริง ไม่เพียงแต่ผู้บริจาคยูนิเซฟที่บกพร่องความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก-วัยรุ่นในฐานะมนุษย์ แต่ยังมีมูลนิธิ องค์กร และแหล่งทุนจำนวนมากที่ต้องการแก้ปัญหาเยาวชนบนอคติต่อเยาวชนเสียเอง โดยเลือกโฟกัสแต่กับเยาวชนที่กระทำความรุนแรง และละเลยความรุนแรงที่กระทำต่อเยาวชนไป โดยเฉพาะถ้าความรุนแรงนั้นเกิดจากพ่อแม่และวัฒนธรรม

ผมมักแซวกับคนรู้จักเล่นๆ…ถ้ามีคนถามว่า คนรุ่นใหม่ไทยอยู่ตรงไหน? อยู่ในภาวะยากจน? ในความเหลื่อมล้ำ? เปล่าหรอก จริงๆ คนรุ่นใหม่ไทยอยู่ในโอวาท… หรือพูดให้ชัดขึ้นคือ ถูกทำให้อยู่ในโอวาท

ปัญหาคือ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในกลุ่มผู้เข้ารับหรือถูกบังคับบำบัดอาการทางจิตเวช กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม G กลุ่มผู้มีความต้องการเฉพาะบางอย่าง หรือที่หลายคนใช้คำเรียกในเชิงเหยียดหยามตีตราว่ากลุ่มเปราะบาง และไม่ว่าจะคนกลุ่มไหน หากคุณเกิดเป็นเด็กไทย คุณต้องอยู่ในกรอบ อยู่ในโอวาท และอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางการเข้าถึงทรัพยากร ต่อให้คุณรวยมาก แต่หากผู้ปกครองไม่เห็นด้วยที่คุณจะกระทำการบางอย่าง ที่คุณจะมีแฟน หรือที่คุณจะย้ายที่อยู่ วัฒนธรรมอำนาจนิยมและกฎหมายให้อำนาจพ่อแม่คุณอย่างเต็มที่ในการลากตัวคุณกลับ

หากแก้ปัญหาทัศนคติต่อการทำงานวัยรุ่นไม่ได้ ต่อให้แก้กฎหมาย มีกระทรวง มีกองทุนมหาศาล งานพัฒนาวัยรุ่นก็จะวนอยู่ที่เดิม ที่ที่งานพัฒนาวัยรุ่นไม่ใช่ของวัยรุ่น เพื่อวัยรุ่น และโดยวัยรุ่น เป็นงานพัฒนาประชากรที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

สังคมใช้เวลานานในการเปลี่ยนเด็กจากทาสให้กลายเป็นคน แต่เวลาที่ใช้มายังนานไม่พอ

คุณภาคิน นิมมานนรวงศ์ เคยเขียนไว้ คำว่า παῖς (paîs) ในภาษากรีก หรือ puer ในภาษาโรมัน มีรากเดียวกับคำว่า putra (บุตร) ในภาษาสันสกฤต นอกจากจะมีความหมายถึงเด็กและลูกแล้ว ยังหมายถึงทาสหรือคนรับใช้ได้ด้วย

พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 โปรดให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสไทย จน พ.ศ. 2448 ลูกทาสทุกคนจึงกลายเป็นไท กระทั่ง พ.ศ. 2451 มีกฎหมายห้ามซื้อขายลูก หลายปีต่อมาในปี พ.ศ. 2477 หน้าที่บิดามารดาและบุตรถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย จน พ.ศ. 2499 เรามีเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีที่เนื้อหาไม่เคยเปลี่ยนแปลง ผ่านมาหลายสิบปี รัฐบาลไทยตัดสินใจลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในปี พ.ศ. 2535

ปัจจุบัน พ.ศ. 2563 ผ่านมาแล้ว 146 ปีนับตั้งแต่เริ่มเลิกทาส สิ่งที่ตกค้างเรื่อยมาคือ ความรุนแรงในครอบครัวที่พ่อแม่กระทำต่อลูก สังคมไทยใช้เวลา 146 ปีในการเปลี่ยนเด็กจากสินค้าที่พ่อแม่ทุบตี เสนอขาย หรือเอาไว้เป็นทาส เช่นวัวควาย ให้กลายเป็นคน และเวลาที่ใช้มาแล้วนั้นยังนานไม่พอ

บทความนี้ผมตั้งใจชวนผู้อ่าน ซึ่งจะปรีดามากหากเป็นวัยรุ่น ผู้สนใจทำงานวัยรุ่น ตลอดจนพ่อแม่ ทำความเข้าใจสถานการณ์ ความรุนแรง วัฒนธรรม ทรัพยากร เวลาเราพูดถึง “เด็กหนีออกจากบ้าน”

ความรุนแรงที่สั่งสมในครอบครัวสร้างแรงกดดันในการใช้ชีวิตเกินกว่าใครก็ตามที่ไม่เคยสัมผัสนรกดังกล่าวจะเข้าใจได้ สำหรับบางคนแล้ว การหนีไปจากผู้ให้กำเนิด จึงเป็นทางออกของวงจรความรุนแรงนี้อย่างเลี่ยงได้ยาก

ในแวดล้อมที่ไร้สิ่งใดสนับสนุน หลายคนตัดสินใจหนีไปจากความรุนแรง หนีไปสู่เสรีภาพ และหนีไปยังบ้านที่แท้จริงของพวกเขา

“เหมือนหนูติดคุกตลอดชีวิตเลย”

หากเราจำกันได้ ปี 2562 ที่ผ่านมา เกิดแฮชแท็ก #saveRahaf ผู้หญิงซาอุฯ อายุ 18 หนีจากพ่อแม่ เพื่อไปออสเตรเลีย แต่ซวยมาเปลี่ยนเครื่องที่ไทย ถูกยึดหนังสือเดินทางและอาจถูกส่งกลับซาอุไปตาย ณ ขณะนั้น พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยืนยันว่า ไม่ส่งสาวซาอุฯ กลับไปตายแน่นอน แม้ว่าข่าวส่งกลับประเทศจะมีอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว จนกลางเดือน ม.ค. 2562 ทั่วโลกจึงทราบว่า เธอปลอดภัยดีจากรูปเบคอนที่เธอโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย

ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีข่าววัยรุ่นไทยอายุ 14 หนีออกจากบ้าน พร้อมจดหมายเขียนระบายความในใจ เหตุจากแรงกดดันของพ่อแม่ “ทำอะไรก็ผิดไปหมดแล้วมาบอกว่าให้เลี้ยงน้องจนโตแล้วคอยเลี้ยงหลานอีกจนโต เหมือนหนูติดคุกตลอดชีวิตเลย” จนเกิดเสียงตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์มากมาย หนึ่งในเสียงที่สะท้อนทัศนคติต่อความรุนแรงในครอบครัวได้ดี เช่น “เวลาเราพูดถึงเรื่องความเข้าใจ เด็กก็จะบอกว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็ก แต่ผมว่า บางครั้งเด็กก็ต้องเข้าใจผู้ใหญ่ด้วย…แต่ทุกอย่างเนี่ย ถ้ามันเป็นเรื่องในครอบครัว มันคลี่คลายไปในทางที่ดีได้..ถ้าไม่มีใครเข้ามาแทรกแซง..มันกลายเป็นรู้เรื่องรู้ราวลูกหลานเรามากกว่าคนในบ้าน นี่เป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่” มนตรี สินทวีชัย ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ให้ความเห็นผ่านรายการคมชัดลึก เทปศุกร์ที่ 11 มกราคม 2562 ที่นอกจากให้ “ผู้ถูกกระทำความรุนแรง” เข้าใจ “ผู้กระทำความรุนแรง” แล้ว ยังชวนให้เข้าใจผิดอีกว่า ควรซุกปัญหาความรุนแรงไว้แต่ในบ้าน

“ฉันทำได้มากกว่าใช้ชีวิตปลอดภัยไปวันๆ”

“แม่หนีออกจากบ้านไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง ทุกครั้งตาจะตามกลับจนได้ ครั้งหนึ่งแม่อยากฆ่าตัวตายเพราะสิ้นหนทางจะหนีพ้นจากครอบครัว แต่แม่ไม่ตายเพราะแม่หนีสำเร็จ ได้พบอิสระอย่างที่อยากจะใช้ ชีวิตแม่โลดโผน ไม่เรียบง่าย อาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่แม่ก็ไม่เคยเสียใจที่ได้ใช้ชีวิต” จากบันทึกของมิ่งมิตรหลังเราแลกเปลี่ยนกัน เรื่อง เด็กหนีออกจากบ้าน

เธอเล่าต่อ “การเกลียดตาอาจแปลกในสายตาคนอื่น แต่แม่ยืนยันที่จะรู้สึกเช่นนั้น — ความป่วยไข้ในครอบครัว เกิดจากการปะทะระหว่างความปรารถนาที่จะมีอิสระสู้กับภาวะที่ไร้ซึ่งอำนาจ — ความป่วยไข้ในครอบครัวไม่ได้มีแค่แง่มุมความรุนแรง ด่าทอ ตบตี แต่อีกแง่หนึ่งคือการกักขังอย่างทนุถนอม บ่อยครั้งเพียงเพราะบังเอิญเป็นลูกสาวของครอบครัว ในวัย 19 แม่หนีข้ามจังหวัดสำเร็จ ในวันเผาศพตา แม่ไม่ไปร่วมงานอย่างภาคภูมิ ถามยายกับแม่ว่าจะแนะนำน้องๆ ในสภาวะนี้ยังไง ยายบอกว่า ฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางออก แม่บอก เออ แม่เข้าใจว่าการติดอยู่กับผู้ให้กำเนิดที่แย่มันเป็นยังไง”

ลูกสาวคือเป้าใหญ่แห่งความรุนแรงและการกักขังในครอบครัว สำนึกที่ว่า “ฉันทำได้มากกว่าใช้ชีวิตปลอดภัยไปวันๆ” ขับกล่อมให้คนจำนวนมากเพรียกหาอิสรภาพที่ถูกพรากไป

“ลูกสาวไม่ใช่ว่าที่แม่หรือว่าที่เมีย ลูกสาวคือคน ที่มีสิทธิในการตัดสินใจ ใช้ชีวิต และสร้างโลกที่เธอปรารถนา โลกของเธออาจเจ็บปวด แต่มันจะเป็นโลกที่เธอภาคภูมิและเรียนรู้วิธีเยียวยา เธอจะนิยามเองได้ว่าคุณค่าของเธอคืออะไร ศักดิ์ศรีของเธอคืออะไร และศัตรูของเธอคืออะไร” (วิภาพรรณ วงษ์สว่าง, การเมืองเรื่องลูกสาว 2019)

“ผมอาญุ 15 และหนีออกจากบ้านได้สำเร็จ ผมจึงรอดไตญมาได้จนบัดนี้ผมอญุ78 ถ้าผมไม่หนีออกจากบ้านผมก็คับแค้นใจและไตญในโรงพญาบาลโรคจิตอญ่างอนาถาเหมือนแม่ผม อ่านเรื่องนี้ในนวนิไญญจากชีวิตจริงเรื่อง ความฝันไภญใต้ดวงอาฑิตญ์ ราคา400บาฑ แถมเสื้อมีข้อความ ความเป็นธรรมญ่อมอญู่เหนือฑุกสถาบัน ราคา150บาฑตัว1 สนใจโฑร0881954880 ในเวลาราษฏร์การ ขอบคุณครับ” หนึ่งในข้อความจากสมอล์ล บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ท่ามกลางวงสนทนาออนไลน์ ชวนให้ผมคิดเสมอว่า เป็นห่วงลูกจนเกินเหตุ ถือเป็นอาการทางจิตไหม และคำตอบคือ เป็น”

#SaveRahaf แล้วเด็กไทยหนีออกจากบ้านบ้างได้ไหม

ตามกฎหมาย ผู้ปกครองมีอำนาจกำหนดที่อยู่ของบุตรที่เป็นผู้เยาว์ หรืออายุไม่ถึง 20 ปี แปลว่า แม้คุณจะอายุ 18 เลือกตั้งได้แล้ว พ่อแม่ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายตามตัวกลับได้โดยที่คุณไม่ยินยอม นอกจากนี้กฎหมายยังเอื้อให้พวกเขาลงโทษคุณได้ด้วย

แล้วคุณทำอะไรได้บ้าง? ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรืออายุต่ำกว่า 20 ปีมีสิทธิถอนอำนาจการปกครองจากบิดามารดาได้ตามกฎหมายกำหนด แต่กรณีการถอนอำนาจการปกครองแทบทั้งหมด เป็นแค่แม่ถอนพ่อ พ่อถอนแม่ หรือองค์กรด้านเด็กขอถอนโดยศาลมีคำสั่ง แต่ไม่พบกรณีที่เด็กประสงค์และจัดการถอนอำนาจนั้นด้วยตนเอง ทั้งที่มีคนอายุมากกว่า 18 ปี แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจำนวนมากไม่ต้องการอยู่ในครอบครัวตามเงื่อนไขที่ถูกบีบรัด และไม่มีอำนาจกำหนดที่อยู่ของตนเอง

ดังนั้นในทางกฎหมาย ต้องเข้าใจก่อนว่า การหนีออกจากบ้านหลายกรณีอาจผิดกฎหมายได้ เพราะหากยังอายุไม่ถึง 20 ปี พ่อแม่ยังมีอำนาจกำหนดที่อยู่อาศัย และหากหนีไปกับใครสักคนจะเป็นเพื่อน หรือแฟน ที่เป็นที่พึ่งของเรา เขาก็อาจถูกแจ้งพรากผู้เยาว์ได้

  • ต่ำกว่า 15 ปี ไม่ว่าจะอนาจารหรือไม่ ก็ผิด
  • 15-18 ปีแล้ว ไปแบบไม่เต็มใจ มีความผิด
  • 15-18 ปีแล้ว ไปแบบเต็มใจ ก็ผิดเหมือนกัน เว้นแต่เกิน 17 ปีแล้วจดทะเบียนสมรส
  • เกิน 18 ปีแล้ว ไม่ผิดพรากผู้เยาว์ แต่พ่อแม่ยังใช้อำนาจปกครองได้จน 20 ปี (1 ในอำนาจปกครองคือ การกำหนดที่อยู่อาศัย)

ที่ผ่านมามีกรณีที่อายุต่ำกว่า 18 ปีแล้วศาลไม่เอาผิด เช่น การพรากไปเพื่ออยู่กินฉันสามีภรรยา มิใช่การพาไปเพื่ออนาจาร และเยาวชนสามารถขอไปอยู่บ้านพักเด็กและครอบครัวของรัฐให้คุ้มครองได้ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมไม่ได้มีอิสรภาพอย่างที่หวังนัก

สิ่งเหล่านี้ นอกจากเป็นข้อกฎหมายแล้ว ในหลายครั้งยังถูกนำมาใช้ตีตราและสร้างความเข้าใจผิดด้วย ผมและทีมงานเองเคยช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือคนวัย 18 ปีให้ออกจากบ้านที่ใช้ความรุนแรง ก่อนเพื่อนของผู้ถูกกระทำที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ถูกกระทำจะใช้พื้นที่ออนไลน์กล่าวหาว่า การกระทำของผมและทีมงานนั้นพรากผู้เยาว์ (ซึ่งในกรณีดังกล่าว บุคคลนั้นอายุเกิน 18 ปีแล้วและสมัครใจ) แต่กระนั้นก็มีนักกิจกรรมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนผู้หนึ่งเข้าใจผิดและนำข้อมูลดังกล่าวไปร่วมกล่าวหา อย่างไรก็ตาม บุคคลวัย 18 ปีที่ได้รับความช่วยเหลือนี้ ปัจจุบันสามารถหนีจากความรุนแรงได้สำเร็จและหนึ่งในความตั้งใจวัย 20 ปีของเขาคือ ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเห็นมาตลอดคือ บ้านพักพิงสำหรับคนที่อยากหนีออกจากบ้าน หรือจากพ่อแม่ตัวเอง เพราะจะว่าก็ว่า หมาจรจัดทางเลือกเยอะกว่าเด็กที่อยากหนีออกจากบ้านเสียอีก

“ให้เด็กปรับตัวเข้าหาความรุนแรง” ง่ายกว่า “ขอให้ผู้กระทำความรุนแรงปรับตัวเอง”?

โดยปกติแล้ว หน่วยกลางๆ อย่างครอบครัว ชุมชน โรงเรียน มักเป็นที่สนใจของคนทำงานภาคสังคม เพราะไม่ใช่ปัจเจกที่ต้องแก้ปัญหาแบบ custom และไม่ใช่หน่วยใหญ่อย่างสังคมที่ต้องอาศัยการจัดการเชิงโครงสร้างผ่านรัฐสภา หน่วยกลางๆ เหล่านี้ มักมีกฎระเบียบของตัวเอง ไม่เอื้อให้การจัดการในระดับกฎหมายเข้าไปก้าวเกี่ยวนัก และหลายครั้งนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิของผู้อยู่ในหน่วยนั้น ที่โดยส่วนใหญ่คือ เยาวชน

คนทำงานภาคสังคมมีบทบาทเข้าไปช่วย “จัดระเบียบ” ในฐานะคนนอก ทว่า ไม่ใช่ทุกองค์กรที่เข้าไป “ช่วย” จะเข้าใจว่า ภายใต้โครงสร้างวัฒนธรรมอำนาจนิยมเอื้อให้พ่อแม่อยู่ในสถานะผู้กดขี่และเด็กอยู่ในสถานะผู้ถูกกดขี่อย่างไร การช่วยเหลือจำนวนไม่น้อยจึงลงเอยที่การแนะนำให้เด็กกลับไปทำความเข้าใจพ่อแม่ เจอกันคนละครึ่งทาง เก็บเรื่องในบ้านไว้ในบ้าน ปรองดอง สมานฉันท์ รักกัน ครอบครัวอบอุ่น โดยไม่พยายามฟัง พยายามเชื่อ พยายามมองหาเหตุจูงใจในการ “หนี” ของตัวเด็กเอง

ที่ผ่านมา สถาบันรัฐและองค์กรภาคสังคมมักมองครอบครัวเป็นยาครอบจักรวาล หรือไม่เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงพอจนลืมไปว่า ก่อนเด็กคนหนึ่งจะถึงขั้นตัดสินใจหนีออกมานั้น ไม่ใช่เรื่องรวบรัดสำเร็จรูป หากแต่เด็กหลายคนเผชิญความรุนแรง การเจรจา ไกล่เกลี่ย ด่าทอ สู้กลับ และแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเองที่ไร้ซึ่งอำนาจการต่อรองมาแล้วนับพันครั้ง และเมื่อพวกเขาขอความช่วยเหลือจากคนนอก คนนอกกลับ “ช่วย” พาเขากลับไปสู่วงจรความรุนแรงเดิม ด้วยความเข้าใจซึ่งผิดว่า “ให้เด็กปรับตัวเข้าหาผู้ใหญ่” ง่ายกว่า “ขอให้ผู้ใหญ่ปรับตัวเอง”

ปัญหานี้มีล็อกอยู่ 6 ตัว

1. ไม่มีกระบวนการคุ้มครองคนอายุ 18-20 ปีระหว่างดำเนินการถอนอำนาจการปกครองที่ชัดเจนและไม่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร: หากทำเรื่องถอนอำนาจการปกครองตอนกลางวัน พอกลางคืนหากไม่ไปอยู่ภายใต้บ้านพักของรัฐ ก็ยังต้องกลับบ้านหลังเดิม

2. เกณฑ์บรรลุนิติภาวะ: คนอายุมากกว่า 18 ปี ควรขอให้ตัวเองบรรลุนิติภาวะได้โดยง่าย ไม่ต้องรอถึง 20 ปี กรณีนี้จะช่วยกลุ่มคนที่เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง ให้ไม่ต้องใช้ชื่อผู้ปกครองจดทะเบียน และช่วยให้คนอายุ 18 ปี (ซึ่งสามารถถูกรับโทษทางอาญา, เสียภาษี, มีครอบครัว, เลือกตั้ง, ขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน) ให้มีสิทธิในชีวิตของตนเองได้

3. องค์กรด้านเด็กที่ไม่ยืนข้างเด็ก — วัฒนธรรมครอบครัวนิยม — มีวัฒนธรรมการรับโทษ แต่ขาดวัฒนธรรมการปกป้องสิทธิ: การสร้างให้ครอบครัวเป็นเสมือนยาครอบจักรวาลที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ได้ผลักคนที่ไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งกับครอบครัวในอุดมคติให้ต้องกลายเป็นอื่น การเรียกร้องสิทธิของลูกต่อพ่อแม่กลายเป็นบาปในบางสังคม คนเหล่านี้เดินเข้าหาองค์กรด้านเด็กหวังจะให้ช่วยรักษาสิทธิตน แต่กลับถูกผลักให้ไกล่เกลี่ยกับครอบครัวครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่มีกระบวนการใดรองรับพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่ควรเลือกใช้ชีวิตของตนเองได้

4. ประเทศไทยขาดองค์กรขับเคลื่อน วิจัย และเก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นวัยรุ่นในเชิงคุณค่าและวัฒนธรรม: หากเรามีการสำรวจแรงกดดันในการใช้ชีวิต มีการสร้างระบบแวดล้อมที่สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพและการมีส่วนร่วมของเยาวชน มีการผลักดันให้เกิดการรับรองสิทธิ อิสรภาพ และความรับผิดชอบของเยาวชนด้วยกฏหมายและนโยบาย เราอาจเห็นงานวิจัยเพื่อค้นหาว่า พ่อแม่ไทยกลัวอะไร? อาจมีมูฟเมนต์รณรงค์การไม่มีลูก อาจมีการรื้อถอนวัฒนธรรมความรุนแรงที่เกิดกับวัยรุ่น เช่น วัฒนธรรมรับน้อง การทำโทษในโรงเรียน การละเมิดสิทธิ มาพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงอาจเกิดการทบทวนแนวทางการพัฒนาประชากรวัยรุ่นอย่างเป็นเหตุเป็นผล มากกว่าเชื่อว่าปัญหาเกิดจากความล้มเหลวทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล

การพูดถึงคนรุ่นใหม่จึงต้องไปให้ไกลกว่าความโรแมนติกเพ้อฝัน แต่จำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงความจริงที่ว่า ปัญหาในประชากรช่วงวัยดังกล่าวที่กำลังถูกโครงสร้างและวัฒนธรรมกดทับนั้นยังไม่ถูกแก้ไข — ใช่ วัยรุ่นมีความฝัน มีความหวัง แต่พวกเขาก็มีการถูกกระทำความรุนแรงและถูกละเมิดสิทธิเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตด้วย

การขายคนรุ่นใหม่ประเภทโลกเป็นของคนรุ่นใหม่ โดยละเลยอุปสรรคที่ประชากรแต่ละวัยเผชิญอยู่ ขัดกับข้อเท็จจริงที่ประชากรทุกช่วงวัยต้องได้รับการพัฒนาและเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเอง การพัฒนาประชากรจึงควรมองทุกวัยอย่างเกี่ยวเนื่องกัน เป็นไปในลักษณะ Multigeneration ไม่ทอดทิ้งประชากรช่วงวัยใดไว้ข้างหลัง

ยิ่งดิ้นรนขายคนรุ่นใหม่แบบเพ้อฝันยิ่งเจอทางตัน ปัญหาที่หมักหมมจะคงดำรงอยู่ ปัญหาใหม่ไม่พร้อมเผชิญหน้า การพัฒนาประชากรจึงควรยืนอยู่บนหลักการว่า โลกเป็นของคนทุกคน เพศ ศาสนา ความเชื่อ สถานะ และอายุ ไม่ใช่และอย่าทำให้เป็นเครื่องกีดกันใครออกจากกัน เราต้องการสายตาที่เห็นปัญหาอย่างเป็นจริง

5. กลไกรัฐที่มีอยู่จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมปัจจุบัน: หน่วยงานรัฐที่ทำงานแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต้องเป็นมิตรกับผู้ใช้บริการ เข้าถึงง่าย ไม่มีเวลาราชการ และให้อิสระผู้ใช้บริการเป็นหลัก รองรับเด็กที่ต้องการหนีออกจากบ้าน ขณะเดียวกันก็ควรแก้ไข พ.ร.บ.หอพัก ให้ไม่แยกเพศ ให้วัยรุ่นมีทางเลือกในที่อยู่อาศัย และควรมีกลไกส่งเสริมให้เกิดสถานแรกรับผู้ประสบความรุนแรงในบ้านโดยภาคเอกชน

6. อีกสิ่งสำคัญหนึ่งคือความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของทั้งวัยรุ่นที่หนีออกจากบ้านและผู้ที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัว: ผู้ทำงานด้านเยาวชนทั้งภาคประชาสังคมและภาครัฐจะต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกิดการวางแผนทางการเงิน แหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้ตามสิทธิที่ควรจะเป็น ไปจนถึงการหางาน การประกอบอาชีพ สวัสดิการ และองค์กรช่วยเหลือที่ยืนข้างผู้ถูกกระทำซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เลือกที่จะออกจากครอบครัวมีชีวิตอิสระ ปลอดภัย และพึ่งตนเองได้

เรากำลังอยู่ในบ้านแย่-พ่อแม่เป็นพิษหรือเปล่า?

ในช่วงสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาด ความรุนแรงในบ้านสูงขึ้น เพราะหลายคนต้องจำใจกลับบ้านในช่วงโควิด-19 ยังรวมถึงแรงกดดันที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนในบ้านด้วย ถึงจะไม่ได้เป็นความรุนแรงทางกาย

ผมมีคำถาม 10 ข้อ เพื่อเช็คตัวเองว่า คุณกำลังอยู่ในสถานการณ์ บ้านแย่ พ่อแม่เป็นพิษ หรือไม่

    1. สิ่งที่ครอบครัวคาดหวัง กำลังกดดันคุณอยู่หรือเปล่า
    2. คุณกำลังถูกทำให้เชื่อว่า ครอบครัวคือที่หนึ่งเสมอ แม้ว่าหลายครั้งความต้องการของครอบครัว จะขัดกับความต้องการของคุณ
    3. คุณจำเป็นต้องยอมพ่อแม่ในทุกๆ เรื่องอยู่หรือไม่ แม้ว่าเขาจะทำสิ่งไม่ถูกต้อง
    4. คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ละเมิดสิทธิใคร เมื่ออยู่กับคนในครอบครัวได้หรือไม่
    5. คุณสามารถพูดตรงๆ กับคนในบ้านได้หรือไม่ เมื่อเกิดความขัดแย้งหรือไม่พอใจ
    6. คุณไม่ถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว เช่น พื้นที่ ข้าวของ ข้อมูล ร่างกาย จิตใจ รวมถึงเวลาของคุณ
    7. คนในบ้านมีความรับผิดชอบต่อพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน เช่น ทีวี ห้องนั่งเล่น โต๊ะกินข้าว ห้องน้ำ ใช่หรือไม่
    8. คุณเตรียมพร้อมและมีช่องทางอื่นในการบอกเล่า นินทา หรือขอความช่วยเหลือ หากเจอสถานการณ์บ้านเป็นพิษ เช่น เพื่อนหรือญาติที่ไว้ใจ ตำรวจ องค์กรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ หรือเพื่อนบ้าน หรือยัง
    9. เมื่อสถานการณ์ในบ้านวิกฤติและโควิดยังไม่จบ คุณเตรียมแผนการหนีออกจากบ้านหรือข้อกฎหมายที่ควรรู้ไว้บ้างหรือไม่
    10. หากจำเป็นต้องหนีออกจากบ้าน คุณต้องเตรียมหลายอย่างให้พร้อม เช่น เงิน เอกสารสำคัญ ที่พักพิง ความรู้เรื่องกฎหมาย เพื่อนที่ไว้ใจได้ และที่สำคัญคือ การจดบันทึก ที่ควรทำตั้งแต่อยู่ในบ้าน หากคุณกำลังถูกครอบครัวละเมิดหรือกดดัน

เมื่อเจตนาดี ตบตีกับ ความจริง

สุดท้ายนี้ เราต้องทบทวนว่า เจตนาดีไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป

ผมอยากหยิบยืมโพสต์หนึ่งของเพื่อนผู้มีโอกาสปรับทุกข์กันครั้งต้องแก้ปัญหาเรื่องเด็กหนีออกจากบ้าน

“Runaway Train เพลงฮิตปี 1993 ของ Soul Asylum ที่พูดถึงเด็กที่หนีออกจากบ้าน เป็นอีกตัวอย่างของฟอร์มเพลงฮิตที่เปิดฟังไม่รู้เบื่อ ประโยคง่ายๆที่มีสเน่ห์จับวางบน Melody ที่พอดีคำ จนทำให้การร้องตามเพลงนี้ลื่นไหลราวกับรถไฟที่ฉึกฉักไปข้างหน้าโดยไม่มีจุดหมาย

แม้เนื้อเพลงจะเป็นบทกวีที่ตีความได้ แต่ตัว MV นั้นกลับตรงไปตรงมา เป็นแคมเปญที่นำภาพและชื่อของเด็กที่สูญหายจริงๆในช่วงนั้น(1991-1992) มาขึ้นใน MV เพื่อประกาศตามหา ทั้งเวอร์ชั่น US, UK, Australia

ด้วยไอเดียที่อุทิศแก่การตามหาเด็กเช่นนี้ เมื่อมันกลายเป็นเพลงดังและ MV ออนแอร์ไปหลายประเทศ ส่วนใหญ่ของเด็กที่ปรากฏใน MV ถูกตามหาจนพบ แต่แน่นอนว่ามีอีกหลายเคสที่ยังสูญหายจนถึงปัจจุบัน หรือค้นพบว่าเสียชีวิตแล้ว

แม้จะช่วยให้ค้นหาเด็กๆ เจอ แต่ชีวิตจริงไม่ใช่เทพนิยายแสนสุข ที่เด็กๆ ได้กลับบ้านและ happily ever after เด็กบางคนถูกค้นพบภายหลังว่าไม่ได้หนีออกจากบ้าน แต่ถูกตีจนตายด้วยแม่ตัวเองและฝังไว้ที่สวนหลังบ้าน หนำซ้ำพ่อแม่ยังตีหน้าเศร้าให้ช่วยค้นหาลูก

เคสในออสเตรเลีย เด็กวัยรุ่น Backpacker กลุ่มหนึ่งถูกค้นพบว่ากลายเป็นเหยื่อฆาตกรดัง

อีกกรณี เด็กสาวคนหนึ่งตกใจสุดขีดเมื่อเห็นรูปตัวเองใน MV ขณะหนีออกจากบ้านและกำลังอยู่กับแฟนอย่างมีความสุข เมื่อมีคนตามหาเธอจนเจอ สุดท้ายด้วยความเป็นผู้เยาว์ เธอถูกพ่อแม่บังคับให้กลับไปอยู่กับครอบครัวที่ย่ำแย่และตบตีทำร้ายเธอ หลังจากนั้นหลายปีเด็กคนนี้เติบโตหลุดพ้นจากครอบครัวนรก และได้พบกับวงในทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนึง เธอบอกกับพวกเค้าว่า “พวกคุณทำลายชีวิตชั้น!”บางครั้งความหวังดีก็ไม่ได้ก่อผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป และบางทีบ้านก็เป็นนรกที่เด็กๆควร Runaway ไปให้ไกลที่สุด

——

Runaway Train
คณะ Soul Asylum

กระซิบปลุกเธอให้ตื่นขึ้นกลางดึก
เธออยู่ตรงนั้นราวกับหิ่งห้อยไร้แสง
ราวกับคบไฟไกล้มอดดับ
หวังว่าเพลงนี้ จะช่วยเติมแสงสว่างให้เธอได้สักนิด
เหนื่อยล้าจนนอนไม่หลับ
ความลับมากมายที่ไม่อาจเก็บซ่อน
สัญญากับตัวเองว่าจะไม่ร้องไห้
แต่ก็อีกครั้งแล้วที่ฉันไม่อาจรักษาสัญญาเอาไว้
ไม่มีใครช่วยได้อีกแล้ว
ฉันจมดิ่งลึกลงไป ไร้ทางออก
ทำได้แค่หนีไปไหนก็ได้
ตามแต่รางรถไฟสายนี้จะพาไป
หวังว่ามันคงพาไปถึงที่ไหนสักที่
…แต่สุดท้ายฉันก็ไปไม่ถึงที่ไหนสักแห่ง
Can you help me remember how to smile?
ช่วยบอกฉันที ฉันจะยิ้มอย่างสดใสเหมือนคนอื่นได้ยังไง?
I can go where no one else can go
I know what no one else knows
Here I am just drownin’ in the rain
With a ticket for a runaway train
อยากจะไปที่ไหนก็ได้ที่ไม่มีใครตามไปถึง
ที่ที่ความเจ็บปวดจะตามจับฉันไม่ทัน
แต่ฉันกลับติดอยู่ตรงนี้เปียกปอนกลางสายฝน
พร้อมตั๋วรถไฟ Runaway train
Runaway train never comin’ back
Runaway train tearin’ up the track
Runaway train burnin’ in my veins
Runaway but it always seems the same
เจ้า Runaway Train เอ๋ย
ไม่ว่าจะนั่งเจ้าไปไกลแค่ไหน
มันก็จะวนกลับมาสู่จุดเดิมเสมอ…

(John Nonlen, 11 เมษายน 2018 สถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ)

——

ในฐานะมนุษย์ เราต่างมีสิทธิปฏิเสธและมีเสรีภาพที่จะเลือกใช้ชีวิตของตนเอง โดยอายุ สถานะทางสังคม และคุณลักษณะใดๆ ไม่ใช่หนี้บุญคุณหรือข้ออ้างให้พ่อแม่ใช้อำนาจละเมิดสิทธินั้น และให้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีที่ใดในโลกจำเป็นต้องมีบ้านสำหรับเด็กที่เจอความรุนแรง หากไม่มีความรุนแรงในบ้านที่พวกเขามีสิทธิอยู่อาศัยตั้งแต่แรก

ความรักเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ความรุนแรงเป็นเรื่องของทุกคน
The revolution should start at home.

——
ขอขอบคุณ นานา – วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ที่ช่วยตรวจทานและปรับแก้ต้นฉบับ ให้ครับ