ThaiPublica > คอลัมน์ > อะไรคือคุก? จากประสบการณ์จริงของ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’

อะไรคือคุก? จากประสบการณ์จริงของ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’

8 พฤษภาคม 2023


ดร.นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์

ในประเทศไทยมีนักโทษอยู่ไม่กี่คนที่เขียนหนังสือ เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองพบเจอมาในเรือนจำ ส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกเขินอายที่จะเล่าประวัติของตนว่าเคยเป็นผู้ต้องขังมาแล้ว จำนวนอดีตนักโทษที่เขียนเล่าเรื่องราวในคุกของตน บางคนจึงใช้นามแฝงบ้างหรือเล่าไม่หมดบ้าง ในกรณีคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ นั้นตรงกันข้าม เขาเล่าอย่างเปิดเผย ตั้งแต่เรื่องราวความขัดแย้งที่นำมาสู่การตัดสิน “จำคุก” อย่างไม่ปิดบัง และถือว่าประสบการณ์ที่เขาได้รับนั้น ทำให้เขาได้เห็นธาตุแท้ของ “ความเป็นคน” ทั้งในด้านที่ดีและที่เลวทราม

คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ เล่าถึงประวัติของตนเองว่า “ผมเคยติดคุกมาถึง 3 ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนเขาได้รู้ธาตุแท้ของมนุษย์อย่างมากเป็นอีกส่วนหนึ่งที่แยกออมาจากการเป็นเจ้าของกิจการอาบอบนวดถึง 6 แห่งซึ่งทำให้เขาเห็น “ความเป็นคน” ของผู้ซื้อบริการและผู้ขายบริการ”

คุณชูวิทย์ได้บรรยายประสบการณ์ในคุกของเขาไว้ในหนังสือ “เหลี่ยมคุก” ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่เขาได้รับอิสรภาพ เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มบาง ๆ ความหนาเพียง 199 หน้ากระดาษ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน แต่หนังสือเล่มนี้ได้แสดงสภาวะแวดล้อม และกิจกรรมต่าง ๆ ของนักโทษซึ่งแต่ละคนมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน และเป็นประสบการณ์ที่ติดตัวเขาไปจนตลอดชีวิต

ในคุกนั้นเขาได้เห็นถึงธาตุแท้ของความเห็นแก่ตัวของคน ทั้งนักโทษและผู้คุม ซึ่งทุกคนต่างรักตนเองเป็นที่สุด เขาได้เห็นการเอารัดเอาเปรียบของนักโทษด้วยกัน และความเหลื่อมล้ำในหมู่นักโทษในแดนต่าง ๆ กิจกรรมแต่ละวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น พฤติกรรมการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของนักโทษ การต่อสู้ในหมู่นักโทษ ความแตกต่างระหว่างความเป็นอยู่ของนักโทษหญิงและนักโทษชาย พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศในหมู่นักโทษชายด้วยกันเอง จนนำมาสู่การสู่ขอและการแต่งงานในหมู่นักโทษชายด้วยกันเอง ประสบการณ์การไปดูแลผู้ป่วยในคุก ซึ่งตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่หลากหลาย ไม่ว่ามะเร็ง โรคติดเชื้อและเอดส์ รวมทั้งประวัติของนักโทษก่อนเข้าคุกของนักโทษที่น่าสนใจแต่ละคน หลายคนมีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนร่วมคุกด้วยกันเอง บางคนติดคุกมานานมากจนเมื่อออกจากคุกไปแล้ว ไม่มีทั้งเพื่อน ไม่มีทั้งญาติ ไม่มีทั้งเงินจนต้องหาทางออกสุดท้ายด้วยการทำ “อัตตะวินิบาตกรรม” แต่บางคนหันหน้าเข้าหาทางธรรม ออกบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

และแม้กระทั่งการฉ้อราษฎร์บังหลวงของผู้คุม ซึ่งรีดเงินค่า “ข้าวผัด” จานเดียวด้วยราคาถึง 5,000 บาท ซึ่งเขาเองจำเป็นต้องซื้อ เพราะรู้สึกหิวมาก จำต้องให้ภรรยาไปเบิกสตางค์มาจากธนาคารเพื่อเป็นค่าข้าวมื้อนั้นที่ศาล ระหว่างรอคำพิพากษา

ความเป็นนักสู้ของชูวิทย์ ทำให้เขาโวยจนทำให้เจ้าพนักงานกรมราชทัณฑ์หลายคนที่มีส่วนในเหตุการณ์นั้นถูกตั้งกรรมการสอบวินัย และสองคนถูกไล่ออก ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดครั้งที่ชูวิทย์ติดคุกครั้งแรก แต่เรื่องไม่จบเพียงเท่านั้น เจ้าพนักงานที่มีส่วนในการรีดเงินจากชูวิทย์ในครั้งนั้นมิได้มีเพียงสองคน แต่มันเป็นแก๊งค์ใหญ่ ซึ่งทำให้เมื่อชูวิทย์กลับไปติดคุกครั้งที่สอง เจ้าหน้าที่เหล่านี้หลายคนยังอยู่ และหลายคนเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นอีก ภายหลังช่วงเวลา 13 ปีให้หลัง

ชูวิทย์จึงตกที่นั่งลำบากยิ่งกว่าในครั้งก่อน อะไรที่เป็นสิทธิ์พิเศษที่เขาควรจะได้รับกลับไม่ได้ เป็นความทุกข์ทรมานอันเป็นผลพวงจากการต่อสู้ของตนเอง

วิบากกรรมของการนำไปสู่การติดคุกของคุณชูวิทย์ เริ่มจากการที่เขาไปซื้อที่ “ทำเลทอง” ขนาด 6 ไร่ บริวเวณตอนต้นของถนนสุขุมวิท เป็นย่านของซุ้มบาร์เบียร์จำนวนมาก อาจเรียกได้ว่าขนาดใหญ่ไม่แพ้ถนนข้าวสารก็ว่าได้ เมื่อได้ที่ดินนี้มาเป็นทรัพย์สินของเขาแล้ว ชูวิทย์ก็ไม่อาจเข้าไปทำกิจการธุรกิจใด ๆ บนที่ดินผืนนี้ได้เลย ผู้ขายที่ดินแปลงนี้ไม่อาจขอให้เจ้าของบาร์เบียร์รื้อถอนออกจากที่ดินแปลงนี้ได้ แม้คนไปเจรจาให้ย้ายออก ส่งคนไปเตือนให้ย้ายออก และมีหนังสือแจ้งเตือนไปแล้วหลายครั้ง นับเวลาหลายเดือนเจ้าของบาร์เบียร์เหล่านั้นซึ่งมีจำนวนกว่า 100 แห่งยังคงเพิกเฉย ต่างเห็นว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นแหล่งทำกินที่ดีของตน ทุกรายไม่นำพาต่อจดหมายให้ออกจากที่ดินแปลงนี้แต่อย่างไร จนในที่สุดผู้ขายจึงให้คุณชูวิทย์ในฐานะเจ้าของใหม่ฟ้องร้องขับไล่เจ้าของบาร์เบียร์ต่าง ๆ เหล่านี้เอง คุณชูวิทย์ก็ได้ใช้วิธีการให้คนไปเจรจา มีหนังสือไปให้ย้ายออก และวิธีการต่าง ๆ ไม่เป็นผล แถมยังมีนักเลงที่ออกมาคุ้มครองใช้อำนาจอิทธิพลป้องกันเจ้าของกิจการเหล่านี้อีก ทำให้การเจรจาทั้งหมดไม่เป็นผล

ความเป็นคนใจร้อนของคุณชูวิทย์ทำให้เขาหันหน้ามาใช้กำลังตัดสิน โดยให้ชายหลายฉกรรจ์หลายคนทั้งหมด 400 ทำงานกันเป็นทีมประสานงานกันอย่างดี หลายคนเป็นทหาร หลายคนเป็นตำรวจ เข้าปิดล้อมพื้นที่ทั้งหมด ล้อมด้วยลวดหนาม พร้อมใช้เครื่องจักรอันได้แก่รถแบ๊คโฮล รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกขนาดหนัก รถขุดเจาะทำลายแท่นปูน อุปกรณ์และเครื่องจักรหนัก เข้า และรื้อทำลายบาร์เบียร์เหล่านี้ทั้งหมดเมื่อเวลาตีสี่กลางดึกของคืนวันหนึ่ง โดยมีการถ่ายรูปภาพเหตุการณ์ไว้ทั้งหมดเพื่อเยียวยาแก่เจ้าของกิจการเหล่านี้ทั้งหมด การปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ พอรุ่งสางบริเวณที่เรียกกันว่า “สุขุมวิทสแควร์” ร้านค้าเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นบาร์เบียร์ ร้านขายตั๋วเครื่องบิน ร้านอาหาร ฯลฯ นับร้อยร้านพักพินาศ ทั้งหมดกลายเป็นเศษเหล็กเศษปูน

ณ เวลานั้น คุณชูวิทย์ ยืนมองซากปรักหักพังเหล่านั้นด้วยความสะใจ เพราะได้เจรจากันแล้วหลายครั้ง เตือนกันแล้วหลายครั้ง แต่พูดกันไม่รู้เรื่อง และมีนักเลงผู้มีอิทธิพลออกมาคุ้มครอง ทำให้ไม่มีเจ้าของร้านใดยินดีที่จะย้ายออกจากที่ดินแปลงนี้เลย

คดีนี้กลายเป็นคดีดังไปในบัดดล นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นคือทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาดูพื้นที่เกิดเหตุด้วยตนเอง และประกาศให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามหาตัวผู้ผิดมาลงโทษให้จงได้ คำสั่งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยรวมมือและร่วมวางแผนกับชูวิทย์มาตั้งแต่ตนพากันกลับลำ ให้การซัดทอดจนทำให้ชูวิทย์ถูกออกหมายจับ และศาลไม่ให้ประกันตัวจนทำให้ชูวิทย์ต้องเข้าคุกครั้งแรกเป็นเดือน และระหว่างพิจารณาคดีอยู่ที่ศาลนั้น ซึ่งรีดเงินค่า “ข้าวผัด” จานเดียวด้วยราคาถึง 5,000 บาท จนเป็นประเด็นนำมาสู่การตั้งกรรมการสอบสวน จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์สองนายถูกไล่ออก และเมื่อคดีถึงที่สุดในศาลชั้นฎีกา ชูวิทย์จึงพบว่าเขาถูกจองเวรจากเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่มีส่วนร่วมจากการมีส่วนร่วมรีดเงินจากเขาในครั้งนั้น แต่รอดมาได้

แม้ไม่มีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่การกำทำดังกล่าวทำให้ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยคดีอาญาแผ่นดิน ซึ่งเขาต่อสู้จนกระทั่งศาลฎีกาใช้เวลาทั้งหมดถึง 12 ปี และในที่สุดในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559 ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีของเขาอยู่ถึง 2 ชั่วโมง และตัดสินให้เขาติดคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ได้เขียนบรรยายถึง อารมณ์ความรู้สึกของเขาเมื่อได้ฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ณ เวลานั้นว่า

“สิ้นเสียงคำพิพากษาผมไม่รู้สึกพรั่นพรึงแต่อย่างใด เพราะรู้ชะตากรรมของตนเองเป็นอย่างดี เนื่องจากก่อนที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ผมได้ยืนแถลงขอรับสารภาพ จากที่เคยปฏิเสธมาตลอด”

คดีนี้มีเพียงคุณชูวิทย์ แต่เพียงผู้เดียวที่รับสารภาพ เพราะรู้แก่ใจตนเองว่า “ติดคุกแน่” แม้ว่าศาลชั้นตนได้พิพากษายกฟ้อง และต่อมาศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้จำเลยจำคุก 5 ปี ชูวิทย์ก็ทราบอยู่แล้วว่าคำสารภาพของเขานั้นแม้จะช้าเกินไป ทำให้มีผลเพียงให้ศาลฎีกาลดการลงโทษจาก 5 ปีให้เหลือ 2 ปี และเพราะว่าเขาได้ทำการเยียวยาผู้เสียหายแต่ละรายจนเป็นที่พอใจ ตลอดจนได้ปลูกต้นไม้และเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์จากที่ดินแปลงนี้ในฐานะที่เป็นสวนสาธารณะ เป็น “ปอดเมือง” โดยที่เขาเองไม่ได้นำที่ดินแปลงนี้ไปใช้ทำประโยชน์ทางธุรกิจใด ๆ เลย

ความรู้สึกไม่ประหวั่นพรั่นพรึงของคุณชูวิทย์นั้นอยู่ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อเขาถูกตีตรวนและเริ่มต้นการผจญภัยอันเนื่องมาจากวีรกรรมที่เขาได้สร้างไว้ในการติดคุกครั้งแรก เมื่อถูกจับใหม่ ๆ

เมื่อเขาติดคุกครั้งแรกที่เรื่อนจำพิเศษกรุงเทพมหานครนั้น ชุวิทย์ต้องจ่ายเงินไปมากมาย เพื่อให้ตนเองได้นอนบนฟูก เพื่อให้มีห้องน้ำใช้ส่วนตัว เพื่อให้มีเวลาที่ญาติมาเยี่ยมได้นาน ๆ ทำให้เขาออกมาแฉพฤติกรรมของผู้คุม ซึ่งฟ้องเขากลับแต่ในที่สุดคุณชูวิทย์เป็นฝ่ายชนะคดี และข้าราชการกรมราชทัณฑ์ถูกไล่ออกไปสองคน สถานภาพของคุณชูวิทย์เมื่อเข้าคุกครั้งนี้เขาคือ “คนดัง” ซึ่งเคยลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และได้คะแนนถึงสามแสนเสียง อยู่ในดันดับที่ 3 เขาเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็น ส.ส.ในสังกัดพรรคชาติไทย และทำให้พรรคชาติไทยมีคะแนนในกรุงเทพเป็นครั้งแรกได้เป็น ส.ส. และเขามีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาเขาถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะอายุการเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยนั้นไม่ครบกำหนดตามรัฐธรรมนูญ กระนั้นเองเขาก็มีบทบาทในการแฉทุจริตในวงการตำรวจ จนทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องลาออก แต่ภายหลังชูวิทย์ก็มีความขัดแย้งกับบรรหาญ ศิลปอาชา เพราะการเข้าไปร่วมกับพรรคพลังประชาชน ซึ่งขัดกับคำพูดที่ตนเคยให้ไว้ ต่อมาชูวิทย์ตั้งพรรคการเมืองของตนเองชื่อพรรครักประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นพรรคฝ่ายค้าน และได้ ส.ส.จำนวน 3 คน ในจังหวะนั้นคดีรื้อบาร์เบียร์ได้ต่อสู้ถึงศาลอุทธรณ์ แม้ศาลจะสั่งลงโทษเขา 5 ปี แต่เพราะเป็น ส.ส. เขาจึงได้เอกสิทธิ์คุ้มครอง

ในการติดคุกครั้งนี้ ซึ่งแม้ว่ามีคนดังหลายคนยังอยู่ในเรือนจำพร้อม ๆ กับชูวิทย์ มีทั้งอดีต ส.ส. อดีตนายพล อดีตนายธนาคาร นายแพทย์ ฯลฯ คนเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติแบบพิเศษ ได้กินอาหารอย่างดี ได้นอนฟูก มีห้องน้ำส่วนตัว นอนในห้องแอร์เย็นเฉียบ มีโทรทัศน์ส่วนตัวดู ไม่มีนักโทษทั่วไปคนอื่น ๆ เข้ามาข้องแวะด้วย ในเรื่องนี้ผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้เรียกชูวิทย์มาคุยตั้งแต่วันแรกรับว่า “คนเหล่านี้มีผู้ใหญ่โทรศัพท์มาขอร้องให้ดูแลเป็นพิเศษและหวังว่าคุณชูวิทย์จะไม่ไปแฉที่ไหน” เพราะว่าผู้คุมทุกคนรู้ดีว่าชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์เป็นคนอย่างไร เขาจึงได้รับการปฏิบัติเหมือนนักโทษปกติ ปราศจากสิทธิพิเศษทั้งปวง คุณชูวิทย์บรรยายว่า ….

“อย่าคิดนะครับว่าคุกไทยจะเหมือนกับในหนังที่คุณเคยดู มีเตียงนอนสองชั้น อยู่กันแค่สองคนต่อห้อง ขอโทษ ภาพที่คุณคิดหรือเคยเห็นมาในหนังมันผิดถนัด เพราะนั่นมันคุกในหนังฝรั่งฮอลลีวูด แต่คุกในเมืองไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น และไม่ได้ใกล้เคียงเสียด้วยซ้ำ”

เขายังได้เล่าต่อไปอีกว่า

“ปัจจุบันคดียาเสพติดเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน 80% ของนักโทษมาจากคดียา ที่เหลือเป็นคดีทั่วไป ลัก วิ่ง ชิง ปล้น เรือนจำจึงมีนักโทษคดียา ล้นทะลักต้องโยกย้ายนักโทษกันวุ่นวาย”

สำหรับนักโทษที่เป็นผู้ค้ายารายใหญ่ ประเภทหลักหมื่นหลักแสนเม็ด จะถูกส่งไปอยู่สถานบำบัดพิเศษกลาง เป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูง ส่วนผู้ที่เป็น “ผู้เสพ” ถูกตำรวจจับได้เพราะตรวจฉี่แล้วเป็นสีม่วง นักโทษเหล่านี้จะถูกส่งตัวไป เรือนจำฟื้นฟู และจะถูกกักตัวไว้ 45 วัน จึงจะถูกปล่อยตัวออกมา ส่วนคดีทั่วไปที่ไม่ใช่คดียา หรือศาลไม่อนุญาตให้ประกันก็ต้องไปอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่ของนักโทษหญิงนั้น ไม่ว่าจะเป็นคดียาหรือคดีทั่วไปถูกนำไปขังรวมกันหมด ซึ่งมีทั้งทัณฑสถานหญิงกลาง ทัณฑสถานหญิงธนบุรี และทัณฑสถานหญิงมีนบุรี

เมื่อศาลตัดสินจำคุก หรือไม่ได้ประกันตัว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะใส่กุญแจมือนำส่งตัวไปใต้ถุนศาล สิ่งของมีค่า เครื่องประดับตกแต่ง เงินทอง เขาจะไม่อนุญาตให้นำติดตัวไปด้วย คือ ไปได้แต่ตัวเปล่า ๆ แล้วขึ้นรถของกรมราชทัณฑ์เพื่อไปส่งตัวที่เรื่อนจำในทันที

เมื่อมาถึงคุก ผู้ต้องขังจะถูกค้นตัว แก้ผ้า นั่งยอง ๆ ล้วงก้น แลบลิ้น แล้วให้ชูมือขึ้นทั้งสองข้าง เพื่อตรวจดูว่ามียาเสพติดซุกซ่อนมาด้วยหรือไม่

แม้เรือนจำมีกระบวนการเข้มข้นปานนั้นก็ตาม นักโทษที่เจนคุก รู้กระบวนการนี้เป็นอย่างดี เพราะเคยติดคุกมาหลายรอบ มักมีความช่ำชอง แอบนำยาเสพติดซุกซ่อนเข้ามาขายในคุกจนได้ แต่มักจะมีปริมาณไม่มาก 2-3 เม็ดเป็นต้น แต่แม้มีปริมาณน้อยนิดหากนำเข้ามาขายต่อได้หรือนำไปแลกเป็นบุหรีได้จำนวนมาก นำไปขยายเครือข่ายของตนในเรือนจำได้ นักโทษด้วยกันก็จะเชิญชูคนเหล่านี้ว่าเป็น “ฮีโร่” แต่หากถูกจับได้ก็จะถูกส่งตัวไปเรือนจำ “เขาบิน” จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเรือนจำความมั่นคงสูง ถูกขังเดี่ยว ไม่ต้องเห็นเดือนเห็นตะวัน มีแต่แมลงสาปเป็นเพื่อนไปอีกนานแสนนาน

นักโทษชายแรกรับทุกคนถูกส่งไปอยู่แดนหนึ่งซึ่งมีพื้นที่เพียง 2 ไร่ครึ่ง แต่ประชากรอยู่กันอย่างแออัดถึง 700 คน และบางแดนมีจำนวนนักโทษอยู่สูงถึงกว่า 1,000 คน และยังมีแรงงานต่างชาติ จากพม่า ลาว เขมรซึ่งถูกหลอกมาค้าแรงงานในไทย เพิ่มเข้ามาเป็นระลอก ๆ

ที่อาบน้ำในคุกนั้นใช้ระบบอาบน้ำรวม ไม่ใช้ฟักบัว แต่เป็นบ่อน้ำให้ตักอาบ เป็นบล็อก ๆ ส่วนส้วมมีผนังกั้นซ้ายขวาทำขนาด 50 x 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 1 เมตร ไม่มีโถนั่งแบบเก้าอี้ แต่เวลาทำธุระนักโทษแต่ละคนต้องนั่งยอง ๆ ไม่มีความเป็นส่วนตัวแต่ประการใด นักโทษแรกรับจึงต้องทำใจ และเมื่อนั่งถ่ายอุจจาระอยู่ย่อมมีสิทธิ์ที่ถูกผู้คุมเรียกไปคุยด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นักโทษที่สูงวัยมีปัญหาเรื่องเข่าเสื่อมย่อมต้องทรมานมากกว่านักโทษคนอื่น ทั้งลุกและนั่ง

วันแรกเข้าของคุณชูวิทย์ได้เรือนนอนหมายเลข 13 มีขนาด 4 X 10 เมตร และมีส้วม 1 บล็อก พื้นเป็นปูนซีเมนต์ เป็นที่นอนของนักโทษประมาณ 40-50 คน นอนเบียดเสียดกันโดยไม่มีพื้นให้เดิน ทั้งหมอนและผ้าห่มเป็นของหลวงที่ได้รับตกทอดต่อ ๆ กันมา เต็มไปด้วยกลิ่นเหม็นสาบเหมือนผ้าเช็ดเท้า เมื่อนำมาห่มคราใดก็รู้สึกคันขึ้นมาทันที คืนแรกในเรือนจำจึงเป็นคืนที่นักโทษแต่ละคนนอนไม่หลับกันเลย หากจะต้องไปถ่ายทุกข์ในบล็อกก็ไปไม่ได้นาน เพราะหากไปทำธุระนานเกินไป กลับมาก็จะไม่พบที่นอน

ส่วนนักโทษวีไอพีทั้งหลาย ได้รับการดูแลพิเศษ จะเข้าห้องพักที่ 11 ซึ่งอยู่ชั้นล่าง ไม่ร้อน มีฝักบัว ชักโครก และที่ว่างที่สะดวกสบายกว่านักโทษธรรมดา และอยู่กันเพียงสิบกว่าคนเท่านั้น

ในการติดคุกครั้งแรกซึ่งยาวนานเพียงหนึ่งเดือนของคุณชูวิทย์นั้น เขาได้รับการปฏิบัติแบบวีไอพี มีฟูกให้นอน ห้องน้ำมีฝักบัว มีชักโครกให้ใช้ในห้องส้วม ซึ่งเขาเองต้องแลกมาด้วยเงินจำนวนมาก แต่ 13 ปีผ่านไป หลังจากที่เขาแฉว่าถูกเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เป็นค่าข้าวผัดจานละ 5,000 บาท จนเป็นเหตุให้ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ถูกสอบสวนและถูกไล่ออกสองนาย สิ่งที่ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ได้รับคือการปฏิบัติเท่าเทียมกับนักโทษชายสามัญทุกประการ คือ ไม่มีสิทธิ์พิเศษหรือการเอาอกเอาใจใด ๆ เลย ผู้คุมหลายคนยังจดจำเขาได้อย่างดี และยังมาทักทายอย่างเย้ยหยันด้วยว่า “ชูวิทย์ จำผมได้ไหม” ซึ่งทำให้เขาได้แต่เพียงคิดในใจว่า “ซวยแล้วกูคราวนี้”

เรื่องชนชั้นในหมู่นักโทษเป็นเรื่องปกติ นักโทษทุกคนต้องสังกัด “กองงาน” ซึ่งมีภาระงานต่างกันออกไป แต่ละคนมีเกณฑ์ให้ต้องทำงานได้วันละเท่าไหร่ในแต่ละวัน ขณะเดียวกันนักโทษกลุ่มหนึ่งอยู่กันอย่างสุขสบายไปแต่ละวัน เช่น นั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดบ้าง อยู่ในร้านตัดผมบ้าง นอนให้นักโทษด้วยกันนวดให้ก็มี บางคนเดินไปไหนมาไหนในเรือนจำ มีนักโทษคนอื่นแหวกทางให้ และมีคนช่วยยืนขวางทางเมื่อเข้าไปในบล็อกเพื่อทำกิจส่วนตัว หลายคนโผล่มาตอนเซ็นชื่อเข้างานและออกจากงานเท่านั้น ตลอดทั้งวันไม่มีใครถามถึง และหาตัวไม่เจอก็มี ในขณะที่นักโทษส่วนใหญ่ทำงานอย่างหลังขดหลังแข็ง

ชูวิทย์จึงสรุปว่า “ระบบอุปถัมภ์มีอยู่ทุกวงการในประเทศไทยไม่เว้นแม้แต่ในคุก”