ThaiPublica > คอลัมน์ > อรหันต์องค์ที่ 8 ในทีมงานของสี จิ้นผิง

อรหันต์องค์ที่ 8 ในทีมงานของสี จิ้นผิง

6 พฤศจิกายน 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

นายเหงียน ซวน ฟุก (ซ้าย) ประธานาธิบดีเวียดนามและ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่มาภาพ: https://www.chinadaily.com.cn/a/201904/26/WS5cc17376a3104842260b8605_15.html

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา เป็นวันสิ้นสุดของการประชุมใหญ่ครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน การประชุมครั้งนี้นับว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์การเมืองของจีนอีกครั้งหนึ่งก็ได้ เพราะนอกจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะได้รับการยอมรับให้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยนับแต่การปฏิรูปการปกครองของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ประชุมพรรคยังได้รับรองคนใกล้ชิดของประธานาธิบดีอีก 6 คน ซึ่งสื่อหลายสำนักในประเทศไทยต่างขนานนามว่าเป็น 7 อรหันต์

เป็นที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งว่า ในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง นายเหงียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) ประธานาธิบดีเวียดนาม ซึ่งเดินทางมาพร้อมองค์คณะใหญ่ ได้เข้าพบปะหารือกับท่านประธานาธิบดีจีนอย่างเป็นทางการ พิธีสารในการต้อนรับนั้นเต็มไปด้วยความอบอุ่น ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสองได้โอบกอดกันอย่างอบอุ่นเป็นข่าวไปทั่วโลก และตามมาด้วยการปรึกษาหารือในด้านนโยบายของทั้งสองประเทศ แม้ว่าจีนจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ก็ตาม การประชุมครั้งนี้เป็นที่จับตาของประเทศมหาอำนาจทั่วโลกด้วยเหตุผลที่หลากหลาย สิ่งที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกคือความระหองระแหงระหว่างจีนกับเวียดนามในเขตพื้นที่ทับซ้อนบริเวณทะเลจีนใต้นั้นกลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว เห็นได้ชัดว่าประเทศคอมมิวนิสต์ยักษ์ใหญ่ของโลกและประเทศคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประชาคมอาเซียนนั้นหันหน้าเข้าหากัน และมีปณิธานร่วมกันในการที่จะ “สร้างความสุขของประชาชนและความก้าวหน้าของมนุษยชาติ” ดั่งคำกล่าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ว่า

“ทั้งจีนและเวียดนามควรทำงานร่วมกันเพื่อความสุขของประชาชนและความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ผลักดันความทันสมัยของสังคมนิยมอย่างสุดกำลัง และอย่าปล่อยให้ใครมาขัดขวางความก้าวหน้าของเราหรือปล่อยให้กำลังใดๆ เขย่ารากฐานสถาบันของการพัฒนาของเรา

ชาวโลกทราบกันดีว่าประเทศจีนเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยจนเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของสหรัฐอเมริกาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร นวัตกรรมทางเกษตร อุตสาหกรรม เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีอวกาศ และเศรษฐกิจของจีนนั้นมีขนาดเป็น 18% ของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกา 15% ของเศรษฐกิจโลก และสหภาพยุโรป 13% ของเศรษฐกิจโลก พร้อมประชากรถึง 1.4 พันล้านคน จีนยังมีแสนยานุภาพทางเรือที่ไม่แพ้ชาติใดๆ ในโลก ขณะที่เวียดนามเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่กำลังพัฒนา มีประชากรประมาณ 100 ล้านคน มีประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความบอบช้ำจากการต่อสู้เพื่อเอกราชจากอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งตามมาด้วยสงครามเวียดนามซึ่งทำให้ชาวเวียดนามหลายสิบล้านคนต้องเสียชีวิต ระหว่างสงครามรัฐบาลเวียดนามเหนือยังต้องส่งแรงงานชาวเวียดนามไปทำงานในส่วนต่างๆ ของสหภาพโซเวียตเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนทางกำลังทหาร แม้เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงไปแล้ว เวียดนามยังถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรต่อไปอีกจนถึง พ.ศ. 2537 (สหรัฐอเมริกาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเวียดนามในปี พ.ศ.​ 2540 ภายหลังจากที่รัฐบาลเวียดนามจ่ายเงินปฏิกรณ์สงครามแก่อดีตรัฐบาลเวียดนามใต้เป็นจำนวนเงินถึง 140 ล้านเหรียญสหรัฐ)

การหลุดพ้นจากการถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกานั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม เพราะหากยังคงถูกคว่ำบาตรอยู่ย่อมไม่มีประเทศทั้งหลายในโลกเสรีเข้ามาค้าขายกับเวียดนามเป็นแน่ แม้ว่าตนเองจะชนะสงครามและรวมชาติได้แล้วก็ตาม บาดแผลและความเสียหายจากสงครามนี้ยังคงอยู่อีกนานแสนนาน สหรัฐอเมริกาต่างหากที่น่าจะเป็นผู้จ่ายเงินปฏิกรณ์สงครามแก่อดีตรัฐบาลเวียดนามในฐานะผู้แพ้สงคราม

เวียดนามยังได้ตกเป็นเหยื่อการทดลองอาวุธเคมี “ฝนเหลือง” (Yellow Rains) ซึ่งประธานาธิบดีเคนเนดีสั่งให้ทิ้งลงตามเส้นทางโฮจิมินห์ และขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังถอนทหารของตนออกจากเวียดนามใต้นั้น ประธานาธิบดีนิกสันยังได้สั่งให้กองทัพอากาศสหรัฐทิ้งระเบิดนิวตรอน (Neutron Bomb) ลงกลางกองทัพเวียดนามเหนือ ซึ่งนอกจากจะทำให้ทหารและประชาชนตายเป็นจำนวนมากแล้ว ระเบิดนี้ยังทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ต้องใช้ก๊าซออกซิเจนในพื้นที่หลายสิบตารางกิโลเมตรเสียชีวิตทันที นี่ยังไม่นับระเบิดสังหารจำนวนมากที่เหลือตกค้างในเวียดนามและ สปป.ลาว อีกหลายร้อยตันซึ่งยังไม่ได้รับการเก็บกู้หรือทำลายทิ้ง เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2518 สหประชาชาติและองค์กรที่เกี่ยวข้องพยายามฟื้นฟูบูรณาเวียดนามโดยการส่งเสริมการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสตาและแก้วมังกรซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศอิหร่าน แต่กระนั้น ปัญหาความขัดแย้งในประเทศได้คุกรุ่นในเวียดนามอีกไม่ต่ำกว่าสิบปี จนทำให้ชาวเวียดนามใต้หลายแสนคนอพยพจากประเทศของตนลงเรือรอนแรมลี้ภัยลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นที่รู้จักกันในนามของคนเรือ (boat people) กระจายไปอยู่ในหลายประเทศในยุโรป

หลังจากที่สหรัฐอเมริกาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบกับตนแล้ว ก้าวสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามคือการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้างโลก (WTO) ในปี พ.ศ. 2550 การพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามจึงอยู่ในลักษณะก้าวกระโดด บริษัทห้างร้านจำนวนมากผุดราวกับดอกเห็ดในฤดูฝน

เวียดนามในปี พ.ศ. 2565 ไม่เหมือนเวียดนามเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว แม้โลกจะอยู่ในสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ภาวะเงินเฟ้อที่กำลังทะยานขึ้นทุกวัน เวียดนามมีรายได้ประชาชาติในปีนี้สูงถึง 13.6% สูงกว่าทุกประเทศในโลก ปัจจุบันเวียดนามได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ล้ำหน้าประเทศไทยไปเสียแล้ว หากพิจารณาจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาสองแห่งที่ดีที่สุดของเวียดนาม (Ton Duc Thang University และ Duy Tan University) ทั้งคู่ได้แซงทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดลไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ครึ่งหนึ่งของประชากรเวียดนามมีอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 35 ปี ทำให้เวียดนามมีประชากรในวัยใช้แรงงานกว่า 50 ล้านคน (ในขณะที่ประเทศไทยประชากรที่อายุเกินหกสิบปีมีสูงถึง 20% และค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของชาวเวียดนามอยู่ราวประมาณ 200 บาทต่อวัน ถูกกว่าแรงงานขั้นต่ำในประเทศไทยซึ่งอยู่ประมาณ 350 บาท) ยิ่งไปกว่านั้นเวียดนามมีการเมืองที่ “นิ่งมาก” เพราะปกครองด้วยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ความแตกแยกในหมู่ประชาชนจึงมีน้อยมาก การชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก (ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2561)

แม้ว่าเวียดนามมีโครงสร้างการบริหารทางการเมืองเหมือนจีน ประธานาธิบดีมีวาระ 5 ปี เป็นเลขาธิการพรรคและดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทั้งจีนและเวียดนามมีวัฒนธรรมขงจื๊อและพุทธศาสนามหายานเป็นพื้นฐาน แต่เวียดนามมีอะไรหลายอย่างที่แตกต่างไปจากจีน เป็นต้นว่า ประธานาธิบดีของเวียดนามอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 3 วาระ ส่วนรัฐธรรมนูญของจีนไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญของเวียดนามยังเปิดโอกาสให้ประชาชนลงสมัครรับเลือกตั้งในนามอิสระได้โดยไม่ต้องสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ ในขณะที่ในจีนประชาชนไม่มีสิทธิเช่นนั้น ชาวเวียดนามมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาได้มากกว่าในจีน แม้ว่าชาวพุทธเวียดนามยังเป็นศาสนิกส่วนใหญ่ (14.9%) แต่ยังมีการนับถือผีหรือศาสนาท้องถิ่นของตนในจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก (73.7%) อีกทั้งภิกษุและภิกษุณีเวียดนามสามารถออกไปเทศนาโปรดประชาชนนอกวัดของตนได้ ในขณะที่กิจกรรมที่ออกไปตระเวนเทศน์สอนเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามในจีน สิ่งที่ทั้งสองประเทศประสบร่วมกันคือความขมขื่นที่ประเทศทางตะวันตกได้สร้างไว้แก่ชาติของตนเอง เช่น ในกรุงฮานอย รัฐบาลยังคงอนุรักษ์คุกที่ทหารฝรั่งเศสใช้จองจำชาวเวียดนามที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบจักรวรรดินิยมของฝรั่งเศส โซ่ตรวนต่างๆ ห้องที่นักโทษการเมืองชาวเวียดนามถูกจองจำ แม้กระทั่งกิโยตีนที่ทหารฝรั่งเศสนำมาใช้ประหารชีวิตนักโทษชาวเวียดนามและประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนเวียดนาม

สำหรับการพัฒนาประเทศนั้น รัฐบาลเวียดนามได้ศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนอย่างละเอียด รวมทั้งข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดจากการบริหารงานของประธานเหม๋า เจ๋อตุง ตลอดจนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของจีนในยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง เรื่อยมา โดยได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามขึ้นทุก 5 ปี

สิ่งที่น่าสังเกตคือเวียดนามไม่ได้ลอกเลียนจีนไปเสียทั้งหมด รัฐบาลเวียดนามได้สนับสนุนนักธุรกิจเวียดนามให้เติบโต จนกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีหลายราย ในจำนวนอภิมหาเศรษฐีของเวียดนามเหล่านี้คงไม่มีใครเกินนายฟาม นาต โวง (Pham Nhat Voung) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวเวียดนามชื่อดัง และเป็นมหาเศรษฐีคนแรกของเวียดนาม ผู้ก่อตั้งและประธานของ Vingroup อันเป็นอภิมหาอาณาจักรทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามในขณะนี้

นายฟาม นาต โวง เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2511 ที่กรุงฮานอย ครอบครัวบิดาของเขามีต้นกำเนิด ณ เมืองไฮ่ติ๋นในเวียดนามกลางตอนเหนือ พ่อของเขารับใช้ในหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพเวียดนาม และแม่ของเขามีร้านน้ำชา ซึ่งทำให้ครอบครัวมีรายได้น้อยมาก เขาเติบโตขึ้นมาในฮานอยและสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมคิมเหลียน (Kim Lien) ในปี พ.ศ. 2528

ในปี พ.ศ. 2530 เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเหมืองแร่และธรณีวิทยาฮานอย และถูกส่งไปยังรัสเซียเพื่อศึกษาในสถาบันสำรวจธรณีวิทยากรุงมอสโก ซึ่งเขาสามารถรับทุนการศึกษาได้เนื่องจากความถนัดทางคณิตศาสตร์ที่ลึกซึ้งของเขา เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในปี พ.ศ. 2535 หลังจบการศึกษา เขาแต่งงานกับนางสาวฟาม ถุ โฮวง (Pham Thu Houng) ซึ่งทั้งคู่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยที่เรียนโรงเรียนมัธยมด้วยกัน ต่อมาเขาย้ายครอบครัวไปอยู่ในกรุงเคียฟประเทศยูเครน (ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน ปัจจุบันลูกๆ ของเขารับผิดชอบในการบริหารกิจการของ Vingroup) ในขณะที่อาศัยอยู่ในกรุงเคียฟนั้น ในปี พ.ศ. 2533 นายฟาม นาต โวง เริ่มก่อตั้งบริษัท Technocom เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยใช้เงินที่ยืมมาจากเพื่อนและครอบครัว ในไม่ช้าเขาได้กลายเป็นผู้นำตลาดในผลิตภัณฑ์ทำอาหารแห้งรายแรกของยูเครน และในไม่ช้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง ซึ่งต่อมาเขาขายกิจการบริษัท Technocom ให้กับบริษัท Nestlé ในราคา 150 ล้านดอลลาร์ก่อนที่จะเดินทางกลับเวียดนามในปี พ.ศ.​ 2552

เมื่อกลับถึงเวียดนาม นายฟาม นาต โวง ผันตัวเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการแรกของเขาคือสร้างรีสอร์ทดังชื่อ Vinpearl Resort Nha Trang ซึ่งเปิดในปี พ.ศ. 2546 และ Vincom City Towers (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Vincom Ba Trieu) ในใจกลางกรุงฮานอยและเปิดในปี พ.ศ. 2547 Vincom เปิดตัวสู่สาธารณะในปี พ.ศ. 2550 โดยได้รวมกิจการกับ Vinpearl ธุรกิจรีสอร์ทหรูของเขาพัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มธุรกิจซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม VinGroup ในปี พ.ศ. 2550 Vingroup มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองริมแม่น้ำในเขต Long Biên ทางตะวันออกของฮานอย ในปี พ.ศ. 2558 นิตยสาร Forbes ระบุว่า นายฟาม นาต โวง คือบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในเวียดนามด้วยสินทรัพย์รวม 24.3 ล้านล้านด่อง (ประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

Vingroup ดำเนินธุรกิจมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนระดับชั้นต่างๆ มหาวิทยาลัย โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล แม้กระทั่งรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ VinFast เป็นรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อแรกที่ผลิตโดยเวียดนามและอาเซียน โดยเขาได้จ้างสถาปนิกจากประเทศอิตาลีเพื่อออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก และทีมงานวิศวกรชาวเยอรมันเพื่อออกแบบเครื่องยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในเดือนตุลาคม พ.ศ.​ 2561 Vingroup ประกาศว่า VinFast ซึ่งเป็นแผนกรถยนต์ของบริษัท จะกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศรายแรกด้วยกำลังการผลิต 250,000 คันต่อปี โดยใช้เม็ดเงินลงทุนสูงถึง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะสร้างงานให้แก่ชาวอเมริกันถึง 35,000 คน

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ​2561 Vingroup เข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนด้วยการเปิดตัว VinSmart โทรศัพท์ที่ทำงานบน Android สมาร์ทโฟนผลิตโดยหน่วย VinSmart และในปัจจุบันสิ่งที่นักธุรกิจทั่วโลกประหลาดใจกันอย่างมากคือ Vingroup กำลังลงทุนสร้างโรงงานผลิตอยู่ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา (North Carolina) สหรัฐอเมริกา จะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายแรกของเวียดนามและจากภูมิภาคอาเซียนในสหรัฐอเมริกา โดยมีโชว์รูมในนครลอสแอนเจลิส และมีแผนที่จะผลิตรถไฟฟ้าคันแรกให้กับอเมริกาในอีกสองปีข้างหน้า

นอกจากนายฟาม นาต โวง นิตยสาร Forbes ปี 2022 ยังได้ระบุถึงมหาเศรษฐีชาวเวียดนามมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในจำนวนนี้เป็นสตรีหนึ่งคน และชายอีก 4 คน ซึ่งทั้งหมดมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันถึง 21.2 พันล้านดอลลาร์

นางเหงียน ถิ โฝง เถา (Nguyen Thi Phuong Thao) วัย 51 ปี ทำรายชื่อเป็นครั้งที่หกด้วยทรัพย์สินสุทธิ 3.1 พันล้านดอลลาร์ อันดับที่ 984 ของโลกปัจจุบันเธอเป็นซีอีโอของ VietJet Air และประธาน Sovico Group ซึ่งเป็นกลุ่มการลงทุนชั้นนำในเวียดนาม Nhon of Nova Group อยู่ในอันดับที่ 1,053 ด้วยมูลค่าสุทธิ 2.9 พันล้านดอลลาร์

ได้แก่ นายบุย ถันห์ นอน (Bui Thanh Nhon) วัย 64 ปี ประธาน Nova Group เจ้าของ Nova Land Investment ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นบริษัทเรือธงของ Nova Group

ตามด้วยนายทราน ดินห์ โลง (Tran Dinh Long) วัย 61 ปี ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทผู้ผลิตเหล็ก Hoa Phat Corp ซึ่งมีมูลค่าสุทธิ 3.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1 พันล้านดอลลาร์จากปีที่แล้ว ครองอันดับที่ 951 ของโลก ในปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองที่เขาเข้าสู่การจัดอันดับอีกครั้ง
นายโอ ฮุง อัน (Ho Hung Anh) ประธานบริษัท Techcombank วัย 51 ปี อยู่ในรายชื่อเป็นครั้งที่สี่ มูลค่าสุทธิของเขาอยู่ที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 1.6 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

นายเหงียน ดัง ควาง (Nguyen Dang Quang) ประธานบริษัท Masan วัย 58 ปี ปรากฏตัวในรายการเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ โดยมีมูลค่าสุทธิ 1.9 พันล้านดอลลาร์

นักธุรกิจเวียดนามทั้งหมดที่กล่าวมานี้โดยเฉพาะนายฟาม นาต โวง เป็นเศรษฐีใหม่ผู้สร้างตนเองจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) มิได้สร้างฐานะมาจากมรดกตกทอดของบรรพบุรุษ พวกเขาอาศัยจังหวะและโอกาสที่เปิดและความวิริยะอุตสาหะของตนสร้างฐานะอันมั่งคั่งนี้ขึ้นมาได้ ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตอย่างอัศจรรย์ ในขณะที่โลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากโรคระบาดใหญ่และภัยจากสงคราม เวียดนามเรียนรู้จากจีนแต่ไม่ได้ทำอย่างจีน แม้จะปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เช่นกันรัฐบาลเวียดนามไม่เข้าไปแทรกแซงธุรกิจภาคเอกชนเลย แต่ให้การสนับสนุนในทุกทาง และสิ่งที่รัฐบาลเวียดนามประสบความสำเร็จอย่างมากคือ “การให้การศึกษาที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชน” จนเป็นที่ยอมรับกันว่าคนเวียดนามขยันอดทน อดออม รักบ้านเกิดเมืองนอน รักหมู่คณะ โดยมีโมเดลสำคัญของชาติคือ “โฮจิมินห์” ผู้ซึ่งชาวเวียดนามให้เกียรติว่าเป็น “บิดา” ของชาติ การศึกษาของเวียดนามสมัยใหม่ยังสามารถสร้างค่านิยมให้ประชาชนรังเกียจการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนชั้น อันเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

เวียดนามเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากโควิด-19 โดยที่ชาวเวียดนามเสียชีวิตไปจากโรคระบาดนี้ 43,165 ราย และป่วย 11.5 ล้านราย ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูง แต่กระนั้นเวียดนามไม่ใช้นโยบาย Zero-COVID แบบจีน นักธุรกิจอันดับต้นๆ ของเวียดนามมีสิทธิ์เดินทางไปต่างประเทศเท่ากับประชาชนทั่วไป และเวียดนามมิได้ใช้เทคโนโลยีติดตามประชากรของตนที่เคร่งครัดเหมือนจีน เหตุปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักธุรกิจจำนวนมากย้ายอุตสาหกรรมของตนจากจีนมาสู่เวียดนาม เพราะบรรยากาศการลงทุนดีกว่า การเมืองนิ่งกว่า ประชากรอยู่ในวัยทำงานมีจำนวนสูงกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน รายได้ประชาชาติของเวียดนามจึงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปกว่านี้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ทั้งเวียดนามและจีนยังต้องอาศัยซึ่งกันและกันอีกมาก จีนยังต้องการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงตามโครงการ Belt and Road Initiative ต่อลงไปเวียดนามเลยไปถึงกัมพูชาและไทย เวียดนามยังเป็นฐานการผลิตสินค้าที่ราคาถูกลงกว่าจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนถูกชาติทางตะวันตกมองว่าเป็นศัตรู สินค้าของจีนที่ผลิตในเวียดนามนั้นย่อมไม่ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป เวียดนามเองยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูงของจีนอีกมาก เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (ซึ่งจีนได้พัฒนาจนก้าวหน้าไปมาก) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีพลังงานสีเขียว เทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งเทคโนโลยีทางอวกาศ อีกทั้งจีนยังคงเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าจากเวียดนามอีกมากมาย

การเดินทางของประธานาธิบดีเวียดนามเข้าประชุมอย่างเป็นทางการกับประธานาธิบดีของจีน จึงเท่ากับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเมืองระหว่างประเทศที่ทุกชาติต้องหันมาจับตามอง สำนักข่าวหลายสำนักในประเทศไทยกล่าวว่าทีมบริหารของสี จิ้นผิง ประกอบด้วย 7 อรหันต์ แต่อันที่จริงแล้วมีอีกหนึ่งอรหันต์องค์ที่ 8 นั่นคือ ท่านเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนามนั่นเอง ซึ่งจะเป็นผู้สานฝันให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้อย่างดี