ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อทรัมป์สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง?

เมื่อทรัมป์สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง?

28 พฤศจิกายน 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ที่มาภาพ : https://www.ft.com/content/32832f0e-57e2-4d7b-8bb3-1e3e8218c109

เมื่อผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาประกาศออกมาต่อสาธารณชน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังประชุม G20 อยู่ที่เกาะบาหลี เขาได้โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับนายมิตช์ แมกคอนเนลล์ (Mitch McConnell) สมาชิกวุฒิสภาและหัวหน้าพรรครีพับลิกัน ด้วยเหตุที่พรรครีพับลิกันได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นในสภาคองเกรสอันจะส่งผลให้พรรครีพับลิกันจะได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแทนนางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) การโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีนั้นถือว่าเป็นมารยาทสำคัญทางการเมืองในสหรัฐที่ฝ่ายตรงกันข้ามจะแสดงความยินดีต่อผู้มีชัยชนะ และโจ ไบเดน ยังบอกว่า “ดีใจที่จะได้ทำงานร่วมกัน”

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกานั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตน เนื่องจากเป็นการปกครองโดยอาศัยหลักการแห่งดุลอำนาจทั้ง 3 คือ ฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารนำโดยประธานาธิบดีซึ่งอยู่ในวาระได้คราวละ 4 ปีและต้องไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน ส่วน ส.ส. อยู่ในวาระคราวละเพียง 2 ปีเท่านั้น แต่สามารถได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกโดยไม่จำกัดวาระ และ ส.ว. อยู่วาระละ 6 ปี โดยแต่ละรัฐมี ส.ว. ได้เพียง 2 คนเท่านั้น และรองประธานาธิบดีจะทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ส่วนฝ่ายตุลาการนั้นนำโดยผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 9 คน เป็นตำแหน่งตลอดชีวิต โดยประธานาธิบดีเป็นผู้นำเสนอต่อวุฒิสภาและเมื่อวุฒิสภารับรองแล้วจึงสาบานตนเข้ารับตำแหน่งได้ และเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ในทุก 2 ปี รัฐบาลกลางจัดให้มีการเลือกตั้งประมาณหนึ่งในสามของผู้ว่าการรัฐ ส.ว. และ ส.ส. ต้องได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาอีก เรียกการเลือกตั้งนี้ว่า Midterm Election หรือเลือกตั้งกลางเทอม เท่ากับเป็นการทำประชามติของประชาชนไปในตัวว่าสิ่งที่ผู้บริหารประเทศกำลังทำงานอยู่นั้นได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเพียงใด

ผลการเลือกตั้งกลางเทอมจะเป็นตัวตัดสินอนาคตของประธานาธิบดี ว่าจะลงชิงชัยแข่งขันในการเลือกตั้งที่จะจัดให้มีขึ้นสมัยหน้าหรือไม่ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศว่าเขาจะปรึกษากับครอบครัวก่อนหลังทราบผลการเลือกตั้งกลางเทอมในครั้งนี้ หากเขาตัดสินใจลงสมัครชิงชัยอีกครั้งหนึ่งเขาก็จะมีอายุถึง 82 ปี แม้ในปัจจุบัน โจ ไบเดน ก็เป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกาอยู่แล้ว และหากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย เขาจะมีอายุสูงถึง 86 ปีทีเดียว

การเลือกตั้งกลางเทอมที่ผ่านมานี้มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน คือ นายโดนัล ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนก่อน ได้ออกมารณรงค์เพื่อให้ประชาชนเลือกตัวแทนของพรรคริพับลิกัน และบอกอีกว่าผลการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้จะเป็นคลื่นสึนามิสีแดงลูกใหญ่ที่พรรคของเขาจะเข้ามาเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ปกครองทั้งสภาสูงและสภาล่าง ซึ่งตามปกติแล้วพรรคเดโมแครตเป็นผู้ครองเสียงข้างมากทั้งสองสภามานาน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะหันมาเลือกพรรคคู่แข่งแทน แต่ผลการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ หาได้เป็นไปตามที่ทรัมป์ได้พยากรณ์ไว้ไม่

พรรคเดโมแครตยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาต่อไป แม้ว่าจะยังคงเป็นคะแนนเสียงที่ปริ่มน้ำก็ตาม และจำนวน ส.ส. ที่พรรครีพับลิกันได้มาเพิ่มก็เพียงไม่กี่เสียง หนำซ้ำผู้ว่าการรัฐและผู้ลงสมัครในนามพรรครีพับริกันที่ทรัมป์สนับสนุนพากันสอบตกเกือบจะเรียกว่า “ยกชั้น” กันทีเดียว

กระนั้น ทรัมป์ก็ทำให้ทุกคนประหลาดใจอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเขาประกาศต่อสาธารณชนและผู้สื่อข่าวทั้งหลายที่ Mar-a-Lago Club ในมลรัฐฟลอริดาว่า “ข้าพเจ้าจะสมัครชิงชัยในการเลือกประธานาธิบดีใน 2024” และในวันเดียวกันนั้นเขาได้ยื่นเอกสารต่อ กกต. กลางของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการว่า เขาจะลงชิงชัยเพื่อเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง

รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ยังมีกรณีใหญ่ๆ ที่ต้องสอบสวนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์อีก 2 กรณี นั่นคือ เหตุการณ์จลาจลที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2563 เมื่อม็อบขวาจัดมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 2,000 คน ทยอยเข้ามาชุมนุมกันในเมืองหลวงก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน พวกเขาชูธงชาติอเมริกันและธง “ทรัมป์” (Trump) ทั้งหมดแสดงความไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้งที่ระบุให้นายโจ ไบเดน เป็นผู้ชนะ ในเช้าวันรุ่งขึ้น ม็อบนี้มารวมตัวกันหน้าอาคารรัฐสภา แต่เมื่อเวลาใกล้เที่ยงวันอันเป็นเวลาที่นายไมก์ เพนซ์ ต้องทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมร่วมสองสภา เพื่อรับรองนายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่นั้น ม็อบเกิดความโกรธแค้นบุกเข้ายึดอาคารรัฐสภา ฝ่าด่านตำรวจรัฐสภา บางคนก็ปีนกำแพงรัฐสภาเพื่อขึ้นไปยืนบนระเบียงรอบนอกจนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตา แต่ม็อบนี้ไม่หยุดบุกเข้าทำลายข้าวของในรัฐสภา บุกรุกเข้ารื้อค้นห้องทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. โดยเฉพาะห้องทำงานของประธานรัฐสภาที่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินและเอกสารสูญหายไปเป็นจำนวนมาก

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาต้องระดมกำลังปกป้องรัฐสภาจนเป็นเหตุให้สตรีผู้ประท้วงคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ ยังมีผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 4 คน ซึ่งต่อมาไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้นอีกจำนวน 4 นายฆ่าตัวตายในเวลาต่อมาเพราะแรงกดดันทางสังคม ทรัพย์สินของทางรัฐบาลกลางเสียหายไปถึง 2.7 ล้านเหรียญ

ม็อบนี้ได้สร้างตะแลงแกงขึ้นมาเพื่อแขวนคอรองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ หลายคนในม็อบคนตะโกนว่า “จงนำตัวนายไมก์ เพนซ์ มาแขวนคอ!” (Hang Mike Pence!) เพราะในขณะนั้นนายไมก์ เพนซ์ กำลังเป็นประธานในการประชุมร่วมวุฒิสภาและสภาคองเกรส เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องประกาศให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. หมอบลงกับเก้าอี้ในสภา แล้วค่อยๆ อพยพไปนอกอาคาร นายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตันต้องประกาศภาวะฉุกเฉินพร้อมกับเรียกกองกำลังรักษาประเทศเข้าควบคุมสถานการณ์

การประชุมร่วมสองสภาจึงหยุดชะงักชั่วคราว แต่ในที่สุดได้ดำเนินการประชุมต่อไปจนเสร็จในค่ำวันนั้นเอง เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการว่า นายโจ ไบเดน ได้ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ก่อการจลาจลครั้งนี้กว่า 500 คน พร้อมอาวุธปืน ไปป์บอมบ์ และระเบิดขวดบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมจุดเป็นจำนวนมาก ในจำนวนผู้ต้องหานี้ 450 คนให้การรับสารภาพและให้การว่าที่พวกเขาไปชุมนุมกันเพราะประธานาธิบดีบอกให้พวกเข้าไปป้องกันอเมริกา (Save America)

การสลายตัวของม็อบในครั้งนี้มิได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ทำการสลายการชุมนุมแต่เกิดจากการทวีตของโดนัล ทรัมป์ เมื่อเห็นว่าม็อบนี้อยู่เหนือการควบคุมและน่าจะเสี่ยงต่อการเสียเลือดเนื้อมากกว่านี้ “พวกคุณทำดีที่สุดแล้ว ผมรักพวกคุณ” (You did a good job! I love you!) กระนั้นก็ตาม เขายังแสดงความโกรธต่อนายไมก์ เพนซ์ ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมและประกาศให้นายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ทำให้ทรัมป์ทวีตห้ามมิให้นายไมก์ เพนซ์ เข้าเขตทำเนียบขาวอีกอย่างเด็ดขาด เพราะเขาถือว่าเป็นผู้ทรยศต่อเขา (ผู้เป็นเจ้านาย)

สภาคองเกรสซึ่งมี ส.ส. ส่วนใหญ่สังกัดพรรคเดโมแครตได้มีมติให้ถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง แต่กระนั้นก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากคะแนนเสียงในวุฒิสภาที่จะถอดถอนทรัมป์มีไม่ถึงสองในสามของจำนวนวุฒิสมาชิกทั้งหมด ความพยายามของ ส.ส. พรรคเดโมแครตที่จะถอดถอนทรัมป์เกิดเช่นนี้สองครั้งติดต่อกันแต่ไม่เป็นผลสำเร็จทั้งสองครั้ง เนื่องจากจำนวนวุฒิสมาชิกที่เห็นด้วยมีไม่เพียงพอ (ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกายังไม่เคยมีประธานาธิบดีคนใดที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเลย)

รายละเอียดของเหตุการณ์ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2563 ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของหลายหน่วยงานในสหรัฐฯ เป็นที่แน่ชัดว่าอดีตประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หากม็อบสามารถยุติการประชุมร่วมสองสภาได้สำเร็จ แต่ทางการยังขาดหลักฐานที่ชัดเจนในบทบาทของทรัมป์ต่อการขับเคลื่อนม็อบในครั้งนี้ พบเพียงข้อความการทวีตของทรัมป์ที่ว่า “ผมอาจไปร่วมชุมนุมกับพวกท่าน” (I might go with you.) และทรัมป์ยังประกาศอยู่เสมอว่าเขาถูกโกงเลือกตั้ง โดยได้แต่งตั้งทนายส่วนตัวยื่นฟ้องต่อ กกต. ของหลายรัฐให้มีการนับคะแนนใหม่ต่อศาล แต่ทุกศาลยืนยันว่าไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันว่ามีการโกงเลือกตั้งจริง

ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่ไม่เคยมีประวัติการรับใช้ชาติในภารกิจใดๆ มาก่อนเลย เขาเกิดมาเป็นลูกมหาเศรษฐีนักพัฒนาที่ดิน ซึ่งเขาก็ได้ต่อยอดอาณาจักรทางธุรกิจของบิดา ในการสร้างอาคารสูงเสียดฟ้าในบริเวณที่ดินที่แพงที่สุดของเกาะแมนฮัตตัน สร้างอาคารทรัมป์อันโด่งดัง โรงแรมขนาดยักษ์ รีสอร์ตหรู และคาสิโน เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และตลอด 4 ปีที่ทรัมป์บริหารงานในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น เขาได้เปลี่ยนแปลงนโยบายหลายประการ เช่น การถอนอเมริกาออกจากสนธิสัญญาปารีสในเรื่องการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เพราะเขาไม่เชื่อว่าภาวะโลกร้อนมีอยู่จริง การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาสูงสุดถึง 3 คน และต่อมามีผลให้ยกเลิกสิทธิ์ของสตรีในการทำแท้งเสรีจากคดี Roe v. Wade ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เขาเรียกนายวลาดิเมียร์ ปูติน ว่า “อัจฉริยะ” (Genius) ในขณะที่นายโจ ไบเดนเรียกปูตินว่า “ฆาตกร” (Murderer) จึงเป็นที่แน่ชัดว่า ในช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอเมริกาอยู่ในระดับที่ดีมาก

ที่มาภาพ : https://www.washingtonpost.com/politics/2022/11/15/trump-2024-announcement-running-president/

ทรัมป์ยังสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐฯ กับแมกซิโก เพื่อกีดกันผู้อพยพจะหลบหนีเข้าเมือง โดยประกาศในการหาเสียงของเขาว่าจะให้เม็กซิโกเป็นผู้ออกเงินค่าสร้างกำแพงนั้นอีกด้วย ทรัมป์ยังถอนสหรัฐฯ ออกจากสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน และยกเลิกสิทธิการประกันสุขภาพที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ทำไว้ (Obama Care) ผลงานสำคัญของเขาที่ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดทำได้คือการพบปะกับนายคิม จองอึม ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ ซึ่งเขาได้คุยกับนายคิมถึง 3 ครั้ง แต่ไม่มีมรรคผลใดเกิดขึ้นที่จะให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตน

ข้อดีของโดนัล ทรัมป์ ประการหนึ่งที่สื่อมวลชนทุกแขนงยอมรับคือ “เขาเป็นคนที่พูดอย่างที่เขาคิด” เมื่อเขาประกาศว่าจะลงชิงชัยเพื่อเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องนำไปเข้าสมการทางการเมืองใดๆ อีกต่อไป ทรัมป์จะสมัครลงเลือกตั้งอีกแน่นอน

คดีความที่สำคัญอีกคดีหนึ่งของทรัมป์คือการเคลื่อนย้ายเอกสารลับของรัฐบาลกลางจากทำเนียบขาว (Sensitive Compartmented Information Facility) ไปไว้ที่ Mar-a-Lago คฤหาสน์ส่วนตัวของเขาในรัฐฟลอริดาโดยพลการ ซึ่งเขาถือว่าคฤหาสน์นี้เป็น “ทำเนียบขาวในฤดูหนาว” ของเขา ต่อมาเจ้าหน้าที่เอฟบีไอได้ทำการบุกยึดเอกสารดังกล่าวกลับคืน รายละเอียดในเอกสารเหล่านั้นไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทรัมป์เองก็มิได้อธิบายให้สื่อแขนงใดทราบถึงเหตุที่เขาต้องเคลื่อนย้ายเอกสารลับทางราชการเหล่านั้นมาอยู่ในความครอบครองของตนเอง

ความฝันที่ทรัมป์จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในการเลือกตั้งอีกสองปีข้างหน้านั้นดูจะเลื่อนลอยเต็มที ครั้งนี้ ศัตรูสำคัญของเขาไม่ใช่นายโจ ไบเดน หรือพรรคเดโมแครต แต่เป็นผู้มีอำนาจบารมีในพรรครีพับลิกันด้วยกันเอง เช่น นายไมก์ เพนซ์ ซึ่งถูกเขาขับไล่ไม่ยอมให้เข้าทำเนียบขาวอีกหลังจากเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคม ในฐานะรองประธานาธิบดีนายเพนซ์มีสิทธิ์อันดับต้นๆ ที่จะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรค อีกคนหนึ่งคือนายไมก์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตผู้อำนวยการหน่วยสอบสวนกลาง (CIA) และ นายรอน เดอแซนติส (Ron DeSantis) ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาคนปัจจุบัน นักการเมืองเหล่านี้เป็น “ผู้ใหญ่” ของพรรครีพับลิกัน และมีสิทธิ์ที่จะได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการชิงชัยประธานาธิบดีในปี 2024 อย่างแน่นอน

ผู้ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกผู้ใดลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นไม่เคยมีผู้ใดที่บอบช้ำทางการเมืองมาก่อน สมาชิกพรรครีพับลิกันในเขตต่างๆ ยังต้องประชุมกันในวงเล็กและวงใหญ่ ต้องมีการโต้วาทีกันในที่สาธารณะ กว่าจะถึงการส่งตัวแทนพรรครีพับลิกันเพียงผู้เดียวเท่านั้นเพื่อชิงชัยตำแหน่งอันทรงอำนาจนี้ ถึงตอนนั้นทรัมป์ก็ย่อมต้องตอบคำถามอีกมากมายสำหรับเหตุการณ์จลาจลในวันที่ 6 มกราคมสองปีที่แล้ว ซึ่งทรัมป์คงมีสถานภาพไม่ต่างไปจาก “พระราชา” ในนิทานอันโด่งดังของฮันส์ คริสเตียน แฮนเดอร์สัน “ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระเจ้าจักรพรรดิ” (The Emperor’s New Clothes)