ThaiPublica > คอลัมน์ > ระบบการให้คะแนนความดี เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับไทย (Social Credit)

ระบบการให้คะแนนความดี เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับไทย (Social Credit)

8 พฤศจิกายน 2021


ดร. นพ. มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ที่มาภาพ : https://www.scmp.com/abacus/culture/article/3029263/people-changing-jobs-too-often-could-be-punished-chinas-social

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกุญแจดอกสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศชาติ และยังเข้ากับหลักธรรมในทุกศาสนาที่สอนให้คนเป็นคนดี และเข้ากับพระราชดำรัสของล้นเกล้าในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่แนะนำให้ประชาชนเลือกคนดีเข้ามาทำงานรับใช้ประเทศชาติ ปัญหาที่สำคัญคือ

“อะไรคือเครื่องมือที่จะระบุได้ว่าใครคือคนดี?”

เนื่องจากที่ตนเองมีพื้นฐานเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่เป็นนักเรียน และทำงานมูลนิธิการกุศลมาเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ พร้อมยังได้เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรื่อง จริยธรรมเชิงพุทธ จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ให้คิดนวัตกรรมสังคม เพื่อใช้ในประเทศไทย โดยประยุกต์พุทธธรรมจาก “มงคลสูตร” ในพระพุทธศาสนา เพื่อใช้ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคมไปด้วยพร้อม ๆ กัน โดยยึดมั่นในหลักการที่ว่า “ความดีย่อมไม่ดับสูญ” ซึ่งต้องสอดประสานกับการใช้ระบบสารสนเทศน์สมัยใหม่ เพื่อให้ความดีที่กระทำไว้นั้นเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน สามารถเห็นได้พร้อมกันทั่วโลก และจะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนใด ๆ ทั้งสิ้น

ในปี พ.ศ.2553 ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมคณะอนุกรรมาธิการการศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรม วุฒิสภาในคณะที่นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์เป็นประธาน และผมได้นำเสนอแนวทางในการพัฒนาคุณธรรมของประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศน์สมัยใหม่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีการให้คะแนนประชาชนตั้งแต่วันที่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อมีอายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ เพราะทราบมาว่าในบัตรประจำตัวประชาชนที่เรียกว่า Smart Card นั้นได้ฝัง Microchip เป็นหน่วยความจำขนาดใหญ่ ซึ่งยังไม่มีการนำมาใช้ไม่ถึงครึ่ง สอดประสานกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ในคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย โดยเรียกระบบนี้ว่า Social Credit

อนึ่งคำว่า Social Credit นั้นเคยมีการใช้กันมาแล้วในเครือจักรภพอังกฤษ อันได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนดา ไอร์แลนด์ และ อังกฤษ โดยการริเริ่มของนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งภายหลังสงครามโลก ครั่งที่หนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในยุคนั้น โดยมีการคำนวณเงินชดเชยแก่ผู้ขายแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม

ในประเทศจีนได้มีการใช้ระบบ Social Credit System เช่นกัน มีทั้งการให้คะแนนความดีและคะแนนความชั่ว ซึ่งจะมีผลต่อประชาชนจีนอยู่ตลอดเวลา เป็นระบบที่เหมาะสมกับประเทศจีน เพราะเป็นสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว โดยถือว่าสิทธิ์ของรัฐย่อมอยู่เหนือสิทธิ์ของประชาชนแต่ละคน และไม่มีความจำเป็นต้องขอเอกสารยินยอมจากประชาชนใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐบาลสามารถบังคับใช้ได้เลย

ท่านอาจารย์จักรธรรม ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯเห็นชอบด้วยเลยในทันที และจัดให้มีการประชุมหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อหาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการนี้ และได้จัดให้มีการประชุมที่อาคารรัฐสภาขึ้นสองครั้ง

ด้วยความเชื่อที่ว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นพื้นฐานและกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ปัญหาสำคัญคือ การที่สังคมสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำความดีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เป็นผู้เยาว์จนตลอดชีวิต

ในปัจจุบันระบบสารสนเทศน์ของโลกได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ Blockchain Technology ซึ่งมีความเสถียรจนไม่สามารถมีผู้ได้เจาะเข้าไปได้ และสามารถแสดงผลให้เห็นได้ในทันที (Real time) การจัดทำระบบการให้คะแนนความดีจึงสมควรที่จะนำมาใช้เป็นมาตรฐาน

เมื่อนำระบบสารสนเทศน์นี้มาประกอบกับระบบ smartcard ซึ่งมีบรรจุอยู่ในบัตรประจำตัวประชาชนและฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนทำความดีมากยิ่งขึ้น โดยมีการบรรจุข้อมูลเป็นลำดับชั้นของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการทำพินัยกรรมชีวิต (Living Will) พินัยกรรม ข้อมูลสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งประเทศ ระบบการให้คะแนนความดีนี้ เมื่อนำมาประกอบเข้ากับทฤษฎีทางจิตวิทยาของ Abraham Maslow ผู้ไปทำงานวิจัยทางจิตวิทยาในรัฐคุชราช (Gujarat) ในประเทศอินเดีย

ต่อมา Abraham Maslow ได้บรรยายถึงความต้องการของมนุษย์ 5 ระดับด้วยกัน ได้แก่

    1) ความต้องการพื้นฐานทางร่างกายอันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
    2) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
    3) ความรักและการเป็นที่ยอมรับของสังคม
    4) ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของตน
    5) การค้นพบตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สูงสุดคือการทำความดีโดยไม่ปรารถนาผลตอบแทน

ระบบ Social Credit System นี้ ใช้ทฤษฎีที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนใฝ่ดีมาแต่กำเนิด แต่ความผิดพลาดกระทำความชั่วร้ายไปนั้นเพราะเกิดจากการประสบการณ์ในวัยเด็ก และการเรียนรู้ที่ได้รับการปลุกฝังที่ไม่ดี เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เรียกว่าทฤษฎีวาย (Y-Theory) ระบบนี้แตกต่างจากระบบที่รัฐบาลจีนใช้ คือใช้ทั้งทฤษฎี X และ Y คือมีทั้งการให้คะแนนความเลวและความดีควบคู่กันไป หากประชาชนคนใดเดินไม่ข้ามถนนบนทางม้าลาย ลักลอบทิ้งขยะในที่ไม่ควรทิ้ง จดรถในที่ห้ามจอด จ่ายภาษีไม่ตรงเวลา ย่อมถูกให้คะแนนความเลว และถูกขึ้นบัญชีดำของราชการโดยไม่รู้ตัว และเมื่อคะแนนความเลวนี้เพิ่มถึงระดับหนึ่งประชาชนคนนั้น ๆ จะถูกตัดสิทธิ์การเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่อาจทำหนังสือเดินทางหรือซื้อตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศได้

หากทำความดีก็ย่อมเป็นการสะสมคะแนนในการขอทุนการศึกษา มีแต้มต่อในการสมัครงานใหม่ หรือรับราชการเป็นต้น แนวความคิดเช่นนี้เกิดจากปรัชญาของเต๋าที่เชื่อว่าในธรรมชาติต้องมีสภาวะที่สร้างสมดุล (หยิง-หยัง) อันเป็นแนวคิดที่ชาวจีนได้รับตกทอดมากจากยุคโบราณ

แต่แนวคิดนี้ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความเชื่อว่า “จิตเดิมแท้มีความประภัสสร” (พุทธภาษิต: ปุพฺพจิตฺตํ ปภสฺสรํฯ ) นั่น คือจิตเดิมแท้มีความงดงามและสว่างไสวในตัวเอง ส่วนกิเลส ตัณหาและความทะยานอยากเป็นสิ่งที่เกิดจากเงื่อนไขทางสังคม และมนุษย์ได้รับการสั่งสมอบรมมาตั้งแต่เกิด พร้อมกับความเชื่อในเรื่อง “กรรม” ของพระพุทธศาสนา ว่า “กรรมดีและกรรมชั่วนั้นย่อมไม่ดับสูญ” ระบบการให้คะแนนความดีนี้จึงเหมาะสมกับสังคมไทย

ระบบการให้คะแนนความดีนี้ในลักษณะนี้ จึงเป็นการตอบแทนคนที่กระทำความดีแก่สังคม โดยที่สังคมเป็นผู้ตอบแทนต่อผู้กระทำกรรมนั้น ในชาตินี้เลย ไม่ต้องรอให้กรรมส่งผลในชาติหน้า โครงการนี้เท่ากับเป็นการปฏิรูปความเชื่อเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ในหมู่ชาวพุทธไปโดยปริยาย

ประเด็นสำคัญของระบบนี้คือการตอบคำถามที่ว่า “อะไรคือความดี?” คำตอบคือ “ความดีเป็นสิ่งที่สังคมกำหนดเงื่อนไขและมีระบบการลงทะเบียน การฝึกอบรม การทำกิจกรรมของประชาชน

การประเมินผล และการยกย่องเชิดเชิดชูเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์ และเมื่อประชาชนได้รับการยกย่องจากสังคมแล้ว ก็จำเป็นต้องเข้ามาสู่การฝึกอบรมอีกรอบหนึ่ง ซึ่งมีโจทย์ที่ยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น เป็นการเริ่มต้นวัฏจักรใหม่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การอบรมนั้นจำเป็นต้องมีหลักสูตรที่พอเหมาะกับเพศ วัย และวุฒิภาวะของผู้เข้ารับการอบรมแต่ละคน ในกรณีที่เป็นผู้เยาว์ ผู้ปกครองต้องลงลายมือชื่อยินยอมให้บุตรหลานของตนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจึงจะชอบธรรม จนกระทั่งผู้เยาว์นั้นบรรลุนิติภาวะ

หลักการสำคัญพื้นฐานคือ คะแนนเหล่านี้ “เงินซื้อไม่ได้” เป็นสิ่งที่ผู้ที่ลงทะเบียนในระบบต้องขวนขวายทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองตั้งแต่ต้น ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมประเภทต่าง ๆ และระบบนี้เป็นระบบที่ไม่มีความอดทนต่อการ “ฉ้อโกง” และทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยถือว่าเป็นระบบ “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”

โดยมีรัฐบาลเป็นผู้เริ่มต้น มีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นเจ้าภาพ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ (พม.) หรือ ศูนย์คุณธรรมในกำกับของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงหมาดไทย หรือกระทรวงดิจิทัลเป็นเศรษฐกิจละสังคม แต่ละกระทรวงมีจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง

แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ การมีประชาชนได้รับการสรรหาเข้าร่วมการบริหารตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุด จึงเป็นการสมควรที่รัฐบาลจะกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบพร้อมกำหนดแผนการประยุกต์ระบบ Social Credit โดยมีโครงการนำร่องในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีการทดสอบระบบ ทางเทคโนโลยีควบคู่ไปกับระบบนวัตกรรมสังคม และควรแบบออกเป็นระยะต่าง ๆ ไม่เกิน 3 ระยะโดยน่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ในปี พ.ศ. 2570

ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องลงทะเบียนในระบบเสียก่อน เมื่อผ่านการลงทะเบียนแล้ว ต้องได้รับการอบรมให้รับทราบถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมและการให้คะแนนความดี เมื่อรับทราบแล้วจึงเป็นขั้นตอนของการทำกิจกรรม ซึ่งต้องมีกรรมการของระบบทำหน้าที่ประเมิน โดยที่กรรมการตั้งแต่สองท่านขึ้นไปจะนำคะแนนเข้าสู่ระบบได้ เมื่อคะแนนได้สะสมมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง จึงเป็นการให้รางวัลเชิดชูเกียรติ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วจึงต้องผ่านการอบรมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพัฒนาศักยภาพ ทักษะและความสามารถด้านต่าง ๆ รวมทั้งความเป็นผู้นำ
กิจกรรมของผู้ลงทะเบียน จะมีความยากและความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ หากเป็นผู้ริเริ่มโครงการใหม่ได้เอง คะแนนย่อมมากขึ้น หากมีสมาชิกร่วมทำโครงการด้วยคะแนนยิ่งมากขึ้น ตั้งแต่อายุ 7 ขวบขึ้นไป เมื่อโครงการนั้นใหญ่มากขึ้น กรรมการผู้ประเมินผลจำเป็นต้องเป็นองค์คณะที่ใหญ่มากยิ่งขึ้น พร้อมกับการมีผู้เชียวชาญเฉพาะทางที่ได้รับการอบรมมาแล้วเข้าร่วมประเมินผล และให้คะแนนออกเป็นเป็นทางการ

สมมุติว่าผู้ที่ลงทะเบียนเป็นพระภิกษุ กิจวัตรประจำวันของท่าน เช่น การบิณฑบาต การทำวัตรเช้า-เย็น การลงปาฏิโมกข์ การเทศน์สอนในวัด กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้คะแนน เพราะเป็นกิจกรรมตามปกติของท่านอยู่แล้ว หากท่านไปเทศน์สอนในเรือนจำเพื่อคืนคนดีให้แก่สังคม กิจกรรมนี้ได้คะแนน หากท่านช่วยระดมจิตอาสาเพิ่มสวัสดิการให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ได้คะแนน เป็นต้น

คะแนนทั้งหมดที่ท่านได้มาไม่สามารถจะแลกเป็นตัวเงินได้ แต่สามารถแลกเป็นสวัสดิการให้กับท่านได้ เป็นต้นว่า ท่านปรารถนาจะศึกษาต่อ ก็จะมีสวัสดิการเป็นทุนการศึกษาให้ หรือกรณีที่โยมมารดาบิดาที่อยู่ต่างจังหวัดป่วยก็จะมีจิตอาสาไปดูแลให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คะแนนเหล่านี้ยังคงอยู่แม้ว่าท่านจะลาสิกขาไปแล้ว ท่านย่อมได้สิทธิพิเศษการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยส.) ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือพักใช้การเสียดอกเบี้ยในระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น

กิจกรรมต่าง ๆ ที่นำมาคิดเป็นคะแนนความดีนั้น จำเป็นต้องมีการประชุมกันของผู้เกี่ยวข้องเสียก่อน มิใช่ว่าเจ้าตัวจะทำกิจกรรมใด ๆ ก็ได้ตามอำเภอใจ เมื่อเกณฑ์ในการทำกิจกรรมชัดเจน ระบบจึงเปิดให้มีการลงทะเบียนและเกิดการอบรม โครงการในแต่ละจังหวัดและแต่ละภูมิภาคของประเทศย่อมแตกต่างกันไป ทหารเกณฑ์ และแม้แต่ผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑะสถานต่าง ๆ ย่อมต้องมีคะแนน เพื่อให้ปรับปรุงพฤติกรรมในการสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม

คะแนนเหล่านี้ย่อมเป็นดัชนีชี้วัดในการเข้าสมัครเรียนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ การสมัครงานเป็นข้าราชการ หรือเป็นพนักงานในบริษัทห้างร้านต่าง ๆ และยังให้ประชาชนพิจารณาในการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น นายกองค์การบริหารตำบล เลือกตั้งผู้ว่า หรือ กรุงเทพมหานคร แม้กระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเพื่อให้ได้คนดีมารับใช้สังคมในที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยก็จะพัฒนา ไม่ใช่เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมอีกต่อไป แต่จะเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบ “คุณธรรมนิยม” และเมื่อนำข้อมูลเชิงประจักษ์เหล่านี้ขึ้นแสดงในเว็บไซต์สำนึกของประชาชาติย่อมจะเกิดขึ้น ประชาชนย่อมสามารถเห็นว่าหมู่บ้านใด ตำบลใด จังหวัดใดมีการทำความดีในโครงการต่าง ๆ บ้าง การซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งย่อมลดลงเป็นเงาตามตัว

จุดอ่อนสำคัญของระบบการให้คะแนนความดีนี้ คือ “การทุจริต” เช่น ไม่ได้ทำกิจกรรมแต่ได้รับคะแนน การทุจริตเช่นนี้จำเป็นต้องมีการสืบสอนและได้รับการลงโทษในทันที อาจเริ่มจากการให้ “ใบเหลือง” ถูกตัดสิทธิ์สองปี หรือ “ใบแดง” ถูกตัดสิทธิ์การได้รับคะแนนตลอดไป ระบบนี้จำเป็นต้องเป็นระบบที่ “ศักดิ์สิทธิ์” และมีเสถียรภาพ มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้อยู่เสมอ ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีพระราชบัญญัติออกมารับรองอย่างชัดเจน