ณัฐเมธี สัยเวช
ที่โถงกลางของแดนหญิงนั้น มีผู้ต้องขังหญิงนั่งเรียงรายอยู่หลายแถว แต่ละแถวจะเป็นแถวคู่ ผู้ต้องขังจะนั่งหันหน้าเข้าหากัน เป็นเช่นนั้นทุกแถว แต่ที่แตกต่างกันก็คือ ขณะที่มีสองแถวคู่กำลังนั่งทำพานพุ่ม แถวคู่ที่เหลือกลับนั่งเฉยๆ
ผมเลือกเดินไปหาผู้ต้องขังแถวคู่ที่นั่งอยู่เฉยๆ…
“นี่ต้องทำยังไงถึงจะได้ทำงานแบบนั้น”
“แล้วแต่เราเลือกค่ะ ตอนที่เค้ามาฝึกอาชีพ ว่าเราจะทำอะไร อย่างอันนี้ก็เป็นกลุ่มงานดอกไม้ พวกนั้นก็เป็นกลุ่มงานพานพุ่ม”
“อ้าว แล้ววันนี้ไม่ต้องทำเหรอ”
“งานเพิ่งจบไปค่ะ”
“ทำแล้วได้เงินมั้ยอะ”
“ได้ปันผล”
“เค้าจ่ายยังไง นานแค่ไหนถึงจ่ายครั้งนึง”
“สองเดือนค่ะ”
“อืม ได้เท่าไหร่”
“เก้าบาทค่ะ”
(ผมเหวอ)
(เธอยิ้ม)
“เก้าบาท…ของที่ขายในสหกรณ์เรือนจำนี่ถูกสุดกี่บาท”
“เจ็ดบาทค่ะ กระดาษทิชชู่”
“นั่นกินไม่ได้นี่!!”
(โอเค อย่างน้อย ในบทสนทนาข้างต้นนั่น คุณจะเห็นว่าผู้ต้องขังพูดจาสุภาพกว่าผมอีก)
ผมเดินสุ่มสอบถามผู้ต้องขังหญิงอีกสามสี่คน แล้วก็ได้ความเพิ่มเติมว่า รายได้หรือปันผลจากการทำงานที่คนภายนอกมาจ้างผู้ต้องขังในเรือนจำให้ทำนั้นจะหลากหลายกันไปตามเกณฑ์ 2 ประเภท คือ 1. เป็นงานอะไร 2. เป็นนักโทษชั้นไหน และนั่นหมายความว่า ต่อให้เป็นงานเดียวกัน นักโทษที่อยู่ในระดับชั้นที่สูงกว่าก็จะได้ปันผลมากกว่า
เอาล่ะ คุณผู้อ่านอาจจะตกใจกับจำนวนปันผลที่น้อยจนซื้ออะไรกินไม่ได้นั่น แต่ผมก็อยากให้เผื่อใจไว้อย่างนี้นะครับว่า ด้วยเวลาอันจำกัด และผมเองก็อาจไม่ได้มีท่าทีที่น่าไว้ใจนัก ข้อมูลที่ได้จากบทสนทนาข้างต้นนั้นก็อาจไม่ใช้ข้อมูลที่ครบถ้วน กล่าวคือ นอกจากในทางที่แย่ที่สุดอย่างจะทำเยอะแค่ไหนก็ได้ 9 บาท ก็ยังอาจเป็นไปได้ในทางตรงข้ามว่าจริงๆ แล้วเขาก็จ่ายตามชิ้นหรือตามปริมาณงาน แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ผมสร้างการสื่อสารที่เอาความมาได้แค่นี้ (นี่ผมคิดเผื่อไว้ในทุกความเป็นไปได้ คิดเผื่อแม้กระทั่งว่าเธออาจจะโกหกผมด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม)
แต่จะอย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะในทางดีหรือทางร้าย อย่างน้อยเราก็ได้เห็นแล้วครับว่า การจ้างงานจากภายนอกเรือนจำนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง และตอนนี้ก็มีอยู่แล้ว
ทีนี้ คุณผู้อ่านหลายท่านก็อาจสงสัยว่า “เมื่อเป็นแบบนั้นแล้วมันทำไมเหรอ?”
การที่มีการจ้างงานจากข้างนอกเข้าไปให้ผู้ต้องขังสามารถทำงานและมีรายได้นั้น เกี่ยวข้องกับแนวทางหนึ่งที่ผมคิดว่าหากเป็นไปได้จริง ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่ผู้ต้องขังพ้นโทษไปแล้วก็ยังกระทำผิดซ้ำจนถูกส่งกลับมาเรือนจำอีกได้
ผมกำลังคิดว่า เป็นไปได้แค่ไหน ที่เราจะหาทางให้ผู้ต้องขังมีงานทำและมีรายได้ที่ “เพียงพอ” สะสมไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่พ้นโทษ โดย 1. รายได้นี้นั้น อาจจะรวมเข้าไปในสิ่งที่ผมขอเรียกง่ายๆ ว่าคือบัญชีเงินฝากของผู้ต้องขัง หรือ 2. แยกต่างหากไว้เป็นเงินออมสะสมเพื่อเป็นทุนรอนในตอนที่พ้นโทษออกไปแล้ว
อธิบายนิดหนึ่งว่า สิ่งที่ผมเรียกว่าบัญชีเงินฝากของผู้ต้องขังนั้นก็เหมือนเราๆ ท่านๆ นี่แหละครับ ผู้ต้องขังที่มีเงินในบัญชีก็สามารถนำเงินนั้นมาใช้จ่ายซื้อของภายในเรือนจำได้ อย่างในกรณีของเรือนจำกลางอุดรธานีนั้น นอกจากร้านสหกรณ์ของเรือนจำแล้ว ทราบว่าผู้คุมก็สามารถนำอาหารจากภายนอกเข้ามาขาย ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ต้องขังที่มีกำลังซื้อ
ทั้งนี้ การซื้อขายเหล่านี้ไม่ได้กระทำด้วยเงินจริงๆ นะครับ ไม่ใช่ผู้ต้องขังถือเงินเดินไปมา แต่จะเป็นเงินอิเล็กทรอกนิกส์ กล่าวคือ เวลาจะซื้อของ ผู้ต้องขังก็เดินไปสแกนนิ้วที่แคชเชียร์ของร้านสงเคราะห์ (ครับ คุณฟังไม่ผิดหรอก ทั้งสแกนนิ้วและแคชเชียร์นั่นแหละ ส่วนร้านสงเคราะห์ก็คือร้านขายของในเรือนจำ) เพื่อหักค่าสินค้าจากเงินที่มีในบัญชีไปเลย โดยเงินในบัญชีนั้นก็มาจากที่ญาติๆ หรือคนภายนอกมาฝากทางเรือนจำไว้ให้แก่ผู้ต้องขังคนนั้นๆ นั่นแหละครับ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ใครที่ญาติๆ หรือผู้มาเยี่ยมจากภายนอกมีกำลังจะสนับสนุนได้ ก็จะมีเงินใช้จ่ายได้พอสมควร สามารถซื้อหาสิ่งต่างๆ ตามความต้องการของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนใครที่ไม่มี ก็คงอุปโภคบริโภคได้เพียงสิ่งต่างๆ ที่ทางเรือนจำจัดไว้ให้
แต่ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือเงินน้อยแค่ไหน อย่างไรเสีย ด้วยกฎของเรือนจำแล้ว ผู้ต้องขังก็ได้รับอนุญาตให้ใช้เงินได้ไม่เกินวันละ 300 บาทเท่านั้น
สำหรับคุณผู้อ่านที่เคยอ่านบทความของผมมาบ้างคงจะพอทราบว่า ผมมีแนวคิดที่อยากให้คุกกลายเป็นที่สุดท้ายที่สุดสำหรับการลงโทษ และควรจะเป็นสถานที่สำหรับการฟื้นฟูศักยภาพให้ผู้กระทำผิดสามารถกลับออกมาดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีหรือมีค่าเทียบเท่าผู้คนทั่วไปในสังคม คุกนั้นควรกักขังแค่เพียงอิสรภาพ แต่ไม่ควรลดทอนศักยภาพที่มนุษย์คนหนึ่งมี และในทางกลับกัน ควรเป็นที่ที่ช่วยฟื้นฟูหรือขับเน้นศักยภาพเหล่านั้นขึ้นมาด้วย
ปรกติ เมื่อรับรู้ว่ามีการกระทำผิดกฎหมายอันรุนแรงพอจะมีโทษเป็นการจำคุกได้ โดยทั่วไปเราก็คงรู้สึกกลัวหรือกระทั่งโกรธเกลียดเคียดแค้น จนอยากให้คนที่ทำแบบนั้นถูกกันออกไปจากสังคมและได้รับการลงโทษที่สาสมใช่ไหมครับ เราคิดว่าคุกจะทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและสาแก่ใจได้ในทางนั้น
ทว่า ในมุมของผมแล้วนั้น การเอาคนเข้าคุกโดยไม่มีการฟื้นฟูศักยภาพใดๆ นั้นมีแต่เสียกับเสียครับ
เอาล่ะ ไหนๆ เราก็น่าจะชินกับการมีความคิดอย่างตาต่อตาฟันต่อฟันในการลงโทษคนที่กระทำผิดมาแล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้การนำเสนอของผมเป็นการหักข้องอกระดูกทางความคิดกับคุณผู้อ่านกันจนเกินไป ผมคิดว่าเราจะมองการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างตาต่อตาฟันต่อฟันต่อไปก็ได้ แต่ที่อยากให้ลองคิดกันใหม่ก็คือ สังคมต้องสูญเสียอะไรไปในการที่ใครคนหนึ่งกระทำผิดร้ายแรงจนต้องติดคุก
ผมเคยลองจินตนาการว่า หากคนที่ผมรักถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งผมก็คงจะต้องโกรธเกลียดเคียดแค้นเป็นอันมากแน่ๆ แต่ผมจะใช้มุมมองอย่างไร เพื่อให้ตัวเองยังรักษาจุดยืนเรื่องที่ว่าควรให้คุกเป็นที่ฟื้นฟูศักยภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้
คำตอบที่ผมพอจะนึกออกก็คือ ในเหตุการณ์สมมติเช่นนั้น ขณะที่ผมสูญเสียคนรักไป สิ่งที่สังคมสูญเสียไปพร้อมกันนั้นก็คือกำลังการผลิตหนึ่งหน่วย คือคนรักของผม ดังนั้น หากเอาคนร้ายในคดีไปเข้าคุกไว้เฉยๆ ในแบบเดิมๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสังคมจะต้องสูญเสียกำลังการผลิตไปสองหน่วย คือทั้งคนรักของผม และคนที่ฆ่าคนรักของผม แถมเราต้องเอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศไปเลี้ยงดูคนที่ฆ่าคนรักของผมอีก โดยอยู่ในรูปของงบประมาณรัฐที่เข้าสู่เรือนจำ
แบบนี้แหละครับ ที่ผมบอกว่า การเอาคนไปไว้ในคุกเฉยๆ โดยไม่ช่วยฟื้นฟูศักยภาพอะไรมันทำให้สังคมมีแต่เสียกับเสีย
ดังนั้น ผมก็เลยคิดว่า จะดีกว่าไหม หากเราจะตาต่อฟันต่อฟันในทางที่ว่า อาชญากรรมที่คนคนหนึ่งก่อนั้นได้นำมาซึ่งการสูญเสียกำลังการผลิตอันมีค่าสำหรับสังคมไป แทนที่เราจะคิดอย่างชีวิตแลกชีวิต เราก็หันมาคิดอย่างกำลังผลิตแลกกำลังการผลิต ด้วยการฟื้นฟูศักยภาพ ฝึกฝนอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งเสริมศักยภาพทางอาชีพตามที่มีอยู่เดิม ให้แก่ผู้ต้องขัง และยิ่งไปกว่านั้น ในเมื่อตอนนี้ก็มีการจ้างงานผู้ต้องขังอยู่แล้ว ผมคิดว่าน่าจะเป็นการดีมากหากสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างจากข้างนอกกับแรงงานที่เป็นผู้ต้องขังไว้ เพื่อจะได้เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้ว ให้สามารถมีลู่ทางในการประกอบอาชีพ
ยิ่งไปกว่านั้น ผมคิดว่าเราควรจะทำให้ค่าจ้างที่ผู้ต้องขังได้รับจากการทำงานต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างเป็นธรรมนะครับ โดยในมุมของผมก็คือไม่ควรต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย หรือยิ่งกว่านั้นก็คือ หากปรกติแล้วจ้างกันข้างนอกสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ มาจ้างกันในเรือนจำนี่ก็ควรจะได้ในอัตราเช่นนั้นด้วย โดยรายได้ในส่วนนี้นั้น จะกลายเป็นเงินในบัญชีใช้จ่ายประจำวันของผู้ต้องขังหรือเป็นบัญชีแยกต่างหากเพื่อเป็นทุนรอนเมื่อตอนที่พ้นโทษออกไปแล้ว
การมีทุนรอนติดตัวออกไปในยามพ้นโทษนั้นสำคัญมากนะครับ เพราะกับผู้ต้องขังหลายรายนี่ เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วก็บ้านแตกสาแหรกขาด ไม่มีที่ให้กลับไป ไม่มีที่ให้ไปต่อ ยิ่งสังคมไม่ให้โอกาส หรือไม่มีทักษะในการประกอบอาชีพ รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงการจ้างงานได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ปลายทางก็มีแต่กลายเป็นคนไร้บ้าน หรือไม่ก็ต้องหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำจนเข้าคุกอีก
อีกส่วนหนึ่งที่เป็นรากฐานแนวคิดนี้ก็คือ โดยปรกติแล้ว ผมไม่คิดว่าคนเราไม่ทำผิดกฎหมายเพราะเป็นคนดีนะครับ แต่เราไม่ทำผิดเพราะการทำผิดนั้นมีต้นทุนที่แพงเกินกว่าเราจะจ่ายไหว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เรามีอะไรหลายอย่างในชีวิตที่กลัวว่าจะต้องสูญเสียไปหากไปทำผิดจนติดคุก เรามีงาน มีการศึกษา มีความสามารถในการที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองหรือกระทั่งคนอื่นรอบตัว มีความฝัน มีมีมี เรามีอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด จนไม่คุ้มที่จะเสี่ยงไปทำอะไรผิดๆ (หรืออีกนับหนึ่งก็คือ แม้จะมีอยู่บ้าง แต่เราก็มีไม่มากพอจะมั่นใจว่าทำผิดยังไงก็ไม่ติดคุก)
ดังนั้น หากมองในทางกลับกันก็คือ กับผู้ที่กระทำผิดที่เป็นคนเล็กคนน้อย ก็อาจหมายความว่าเพราะไม่ว่าจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ ชีวิตของเขาก็ไม่มีอะไรอยู่ดี เพราะฉะนั้น หากเขาเลือกทางผิดไปแล้ว ผมคิดว่าการส่งเสริมศักยภาพให้เขามีทุนทั้งในทางตัวเงิน ทักษะ และทัศนคติ คือทำให้เขากลายเป็นคนที่มีอะไรจะเสีย จึงเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมมากกว่าการเอาไปขังคุกไว้เฉยๆ หรือต่อให้มีงานทำจากในคุก ก็เป็นงานที่ถูกขูดรีดโดยได้รับค่าแรงที่ต่ำจนเก็บมาเป็นความหวังอะไรในชีวิตไม่ได้
ส่วนถ้าใครกังวลว่า หากเป็นแบบนั้นขึ้นมาจริง คนคงแห่กันไปเข้าคุกเพื่อเก็บหอมรอมริบหรือฝึกฝนทักษะการทำงาน ผมว่าอันนั้นไม่ใช่ปัญหาที่เราจะมากังวลกับคุกนะครับ แต่มันน่าจะเป็นปัญหาของบ้านเมืองที่ไม่สามารถทำให้คนมีอาชีพและรายได้เพียงพอจะเลี้ยงปากท้อง จนต้องไปแสวงหาอะไรพวกนี้จากในคุกมากกว่า