ThaiPublica > คอลัมน์ > Swarm เปิดเรื่องจริงติ่งจอมโหด

Swarm เปิดเรื่องจริงติ่งจอมโหด

20 เมษายน 2023


1721955

*คำเตือน: ซีรีส์นี้เต็มไปด้วยความรุนแรง และมีฉากเปลือย

ออริจินัลซีรีส์ช่อง Prime จากฝั่งอเมริกา 7 ตอนจบ ตอนละ 27-39 นาที Swarm ตัวเรื่องจัดอยู่ในแนวตลกร้าย เสียดสี สยอง ระทึกขวัญ จิตวิทยา ที่เปิดฉากมาก็ปาใส่หน้าคนดูว่า “ซีรีส์นี้ไม่ใช่เรื่องสมมติ ความคล้ายคลึงกับบุคคลจริง ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้วในเหตุการณ์จริง ล้วนเป็นความจงใจ” แต่นอกเหนือจากนี้ นี่คือซีรีส์ที่ครีเอ็ท, โปรดิวซ์และกำกับอีพีแรกโดย โดนัลด์ โกลเวอร์ (นักแสดงจาก Magic Mike XXL, The Martian และบทที่ผู้คนจดจำมากที่สุดคือเซียนไพ่นักขนของเถื่อนข้ามกาแล็กซี่ แลนโด คาลริสเซียนวัยหนุ่มในหนัง Solo: A Star Wars Story) เจ้าของนามแฝง Childish Gambino ผู้เป็นเจ้าของเพลงที่มี MV (โดยผู้กำกับชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน ฮิโระ มุราอิ) สุดเหี้ยมเสียดสีประวัติศาสตร์คนผิวสีในอเมริกา อย่าง This is Americaที่โด่งดัง ท้าทายด้วยวิช่วลง่าย ๆ แต่กลับแฝงนัยยะชวนขบคิดที่ฮิตเป็นไวรัล 876 ล้านวิว!

FYI: This is America

ผลงานเพลงในปี 2018 ที่กลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืน สื่อดังต่างถกเถียงกันสนั่นทั้ง Time, The New York Times, CNN, BBC ไปจน The Guardian ฯลฯ ค่าที่มันแฝงนัยยะทางประวัติศาสตร์อเมริกันมากมาย ถึงความรัก(ความแค้น)อันแสนชื่นมื่นระหว่างคนขาวกับคนดำ หนำซ้ำเพลงนี้ยังได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงรักโลกแสนอบอุ่นหลอกหลอนอย่าง We are The World (1985) ที่รวมนักร้องหลากผิวสี เพศ เชื้อชาติ มาโฆษณาชวนเชื่อเรื่องอเมริกันเรารักกันและเรารักโลก(https://youtu.be/Xfm3bH-QgD4)

อิบร้า อาเก้ ผู้กำกับ ช่างภาพ และมือเขียนบทชาวไนจีเรียน-อเมริกัน แห่งซีรีส์ Atlanta และผู้กำกับวิช่วลทั้งหมดให้นักร้องดังอย่าง บียอนเซ่ ในอัลบัม Black is King (2019) เจ้าของรางวัลแกรมมี่ในฐานะโปรดิวเซอร์ MV เพลง This is America (และเป็นผู้กำกับอีพี 4 กับ 5 ให้ซีรีส์ Swarm ด้วย) เคยให้สัมภาษณ์ทางวิทยุว่า “เราอยากเต้นในท่วงท่าแบบนี้ แต่เราต้องตระหนักถึงอันตรายทางการเมือง และการรับรู้ของเรามีนัยยะต่อประวัติศาสตร์ที่คนผิวสีอย่างเราได้รับการปฏิบัติเสมอมา มีการตีความมากมายที่คุณมีเหตุผลของตัวเอง ขณะที่ฝั่งเราพยายามที่จะไม่อธิบายตัวเองว่าเรากำลังจะสื่ออะไร เราเพียงแสดงความดำรงอยู่ ในแบบที่ไม่เซ็นเซอร์เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเรา(คนผิวสี)ดำรงอยู่อย่างไรในฐานะมนุษย์”

“เรากลั่นมันออกมาเป็นความรู้สึก ความรู้สึกที่ดำมืด เป็นความรู้สึกที่รุนแรงมาก แต่เป็นความรู้สึกที่สนุกสนานมากด้วยเช่นกัน หากคุณอยู่ในผับสักแห่งที่มีการยิงปืนกันข้างนอก คุณยังคงต้องออกไปหาอะไรกินหลังจากนั้น และคุณจำเป็นต้องร่วมรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นด้านนอกผับนั้น…การถูกผลักให้เราเป็นพวกชายขอบเป็นการแบ่งแยกผู้บาดเจ็บที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ผมไม่อาจหยุดเป็นคนดำได้ เนื่องจากการบาดเจ็บ และการถูกเลือกปฏิบัติ และผมยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป ก้าวไปข้างหน้า”

Swarm โดยรวมเป็นเรื่องของ เดร (โดมินิค ฟิชแบ็ค จากหนัง Judas and the Black Messiah และซีรีส์ The Deuce) ติ่งแฟนหนึบแน่นตัวแม่ผู้หมกมุ่นกับศิลปินในดวงใจ ไน’จาห์ (ที่มีลุคคล้าย บียอนเซ่) มองเผิน ๆ นี่อาจจะเป็นซีรีส์เกี่ยวกับติ่งแฟนจิตป่วยไล่ฆ่าพวกแอนตี้แฟน (ซึ่งจริง ๆ แล้วเหยื่อหลายรายในเรื่องนี้ไม่ใช่แอนตี้แฟนด้วยซ้ำไป) หรือไม่ก็เกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องป่วยจิต ที่ถูกฉาบหน้าด้วยเรื่องดราม่าจากในเน็ต เต็มไปด้วยพวกโง่เง่ากลวงโบ๋

แต่จริง ๆ แล้ว เดร จะพาคนดูค่อย ๆ ไปรู้เห็นพัฒนาการของตัวเธอเอง ผ่านเหตุการณ์วายป่วงต่าง ๆ ที่สำหรับบางคนอาจจะขำกลิ้งเอาเป็นเอาตาย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงนัยยะทางสีผิว เพศสภาพ ชนชั้น อาชีพ สถานภาพ หรือในเชิงอำนาจ ระหว่างเดรกับตัวละครแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ฆาตกรผิวสีที่มีความลื่นไหลทางเพศ, แฟนหนุ่มขี้เอาของเพื่อนสนิท, แก๊งสาวโชว์รูดเสา, กลุ่มนัดเยเซ็กซ์หมู่, คนดังบนโลกโซเชียลหัวอนุรักษ์คนดีรักชาติชังคนดำที่วัน ๆ เอาแต่หาเรื่องเกาะกระแสดราม่า, กลุ่มลัทธิเพื่อนหญิงพลังหญิงคนขาวรักสุขภาพธรรมชาติบำบัด, ตำรวจคนขาวเป้าแน่นขี้หลี, เกย์หนุ่มผู้อารี, ไฮโซสมาชิกคลับหรู, ตำรวจหญิงขี้สงสัยและโยงเก่ง ฯลฯ

แต่สำหรับคนดูบางกลุ่มอาจจะเกาหัวแกรกอิหยังวะกับซีรีส์เรื่องนี้ ที่บางฉากก็โหดชวนสะอิดสะเอียนเกินทน และอาจพาลหงุดหงิดกับพฤติกรรมที่ดูไร้เหตุผลของตัวละคร อย่างการที่ตัวละครหนึ่งตัดสินใจฆ่าคนเพราะหมายจะชิงบัตรคอนเสิร์ต หรือหลังจากฆ่าแฟนสาวแล้วเขาก็ไปดูคอนเสิร์ตราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฯลฯ เป็นซีรีส์เสียงแตกที่คนชอบก็จะสะใจมาก คนเกลียดก็จะยี้ยับไปเลย แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แหละ คือสาระของซีรีส์เรื่องนี้ที่เล่าสนุก สาละวนหมกมุ่นอยู่กับสิ่งอันไม่เป็นสาระ…เพื่อตีแผ่ด้านมืดของมนุษย์ที่กระทำต่อกันทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะอันที่จริงมนุษย์ก็ไม่ได้มีเหตุมีผลมากนักหรอก

แล้วสิ่งที่ทำให้วิธีการเล่าเรื่องเป็นเช่นนี้ เพราะซีรีส์ตั้งต้นด้วยอีพีนำร่อง ก่อนจะค่อย ๆ ผูกเรื่องอีพีต่อ ๆ มาจากเรื่องราวในอีพีแรก โดยใช้เหตุการณ์ วันเวลา และสถานที่จริง ผสมเข้าไปในแต่ละอีพี ดังนั้นสิ่งที่คาใจคนดูคือ ตกลงแล้วซีรีส์เรื่องนี้มันมาจากเรื่องจริงทั้งหมดไหม เพราะมันโหดจนบางทีเหมือนจะเกินจริง ขณะที่ตัวซีรีส์จั่วหัวแต่แรกว่า “ไม่ใช่เรื่องสมมติ” เพราะอันที่จริงมันอิงบางส่วนจากเรื่องจริง

คำตอบคือ ทั้งจริงและไม่จริง ที่ว่าจริงเพราะเป็นการหยิบรวมรวมพาดหัวข่าวจริง มาผูกโยงบนพล็อตเรื่องที่ไม่จริง จานีน เนเบอร์ อีกหนึ่งครีเอเตอร์และโปรดิวเซอร์ร่วม เปิดเผยว่า “ตอนนำร่องของซีรีส์นี้สร้างจากเหตุการณ์จริงที่ว่อนอยู่ตามเน็ต เราเริ่มจากตรงนั้นแล้วต่อยอดจากเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐช่วงราวปี 2016-2018”

ในช่วงสนทนาหลังฉายเปิดตัวในเทศกาลเซาธ์บายเซาธ์เวสต์ (SXSW) โดนัลด์ โกลเวอร์ เล่าว่า “ในเดือนเมษายน 2016 ตอนที่บิยอนเซ่ปล่อยอัลบัม Lemonade มีข่าวลือว่อนเน็ตว่ามีหญิงสาวชื่อ มาริสซ่า แจ็คสัน ฆ่าตัวตายหลังจากรู้ข่าวว่าบิยอนเซ่ถูก เจย์-ซี แฟนหนุ่มนอกใจ ไม่มีใครรู้ว่านี่เป็นเหตุการณ์จริงหรือเปล่า แต่หลังจากนั้นสองวันทวิตต้นเรื่องก็ถูกลบออกไป” จานีน เนเบอร์ส เสริมว่า “พอโดนัลด์ เสนอแนวคิดนี้เกี่ยวกับหญิงผิวสีผู้คลั่งใคล้ป๊อปสตาร์ ฉันก็นึกออกเลยว่าตอนนำร่องของซีรีส์นี้จะมีเรื่องราวยังไง เราเริ่มจากตรงนั้น และอันที่จริงเหตุการณ์ฆาตกรรมในเรื่องนี้ ยกเว้นอีพี 4 อิงมาจากเรื่องจริงทั้งหมด เพียงแต่บางเรื่องเป็นคดีฆาตกรรมที่ไม่เป็นข่าวดัง บางเรื่องก็เป็นเพียงข่าวลือ”

จากนางตัวต้นเรื่อง บียอนเซ่ นั่นคือเหตุผลว่าซีรีส์เรื่องนี้ทำไมคนดูจึงจะได้ยินเสียงหึ่ง ๆ เหมือนฝูงผึ้งบินอยู่ทุกอีพี แถมติ่งแฟน ไน’จาห์ ในเรื่อง ยังใช้ชื่อแฟนด้อมว่า Swarm Hive แบบเดียวกับด้อมของบียอนเซ่ที่ก็เรียกตัวเองว่า Hive เหมือนกัน เพราะบิยอนเซ่ มีฉายาตั้งแต่สมัยอยู่วง Destiny’s Child แล้วว่า Queen Bey / Queen B ที่มาจากอักษร B ตัวแรกในชื่อของเธออันพ้องเสียงกับคำว่า Bee ที่แปลว่า “ผึ้ง” นั่นเอง เราจึงจะได้ยินคำว่านางพญาผึ้ง (Queen bee) ในซีรีส์นี้อยู่บ่อยครั้ง

อีพี 5 ตอน Girl, Bye เป็นตอนที่เขียนบทร่วมกันระหว่าง จานีน เนเบอร์ส กับ นามปากกว่า “มาเลีย แอนน์” และอันที่จริงเจ้าของนางปากกานี้คือ มาเลีย โอบาม่า ลูกสาวคนโตของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บารัค โอบาม่า ซึ่งเข้ามาชิมลางอาชีพเขียนบทเป็นครั้งแรก
ส่วนตัวผู้เขียนชอบอีพี 4 ตอน Running Scared เป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะเขียนบทและกำกับโดย อิบร้า อาเก้ โปรดิวเซอร์ของ MV เพลง This is America แล้ว ยังร่วมเขียนบทโดย สตีเฟ่น โกลเว่อร์ น้องชายแท้ ๆ ของโดนัลด์อีกด้วย ซึ่งสตีเฟ่นยังร่วมเขียนทบในอีพี 6 ตอน Fallin’ Through the Cracks ที่มีกลวิธีเล่าเรื่องเสียดสีสารคดีทางช่องทีวี อันเป็นอีพีที่โดดเด่นแตกต่างที่สุดในซีรีส์นี้

บิลลี่ ไอลิช (รูปซ้าย) ปารีส แจ็คสัน (รูปขวา)

ในอีพี 2 ตอน Honey หนึ่งในนักแสดงเปลื้องผ้าผู้มีดราม่ากับแฟนหนุ่มอยู่ตลอดเวลา เธอเป็นคนขาวที่บอกตัวเองว่าเป็นคนดำ เพราะเป็นลูกเสี้ยวคนดำ นักแสดงในบทนี้คือ ปารีส แจ็คสัน ลูกสาวแท้ ๆ ของอดีตราชาเพลงป๊อปผู้ล่วงลับ ไมเคิล แจ็คสัน กับ เด็บบี้ โรว์ รวมถึงอีพี 4 ยังได้นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังบิลลี ไอลิช มารับบทที่คนดูจะคาดไม่ถึงและตื่นตะลึงอย่างยิ่งกับจุดจบของตัวละครนี้

ซึ่งตัวละครของ บิลี่ ไอลิช ได้แรงบันดาลใจมากจากลัทธิ NXIVM จานีน ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร โรลลิง สโตน ว่า “ลัทธิ NXIVM มีอยู่จริงในนิวยอร์ก เพียงแต่ตัวเจ้าลัทธิเป็นชายชื่อ คีธ รานิแอร์ร ที่มาในนามไลฟ์โค้ชแต่แท้จริงแล้วเป็นนักต้มตุ๋นลวงโลกหลอกฟันหญิง ที่ฉากหน้าเน้นการพัฒนาตนเองและจัดสัมนาหาเงินเข้ากระเป๋า เป็นลัทธิที่เปิดตัวในปี 1998 ตอนช่วงพีคสุด ๆ พวกเขามีสมาชิก 700 คน หลายคนในนั้นเป็นคนดังไม่ก็เศรษฐี แต่แล้ว คีธ หัวหน้าลัทธินี้ก็ถูกจับกุมในปี 2018 ด้วยข้อหาค้าประเวณีก่อนจะถูกตัดสินจำคุก 120 ปี”
ใน Swarm มีฉากที่ไน’จาห์ถูกกัด เรื่องนี้มาจากเรื่องเล่าของ ทิฟฟานี แฮดดิช นักแสดงตลกที่เคยให้สัมภาษณ์กับ GQ ในปี 2018 ว่าบียอนเซ่เคยถูกนักแสดงหญิงคนหนึ่งกัดในงานปาร์ตี้โดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดแฮชแท็กว่า #ใครกัดบียอนเซ่ ซึ่งในที่สุดหลายแหล่งฟันธงว่าคนที่กัดบียอนเซ่ คือ นักแสดงผิวสีนามว่า ซาน่า ลาธาน อย่างไรก็ตามต่อมา ลาธานออกมาปฏิเสธข่าวผ่านนิตยสาร Health ในปีเดียวกันนั้นว่า “ฉันไม่มีวันจะทำอันตรายบียอนเซ่เด็ดขาด

ส่วนใครที่คาดหวังว่าซีรีส์นี้จะมีซีซั่นต่อไป เจนีน ยืนยันแล้วว่าเรื่องทั้งหมดจบลงเพียงเท่านี้แล้ว และซีรีส์นี้จะไม่มีซีซั่นสอง ใน Swarm ตัวละครหนึ่งกล่าวว่า “เหตุผลที่คุณอยากรู้เรื่องเศร้าของเดร ก็เพื่อปลดเปลื้องความผิดให้ตัวคุณเอง คุณอยากให้มันมีเหตุผลว่าทำไมหนอเด็กคนนี้ถึงมีปัญหานักหนา คุณจะได้ไม่ต้องกลับไปดูปัญหาของตัวคุณเอง เพื่อจะพบว่าตัวคุณเองก็มีจุดบกพร่องไม่ต่างกัน” ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าประโยคนี้คือหัวใจของเรื่องนี้ที่สื่อสารกับคนดูอย่างตรงไปตรงมาที่สุดแล้วในเรื่องนี้

ส่วนถ้าใครคิดว่า Swarm ดูไร้สาระเกินจริงถ้าจะบอกว่าผู้คนสามารถฆ่ากันได้เพียงเพราะคนเราชอบไม่เหมือนกัน แต่เชื่อเหอะว่าเรื่องไร้สาระแบบนี้เคยเกิดขึ้นจริง ครั้งแล้วครั้งเล่า

ป้ายคำ :