1721955
ในแวดวงนิยายวิทยาศาสตร์ระดับขึ้นหิ้ง มีนักเขียนอยู่ 4 คนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์แนวนี้ คือ จูลส์ เวิร์น (1828-1905 Journey to the Center of the Earth, Twenty Thousand Leagues Under the Seas, Around the World in Eighty Days), เอช. จี. เวลลส์ (1866-1946 The Time Machine, The Invisible Man, The War of the Worlds) , อาเธอร์ ซี. คลาร์ก (1917-2008 2001: A Space Odyssey) และ ไอแซค อาสิมอฟ (1920-1992 The Bicentennial Man, I, Robot, Nightfall) ที่ไม่เพียงแต่วางรากฐานแนวไซ-ไฟได้อย่างน่าเชื่อถือ มีความเป็นไปได้ ยังให้ภาพสังคมโลกอนาคตอันเป็นต้นตอของหนังไซ-ไฟมากมายในยุคนี้ด้วย
แต่ใช่ว่านิยายขายดีขึ้นหิ้งของบรรดานักเขียนชื่อก้องเหล่านี้จะถูกดัดแปลงเป็นหนังหรือซีรีส์ได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะปัญหาเทคนิคเอฟเฟคทางด้านภาพใดใด ที่จะทำให้โลกอนาคตดูสมจริง หรือโครงเรื่องอันซับซ้อนที่ปรับแปลงไปตามยุคสมัย และหนึ่งในบรรดานิยายเหล่านั้นคือ Foundation (2021, Apple TV+) ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ ไอแซค อาสิมอฟ
ปี1998 ค่ายหนังนิวไลน์ซีนีม่า จ่ายไป 1.5 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการดัดแปลงภาพยนตร์ไตรภาค แต่โปรเจ็คต์มีอันล่มลงเนื่องจากค่ายหันไปสนใจลงทุนไตรภาค The Lord of the Rings แทน ภายหลังในปีเดียวกันนั้นค่ายย่อยของนิวไลน์ ในนาม ยูนีค พิคเจอร์ส ประกาศจะทำเรื่องนี้ป้อนให้ค่ายวอร์เนอร์ แต่แล้วค่ายโคลัมเบีย (โซนี่) ก็เข้ามาชิงคว้าสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายในปี 2009 และทำสัญญากับ โรแลนด์ เอ็มเมอร์ริช (Independence Day, The Day After Tomorrow) มานั่งแท่นโปรดิวซ์และกำกับ แต่ก็มีอันพับโครงการไปอีกจนกระทั่งสิทธิ์ตกมาอยู่ในมือของ เอชบีโอ ในปี 2014
เป็นอันว่าด้วยเนื้อหาอันยุ่บยั่บ หนังไตรภาคไม่น่าจะเก็บความได้ครบ จึงมีวี่แววทำเป็นซีรีส์ทีวี ซึ่ง โจนาธาน โนแลน (น้องชายของ คริสโตเฟอร์ โนแลน และมือเขียนบทประจำให้พี่ชาย) มารับหน้าที่โปรดิวซ์และเขียนบท แต่ที่สุดโนแลนก็หันหลังให้กับโปรเจ็คต์นี้อีกคน เพื่อไปทำ Westworld ป้อนให้ เอชบีโอ แทน กระทั่งล่วงเลยไปปี 2018 Apple TV+ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากบริษัทยักษ์ใหญ่แต่ยังมือใหม่ในสนามนี้ และยังไม่มีคอนเทนต์ปัง ๆ ในมือเหมือนเจ้าอื่น ๆ ก็คว้าโปรเจ็คต์นี้มาได้ โดยจะมีทั้งหมด 10 ตอน แต่เพราะความหินของโปรเจ็คต์นี้ ทั้งซีซั่นแรกนี้จึงได้คนเขียนบทมือเฉียบมาช่วยกันถึง 10 คน จากซีรีส์ฮิตอย่าง American Gods, Weeds, Deadwood, Sleepy Hollow, Helix, Alcatraz, The Chi , Maid, The Americans, Krypton, Da Vinci’s Demons, Constantine และหนัง Batman Begins, The Dark Knight Rises กับ Man of Steel
70 ปี จากหน้าหนังสือสู่จอสตรีมมิ่ง
แต่นิยายไตรภาคแรกนี้ตีพิมพ์รวมเล่มในปี 1951 นั่นแปลว่ากว่ามันจะปรากฏออกมาเป็นภาพให้ผู้คนได้ดูกัน ต้องใช้เวลามากกว่า 70 ปี!
Foundation ครั้งแรกตีพิมพ์เป็นเรื่องสั้น 8 ตอนในนิตยสาร Analog Science Fiction and Fact ตั้งแต่ปี 1942-1944 อันคือตอนที่ 2-8 ในฉบับไตรภาคแรก แต่เพื่อจะโยงภาพรวมของจักรวาลนี้เข้าด้วยกัน ทางบรรณาธิการหนังสือจึงเสนอให้ อาสิมอฟ เขียนตอนที่ 1 เพิ่มเพื่ออธิบายจักรวาล Foundation ไตรภาคแรกนี้มีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยโดย บรรยงก์ (นามปากกาของ ประจักษ์ พันธุบรรยงก์) ซึ่งมี 3 เล่ม คือ Foundation สถาบันสถาปนา (1951), เล่ม 2 Foundation and Empire สถาบันสถาปนา และจักรวรรดิ (1952), เล่ม 3 Second Foundation สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง (1953)
หลังจากนั้นอาสิมอฟก็หันไปเขียนหนังสือชุด Robot ในช่วง 1954-1985 ก่อนที่จะกลับมาสานต่อ Foundation อีกครั้ง ในเล่ม 4-5 คือ Foundation’s Edge (1982) กับ Foundation and Earth (1986) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจาก 3 เล่มแรก และค้างเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ในราวปีที่ 400 (จากพล็อตหลักที่วางไว้พันปี) ในช่วงเล่ม 5 นี้เอง มีตัวละครใหม่เป็นหุ่นยนต์ชื่อ ดานีล โอลิวาฟ อันเป็นตัวละครหลักจากหนังสือชุด Robot เท่ากับว่าอาสิมอฟได้ผนึก 2 จักรวาลเข้ามาเป็นเรื่องราวเดียวกัน ซึ่งเป็นจุดเฉลยว่าทำไมในฉบับหนังสือช่วง 400 ปีแรก ไม่มีตัวละครที่เป็นหุ่นยนต์เลย
แต่แทนที่อาสิมอฟจะเขียนเรื่องต่อจาก 400 ปีแรก หลังจากนั้นเขากลับย้อนไปเล่า อีก 2 เล่ม อันเป็นเหตุการณ์ก่อนเรื่องทั้งหมดจะเกิดขึ้นในเล่ม 6-7 Prelude to Foundation (1988) กับ Forward the Foundation (1993) อันเป็นเล่มสุดท้ายที่อาสิมอฟเขียนขึ้นก่อนเขาจะเสียชีวิตในปี 1992
จากนั้นอีกหลายปีผู้แทนมรดกของอาสิมอฟจึงได้แต่งตั้งนักเขียนแนวไซ-ไฟคลื่นลูกใหม่ 3 คน เข้ามาช่วยสานต่อจักรวาล Foundation ที่ยังค้างเติ่งอยู่อีก 3 เล่ม เพื่อให้เหตุการณ์ครบหนึ่งพันปีตามที่เรื่องวางไว้แต่แรก นั่นคือ Foundation’s Fear (1997) โดย เกรกอรี เบนฟอร์ด, Foundation and Chaos (1998) โดย เกรก แบร์ และ Foundation’s Triump (1999) โดย เดวิด บริน
จากซีรีส์หนังสืออย่างเป็นทางการ 10 เล่มที่ว่ามานี้ ยังมีหนังสืออีก 2 ชุดที่คาบเกี่ยวกับจักรวาล Foundation ของอาสิมอฟ แต่เขียนโดยคนอื่น คือ Foundation’s Friends (1989) ที่เขียนโดยนักเขียนไซ-ไฟดาวรุ่งเพื่อนพ้องน้องพี่ทั้งหลายกว่า 22 คน หนึ่งในนั้นคือ ออร์สัน สก็อตต์ การ์ด ผู้เขียน Ender’s Game และ เจเน็ต อาสิมอฟ ภรรยาของอาสิมอฟเอง
คุณูปการไตรภาคของอาสิมอฟนี้ ภายหลังยังมีนักเขียนรุ่นใหม่ ๆ มาเล่าต่อ ๆ กันอีกหลายเล่ม อาทิ นิยายไตรภาค Isaac Asimov’s Caliban (1993) ของ โรเจอร์ อัลเลน ที่เล่าเหตุการณ์คาบเกี่ยวระหว่างจักรวาล Foundation กับ จักรวาล Robot / นิยายชุด Mirage (2000), Chimera (2001), and Aurora (2002) ของ มาร์ค ดับบลิว. ไทเดอมันน์ เล่าเหตุการณ์ก่อนจักรวาล Robot กับ Empire จะมาเจอกัน / นิยาย Have Robot, Will Travel (2004) ของ อล็กซานเดอร์ ซี. เออร์วิน เล่าเหตุการณ์ 5 ปีต่อจากของ ไทเดอมันน์ / และนิยาย Psychohistorical Crisis (2001) ของ โดนัลด์ คิงส์บูรี เล่าช่วงที่ Foundation สร้างจักรวรรดิที่สอง เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างนิยายกับซีรีส์
ก่อนจะเล่าว่า 2 เวอร์ชั่นนี้แตกต่างกันอย่างไร คงต้องรู้ก่อนว่าภาพรวมอย่างย่อ ๆ ของ Foundation คือ กาอัล ดอร์นิค ไขปริศนาทางคณิตศาสตร์อันซับซ้อนที่ทั่วทั้งจักรวาลยังไม่มีใครแก้ไขได้ จึงถูกเชิญตัวให้เดินทางมายังดาวทรานทอร์ อันเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิกาแล็คติก เพื่อเข้าพบฮาริ เซลด็อน ผู้ทำนายว่าจักรวรรดิอันมีอารยธรรมมาอย่างยาวนานกว่า 12,000 ปี กำลังจะล่มสลายหายวับไปตลอดกาลในช่วง 500 ปีนับจากนี้ ความกังวลนี้ถึงหูจักรพรรดิแห่งกาแล็คซี ทีแรกเขากะจะประหารฮาริ แต่สุดท้ายเมื่อ ฮาริ เสนอว่า เขาสามารถช่วยให้อารยธรรมนี้ยังอยู่รอดได้ แต่ต้องเข้าสู่ยุคมืดนานถึงหนึ่งพันปี ด้วยโครงการที่เรียกว่า Foundation หรือการทำฐานข้อมูลเอ็นไซโคพีเดียสำหรับทุกวิทยาการในกาแล็คซีแห่งนี้ ทำให้จักรพรรดิยอมตกลงลงทุนกับโปรเจ็คต์ยักษ์ใหญ่และเนิ่นนานนี้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องไปทำกันที่ดาวเทอร์มินัสสุดขอบจักรวาล
นัยว่าจักรพรรดิเองก็กังวลว่าคำทำนายนี้จะเป็นบ่อเกิดให้ผู้เห็นต่างลุกฮือขึ้นมาล้มล้างจักรวรรดิ์ จึงให้คนกลุ่มนี้ไปตั้งอาณานิคมอันไกลโพ้น สุดท้าย กาอัล และประชากรบนทรานทอร์หลายหมื่นคนที่ศรัทธาใน ฮาริ จึงออกเดินทางร่วมกันไปเก็บฐานข้อมูลยังดาวขอบจักรวาล
ฉบับซีรีส์ไม่ใช่ Foundation ในนิยาย
ต้องย้อนกลับไปก่อนว่า ฉบับนิยายเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1942 อันเป็นช่วงสมัยปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะจบลงในยุคสงครามเย็น เมื่อตัวอาสิมอฟผู้เขียนเสียชีวิตลงในปี 1992 (และเล่มสุดท้าย Forward the Foundation ตีพิมพ์ในปี1993) ในนิยายจึงพบว่าจงใจเน้นฉากสนทนาช่วงไต่สวนค่อนข้างยาว ไม่ว่าจะไต่สวน ฮาริ หรือ กาอัล ที่ในนิยายอธิบายว่า ‘เขาต้องตอบคำถามเหล่านี้ทบไปทวนมาหลายต่อหลายเที่ยว พวกนั้นก็เพียรซักเขาเกี่ยวกับเหตุผลที่เข้าร่วมงานกับแผนการของเซลด็อน’ ซึ่งไม่ต่างกับการซักเชลยสงคราม หรือพวกลัทธิความเชื่อที่ต่างกันอย่างสายลับ CIA ของอเมริกา หรือ SOE ของอังกฤษ หรือ SVR ของรัสเซีย
แต่นี่คือ Foundation สำหรับผู้ชมยุคหลัง 9/11
ตัวละคร กาอัล ดอร์นิค ในนิยายถูกอธิบายว่า ‘เป็นดร.ทางคณิตศาสตร์หนุ่มบ้านนอกจากดาวซินแนกซ์’ ขณะที่ในซีรีส์ได้ปรับให้ตัวละครนี้เป็น ‘เด็กผู้หญิงชนพื้นเมืองจากดาวซินแนกซ์ชายขอบจักรวาล’ แสดงโดย ลู ลอเบลล์ (นักแสดงผิวคล้ำเชื้อสายสเปน-ซิมบับเว) ที่จงใจให้ความรู้สึกเหมือน มาลาล่า ยูซัฟไซ (เด็กสาวชาวปากีสถานเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพโลก)
ไม่เท่านั้นในซีรีส์มีตั้งแต่ตัวละครผิวสีอย่าง ซัลเวอร์ ฮาร์ดิน (ลีห์ ฮาร์วีย์ นักแสดงชาวอังกฤษ) หรือตัวละครที่มีหน้าตาอย่างพวกก่อการร้ายตาลีบัน ไอเอส หรืออัลไคดา อย่างฟารา (คับบรา เสท นักแสดงชาวอินเดีย) โดยแบ็คกราวด์ของตัวฟารานี้ยังถูกเล่าอีกว่า ในวันที่จักรพรรดิกำลังสอบสวน ฮาริ มีทูตจากดาวพื้นเมืองชายขอบจักรวาล 2 ชนเผ่าที่เป็นศัตรูกันและโกรธแค้นกันและกัน โดยจักวรรดิเองเป็นผู้ปลุกปั่นเสี้ยมให้ทั้งคู่แตกแยกกัน และรีดภาษีจากทั้ง 2 เผ่า ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันนั้นเองก็เกิดวินาศกรรมที่ในฉบับนิยายไม่มี แต่ในซีรีส์จงใจให้คนดูนึกไปถึงเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 แถมผู้ก่อการยังใช้ภาษาของเผ่าพื้นเมือง แม้ว่าจะไม่รู้ว่าคนร้ายตัวจริงคือใคร แต่จักรพรรดิ์ ก็ตัดสินใจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดาวพื้นเมืองชายขอบจักรวาลนี้ทั้ง 2 ดาว ส่งผลให้ตัวละครฟารา กลายเป็นหนึ่งใน 20% ของดาวนี้ที่เหลือรอดชีวิตมาได้ ทั้งยังเติบโตมาด้วยความคลั่งแค้นต่อจักรวรรดิ์การแลคติก (แถมในฉากเหล่านี้เรายังได้เห็นการแขวนคอประจานที่คล้ายพวก KKK แขวนคอคนผิวสี หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยการยิงถล่มดาวทั้งดวง ก็นึกไปถึงสมัยอเมริกาถล่มนิวเคลียร์ลงจักรวรรดิญี่ปุ่น)
Foundation หรือ Star Wars ใครก๊อปใคร?
แม้ตัวซีรีส์จะกวาดคำชมไปอย่างล้นหลาม จนค่ายประกาศกร้าวเมื่อปลายตุลาที่ผ่านมาว่าจะมีซีซั่นต่อไปอย่างแน่นอน เว็บ Gizmodo สำหรับพวกเนิร์ดไซ-ไฟกลับออกมาจวกว่า “นี่มันนิยาย Foundation นะ ไม่ใช่หนัง Star Wars อย่างน้อยมันไม่ควรจะออกมาหน้าตาแบบนี้ ในนิยายไม่มีการเชิดชูฮีโร่ ไม่มีผู้ร้าย ไม่มีดาบเลเซอร์ ไม่มีสัตว์ประหลาดต่างดาว และอย่างน้อยก็ไม่ควรมีฉากบู๊ หรือฉากผจญภัยอย่างใน Star Wars เพราะ Foundation เป็นนิยายเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ช่วงเวลาหนึ่งพันปีในการพยายามรักษาและรื้อสร้างอารยธรรมขึ้นมาใหม่หลังจากการล่มสลาย นี่คือสาเหตุที่ทำไม Foundation ถึงมีอันต้องพับโครงการอยู่เรื่อย ๆ เพราะมันเป็นนิยายที่ถ่ายทำออกมาเป็นหนังไม่ได้”
แต่แฟนซีรีส์หลายคนกลับส่ายหัวไม่เห็นด้วย เพราะอันที่จริงแล้ว Foundation คือรากฐานของหนังไซ-ไฟในโลกปัจจุบัน ซึ่งรวมถึง Star Wars ด้วย
Star Wars ถือกำเนิดในปี 1977 หลังจาก Foundation ฉบับเรื่องสั้นนานถึง 35 ปี เดวิด โกเยอร์ โชว์รันเนอร์ของซีรีส์นี้กล่าวว่า “Foundation คือแรงบันดาลใจใหญ่ยักษ์สำหรับ Star Wars เพราะ Foundation คือนิยายวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และเล่าเรื่องครอบคลุมแผ่กิ่งก้านออกไปกว่าหมื่นปี แน่นอนว่าทั้งคู่เล่าเรื่องไม่เหมือนกัน แต่ทั้งคู่เกี่ยวกับ จักรวรรดิ์กาแลคติก อันมีการปกครองกาแลคซีแบบระบอบจักรพรรดิ์ หรือที่เหมือนกันอีกอย่างก็พวก เจได เห็นได้ชัดว่าตามอย่างกลุ่มบุกเบิกที่ยึดถือแนวทางของ ฮาริ เหมือนเป็นศาสดา และต้องไม่ลืมว่า อาสิมอฟเขียนเรื่องตรงกลางขึ้นมาก่อนจะไปย้อนเล่าเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ และหลังจากนั้น อันเป็นวิธีเดียวกับที่จอร์จ ลูคัส ทำในหนัง” ขณะที่ในสังคมเว็บ Quara ก็ออกมาเห็นด้วยว่าภาพของเมือง คอรัสซังต์ใน Star Wars แทบจะหยิบทุกรูปแบบมาจากเมือง ทรานทอร์ ในนิยาย Foundation
รวมถึงในโซเชียลเว็บ scifi.stackexchange ก็มีความเห็นหนึ่งบอกว่า “จริง ๆ แล้วครั้งหนึ่ง อาสิมอฟ เองก็เคยตัดพ้อกรณีที่ ลูคัส ไม่เคยให้เครดิต อาสิมอฟเลย ในหนังสือ The Tyrannosaurus Prescription (1989) ของอาสิมอฟเองว่า ‘ผมสร้างรูปแบบจักรวรรดิกาแล็คติก อันเป็นรูปแบบที่เชื่อว่าผู้อ่านน่าจะเดาได้ว่ามันยึดโยงกับ จักรวรรดิโรมัน แล้วนับแต่นั้นก็มีนักเขียนแนวไซ-ไฟอีกหลายเรื่องที่เดินตามแฟชั่นต่าง ๆ ของอาณาจักรนั้น ในแบบของตัวเอง และในข้อเท็จจริงตั้งแต่ช่วงยุค 70s จักรวรรดิ์กาแล็คติกก็กลายเป็นหนังซูเปอร์ฮิตอย่าง Star Wars ซึ่งไม่ว่าจะมองมุมไหนก็เห็นว่าหลายสิ่งหยิบโยงมาจาก Foundation แต่ผมไม่ได้รังเกียจอะไร เพราะการลอกเลียนแบบเป็นการเยินยอที่จริงใจที่สุดแล้ว เพราะอันที่จริงผมก็ลอกเลียนแบบ เอ็ดเวิร์ด กิบบอน (17-37-1794 นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประเด็นความรุ่งเรืองและล่มสลายของจักรวรรดิ์โรมัน) ดังนั้นผมจึงไม่เคยโต้แย้งเลยเมื่อมีคนเลียนแบบผลงานของผม’
Foundation ฉบับอัพเกรด
แม้จะมีโวยจากหลายฝ่ายถึงการเปลี่ยนแปลงหลายตัวละคร อย่างที่เกริ่นไปว่า ตัวละครหลักอย่าง กาอัล เดิมทีเป็นเพศชาย แต่การอัพเกรดเปลี่ยนเพศก็ส่งผลต่อการดำเนินเรื่องในฉบับซีรีส์ให้ลื่นไหลและรวบรัดได้ใน 10 ตอน ไม่แค่นั้นยังเข้ายุคเข้าสมัยในเวลานี้ที่หลายฝ่ายเรียกหาความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะ เชื้อชาติ ผิวพรรณ หรือเพศกำเนิด ว่าแต่ยังมีอะไรอีกที่ถูกอัพเกรดขึ้นมาในฉบับซีรีส์
จักรพรรดิโคลนนิ่ง
อย่างที่รู้กันว่าบรรดากษัตริย์ราชวงศ์ทั้งหลาย คลั่งในเรื่องการรักษาสายเลือดขัตติยาน้ำเงินแท้ของตนอย่างมาก แม้ในองค์ความรู้ปัจจุบันเรารู้กันแล้วว่าการสืบทอดสายเลือดญาติพี่น้องใกล้เคียงกันจะส่งผลต่อความผิดพลาดทางพันธุกรรม แต่ในอดีตนั้นหลายราชวงศ์ที่ไม่มีหน่อเนื้อเชื้อไขสืบต่อ ภายหลังก็ใช้วิธีไปดองกับราชวงศ์ต่างชาติก็มี อย่างไรก็ตามในฉบับซีรีส์มีการแก้ไขให้เหนือชั้นไปกว่านั้น เพราะคราวนี้จักรพรรดิมิได้มีหนึ่งเดียว แต่เขามาในลักษณะตรีเอกานุภาพ คือ แบ่งร่างเป็น 3 ร่าง ด้วยการโคลนนิงมาจากตัวต้นแบบรัชกาลที่ 1 โดยตรง โดยเรียกโคลนวัยเด็กว่า Dawn (อรุณา) โคลนวัยหนุ่มแน่นว่า Day (ทิวา) และร่างโคลนวัยชราว่า Dust (สนธยา) ที่ในเรื่องตัวกษัตริย์อ้างว่าการแบ่งเป็น 3 เพื่อความมั่นคงมั่งคั่งของจักรวรรดิ แต่ทว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาเต็มไปด้วยความหวาดกลัว เมื่อพวกเขาอยู่ยอดบนสุดของการสูบเลือดสูบเนื้อประชากรทั้งกาแล็กซี่
เดเมอร์เซลในนิยายยังไม่ปรากฎตัว
ขออนุญาตเล่าเท่าที่จะไม่สปอยเนื้อหาของนิยายทั้งหมด เดเมอร์เซล หุ่นยนต์เพียงตัวเดียวที่เหลือเล็ดรอดมาจากการล้างเผ่าพันธุ์หุ่นยนต์ในสมัยกษัตริย์คลีออนรัชกาลที่ 1 (ในนิยาย) และอยู่เคียงข้าง 3 กษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน(ในซีรีส์) ในนิยายเธอเป็นเพศชาย และตัวละครนี้ยังไม่ปรากฏจนกว่าจักรวาลในนิยายจะไปเชื่อมโยงกับนิยายชุด Robot แต่อันที่จริงตัวละครนี้ มีอยู่และฝังตัวมาตั้งแต่ก่อนเรื่องทั้งหมดในนิยายจะเริ่มขึ้น (อันเป็นสาเหตุให้อาสิมอฟย้อนกลับไปเล่าเหตุการณ์ก่อนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หุ่นยนต์ในเล่ม 6-7) ซึ่งตัวละครนี้ จะเกี่ยวพันกับหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ดัดแปลงจากนิยายของอาสิมอฟเช่นกัน นั่นก็คือ I, Robot (2004) แล้วอันที่จริงไอเดียชื่อเรื่อง Foundation หรือ ฐานรากทั้งหมดในการตอบคำถามเกี่ยวกับอดีตและอนาคตของมวลมนุษยชาติ อาจหมายถึงตัวละครนี้ที่อยู่มาตั้งแต่ต้นจนจบก็เป็นได้ เพราะเขา/เธอไม่มีอายุขัยอย่างมนุษย์ แต่มีมนุษย์เป็นผู้สร้าง(และผู้ทำลาย)
FYI
แฟนเดนตาย Star Wars เชื่อว่า ไอเดียตัวละครเดียวกันแต่แบ่งภาคบทบาทของ พัลพาทีน กับ ดาร์ธซีเดียส น่าจะได้แนวคิดสำคัญมาจาก เดเมอร์เซล ในนิยาย Foundation ที่คล้ายคลึงกับ ตัวละครหุ่นยนต์ฮิวมันนอยด์ เดวิด8 กับ วาลเตอร์1 ในหนัง Alien: Covenant (2017) อีกทั้งตัวละครคู่หลังก็ช่างมีหน้าตาราวกับหลุดมาจากภาพประกอบหนังสือ Foundation
ในซีรีส์ประโยคทักทายที่ตัวละครชนชั้นอารยสูงส่งพูดบ่อยราวกับสะกดจิตตัวเองคือ “เคารพและมีความสุขในความสงบ” ดูจะเป็นการเสียดสีที่ดี เพราะราวกับพวกเขาได้พร่ำพล่ามสิ่งที่ปรารถนา กังวล และหวาดกลัวออกมาตลอดเวลาว่า พวกเขาต้องการ ความเคารพซึ่งกันและกัน ความสุข และความสงบ แต่แท้จริงฝ่ายผู้มีอำนาจได้แต่ยึดอำนาจด้วยความหวาดกลัว และพวกเขาทำศึกสงครามต่อกันและกันตลอดมาแม้ในยามที่ฉากหน้าจะเหมือนมีแต่ความสงบสุข แต่เบื้องหลังคือการเหยียบย่ำกดขี่ประชากรราวกับเป็นศัตรู ราวกับไม่เชื่อว่าวันหนึ่งมวลมนุษยชาติจะถึงกาลล่มสลาย
“เคารพ และมี ความสุข ใน ความสงบ” พูดบ่อยจนกลายเป็นคำเพ้อพล่ามไร้ความหมาย