ThaiPublica > คนในข่าว > มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัลซาอุด มกุฎราชกุมารผู้พลิกแผ่นดิน

มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัลซาอุด มกุฎราชกุมารผู้พลิกแผ่นดิน

10 พฤษภาคม 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต รายงาน

เจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัลซาอุด ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Mohammed_bin_Salman#/media/

ในบรรดาผู้นำประเทศในปัจจุบัน ไม่มีผู้ใดเลยที่สายตาชาวโลกมองด้วยความฉงนสนเท่ห์เท่ากับมกุฎราชกุมารราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอีกแล้ว ยิ่งในยุคที่กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกกำลังพลิกผันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในขณะที่สาธารณรัฐยูเครนกำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม สถานการณ์ในยูเครนกลับส่งผลพลิกผันเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับเจ้าชายนี้ไปในทางที่ดีอย่างที่น้อยคนจะคาดคิดไปถึง มกุฎราชกุมารท่านนี้คือเจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัลซาอุด (Mohammed bin Salman Al Saud, อาหรับ: محمد بن سلمان آل سعود ) แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2528 หรือที่รู้จักในสื่อมวลชนทั่วโลกด้วยอักษรย่อว่า MBS พระองค์ทางเป็นทั้งมกุฎราชกุมาร นักการเมืองชาวซาอุดีอาระเบีย มีตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งประธานสภาเศรษฐกิจและการพัฒนา และประธานสภากิจการการเมืองและความมั่นคง พระองค์ทรงเป็นพระโอรสคนที่เจ็ดของกษัตริย์ ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส และราชบุตรคนโตในจำนวนหกองค์ที่เกิดจากมเหสีองค์ที่สามของกษัตริย์ซัลมาน ฟาห์ดา บินต์ ฟาลาห์ อัล ฮิทเลน ปัจจุบัน MBS ควบคุมรัฐบาลทั้งหมดของพระราชบิดา และถือเป็นผู้ปกครองของซาอุดีอาระเบียโดยพฤตินัย

ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียนั้นปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (absolute monarchy) กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ซาอุดีอาระเบียไม่มีรัฐสภา อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน อำนาจการออกกฎหมาย และการพิพากษาคดีความอยู่ในพระราชอำนาจทั้งสิ้น ซาอุดีอาระเบียเพิ่งริเริ่มให้มีการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นขึ้นมาสองครั้งในปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2554 โดยสตรีมีสิทธิเลือกตั้งได้ในปี พ.ศ. 2558 สังคมซาอุดีอาระเบียยังคงเคร่งจารีต บังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด และเป็นประเทศที่มีศาสนสถานของศาสนาอิสลาม 2 แห่ง คือ กาบาในเมืองมักกะห์ และเมืองเมตินา แต่เป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อ MBS ขึ้นมาบริหารประเทศนั้น ซาอุดีอาระเบียมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกว่าทุกยุคทุกสมัย

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560 กษัตริย์ซัลมานได้ถอดถอนเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน นาเยฟ หลานชายออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ซึ่งต่อมาถูกจำกัดบริเวณในพระราชวังจนถึงทุกวันนี้ และทรงแต่งตั้ง MBS ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้แทน งานนี้ไม่มีพิธีรีตองใดๆ ทั้งสิ้น เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน นาเยฟ มกุฎราชกุมารถูกเรียกตัวเข้าในพระราชวังกลางดึกอย่างไม่มีปีมีขลุ่ย โดยมี MBS ออกมาต้อนรับด้วยความนอบน้อมอย่างยิ่ง มีการถ่ายทอดออกอากาศสดกลางดึก MBS เข้าไปคำนับจูบพระหัตถ์ทั้งสองข้างของมกุฎราชกุมารด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ก่อนที่พระองค์จะเสด็จเข้าเฝ้ากษัตริย์ซัลมาน ซึ่งเป็นผู้เรียนเจ้าชายให้ทราบว่าท่านถูกถอดจากตำแหน่งแล้วมีผลในทันที ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังถูกกักบริเวณให้อยู่แต่เฉพาะในวังส่วนตัวของพระองค์ สาธารณชนไม่ได้พบเห็นพระองค์ต่อไปอีกเลย ทำให้ MBS ดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาทโดยตรงต่อการขึ้นครองราชย์บัลลังก์อย่างกะทันหัน

ที่มาภาพ : เจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัลซาอุด ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Mohammed_bin_Salman#/media/

นับแต่นั้น ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระลอกแล้วระลอกเล่า งานรื่นเริงต่างๆ ที่ถูกห้ามไม่ให้ประชาชนจัดอย่างเด็ดขาดตามกฎหมายจารีตของอิสลามก็ได้รับอนุญาตให้จัดได้ โรงภาพยนตร์ที่ไม่เคยมีมาเลยก็ผุดขึ้นเกือบ 400 แห่งอย่างรวดเร็วราวดอกเห็ดที่เบ่งบานในฤดูฝน หน่วยงานของรัฐที่ไม่เคยเปิดรับสตรีเข้าเป็นข้าราชการก็เปิดรับมากขึ้นเรื่อยๆ สตรีมีสิทธิในการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่น สตรีมีสิทธิในการทำใบขับขี่ ห้างร้านและบริษัทต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ สนามแข่งรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น มีกิจกรรมการแข่งรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สมาชิกของราชวงศ์เสด็จไปทอดพระเนตรเป็นปกติ MBS ทรงส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวในราชอาณาจักรอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

การเปลี่ยนแปลงในเชิงเสรีนิยมนี้เป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้แก่โลกตะวันตกอย่างมาก สื่อมวลชนหันมาสนใจราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียกันเป็นตาเดียว

ผู้หญิงซาอุดิอาระเบียกลุ่มแรกที่ได้ใบขับขี่ ที่มาภาพ : https://www.nbcwashington.com/news/national-international/First-Saudi-Women-Receive-Driving-Licenses-484576581.html

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 MBS สั่งให้มีการปฏิรูปที่จะเปลี่ยนโฉมภาพลักษณ์ของระบอบการปกครองของเขาในระดับสากลและภายในราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงกฎระเบียบที่จำกัดอำนาจของตำรวจศาสนาและการปรับปรุงสิทธิสตรี เช่น การยกเลิกคำสั่งห้ามผู้หญิงขับรถในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 และทำให้ระบบการปกครองโดยผู้ชายอ่อนแอลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 การพัฒนาทางวัฒนธรรมอื่นๆ ภายใต้รัชสมัยของพระองค์รวมถึงประชาชนซาอุดีอาระเบียกลุ่มแรก ทรงสั่งการให้จัดคอนเสิร์ตโดยนักร้องหญิง สนามกีฬาแห่งแรกของซาอุดีอาระเบียที่รับผู้หญิงเพิ่มจำนวนผู้หญิงในการทำงานและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยแนะนำระบบวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สามารถยื่นขอวีซ่าต่างประเทศได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต

โครงการ Saudi Vision 2030 มีเป้าหมายเพื่อกระจายเศรษฐกิจของประเทศผ่านการลงทุนในภาคส่วนที่ไม่ใช่น้ำมัน ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่และการท่องเที่ยวอีกด้วย

ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เรียกเขาให้ “แสดงความยินดีกับการยกระดับล่าสุดของเขา” ทรัมป์และมกุฎราชกุมารองค์ใหม่ให้คำมั่นว่า “จะร่วมมืออย่างใกล้ชิด” ในประเด็นด้านความปลอดภัยและเศรษฐกิจ ตามคำกล่าวของทำเนียบขาว และผู้นำทั้งสองยังได้หารือถึงความจำเป็นในการตัดการสนับสนุนการก่อการร้าย ข้อพิพาททางการทูตกับประเทศกาตาร์เมื่อเร็วๆ นี้ และการผลักดันให้เกิดความมั่นคง สันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานธิบดี สหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : https://twitter.com/RoyalSaudiNews/status/1116267344060403712/photo/1

ไม่นานหลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ คือ การกวาดล้างครั้งใหญ่ โดยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 MBS เตือนสาธารณชนว่า “ฉันขอยืนยันว่าไม่มีใครจะรอดจากคดีทุจริต ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร แม้ว่าจะเป็นเจ้าชายหรือรัฐมนตรีก็ตาม” ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 MBS สั่งให้นักธุรกิจและเจ้าชายผู้มั่งคั่ง 200 คนถูกกักบริเวณในบ้านในโรงแรม Ritz-Carlton ในกรุงรียาด พ่อค้านักธุรกิจคนดังและคนชั้นสูงของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียถูกเรียกตัวมากลางดึกของคืนวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เมื่อมาถึงโรงแรม แพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายและนำเข้าห้องพักในโรงแรมหรูนี้คนละห้อง แขกทุกคนถูกสอบสวนเข้มข้นตามคำสั่งของมกุฎราชกุมาร เพราะตกเป็นผู้ต้องหาทุจริตและฟอกเงิน

คนอื่นๆ ที่ถูกจับกุมหรือถูกไล่ออกในการกวาดล้างครั้งใหญ่นี้รวมถึงเจ้าชาย มูตัยบ์ บิน อับดุลลาห์ หัวหน้ากองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย นายอเดล ฟาเกย์ (Adel Fakeih) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการวางแผน และผู้บัญชาการกองทัพเรือซาอุดีอาระเบีย พลเรือเอก อับดุลลาห์ บิน สุลต่าน บิน โมฮัมเหม็ด อัล-สุลต่าน

ผู้ที่ถูกจับกุมในโรงแรมหรูครั้งนี้เรียกคืนนั้นว่าเป็น “คืนแห่งการทรมาน” เกือบทุกคนเล่าว่าตนถูกทุบตีและบางคนถูกมัดไว้กับกำแพงในตำแหน่งที่ทำให้เครียดที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนรู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ต้องหา และเจ้าหน้าที่พยายาม “รีด” ข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองทรัพย์สินนอกประเทศ ขณะที่เหยื่อแต่ละคนไม่ทราบว่าเหตุใดพวกเขาจึงถูกควบคุมตัว ผู้ต้องหาถูกขู่กรรโชกให้บอกผู้จัดการธนาคารของพวกเขาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และที่อื่นๆ และขอให้คืนเงินจำนวนมากเหล่านั้นให้แก่ประเทศ หลังจากผ่านไปหลายวัน ผู้ต้องขังที่เหลือก็ถูกย้ายไปที่อยู่ในเรือนจำอัลฮาอีร์ หลายคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในขณะที่บางคนถูกปล่อยตัว แต่ถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการของ MBS ในครั้งนี้แม้จะดูทารุณ ทว่าก็กลับได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ของซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างมาก แต่เจ้าชายก็ยังต้องเผชิญกับการต่อต้านจากผู้มีอำนาจแต่หัวเก่าบางคนที่ไม่สบายใจกับการใช้อำนาจในครั้งนี้เลย เพราะนี่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ขัดกับวิธีการที่มาจากฉันทามติของราชวงศ์ ตามคำกล่าวของอดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำรียาดกล่าวว่า

“MBS เป็นเจ้าชายองค์แรกในประวัติศาสตร์ซาอุดีอาระเบียยุคใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการจัดระเบียบราชวงศ์”

เห็นได้ชัดเจนว่า MBS ปกครองด้วยการหาข่าวโดยหน่วยงานสืบราชการลับ และดำเนินการอย่างฉับไวที่สุดจนศัตรูของพระองค์ตั้งตัวไม่ทัน คนเหล่านั้น ได้แก่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี นักข่าว อดีตคนในราชสำนัก และผู้เห็นต่าง คนเหล่านี้ถูกกดขี่และข่มขู่อย่างเป็นระบบผ่านกลวิธีต่างๆ รวมถึงการทรมาน การจำคุก และการสังหาร และกล่าวกันว่า MBS สร้างทีมนักล่าสังหารที่รู้จักกันในนามของ “Tiger Squad” เพื่อทำการวิสามัญฆาตกรรมศัตรูทุกคนของ MBS

มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า MBS มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญคือ นายจามาล คาชูจกิ (Jamal Khashoggi) นักเขียนฝีปากกล้าชาวซาอุดีอาระเบีย ผู้ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ Washington Post เขากล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบียอย่างเปิดเผยว่า และระบุว่า MBS อยู่เบื้องหลังการระดมทิ้งระเบิดพวกกบฏ ฮูตีในประเทศเยเมน ซึ่งทำให้วิกฤติด้านมนุษยธรรมและความอดอยากรุนแรงขึ้นที่นั่น และเป็นผู้สั่งการปราบปรามกลุ่มสตรีนิยมในประเทศ นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่า MBS ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของวิกฤติทางการทูตของกาตาร์ สั่งการกักขังนายกรัฐมนตรีซาอัด ฮารีรี ของเลบานอน จุดเริ่มต้นของการทะเลาะวิวาททางการทูตกับแคนาดา การจับกุมเจ้าชายซาอุดีอาระเบียและมหาเศรษฐีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 การแฮกโทรศัพท์กับประธานบริษัท Amazon คือนายเจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) และการหักหลังลูกพี่ลูกน้องและคู่แข่งของเขาเองนั่นคือเจ้าชายมูฮัมมัด บินนาเยฟ ( Muhammad bin Nayef)

  • สังหาร “จามาล คาช็อกกี” ช็อกโลก ระบุมกุฎราชกุมารซาอุฯ อนุมัติปฏิบัติการ
  • เป็นที่น่าสังเกตว่า แต่เดิมนั้นนายจามาล คาชูจกิ สรรเสริญและสนับสนุนวิสัยทัศน์ของ MBS อย่างมาก แต่ต่อมากลายเป็นผู้วิจารณ์มงกุฎราชกุมารพระองค์นี้อย่างรุนแรง จนต้องลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาและตุรกี ภรรยาของเขาขอหย่าร้างเพราะกลัวราชภัย ลูกชายคนโตถูกขึ้นบัญชีดำ ทำหนังสือเดินทางไม่ได้ ในที่สุดนาคาชูจกิพบรักใหม่กับนักศึกษาสาวชาวตุรกี และจะแต่งงานกัน แต่เมื่อเข้าไปขอเอกสารในกงสุลซาอุดีอาระเบียในกรุงอิสตันบูลเมื่อบ่ายวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 คาชูจกิก็ไม่ได้กลับออกมาอีกเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจตุรกีเชื่อว่านายคาชูจกิถูกสังหารในสถานกงสุลของซาอุดีอาระเบีย โดยอ้างว่ามีบันทึกวิดีโอและเสียงเฉพาะที่พิสูจน์ว่าเขาถูกทรมานครั้งแรกและถูกสังหาร ศพของเขาถูกหั่นเป็นชิ้นๆ และผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชเป็นส่วนหนึ่งของทีมซาอุดีอาระเบีย 15 คนที่เห็นการเข้าและออกจากสถานกงสุล

    MBS ได้ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการฆาตกรรมที่อื้อฉาวในครั้งนั้น และกล่าวโทษการลอบสังหารผู้ดำเนินการของพวกอันธพาล อย่างไรก็ตาม ประเทศตะวันตกไม่เชื่อมั่นและเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความรู้หรือความเห็นชอบจากเจ้าชายพระองค์นี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เชื่อในการตอบสนองของซาอุดีอาระเบียต่อการสังหารดังกล่าว และทรัมป์ยังเชื่อด้วยว่า อย่างน้อยมกุฎราชกุมารพระองค์นี้ต้องมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวไม่มากก็น้อย

    คดีฆาตกรรมอันอื้อฉาวครั้งนี้สร้างความบาดหมางอย่างมากระหว่างความสัมพันธ์ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียกับตุรกี จนทำให้ประธานาธิบดีแอร์โดอันของตุรกีประกาศที่จะเอาคนผิดมาลงโทษให้จงได้ ในขณะที่หน่วยสืบราชการลับของตุรกียืนยันว่าคนร้ายเป็นคนสนิทของ MBS มีหลักฐานชัดเจนว่าใครน่าจะเป็นคนสั่งการ แม้ตุรกีเองก็ต้องการขึ้นมาเป็นผู้นำในโลกมุสลิมและแข่งขันกับซาอุดีอาระเบียอยู่ในที

    อย่างไรก็ตาม การบุกตีประเทศยูเครนของรัสเซียได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับคดีนี้อย่างฉับพลัน การขาดแคลนพลังงานจากรัสเซีย การขาดแคลนแป้งสาลีจากยูเครน และการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ตุรกีประสบภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดอย่างหนัก (70%) โดยที่ราคาอาหารในท้องตลอดขึ้นเกือบ 90% ผลประโยชน์ของประเทศชาติต้องมาก่อนคดีฆาตกรรมนายคาชูจกิ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นคนชาติเดียวฆ่ากันเอง ไม่เกี่ยวกับตนประธานาธิบดีแอร์โดอัน ซึ่งไม่ชอบใจที่จะไปกู้เงินจากไอเอ็มเอฟและไปเป็นลูกหนี้ของอเมริกาอยู่แล้ว

    จึงต้องสมานฉันท์กับ MBS เพื่อความอยู่รอดของตน และในโอกาสนี้ได้มอบคดีนี้ให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียรับผิดชอบต่อไป คดีอื้อฉาวนี้ถือว่าปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ MBS จึงรอดจากทุกข้อกล่าวหาในคดีนี้

    พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย หารือกับมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ที่มาภาพ :https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/8285

    MBS ยังได้มีบทบาทสำคัญในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติกับประเทศไทย ภายหลังคดีโจรกรรมเพชรสีน้ำเงิน (Blue Diamond) ของมกุฎราชกุมารไฟซาล ซึ่งนายเกรียงไกร เตชะโม่ง เป็นคนลักลอบนำออกมาได้ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นโจรกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ทำให้เกิดความหมางเมินระหว่างไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียมากว่า 30 ปี โดย MBS ได้เชิญนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเยือนกรุงรียาดสองวัน คือวันที่ 25-26 มกราคม พ.ศ. 2565 ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับซาอุดีอาระเบียได้รับการสถาปนากลับสู่สภาพปกติอีกครั้งหนึ่ง ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ครั้งนี้คือ MBS มกุฎราชกุมารผู้พลิกแผ่นดินพระองค์นี้ ขณะนี้ความสัมพันธภาพครั้งนี้ยังคงเปราะบางอยู่มาก รูปแบบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเกิดขึ้นแบบเดียว กับกิจกรรมต่างๆ ของ MBS คือเกิดแบบทันทีทันใด

    แม้ MBS ยังไม่ขึ้นครองราชย์ยังมีอิทธิพลถึงเพียงนี้ หากท่านขึ้นครองราชย์ท่านจะมีอิทธิพลมากขึ้นเพียงใด ปัจจุบันนับได้ว่าท่านมีทั้งพระเดชและพระคุณในตนเองมากที่สุดของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้จากความสัมพันธ์ครั้งนี้ย่อมไม่มีเฉพาะการท่องเที่ยวและการส่งแรงงานเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบียเป็นแน่

    ในขณะที่ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียยังคงเข็ดขยาดกับแรงงานไทยจากประสบการณ์ที่เจ็บปวดเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ก่อนที่รัฐบาลไทยจะพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ใหม่เพียงใดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นคุณอนันต์และโทษมหันต์และไม่อาจประมาทได้เลย!!!