ดร. นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต
กลางดึกของคืนวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ในเมืองอุรุมชี (Urumqi) ในมณฑลซินเกียง อันเป็นสถานที่ที่ชาวอุยกูร์ถูกกักกันอันเนื่องมาจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รถดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ไม่อาจเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมขณะนั้นได้เพราะประตูทางเข้าออกถูกปิดตาย ประชาชนในอาคารหลังนั้นถูกกักกันยาวนานมากว่า 100 วัน ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยโควิดในจีนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์กว่าวันละ 40,000 คน และเสียชีวิตจำนวนนับร้อย โดยที่มาตรการโควิดเป็นศูนย์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั้นยังบังคับใช้อย่างเข้มงวด
การบังคับใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีนนั้นเข้มงวดกว่าทุกประเทศ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถบุกพังประตูบ้านเข้าไปในเคหสถานของประชาชนได้ทุกเวลาและบังคับตรวจ ATK หากสงสัยว่ามีผลเป็นบวก ก็สามารถจับกุมดำเนินคดีและเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ได้ทันที หากพบว่ามีประชาชนติดโควิดแม้แต่คนเดียว เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะปิดอาคารที่คนผู้นั้นอาศัยอยู่ห้ามการเข้าออกได้โดยทันที ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากกับประชาชนอย่างมาก โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวเองไป และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโรงงานผลิตไอโฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลกถูกคนงานนับหมื่นประท้วง เนื่องจากไม่จ่ายเงินให้ตามสัญญา และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือมาตรการห้ามออกจากโรงงานเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด จนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก
เย็นวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ประชาชนในเมืองเซี่ยงไฮ้นับหมื่นคนได้ออกมาทำพิธีไว้อาลัยเหยื่อของอัคคีภัยในครั้งนี้ และประท้วงมาตรการโควิดเป็นศูนย์ซึ่งถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิต และไม่นำพาต่อมาตรการของรัฐ แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าควบคุมเหตุการณ์ การชุมนุมนั้นกลับขยายตัวและลุกลามไปยังเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศจีน ไม่ว่ากรุงปักกิ่ง ซึ่งนำโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิงหฺวาและปักกิ่ง เมืองฉงชิ่ง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และลุกลามไปทั่วประเทศ ในขณะที่จำนวนประชาชนที่ติดเชื้อไวรัสนี้ยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 40,000 คนต่อวัน
สามปีที่ประชาชนอดทนกับความยากลำบากจากการถูกล็อกดาวน์ ในที่สุดได้ระเบิดออกมาเป็นการประท้วงใหญ่ ที่กระจายไปทั่วประเทศ และเมื่อมีการรวมตัวกันของประชาชน โจทย์จึงเปลี่ยนไปเป็นการ “ขับไล่ผู้นำ” ผู้ชุมนุมจำนวนมากตะโกนให้สี จิ้นผิง ลงจากตำแหน่ง หลายคนตะโกนเรียกร้อง “เสรีภาพ” หลายคนประณามพรรคคอมมิวนิสต์ โดยผู้ประท้วงส่วนใหญ่ชูกระดาษขาวซึ่งไม่มีข้อความใดๆ ปรากฏ
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลในมณฑลซินเกียง เริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มให้ประชาชนออกจากเคหสถานได้ แต่ประเทศจีนโดยทั่วไปความตึงเครียดทางการเมืองนั้นเพิ่มก่อตัวขึ้น ยังไม่ถึงขั้นการชุมนุมของนักศึกษาที่จตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี พ.ศ. 2532 จนกระทั่งรัฐต้องส่งกองทัพเข้าสลายการชุมนุม แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงสงบนิ่ง ไม่มีประกาศหรือแถลงการณ์ใดๆ ออกมา เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงดำเนินการจับกุมผู้ที่ออกมาชุมนุม แต่หลายแห่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายถอยหนีจากการบุกของประชาชนที่กำลังโกรธแค้น
ขณะที่การประท้วงกำลังแพร่ระบาดไปทั่วไปเทศจีนจนสถานการณ์ถึงจุดสูงสุดนั้นเอง เมื่อคืนวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 อดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ถึงแก่อสัญกรรมในเซี่ยงไฮ้ด้วยวัย 96 ปีเพราะโรคมะเร็งในเม็ดโลหิต รัฐบาลจีนได้จัดงานไว้ทุกข์รำลึกในวันอังคารที่ 6 ธันวาคม เป็นรัฐพิธีที่ใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่งานศพของเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งในงานครั้งนั้นประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน เป็นผู้กล่าวไว้อาลัยให้ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง ทั้งน้ำตา
ในตอนแรกประเทศตะวันตกคาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน จะเป็นผู้นำในเชิงสัญลักษณ์หรือผู้นำชั่วคราวเท่านั้น เพราะเขาถูกเติ้ง เสี่ยวผิง เลือกมาด้วยมือหลังจากวิกฤติการณ์ที่เติ้ง เสี่ยวผิง สั่งกำลังทหารเข้าสลายม็อบนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ท่ามกลางการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนหยุดชะงัก และเรียกร้องให้กลับไปสู่การควบคุมของรัฐที่มากขึ้นเพื่อประกันเสถียรภาพทางสังคม เขาเป็นผู้ประกาศนโยบาย “เศรษฐกิจการตลาดสังคมนิยม” (Socialist Market Economy) ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 14 ทำให้จีนเปิดประเทศมากขึ้นพร้อมกับการปฏิรูปประเทศไปพร้อมๆ กัน และในช่วง 10 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำ เจียงดูแล “ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่” ของพรรคและประเทศ
ยุคของเจียง เจ๋อหมิน จีนมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในระดับที่ดีมาก เขาเป็นแขกพิเศษของทำเนียบขาวและเป็นเพื่อนกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ของอังกฤษ และได้นำประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization)
ข่าวอาสัญกรรมของเจียง เจ๋อหมิน สื่อมวลชนของจีนได้หันกลับมามองย้อนกลับไปที่ชีวิตและความสำเร็จของท่าน และมองเลยไปข้างหน้าถึงอนาคตของจีนว่ากำลังอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านจากการเมืองยุคเก่าที่ได้รับการยกย่องจากเวทีการเมืองระดับโลก ไปสู่ยุคใหม่ที่เป็นเผด็จการนำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และพิธีศพของอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2565ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคและพลิกโฉมหน้าใหม่ในการเมืองจีนซึ่งนับวันจะแย่ลง
ในรัฐพิธีศพของท่านเจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวยกย่องอดีตประธานาธิบดีในด้านความเป็นรัฐบุรุษ เป็นสหายผู้ส่งเสริมสังคมนิยมและปกป้องลัทธิคอมมิวนิสต์ สี จิ้นผิง ได้กล่าวว่า
“สหายเจียง เจ๋อหมิน ผู้เป็นที่รักอย่างจริงใจของทั้งพรรค กองทัพ และประชาชนทุกเชื้อชาติ จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป” สีกล่าวในพิธีศพที่มีผู้เข้าร่วมรัฐพิธีนี้หลายพันคน ณ มหาศาลาประชาชน ศพของเขาถูกฌาปนกิจในวันจันทร์ที่สุสานของคณะปฏิวัติปาเป่าชาน (Babaoshan) ในกรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดีสีและผู้นำระดับสูงคนอื่นๆ เข้าร่วมพิธีเผาศพ รวมทั้งหู จิ่นเทา ผู้สืบทอดตำแหน่งของเจียง เมื่อฌาปนกิจไปแล้ว อัฐิของท่านเจียงเจ๋อหมินถูกนำไปลอยในแม่น้ำแยงซีโดยเรือรบของกองทัพเรือในวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
ในสายตาของสื่อทางตะวันนกงานศพซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาที่อ่อนไหวเมื่อการประท้วงต่อต้านการควบคุมโควิดปะทุขึ้นทั่วประเทศ เทียบได้กับงานศพของเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดผู้ล่วงลับไปแล้วเมื่อ 25 ปีก่อน ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นสถาปนิกหลักขององค์กรปฏิรูปของจีน
วันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2565 เป็นวันแห่งการไว้ทุกข์ทั่วประเทศจีน รัฐบาลสั่งให้สถานที่ราชการทุกแห่งลดธงครึ่งเสา รวมทั้งสถานทูตจีนทั่วโลก และรัฐบาลจีนสั่งให้ตลาดหลักทรัพย์ทั้งประเทศหยุดการซื้อขายทางการเงิน ถูกระงับเป็นเวลาสามนาทีเมื่อมีรัฐพิธี ในฮ่องกง เจ้าหน้าที่รัฐ สมาชิกสภานิติบัญญัติ ข้าราชการพลเรือน และประชาชนต่างแสดงความเคารพต่ออดีตประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประธานในพิธีส่งมอบดินแดนในปี พ.ศ. 2540 มีการไว้ทุกข์ในโลกไซเบอร์ของจีนด้วย เว็บไซต์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีนที่โด่งดังได้เปลี่ยนเป็นสีเดียวเพื่อแสดงความเศร้าโศก สถานบันเทิงสาธารณะ เช่น สวนสนุก ก็ถูกปิดเช่นกัน ผู้นำทั่วโลกส่งสารแสดงความเสียใจต่ออาสัญกรรมของผู้นำท่านนี้
เจียง เจ๋อหมิน เป็นม้ามืดที่นายเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้เลือกให้เป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยตนเอง หลังจากที่ได้ปลดนายจ้าว จื่อหยาง ออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อ 33 ปีก่อน จีนอับอายจากวิกฤติเทียนอันเหมินอย่างมาก ปรากฏว่า ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน กลับได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้นำจีนออกจากการโดดเดี่ยวทางการทูตเพื่อก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีสถานะระดับโลกที่สูงขึ้นมาก อดีตประธานาธิบดีไม่เพียงช่วยให้จีนฝ่าด่านการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกในช่วงทศวรรษ 1990 เท่านั้น แต่เขายังพลิกโฉมหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยทฤษฎี “ตัวแทนสามประสาน” (นักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจ) ของเขาในการเปิดรับผู้ประกอบการเอกชนเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้ (ในสมัยของประธานเหม๋า เจ๋อตุง พ่อค้าหรือนักธุรกิจไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้เลย แม้บิดาของท่านสี จิ้นผิง ถูกปลดจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมาแล้วเมื่อประธานเหม๋าสงสัยว่าต่อต้านการปฏิวัติประชาชน) แม้ในระดับสากล ท่านเจียง เจ๋อหมิน ได้รับการจดจำในฐานะรัฐบุรุษของจีนที่ทำคะแนนได้เป็นอันดับหนึ่ง – ในฐานะที่เป็นผู้นำจีนคนแรกที่เยือนสหรัฐอเมริกาในรอบ 12 ปีหลังการปราบปรามขบวนการสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย ท่านยังได้เป็นผู้นำจีนคนแรกที่เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในฐานะประมุขแห่งรัฐของจีนใน พ.ศ. 2535 เขายังทำให้จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี พ.ศ. 2544 ทำให้เศรษฐกิจจีนพัฒนาอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นโรงงานของโลก
ท่านเจียง เจ๋อหมิน ประสบความสำเร็จจากที่เคยเป็นนายกเทศมนตรีและหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์สาขาเซี่ยงไฮ้ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด เขายังคงเป็นที่ชื่นชอบของชาวเซี่ยงไฮ้จำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าที่จดจำเขาในฐานะชาวเซี่ยงไฮ้คนหนึ่ง และฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง คือเซี่ยงไฮ้เช่นกัน และเป็นที่น่าสนใจที่ผู้นำทั้งสองคนต่างมีฐานเสียงและอำนาจของตนจากพื้นที่เดียวกันในประเทศจีน แต่บทบาทของผู้นำทั้งสองต่างกัน ในขณะที่ท่านเจียง เจ๋อหมิน เป็นผู้เปิดประเทศทำให้จีนได้รับการยอมรับจากประเทศมหาอำนาจ ท่านสี จิ้นผิง เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ปราบการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่เป็นผู้นำที่ทำให้ประเทศทางตะวันตกและญี่ปุ่นหวาดกลัวเป็นอย่างมาก อำนาจของจีนแพร่กระจายไปทั่วโลกในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก จีนได้เข้าไปมีอิทธิพลในประเทศต่างๆ เหล่านี้ ทางภาคธุรกิจ การคมนาคม และทางการทหาร ทุกวันนี้จีนเป็นประเทศที่มีกองทัพที่ใหญ่โตที่สุดในโลก ทุกเดือนจีนต่อเรือรบโดยเฉลี่ยเดือนละหนึ่งลำ จีนมีเทคโนโลยีทางอวกาศที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก แม้สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายกีดกันไม่ให้จีนเข้าร่วมโครงการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ แต่จีนสามารถสร้างสถานีอวกาศของตนที่ใหญ่กว่า โอ่โถงกว่า และยังประกาศให้ความร่วมมือกับทุกประเทศที่มีโครงการวิจัยในอวกาศในบริเวณที่ไร้แรงดึงดูด เท่ากับเป็นตอบโต้สหรัฐอเมริกาให้เสียหน้าเป็นอย่างมาก
ในสายตาของสื่อมวลชนตะวันตก การเสียชีวิตของเจียง เจ๋อหมิน บ่งบอกว่ายุคของ “การเมืองแบบเก่า” ในประเทศจีนสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากอิทธิพลของผู้อาวุโสในพรรคเช่นเขาลดน้อยลงหลังจากที่พวกเขาก้าวลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในการยกย่องเจียง เจ๋อหมิน ซึ่งขณะนี้มีอำนาจเหนือใครในการเป็นผู้นำ เรียกร้องให้ประเทศชุมนุมรอบตัวเองและ “สืบทอดเจตจำนงของสหายเจียง เจ๋อหมิน … และเขียนบทใหม่ของสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน” ดังที่เห็นได้จากงานศพของท่านเจียงในวันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2565 น้อยคนนักที่จะเห็นว่าอาสัญกรรมของท่านเจียง เจ๋อหมิน คือปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
ภาพจำของเจียง เจ๋อหมิน เป็นผู้เฒ่าใจดี ใจกว้าง เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจประชาชน แตกต่างจากภาพจำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ราวฟ้ากับดิน ที่ออกแนวพระเดชปราบปรามคอร์รัปชันและไม่เห็นอกเห็นใจประชาชน
ขณะนี้การล็อกดาวน์ในประเทศจีนหมดไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ร้านอาหาร ศูนย์การค้า และโรงเรียนต่างๆ ในเมืองใหญ่ๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ฯลฯ มีมาตรการผ่อนปรนอย่างที่ชาวจีนไม่เคยคิดมากก่อน การประท้วงทั้งหมดยุติลงโดยปริยาย สนามบินสถานีรถไฟต่างๆ เริ่มเปิดให้บริการตามปกติ แต่ประชาชนยังคงใส่หน้ากากอนามัย และมีการตรวจ ATK ในสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ แต่ไม่เข้มงวดเหมือนเดิม คณะแพทย์ออกแถลงการณ์ผ่อนปรน แทนที่จะเป็นโฆษกของรัฐบาลออกมาแถลงข่าวเหมือนก่อน
ปัจจุบันนโยบาย Zero-COVID ของจีนหมดไปแล้ว และประชาชนจีนสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้โดยสะดวก แม้จะเดินทางไปต่างประเทศ รัฐไม่มีการบังคับการตรวจใดๆ ทั้งสิ้น คาดกันว่าในช่วงตรุษจีนนี้จะมีการเดินทางของชาวจีนกว่าสองพันล้านเที่ยว แต่กระนั้น นักท่องเที่ยวของจีนยังไม่ได้รับการต้อนรับดีเหมือนเดิม สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น โมร็อกโก โปรตุเกส และอินเดีย ตั้งแง่ ต่างบังคับการตรวจ ATK ต่อผู้ที่เดินทางมาจากจีนทุกคน และสำนักข่าวทางตะวันตกยังโทษจีนว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคนี้ด้วยตัวเลขที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง โดยสรุปคือว่า “จีนไม่ว่าจะทำอะไรก็ผิดไปหมด”
อาสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดีจีนท่านนี้ ในแง่มุมหนึ่งเป็นเรื่องประจวบเหมาะซึ่งเกิดท่ามกลางการประท้วงของนิสิตนักศึกษาจีนและประชาชนในเมืองใหญ่ๆ ของจีนซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดที่จีนได้เห็นมา แต่เป็น “มรณานุสติ” ที่ดีสำหรับท่านสี จิ้นผิง ถึงการนำเนินนโยบายที่อ่อนโยนต่อประชาชนและทำให้จีนเป็นที่รักของประชาชนโลกก็เป็นได้!!