ThaiPublica > เกาะกระแส > จุดแข็งจากโมเดลเศรษฐกิจของจีน ทำให้ “กองทัพพ่อค้าจีน” อพยพออกไปค้าขายทั่วโลก

จุดแข็งจากโมเดลเศรษฐกิจของจีน ทำให้ “กองทัพพ่อค้าจีน” อพยพออกไปค้าขายทั่วโลก

6 เมษายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

บรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวเคนยาจำนวนนับพันคน ได้รวมตัวกันที่เมืองหลวงไนโรบี เพื่อประท้วงร้านค้าปลีกที่คนจีนเป็นเจ้าของ ที่มาภาพ : https://nation.africa/kenya/counties/nairobi/photos-china-square-nyamakima-traders-hold-protest-march-against-chinese-4140402

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวเคนยาจำนวนนับพันคน ได้รวมตัวกันที่เมืองหลวงไนโรบี เพื่อประท้วงร้านค้าปลีกที่คนจีนเป็นเจ้าของ โดยร้านค้าจีนขายสินค้าตัดราคาพ่อค้าท้องถิ่น ที่ผ่านมาบรรดาพ่อค้าชาวเคนยาและประเทศในแอฟริกาอื่นๆ ได้เคยประท้วงพ่อค้าจีนมาเป็นระยะๆ กล่าวกันว่า มีคนจีนราว 1 ล้านคนออกไปตั้งรกรากในแอฟริกา

รายงานของรอยเตอร์สบอกว่า พ่อค้าในเคนยาไม่พอใจที่พ่อค้าจีนขายสินค้านำเข้าจากจีนในราคาต่ำกว่า 50% ของสินค้าที่ขายโดยพ่อค้าที่เป็นคนท้องถิ่น เช่น ผ้าม่าน ป้ายประท้วงแผ่นหนึ่งเขียนไว้ว่า

“คนจีนจะต้องไม่เป็นทั้งผู้นำเข้า พ่อค้าปลีก พ่อค้าขายส่ง และพวกหาบเร่แผงลอย”

พิชิตโลกธุรกิจ จากจุดแข็งของจีน

หนังสือ China’s Silent Army เขียนถึงการที่จีนเดินทางบุกมาถึงแอฟริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกาไว้ว่า การที่จีนออกไปแสวงหาลู่ทางการค้าขายและธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ได้ เพราะการสนับสนุนช่วยเหลือจากพลังอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า “ทุนนิยมแห่งรัฐ” ที่ประกอบด้วย แหล่งสนับสนุนเงินทุนที่มีไม่จำกัด การทูตที่มีอิทธิพลอำนาจ กองทัพผู้ประกอบการจีนที่ไม่ท้อถอย และสินค้าจำนวนมากมายจากจีน ซึ่งยากที่สินค้าประเทศอื่นจะแข่งขันได้

ก่อนปี 2013 ที่จีนประกาศการริเริ่มโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ช่วงปี 2005-2012 บริษัทจีนได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นมูลค่า 460 พันล้านดอลลาร์ เป็นการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา 340 พันล้านดอลลาร์ หรือ 74% จีนจะไม่สามารถขยายอำนาจของเศรษฐกิจของจีนไปได้ทั่วโลก หากปราศจากความสามารถและฝีมือของคนจีน ความเข้มแข็งของรัฐจีน และระบบการเงินของจีน

ที่มาภาพ : https://www.walmart.com/ip/China-s-Silent-Army

https://thaipublica.org/2023/03/pridi336/

  • หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ จีน-กัมพูชา ผ่านโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
  • ความสามารถในการแข่งขัน ระหว่างโครงการ B3W ของสหรัฐฯ กับ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน
  • เต๋อโจว เมืองแห่งอนาคตภายใต้ One Belt, One Road โอกาสทางธุรกิจในจีนของนักลงทุนไทย
  • กรณีท่าเรือ Hambantota ของศรีลังกา คือนิทานโกหก (Myth) เรื่อง “การทูตกับดักหนี้สิน” ของจีน
  • หนังสือ China’s Silent Army บอกว่า จีนจะไม่สามารถขยายธุรกิจออกไปทั่วโลกได้แบบที่มองเห็นอยู่ในปัจจุบัน หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนจีนจำนวนเป็นล้านๆ คน ที่ออกไปเริ่มต้นทำธุรกิจในจุดต่างๆ ในโลก ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และไม่น่าเป็นไปได้เลยทางพาณิชย์

    จีนได้รับประโยชน์จากกองทัพมนุษย์ ที่มีความสามารถไม่จำกัด กล้าเสี่ยงและเสียสละ ที่จะออกไปเผชิญกับโลกทางธุรกิจนอกประเทศ เพียงเพราะความหวังที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต คนจีนเหล่านี้กล้าจะเอาชนะตลาดที่ไม่น่ามีความเป็นไปได้เลย ขณะที่คนตะวันตกไม่กล้าที่จะออกไปต่อสู้ หรือหากกล้าที่จะไปทำธุรกิจในตลาดดังกล่าว ในที่สุด ก็จะประสบกับความล้มเหลว

    นอกจากความสำเร็จที่มาจากการขับเคลื่อนของภาคเอกชนและคนจีน สิ่งสำคัญอีกอย่างคือประสิทธิภาพของ “โมเดลเศรษฐกิจจีน” ที่สามารถใช้อำนาจทางการเงินไปสนองเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของประเทศ เงินทุนที่มีไม่จำกัดจาก “ธนาคารสนองนโยบาย” คือธนาคาร China Exim Bank และ China Development Bank ทำให้บริษัทรัฐวิสาหกิจจีนมีความได้เปรียบ ที่จะซื้อสินทรัพย์ทางยุทธศาสตร์ การสร้างความมั่นคงจากการจัดหาแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ จากต่างประเทศ

    คำถามมีอยู่ว่า ธนาคาร China Exim Bank หรือ China Development Bank หาเงินมาจากไหนได้อย่างไม่จำกัด ทำไมประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน สามารถกลายเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ทางการเงิน ธนาคารสนองนโยบายคือเสาหลักอย่างหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจที่เรียกว่า “บรรษัทจีน” (China Inc.) อีกสองเสาหลักคือ พรรคกับรัฐ และรัฐวิสาหกิจ

    China’s Silent Army ตอบคำถามดังกล่าวว่า คนจีนคือคนที่แบกรับภาระในสิ่งที่เป็นเป้าหมายของรัฐจีน ในด้านหนึ่ง ทั้ง China Exim Bank และ China Development Bank คือของธนาคารัฐทั้งสอง ได้เงินจากการออกตราสารหนี้ (bond) ที่ซื้อโดยธนาคารพาณิชย์จีน ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้เป็นแหล่งที่ฝากเงินของคนจีน 1.4 พันล้านคน เนื่องจากจีนไม่มีระบบสวัสดิการ ทำให้คนจีนต้องสร้างหลักประกันด้วยออมเงินมากถึง 40% ของรายได้ นับเป็นอัตราการออมสูงสุดของโลก

    ในอีกด้านหนึ่ง ปริมาณการออมที่สูงมากตกอยู่ในสภาพที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “แรงบีบทางการเงิน” (financial repression) ในระบบการเงินของจีนหมายถึงผู้ฝากเงินได้รับผลตอบแทนติดลบหรือขาดทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ที่สำคัญ ผู้ฝากเงินไม่สามารถเอาเงินออกไปลงทุนด้านอื่นที่มีผลตำแทนดีกว่า เพราะทางเลือกการลงทุนอื่นๆ ในจีนมีจำกัด

    สภาพทางการเงินดังกล่าวตรงกับความต้องการของโมเดลเศรษฐกิจแบบ “บรรษัทจีน” ที่สามารถให้เงินต้นทุนต่ำแก่รัฐวิสาหกิจจีน นำไปขยายธุรกิจออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งเป็นตลาดสำหรับสินค้าจีน เพราะเป็นตลาดที่ยังมีการแข่งขันน้อยหรือยังไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์

    China’s Silent Army กล่าวว่า การขยายธุรกิจของจีนไปยังแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา จึงเป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์ ที่ต้องตีความหมายจากนโยบายภายในประเทศของจีน จีนต้องการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางสังคม การมีวัตถุดิบมาสนองฐานะของจีนที่เป็น “โรงงานโลก” และการขยายตัวของเมือง (urbanization) จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจัย 2 อย่างดังกล่าว คือพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนไม่ให้ชะงักงัน

    สำหรับประเทศที่จีนขยายธุรกิจการลงทุนเข้าไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด ที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนมากที่สุดคือในแอฟริกา ซึ่งประเทศต่างๆ ในทวีปนี้ขาดโครงสร้างพื้นฐาน จีนมีส่วนสร้างรางรถไฟ ถนน สนามฟุตบอล โรงเรียน และโรงพยาบาล นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนสร้างเขื่อนหลายร้อยแห่งทั่วโลก ท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในซูดาน คาซัคสถาน และเมียนมา

    Fan Hui Fang นักธุรกิจจีนที่ทำธุรกิจปลูกผักชานเมืองคาร์ทูม ซูดาน โดยผลิตได้ปีหนึ่ง 1,400 ตัน ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ China’s Silent Army ว่า “เราภูมิใจที่มีส่วนในการพัฒนาซูดาน เมื่อเรามาถึงซูดานครั้งแรก ตึกสูงสุดมีแค่ 3 ชั้น เราได้เห็นการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากที่ไม่เคยมีถนนหรือรถยนต์ ส่วนอเมริกาเมื่อมาที่นี่ในปี 1998 เอาระเบิดมาทิ้ง”

    โครงการเกษตรในอาร์เจนตินา

    Tang Renjian รัฐมนตรีเกษตรและกิจการชนบทของจีน เปิดเผยว่า ในแต่ละวัน คนจีน 1.4 พันล้านคน บริโภคธัญพืช 700,000 ตัน น้ำมันพืช 98,000 ตัน ผัก 1.92 ล้านตัน และเนื้อสัตว์ 230,000 ตัน แม้ว่าจีนจะกลายเป็นโรงงานโลก แต่ความมั่นคงทางอาหารคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

    China’s Silent Army เขียนไว้ว่า ตัวอย่างหนึ่งของการลงทุนทางยุทธศาสตร์ของจีน คือโครงการมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ในอาร์เจนตินา ที่ดำเนินการโดย Beidahuang State Farm Business Trade Group รัฐวิสากิจด้านการค้าสินค้าเกษตรของจีน Beidahuang เป็นบริษัทผู้ผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่ของจีน จากมณฑลเฮยหลงเจียง ปี 2011 Beidahuang ลงนามสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัด Rio Negro ของอาร์เจนตินา

    ทาง Beidahuang จะลงทุนพัฒนาพื้นที่ 320,000 เฮคตาร์ ที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะขาดน้ำทำการเพาะปลูก ภายใน 5 ปี ฝ่ายจีนจะลงทุน 850 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างระบบชลประทานและไฟฟ้าเข้าสู่พื้นที่ และอีก 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ โดยเฉพาะท่าเรือที่สามารถรองรับเรือบรรทุกจากจีน ที่จะมารับขนถั่วเหลือง ข้าวโพด และผลไม้จากพื้นที่เพราะปลูกดังกล่าว

    ตัวแทนจากจังหวัด Rio Negro ให้สัมภาษณ์ว่า “เราบอกกับฝ่ายจีนว่า คุณมีตลาดและเงินทุน เรามีสภาพอากาศ ที่ดิน และสิ่งแวดล้อม เราเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่เหมาะสม นำสิ่งที่คุณมีมาให้เราใช้ประโยชน์ แล้วทั้งสองฝ่ายก็ได้ประโยชน์ด้วยกัน”

    โครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ทำไมการลงทุนของจีนในอาร์เจนตินาและบราซิลในด้านอุตสาหกรรมเกษตร จึงมากกว่าเรื่องการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ Zheng Fengtian ผู้เชี่ยวชานด้านการเกษตรของจีนให้สัมภาษณ์ว่า “จีนลงทุนมากในแอฟริกา เพื่อเป็นแหล่งป้อนทรัพยากรธรรมชาติ ในแง่ความมั่นคงทางอาหาร ยุทธศาสตร์ก็เป็นแบบเดียวกัน คือลงทุนเพื่อสร้างหลักประกันด้านแหล่งอุปทานอาหาร”

    China’s Silent Army กล่าวสรุปว่า การที่จีนขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ออกไปพิชิตประเทศต่างๆ ในโลก เป็นการพิชิตเอาชนะที่มีโฉมหน้าและศักดิ์ศรีความเป็นคน (human face) คนงาน พ่อค้า วิศวกร และผู้ประกอบการของจีน ได้ลงมือดำเนินการสร้างแอฟริกาครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ ท่าเรือแห่งใหม่ ถนน เขื่อน และสนามฟุตบอล ที่เกิดขึ้นทั่วโลก คือโฉมหน้าที่มองเห็นของการขยายอำนาจธุรกิจจีนไปทั่วโลก

    เอกสารประกอบ
    China’s Silent Army, Juan Pablo Cardenal & Hariberto Araujo, Allen Lane, 2013.