ThaiPublica > สู่อาเซียน > เหมืองทอง รอบทะเลสาบ “อินดอจี” ผลของ “สุญญากาศ” อำนาจในเมียนมา

เหมืองทอง รอบทะเลสาบ “อินดอจี” ผลของ “สุญญากาศ” อำนาจในเมียนมา

28 มิถุนายน 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

แหล่งน้ำโดยรอบที่ไหลลงสู่ทะเลสาบอินดอจี ที่มาภาพ: Eleven Media Group

วันที่ 20 มิถุนายน 2565 Eleven Media Group มีรายงานถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในบริเวณโดยรอบทะเลสาบอินดอจี ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมา

เนื้อหาข่าวเขียนว่า ตั้งแต่ปี 2564 ตามแหล่งน้ำ ลำธาร ลำห้วย รอบๆ ทะเลสาบอินดอจี มีนักลงทุนเข้าไปทำเหมืองทองคำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

พื้นที่เหล่านี้ เป็นบริเวณป่าที่สมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สำคัญ คูน้ำ ลำธาร และลำห้วยเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทางของน้ำที่จะไหลลงสู่ทะเลสาบอินดอจี!

ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 พบเห็นรถแบ็กโฮหลายคันวิ่งเข้าไปตามหมู่บ้านที่มีลำธารและคูน้ำซึ่งคาดว่าจะเต็มไปด้วยสินแร่ทองคำ เช่น หมู่บ้านมายหน่อ หมู่บ้านคองโตงชอง หมู่บ้านมะโหม่งก่าย ฯลฯ ในเมืองอินดอ

“จำนวนเหมืองทองค่อยๆ เพิ่มขึ้นหลังเกิดการรัฐประหาร” เจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพผู้หนึ่ง เล่ากับ Eleven Media Group และเสริมว่า ในตอนนี้ น่าจะมีรถแบ็คโฮเป็นพันๆ คันที่กำลังทำงานอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ รอบๆ ทะเลสาบอินดอจี

สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ทะเลสาบอินดอจีแห้ง ชาวประมงที่อาศัยทะเลสาบอินดอจีเป็นแหล่งทำมาหากินจับปลาได้น้อยลง และนอกจากการทำเหมืองทองที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว การตัดไม้ทำลายป่ารอบๆ ทะเลสาบอินดอจีก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

แหล่งน้ำโดยรอบที่ไหลลงสู่ทะเลสาบอินดอจี ที่มาภาพ: Eleven Media Group

“ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์อย่างกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) ควรต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ”

การทำเหมืองทองรอบๆ ทะเลสาบอินดอจี เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ย่างเข้าสู่สหัสวรรษที่สอง (พ.ศ.2543) จากนั้น สภาพแวดล้อมบริเวณนี้ค่อยๆ ทรุดโทรม น้ำเริ่มเป็นพิษ จนชาวบ้านต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำจากทะเลสาบอินดอจีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“คนที่เข้ามาทำเหมืองทองรอบทะเลสาบอินดอจีเป็นชาวบ้านในพื้นที่เพียง 10% เท่านั้น ที่เหลือมากกว่าครึ่งเป็นคนจากนอกพื้นที่ แต่ผู้ที่มาทำเหมืองทองที่นี่ก็ใช่ว่าจะประสพความสำเร็จกันทุกคน บางคนที่เข้ามาแล้วต้องกลับไปมือเปล่า แต่ผลเสียกลับตกอยู่กับท้องถิ่น ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม จำนวนปลาที่น้อยลง น้ำเป็นพิษ หรือแม้แต่ปัญหายาเสพติด แต่ชาวบ้านก็ไม่กล้าพูดอะไรมาก” นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรายเดิมเล่า

อินดอจีเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมา อยู่ในเมืองอินดอ จังหวัดโมญิน รัฐคะฉิ่น ตัวทะเลสาบกว้าง 7 ไมล์ (11 กิโลเมตร) ยาว 16 ไมล์ (26 กิโลเมตร) พื้นที่เฉพาะตัวทะเลสาบครอบคลุมกว่า 100 ตารางไมล์ และเมื่อรวมกับพื้นที่โดยรอบจะใหญ่ถึง 314.67 ตารางไมล์ (โปรดดูแผนที่ประกอบ)

พื้นที่รอบทะเลสาบอินดอจีถูกประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตั้งแต่ปี 2542 ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนเมื่อปี 2547 ถูกรับรองให้เป็นพื้นที่ตามข้อตกลงการเป็นพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพเอเซียตะวันออกเฉียงใต้-ออสเตรเลีย ในปี 2557 ได้ขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (RAMSAR Site) ในปี 2559 เป็นเขตสงวนชีวมณฑลของยูเนสโก้ (UNESCO Biosphere Resetve) ในปี 2560

ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในเขตอินดอจี ระบุว่าในพื้นที่แห่งนี้มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถึง 37 สายพันธุ์ นกอีกมากกว่า 450 สายพันธุ์ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอีก 88 สายพันธุ์ ปลา 80 สายพันธุ์ ผีเสื้อ 50 สายพันธุ์ไม้ยืนต้น 85 ชนิด สมุนไพร 56 ชนิด ไผ่ 11 ชนิด หญ้า 14 ชนิด และกล้วยไม้อีก 70 ชนิด…

ปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบๆ ทะเลสาบอินดอจี ได้มีสัญญานปรากฏให้เห็นแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เกิดการรัฐประหารในเมียนมา

วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 The Voice of Shan-Ni เพจข่าวของชาว “ไตแดง” ในรัฐคะฉิ่นและภาคสะกาย มีรายงานว่าปริมาณน้ำในทะเลสาบอินดอจีได้ลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย จนผืนดินที่อยู่รายรอบเจดีย์ฉ่วยมิงซู ที่อยู่กลางทะเลสาบอินดอจีแห้งผาก มองเห็นถนนที่ทอดจากชายฝั่งไปยังตัวเจดีย์ได้อย่างชัดเจน

ประเพณีบูชาเจดีย์ฉ่วยมิงซู ที่เคยจัดในช่วงสถานการณ์ปกติ ที่มาภาพ : Eternally Peace News Network

“ฉ่วยมิงซู” เป็นเจดีย์สีทองอร่ามสวยงามกลางทะเลสาบอินดอจี ที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมากเดินทางมาสักการะเป็นประจำทุกปี

ชาวไตแดงที่อาศัยอยู่ในทุ่งหนองโหลง รอบๆ ทะเลสาบอินดอจี บอกว่าระดับน้ำในปีนั้นแห้งเป็นประวัติการณ์ อย่างน้อยตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พวกเขาไม่เคยเห็นน้ำในอินดอจีแห้งได้ถึงขนาดนี้

ทุ่งหนองโหลงอยู่ห่างจากตัวจังหวัดโมญิน 30 ไมล์ มีชาวบ้านอาศัยอยู่ 36 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นชาวไตแดง

ระดับน้ำในทะเลสาบอินดอจีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งชาวบ้านบอกว่าแห้งที่สุดในรอบ 50 ปี ที่มาภาพ: เพจ The Voice of Shan-Ni

ชาวไตแดงเรียกถนนจากชายฝั่งไปยังเจดีย์ฉ่วยมิงซูว่าถนนขุนผีสร้าง เดิมเป็นแนวสันทรายธรรมชาติที่จมอยู่ใต้น้ำเป็นส่วนใหญ่ แต่พอถึงเดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปี ระดับน้ำจะลดลงจนแนวสันทรายโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ จึงมีการจัดงานบูชาเจดีย์ฉ่วยมิงซูเป็นประเพณีประจำเดือน 4 ที่ผู้คนจะเดินตามแนวสันทรายเพื่อไปสักการะเจดีย์

โดยปกติ เมื่อเสร็จประเพณีบูชาเจดีย์ฉ่วยมิงซู ระดับน้ำในอินดอจีจะเพิ่มขึ้นจนท่วมแนวสันทรายอีกครั้ง แต่ในปีนั้น ระดับน้ำกลับแห้งลงต่อเนื่อง กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง (โปรดดูภาพประกอบ)

จุดที่ตั้งทะเลสาบอินดอจี จังหวัดโมญิน รัฐคะฉิ่น

ชาวบ้านพยายามวิเคราะห์เหตุผล โดยคาดว่าสาเหตุหลักมาจากฝนทิ้งช่วง ประกอบกับอากาศในปีนั้นร้อนและแห้งแล้งมากกว่าปกติ

นอกจากนี้ อาจเป็นผลจากการทำถนนคอนกรีตทับลงบนสันทรายตามแนวถนนขุนผีสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการเดินไปสักการะเจดีย์ ที่ไปเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลเวียนของน้ำในทะเลสาบ

แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ คือตามเทือกเขารอบๆ ทะเลสาบอินดอจี มีการทำเหมืองทองคำ และมีการตัดไม้จำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม…

ชาวไตแดงเรียกทะเลสาบอินดอจีว่าหนองแม่ม่าย ตามตำนานที่เล่าสืบกันมาว่า บริเวณที่เป็นทะเลสาบปัจจุบันเดิมเคยเป็นเมือง ชื่อว่าเมือง “เจ้คำ” แต่คนส่วนใหญ่ประพฤติตนไม่อยู่ในศีลในธรรม จนพญานาคอดรนทนไม่ไหว ต้องขึ้นมาบอกให้ชาวเมืองย้ายออกไปภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะบันดาลให้น้ำท่วมเมือง

มีแม่ม่ายนางหนึ่งพยายามที่จะเตือนชาวบ้านถึงคำขู่ของพญานาค แต่ไม่มีใครเชื่อ นางจึงพาลูกๆ หนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา และเมื่อครบกำหนด 7 วัน น้ำได้ไหลลงมาท่วมเมืองเจ้คำ จนกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่

มีเพียงครอบครัวของแม่ม่ายที่รอดชีวิตจากน้ำท่วมในคราวนั้น…

เรือขุดแร่ทองคำริมฝั่งแม่น้ำชินดวินในเมืองคำตี่ ภาคสะกาย ที่มาภาพ: Eleven Media Group

ไม่ใช่เพียงแต่บริเวณโดยรอบทะเลสาบอินดอจีเท่านั้น ที่มีการทำเหมืองทองคำแบบผิดกฎหมายกันอย่างเอิกเกริก

ข่าวพาดหัวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ The Daily Eleven ของ Eleven Media Group ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ได้นำเสนอเรื่องการพบเรือขุดทองคำตลอดแนวลำน้ำชินดวินในเมืองคำตี่ จังหวัดคำตี่ ภาคสะกาย โดยเนื้อหาข่าวอ้างการร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งอาศัยอยู่ตามชุมชนริมฝั่งแม่น้ำชินดวิน บริเวณช่วงรอยต่อระหว่างเมืองตะนาย รัฐคะฉิ่น กับเมืองคำตี่

พาดหัวข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ The Daily Eleven ฉบับเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เรื่องเรือขุดทองคำในแม่น้ำชินดวิน

ชาวบ้านร้องเรียนว่ามีนายทุนซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มใด ได้นำเรือขุดมาจอดไว้ตามริมฝั่งแม่น้ำชินดวินและลำคลองสาขา เพื่อขุดหาสินแร่ทองคำ โดยกลุ่มทุนเหล่านี้เริ่มนำเรือขุดมาจอดไว้ตั้งแต่หลังช่วงสงกรานต์ปี 2564 และค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขณะที่มีการร้องเรียน พบว่ามีเรือขุดทองคำจอดอยู่มากกว่า 30 ลำ

เรือขุดเหล่านี้ดูดดินทรายจากท้องน้ำขึ้นมาเพื่อหาสินแร่ทองคำ จากนั้นก็ทิ้งเศษดินกลับลงไปในแม่น้ำอีกครั้ง สร้างความสกปรกแก่แม่น้ำ ชาวบ้านที่อยู่ทางปลายน้ำลงไปไม่สามารถใช้น้ำได้ นอกจากนี้ยังทำให้แนวร่องน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บางจุดเกิดตื้นเขิน และจนถึงขณะที่มีการร้องเรียน ยังไม่มีหน่วยงานใดของรัฐเข้าไปดำเนินการกับเรือขุดเหล่านี้

แม่น้ำชินดวินเป็นลำน้ำสาขาหลักสายหนึ่งของแม่น้ำอิรวดี มีจุดเริ่มต้นจากเทือกเขาในรัฐคะฉิ่น ไหลผ่านภาคสะกาย และลงไปบรรจบกับแม่น้ำอิรวดี ที่บริเวณพรมแดนระหว่างเมืองมยินจาน ภาคมัณฑะเลย์ กับเมืองบะโคะกู่ ภาคมะกวย
……

หลายพื้นที่ของเมียนมา โดยเฉพาะตามรัฐชาติพันธุ์ ยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ในผืนดินมีสินแร่ที่มีมูลค่า ยังรอการสำรวจอยู่อีกมาก

โดยเฉพาะรัฐคะฉิ่น ซึ่งตามท้องน้ำหลายสายเต็มไปด้วยสินแร่ทองคำ ที่ได้สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านมาเป็นเวลาช้านาน

เดือนธันวาคม 2563 สำนักข่าว EPN (Eternally Peace News Network) เคยเสนอภาพการทำมาหากินที่เป็นอาชีพเสริมของชาวปูตาโอ ที่พวกเขามักทำหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวพืชผล นั่นคือการร่อนทองในแม่น้ำมัลลิคะ

การร่อนทองในแม่น้ำมัลลิคะ อาชีพเสริมของชาวปูตาโอในช่วงเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ที่มาภาพ: Eternally Peace News Network

จังหวัดปูตาโออยู่ทางเหนือของรัฐคะฉิ่น เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถมองเห็นหิมะบนเทือกเขาคากาโบราชี่ได้ชัดเจนที่สุด เป็นจุดเด่นที่ขึ้นชื่อของปูตาโอ

ส่วนแม่น้ำมัลลิคะไหลลงใต้ และไปรวมกับแม่น้ำเมคะในเขตมิตโส่ง ซึ่งอยู่เหนือจากมิตจีน่า เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นขึ้นมาประมาณ 28 ไมล์ จุดที่แม่น้ำทั้ง 2 สายไหลมารวมกัน คือต้นกำเนิดของแม่น้ำอิรวดี

ปูตาโอเป็นเมืองที่ก่อตั้งโดยชาว “ไตคำตี่” ในช่วงที่ชาวไตคำตี่อพยพโยกย้ายจากถิ่นฐานดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันอยู่มณฑลยูนนานของจีน มาทางทิศตะวันตก ก่อนข้ามไปตั้งหลักปักฐาน สร้างเมืองอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นรัฐอรุณาจัลประเทศ ของอินเดียในปัจจุบัน

เมืองปูตาโอมีชื่อเดิมว่า “คำตี่โหลง” ชื่อปูตาโอมาจากภาษาไตคำตี่ ที่คนท้องถิ่นดั้งเดิมเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่าเมือง “ปู่เฒ่า”

ชาวไตคำตี่เป็นชนชาติไตกลุ่มเดียวกับชาวไตแดงที่อาศัยอยู่รอบๆ ทะเลสาบอินดอจี และชาวไตในจังหวัดคำตี่ ภาคสะกาย

การร่อนทองในแม่น้ำมัลลิคะ อาชีพเสริมของชาวปูตาโอในช่วงเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ที่มาภาพ: Eternally Peace News Network
……

ความไม่แน่นอนของการเมืองและสถานการณ์ขัดแย้งตึงเครียดระหว่างรัสเซีย จีน กับประเทศตะวันตก อัตราเงินเฟ้อ การอ่อนค่าลงของเงินจัตหลังการรัฐประหาร ทำให้ราคาทองคำทั่วโลกและในเมียนมาพุ่งสูงขึ้น จูงใจผู้คนให้พยายามขุดค้น แสวงหาสินแร่ทองคำที่มีอยู่ตามแหล่งธรรมชาติ

ตามกฏหมายของเมียนมา กำหนดไว้ว่าการขุดค้นแร่ธาตุต้องทำห่างจากริมฝั่งแม่น้ำอย่างน้อย 200 เมตร หรือห่างจากริมฝั่งคลองอย่างน้อย 100 เมตร การทำเหมืองทองคำตามลำธาร ลำห้วยบริเวณรอบๆ ทะเลสาบอินดอจี หรือการนำเรือขุดทองไปจอดริมฝั่งเพื่อทำเหมืองตลอดแนวแม่น้ำชินดวิน จึงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม นับแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วเมียนมา จากความเคลื่อนไหวต่อต้านสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ของฝ่ายอดีตนักการเมืองพรรค NLD

ทั่วประเทศ มีสงครามและการสู้รบ ทั้งระหว่างทหาร-ตำรวจพม่า กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และระหว่างทหาร-ตำรวจพม่า กับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์เกิดขึ้นเป็นจุดๆ

สถานการณ์เช่นนี้ได้ก่อให้เกิด “สุญญากาศ” ในการบังคับใช้กฏหมาย เปิดช่องให้มีการกระทำผิดกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของเมียนมา

เหมืองทองคำรอบทะเลสาบอินดอจี เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น…