ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อโลกการเงิน ความเชื่อมั่นสั่นคลอน

เมื่อโลกการเงิน ความเชื่อมั่นสั่นคลอน

31 มีนาคม 2023


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

เมื่อโลกการเงินความเชื่อมั่นสั่นคลอน

วิกฤติแบงก์ล้มในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ส่งแรงกระเพื่อมมาถึงดอยช์แบงก์ แบงก์ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี มีสินทรัพย์ราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ออกอาการวูบไหวไปชั่วขณะในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า เมื่อราคาหุ้นดิ่งลงหลังมีข่าวสะพัดว่า Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี จนถูกจับตาว่า แบงก์ใหญ่เมืองเบียร์รายนี้อาจจะตามเครดิตสวิสแบงก์ไปอีกราย

งานนี้ โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออกโรงสยบข่าวลือด้วยตัวเองโดยกล่าวว่า ดอยช์แบงก์ได้ผ่านการปรับโครงสร้างมาแล้ว และมีการปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย รวมทั้งเป็นธนาคารที่สามารถทำกำไรอย่างมาก นักลงทุนจึงไม่ควรคาดเดาเกี่ยวกับอนาคตของทางธนาคาร

นอกจากนี้ บรรดานักวิเคราะห์ยังออกมาช่วยเสริมอีกแรงว่า ดอยช์แบงก์จะไม่เป็นโดมิโนตัวต่อจากเครดิตสวิส เพราะธนาคารแห่งนี้มีกำไรถึง 5 พันล้านยูโร (5.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 159 % เมื่อเทียบกับปี 2564 และสามารถทำกำไร 10 ไตรมาสติดต่อกัน (เครดิตสวิสแบงก์ขาดทุน 5 ไตรมาสต่อเนื่อง)

สถานะดอยช์แบงก์เหมือนเครดิตสวิสแบงก์ตรงที่ว่า อยู่ในกลุ่ม Systemically Important Financial Institution (SIFI) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ หรืออยู่ในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าจะล้ม เพราะผูกโยงกับธุรกิจหลากหลายในหลายๆ ประเทศ หากมีอันเป็นไป เสี่ยงที่จะสร้างหายนะต่อระบบเศรษฐกิจได้ง่ายๆ

กรณีดอยช์แบงก์ที่ฐานะการเงินยังดีอยู่ แต่ยังตกเป็นเหยื่อของการคาดเดาว่าอาจจะล้ม แม้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ราคาหุ้นค่อยๆ ดีดกลับขึ้นมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในโลกการเงินที่สั่นคลอนมากขึ้น แม้ช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแลการธนาคารทั้งของสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์สามารถจำกัดขอบเขตความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้มาตรการที่ตอบสนองปัญหาอย่างฉับพลัน ด้วยการเข้าควบคุมกิจการ หาคนเข้ามารับช่วงต่อ จบภายในสัปดาห์เศษ อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ฝากเงินว่าจะได้เงินฝากคืน ครอบคลุมกว่าที่กฎหมายค้ำประกันเงินฝากกำหนดเพดานเอาไว้ (กรณีแบงก์ล้มในสหรัฐฯ) และผู้นำประเทศออกมายืนยันความแข็งแกร่งของระบบการเงิน รวมไปถึงการที่ธนาคารกลางในยุโรปและเฟดยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทั้งที่การโหมขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและแบงก์ชาติหลายประเทศ นับจากช่วงปีผ่านมา ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เอสวีบีต้องล้มพับไป ซึ่งนักวิชาการตีความท่าทีดังกล่าวว่า เหมือนการส่งสัญญาณกลายๆ ว่า ระบบการเงินยังโอเคอยู่นะ ฉันจึงขึ้นดอกเบี้ยต่อ

แม้ช่วงเวลานี้ดูเหมือนคลื่นลมสงบลงแล้ว แต่ผลจากวิกฤติที่เกิดขึ้นนั้นยังอยู่ เชื่อว่าหากมีข่าวว่าแบงก์ไหนมีธุรกรรม “ผิดนัด” หรือลูกค้าเริ่มถอนเงิน วงการแบงก์ที่ยังไม่สร่างไข้ดีคงสะท้านกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะยุคนี้ ที่โซเชียลมีเดียนำข่าวสารกระจายออกไปเร็วราวกับแสง หลังจากนี้คงมีอีกหลายแบงก์ที่จะถูกคาดเดาถึงอนาคต ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เปราะบางอย่างยิ่ง เพราะแบงก์ที่ฐานะการเงินยังดีอยู่อาจจับไข้หรือถึงขั้นล้มเอาง่ายๆ หากต้องเป็นเป้าของข่าวลือจนแบงก์รัน

ก่อนหน้าวิกฤติแบงก์ครั้งนี้จะปะทุขึ้นมา โลกการเงินได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เริ่มสั่นคลอนมาระยะหนึ่งแล้ว สิ่งบอกเหตุสำคัญ คือ การตุนทองคำทั้งจากสถาบันและบุคคล ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว แบงก์ซิลเวอร์เกตประกาศยุติการดำเนินการ ตามด้วยการเข้าควบคุมเอสวีบีแบงก์ ต่อด้วยซิกเนเจอร์แบงก์ของสถาบันประกันเงินฝากสหรัฐฯ และจบด้วยการล่มสลายของสวิสแบงก์นั้น ราคาทองคำพุ่งสวนทางกับราคาหุ้นทั่วโลกที่ร่วงกราว

ราคาทองคำในตลาดโลกได้พุ่งทำนิวไฮวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ทองคำแท่งขายออกอยู่ที่ 31,750 บาท ทองรูปพรรณขายออก 32,350 บาท ปรับขึ้นนับจากปลายปีที่แล้ว 1,500 บาท และ 2,000 บาทตามลำดับ

ขณะเดียวกัน มีรายงานเป็นระยะๆ ว่า แบงก์ชาติทั่วโลกพากันตุนทองคำเพิ่มขึ้น เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สื่อรายงานอ้างสภาทองคำโลก (WGC) ว่า ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเป็นทุนสำรองในปี 2565 รวมกันมากถึง 1,136 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 ทาง WGC ยังได้แจงถึงสาเหตุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกหยุดขายทองคำสำรอง นับจากเกิดวิกฤติการเงินระหว่างปี 2550-2551 และธนาคารกลางหลายประเทศหันไปตุนทองคำสำรองเพิ่ม เช่น จีน ตุรกี รัสเซีย อินเดีย เป็นต้น

การตุนทองคำกับสถานการณ์โลกที่ระอุจากสงครามยูเครนเป็นเรื่องที่ผูกโยงกัน ล่าสุด มอสโกกับเคียฟยังไม่มีสัญญาณว่าจะเดินหน้าเข้าสู่โต๊ะเจรจา หนำซ้ำแนวรบยังบานปลาย เป็นความพยายามแยกขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ทำให้เรื่องราวของโลกใบนี้ซับซ้อนและคาดเดายากยิ่งขึ้นไปอีก

วันนี้ความเชื่อมั่นในโลกการเงินกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งก็ว่าได้ เพราะเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าลงทุนหรือฝากเงินต้องได้รับผลตอบแทน ได้คืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย หากผิดไปจากนั้นผลที่ตามมา เบาะๆ คือตระหนก วุ่นวาย แต่ถ้าถึงขั้นหนักคือช็อกและโกลาหล

ความเชื่อมั่นยิ่งสั่นคลอน ความไม่แน่นอนยิ่งสูงตาม