ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คนขสมก.ถามบอร์ดทำไมเร่งขยายสัญญาโฆษณาบน “รถเมล์” ล่วงหน้า 5 ปี

คนขสมก.ถามบอร์ดทำไมเร่งขยายสัญญาโฆษณาบน “รถเมล์” ล่วงหน้า 5 ปี

19 มีนาคม 2023


คนขสมก.ถามบอร์ด ทำไมต้องเร่งต่อขยายสัญญาให้เอกชนโฆษณาบนรถโดยสารปรับอากาศล่วงหน้าอีก 5 ปี จากเดิมสิ้นสุดปี 2570 ขยายออกไปถึงปี 2575 เยียวยาเรื่องอะไร เกินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ด้าน ผอ. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ยันเสนอบอร์ดพิจารณาเห็นชอบแล้ว

หลังจากที่มีกระแสข่าวองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มอบหมายให้นายสถาพร เพชรกอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเยียวยาสิทธิโฆษณาบนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ กับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ให้มีการขยายสัญญาติดตั้งป้ายโฆษณาทั้งภายในและภายนอกรถโดยสารปรับอากาศของ ขสมก. จำนวน 1,500 คัน ออกไปอีก 5 ปี ก่อนที่ “สัญญาหลัก” จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2570 ขยายสัญญาออกไปสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2575 ทำให้พนักงาน ขสมก. มีข้อสงสัยและคำถามตามมาหลายประเด็น

ประเด็นแรก ทำไมต้องรีบต่อขยายสัญญาล่วงหน้า ทั้งๆ ที่สัญญาหลักสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2570 ยังมีเวลาเหลืออีก 4 ปี ถามว่าการนำทรัพย์สินหน่วยงานของรัฐไปจัดหาประโยชน์ตามหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของกรมบัญชีกลาง ควรเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และเท่าเทียมทุกขั้นตอนหรือไม่

ประเด็นที่ 2 มีข้อสังเกตว่านายสถาพร เพชรกอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ ซึ่งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเยียวยาฯ กับบริษัท แพลน บีฯ ตามหนังสือที่ สบก.344/2565 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นั้น มีประเด็นคำถามตามมาว่า นายสถาพรมีอำนาจในการลงนามหรือไม่ เนื่องจากสัญญาดังกล่าวนี้มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาท และมีระยะเวลาของสัญญาเกิน 3 ปี ตามระเบียบของ ขสมก. ต้องเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินการหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ทางพนักงาน ขสมก. ก็ข้อสงสัยว่า การทำบันทึกข้อตกลงฯ ต่อขยายอายุสัญญาให้บริษัท แพลน บีฯ นั้นผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ขสมก. แล้วหรือยัง เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่ามีการบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระการพิจารณา และมีอยู่ในบันทึกการประชุมบอร์ด ขสมก. หรือไม่

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

ล่าสุด นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นนี้ โดยยืนยันว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ต่อขยายอายุสัญญาฯ ให้บริษัทแพลน บีฯ ที่ประชุมบอร์ด ขสมก. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว

ประเด็นที่ 3 การต่อขยายสัญญาฯ ให้เอกชนล่วงหน้าอีก 5 ปี โดยผู้บริหารของ ขสมก. ให้เหตุผลว่าเป็นการเยียวยาสิทธิโฆษณาบนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ หลังจากเอกชนได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ในช่วงที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายเรื่องอะไร

“ถ้าเป็นการเยียวผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระบาด ที่ประชุมบอร์ดของ ขสมก. เคยได้มีการพิจารณาเยียวยาผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับ ขสมก. ไปทั้งหมดแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ ร้านค้า แผงขายของ และถ้าอ้างว่าเป็นการเยียวยา กรณีหยุดเดินรถ เพื่อซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศนั้น ก็มีการบรรจุไว้ในแผนการซ่อมบำรุงตามเอกสารแนบท้ายสัญญาฯ อยู่แล้ว”

เนื่องจากก่อนทำสัญญาฯ ขสมก. มีรถโดยสารปรับอากาศที่ต้องส่งเข้าซ่อมบำรุงประมาณ 320 คัน ตามแผนซ่อมบำรุงได้กำหนดให้มีการนำรถเมล์สลับกันเข้าไปซ่อมบำรุงครั้งละ 10 คันขึ้นไป เฉลี่ยคันละ 3 วัน รวมแล้วใช้เวลาซ่อมบำรุงประมาณ 2-3 เดือน ดังนั้น หากมีการหยิบยกผลกระทบเรื่องการซ่อมบำรุงรถ มาเป็นเหตุผลเยียวยาเอกชนโดยการต่อสัญญาล่วงหน้าให้อีก 5 ปี ก็อาจมีน้ำหนักไม่เพียงพอ

ประเด็นสุดท้าย ที่คนใน ขสมก. ติดใจสงสัยมาก คือ เรื่องการคิดคำนวณมูลค่าความเสียหาย เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาต่อสัญญาล่วงหน้าอีก 5 ปี มีหลักในการคำนวณอย่างไร เยียวยามากเกินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบ หากคิดคำนวณจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะในส่วนที่ ขสมก. ได้รับจากการต่อสัญญา 5 ปี โดยนำค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีสุดท้าย (ปี 2570) ที่ ขสมก. จะได้รับจากบริษัท แพลน บีฯ คันละ 9,004 บาท/เดือน (ตามสัญญาหลัก) เป็นฐานในการคำนวณ กับจำนวนรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้ติดป้ายโฆษณาประมาณ 1,135 คัน แต่ละเดือน ขสมก. จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากบริษัท แพลน บีฯ ประมาณ 10.22 ล้านบาท รวมสัญญาที่ต่อขยาย 5 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 613 ล้านบาท รวมกับอัตราค่าตอบแทนที่บริษัทแพลน บีฯ จ่ายเพิ่มให้อีก 3% และค่าตอบแทนล่วงหน้าที่ต้องชำระ ณ วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯอีก 7,023,174 บาท คิดเป็นมูลค่าไม่น่าจะเกิน 700 ล้านบาท

สรุปการต่อขยายสัญญาให้เอกชนล่วงหน้า ก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุด ก็มีคนใน ขสมก. ติดใจสงสัย ฝากคำถามไปถึงบอร์ดและผู้บริหารของ ขสมก. ว่ารู้ได้อย่างไร การดำเนินการดังกล่าวนี้ ขสมก. ได้รับประโยชน์สูงสุด ทำไมต้องรีบ ไม่รอสัญญาสิ้นสุดก่อนแล้วเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน ในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยอาจดีขึ้นกว่านี้ ธุรกิจโฆษณาขยายตัวเพิ่มขึ้น รายได้ที่ ขสมก. ควรจะได้รับอาจมากกว่านี้ก็เป็นไปได้ ทำไมต้องรีบต่อสัญญากันล่วงหน้า…

ที่มาสัญญาให้สิทธิเอกชนโฆษณาบนรถเมล์

สำหรับความเป็นมาของสัญญาให้สิทธิโฆษณาบนรถโดยสารปรับอากาศ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก. ซึ่งในสัญญานี้เรียกว่า “ผู้ให้สัญญา” ได้ลงนามในสัญญาให้สิทธิโฆษณาบนรถโดยสารปรับอากาศ ตามหนังสือสัญญาเลขที่ ซ.36/2556 กับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์, นายพินิจสรณ์ ลือชัยขจรพันธ์ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และนางสาวอภิรดี โอภาสเอี่ยมลิขิต ผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งในสัญญานี้เรียกว่า “ผู้รับสัญญา” โดยทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญากันมีสาระสำคัญๆ คือ ผู้ให้สัญญา (ขสมก.) ตกลงให้สิทธิผู้รับสัญญา (บริษัทแพลน บีฯ) ติดภาพโฆษณาทั้งภายในและภายนอก บนรถโดยสารปรับอากาศจำนวน 1,500 คัน ซึ่งเป็นรถโดยสารปรับอากาศใหม่ที่เข้ามาเพิ่มเติม หรือทดแทนรถโดยสารปรับอากาศเดิม นับจากวันลงนามถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2570 โดยคู่สัญญาตกลงเกี่ยวกับจำนวนรถโดยสารและอัตราค่าตอบแทนดังนี้

    1. ตั้งแต่วันถัดจากการลงนามสัญญานี้ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 โดยในช่วงที่ ขสมก. ยังไม่สามารถส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศใหม่ที่เข้ามาทดแทน หรือเพิ่มเติม ขสมก. ให้บริษัทแพลน บีฯ ติดภาพโฆษณารถโดยสารปรับอากาศยูโรทู จำนวน 650 คัน อัตราค่าตอบแทน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คันละ 7,700 บาท/เดือน ตามเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข (1) และ ขสมก. จะจัดหารถทดแทน กรณีรถจอดเสียจำนวน 320 คัน ตามเอกสารแนบท้ายสัญญาหมาลเข (2) และรถโดยสารปรับอากาศยูโรทูที่บริษัทแพลน บีฯ จะขอติดภาโฆษณาเพิ่มเติมจำนวน 240 คัน ในอัตราค่าตอบแทน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เฉพาะคันที่ติดภาพโฆษณา คันละ 8,000 บาทต่อเดือน ตามเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข (3)

    ในระหว่างนี้ หาก ขสมก. ได้รับรถโดยสารปรับอากาศใหม่ที่เข้ามาเพิ่มเติม หรือทดแทนรถโดยสารเดิม บริษัทแพลน บีฯ ตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่ ขสมก. ในอัตราคันละ 8,000 บาท/เดือน

    2. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 – วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อัตราค่าตอบแทน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คันละ 8,240 บาท/เดือน รวมเป็นเงินเดือนละ 12,360,000 บาท

    3. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – วันที่ 30 มิถุนายน 2566 อัตราค่าตอบแทน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คันละ 8,487.20 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 12,730,800 บาท

    4. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 – วันที่ 30 มิถุนายน 2569 อัตราค่าตอบแทน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คันละ 8,741.82 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 13,112,730 บาท

    5. ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2569 – วันที่ 30 มิถุนายน 2570 อัตราค่าตอบแทน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คันละ 9,004.07 บาท/เดือน รวมเป็นเงินเดือนละ 13,506,105 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นายสถาพร เพชรกอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการเดินรถเอกชนร่วมบริการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ได้รับมอบอำนาจสั่งการ (ตามหนังสือที่ สบก.344/2565 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565) ให้เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการเยียวยาสิทธิโฆษณาบนรถโดยสารปรับอากาศ เลขที่ จ.160/2565 เรียกว่า “ผู้ให้สัญญา” กับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์, นายพินิจสรณ์ ลือชัยขจรพันธ์ และนายอานนท์ พรธิติ ซึ่งในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนี้เรียกว่า “ผู้รับสัญญา” โดยคู่สัญญาตกลงทำบันทึกข้อตกลงกันดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ผู้ให้สัญญา (ขสมก.) และผู้รับสัญญา (บริษัท แพลน บีฯ) ตกลงเรียกสัญญาให้สิทธิโฆษณาบนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สัญญาเลขที่ ซ. 36/2556 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ว่า “สัญญาหลัก”

ข้อ 2 ผู้ให้สัญญาตกลงเยียวยาสิทธิผู้รับสัญญา ติดภาพโฆษณาภายนอกและภายในรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 1,500 คัน ตามสัญญาหลัก ซึ่งเป็นรถโดยสารปรับอากาศใหม่ที่เข้ามาเพิ่มเติม หรือทดแทนรถโดยสารปรับอากาศเดิม ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงรถโดยสารปรับอากาศที่อยู่ใต้ใบอนุญาตเดินรถที่ผู้ให้สัญญาจากกรมขนส่งทางบก และภายใต้การควบคุมของผู้ให้สัญญาทั้งหมด นับถัดจากวันลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575 ดังนี้

    2.1 ผู้รับสัญญา ตกลงชำระค่าตอบแทนล่วงหน้าร้อยละ 2 ของวงเงินในช่วงขยายระยะเวลาสัญญา 5 ปี โดยคำนวณจากค่าตอบแทนเดือนสุดท้ายที่สิ้นสุดสัญญาในปี 2570 เป็นจำนวนเงิน 7,023,174.60 บาท โดยชำระ ณ วันที่ลงนามบันทึกข้อตกลง
    2.2 ผู้ให้สัญญา และผู้รับสัญญา ตกลงปรับอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3

  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 3: สหภาพฯ ค้านจ้างเอกชนเดินรถ
  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 2: ฟื้นฟูกิจการ (แบบปลอมๆ)
  • แผนกู้ซาก ขสมก. ตอนที่ 1: ยิ่งแก้ ยิ่งขาดทุน
  • บขส. เตรียมชงบอร์ดฯ เคาะจัดหารถโดยสารไฟฟ้า มิ.ย. นี้