ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจบริการรถเมล์ ขสมก. ใช้งานได้ 2,700 คัน รับผู้โดยสารกรุงเทพ-ปริมณฑล 1.7 แสนคน/เที่ยว – สาย 520 มีรถบริการแค่ 1 คัน

สำรวจบริการรถเมล์ ขสมก. ใช้งานได้ 2,700 คัน รับผู้โดยสารกรุงเทพ-ปริมณฑล 1.7 แสนคน/เที่ยว – สาย 520 มีรถบริการแค่ 1 คัน

12 พฤษภาคม 2017


รถเมล์บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เมื่อเอ่ยถึงระบบคมนาคมขนส่งที่สำคัญกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น “รถเมล์” ซึ่งเป็นระบบขนส่งที่ถือว่าครอบคลุมที่สุดในเขตกรุงเทพฯ และให้บริการประชาชนมาอย่างยาวนาน

จากภาวะการขาดทุนสะสมระดับแสนล้านบาทขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทำให้มีเสียงบ่นมากมายจากผู้ใช้บริการรถเมล์ เพราะไม่สามารถรองรับต่อประชากรในกรุงเทพและปริมณฑลได้อย่างทั่วถึง ยิ่งปัจจุบันมีเส้นทางถนนตัดใหม่ ประชาชนที่อยู่ในเส้นทางเหล่านั้นไม่มีรถเมล์หรือรถขนส่งสาธารณะให้บริการ

ปัจจุบันบทบาทของขสมก.เป็นผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะและเป็นผู้กำกับดูแลด้วย โดยมีกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำหนดเส้นการเดินรถและกำหนดค่าบริการ ขณะที่ความเห็นของนักวิชาการเสนอแนะว่าขสมก.ควรเป็นคนกำกับดูแล และให้ผู้ประกอบเข้ามารับจ้างเดินรถตามเงื่อนไขที่ขสมก.กำหนด น่าจะทำให้มีรถเมล์บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ไม่ต้องรอนานมากเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งสภาพรถมีอายุการใช้งานนานมากแล้ว และล่าสุดต้องยกเลิกสัญญาการซื้อรถเมล์เอ็นจีวี ก็ยิ่งทำให้จำนวนรถเมล์ที่ให้บริการไม่เพียงพออยู่แล้วยิ่งไม่เพียงพอมากขึ้น

อย่างไรก็ตามหากดูภาวะการขาดทุนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เริ่มสะสมมาตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2519 เนื่องจากวิกฤติราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2516 ซึ่งสร้างปัญหาขาดทุนสะสมให้แก่ผู้ประกอบการเอกชนที่เดินรถให้บริการในตอนนั้น จนรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต้องรวมผู้ประกอบการเอกชนตั้งขึ้นเป็นรัฐวิสาหกิจในท้ายที่สุด

สำนักข่าวไทยพับลิก้า สำรวจความเพียงพอของรถเมล์ในการให้บริการ ทั้งนี้จากข้อมูลขสมก.ณ วันที่ 1 มีนาคม 2560 พบว่า เฉพาะรถประจำทาง ขสมก. โดยไม่รวมรถเอกชนร่วมบริการ สามารถแบ่งเขตการเดินรถเป็น 8 เขต มีรถประจำทางให้บริการรวม 113 สาย ในจำนวนนี้มีเส้นทางที่ขึ้นทางด่วน 22 สาย ที่เหลือเป็นถนนปกติ ด้านปริมาณจำนวนรถประจำทางที่ให้บริการมีทั้งหมด 2,715 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 1,562 คัน รถปรับอากาศ 1,036 คัน และรถเช่าปรับอากาศ 117 คัน

เมื่อคำนวณจำนวนที่นั่งรถประจำทางตามกฎหมายที่กำหนดให้รถธรรมดา 1 คันนั่ง 34 ที่นั่ง ยืน 46 ที่นั่ง รวม 80 ที่นั่ง รถปรับอากาศนั่ง 35 ที่นั่ง ยืน 15 ที่นั่ง รวม 50 ที่นั่ง พบว่า รถ ขสมก. ธรรมดา 1,562 คัน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 124,960 คน และรถปรับอากาศจำนวน 1,036 คัน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 51,800 คน รวมรถประจำทาง ขสมก. รองรับผู้โดยสารได้สูงสุดประมาณ 176,760 คน/เที่ยว

ถ้าหากวิ่งบริการได้ 2 เที่ยวต่อวัน รองรับผู้โดยสารได้ 353,520 คน ในขณะที่ข้อมูลสถิติประชากรและประชากรแฝงในกรุงเทพมหานครมีประมาณ 12 ล้าน นั่นคือ ประชาชนในกรุงเทพฯ เพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่มีโอกาสใช้รถ ขสมก. ได้

นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่า มีรถ ขสมก. จำนวน 17 สาย ที่มีจำนวนรถประจำการใช้งานรวมน้อยกว่า 10 คัน ได้แก่ สาย 520 มธ.ศูนย์รังสิต-บางกะปิ รถปรับอากาศ 1 คัน, สาย 502 มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยฯ รถธรรมดา 3 คัน, สาย 131 มีนบุรี-หนองจอก รถธรรมดา 3 คัน, สาย 525 สวนสยาม-หมู่บ้านเธียรทอง 3 รถธรรมดา 3 คัน, สาย 526 สวนสยาม-ถ.ราษฎร์อุทิศ-ตลาดหนองจอก รถธรรมดา 3 คัน, สาย 710 วงกลมอรุณอมรินทร์-ถ.กาญจนาภิเษก รถธรรมดา 5 คัน, สาย 751 BTS บางหว้า-สะพานพระราม 4 รถแบบธรรมดา 5 คัน, สาย 197 วงกลมมีนบุรี-เลียบคลองสอง-ถ.รามอินทรา รถธรรมดา 6 คัน, สาย 501 มีนบุรี-หัวลำโพง มีรถธรรมดา 7 คัน, สาย 165 พุทธมณฑลสาย 2-ศาลาธรรมสพน์-เขตบางกอกใหญ่ รถธรรมดา 7 คัน, สาย A2 ดอนเมือง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถปรับอากาศ 8 คัน, สาย 556 BTS มักกะสัน-วัดไร่ขิง รถปรับอากาศ 8 คัน, สาย 42 วงกลมท่าพระ-เสาชิงช้า รถธรรมดา 8 คัน, สาย 91ก วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี-เขตบางกอกใหญ่ รถธรรมดา 8 คัน, สาย 720 วงกลมกัลปพฤกษ์-ถ.พระราม 2 รถธรรมดา 8 คัน, สาย 91 หมู่บ้านเศรษฐกิจ-สนามหลวง รถปรับอากาศ 8 คัน และสาย 503 รังสิต-สนามหลวง รถปรับอากาศ 9 คัน ตามลำดับ

สำหรับเส้นทางเดินรถสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ เส้นทางในกรุงเทพฯ และเส้นทางระหว่างปริมณฑลกับกรุงเทพฯ บริเวณปลายทางที่สำคัญของเมือง เช่น สถานีขนส่งหมอชิต สถานีขนส่งสายใต้ และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หัวลำโพง โดยพบว่า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีสายรถประจำทางมากที่สุดคือ 15 สาย จากดอนเมือง, มธ. ศูนย์รังสิต 2 สาย, รังสิต, มีนบุรี 2 สาย, สวนสยาม, ท่าน้ำสาธุประดิษฐ์, แสมดำ, ศาลายา, ท่าอิฐ, เมืองทองธานี, อู่นครอินทร์, ประชานิเวศน์ 3 และอู่สวนสยาม รองลงมาคือสถานีขนส่งหมอชิต มีรถประจำทางจำนวน 12 สาย จากตลาดเทิดไท, ปากน้ำ, แพรกษา, เมกาบางนา, คลองเตย, สาธุประดิษฐ์, พระประแดง, พุทธมณฑลสาย 2, หมู่บ้านบางบัวทอง, คลองสาน, สุรวงศ์ และหัวลำโพง รองลงมาคือสถานีรถไฟหัวลำโพง มีรถประจำทางจำนวน 6 สาย จากรังสิต 2 สาย, มีนบุรี, วัดพุทธบูชา, คลองขวาง และหมอชิต 2 สุดท้ายคือสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ มีรถประจำทางจำนวน 2 สาย จากปากน้ำและศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

ด้านเส้นทางรถประจำทางที่ขึ้นทางด่วนจำนวน 22 สายนั้นมีเพียง 3 สายที่วิ่งภายในเขตกรุงเทพฯ คือ สาย A1 ดอนเมือง-BTS จตุจักร ซึ่งมีรถให้บริการรวม 14 คัน, สาย A2 ดอนเมือง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีรถให้บริการรวม 8 คัน และสาย 107 บางเขน-ท่าเรือคลองเตย ซึ่งมีรถให้บริการรวม 20 คัน ส่วนเส้นทางที่เหลืออีก 19 สาย คือเส้นทางระหว่างปริมณฑลกับกรุงเทพฯ ทั้งหมด แบ่งเป็น 4 จังหวัด คือ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร ดังนี้

1. เส้นทางจากสมุทรปราการ-กรุงเทพฯ ประกอบด้วย 12 สายคือ สาย 129 บางเขน-สำโรง ซึ่งมีรถให้บริการ 27 คัน ซึ่งเป็นรถธรรมดา 7 คันและรถปรับอากาศ 20 คัน สำหรับเส้นทางที่มีรถประจำทางแบบธรรมดาให้บริการทั้งหมด ประกอบด้วย สาย 2 อู่ปู่เจ้าสมิงพราย-ปากคลองตลาด มีรถให้บริการ 33 คัน, สาย 45 อู่ปู่เจ้าสมิงพราย-ท่าน้ำสี่พระยา มีรถให้บริการ 22 คัน, สาย 23ก อู่เมกาบางนา-ประตูน้ำ ซึ่งมีรถให้บริการ 15 คันและสาย 180 อู่สาธุประดิษฐ์-ม.ราม 2 มีรถให้บริการ 20 คัน ส่วนเส้นทางที่มีรถประจำทางปรับอากาศให้บริการทั้งหมด ประกอบด้วย สาย 23 ปอ. อู่ปู่เจ้าสมิงพราย-เทเวศร์ มีรถให้บริการ 18 คัน, สาย 102 ปากน้ำ-อู่สาธุประดิษฐ์ มีรถให้บริการ 19 คัน, สาย 508 ปากน้ำ-ท่าราชวรดิษฐ์ มีรถให้บริการ 15 คัน, สาย 142 ปากน้ำ-การเคหะธนบุรี มีรถให้บริการ 27 คัน, สาย 536 ปากน้ำ-หมอชิต 2 มีรถให้บริการ 23 คัน, สาย 511 ปากน้ำ-สายใต้ใหม่ มีรถให้บริการ 42 คัน และสาย 138 พระประแดง-หมอชิต มีรถให้บริการ 26 คัน

2. เส้นทางจากปทุมธานี-กรุงเทพฯ มีเพียงสายเดียวคือ สาย 522 รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ มีรถให้บริการ 42 คัน โดยเป็นรถของ ขสมก. เพียง 5 คัน ส่วนอีก 37 คันเป็นรถเช่า

3. เส้นทางจากนนทบุรี-กรุงเทพฯ ประกอบด้วย 4 สาย คือ สาย 166 เมืองทองธานี-ศูนย์ราชการ-อนุสาวรีย์ชัยฯ มีรถให้บริการ 26 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 2 คัน และรถปรับอากาศ 24 คัน, สาย 63 อู่นครอินทร์-อนุสาวรีย์ชัยฯ มีรถให้บริการ 28 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 11 คัน และรถปรับอากาศ 17 คัน, สาย 70 ประชานิเวศน์ 3-สนามหลวง มีรถให้บริการ 25 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 11 คัน และรถปรับอากาศ 14 คัน และสาย 24 ประชานิเวศน์ 3-อนุสาวรีย์ชัยฯ มีรถให้บริการ 23 คัน เป็นรถธรรมดาทั้งหมด

4. เส้นทางจากสมุทรสาคร-กรุงเทพฯ ประกอบด้วย 2 สาย คือ สาย 140 แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยฯ มีรถให้บริการ 33 คัน แบ่งเป็นรถปรับอากาศของ ขสมก. 3 คัน และรถเช่า 30 คัน และสาย 141 แสมดำ-จุฬาฯ มีรถให้บริการ 20 คัน เป็นรถเช่าปรับอากาศทั้งหมด

ส่วนเส้นทางปกติตามเขตการเดินรถที่ 1-8 นั้นแบ่งเขตเส้นทางเดินทางรถตามเขตพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นต้นทางหรือปลายทางเส้นทางเดินรถ ดังนี้

เขตการเดินรถที่ 1 อยู่ในเขตพื้นที่รังสิต ปทุมธานี ประกอบด้วย อู่บางเขน อู่รังสิตและอู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รังสิต มีเส้นทางเดินรถรวม 18 สาย แบ่งเป็นทางด่วน 5 สาย และเส้นทางปกติ 13 สาย มีรถประจำทางให้บริการรวม 370 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 170 คัน รถปรับอากาศ 163 คัน และรถเช่าปรับอากาศ 37 คัน โดยสายที่มีจำนวนรถประจำทางน้อยที่สุดคือ สาย 520 มธ.ศูนย์รังสิต-บางกะปิ มีรถปรับอากาศให้บริการ 1 คัน สาย A2 ดอนเมือง-อนุสาวรีย์ชัยฯ มีรถปรับอากาศให้บริการ 8 คัน และสาย 503 รังสิต-สนามหลวง มีรถปรับอากาศให้บริการ 9 คัน ตามลำดับ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สำหรับเส้นทางปกติในเขตการเดินรถที่ 1 ประกอบด้วย สาย 95 บางเขน-ม.รามคำแหง, สาย 543ก บางเขน-ท่าน้ำ, สาย 543 บางเขน-ลำลูกกา, สาย 29 รังสิต-หัวลำโพง, สาย 95ก รังสิต-บางกะปิ, สาย 185 รังสิต-คลองเตย, สาย 555 รังสิต-สุวรรณภูมิ, สาย 39 มธ.ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ (ถนนพหลโยธิน) และสาย 510 มธ.ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ (ถนนวิภาวดี-รังสิต, สาย 34 รังสิต-หัวลำโพง และสาย 59 รังสิต-สนามหลวง

เขตการเดินรถที่ 2 อยู่ในเขตพื้นที่มีนบุรีและสวนสยาม ซึ่งมีรถประจำทางของ ขสมก. เฉพาะเส้นทางปกติเท่านั้น ไม่มีสายที่ขึ้นทางด่วนทั้งๆ ที่มีทางด่วนเลือกให้ขึ้นหลายจุด ดังนั้น หากประชาชนในเขตนี้จะเข้าเมืองด้วยเวลาอันรวดเร็วต้องพึ่งพาการเดินทางทางอื่นแทน สำหรับเขตการเดินรถนี้มีรถทั้งหมด 18 สาย มีรถให้บริการรวม 336 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 199 คัน และรถปรับอากาศ 137 คัน โดยสายที่มีจำนวนรถประจำทางน้อยที่สุด 3 อันดับแรกคือ สาย 502 มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยฯ, สาย 131 มีนบุรี-หนองจอก, สาย 525 สวนสยาม-หมู่บ้านเธียรทอง 3 และสาย 526 สวนสยาม-ถ.ราษฎร์อุทิศ-ตลาดหนองจอก มีรถให้บริการสายละ 3 คัน สาย 197 วงกลมมีนบุรี-เลียบคลองสอง-ถ.รามอินทรา มีรถให้บริการ 6 คัน และสาย 501 มีนบุรี-หัวลำโพงมีรถให้บริการ 7 คัน ตามลำดับ ซึ่งทุกสายข้างต้นมีเฉพาะรถธรรมดาให้บริการเท่านั้น

สำหรับสายรถอื่นๆ ในเขตการเดินรถที่ 2 ประกอบด้วย สาย 26 มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยฯ, สาย 96 มีนบุรี-BTS หมอชิต, สาย 519 สวนสยาม-สาธุประดิษฐ์, สาย 514 มีนบุรี-รัชดา-สีลม, สาย 60 สวนสยาม-ปากคลองตลาด, สาย 71 สวนสยาม-วัดธาตุทอง, สาย 517 ตลาดเทิดไท-สถานีขนส่งหมอชิต, สาย168 สวนสยาม-ถ.พระราม9-อนุสาวรีย์ชัยฯ, สาย 11 เมกาบางนา-มาบุญครอง, สาย 22 สวนสยาม-สาธุประดิษฐ์, สาย 93 หมู่บ้านนักกีฬา-สี่พระยา และสาย 206 ม.เกษตรฯ-ประเวศ

เขตการเดินรถที่ 3 คือรถประจำทางในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ที่วิ่งเข้ากรุงเทพฯ มีทั้งหมด 12 สาย แต่ละสายมีระยะทางเดินรถไกลเนื่องจากข้ามจังหวัดโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 37 กิโลเมตร แต่ส่วนใหญ่เป็นสายที่วิ่งขึ้นทางด่วนเกือบทั้งหมด โดยมีรถที่วิ่งในเส้นทางปกติเพียง 2 สายคือ สาย 25 แพรกษา (บ่อดิน)-ท่าช้าง ซึ่งมีรถให้บริการ 44 คัน โดยเป็นรถแบบธรรมดาทั้งหมด และสาย 145 แพรกษา (บ่อดิน)-หมอชิต 2 ซึ่งมีรถให้บริการ 45 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 15 คันและรถปรับอากาศ 30 คัน นอกจากนี้ยังมีสาย 145 เส้นทางอู่เมกาบางนา-หมอชิต 2 ด้วยซึ่งมีรถให้บริการ 10 คัน โดยเป็นรถแบบธรรมดา

เขตการเดินรถที่ 4 อยู่ในพื้นที่เขตคลองเตย สาธุประดิษฐ์ และพระราม 9 ซึ่งมีทั้งหมด 15 สาย โดยมีสายที่ขึ้นทางด่วนเพียงสายเดียวคือ สาย 180 อู่สาธุประดิษฐ์-ม.ราม2 ส่วนที่เหลือวิ่งเส้นทางปกติ รวมมีรถให้บริการ 419 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 340 และรถปรับอากาศ 79 คัน โดยเฉลี่ยรถประจำทางแต่ละสายวิ่งระยะทางไกลประมาณ 19 กิโลเมตร

สายที่มีรถให้บริการทั้งแบบธรรมดาและปรับอากาศ 5 สายคือ สาย 4 ท่าเรือคลองเตย-ท่าน้ำภาษีเจริญ, สาย 62 ท่าน้ำสาธุประดิษฐ์-อนุสาวรีย์ชัยฯ, สาย 77 อู่สาธุประดิษฐ์-หมอชิตใหม่, สาย 205 อู่คลองเตย-เดอะมอลล์ท่าพระ และสาย 137 (วงกลม) รามคำแหง-ถนนรัชดาภิเษก และสายที่มีรถให้บริการเฉพาะแบบธรรมดา 9 สาย คือ สาย 13 คลองเตย-ห้วยขวาง, สาย 47 ท่าเรือคลองเตย-กรมที่ดิน, สาย 72 ท่าเรือคลองเตย-เทเวศร์, สาย 136 อู่คลองเตย-หมอชิตใหม่, สาย 195 อู่คลองเตย-สะพานภูมิพล 1-เดอะมอลล์ท่าพระ, สาย 1 ถนนตก-ท่าเตียน, สาย 67 ช่องนนทรี-วัดเสมียนนารี, สาย 12 ห้วยขวาง-ปากคลองตลาด และสาย 179 อู่พระราม 9 -สะพานพระราม 7

เขตการเดินการรถที่ 5 อยู่ในเขตพื้นที่ปริมณฑลในจังหวัดสมุทรปราการที่พระประแดงและสมุทรสาครที่แสมดำ เพื่อเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งมีรถประจำทางรวม 14 สาย โดยเป็นทางด่วน 3 สาย และเป็นเส้นทางปกติ 11 สาย รวมมีรถให้บริการ 330 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 150 คัน รถปรับอากาศ 100 คัน และรถเช่าปรับอากาศ 80 คัน สำหรับสายที่มีจำนวนรถให้บริการน้อยที่สุดคือ สาย 710 วงกลมอรุณอมรินทร์-ถ.กาญจนาภิเษก มีรถให้บริการ 5 คัน โดยเป็นแบบธรรมดาทั้งหมด ส่วนสาย 70 แสมดำ-ประตูน้ำ ไม่มีรถของ ขสมก. ให้บริการเลย ต้องเช่ารถปรับอากาศทั้งหมดรวม 30 คัน

สำหรับสายรถในเส้นทางปกติของเขตการเดินรถที่ 5 ประกอบด้วย สาย 20 ป้อมพระจุลจอมเกล้า-ท่าน้ำดินแดง, สาย 21 วัดคู่สร้าง-จุฬาฯ, สาย 37 แจงร้อน-มหานาค, สาย 82 พระประแดง-บางลำพู, สาย 15 เดอะมอลล์ท่าพระ –บางลำพู, สาย 75 วัดพุทธบูชา-หัวลำโพง, สาย 111 วงกลมเจริญนคร-ตลาดพลู, สาย 68 แสมดำ-บางลำพู และสาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน

เขตการเดินรถที่ 6 คือเส้นทางเดินรถระหว่างนครปฐมกับกรุงเทพฯ แบ่งเป็นอู่วัดไร่ขิงและอู่พุทธมณฑลสาย 2 มีรถประจำทางทั้งหมด 17 สาย ซึ่งเป็นเส้นทางปกติทั้งหมด ไม่มีเส้นทางขึ้นทางด่วน รวมมีรถประจำทางให้บริการทั้งหมด 317 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 184 คัน และรถปรับอากาศ 133 คัน สำหรับสายที่มีจำนวนรถน้อยที่สุด คือ สาย 165 พุทธมณฑลสาย2-ศาลาธรรมสพน์-เขตบางกอกใหญ่ มีรถให้บริการ 7 คันซึ่งเป็นรถแบบธรรมดาทั้งหมด และอีก 5 สายที่มีรถให้บริการ 8 คัน คือ สาย 91ก วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี-เขตบางกอกใหญ่ สาย 720 วงกลมกัลปพฤกษ์-ถ.พระราม 2 และสาย 42 วงกลมท่าพระ-เสาชิงช้า ซึ่งมีเฉพาะรถแบบธรรมดา และสาย 556 BTS มักกะสัน-วัดไร่ขิง กับสาย 91 หมู่บ้านเศรษฐกิจ-สนามหลวง ซึ่งมีเฉพาะรถปรับอากาศ

สำหรับรถสายอื่นในเขตการเดินรถที่ 6 ประกอบด้วย กลุ่มที่มีเฉพาะรถแบบธรรมดา คือ สาย 84ก หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา-วงเวียนใหญ่, สาย 84 อ้อมใหญ่-BTS วงเวียนใหญ่, สาย 189 กระทุ่มแบน-เขตบางกอกใหญ่, สาย 80ก หมู่บ้าน วปอ.11-เขตบางกอกใหญ่, สาย 7 คลองขวาง-หัวลำโพง, สาย 7ก พุทธมณฑลสาย 2-พาหุรัด และสาย 101 พุทธมณฑลสาย 2-ตลาดโพธิ์ทอง และกลุ่มที่มีเฉพาะรถปรับอากาศ คือสาย 84 วัดไร่ขิง-BTS วงเวียนใหญ่, สาย 79 พุทธมณฑลสาย 2-ราชประสงค์, สาย 80 วัดศรีนวลธรรมวิมล-สนามหลวง, สาย 509 พุทธมณฑลสาย 2 -หมอชิต 2 และสาย 515 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยฯ

เขตการเดินรถที่ 7 คือเส้นทางเดินรถระหว่างนนทบุรีกับกรุงเทพฯ มีรถประจำทาง 16 สาย ซึ่งมีทางด่วนอยู่ 3 สาย คือ สาย 166 สาย 63 และสาย 70 นอกนั้นเป็นเส้นทางปกติ ซึ่งรวมแล้วมีรถให้บริการรวม 360 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 204 คันและรถปรับอากาศ 156 คัน โดยสายที่มีจำนวนรถน้อยที่สุดคือ สาย 751 BTS บางหว้า-สะพานพระราม 4 ซึ่งมีรถแบบธรรมดาให้บริการ 5 คัน

สำหรับรถสายอื่นๆ ในเส้นทางปกติของเขตการเดินรถที่ 7 ประกอบด้วย สาย 18 อู่ท่าอิฐ-อนุสาวรีย์ชัยฯ, สาย 32 อู่ท่าอิฐ-วัดโพธิ์ (ท่าเตียน), สาย 203 อู่ท่าอิฐ-สนามหลวง, สาย 134 หมู่บ้านบางบัวทอง-หมอชิต 2, สาย 516 หมู่บ้านบัวทองเคหะ-เทเวศร์, สาย 50 พระราม 7-สวนลุมพินี, สาย 114 อู่นครอินทร์-แยกลำลูกกา, สาย 53 วงกลมรอบเมืองเทเวศร์ (ซ้าย-ขวา), สาย 65 วัดปากน้ำ (นนท์)-สนามหลวง, สาย 66 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ-สายใต้ใหม่, สาย 97 กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์ และสาย 505 ปากเกร็ด-สวนลุมพินี

เขตการเดินรถที่ 8 คือเขตพื้นที่ในกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 3 อู่รถ คือ หมอชิต 2 (อู่กำแพงเพชร 2) อู่ใต้ทางด่วนรามอินทรา และอู่สวนสยาม/สวนสยาม ประกอบด้วยรถประจำทางรวม 14 สาย โดยมีทางด่วนสายเดียวคือสาย 24 ประชานิเวศน์ 3-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สำหรับจำนวนรถประจำทางทั้งหมดมี 327 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 218 คัน และรถปรับอากาศ 109 คัน

สำหรับรถสายอื่นๆ ในเส้นทางปกติของเขตการเดินรถที่ 8 ประกอบด้วย สาย 3 หมอชิต 2-คลองสาน, สาย 16 หมอชิต 2-สุรวงศ์, สาย 36 ห้วยขวาง-ท่าน้ำสีพระยา, สาย 49 หมอชิต 2-หัวลำโพง, สาย 204 กทม. 2-ท่าน้ำราชวงศ์, สาย 54 วงกลมรอบเมือง-ห้วยขวาง, สาย 73 สนามกีฬาห้วยขวาง-สะพานพุทธ, สาย 117 กทม. 2-ท่าน้ำนนทบุรี, สาย 156 วงกลมใต้ทางด่วนรามอินทรา-สุคนธสวัสดิ์-ถนนนวมินทร์, สาย 36ก อู่สวนสยาม-อนุสาวรีย์ชัยฯ, สาย 73ก อู่สวนสยาม-สะพานพุทธ, สาย 178 วงกลมสวนสยาม-สุคนธสวัสดิ์ และสาย 191 การเคหะคลองจั่น-กระทรวงพาณิชย์