ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ขสมก. สั่งล้มประมูลรถเมล์ NGV เหตุตั้งราคากลางสูง – ชะลอรถเมล์ไฟฟ้าสถานีชาร์จไฟยังไม่มี หวั่นเป็นหนูทดลอง

ขสมก. สั่งล้มประมูลรถเมล์ NGV เหตุตั้งราคากลางสูง – ชะลอรถเมล์ไฟฟ้าสถานีชาร์จไฟยังไม่มี หวั่นเป็นหนูทดลอง

28 มิถุนายน 2017


หลังจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทำหนังสือถึงบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด แจ้งยกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน เนื่องจากบริษัทเบสท์รินฯ ไม่สามารถส่งมอบรถเมล์ NGV ได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. ลงนามในประกาศองค์การขนส่งมวลขนกรุงเทพให้บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป, บริษัท อาร์ แอนด์ เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี, บริษัท รถยนต์เชินหลง (เซี่ยงไฮ้) และบริษัท เทคโนโลยีพลังงานใหม่ เป่ยฟัง กวางโจว เป็นผู้ทิ้งงาน ขสมก.

กระบวนการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) กำหนดส่งมอบรถทั้งหมดภายในเดือนตุลาคม 2560 ทาง ขสมก. จึงออกประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาซื้อซองประกวดราคาในช่วงวันที่ 25-31 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา กำหนดยื่นซองประกวดราคาวันที่ 12 มิถุนายน 2560

หลังเปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว ก่อนถึงกำหนดวันยื่นข้อเสนอ ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องการกำหนดราคากลาง เนื่องจากคณะกรรมการกำหนดราคากลางนำราคากลางเดิม 4,021 ล้านบาท มากำหนดใน TOR ขณะที่คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีความเห็นว่า ควรใช้ราคาต่ำสุดจากการประกวดราคาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558 มากำหนดเป็นราคากลางในการจัดซื้อรถเมล์ NGV (บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล โดยเสนอราคาที่ 3,389 ล้านบาท) ทางคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายจึงทำหนังสือสอบถามสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรมบัญชีกลาง ระหว่างรอคำตอบจาก 2 หน่วยงาน ทาง ขสมก. ได้ออกประกาศเลื่อนกำหนดวันยื่นซองประกวดราคาออกไปเป็นวันที่ 22 มิถุนายน 2560 จากนั้นเมื่อถึงกำหนดวันยื่นซองประกวดราคา ทั้ง 2 หน่วยงาน ยังไม่ได้แจ้งผลการหารือมาที่ ขสมก. ขณะที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 9 (1) ระบุว่าการกำหนดวันรับซองประกวดราคา ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันสุดท้ายที่มีการแจกจ่ายซอง

ยกเลิกจัดซื้อรถเมล์ NGV

วันที่ 19 พฤษภาคม 2560 นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. จึงลงนามในประกาศองค์การขนส่งมวลชน ยกเลิกการประกวดราคา โครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน โดยผู้ที่มายื่นซองประกวดราคา 12 ราย สามารถมารับซองข้อเสนอและเงินค่าซื้อซองประกวดราคาคืนได้ภายใน 15 วัน

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องออกประกาศยกเลิกโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ครั้งนี้ เนื่องจากบอร์ด ขสมก. มีความเป็นห่วงในเรื่องของการกำหนดราคากลาง จึงสั่งให้คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายนำประเด็นนี้ไปสอบถาม ป.ป.ช. และกรมบัญชีกลาง ขณะนี้ ป.ป.ช. ทำหนังสือตอบกลับมาแล้วว่ายกเลิกการประกวดราคา ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจหน้าที่กำหนดราคากลาง ส่วนกรมบัญชีกลางได้มีการประชุมร่วมกับ ขสมก. แล้วเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 เร็วๆ นี้จะทำหนังสือตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกฯ กำหนดยื่นซองประกวดราคาได้ไม่เกิน 30 วัน ตนจึงตัดสินใจสั่งยกเลิกการประมูลครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแผนการจัดซื้อรถเมล์ NGV กำหนดวันตรวจรับรถทั้งหมด 489 คัน ในเดือนตุลาคม 2560 คงจะไม่ทันแล้ว ต้องเลื่อนไปเป็นปี 2561 เนื่องจากบอร์ด ขสมก. ชุดนี้กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ตามกำหนดการจะมีการประชุมบอร์ดครั้งสุดท้ายในวันที่ 28 มิถุนายน 2560

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.

“ในการประชุมครั้งสุดท้ายจะมีการพิจารณาประกาศองค์การขนส่งมวลขนกรุงเทพให้กลุ่มบริษัทเบสท์รินฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ซึ่งทางบริษัทเบสท์รินฯ ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ประกาศดังกล่าว เป็นคำสั่งทางปกครอง ต้องเสนอเรื่องให้บอร์ดตัดสินใจว่าจะยกคำร้องขออุทธรณ์ หรือจะเพิกถอนประกาศดังกล่าว ทาง ขสมก. จึงยังไม่ได้ส่งเรื่องไปให้กรมบัญชีกลางขึ้นบัญชีรายชื่อเป็นผู้ละทิ้งงาน เพราะเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอุทธรณ์” นายสมศักดิ์กล่าว

เตรียมปรับขึ้นราคากลางรถเมล์ไฟฟ้า

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 200 คัน วงเงิน 2,703 ล้านบาท ประกอบด้วย ราคากลางของรถเมล์ไฟฟ้ารวมเครื่องชาร์จ 2,000 ล้านบาท เฉลี่ยคันละ 10 ล้านบาท และราคากลางค่าจ้างซ่อมบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 10 ปี อีก 703 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ก็มีปัญหาอุปสรรคหลายประการ เริ่มตั้งแต่เรื่องของการตั้งราคากลางของรถเมล์ไฟฟ้า ราคานี้เป็นราคาที่ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าหลังจาก ขสมก. ได้หารือกับกรมศุลกากรแล้วได้ข้อสรุปว่าการทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ขอยกเว้นภาษีนำเข้ารถเมล์ไฟฟ้าให้กับ ขสมก. เพียงรายเดียว คงจะทำไม่ได้ เพราะการยกเว้นภาษี ต้องทำเป็นการทั่วไป ดังนั้น การกำหนดราคากลางคงต้องปรับขึ้น แต่ถ้ามาใช้ช่องทางการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ก็ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้า 2-3 ปี ในประเด็นนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ไม่เห็นด้วย เกรงว่า ขสมก. จะเป็นหนูทดลอง ตามแผนงาน ขสมก. ต้องสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า 8 แห่ง ตอนกลางคืนรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน ต้องเข้าซองชาร์จไฟฟ้า ถ้าไม่ชาร์จตอนเช้าก็วิ่งไม่ได้ ปัญหาคือถ้าลงทุนไป 2,700 ล้านบาท ไม่ประสบความสำเร็จจะทำอย่างไร ดังนั้น จึงต้องรอดูผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกอบด้วย

“นอกจากนี้ ทางกระทรวงคมนาคม ยังไม่ได้ทำเรื่องขออนุมัติ ครม. (คณะรัฐมนตรี) ดำเนินโครงการจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้าพร้อมซ่อมบำรุง 200 คัน ตามกำหนดการ ขสมก. จะรายงานความคืบหน้าทั้งหมดมาที่กระทรวงคมนาคมวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ทั้งเรื่องรถเมล์ NGV และรถเมล์ไฟฟ้า คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบอร์ด ขสมก. ชุดต่อไปเป็นผู้พิจารณา เพราะบอร์ดชุดนี้จะประชุมนัดสุดท้าย คือวันที่ 28 มิถุนายน 2560 หรือ ถ้าจัดประชุมนัดพิเศษก่อนที่บอร์ด ขสมก. จะหมดวาระ ผมก็เชื่อว่าไม่ทัน” นายสมศักดิ์กล่าว