ผู้อำนวยการ ขสมก.แจงสหภาพฯ ยืนยันขยายสัญญาให้เอกชนโฆษณาบนรถเมล์ล่วงหน้า 5 ปี ถูกต้องตามกฎหมาย อ้างเหตุจำเป็นต้องเยียวยา กรณีหยุดเดินรถซ่อมบำรุง ย้ำไม่ต่อสัญญาอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย
หลังจากที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก) ได้ทำหนังสือถึงนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ลงวันที่ 22 มีนาคม 2566 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง กรณี ขสมก.ต่อสัญญาให้กับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) โฆษณาบนรถโดยสารปรับอากาศจำนวน 1,500 คัน ล่วงหน้า 5 ปี จากเดิมสิ้นสุดในปี 2570 ขยายออกไปถึงปี 2570 โดย สหภาพฯ ขอให้ผู้บริหาร ขสมก.เปิดเผยข้อเท็จจริงให้พนักงาน รับทราบภายใน 7 วัน มิฉะนั้น สหภาพแรงงาน ฯขสมก.มีความจำเป็นต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
ก่อนถึงกำหนด 7 วัน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2566 เวียนแจ้งสมาชิก พนักงาน และสื่อมวลชนทุกแขนง ทราบถึงความคืบหน้าในการยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการ ขสมก. เพื่อแก้ไขปัญหาของ ขสมก. มีใจความว่า ตามที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ยื่นหนังสือให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาขององค์การจำนวน 5 ข้อ และเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ได้ยื่นหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงในการต่อสัญญากับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ที่ปรากฎตามสื่อมวลชนดังนี้
-
1. ขอให้องค์การเร่งดำเนินการ บรรจุแต่งตั้งพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกเขต เนื่องจาก ขณะนี้มีพนักงานลาออก เกษียณ เลื่อนตำแหน่ง ป่วย และพนักงานเก็บค่าโดยสารไปเรียนขับรถเพื่อเป็นขึ้นเป็น พนักงานขับรถ ทำให้ องค์การขาด พนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสารทุกเขต ทำให้องค์การได้รับความเสียหายขาดรายได้จากการเก็บค่าโดยสาร รถขาดระยะ และเพื่อแก้ปัญหาข้อร้องเรียนจากผู้โดยสาร
2. ขอให้องค์การต่อสัญญาเหมาซ่อมอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริษัทเหมาซ่อม สามารถจัดหาอะไหล่มาสำรองได้ เนื่องจากสัญญาเหมาซ่อมที่กำหนดอายุเพียง 1 เดือน ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในการสำรองอะไหล่ส่งผลกระทบต่อการซ่อมบำรุงรถของ องค์การ ฯ อีกทั้งสัญญาเหมาซ่อมมีแนวโน้มว่าองค์การ ฯจะมีการแบ่งสัญญาออกเป็นหลายสัญญา ทำให้การซ่อมบำรุงขาดความต่อเนือง และระยะเวลาการซ่อมนาน อาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการกับประชาชนผู้ใช้บริการ
3. ขอให้องค์การแก้ไขปัญหาเครื่อง EDC เนื่องจากเป็นเครื่องเก่าผ่านการใช้งานมานาน แบตเตอรี่เสื่อม ไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้องค์การขาดรายได้ประมาณวันละ 3 แสนบาท เดือนละ 9 ล้านบาท หากไม่สามารถแก้ไขได้ ให้องค์การ ฯจัดหาระบบเก็บค่าโดยสารใหม่มาทดแทน
4. ขอให้องค์การฯ ตรวจสอบการจัดส่งสัญญาทุกประเภทให้ถูกต้อง สอดคล้องกับระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของงบประมาณแผ่นดิน
5. ขอให้องค์การกระจายอำนาจการบริหารให้กับผู้อำนวยการเขตเดินรถเพื่อความสะดวกรวดเร็วเช่นการรับสมัครพนักงานขับรถ (พขร.) และพนักงานเก็บค่าโดยสาร (พกส.) ควรให้เขตการเดินรถดำเนินการเอง
6. การต่อสัญญาให้เอกชนโฆษณาบนรถโดยสารปรับอากาศล่วงหน้าอีก 5 ปีจากเดิมสิ้นสุดปี 2570 ขยายออกไปถึงปี 2575 เยียวยาเรื่องอะไร เกินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่
อ่าน แถลงการณ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ที่นี่
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 นายบุญเหลือ ขุนพรม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) พร้อมพนักงานเกือบ 200 คน มารวมตัวกันที่ลานที่จอดรถด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ขสมก. เพื่อรอฟังขอคำตอบจากผู้บริหารของ ขสมก.ถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา และชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการต่อสัญญากับบริษัท แพลน บีมีเดีย จำกัด (มหาชน) ล่วง 5 ปี ตามที่แถลงการณ์ก่อนหน้านี้
จากนั้น นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้นำคณะผู้บริหารของ ขสมก.ลงมาพบกับกลุ่มตัวแทนสหภาพแรงงาน ฯ ของขสมก. พร้อมตอบคำถามของสหภาพแรงงานทุกประเด็น โดยนายกิตติกานต์ได้เล่าถึงสถานการณ์ของ ขสมก.ว่า องค์กร ขสมก.เป็นองค์กรขนาดใหญ่มีพนักงานประมาณ 14,000 คน แต่ปัจจุบันเหลือพนักงานประมาณ 12,000 คน ซึ่งหัวใจของ ขสมก.คือพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร ทุกวันนี้ผู้บริหารของ ขสมก.รับรู้ว่าพนักงานขับรถเก็บค่าโดยสารเหนื่อย ขณะที่รายได้ของขสมก.มาจากค่าโดยสาร การขายโฆษณา การบริหารทรัพย์สิน และการให้บริการเช่าพื้นที่โฆษณา โดยมีรถเมล์ร้อน 1,520 คัน รถเมล์แอร์อีก 1,500 คัน
อย่างไรก็ตามนายกิตติกานต์ บอกว่า การพูดคุยกันในขณะนี้ คือ สถานการณ์และเหตุผลความเป็นมาเป็นไปขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งก่อตั้งมา 46 ปี ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นจำนวนมาก และรางวัลล่าสุดคือ รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่ ขสมก.ได้รับมาจากความสามัคคีของพวกเราทุกคน
“แม้วันนี้จะมารวมกันก็คือการแสดงพลังของ ขสมก. เพราะผมที่มารวมกลุ่มชุมนุมกันตรงนี้ พนักงานสหภาพ ฯ ก็คือคน ขสมก. คนกลุ่มเดียวกัน เราคือคน ขสมก.ด้วยกัน ดังนั้น การมาพูดคุยร่วมกันด้วยความสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งผมในฐานะผู้บริหารต้องขอบคุณสหภาพ ฯที่ให้เกียรติมาพูดคุยด้วย” นายกิตติกานต์ กล่าว
นายกิตติกานต์ ได้ตอบคำถามในประเด็นแรกเรื่องของการรับพนักงานว่า วันนี้องค์กร ขสมก.เอง ก็มีหนี้สิน และขาดทุน ก่อนที่ผมจะมาบริหารมีหนี้สินทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาท คำถามคือเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เราจะบริหารอย่างไร ซึ่งหมายถึงเราต้องหารายได้เพิ่ม และลดรายจ่ายอย่างไร เราต้องไม่ทำให้หลังบ้านรั่ว และไปต่อด้วยกันได้อย่างไร
“เราต้องเป็น ปึกแผ่นไม่ทะเลาะกันภายใน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ ผมคิดว่ายังไม่ถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่มาพูดคุยสอบถามตามบทบาทของสหภาพแรงงาน ฯ และในฐานะผู้บริหาร ผมก็มีบทบาทในการตอบคำถามเช่นกัน”
นายกิตติกานต์ กล่าวว่า การดำเนินงานของ ขสมก.มีต้นทุนใหญ่อยู่ 2 ก้อน คือ ต้นทุนการเดินรถ ซึ่งเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ที่ต้องใช้เงินในการบริหารจัดการจำนวนมาก ขณะที่ต้นทุนก้อนที่ 2 คือ ต้นทุนค่าเหมาซ่อม ซึ่งปีนี้ต้องจ่ายค่าเหมาซ่อม 1,600 ล้านบาท ปีหน้า 1,700 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,900 ล้านบาทในปีที่ 5 ถามว่า ขสมก.จะเอาเงินเหล่านี้มาจากไหน นอกจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินและให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ ขณะที่รายได้อีกส่วนหนึ่งมาจากรายได้ค่าโดยสารที่นำมาบริหารจัดการ
“คำถามคือเมื่อพนักงานเราขาด ทำไมเราจะไม่อยากรับพนักงานใหม่ เราอยากรับจนใจจะขาด อยากให้มีพนักงานเต็มอัตรากำลัง อยากให้มีรถหนึ่งคัน พนักงานขับรถหนึ่งคน หรือ สองคน สามคน แต่ต้องถามว่าในกระเป๋าตังค์ของเรามีเงินเท่าไหร”
นายกิตติกานต์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการรับพนักงานที่สำนักงานเขต แต่คำถามคือ การรับพนักงานที่เขตมีการประเมินหรือไม่ว่าต้นทุนเท่าไหร่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ได้วิเคราะห์ ต้นทุนค่าใช้จ่ายหรือไม่ วันที่ผมมาทำงานวันแรก ผมตั้งใจจะรับพนักงานให้เต็มกำลัง ซึ่งผู้บริหารรับรู้ และเคยมีการพูดคุยกันหลายครั้ง แต่มันมีต้นทุนสูง เราจะทำอย่างไร เรียกประชุมทั้ง 8 เขต มาหารือกัน ถามว่ารับสมัครพนักงานเคยวิเคราะห์ต้นทุนหรือไม่ว่าจ่ายไปแล้ว ใช้ทุนเท่าไหร่ และรายได้จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งในระดับเขตก็ยังไม่มีการประเมินในเรื่องนี้
เมื่อเข้ามาในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ต้องต่อสู้ให้ ขสมก.เดินต่อไปได้ จึงดึงอำนาจเหล่านั้นกลับมา และผมแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เป็นกรรมการ แต่มีกรรมการเป็นผู้อำนวยการ 7 เขต มาร่วมกันเป็นคณะทำงาน และมีผู้อำนวยการสำนักการบริหารการเดินรถ มาเป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อมาพิจารณาภาพรวมในการเรื่องของต้นทุนและค่าใช้จ่าย
“ผมคิดว่าการทำอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องวิเคราะห์ ไตร่ตรอง เพื่อที่เราจะไม่ต้องใช้ต้นทุนเยอะ และตอนนี้เราก็ได้พนังงานขับรถมา 80 คน และพนักงานเก็บค่าโดยสาร 300 คน เริ่มงานวันที่ 1 เมษายน 2566 นี้ และการที่ผมมาบริหารงานอยู่ตรงนี้ ก็เพื่อให้ ขสมก.เติบโตขึ้นมา ส่วนที่บอกว่า ขสมก.จะล่มสลายจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
นายกิตติกานต์ ได้ตอบคำถามในประเด็นที่ 2 เรื่องการต่อสัญญาเหมาซ่อม แบบเดือนต่อเดือนนั้น เป็นสิ่งที่อยากถามเช่นกันว่า ต้นทุนค่าเหมาซ่อมที่ก้อนใหญ่มากขนาดนั้น และไม่เป็นตามมาตรฐานสากล โดยสัญญาเดิมมีอายุอยู่ 5 ปี แต่พอหมดไม่สามารถทำโครงการใหม่ได้ แต่มาวันที่ผมบริหารต้องหยิบสัญญาเข้ามาดู ซึ่งส่วนตัวแล้วไม่ได้คิดว่าจะเป็นการต่อสัญญาระยะสั้น หรือ ระยะยาว แต่ต้องมีวิเคราะห์สัญญาเหมาซ่อมที่ปรากฎให้สามารถนำมาบริหารความเหมาะสมได้อย่างไร เพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
ส่วนประเด็นที่ 3 ขอให้องค์การแก้ไขปัญหาเครื่อง EDC เนื่องจากเป็นเครื่องเก่าผ่านการใช้งานมานานแบตเตอรี่เสื่อม ไม่สามารถใช้งานได้
ผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกรมบัญชีกลางว่าจะสามารถดำเนินการหาเครื่องจัดเก็บค่าโดยสารใหม่มาทดแทนได้อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาเครื่อง EDC เป็นเครื่องเช่ามาใช้บริการ ทำให้ไม่สามารถที่จะซ่อมแซมได้
ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องของการต่อสัญญากับบริษัทแพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) นายกิตติกานต์ ยืนยันว่า “การต่อสัญญาถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นต่อสัญญาออกไป 5 ปี เนื่องจากต้องเยียวยาบริษัทเอกชน เพราะรถปรับอากาศ ขสมก.ต้องหยุดซ่อมบำรุง ทำให้เอกชนได้รับความเสียหาย ถ้าหากไม่ต่อสัญญา หรือ เยียวยา บริษัท แพลนบีฯจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จึงต้องเยียวยาตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย”
ด้านนายบุญเหลือ ขุนพรม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.)กล่าวว่าภายหลังการหารือกับผู้บริหาร ขสมก. สหภาพฯพอใจในคำตอบระดับหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่เราคิดว่ายังไม่ชัดเจน หลังจากนี้เราจะมีการประชุมกรรมการสหภาพ ฯ เพื่อประเมินว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป