ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ แจง “พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด” ยังร่างไม่เสร็จ-มติ ครม. เยียวยา ม.39-40 จว.สีแดงเข้ม 5,000 บาท/คน

นายกฯ แจง “พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด” ยังร่างไม่เสร็จ-มติ ครม. เยียวยา ม.39-40 จว.สีแดงเข้ม 5,000 บาท/คน

10 สิงหาคม 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ แจง “พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดบุคลากร สธ.” ยังร่างไม่เสร็จ ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน-ยันบุคลากรแพทย์ได้ฉีด “ไฟเซอร์” ครบทยอยส่งลอตแรก 50-75% — มติ ครม. เคาะ 33,471 ล้าน เยียวยา ม.39-40 จว.สีแดงเข้ม คนละ 5,000 บาท-เพิ่มวงเงินเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” ม.33 เป็น 17,050 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

สั่งยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ชี้ใช้ กม. อื่นแทนได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี กรณีที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ระงับการใช้ข้อกำหนดในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 31) โดยนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า “แม้ในทางปฏิบัติ ศบค. จะเห็นว่ายังไม่ได้มีการกำหนดให้ใช้ข้อกำหนดดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่อาจนำมาตรการทางกฎหมายอื่นมาบังคับใช้ตามศาลได้กล่าวถึง” ดังนั้น นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม เป็นต้นไป โดยข้อกำหนดดังกล่าวเป็นข้อกำหนดที่ 31 และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

  • นายกฯ ยกเลิกข้อกำหนดลิดรอนเสรีภาพสื่อแล้ว ชี้เจ้าหน้าที่ใช้ กม. อื่นแทนได้
  • “อนุทิน” แจงร่าง กม.นิรโทษกรรม “บุคลากรการแพทย์-คกก.จัดหาวัคซีน” ชี้ปฏิบัติหน้าที่สุจริต-ไม่ต้องรับผิด
  • แจง “พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด” สธ.ยังร่างไม่เสร็จ

    เมื่อถามถึงความคืบหน้า พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดบุคลากรด้านสาธารณสุขในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า “พ.ร.ก.ดังกล่าวยังยกร่างไม่เสร็จ จึงไม่ได้มีการสรุปใดๆ และการออกกฎหมายต้องรอรับฟังความคิดเห็นจากหลายส่วน ไม่ว่าบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน หรือคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ได้พิจารณากฎหมายดังกล่าว เพราะกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้ส่งเรื่องให้พิจารณา”

    ยันบุคลากรแพทย์ได้ฉีด “ไฟเซอร์” ครบ – ทยอยส่งลอตแรก 50-75%

    นายอนุชาตอบคำถามเรื่องการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ ‘ไม่ครบ’ ตามที่สถานพยาบาลได้แจ้งไปว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคทั้งสิ้น 1.5 ล้านโดส แบ่งให้บุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 7 แสนโดส โดยเบื้องต้นจะทยอยส่งเป็นลอต โดยได้ส่งลอตแรกไปแล้ว 50-75% เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการ เนื่องจากถ้าส่งไป 100% อาจมีบางพื้นที่ได้รับวัคซีนเกินหรือขาด

    นายอนุชากล่าวแทนนายกรัฐมนตรีว่า “ขอยืนยันว่าหลังจากนี้จะทยอยส่งไปให้ครบตามที่ได้แจ้งความจำนงมา และจะได้รับการฉีดตามกฎระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขเอาไว้”

    มติ ครม. มีดังนี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

    เพิ่มวงเงินเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” ม.33 เป็น 17,050 ล้าน

    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติอนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับปรุงรายละเอียดสาระสำคัญของโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

      1) เปลี่ยนชื่อโครงการฯ เป็น โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากเดิมโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
      2) ขยายพื้นที่ดำเนินการจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดยเพิ่มเติม 16 จังหวัด (กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง)
      3) ขยายกรอบวงเงินโครงการ จากเดิม 15,027.68 ล้านบาท เป็น 17,050.41 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 2,022.73 ล้านบาท
      4) ขยายระยะเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัด (ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28) และ 16 จังหวัด (ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 30) สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ โดยสำนักงานประกันสังคมจะตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2564 นี้

    เคาะ 33,471 ล้าน เยียวยา ม.39-40 จว.สีแดงเข้ม คนละ 5,000 บาท

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบกรอบวงเงิน 33,471 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ตามข้อกำหนดฯ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 5,000 บาท รวมทั้งสิ้น 6,694,201 คน โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

      1. พื้นที่ดำเนินการ 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี
      2. กลุ่มเป้าหมายรวมประมาณ 6,694,201 คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1,436,171 คน และมาตรา 40 จำนวน 5,258,030 คน
      3. คุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่มีสัญชาติไทย สถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ในฐานทะเบียนประกันสังคมที่มีสถานะ A (Active) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด) หรือ ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2564 (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัด) กรณีเป็นผู้สมัครเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในฐานทะเบียนประกันสังคมที่มีสถานะรอชำระเงิน W (Wait) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ต้องไม่เป็นข้าราชการหรือผู้รับบำนาญของกรมบัญชีกลาง
      4. วิธีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 จะโอนเงินให้กับผู้ประกันตนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะที่ผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชน

    โฆษกรัฐบาล กล่าวต่อว่า ครม. มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามเป้าหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน รวมทั้งขอให้โอนเงินให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม.39 และ ม.40 ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 10 จังหวัด ก่อนระยะเวลาที่กำหนด ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ก่อนพื้นที่อื่นๆ อีกทั้ง กำหนดให้ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพิ่มเติมในพื้นที่ 10 จังหวัด ต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และในพื้นที่ 19 จังหวัดต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564

    นอกจากนี้ ได้ให้กระทรวงแรงงานจัดทำข้อเสนอขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายที่รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ 13 จังหวัดเพิ่มเติมอีกจำนวน 1 เดือนซึ่งจะช่วยให้การให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

    จัดงบฯ 1,877 ล้าน จ่ายบุคลากรการแพทย์ ค่าฉีดวัคซีนนอก รพ.

    นายอนุชา กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติ งบกลางวงเงิน 1,877.4ุ ล้านบาท กรณีการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 นอกสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข ต้องปฏิบัติงานด้านการป้องกัน สอบสวน คัดกรอง รักษาพยาบาลทั้งในเวลาและนอกเวลา ซึ่งเป็นภารกิจที่หนัก เร่งด่วน ฉุกเฉิน เป็นด่านหน้าในการเผชิญกับความเสี่ยงมาตลอด ประกอบกับนโยบายการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมูให้ประชาชนในประเทศไทย บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข จึงมีภาระงานเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากภารกิจปกติ ซึ่งมีมากเกินอัตรากำลัง จึงจำเป็นต้องระดมบุคลากรในงานสนับสนุนอื่นๆ มาช่วยปฎิบัติงานภายในระยะเวลาที่จำกัดเร่งด่วนให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมาย และเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรในส่วนที่รัฐบาลสามารถตอบแทนให้ได้ โดยไม่ขัดต่อระเบียบปฏิบัติของราชการ จึงได้พิจารณาจัดหาค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรที่ปฎิบัติหน้าที่ในการให้บริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาลในปีงบประมาณ 2564 นี้ด้วย

    อนุมัติ 12,669 ล้าน จ่าย “ค่าเสี่ยงภัย-OT” ให้คณะทำงาน-ที่ปรึกษา สธ.

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. ยังอนุมัติงบกลาง 12,669.22 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัย ค่าล่วงเวลา (OT) ค่าตอบแทนคณะทำงาน/ผู้เชี่ยวชาญ/ที่ปรึกษา/บุคคลภายนอก ค่าใช้สอยและค่าจ้างเหมาบริการอื่นๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 อนุมัติกรอบวงเงินจำนวนเงิน 12,576.63 ล้านบาท ซึ่งเดิมกำหนดระยะเวลาการใช้จ่ายตามแผนการใช้จ่ายไว้เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2564) แต่เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขยังมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติต่อเนื่อง จึงจะขอขยายระยะเวลาปฏิบัติงานในโครงการ/กิจกรรมเดิม และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง รายจ่ายค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 ระยะการระบาดระลอกเมษา 2564 ออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน คือเมษายน-กันยายน 2564 นี้

    ผ่านร่าง กม.ล้มละลาย อุ้ม SMEs-ขยายยอดหนี้ขอฟื้นฟูเป็น 50 ล้าน

    นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ในส่วนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หมวด 3/2 ยังไม่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีข้อจำกัดในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ อาทิ

      1) จำนวนหนี้ที่ขอฟื้นฟูกิจการไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
      2) ลูกหนี้ที่สามารถยื่นฟืนฟูกิจการได้ จำกัดเฉพาะลูกหนี้ที่มีลักษณะเป็น SMEs ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือจดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐเท่านั้น
      3) เงื่อนไขการยื่นขอฟื้นฟูกิจการมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เป็นต้น

    ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพและไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ที่ประชุม ครม. จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในส่วนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยผลักดันให้เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิรูปในระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีหลักการสำคัญในการสร้างกลไกให้ลูกหนี้ที่เป็น SMEs สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกับการฟื้นฟูกิจการปกติ ลดขั้นตอน และใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่า โดยมีสาระสำคัญดังนี้

      1. เพิ่มเติมจำนวนหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือ นิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ที่สามารถร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการได้ จาก “จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท” เป็น “ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท” เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งการเพิ่มจำนวนหนี้อ้างอิงจากข้อมูลเชิงสถิติระหว่างปี 2560-2563 คดีที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอลูกหนี้มีจำนวนหนี้มากกว่า 50 ล้านบาท กว่าร้อยละ 90 ของคดีทั้งหมด
      2. กำหนดกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีลักษณะเป็น SMEs ดังนี้ 1) ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ลูกหนี้ที่เป็น SMEs ต้องขึ้นทะเบียนกับ สสว. หรือที่จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ จึงจะสามารถร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการได้ 2) กำหนดให้ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ โดยที่ยังไม่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอศาล เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้มีการพักชำระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการได้
      3. กำหนดให้มีกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ ลูกหนี้ที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และลูกหนี้ที่เป็น SMEs สามารถเลือกยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัดได้ โดยแนบแผนพร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้มีมติยอมรับแผนแล้ว (prepackaged plans) ต่อศาล โดยให้ศาลพิจารณาคำร้องขอดังกล่าวเป็นการด่วน แต่หากศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอเพราะแผนไม่เข้าหลักเกณฑ์ ลูกหนี้อาจยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการอีกได้ โดยไม่ติดเงื่อนไขข้อห้ามเรื่องระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ศาลยกคำร้องขอกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด

    นางสาวรัชดากล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นเครื่องทางกฎหมายที่สำคัญในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินได้รับโอกาสฟื้นฟูกิจการ และ ไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลาย อันจะเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และรัฐบาลจะผลักดันให้เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน

    ไฟเขียว กม.ให้ ปชช.มีส่วนร่วม-เยียวยาผลกระทบการทำสัญญา ตปท.

    นางสาวรัชดากล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 178 วรรคสี่ บัญญัติให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือ การค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีกรอบทางกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้รับการเยียวยาที่จำเป็นจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญา

    ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการดำเนินการดังกล่าว และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครม. จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการตรากฎหมายใหม่เพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 หมวด ได้แก่ หมวด 1 การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และหมวด 2 การเยียวยา มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

      1. กำหนดให้ในการทำหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระยะเวลา 15 วันเป็นอย่างน้อย และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำหนังสือสัญญานั้น รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นแก่ประชาชน ก่อนเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบ
      2. กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำหลักการหรือประเด็นสำคัญของหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางไปรับฟังความคิดเห็น โดยต้องประกาศวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น หากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศหรือประชาชน หรือต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้เปิดเผยข้อมูลเท่าที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย
      3. เมื่อหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางมีผลใช้บังคับแล้ว และการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง หากมีมาตรการเยียวยาไม่เพียงพอ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอแนะมาตรการเยียวยาที่จำเป็นต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ และเผยแพร่มาตรการดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป

    นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้มีกรอบกฎหมายที่กำหนดวิธีการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือสัญญาบางประเภทและการเยียวยาที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นเครื่องสำคัญในการส่งเสริมให้การมีส่วนร่วมทางการเมือง และทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

    “ไทย-อาเซียน” ขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ตั้งเป้าผลิตรถ EV 30% ในปี’68

    นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่นสมัยพิเศษ ผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งอาเซียนมีความมุ่งหมายร่วมกันในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียน ด้านพลังงานในระยะที่ 2 ที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านพลังงานของภูมิภาคอาเซียนให้มีความสะอาด ยืดหยุ่น และเหมาะสมกับสภาวะด้านพลังงานของโลก โดยประเทศไทยมีแนวทางดำเนินการดังนี้

      1. ปรับแผนกลยุทธ์ระยะยาวและแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านนโยบายที่สำคัญ
      2. เพิ่มการผลิตไฟฟ้าแบบคาร์บอนต่ำ โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular Green Economy Model: BCG model) เพื่อส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
      3. พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายในปี 2568 ไทยจะมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ร้อยละ 30 จากสัดส่วนการผลิตรถยนต์ทั้งหมด รวมทั้งการสนับสนุนการปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
      4. สนับสนุนแผนเร่งด่วนในการปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดคาร์บอนไดออกไซด์และสอดรับกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

    นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมนโยบายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในอาเซียนผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล และความเชี่ยวชาญระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในด้านการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บและการใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (CCUS) เป็นต้น

    ไฟเขียว ขสมก. กู้เสริมสภาพคล่อง 7,803 ล้าน

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 7,803.72 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆในการกู้เงิน โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า ขสมก.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนและไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการที่ ขสมก. เก็บค่าโดยสารตามอัตราที่ภาครัฐกำหนดซึ่งต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และไม่สามารถปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามสภาวการณ์ปัจจุบันได้

    นอกจากนี้แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ฉบับปรับปรุงใหม่ อยู่ระหว่างการทบทวนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. จึงทำให้ในปีงบประมาณ 2565 ขสมก. มีภาระที่ต้องชำระหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระ โดย ณ วันที่ 31 มกราคม 2564 ขสมก.มีหนี้สินค้างชำระรวมทั้งสิ้น 127,797.43 ล้านบาท

    โดย ขสมก.ได้ทำประมาณการเงินสดรับ-จ่ายในปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือจำนวน 32,926.49 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

    ดังนั้น ขสมก. จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 32,926.49 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะนำไปชำระหนี้คืนเงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระและไถ่ถอนพันธบัตรเงินกู้จำนวน 25,122.77 ล้านบาท ซึ่ง ขสมก. ได้เสนอสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรจุเข้าแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 แล้ว จึงคงเหลือเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินและเป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานของขสมก.ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 7,803.72 ล้านบาท ตามที่เสนอให้ ครม. อนุมัติ แยกเป็น ชำระค่าเชื้อเพลิง 2,867.03 ล้านบาท, ชำระค่าเหมาซ่อม 1,667.08 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,269.60 ล้านบาท ซึ่งการกู้เงินของ ขสมก. ครั้งนี้จะทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระได้ปีละ 232 ล้านบาท

    เห็นชอบ กฟภ.กู้ 13,395 ล้าน ลงทุน 7 แผนงาน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุน สำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 7 แผนงาน ภายในกรอบวงเงินรวม 13,395 ล้านบาท โดยให้ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นรายปีจนกว่าการดำเนินงานจะแล้วเสร็จ

    สำหรับรายละเอียดของ 7 แผนงานของ กฟภ. ภายใต้กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2564 ประกอบด้วย

      1. แผนงานปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพสถานีไฟฟ้าปี2564 จำนวน 109 แห่ง วงเงินรวม 2,590.88 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 1,943 ล้านบาท และเงินรายได้ 647.88 ล้านบาท
      2. แผนงานปรับปรุงอุปกรณ์ควบคุมในระบบจำหน่ายระยะที่ 1 จำนวน 2,890 ชุด วงเงินรวม 144.23 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 108 ล้านบาท และเงินรายได้ 36.23 ล้านบาท
      3. แผนงานจัดหาอุปกรณ์/ป้องกัน/ตัดตอน/อุปกรณ์ประกอบในระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้า และอุปกรณ์สำรองสำหรับสายเคเบิลใต้ดิน/ใต้น้ำ วงเงินรวม 1,777.17 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 1,333 ล้านบาท และเงินรายได้ 444.71 ล้านบาท
      4. แผนงานจัดหายานพาหนะของกฟภ.ปี 2564-2566 จำนวน 252 คัน วงเงินรวม 823.30 ล้านบาทเป็นเงินกู้ในประเทศ 617 ล้านบาท และเงินรายได้ 206.30 ล้านบาท
      5. แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านสื่อสารและโทรคมนาคมของกฟภ.ปี 2564 วงเงินรวม 1,261.45 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 946 ล้านบาท และเงินรายได้ 315.45 ล้านบาท
      6. แผนงานจัดหามิเตอร์ Electronic สับเปลี่ยนทดแทนมิเตอร์จานหมุนจำนวน 4.5 ล้านเครื่อง วงเงินรวม 7,664.13 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 5,748 ล้านบาท และเงินรายได้ 1,916.13 ล้านบาท และ
      7. แผนงานปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ดำเนินการใน 74 จังหวัด วงเงินรวม 3,602.56 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 2,700 ล้านบาท และเงินรายได้ 902.56 ล้านบาท

    รวม 7 แผนงานใช้วงเงินรวมทั้งสิ้น 17,864.26 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 13,395 ล้านบาท และเงินรายได้ 4,469.26 ล้านบาท

    แจ้งมาตรการภาระหนี้สิน ปชช.ที่ได้รับผลกระทบโควิดฯ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชม ครม. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือ และบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบด้วย

    1. มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีและลูกหนี้รายย่อย ด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมทั้งสถาบันการเงิน ได้ดำเนินมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สินโดยพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง เริ่มตั้งแต่งวดชำระหนี้เดือนกรกฎาคม หรือ เดือนสิงหาคม 2564 แล้วแต่กรณี และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้แล้วจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ย หรือ ค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

    นอกจากนี้จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่มีรายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้เป็นกรณีไป

    อย่างไรก็ตามการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว อาจจะกระทบต่อฐานะ และผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งตัวชี้วัดทางการเงินที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ผูกพันไว้กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ จึงได้มอบหมายให้ สคร. พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว

    2. มาตรการควบคุมการทวงถามหนี้ที่ดำเนินการไม่เป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับติดตามทวงถามหนี้ เรื่อง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ และมอบหมายฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ กรณีประชาชนพบผู้ทวงถามหนี้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด และประจำกรุงเทพมหานครได้

    เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำแม่มอก คนละ 20,000 บาท

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานโครงการของรัฐ กรณีโครงการอ่างเก็บน้ำแม่มอก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง จากการเข้าทำประโยชน์ในแปลงจัดสรรที่ดินไม่ได้จำนวน 103 ราย ในอัตรารายละ 20,000 บาท ในส่วนของอัตรดอกเบี้ยให้เริ่มนับตั้งแต่วันถัดจากที่ราษฎรร้องเรียนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินค่าชดเชยเสร็จ

    ทั้งนี้เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และป้องกันไม่ให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากราษฎร ครม. จึงเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินจำนวน 14 ราย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานกรรมการ

    ให้มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบบุคคลผู้มีสิทธิจำนวน 103 ราย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งกำกับดูแลการจ่ายเงินค่าชดเชยให้เป็นไปอย่างถูกต้องเรียบร้อย

    สำหรับการจ่ายเงินจะใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร(จ่ายตรง) ตามบัญชีรายชื่อบุคคลที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการฯ หรือทายาทของบุคคลดังกล่าว และให้ระบุในหลักฐานการรับเงินด้วยว่า “ข้าพเจ้ายินยอมรับเงินค่าชดเชยในครั้งนี้ และจะไม่มาเรียกร้องหรือขอรับความช่วยเหลือใดๆในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่มอก อันเนื่องมากจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง จากทางราชการอีก”

    สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่มอก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 2534-2543

    ต่ออายุปลัด “ดีอี” 1 ปี – ผู้ช่วย รมต. 19 คน อีกวาระ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ หรือ เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการหรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียด ดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงยุติธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้ง พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. (นักบริหารระดับต้น) สำนักงาน ป.ป.ส. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงาน [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ระดับสูง] สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กรมควบคุมโรค ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1

    คณะรัฐมนตรีมีติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2564 ต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

    4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภภบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เสนอรับโอน นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการการโอนแล้ว

    5. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแต่งตั้ง ศาสตราจารย์ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม) ในคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งตนแทน

    6. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารออมสิน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารออมสิน ดังนี้

      1. นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ กรรมการ
      2. นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา กรรมการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    7. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการบินพลเรือน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายชนินทร์ แก่นหิรัญ เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการบินพลเรือน แทนนายปฐม เฉลยวาเรศ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป โดยอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากำหนดเวลาเดิมของกรรมการเดิม

    8. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) จำนวน 5 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้

      1. นายวัลลภ พริ้งพงษ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารงานท้องถิ่น
      2. นายวสันต์ วรรณวโรทร ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารงานบุคคล
      3. นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบราชการ
      4. นายธวัชชัย ฟักอังกูร ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบริหารและการจัดการ
      5. นายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

    9. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการ องค์การสวนพฤกษศาสตร์

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ รวม 10 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้

      1. นายพงศ์บุณย์ ปองทอง ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานกรรมการ
      2. นายณพงศ์ ศิริขันตยกุล กรรมการ
      3. พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ กรรมการ
      4. นายพรชัย หาญยืนยงสกุล กรรมการ
      5. นายวีระชัย อมรรัตน์ กรรมการ
      6. นายศศิศ มนต์เสรีนุสรณ์ กรรมการ
      7. นายประสิทธิ์ วังภคพัฒนวงศ์ กรรมการ
      8. นายนำชัย แสนสุภา กรรมการ
      9. พลตำรวจตรี วิวัฒน์ ชัยสังฆะ กรรมการ
      10. ร้อยตำรวจโทหญิง ศรัณย์กร เลิศโอภาส ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

    10. เรื่อง การให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ จำนวน 19 ราย ดังนี้

      1. นายประสาน หวังรัตนปราณี ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2564
      2. นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2564
      3. นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2564
      4. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2564
      5. นายสากล ม่วงศิริ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2564
      6. นายสรรเสริญ สมะลาภา ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2564
      7. นายนราพัฒน์ แก้วทอง ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      8. พลตำรวจโท ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      9. นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      10. นายธีระยุทธ วานิชชัง ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      11. นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      12. นายทวี สุระบาล ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      13. นายทศพล เพ็งส้ม ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      14. นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      15. นายเสกสกล อัตถาวงศ์ (เดิมชื่อนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์) ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      16. นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      17. นายอภิวัฒน์ ขันทอง ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      18. นายชื่นชอบ คงอุดม ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2564
      19. นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2564

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2564เพิ่มเติม