ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “เบสท์ริน กรุ๊ป” ชนศุลกากร จนท.ชี้ปม “รีมาร์ก”รถเมล์เอ็นจีวี ระบุบันทึกตรงไหนก็ได้ หากข้อเท็จจริงไม่เปลี่ยน

“เบสท์ริน กรุ๊ป” ชนศุลกากร จนท.ชี้ปม “รีมาร์ก”รถเมล์เอ็นจีวี ระบุบันทึกตรงไหนก็ได้ หากข้อเท็จจริงไม่เปลี่ยน

15 กุมภาพันธ์ 2017


บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป แถลงข่าวกรณีใบรีมาร์กการนำรถเมล์เอ็นจีวีออกจากท่าเรือแหลมฉบังว่ากรมศุลกากรปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมในใบขนสินค้า
บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป แถลงข่าวกรณีใบรีมาร์กการนำรถเมล์เอ็นจีวีออกจากท่าเรือแหลมฉบังว่ากรมศุลกากรปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมในใบขนสินค้า

หลังจากใบขนสินค้าขาเข้าที่ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรลงบันทึกหมายเหตุ (Remark) ว่ารถเมล์เอ็นจีวีที่นำเข้าโดยบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด จำนวน 389 คัน มีถิ่นกำเนิดเป็นประเทศจีน ถูกนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน จนเป็นเหตุให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไม่กล้าตรวจรับรถ รวมทั้งเตรียมบอกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีกับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ทำให้นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานบริษัทเบสท์รินฯ ต้องออกมาแถลงข่าวตอบโต้กรมศุลกากรถึง 3 ครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ 3 ประเด็น

ประเด็นแรก นับตั้งแต่วันที่กรมศุลกากรตั้งข้อหาบริษัทซุปเปอร์ซาร่าสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้บริหารของบริษัทซุปเปอร์ซาร่าในฐานะบริษัทผู้นำเข้าออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด มีแต่ผู้บริหารของบริษัทเบสท์รินฯ ที่ออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชน ซึ่งบริษัทเบสท์รินฯ ไม่ใช่คู่กรณีของกรมศุลกากร

ก่อนหน้านี้นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร เคยให้สัมภาษณ์ว่า กรมศุลกากรเคยทำหนังสือแจ้งบริษัทซุปเปอร์ซาร่า โดยส่งไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมทั้งที่แจ้งไว้ในใบขนสินค้า เรียกให้บริษัทซุปเปอร์ซาร่าเข้ามาติดต่อกรมศุลกากรเพื่อนำรถเมล์เอ็นจีวี 99 คันออกจากด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ปรากฏว่าจดหมายถูกตีกลับ จึงเกิดข้อสงสัยว่า บริษัทที่นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีมูลค่าหลายพันล้านบาท เหตุใดไม่มีพนักงานรับจดหมาย

บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด 429/22 ถนนลาดพร้าว-วังหิน แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กทม. ที่มาข้อมูล: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด 429/22 ถนนลาดพร้าว-วังหิน แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กทม. ที่มาข้อมูล: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

thaipublica-5210-ซุปเปอร์ซาร่า

ประเด็นที่ 2 กรมศุลกากรนำหลักฐานภาพถ่ายรถเมล์เอ็นจีวีทั้งคันขับลงจากเรือบรรทุกสินค้ามาจอดที่ท่าเรือมาเลเซีย ซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานเพียงบางส่วนเพื่อยืนยันว่าเป็นรถเมล์ที่ผลิตจากประเทศจีน ไม่ได้นำเข้าอะไหล่ชิ้นส่วนมาประกอบที่โรงงาน R&A Commercial Vehicles SDN BHD ประเทศมาเลเซีย ตามที่บริษัทซุปเปอร์ซาร่าสำแดงต่อกรมศุลกากร

บริษัทเบท์รินฯ กับบริษัท R&A Commercial Vehicles SDN BHD ประเทศมาเลเซีย อยู่ในกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ซึ่งเป็นคู่สัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันกับ ขสมก. ทำไมบริษัทเบสท์รินฯ จึงไม่ขอให้บริษัท R&A Commercial Vehicles SDN BHD นำหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายอะไหล่ชิ้นส่วนขณะนำเข้า หรือกำลังประกอบตัวรถเมล์ในโรงงาน หรือบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ใบกำกับภาษีจากการสั่งซื้ออะไหล่ในประเทศมาเลเซียเกิน 40% มาหักล้างข้อกล่าวหากรมศุลกากร

ในช่วงที่บริษัทเบสท์รินฯ แถลงข่าว นายชนิด ศุทธยาลัย ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทเบสท์รินฯ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการ สำนักกฎหมายกรมศุลกากร กล่าวว่า “หากกรมศุลกากรสงสัย ต้องทำหนังสือสอบถามมาเลเซีย ไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำเข้า กรณีประเทศผู้นำเข้ามีข้อสงสัยเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า ต้องทำหนังสือสอบถามภายใน 60 วัน ส่วนประเทศผู้ส่งออกก็ต้องตอบภายใน 30 วัน ตอนนี้ไม่รู้กรมศุลกากรสอบถามมาเลเซียไปหรือยัง กรมศุลกากรมาถามผู้นำเข้า ผู้นำเข้าจะตอบได้อย่างไร”

ส่วนนายคณิสสร์กล่าวว่า “คนที่จะตอบคำถามนี้ไม่ใช่ผม ต้องเป็นคนที่ตั้งข้อสงสัยเท่านั้นที่ต้องไปสืบหาข้อเท็จจริง กรมศุลกากรไม่มีอำนาจในการตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากเกิดข้อสงสัยต้องทำหนังสือไปสอบถามหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ในที่นี้คือ MITI ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้พิจารณาเพิกถอนสิทธิ และที่สำคัญ การถอนสิทธิ์ต้องแจ้งเลขาธิการอาเซียนทันที หากไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมตกลงกันไว้ อาจก่อให้เกิดความบาดหมางระหว่างประเทศ ซึ่งบริษัทผู้นำเข้าก็อาจจะต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดเป็นเท็จต่อไป”

flowchart ngv bus

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรให้ความเห็นว่า ประเด็นนี้ นายชนิด ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการสำนักกฎหมายของกรมศุลกากร น่าจะเข้าใจขั้นตอนของกฎหมายศุลกากรดี หลังจากที่กรมศุลกากร ตั้งข้อกล่าวหาผู้นำเข้าสำแดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 หมวด 3 มาตรา 100 ผู้นำเข้าที่ถูกกรมศุลกากรตั้งข้อกล่าวหาทุกคดีมีหน้าที่ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์

ประเด็นที่ 3 บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด แจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ศุลกากร 3 ราย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมลงในใบขนสินค้าขาเข้าด้านหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้นำเข้าต้องลงนามรับรองความถูกต้อง ว่า “มีปัญหาถิ่นกำเนิด เนื่องจาก คกก.ตรวจปล่อยรถยนต์ ตรวจพบว่ารถยนต์ฯ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน” ถือเป็นการปลอมแปลงเอกสารของบริษัท รวมทั้งยื่นฟ้องศาลอาญาจังหวัดพัทยาให้ดำเนินคดีกับอธิบดีกรมศุลกากรและพวกรวม 7 ราย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560

ประเด็นนี้นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ชี้แจงว่า ในอดีต การยื่นใบขนสินค้าฯ เป็นการยื่นแบบกระดาษ เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบความผิดจะลงบันทึกหมายเหตุลงในช่องที่อยู่ด้านหลังของใบขนสินค้าฯ หากผู้นำเข้านำใบขนสินค้าฯ ไปใช้ประโยชน์หรือนำไปใช้ติดต่อกับทางราชการ มันจะติดไปทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพราะเป็นกระดาษแผ่นเดียวกัน แต่หลังจากกรมศุลกากรเปิดให้ผู้นำเข้าสามารถยื่นใบขนสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เวลาสั่งพิมพ์จากคอมพิวเตอร์จะมี 2 หน้า หากบันทึกหมายเหตุเฉพาะด้านหลัง ก็จะไม่มีรายละเอียดของความผิดปรากฏอยู่ที่ด้านหน้าใบขนสินค้าฯ

นายชัยยุทธกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ขสมก. เคยทำหนังสือสอบ ถามกรมศุลกากรว่า ในใบขนสินค้าขาเข้า ระบุสินค้าถิ่นกำเนิดประเทศมาเลเซีย โดยมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรประทับตรารับรองสำเนาใบขนสินค้าฯ ถูกต้อง ถือว่ารถคันดังกล่าวประกอบ ณ ประเทศมาเลเซียได้หรือไม่ ประเด็นนี้อาจทำให้ ขสมก. เข้าใจว่า กรมศุลกากรได้ตรวจสอบแล้ว และรับรองว่ารถเมล์มีถิ่นกำเนิดมาเลเซีย ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงลงบันทึกหมายเหตุไว้ที่หน้าใบขนสินค้าฯ ตามข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการรีมาร์กที่ด้านหน้าใบขนสินค้าฯ เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีสิทธิ หากไปดูใบขนสินค้าฉบับใหม่ให้ดีจะไม่มีการระบุว่าส่วนไหนเป็นส่วนของผู้นำเข้า ด้านหน้าของใบขนสินค้าฯ มีไว้เพื่อให้ผู้นำเข้ากรอกรายละเอียดของสินค้าขณะยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบ จึงไม่ถือว่าเป็นความผิด ตราบใดที่ลงบันทึกข้อความถูกต้องและตรงตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีการนำใบขนสินค้าฯ ไปใช้ประโยชน์เพียงหน้าเดียว หน้าหลังไม่ได้นำไปใช้

 นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร
นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร

“การบันทึกหมายเหตุที่หน้าใบขนสินค้าฯ ทำให้หน่วยงานอื่นที่ใช้ใบขนสินค้าฯ ประกอบการพิจารณาสามารถรับรู้ได้ว่าสินค้าที่แสดงถิ่นกำเนิดสินค้าดังกล่าวจริงๆ แล้วยังมีปัญหาอยู่ และกรมศุลกากรไม่ได้รับรองว่าสินค้ามีถิ่นกำเนิดมาเลเซีย และที่สำคัญ ในใบขนสินค้าฯ ก็ไม่ได้บอกว่าบริเวณนั้นเป็นส่วนของผู้นำเข้า ดังนั้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงมีสิทธิ์รีมาร์กตรงไหนก็ได้ จะบันทึกด้านหน้าหรือด้านหลังก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป และทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น การนำประเด็นนี้ไปฟ้องต่อศาลก็เป็นสิทธิ์ของบริษัทผู้นำเข้า ในส่วนกรมศุลกากรก็มีหน้าที่ต้องไปชี้แจงกับศาลต่อไป” นายชัยยุทธกล่าว

ล่าสุด นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ ขสมก. ยังไม่ส่งหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาถึงบริษัทเบสท์รินฯเนื่องจากบริษัทเบสท์รินฯ ทำหนังสือถึง ขสมก. ขอขยายระยะเวลาส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ออกไป โดยบริษัทเบสท์รินฯ ยอมจ่ายค่าปรับที่เกิดขึ้นทั้งหมด และที่ผ่านมาบริษัทเบสท์รินฯ พยายามนำรถเมลเอ็นจีวี 390 คัน มาส่งมอบให้ ขสมก. ทางอัยการสูงสุดแนะนำให้ ขสมก. พิจารณาข้อเสนอของบริษัทเบสท์รินฯ ก่อนที่ ขสมก. จะส่งหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา

ขณะนี้กรมศุลกากรจึงต้องเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน สรุปสำนวนคดีส่งให้ศาลชี้ขาดรถเมล์เอ็นจีวีลอตที่ถูกกรมศุลกากรตั้งข้อกล่าวหาสำแดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จนั้น ประกอบที่ “จีน”หรือ “มาเลเซีย”