ThaiPublica > สู่อาเซียน > หอหลวง “เชียงตุง-ป๋างลอง” รัฐฉาน กับชะตากรรมที่ “ตรงข้าม”

หอหลวง “เชียงตุง-ป๋างลอง” รัฐฉาน กับชะตากรรมที่ “ตรงข้าม”

2 กุมภาพันธ์ 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

หอหลวงเมืองเชียงตุง(ซ้าย) และ หอหลวงเมืองป๋างลอง (ขวา)

ช่วงปีใหม่ ก่อนเปลี่ยนศักราชจาก พ.ศ. 2565 เป็น 2566 ไม่กี่วัน มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับหอหลวงในรัฐฉาน 2 แห่ง ได้แก่ หอหลวงเมืองเชียงตุง และ หอหลวงเมืองป๋างลอง

เป็นความเคลื่อนไหวที่ให้ความรู้สึกตรงกันข้าม!

คำว่า “หอหลวง” หรือ “หอคำหลวง” ในรัฐฉาน คือ “วัง” เป็นที่อยู่ของ “เจ้าฟ้า” หรือ “กษัตริย์” ของแต่ละเมือง

ความหมายของคำว่า “เมือง” ในภาษาไตหรือภาษาไทใหญ่ กว้างไกลถึงระดับ “ประเทศ” หรือ “รัฐ” เวลาได้ยินคนไทใหญ่เอ่ยคำว่า “เมืองไต” แล้ว เขาหมายความถึงดินแดนรัฐฉานทั้งหมด

ก่อนถูกครอบครองโดยพม่า รัฐฉานประกอบด้วยเมืองใหญ่น้อย 33 เมือง แต่ละเมืองแยกเป็นเอกเทศไม่ขึ้นต่อกัน แต่ละเมืองต่างมีเจ้าฟ้าปกครอง เจ้าฟ้าของบางเมืองมีสายสัมพันธ์กับเจ้าฟ้าเมืองอื่นในทางเครือญาติ เจ้าฟ้าบางเมืองเกี่ยวดองกันโดยการแต่งงาน มีบางเมืองที่ขัดแย้งกันบ้าง ตามสถานการณ์ในแต่ละช่วง

ระบบเจ้าฟ้าของรัฐฉานถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อนายพลเนวินนำกำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองในพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2505 การปกครองพื้นที่ต่างๆ ในรัฐฉานถูกนำไปรวมศูนย์ไว้ที่รัฐบาลทหารพม่า ศูนย์รวมจิตใจผู้คนในเมืองต่างๆ ของรัฐฉาน จึงมีเพียงหอหลวงที่ยังหลงเหลืออยู่ของแต่ละเมือง เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงอิสรภาพและความเป็นชาติของตนเองในอดีต

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้การดูแลรักษาและการคงอยู่ของหอหลวงแต่ละเมืองแตกต่างกัน

วันที่ 30 ธันวาคม 2565 ช่องยูทูบที่ใช้ชื่อว่า “น้องใหม่ เชียงตุง” มีรายงานเรื่องหอหลวงหลังใหม่ของเมืองเชียงตุง ระบุความคืบหน้าในเวลานั้นว่า การก่อสร้างดำเนินไปแล้วประมาณ 20%

ก่อนหน้านั้นไม่ถึงสัปดาห์ วันที่ 25 ธันวาคม 2565 สำนักข่าว Shan News มีรายงานเรื่องหอหลวงของเมืองป๋างลอง ซึ่งได้พังทลายลงเพราะความเก่าแก่ของตัวอาคารตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เนื้อข่าวบอกว่า โอกาสที่จะสร้างหรือซ่อมแซมหอหลวงป๋างลองขึ้นมาใหม่นั้นริบหรี่เต็มทน สาเหตุสำคัญเนื่องจากขาดแคลนเงินทุน!

……

เจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงลำดับที่ 40 (พ.ศ. 2439-2478) ดำริให้สร้างหอหลวงเชียงตุงขึ้นเมื่อปี 2449 เป็นอาคาร 2 ชั้น ที่สร้างขึ้นจากปูนซีเมนต์หลังแรกของเมืองเชียงตุง มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างอาคารของอังกฤษและอินเดีย ถือเป็นอาคารที่สวยงามที่สุดหลังหนึ่งของเชียงตุงในยุคนั้น

หอหลวงเชียงตุง นอกจากเป็นสถานที่พำนักของเจ้าฟ้าและเชื้อพระวงศ์แล้ว ยังถูกใช้เป็นสถานที่ว่าราชการ ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงใช้จัดงานราชพิธีสำคัญต่างๆ

หลังนายพลเนวินยึดอำนาจ กรรมสิทธิ์ในหอหลวงเชียงตุงตกเป็นของกองทัพพม่า กระทั่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 ยุคที่นายพลตานฉ่วยเป็นผู้นำสหภาพพม่า ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวเชียงตุงที่ดังออกมาจากทั่วทุกหัวระแหง กองทัพพม่าได้ระเบิดหอหลวงเชียงตุงทิ้ง และมอบที่ดินซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของหอหลวงให้บริษัทเอกชนเช่าสร้างเป็นโรงแรม ใช้ชื่อว่าโรงแรมนิวเชียงตุง และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมอเมซซิ่ง เชียงตุง ในภายหลัง

การกระทำของกองทัพพม่าครั้งนั้น สร้างความสะเทือนใจ เจ็บช้ำน้ำใจอย่างแสนสาหัสแก่ชาวเชียงตุงทุกคน รวมถึงชาวไตอีกหลายกลุ่มหลายคนในรัฐฉาน

วันที่ 3 สิงหาคม 2562 หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซาน ซูจี ขึ้นเป็นรัฐบาล บริหารประเทศแล้ว 2 ปี ทายาทของเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงและชาวเชียงตุงจำนวนหนึ่ง ได้เริ่มต้นกระบวนการเรียกร้องต่อรัฐบาลพลเรือนเมียนมา ให้คืนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเคยเป็นที่ตั้งหอหลวงเดิม กลับมาสู่มือของทายาทเจ้ารัตนะก้อนแก้วฯ และเพื่อจะได้นำมาสร้างหอหลวงเชียงตุงขึ้นมาใหม่

แต่รัฐบาลพรรค NLD ได้ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าที่ดินแปลงนี้ได้มอบให้นักธุรกิจ 2 รายเช่าเพื่อสร้างโรงแรมไปแล้ว โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา (MIC) สัญญาเช่ามีอายุ 70 ปี จึงไม่สามารถคืนที่ดินให้ได้ตามข้อเรียกร้อง

หอหลวงเชียงตุงหลังใหม่ กำลังสร้างอยู่ริมหนองตุง อาคารสูงด้านหลังคือโรงแรมอเมซซิ่ง เชียงตุง ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินหอหลวงหลังเดิม ที่มาภาพ : เพจ Kengtung City
รูปแบบหอหลวงหลังใหม่ ยึดตามสถาปัตยกรรมของหอหลวงเดิมที่ถูกทำลายไปแล้ว ที่มาภาพ : เพจ Kengtung City

หลังการรัฐประหารของกองทัพพม่าในปี 2564 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมา ได้อนุมัติให้สร้างหอหลวงเชียงตุงหลังใหม่ขึ้นบนที่ดินซึ่งเคยเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าฟ้าเชียงตุง ริมหนองตุงทางฝั่งตะวันตก แม้ไม่ใช่เป็นที่ดินแปลงเดิมที่เคยเป็นที่ตั้งของหอหลวง แต่ก็อยู่ใกล้ชิดติดกัน โดยหอหลวงที่จะสร้างใหม่ ยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมของหอหลวงหลังเดิม

พื้นที่หอหลวงหลังที่กำลังสร้างใหม่ กว้าง 300 ฟุต ยาว 200 ฟุต ใช้งบประมาณในก่อสร้าง 4,000 ล้านจัต หรือประมาณ 80 ล้านบาท

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เดินทางมาทำพิธีวางอิฐเงิน อิฐคำ(เปรียบได้กับศิลาฤกษ์) เพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างหอหลวงหลังใหม่ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565…

  • สร้างคืน “หอหลวงเชียงตุง” การ “ซื้อใจ” ของมินอ่องหล่าย
  • หอหลวงป๋างลองในอดีตเมื่อครั้งยังไม่ทรุดพังลงมา ไม่ได้ระบุว่าบันทึกไว้เมื่อปีใด ที่มาภาพ : เพจ เรื่องเล่าชาวล้านนา

    เมือง “ป๋างลอง” หรือในอีกชื่อหนึ่งคือเมือง “ดอยหลวง” เป็น 1 ใน 33 เมืองของรัฐฉาน ก่อนตกอยู่ภายใต้การครอบครองของพม่า ตั้งอยู่รัฐฉานใต้ ในเขตจังหวัดตองจี บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 4,800 ฟุต

    ตำแหน่งที่ตั้งเมืองป๋างลองอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองใหญ่ 3 แห่ง ทิศเหนือ คือตัวเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นกรุงเนปยีดอ เมืองหลวงของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และทิศตะวันออกเฉียงใต้ คือเมืองลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐกะยา

    ในทางเศรษฐกิจ เมืองป๋างลองเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าตีจิต (Tigyit) หรือที่ในภาษาไตเรียกว่า “สี่กีบ” เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในเมียนมา มีกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ เป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง Eden Group กับ China National Heavy Machinery (CHMC) และบริษัท Shan Yoma Nagar เริ่มเดินเครื่องผลิตตั้งแต่ปี 2545 และเป็นโรงไฟฟ้าที่ถูกต่อต้านจากประชาชนมากที่สุด เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่โดยรอบโรงงาน

    Eden Group เป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในเมียนมา มี อู ชิตข่าย เป็นประธาน นอกจากร่วมทุนในโรงไฟฟ้าตีจิตแล้ว ยังเป็นเจ้าของบริษัท MAPCO ธุรกิจการเกษตรที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง (YSX) ธนาคาร Myanmar Apex ปั๊มน้ำมัน Denko รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม รีสอร์ท อีกหลายแห่ง

    ที่ตั้งเมืองป๋างลองในรัฐฉานใต้

    โรงไฟฟ้าตีจิตตั้งอยู่ในเมืองสี่กีบ เขตปกครองระดับตำบลหนึ่งของเมืองป๋างลอง ระหว่างเส้นทางที่เชื่อมจากเมืองตองจีไปยังกรุงเนปยีดอ อยู่ห่างจากทะเลสาบอินเลทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 13 ไมล์ (ดูแผนที่ประกอบ)

    หอหลวงป๋างลองเป็นอาคารเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อปี 2457 ในสมัยเจ้าขุนคำจ่อเป็นเจ้าฟ้า ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของตัวเมือง เป็นอาคาร 2 ชั้นที่สร้างขึ้นจากไม้ทั้งหลัง ตัวอาคารกว้าง 70 ฟุต ยาว 120 ฟุต ช่วงที่ยังไม่ทรุดโทรม จัดเป็นหอหลวงที่มีความสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง

    เจ้าขุนคำจ่อ (ซ้าย)และเจ้าโมจ่อ (ขวา)

    เจ้าขุนคำจ่อ เกิดเมื่อปี 2417 ได้ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเมืองป๋างลองเมื่อปี 2438 ปกครองเมืองอยู่ 43 ปี จนถึงแก่กรรมในปี 2481 จากนั้นเจ้าโมจ่อ บุตรชาย ได้ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเมืองป๋างลองสืบต่อ กระทั่งปี 2505 หลังการยึดอำนาจของนายพลเนวิน เจ้าโมจ่อถูกกองทัพพม่าจับกุมตัวไปคุมขัง สิ้นสุดระบบเจ้าฟ้าในเมืองป๋างลอง

    ส่วนหอหลวงป๋างลอง ได้ถูกปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรม…

    เวลาผ่านพ้นไปหลายปี หอหลวงป๋างลองทรุดโทรมลงอย่างต่อเนื่อง ชาวเมืองป๋างลองและทายาทที่ยังเหลืออยู่ของเจ้าฟ้าป๋างลอง พยายามบูรณะหอหลวงหลังนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ก็มีอุปสรรคตรงที่ขาดแคลนทุนรอนสำหรับการซ่อมแซม

    ปี 2557 ทายาทเจ้าฟ้าป๋างลองได้ตัดสินใจยกหอหลวงหลังนี้ให้แก่วัดหม่วยต่อ เจ้าอาวาสวัดหม่วยต่อตั้งใจจะปรับปรุงอาคารหอหลวงเป็นโรงธรรม แต่ก็ยังติดปัญหาเดิมตรงที่ขาดแคลนปัจจัย

    ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News

    เดือนกุมภาพันธ์ 2558 พล.อ. เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้ ได้เดินทางไปยังเมืองป๋างลอง และมีโอกาสพบปะพูดคุยกับชาวเมืองเรื่องการบูรณะหอหลวง มีการตั้งคณะบุคคลขึ้นเป็นกรรมการบูรณะหอหลวงป๋างลอง พล.อ. เจ้ายอดศึกรับที่จะให้การสนับสนุน โดยจัดหาไม้มาใช้ในการซ่อมแซม

    แต่อาจเป็นเพราะการสื่อสารระหว่างกันที่คลาดเคลื่อน หลัง พล.อ. เจ้ายอดศึกกลับไปแล้วหลายปี จนถึงปัจจุบันนี้ คณะกรรมการบูรณะหอหลวงป๋างลอง ยังไม่ได้รับไม้จากสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน…

    ก่อนการพังทลายลงในปี 2563 หอหลวงป๋างลองเคยถูกผลกระทบจากภัยธรรมชาติ จนทำให้อาคารบางส่วนทรุดตัวและผุพังลงมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง

    วันที่ 10 กันยายน 2562 หอหลวงป๋างลองได้ทรุดตัวลง โครงสร้างหลักได้รับความเสียหาย ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News
    วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 หอหลวงป๋างลองพังถล่มลงมาอย่างถาวร และจนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้มีการบูรณะหรือซ่อมแซมกลับคืนมาใหม่ ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News

    เช้าของวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 เวลาประมาณ 8 นาฬิกาเศษ ได้เกิดลมพายุพัดถล่มเมืองป๋างลอง หอหลวงป๋างลองถูกพายุซัดจนได้รับความเสียหาย เหล่าชาวเมืองและทายาทของเจ้าฟ้าพยายามช่วยกันซ่อมแซมให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

    ถัดมา ในวันที่ 10 กันยายน 2562 หอหลวงได้เกิดทรุดตัวลงมาอีกครั้ง ชาวเมืองและทายาทเจ้าฟ้าร่วมลงแรงช่วยกันซ่อมแซมกลับคืน แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายไปเกือบหมดแล้ว จนตัวอาคารมีลักษณะเอียง มองเห็นได้ชัด

    เวลาประมาณ 12.50 น. วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 หอหลวงทั้งหลังได้พังยุบตัวลงมาอย่างถาวร ต่อหน้าชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่กำลังยืนเฝ้ามอง มีการถ่ายคลิปขณะที่ตัวอาคารกำลังถล่มลงมาไว้ได้ จาก ภาพคลิปความยาว 7 นาที ได้บันทึกจังหวะที่อาคารหอหลวงค่อยๆ เอียงและยุบตัวลงมากองกับพื้นให้เห็นอย่างชัดเจนในนาทีที่ 5…

    ข่าวล่าสุดของสำนักข่าว Shan News เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 ได้สัมภาษณ์จายแสงหนุ่ม เลขาธิการ คณะกรรมการบูรณะหอหลวงเมืองป๋างลอง เขาได้บอกว่า การบูรณะซ่อมแซมหอหลวงป๋างลองให้กลับคืนมาใหม่ ต้องใช้เงินจำนวนมาก เงินของคณะกรรมการก็ไม่มี จึงหวังเพียงว่า คนไตที่อยู่ต่างที่ต่างเมืองจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ บริจาคเงินทุนมาให้ มิเช่นนั้น เมืองป๋างลองก็ต้องตกเป็นเมืองของชาวชาติพันธุ์อื่นไปโดยสมบูรณ์

    ……

    แม้อยู่ในรัฐฉาน แต่รัฐธรรมนูญเมียนมาฉบับปี 2008 (พ.ศ. 2551) ได้กำหนดให้เมืองป๋างลอง เป็น 1 ใน 3 เมืองหลักของเขตปกครองตนเองชาติพันธุ์ปะโอ เมืองหลักอีก 2 แห่ง ได้แก่ เมืองสี่แสง และเมืองโหโปง ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออก

    ชาวปะโอ มีต้นกำเนิดเดิมอยู่ตอนกลางของทวีปเอเซีย ก่อนโยกย้ายมาตั้งอาณาจักรเป็นของตนเองในพื้นที่ซึ่งเป็นกรุงย่างกุ้งปัจจุบัน แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 อาณาจักรปะโอต้องพ่ายแพ้แก่อาณาจักรพุกาม ชาวปะโอจึงได้อพยพขึ้นไปตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นรัฐฉานทุกวันนี้

    ข้อมูลของสำนักข่าว Shan News ระบุว่า เมืองป๋างลองแบ่งการปกครองเป็น 10 เขต 35 ตำบล เป็นเขตที่มีชาวไตอาศัยอยู่ 5 เขต สถิติในปี 2563 เมืองป๋างลองมีประชากรรวม 170,000 คน ส่วนใหญ่ 120,000 คน เป็นชาวปะโอ ส่วนชาวไตมีอยู่เพียง 30,000 คน ที่เหลือเป็นชาวพม่า กะเหรี่ยงแดง และกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอื่นๆ

    มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลหนึ่งที่หอหลวงป๋างลองไม่ได้รับการสนับสนุนให้บูรณะซ่อมแซมกลับคืนมาใหม่ นอกจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมาจากทัศนะของคนจำนวนหนึ่งที่มองว่า ป๋างลองทุกวันนี้ ไม่ใช่เมืองของคนไตอีกแล้ว…