ThaiPublica > คอลัมน์ > ถอดรหัสอินเดียฉลอง 74 ปีวันชาติ – ยุคใหม่แห่งความภาคภูมิ

ถอดรหัสอินเดียฉลอง 74 ปีวันชาติ – ยุคใหม่แห่งความภาคภูมิ

3 กุมภาพันธ์ 2023


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ที่มาภาพ : https://www.thehindu.com/multimedia/in-pictures-india-celebrates-74th-independence-day-amid-pandemic/article32362185.ece

รุ่งอรุณของวันที่ 26 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา คนนับแสนทั้งยืนทั้งนั่งเบียดเสียดกันตลอดขอบถนน “ราษฏรปติภวัน” (Rashtrapati Bhavan) ซึ่งทอดยาวเหมือนถนนราชดำเนินใจกลางกรุงเดลี ท่ามกลางบรรยากาศที่หนาวเหน็บแห่งเดือนมกราคม ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆหมอกในยามเช้า มีประตูอินเดีย (Gate of India) อยู่ไม่ไกล อันที่จริงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองนั้นยาวนานถึง 7 วัน และสำหรับการฉลองเทศกาลวันชาติ (Republic Day)

ในปีนี้เป็นโอกาสพิเศษที่สาธารณรัฐอินเดียประกาศความเกรียงไกรในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่แตกต่าง อาคันตุกะพิเศษจากต่างประเทศ ความเป็นสตรีนิยม และที่สำคัญที่สุดของค่านิยมใหม่ของสังคมอินเดียในศตวรรษที่ 21 ศูนย์กลางของมณฑลพิธีคือรูปหล่อเสาหินรูปราชสีห์สีอิฐตามสถาปัตยกรรมพระเจ้าอโศกมหาราช หันหน้าสู่ทิศทั้งสี่สูงตระหง่านเห็นแต่ไกล ล้อมรอบด้วยฐานสีเหลืองของดอกดาวเรืองแผ่ออกเป็นพรมไปทั้งสี่ด้าน

พิธีอันยิ่งใหญ่นี้เริ่มด้วยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี วางพวงมาลาทำพิธีสักการะต่อทหาร 26,000 นายที่เสียสละชีวิตเพื่อชาติในสงครามที่ผ่านมาตลอด 74 ปี นับตั้งแต่ที่ประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษ ณ อนุสรณ์สถาน “อมรจักร” (Amara Chakra) รอบอนุสรณ์สถานแห่งนี้มีชื่อสุกลของทหารทุกคนที่เสียชีวิตในสงครามแต่ละครั้งจารึกเป็นอักษรสีทองบนแผ่นโลหะสีเลือดหมูประดับไว้โดยรอบ อนุสรณ์สถานนี้ถูกออกแบบเป็นวงกลม มีศูนย์กลางคือเสาหินที่มียอดเป็นราชสีห์พระเจ้าอโศกหันไปทั้งสี่ด้านอยู่ไม่ห่างจากประตูอินเดียเท่าใดนัก ภายหลังจากการยืนไว้อาลัยในความสงบเป็นเวลา 2 นาที ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ลงนามสมุดเยี่ยมอนุสรณ์สถานแห่งนี้เบื้องหน้าคือ “เพลิงนิรันดร” ซึ่งมีทหารกองเกียรติยศ เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำเหล่าทัพยืนเป็นสักขีพยาน

อีกด้านหนึ่งของพิธีประธานาธิบดีอินเดียนางเทราปที มุรมู (Draupadi Murmu) เดินนำประธานาธิบดีอียิปต์นายเอล ซีซี (El Sisi) จากทำเนียบประธานาธิบดีเดินบนพรมแดง เพื่อไปรับความเคารพจากแถวทหารม้ากองเกียรติยศ และขึ้นขบวนรถไปสู่ปรับพิธี นายกรัฐมนตรีเดินทางมารอรับขบวนรถของประธานาธิบดีและอาคันตุกะจากอียิปต์เดินทางมาถึงปะรำพิธี ซึ่งเดินทางมาถึงพร้อมทหารม้ากองเกียรติยศหนึ่งกองร้อย เมื่อทุกคนพร้อมทุกคนยืนตรงเคารพธงชาติอินเดีย วงโยธวาทิตบรรเลงเพลงชาติอินเดียพร้อมปืนใหญ่ยิงสลุต 21 นัด ตามด้วยการแปรขบวนของทหารหน่วยต่างๆ นำขบวนด้วยผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอินเดียผู้ยืนบนรถเปิดประทุน นายทหารทุกนายทำวันทยหัตถ์ต่อประธานาธิบดีนางเทราปที มุรมู

เป็นที่น่าสังเกตว่ารถทุกคันอันเป็นพาหนะของนายทหารเหล่านี้ทำในอินเดียทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านี้ รถถังแบบต่างๆ รถหุ้มเกราะแบบต่างๆ รถยิงขีปนาวุธ แบบต่างๆ รถบรรทุกติดตั้งเครื่องมือไฮเทคทั้งหมดถูกออกแบบและสร้างขึ้นในอินเดีย ชื่อของรถและอาวุธเหล่านี้ล้วนอยู่ในภาษาสันสกฤตทั้งสิ้น เป็นครั้งแรกของการสวนสนามที่อาวุธสงครามทั้งหมดถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวอินเดียและโรงงานผลิตของอินเดีย

ประธานาธิบดีนางเทราปที มุรมู ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Droupadi_Murmu#/media/File:The_President,_Smt._Droupadi_Murmu

นอกจากการสวนสนามของทหารหน่วยต่างๆ ของทหารบกอินเดียแล้ว ยังมีขบวนแห่ของทหารผ่านศึก และทหารหญิงที่ใหญ่ที่สุดของโลกชื่อนารีศักติ (Nari-Sakti) อันเป็นหน่วยงานทางกลาโหมที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในรัฐบาลของนายโมที ตามด้วยขบวนแห่งกองทัพเรื่องและทหารอากาศ มีนักบินขับไล่หญิงร่วมขบวนด้วย ตามด้วยหน่วยวิจัยและพัฒนาของกระทรวงกลางโหม อันเป็นหน่วยงานที่เป็นมันสมองของการออกแบบอาวุธแบบต่างๆ ของอินเดีย

เมื่อหน่วยงานทางกลาโหมสวนสนามเสร็จแล้ว คือกองร้อยของตำรวจหญิงซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกอีกเช่นกันและตำรวจรถไฟ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะในอินเดียประชาชนส่วนใหญ่ชอบที่จะเดินทางด้วยรถไฟ ตามด้วยตำรวจอูฐซึ่งใช้อูฐเป็นพาหนะ ท้ายสุดเป็นหน่วยรักษาดินแดนซึ่งคล้ายกับนักศึกษารักษาดินแดนของไทย ประกอบด้วยคนหนุ่มสาวจากรัฐต่างๆ ของรัฐต่างๆ ซึ่งอินเดียเป็นประเทศที่มีกองกำลังหน่วยรักษาดินแดนกว่าสองแสนนาย และหน่วยงานจิตอาสารักษาดินแดนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ปิดท้ายด้วยวงปี่สกอตอันเป็นสิ่งที่กองทัพบกของอินเดียได้รับตกทอดจากอังกฤษ

สิ่งที่น่าสนใจในครั้งนี้คือ ต่อจากการสวนสนามของหน่วยงานทางความมั่นคงแล้ว ยังมีรถแห่งจากรัฐต่างๆ ของรัฐต่างๆ ทั้ง 29 รัฐของอินเดียที่แสดงวัฒนธรรมอันหลากหลายอันเต็มไปด้วยสีสัน เช่น รถแห่แสดงฉากต่างๆ ขอสงครามมหาภารตะและรามายณะ นักบวชนักพรตฤษีของฮินดู รถแห่ที่เป็นที่น่าสนใจมากคือรถแห่จากเมืองลาดาก ซึ่งมีการผสมผสานของฮินดูและพุทธวัชรยานของทิเบต รถแห่งของอุตระขันธ์ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ รถแห่เจดีย์ทองแบบเดียวกับมหาเจดีย์ชะเวดากองของพม่า ซึ่งมีวัฒนธรรมของไทยอาหมจากแคว้นอัสสัมซึ่งคุ้นตาคนไทย และรถแห่ “นารีศักติ” หรือ “พลังสตรี” ซึ่งไม่เคยมีในการเฉลิมฉลองในปีก่อนๆ มาก่อน รถแห่แต่ละคันมีกระบวนนักฟ้อนและดนตรีที่มีลีลาที่แตกต่างกันไป ยึดโยงกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในรัฐของตน ปิดท้ายกระบวนด้วยรถแห่จากกระทรวงต่างๆ ของอินเดีย เช่น กระทรวงศึกษาธิการที่แสดงความหลากหลายของการศึกษาในอินเดีย กระทรวงมหาดไทยที่เน้นภัยจากยาเสพติด และจบลงด้วยกระทรวงวัฒนธรรมของอินเดีย กระบวนแห่ “เทวี” หรือ เทพผู้เป็นสตรีของฮินดูซึ่งเอกลักษณ์พิเศษของศาสนานี้ฟ้อนรำด้วยนักฟ้องหญิงวัยต่างๆ กันหลายร้อยคน ในชุดที่มีสีสันที่หลากหลาย แสดงถึงธาตุทั้ง 5 ประการของร่างกายมนุษย์ซึ่งมีเทพเจ้าเป็นหญิงเป็นผู้ดลบันดาน ทั้งบทเพลง ท่ารำ ทั้งหมดประพันธ์โดยศิลปินชาวสตรีอินเดียทั้งสิ้น เป็นที่น่าสนใจที่ความเป็นสตรีนิยมนี้ปรากฏในกระบวนแห่ในหลายกระบวนของอินเดียในวันชาติครั้งนี้

อาจเรียกได้ว่าในงานสวนสนามและขบวนแห่รถบุพชาติและการแสดงทางวัฒนธรรมทั้งหมดนี้ ประธานาธิบดีเทราปตี มุรมูเป็นตัวละครตัวเอก เธอเป็นคนเดียวที่ยืนตรง ทำวันทยาหัตถ์รับความเคารพตอบแก่แถวทหารที่เดินตบเท้าสวนสนามถนนใหญ่ แม่ทัพนายกองทุกคนที่หันมาทำความเคารพต่อเธอ รวมทั้งทหารกองเกียรติยศจากอียิปต์อีกหนึ่งกองร้อย

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีโมที ประธานาธิบดีอียิปต์ รัฐมนตรีทุกคน ทูตานุทูตและอาคันตุกะของอินเดียนั่งพักผ่อน บนเก้าอี้ตามสบายตลอดทั้งงาน

ตำรวจหญิงอินเดียกำลังรอเข้าร่วมขบวนพาเหรดวันประกาศอิสรภาพในเมืองจัมมู ที่มาภาพ : https://www.thehindu.com/multimedia/in-pictures-india-celebrates-74th-independence-day-amid-pandemic/article32362185.ece

จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่งานวันชาติอินเดียในครั้งนี้จึงมีกระบวนแถวทหารหญิง ตำรวจหญิงและรถแห่ที่เน้น “นารีศักติ” หรือ “อำนาจของสตรี”

ผู้บรรยายทางโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดไปทั่วประเทศอินเดียในเช้าวันนี้กล่าวถึงคำ “นารีศักติ” หลายต่อหลายครั้ง ผู้ที่ทราบประวัติของเธอจึงจะรู้ว่าเธอเป็นนักสู้ชีวิตคนหนึ่งที่กว่าจะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนี้ได้ เป็นเรื่องที่เกือบจะเรียกได้ว่า “คิดไม่ได้เลย”

จริงอยู่อินเดียเคยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคือนางอินทิรา คานธี แต่พื้นเพของนางคานธีนั้นมาจากครอบครัวที่สูงศักดิ์ เธอเป็นลูกสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย คือ บัณฑิตเนรู ผู้ซึ่งต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาตมะคานธี และต่อมาคานธีรับเธอเป็นบุตรบุญธรรม บารมีของผู้เป็นพ่อและมหาตมะคานธีทำให้เธอได้รับเลือกเป็นนายกหญิงคนแรกและคนเดียวของอินเดีย

ส่วนนางเทราปที มุรมู เธอเกิดในครอบครัวสันตะลี (Santali) ที่ยากจนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2501 ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ อุปรเพทะ (Uparbeda) ตำบลไพทะโปสิ (Baidaposi) ของจังหวัดไรรังปุร์ (Rairangpur) รัฐโอริสสา พ่อของเธอชื่อพิรันจิ นะรายยัน ตุทุ (Biranchi Narayan Tudu) เป็นชาวนา พ่อและปู่ของเธอเป็นหัวหน้าชนเผ่าสารร์ปัจฉ์ (Sarpanch) ในปกครองของสภาหมู่บ้าน (Gram Panchayat) ครอบครัวของเธอตั้งชื่อให้เธอว่า ปูติ ตูดู เธอชื่อของเธอถูกเปลี่ยนชื่อโดยครูโรงเรียนเป็นเทราปทีตามชื่อของเทวีในเรื่องมหาภารตะ และชื่อของเธอถูกเปลี่ยนอีกหลายต่อหลายครั้งเป็นทุรปตีบ้าง (Durpadi) และ โทรปตี (Dorpdi) เนื่องจากพื้นเพของเธอนั้นมาจากชนเผ่าพื้นเมืองดังเดิม ที่ถูกดูถูกดูแคลนมาตลอด

เด็กหญิงเทราปตีได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่นในเมืองอุปารเพทะ (Uparbeda) เมื่ออายุได้ห้าขวบ เธอย้ายไปที่เมืองภูพเนศวรเพื่อศึกษาต่อในระดับสูง เธอสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก Girl’s High School Unit-2 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากโรงเรียนสตรีพระรามเทวี

ในปีพ.ศ.2523 เธอแต่งงานกับนายศยัม ฉรัน มุรมู (Shyam Charan Murmu) ซึ่งมีอาชีพเป็นนายธนาคาร ต่อจากนั้นเธอจึงใช้นามสกุลของสามีมาตลอด ต่อมาเธอให้กำเนิดบุตรชายสองคน และลูกสาวอีกหนึ่งคน แต่เป็นโชคร้ายในชีวิตของเธอที่ทั้งสามีลูกชายทั้งสองคน แม่ รวมทั้งพี่ชายของเธอเสียชีวิตทั้งหมดในช่วง 7 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ถึง 2558 กระนั้น เธอไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตา เธอมีความเชื่อมั่นในศาสนาโดยเป็นสาวกของศาสนาฮินดูนิกายบราห์มา กุมารีอย่างมั่นคง ตามความเชื่อในคัมภีร์ธรรมศาสตร์นั้น หญิงหม้ายเหมือนคนที่ถูกสาป หากเธอไม่ยอมถูกเผาทั้งเป็นตายไปกับการฌาปนกิจศพของสามี ตลอดชีวิตนั้นห้ามมิให้แต่งหน้า ห้ามหวีผม ห้ามออกงานสังคม ต้องเก็บตัวเงียบๆ กินอาหารที่เหลือแล้วจากลูก ค่านิยมเหล่านี้เป็นตราบาปทางวัฒนธรรมที่เธอต้องต่อสู้มาตลอด

มุรมูเริ่มมาเล่นการเมืองในปี พ.ศ. 2521 เป็นผู้แทนในสภาท้องถิ่นผู้ไม่สังกัดพรรคการเมือง ในขณะที่เธอทำงานเป็นข้าราชการผู้น้อยในประปาส่วนภูมิภาคของรัฐโอริสา เธอยังทำงานเป็นครูฝึกสอนวิชาภาษาฮินดี คณิตศาสตร์ และภูมิศาสตร์และไม่เคยได้เงินเดือนเต็มอัตราที่ควรได้เลย แต่อนาคตของเธอเริ่มรุ่งโรจน์เมื่อเข้าเป็นสมาชิกพรรค BJP จนในที่สุดเธอได้รับเลือกเป็นมุขมนตรีและประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอินเดีย จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าทำไมงานวันชาติอันยิ่งใหญ่นี้จึงมีประธานาธิบดีมุรมูเป็นตัวเองซึ่งนำมาสู่ — “นารีศักติ” หรือแนวคิดสตรีนิยม

ที่มาภาพ : https://www.livemint.com/photos/in-pics-how-india-is-preparing-for-75th-independence-day-11660386787132-7.html

เมื่อจบการแสดงทางวัฒนธรรมแล้วตามด้วยการขี่จักรยานยนต์ผาดโผน หรือกายกรรมบนจักรยานยนต์ ยืนบนจักรยานยนต์โดยต่อตัวบนบันได ต่อตัวบนจักรยานยนต์ในท่าที่โลดโผนต่างๆ จนกระทั่งกายกรรมต่อตัวบนจักรยานยนต์คันเดียวโดยมีผู้ขับขี่ต่อตัวกันถึง 10 คน หรือ 20 คนต่อตัวกันบนจักรยานยนต์ 10 คัน เป็นต้น

เมื่อจบรายการแสดงบนพื้นดินแล้ว เป็นรายการแปรขบวนของกองทัพอากาศ เริ่มต้นด้วยการแปรขบวนโดยเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินใบพัดและเครื่องบินขับไล่แบบต่างๆ ของกองทัพอากาศอินเดีย พ่นสีเหลืองขาวและเขียวอันเป็นสีของธนชาติอินเดีย การแปรขบวนของกองทัพอากาศในครั้งนี้ ไม่ค่อยสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมเท่าใดนักเพราะท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆหมอก รัฐพิธีจบลงด้วยแถวทหารม้าเกียรติยศ ทำวันทยาวุธ ตามด้วยเพลงชาติของอินเดีย

อีกหนึ่งไฮไล้ของวันชาติของอินเดียอยู่ที่สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี นาเรทระ โมที ที่กล่าวว่า “อินเดียคือมารดาของประชาธิปไตย” คำกล่าวอ้างนี้มิใช่เกินความจริงแต่ประการใดเลย

“วันชาติ” คือ วันที่รัฐธรรมนูญของอินเดียได้ถูกใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2492 และยังคงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้มาตลอด เป็นเอกสารที่ใช้ในการปกครองประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลกสำหรับประเทศที่มีอำนาจอธิปไตย

เมื่อประกาศใช้ มีบทความ 470 มาตราแบ่งออกเป็น 22 บรรพและมีความยาวถึง 145,000 คำ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขแล้วถึง 105 ครั้ง การแก้ไขล่าสุดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ต้นฉบับนั้นเขียนด้วยลายมือของจิตอาสาคนหนึ่ง ซึ่งอาสามาคัดลายมือเอกสารทั้งหมดโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เขาของเพียงแต่ให้ได้มีชื่อว่าเป็นผู้จารึกรัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์นี้ (ต้นฉบับตัวจริงนั้นถูกแช่เก็บไว้ในตู้เก็บบรรจุไนโตรเจนเหลวที่รัฐสภาในกรุงเดลี)

รัฐธรรมนูญของอินเดียเป็นเอกสารการปกครองที่มีความสลับซับซ้อนอย่างน่าอัศจรรย์ บรรยายถึงรัฐที่ไม่มีศาสนาประจำชาติ (Secular State) แต่มีประวัติศาสตร์การเมืองที่เก่าแก่ยึดโยงกับคัมภีร์สำคัญๆ ในอดีต เช่น คัมภีร์มหาภารตะ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คัมภีร์พระเวท คัมภีร์อรรถศาสตร์ ซึ่งฉบับหลังนี้ถูกแต่งขึ้นที่เมืองตักศิลา โดยพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อเกาทิลิยะ ซึ่งว่าด้วยระเบียบแบบแผนในการปกครองโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่พระราชา มีการใช้สายลับซึ่งมีพื้นฐานเป็นเด็กกำพร้าพระราชาชุบเลี้ยงตั้งแต่เด็ก และทำงานทุกอย่างเป็นไปเพื่ออำนาจของพระราชาและกำจัดศัตรูของราชบัลลังก์ และเป็นที่เชื่อได้ว่าคัมภีร์ชุดนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการปกครองไม่ช้ากว่ายุคของราชวงศ์โมรยะ ซึ่งสถาปนาในสมัยที่เมืองปาฏลีบุตรเป็นราชธานี โดยพระเจ้าจันทรคุปตะที่หนึ่ง (ปู่ของพระเจ้าอโศก) แห่งแคว้นมคธ หลักฐานสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ชัดเจนนั้นอยู่ในพระวินัยปิฎก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสังคมของภิกษุและภิกษุณี อยู่รวมกันแบบพี่น้อง นับถือกันตามอายุพรรษา ผู้ที่บวชก่อนคือพี่ บวชหลังถือว่าเป็นน้อง นักบวชแต่ละรูปคือสมาชิกของ “สังฆะ” ซึ่งหมายถึงหมู่คณะทั้งหมดของนักบวชในพุทธศาสนา โดยมีพระวินัยชุดเดียวกัน นับถือพระศาสดาองค์เดียวกัน ทั้งภิกษุและภิกษุณีมีสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดในพระวินัย และเมื่อเกิดกรณีที่ต้องตัดสินใจ “สังฆะ” ใช้วิธี “โหวต” โดยถือมติเอกฉันท์ และไม่ใช้เสียงข้างมาก

ที่มาภาพ : https://www.livemint.com/photos/in-pics-how-india-is-preparing-for-75th-independence-day-11660386787132-2.html

หลักฐานที่ว่าวิธีการนี้มีใช้อยู่จริงนั้นปรากฏในบันทึกของ “พระถังซัมจั๋ง” ซึ่งเล่าถึงชีวิตในมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งมีอธิการบดีเป็นพระมหาเถรที่เต็มไปด้วยความเมตตาและมีวุฒิภาวะสูงเป็นผู้นำมติเข้าสู่ที่ประชุม หลังจากที่ได้ถกเถียงกันจนถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายที่เป็นเสียงข้างน้อยก็จะนิ่ง ถือเอามติเสียข้างมากจนเกิดเป็น “ฉันทามติ” ในทุกครั้ง แม้ได้รับเงินทองมาก็จะมีภิกษุรูปหนึ่งที่ “สังฆะ” มอบหน้าที่ให้จัดการ และถือว่าเป็นสมบัติของ “สังฆะ” ทั้งหมด เป็น “สาธารณะโภคี” มิใช่ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง น่าเสียดาที่ในปัจจุบันการคณะสงฆ์ไทยเหลือเพียงเศษซากของวิธีการนี้ยังคงปรากฏในสังฆกรรมของแต่ละวัดในขณะที่เจ้าอาวาสรับผิดชอบเป็นประหนึ่ง “พระราชา” ในอาณาจักรเล็กๆ ของตนเอง ในพิธีบวชพระและรับกฐินในวัดจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ สาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มิใช่เป็นเอกสารที่กำเนิดจากการ “ตัดแปะ” นำข้อความมาจากรัฐธรรมนูญของอเมริกาหรือชาติในตะวันตก ทุกคำพูดมีแหล่งที่มา แต่เชื่อมโยงกับเอกสารการปกครองในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการปกครองของอินเดียซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสองพันปี

ในส่วนที่นำแนวคิดจากตะวันตกมาใช้ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน สิ่งที่ได้รับจากอังกฤษคือระบบรัฐสภา การกำหนดประธานาธิบดีเป็นประมุขของชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร มีสภาผู้แทนราษฎรชื่อโลกสภา มีวุฒิสภาเป็นฝ่ายตรวจสอบ ส่วนที่ได้จากอเมริกาคือการมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร มีการกำหนดสิทธิพื้นฐานของประชาชนชาวอินเดีย มีรัฐบาลกลางของอินเดีย มีระบบการปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง (Impeachment) ตำแหน่งรองประธานาธิบดี การเข้าสู่ตำแหน่งและออกจากตำแหน่งผู้นำในฝ่ายต่างๆ ที่นำมาจากประเทศไอแลนด์คือหลักการบริหารรัฐแต่ละรัฐ ระเบียบวิธีการแต่งตั้งวุฒิสภาโดยประธานาธิบดี วิธีการได้มาซึ่งประธานาธิบดี สิ่งที่ได้มาจากออสเตเลียคือเสรีภาพของรัฐในการค้าขายระหว่างกันและกัน การกำหนดคำจำกัดความที่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ ที่ได้จากฝรั่งเศสคือ การกำหนดให้ เสรีภาพ ความเสมอภาคและภารดรภาพในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการระบุว่า “อินเดียคือสาธารณรัฐ” จากแคนนาดาคือระบบการกระจายอำนาจของรัฐ การเลือกตั้งมุขมนตรีของรัฐต่างๆ การมีที่ปรึกษาสำหรับผู้พิพากษาศาลฎีกา จากสหภาพโซเวียด คือ การกำหนดหน้าที่พื้นฐานของประชาชน การตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จากเยอรมนีคือการมีสิทธิ์รัฐในการออกกฎหมายยามฉุกเฉินของประเทศ จากประเทศแอฟริกาใต้คือการกำหนดขั้นตอนให้รัฐสภามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสภาสูง (Rajya Sabha) และจากญี่ปุ่นคือการกำหนดหน้าที่ของศาลฎีกาสุดของประเทศ

คำถามที่น่าถามประการหนึ่งคือ ทำไมต้องเชิญประธานาธิบดีอียิปต์มาร่วมงานฉลองในครั้งนี้? ตำตอบคือเป็นประเพณีปฏิบัติของรัฐบาลอินเดียที่จะเชิญผู้นำประเทศมาร่วมพิธีทุกครั้ง และเหตุผลสำคัญที่เชิญประธานาธิบดีอียิปต์ก็เพราะว่าเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของอินเดียสำหรับตลาด “ข้าวสาลี” อันเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามในประเทศยูเครน อียิปต์ยังเป็นประเทศที่เป็นกลางไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างอิสราแอลและอิหร่านอีกด้วย การเทียบเชิญนั้นใช้เวลาเตรียมกาลถึง 6 เดือนกว่ากำหนดการของผู้นำทั้งสองประเทศจะสอดคล้องต้องกัน

ที่มาภาพ : https://www.livemint.com/photos/in-pics-how-india-is-preparing-for-75th-independence-day-11660386787132-4.html

การเฉลิมฉลองวันชาติครั้งนี้ในสายตาของชาวอินเดีย เป็นการประกาศว่าสาธารณรัฐแห่งนี้ได้เข้าสู่ยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 แล้ว อินเดียเป็นประเทศที่เก่าแก่ ยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยพละกำลัง แสนยานุภาพ และวัฒนธรรมอันหลากหลายที่ผสมกลมกลืนไปกับค่านิยมของสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ทั้งกสิกรรมและอุตสาหกรรมในทุกทางซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม G20 ในปีนี้อีกด้วย