ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > 99 เมืองเอเชียติด 100 อันดับแรก ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุดในโลก

99 เมืองเอเชียติด 100 อันดับแรก ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุดในโลก

21 พฤษภาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.maplecroft.com/insights/analysis/environmental-risk-outlook-2021/

บริษัทที่ดำเนินงานและลงทุนในเมืองต่างๆในเอเชียกำลังเผชิญกับการทดสอบความสามารถในการปรับตัวที่มากขึ้นโดย รายงาน Asian cities in eye of environmental storm – global ranking ตอนแรกของซีรีส์ Cities @ Risk ของ Verisk Maplecroft ซึ่งจัดอันดับเมืองศูนย์กลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก 576 แห่งจากการเผชิญกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย พบว่า เมืองที่เสี่ยงที่สุดในโลก 99 แห่งจาก 100 อันดับแรกอยู่ในเอเชีย ซึ่งรวม 37 เมืองในจีนและ 43 เมืองในอินเดีย

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าจาการ์ตาเป็นเมืองที่เสี่ยงที่สุด แต่ทั่วโลก 414 เมืองซึ่งมีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 1.4 พันล้านคนถือว่ามีความเสี่ยงสูงหรือมาก จากมลพิษรวมกันหลายด้าน ทั้งแหล่งน้ำที่ลดน้อยลง ภาวะเครียดจากความร้อนสูง ภัยธรรมชาติและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยมลพิษที่เพิ่มขึ้นซึ่งมีผลต่อความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศให้สูงขึ้นรวมทั้งจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในหลายเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ทำให้ความเสี่ยงต่อพลเมือง ทรัพย์สินที่จับต้องได้ และการดำเนินการเชิงพาณิชย์มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น

ประชาชน 1.4 พันล้านคนที่อาศัยในเมืองประสบกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นมากจากปัญหาสิ่งแวดล้อม

บริษัทและนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับทรัพย์สิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถเลี่ยงได้ด้วยการแค่เลือกเมืองและและย้ายไปยังเมืองที่ “ปลอดภัยกว่า” และจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าไม่มีเมืองไหนไม่มีความเสี่ยงเลย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรต่างๆจะต้องทำการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด เพื่อให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงจากความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่เรื้อรังและภัยธรรมชาติ

เมืองของอินเดียอันดับต้นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

ดัชนีทั่วโลกที่ประกอบด้วยดัชนีความเสี่ยงย่อย 9 ดัชนีเพื่อประเมินความน่าอยู่ ศักยภาพในการลงทุน และภูมิทัศน์ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของเมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าอินเดียมีสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด 13 แห่งจากสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด 20 แห่งทั่วโลก กรุงเดลี เมืองหลวงถูกจัดให้เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ตามมาด้วยเชนไน (อันดับ 3) อักรา (อันดับ 6) และกานปุระ (อันดับ 10) ชัยปุระ (อันดับ 22), ลัคเนาว์ (24), เบงกาลูรู (25) และมุมไบ (27)

มลพิษเป็นภัยคุกคามหลักต่อสุขภาพของประชากรในเมืองใหญ่ของประเทศ โดยเมืองในอินเดียมีความเสี่ยงมากที่สุดถึง 19 จาก 20 แห่งในดัชนีคุณภาพอากาศ อากาศที่เป็นพิษทำให้อินเดียเสียชีวิตเกือบ 1 ใน 5 ในปี 2019 ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 36 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันมลพิษทางน้ำทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อปีเกือบ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐและมีผู้เสียชีวิต 400,000 คนในแต่ละปี

ที่มาภาพ: https://www.maplecroft.com/insights/analysis/asian-cities-in-eye-of-environmental-storm-global-ranking/

จาการ์ตา เมืองที่เสี่ยงที่สุดในการจัดอันดับ ก็เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายเช่นกัน นอกเหนือจากภัยคุกคามจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตลอด อีกทั้งยังทรุดตัวอย่างรวดเร็ว จนนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย กำลังหาทางย้ายเมืองหลวง ส่วนเมืองสุราบายาและบันดุงของอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 4 และ 8 ตามลำดับ ภาวะแวดล้อมแบบเดียวกันนี้ก็ส่งผลให้เมืองที่มีประชากรมากที่สุด 2 เมืองของปากีสถานคือการาจี (อันดับ 12) และลาฮอร์ (อันดับที่ 15) ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก

ภูมิภาคตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ (MENA) มีสัดส่วนเมืองที่จัดอยู่ในประเภทความเสี่ยงสูงมากที่สุด การขาด แคลนน้ำที่รุนแรงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ทำให้เมืองที่มีประชากรมากในตุรกีและอิหร่าน ติดอันดับเมืองที่จัดว่าเสี่ยงที่สุดในภูมิภาค ขณะที่ลิมาเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในทวีปอเมริกาและเป็นเมืองที่ไม่ได้อยู่ในเอเชียเพียงเมืองเดียวที่ติด 100 อันดับแรก ภัยคุกคามที่หลากหลายในเม็กซิโกซิตี้ ซานติอาโกและลอสแองเจลิสทำให้อันดับไม่ห่างกันนัก ขณะเดียวกันเมืองที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในยุโรปมีคะแนนในระดับใกล้เคียงกับในแอฟริกา แต่เผชิญกับภัยคุกคามที่ต่างกันมาก สะท้อนถึงความสำคัญของการสำรวจว่าอะไรเป็นตัวผลักดันความเสี่ยงเหล่านั้น

เมืองในเอเชียตะวันออกเผชิญกับภัยธรรมชาติมากที่สุด

ภาพความเสี่ยงนี้เปลี่ยนไป เมื่อมองเฉพาะผลกระทบของภัยธรรมชาติและความเสี่ยงของเศรษฐกิจ ประชากรและโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง เอเชียยังคงมีความเสี่ยงมากที่สุด แต่ความเสี่ยงของแต่ละเมืองแตกต่างกัน อันดับต้น ๆ ได้แก่ กวางโจวและตงกวนที่มักประสบกับอุทกภัย ตามมาด้วยโอซาก้า โตเกียวและเสิ่นเจิ้น ซึ่งเผชิญกับภัยคุกคามตั้งแต่แผ่นดินไหวไปจนถึงพายุไต้ฝุ่น

เมืองในแอฟริกามีคะแนนความเสี่ยงต่ำที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ ๆ ในโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอนหรือริโอเดอจาเนโร เมืองในตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือบางเมืองมีความเสี่ยงในระดับต่ำเช่นเดียวกันคือเมืองอาบูดาบี ดูไบและ เมืองชาร์จาห์ ซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่ต่ำกว่าเมืองเฮลซิงกิ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในยุโรป

ความเสี่ยงจากน้ำท่วมและแผ่นดินไหวเป็นภัยคุกคามหลักของเมืองที่มีความเสี่ยงสูงในยุโรป ซึ่งมีทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าสูง และสะท้อนภาพเดียวกันนี้ในศูนย์กลางสำคัญ ๆ ในเอเชียและอเมริกากลาง ข้อมูลการวิเคราะห์พบว่า โดยทั่วไปเมืองใหญ่ ๆ ในอเมริกาเหนือ ยุโรป จีน และเอเชียแปซิฟิกจะรับมือและฟื้นตัวจากภัยธรรมชาติได้ดีกว่าเมืองใหญ่ ๆ ในอัฟริกา ตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ ละตินอเมริกา หรือเมืองส่วนใหญ่ในเอเชีย

ที่มาภาพ: https://www.maplecroft.com/insights/analysis/asian-cities-in-eye-of-environmental-storm-global-ranking/

มลพิษคุกคามแนวโน้มสุขภาพชาวเมืองจำนวนมาก

จากการประเมินด้านมลพิษทางอากาศและทางน้ำ ทำให้ความเสี่ยงขยายวงมากขึ้น อย่างน้อยก็นอกเอเชียซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองที่มีความเสี่ยงสูงสุด ภาวะ”airpocalypse” หรือ วิกฤติปัญหาหมอกควันในเขตเมืองทั่วจีนและอินเดียมีการรับรู้กันดี แต่มลพิษทางน้ำในระดับสูงมักมองข้าม เมื่อรวมกันจีนและอินเดียมีประชากร 286 ล้านคนจาก 336 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษ และเมื่อรวมกับเมืองที่มีความเสี่ยงสูงจำนวนประชากรกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้าน

คุณภาพอากาศในเมืองในยุโรปค่อนข้างดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบ ยกเว้นเมืองวอร์ซอและมิลาน แต่คุณภาพน้ำที่ไม่ดีทั่วทั้งทวีปทำให้ระดับความเสี่ยงของเมืองสูงขึ้น โดยปารีสและมอสโกตกอยู่ในภาวะเสี่ยง และเป็นสถานการณ์เดียวกันในตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ กับทวีปอเมริกา แม้เมืองในแคนาดาส่วนใหญ่จะมีอากาศและน้ำที่สะอาด

ที่มาภาพ: https://www.maplecroft.com/insights/analysis/asian-cities-in-eye-of-environmental-storm-global-ranking/

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม – อัฟริกาเสี่ยงที่สุด

ภัยที่สำคัญสำหรับหลายๆ เมือง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นและความรุนแรง รวมความถี่ที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์รุนแรงเช่น พายุ ภัยแล้ง และน้ำท่วม อาจเปลี่ยนคุณภาพชีวิตและแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองจำนวนมาก

จากดัชนีความเปราะบางของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change Vulnerability Index )เมืองในอัฟริกาจะมีสภาพเลวลง เนื่องจากทั้งทวีปไม่เพียงเผชิญกับสภาพอากาศที่รุนแรงที่สุด แต่ยังมีความสามารถในบรรเทาผลกระทบได้น้อยที่สุดด้วย เมืองที่มีประชากรมากที่สุด 2 เมืองของอัฟริกา ได้แก่ ลากอสและกินชาซา เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ขณะที่ความมั่งคั่งและความเสี่ยงที่ต่ำของอัฟริกาใต้ช่วยลดความเสี่ยงของเมืองใหญ่ๆ ส่วนที่เหลือของโลกไม่มีภูมิคุ้มกันมากนัก เมืองใหญ่ที่มีประชากรมากเมืองอื่นๆ ที่เผชิญกับความเสี่ยงอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ กรุงการากัส การาจี มะนิลา และจาการ์ตา และซานาที่ยับเยินจากสงครามของเยเมน

ในทางกลับกันกลาสโกว์เป็นเมืองที่กังวลกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด

ที่มาภาพ: https://www.maplecroft.com/insights/analysis/asian-cities-in-eye-of-environmental-storm-global-ranking/

ยุโรปและแคนาดา แหล่งหลบภัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

เมืองไหนที่มีความเสี่ยงน้อยที่องค์กรน่าจะมองหา โดยทั่วไปแล้วยุโรปคือคำตอบที่ถูกต้อง ทวีปนี้เป็นที่ตั้งของเมืองที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด 14 เมือง จาก 20 เมืองที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งรวมถึง ครัสโนยาสค์ ในไซบีเรีย (576), ออสโล (575), กลาสโกว์ (573), เฮลซิงกิ (569) และโคเปนฮาเกน (563) แวนคูเวอร์ (574) และออตตาวา (571) ซึ่งเป็นเมืองในยุโรป

แต่บริษัทต่างๆไม่สามารถย้ายไปยุโรปได้ง่ายๆ เพราะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆเช่น ตลาดแรงงาน ความมั่นคง สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและการสนับสนุนจากรัฐบาล (จะมีรายละเอียดในตอนต่อไปของCities@Risk) แต่ผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กับตลาดในภูมิภาค และซัพพลายเออร์ก็มีทางเลือก

ไคโรเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับภูมิภาคอัฟริกาและอเมริกาเหนือ จากความเสี่ยงด้านน้ำที่อยู่ในระดับต่ำเพียงแห่งเดียวในภูมิภาค อีกทั้งคุณภาพน้ำและอากาศที่ค่อนข้างดีกว่า ในทวีปอเมริกาใต้ มอนเตวิเดโอเมืองหลวงของอุรุกวัย อะซุนซิออง ของปารากวัยและโรซาริโอของอาร์เจนตินา โคเปนฮาเกนและมอนทรีออล ติดอันดับโลก แม้แต่ในอินเดีย องค์กรที่ต้องการลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมก็สามารถพิจารณา กัลกัตตา ซึ่งอยู่ในระดับล่างสุดของกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือเมืองที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในเอเชียคือ อูลานบาตอร์ของมองโกเลีย และอาจจะมองไปที่เมืองชิซูโอกะในญี่ปุ่น

ความเสี่ยงด้าน ESG สำคัญมากสำหรับความสามารถในการปรับตัว

บริษัทจำเป็นต้องตระหนักถึงต้นทุน การอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสูงให้รอบด้านตั้งแต่ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นสำหรับการทำความเย็น และการกรองอากาศ หรือ จากการจัดหาแหล่งน้ำสะอาดที่เชื่อถือได้

การแยกแยะความเสี่ยงที่สำคัญและการทดสอบการดำเนินงานภายใต้ภาวะกดดัน(stressed test) และกลยุทธ์รับมือกับสถานการณ์ต่างๆในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามเหล่านั้น จะทำให้มีมุมมองที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับผลดีและผลเสียของการตัดสินใจลงทุน

ปัจจุบันนักลงทุนและ หน่วยงานกำกับดูแลให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ดังนั้นองค์กรที่ไม่สามารถระบุภัยคุกคามและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดได้จะสื่อสารได้ยาก