ThaiPublica > เกาะกระแส > “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” แจงปมสวนเบญจกิติ ‘น้ำเน่า-หญ้าแห้ง’!!

“อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” แจงปมสวนเบญจกิติ ‘น้ำเน่า-หญ้าแห้ง’!!

4 กุมภาพันธ์ 2023


จากพื้นที่โรงงานยาสูบ สู่สวนป่าเบญจกิติ ภายใต้การดูแลของ กทม. ในยุคของผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ กับคำถามเชิงดราม่าบนโซเชียลมีเดียว่า เหตุใด กทม.ถึงปล่อยปละละเลยจนต้นไม้ใบหญ้าดูแห้งแล้ง อีกทั้งบ่อพักน้ำภายในสวนยังแห้งเหือด เหมือนกับ กทม.ไม่ดูแลสวนสาธารณะใจกลางเมืองแห่งใหม่ของคนกรุง

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2564 กองทัพบก (ทบ.) และกรมธนารักษ์ ส่งมอบพื้นที่สวนป่าเบญจกิติ ให้กทม.เป็นผู้ดูแล โดยตอนนั้นเป็นการบริหารของผู้ว่าฯ ที่ชื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จากนั้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ทำให้คนกรุงได้ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ เป็นผู้นำคนใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นมา

หลังการบริหารราว 6 – 7 เดือนของทีมผู้ว่าฯ ชัชชาติ เริ่มเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้มาใช้บริการภายในสวน และโพสต์ภาพปัญหาความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย นำมาสู่คำถามว่า สวนเบญจกิติภายใต้การดูแลของกทม. จะตอบคำถามและรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร มิหนำซ้ำยังมีคนนำภาพสวนในการดูแลของผู้ว่าฯ คนก่อนมาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงดราม่ากระแสที่ กทม.ปล่อยปละละเลยจนต้นไม้ใบหญ้าดูแห้งแล้ง ตลอดจนน้ำในบ่อพักน้ำแห้ง ว่า กทม.ไม่ได้รับรายงานมาก่อน ดังนั้นเมื่อปัญหาเกิดขึ้นจึงรู้พร้อมๆ กับกระแสโซเชียล จากนั้นจึงถามกลับไปที่สำนักงานสวนสาธารณะ และลงพื้นที่ตรวจสอบจนพบว่า ต้นไม้ในสวนอาจจะไม่ได้รับการรดน้ำถึงเกือบ 1 เดือน

อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาด้านการระบายน้ำ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

‘น้ำรั่ว’ สวนเบญฯ ปัญหาจากการก่อสร้าง

แม้ต้นไม้ใบหญ้า-บ่อพักน้ำ อาจจะขาดน้ำถึงเกือบ 1 เดือน แต่ไม่ได้เกิดความเสียหายมากนัก เนื่องจากสวนเบญจกิติถูกออกแบบให้เป็น ‘สวนป่า’ โดยผู้วางแนวคิดนี้คือ บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์

สวนป่าเบญจกิติเป็น ‘ป่าในกรุง’ ในฤดูแล้งใบไม้ก็จะเหลือง ในฤดูฝนพืชก็จะเขียวชอุ่ม ดังนั้นหัวใจของสวนป่าแห่งนี้คือ ระบบนิเวศที่ปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อม

จุดที่เป็นทั้งไฮไลท์และดราม่าในเวลาเดียวกันคือ เกาะต้นไม้กลางบึงน้ำ ซึ่งมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสวน โดยยกรากต้นไม้ให้สูงกว่าระดับน้ำใต้ดิน ทำให้น้ำซึมเข้าสู่ดิน รากต้นไม้สามารถดูดซับน้ำ และช่วยลดอุณหภูมิของพื้นที่รอบๆ แต่ที่ผ่านมาสภาพเกาะต้นไม้กลางบึงน้ำกลับไม่ได้เป็นอย่างที่ออกแบบตั้งแต่ต้น

สาเหตุหลักคือ บ่อพักน้ำไม่มีน้ำ เนื่องจากบ่อที่จะต้องส่งน้ำก็ไม่สามารถส่งน้ำได้ เพราะ ‘ปัญหาการก่อสร้าง’ ที่กทม. ไม่ได้ดูแลส่วนนี้โดยตรง แต่เมื่อเกิดปัญหาแล้ว นายอรรถเศรษฐ์ บอกว่า กทม.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแก้ปัญหาร่วมกัน

นายอรรถเศรษฐ์ ให้ข้อมูลว่า หลังจากการกำหนดแนวคิดสวนป่าและการออกแบบแล้ว กรมทหารช่าง กองทัพบก จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างตามพิมพ์เขียว เมื่อก่อสร้างเสร็จเป็นระยะที่ 2-3 จึงส่งมอบให้กทม.เป็นผู้ดูแล

“โครงการนี้ กทม.ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องแต่แรก พอทหารฯ ทำงานเสร็จแล้วยกให้กทม.เป็นผู้ดูแล เราไม่ได้เป็นคนทำสวนนี้ตั้งแต่ต้น ดราม่าที่เกิดขึ้นบอกว่าเราปล่อยให้สวนเหลือง ไม่ถูกโดยสิ้นเชิง”

จุดรั่ว 15 – 20 จุด ยังอยู่ในความรับผิดชอบของ ทบ.

นายอรรถเศรษฐ์ กางผังทางน้ำของสวนป่าเบญจกิติ และอธิบายว่า ในอดีตคลองไผ่สิงโตมีคุณภาพน้ำค่อนข้างแย่ เลยมีแนวคิดว่าจะสูบน้ำจากคลองไผ่สิงโตเข้าอุโมงค์รับน้ำภายในสวนฯ โดยจุดแรกที่สูบน้ำเข้ามาคือบริเวณน้ำตกที่เรียกว่า Dog Park แล้วน้ำจะไหลตามจุดที่เรียกว่าพื้นที่ชุ่มน้ำหรือ Wet Land โดยคูน้ำผ่านพืชพันธุ์ต่างๆ ซึ่งพืชเหล่านี้มีคุณสมบัติคือสามารถบำบัดน้ำ ทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น

ต่อมาน้ำคุณภาพดีที่กักเก็บในพื้นที่ Wet Land จะถูกสูบเข้า บ่อ 1 และจากบ่อ 1 เชื่อมไปบ่อ 2 บ่อ 3 และบ่อ 4 โดยน้ำในบ่อ 1 – 4 จะถูกสูบผ่านสปริงเกอร์เพื่อนำไปรดน้ำให้ต้นไม้ใบหญ้าตามจุดต่างๆ

ขั้นตอนการสูบ-ส่ง น้ำ ตลอดจนถึงขั้นสุดท้ายคือรดน้ำ มีประมาณ 3-4 ขั้นตอน ปัญหาที่กทม.พบก็คือ บริเวณพื้นที่ Wet Land ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เพราะ ‘รั่ว’ สูงถึง 15 – 20 จุด อีกทั้งน้ำบางส่วนยังไหลย้อนกลับไปที่คลองไผ่สิงโตอีกด้วย

นายอรรถเศรษฐ์ กล่าวต่อว่า หากสูบน้ำผ่านกระบวนการปกติ น้ำใน Wet Land จะรั่วและซึมลงไปใต้ดินในเวลาเพียง 3 – 4 ชั่วโมง และเมื่อ กทม. ทดลองใส่น้ำจนเต็ม ในบ่อจะมีน้ำสำหรับ 8 ชั่วโมงเท่านั้น

“บ่อรั่วหมด เป็นปัญหาในการก่อสร้างที่เราไม่ได้เป็นคนทำ เราเลยต้องเติมน้ำลงไป เพื่อจะรู้ว่าน้ำออกทางไหนบ้าง แต่เอาน้ำใส่ไปก็หมด เพราะมีจุดรั่ว 15 ถึง 20 จุด…กทม.กำลังเข้าไปแก้ในสิ่งที่คนอื่นทำ”

นายอรรถเศรษฐ์ เผยว่า ในสัญญาการก่อสร้างได้มีการกำหนดการรับประกัน (Warranty) ในเรื่องการซ่อมแซมเมื่อมีจุดผิดพลาด โดยการรับประกันนี้มีอายุ 2 ปี หมายความว่า ข้อผิดพลาดที่เป็นสาเหตุที่น้ำรั่ว ยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบก

อย่างไรก็ตาม โครงการสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะ 2 – 3 บนพื้นที่ 259 ไร่ ด้วยงบประมาณ 652.53 ล้านบาท โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย งานรื้อถอน งานออกแบบ งานจ้างที่ปรึกษาโครงการและงานก่อสร้าง

ทั้งนี้ ตามมติ ครม. วันที่ 29 กันยายน 2563 ระบุว่า สำนักพระราชวัง เสนอวงเงินค่าจัดสร้างสวนเบญจกิติ 3 ระยะ ทั้งสิ้น 950 ล้านบาท โดยใช้เงินจากรายได้แผ่นดินที่โรงงานยาสูบต้องนำส่งเข้าคลัง

กทม. แก้ปัญหาชั่วคราว

นายอรรถเศรษฐ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาเบื้องต้นว่า กทม.ดำเนินการ 4 อย่าง คือ

  • อุดจุดรั่วชั่วคราว
  • นำเครื่องสูบน้ำไปตั้งหน้าบ่อ 1 ชั่วคราว เพื่อดึงน้ำเข้าบ่อให้มีน้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้ได้
  • ดึงน้ำจากบึงใหญ่ เข้าสู่บ่อ 3 และบ่อ 4 ให้สามารถรดน้ำต้นไม้ในบางพื้นที่ได้
  • นำเครื่องสูบน้ำไปตั้งตรงคลองไผ่สิงโต และนำเครื่องออกซิเจนไปวาง 2 เครื่องเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ ก่อนสูบเข้าบึงใหญ่ และน้ำจากบึงใหญ่จะถูกส่งไปรดน้ำต้นไม้ต่อ
  • “เบื้องต้นกทม.ไปอุดชั่วคราวให้น้ำผ่านการบำบัดและเข้าระบบได้ และเราคุยกับทหารให้ไปซ่อมแซม ตอนนี้ทหารกับ กทม. ลงพื้นที่ คนของสำนักระบายน้ำเป็นคนหาจุดรั่ว พอรู้จุดก็เชิญทหารและคนงานก่อสร้างไปแก้ไข หลังจากนั้นทหารไปซ่อมให้ถาวร ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนิ่งนอนใจ”

    ชี้ปัญหาสวนเบญฯ เรื่องเล็ก – บริหารน้ำทั้งเมือง เรื่องใหญ่

    นายอรรถเศรษฐ์ กล่าวต่อว่า สวนสาธารณะแต่ละแห่งในกรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องน้ำในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยปัญหาหลักๆ ของสวนอื่นคือ การไหลเวียนน้ำ เนื่องจากสวนบางแห่งน้ำไหลเวียนได้ไม่ดี ทำให้น้ำนิ่ง พอไม่มีน้ำมาเติมหรือไม่ไหลเวียนก็ทำให้เกิดน้ำเน่าได้ ขณะที่สวนป่าเบญจกิติมีปัญหาเรื่องการขาดน้ำ

    นายอรรถเศรษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสวนป่าเบญจกิติ เป็นหนึ่งในการดำเนินงานด้านการไหลเวียนน้ำของกทม. เมื่อเทียบปัญหาแล้วจะเห็นว่า หลักการแก้ปัญหาภาพเล็ก (ระดับสวน) กับภาพใหญ่ (ระดับเมือง) คล้ายคลึงกันคือการสร้างการไหลเวียนของน้ำและไล่น้ำเสียด้วยน้ำดี

    เมื่อถามถึงความท้าทายในการแก้ปัญหาน้ำแต่ละรูปแบบ นายอรรถเศรษฐ์ ตอบว่า “ประเด็นสวนเบญฯ เป็นส่วนเล็ก” และพูดอีกว่า ตอนฤดูฝนบริหารง่ายกว่าฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำ เพราะตอนฝนตกหนักๆ แค่สั่งให้สถานีสูบน้ำออกให้หมด แต่ตอนหน้าแล้งไม่มีน้ำให้บริหาร ต้องอาศัยการพูดคุยและทำงานร่วมกับกรมชลฯ เพื่อให้เปิดประตูกั้นน้ำและทำให้น้ำไหลมาตามคูคลองต่างๆที่เป็นทั้งเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดหลัก