ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘ชัชชาติ’ ชี้ปริมาณฝนกทม.ทุบสถิติรอบ 30 ปี สั่งสำนักระบายน้ำเร่งแผนรับมือพายุ ‘โนรู’

‘ชัชชาติ’ ชี้ปริมาณฝนกทม.ทุบสถิติรอบ 30 ปี สั่งสำนักระบายน้ำเร่งแผนรับมือพายุ ‘โนรู’

26 กันยายน 2022


“ชัชชาติ” สั่งสำนักระบายน้ำเร่งแผนรับมืออิทธิพลพายุ “โนรู” โดยพร่องน้ำคลองหลัก เพิ่มกระสอบทราย 2.5 ล้านกระสอบ ระบุปริมาณฝนในพื้นที่กทม.ทุบสถิติ 30 ปี เดือนกันยายนปริมาณฝนสูงกว่าปีอื่น ๆ ถึง 2 เท่า เชื่อสาเหตุมาจาก ลานินญ่า และ ผลจากสภาวะโลกร้อน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ในช่วงเช้าของวันที่ 26 กันยายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ถ่ายทอดสดผ่าน เฟซบุ๊กจากศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม. ดินแดง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำฝนที่ตกหนักมาตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาโดยมีนายอาสา สุขขัง ผอ.กองสารสนเทศระบายน้ำ และนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯด้านการบริหารจัดการน้ำ ให้ข้อมูล โดยหลังจากนั้นได้มีการแถลงแผนรับมือพายุโนรูในช่วงบ่าย

นายอาสา รายงานสถานการณ์ฝนของวันที่ 26 กันยายน 2565 ว่า ฝนตกหนักสลับปานกลางตั้งแต่ช่วงคลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง ทิศทางฝนพัดออกไปทางตะวันออกของ กทม. ทำให้ฝนตกทั่วกรุงเทพฯ ต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อคืนและตลอดทั้งวัน

นายอาสาได้อธิบายสถานการณ์ฝนว่ามีร่องที่พาดผ่านประเทศไทย และยังมีลมฝนมาจากตะวันตกเฉียงใต้พัดลมฝนเข้ามาทำให้ฝนตกในพื้นที่ กทม. ส่วนสถานการณ์ ‘พายุโนรู’ ขณะนี้เคลื่อนที่ออกจากฟิลิปปินส์มาแล้วด้วยความเร็ว 140 กม./ชม. โดยจากการคาดการณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา พายุโนรูจะเข้าเวียดนามในวันที่ 28 กันยายน 2565 และจะเข้าไทยที่บริเวณจังหวัดอุบลราชธานีใน วันที่ 29 กันยายน 2565

อย่างไรก็ตาม ‘พายุโนรู’ จะมาถึงเวียดนามคือเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้วอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่นในไทย แต่ยังไม่สามารถวางใจได้ ส่วนปัจจัยที่จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงคือความกดอากาศสูงจากจีน อากาศเย็นจะแพร่ลงมาปกคลุมประเทศไทย

นายอาสา สุขขัง ผอ.กองสารสนเทศระบายน้ำ (ซ้าย)และนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯด้านการบริหารจัดการน้ำ (ขวา)

สั่งพร่องน้ำในคลอง-เพิ่มคันกั้นน้ำรับมือ ‘พายุโนรู’

สถานการณ์ฝนในกรุงเทพฯที่ได้รับอิทธิพลจากพายุโนรูอาจไม่หนักมาก แต่สิ่งที่จะมีผลกระทบคือ ถ้าฝนตกหนักในภาคกลาง สุดท้ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะมากขึ้น โดยปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออก กับน้ำที่ลงมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงขึ้น ซึ่งจะกดดันพื้นที่ฝั่งตะวันออกกับพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

นายชัชชาติ ได้สั่งให้ลดระดับน้ำในคลองเพื่อรับมือพายุโนรู โดยจะเห็นว่าน้ำในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรต่ำ นอกจากนี้ อาจต้องเสริมคันกั้นน้ำในบางจุด เพราะถ้าน้ำจากพายุเข้ามาเยอะ เจ้าพระยาต้องปล่อยมาเยอะ อาจต้องเสริมบางจุดคันกั้นน้ำอีก 50 ซม.โดยเฉพาะจุดเปราะบางก็เตรียมกระสอบทรายเข้าพื้นที่เนื่องจากเชื่อว่าปริมาณฝนในเดือนกันนายนจะเพิ่มมากขึ้น

สำนักระบายน้ำได้เตรียมแผนในการรับมือพื้นที่ฝั่งตะวันออกและเจ้าพระยา โดยน้ำที่มาจากเขื่อนป่าสักฯ จะต้องระบายทางด้านล่างลงมาทางคลองลำปลาทิว คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ต้องทำทางปิดล้อม ก็ได้สั่งให้ดำเนินการทั้ง 2 รูปแบบ ในแง่ฝนตกในพื้นที่เร่งระบายน้ำให้มากที่สุด

คลองเปรมประชากร ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

นอกจากนี้ยังให้เร่งดำเนินการ 3 มาตรการ คือ 1.เร่งระบายน้ำ พร่องน้ำ ให้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้ทุกคลองต่ำกว่าระดับควบคุมแล้ว 2.เสริมคันจุดที่อ่อนแอเพิ่มอีก เช่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและตามคลองต่างๆ ซึ่งตอนนี้ได้มีการจัดงบประมาณ ซื้อกระสอบทรายเพิ่มมา 2,500,000 ลูกแล้ว โดยในวันพรุ่งนี้ วันพุธและวันศุกร์ กระสอบทรายจะเริ่มเข้าพื้นที่ และเสริมความแข็งแรงตามแนวป้องกันน้ำ และ 3.ให้ชุมชนช่วยกันดูแลตัวเองด้วย

ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองตลาดที่มีเขื่อนและประตูน้ำช่วยป้องกัน ณ วันที่ 26 กันยายน 2565

ด้านนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.เตรียมรับมือพายุโนรูด้วยการพร่องน้ำในคลองหลักๆต่ำกว่าที่ระดับที่ควบคุมโดยที่คลองลาดพร้าวชั่วโมงเดียวลงได้ 2 เซนติเมตร แต่พอเราทำคันบังคับน้ำทำให้การลดระดับน้ำสามารถลงได้ ชั่วโมงละ 3 เซนติเมตร ซึ่งได้พร่องน้ำรับมือปริมาณฝนอยู่แล้ว

ฝน ก.ย.หนัก 2 เท่า ทุบสถิติรอบ 30 ปี

สำหรับสถานการณ์ปริมาณฝนปีนี้ หากเที่ยบกับค่าเฉลี่ย ในปีแล้วพบว่ามีปริมาณสูงมากทุบสถิติในรอบ 30 ปี โดย นายชัชชาติ กล่าวว่า ปริมาณฝนในปีนี้ตกหนักทุบสถิติสูงสุด โดยปีนี้ยังเหลืออีก 3 เดือนจะสิ้นปี แต่ปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 1922.5 มิลลิเมตร/ปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของฝนทั้งปีย้อนหลังไป 30 ปี ซึ่งอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 1689.7 มิลลิเมตร/ ปี โดยในปี 2564 ค่าเฉลี่ยปริมาณฝนทั้งปีอยู่ที่ 1,907.5 มิลลิเมตร/ปี

ส่วนค่าเฉลี่ยฝนรายเดือนพบว่าปริมาณฝนในเดือนกันยายนของปีนี้สูงกว่าปีอื่น ๆ ถึง 2 เท่า โดยค่าเฉลี่ยปริมาณฝนในเดือนกันยายนปีนี้อยู่ที่ 744 มิลลิเมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยปริมาณฝนเดือนกันยายนในช่วง 30 ปี ปริมาณฝนเฉลี่ย 322 มิลลิเมตร ส่วนค่าเฉลี่ยปริมาณฝนในเดือนกันยายน ปี 2564 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 288.5 มิลลิเมตร ปี 2563 ค่าเฉลี่ยปริมาณฝน 365 มิลลิเมตร

อย่างไรก็ตามปริมาณฝนในเดือนกันยายน 2565 ยังไม่ได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ เพราะค่าเฉลี่ยฝนสูงสุดในเดือนกันยายน ในปี 2555 มีค่าสูงสุดอยู่ที่ 847 มิลลิเมตร แต่เชื่อว่าปริมาณฝนในเดือนกันยายนปีนี้ น่าจะสูงทะลุมากกว่าปี2555 เนื่องจากอิทธิพลของพายุโนรูที่จะเข้ามาวันที่ 29 ก.ย. 2565

“ผมเชื่อว่าจะทะลุ เพราะเดือนกันยายนยังไม่ถึงสิ้นเดือนและพายุโนรูที่กำลังจะเข้ามา เดี๋ยวลองลุ้นกันว่า เดือนนี้จะทุบสถิติของ 10 ปีไหม แต่เราก็พร้อมลุยเต็มที่” นายชัชชาติกล่าว

ส่วนสาเหตุที่มีปริมาณฝนตกมากในปีนี้ นายชัชชาติ บอกว่าน่าจะมาจากจากลานินญ่า ผลจากสภาวะโลกร้อนมาแล้ว ในอนาคตปริมาณคงต้องมีปริมาณมากขึ้นอย่างนี้ไปตลอด ต้องมาเตรียมปรับยุทธศาสตร์รับมือต้องปรับเนื่องจากภาวะโลกร้อนเริ่มเข้ามาแล้วทำให้ปริมาณฝนคงมากขึ้นทุกปี