ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดแผนรื้อโควตาหวย 74 ล้านฉบับ ชงบอร์ดสลากฯ ชี้ขาด 2 ก.ย.นี้ วัดใจเสธฯ แดง เพื่อรายใหญ่ หรือ รายย่อย

เปิดแผนรื้อโควตาหวย 74 ล้านฉบับ ชงบอร์ดสลากฯ ชี้ขาด 2 ก.ย.นี้ วัดใจเสธฯ แดง เพื่อรายใหญ่ หรือ รายย่อย

1 กันยายน 2015


หลังจากที่ พล.ต. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ประกาศมาตรการแก้ปัญหาขายสลากเกินราคาระยะที่ 1 โดยปรับลดเงินนำส่งกระทรวงการคลังมาเพิ่มส่วนลดให้ตัวแทนจำหน่ายสลาก พร้อมกับบังคับใช้กฎหมาย ลงโทษผู้ที่ขายสลากเกินราคา แต่เนื่องจากมาตรการชุดนี้ไม่ได้ควบคุมราคาสลากช่วงขายส่ง กรรมจึงไปตกอยู่กับคนขายหวยตัวจริงที่ไม่มีโควตา หรือมีโควตา แต่ไม่พอขาย ต้องไปรับสลาก คู่ละ 78 บาทจากยี่ปั๊ว-ซาปั๊วมาขายเสริม

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินนโยบายแก้ปัญหาสลากเกินราคาที่สามารถทำได้จริง วันที่ 10 สิงหาคม 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลาก) มีมติอนุมัติกรอบการจัดสรรโควตาสลากใหม่ 5 แนวทาง โดยให้เน้นไปที่ผู้ค้าสลากรายย่อยเป็นหลักการสำคัญ คือ 1. จัดสรรให้ผู้ค้ารายย่อยไม่เกินรายละ 5 เล่ม 2. ไม่เกิน 10 เล่ม 3. ไม่เกิน 50 เล่ม 4. ไม่จำกัดจำนวน และ 5. ขายผ่านเครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์

ชงบอร์ดฯ 5 แนวทางเลือกแผนรื้อโควตาหวย 2 ก.ย. นี้

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมบอร์ดสลากได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสลากกินแบ่งรัฐบาลศึกษาในรายละเอียดถึงข้อดี ข้อเสีย เพื่อนำเสนอบอร์ดสลากวันพุธที่ 2 กันยายน 2558 ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดสรรโควตาสลากให้ถึงมือผู้ค้าสลากรายย่อย หลังจากบอร์ดสลากฯ มีมติอนุมัติแนวทางการจัดสรรโควตาสลากฯ ใหม่เรียบร้อย ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลจะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาระยะที่ 2

ก่อนหน้านี้ไทยพับลิก้าได้นำเสนอ ข่าวการจัดสรรโควตาสลากมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดแหล่งข่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดเผยถึงข้อเสนอและสรุปผลการศึกษาแนวทางการจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสลากกินแบ่งรัฐบาลจะเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดสลากวันที่ 2 กันยายน 2558 มีประเด็นสำคัญ 3 ส่วน ดังนี้

1. สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น “Road Map ระยะที่ 2 การจัดสรรสลากอย่างยั่งยืน”
2. สรุปผลการสำรวจผู้ค้าสลากจริงทั่วประเทศ จัดทำโดย 3 หน่วยงาน ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล, กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
3. ข้อเสนอแนวทาง เพื่อใช้พิจารณาและกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรสลาก

สำหรับการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสลากกินแบ่งรัฐบาล 7 จังหวัด ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสอบถามความคิดเห็นและปัญหาของผู้ค้าสลากตัวจริงได้ข้อสรุปเป็นดังนี้

หาดใหญ่นครปฐม

คนขายหวยขอ 10 เล่ม-ไม่เอาหวยออนไลน์

วันที่ 5-6 กรกฎาคม 2558 ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นผู้ค้าสลาก อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ข้อสรุปมีดังนี้

1. มีความพอใจในราคา 80 บาท เนื่องจากราคาถูกลงจำหน่ายได้ง่ายขึ้น
2. ต้องการให้สำนักงานสลากฯจัดสรรโควตาเพิ่มขึ้นเป็น 10 เล่ม เนื่องจำนวนสลากที่ได้รับในปัจจุบัน 5 เล่ม ไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย หากได้จำนวนเลขมีครบทุกหลัก ง่ายต่อการจำหน่าย
3. อีกกลุ่มต้องการให้จัดสรรโควตา ตามความต้องการและความสามารถในการจำหน่าย
4. ไม่เห็นด้วยกับการจำหน่ายแบบออนไลน์
5. อยากให้จัดสรรสลากให้กับผู้ขายรายย่อยจริงที่ไม่มีโควตาด้วย

วันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ลงพื้นที่สอบถามผู้ค้าสลากบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เชิญตัวแทนจำหน่ายสลากประมาณ 20 ท่าน โดยมีนายกำธร ตุ้งสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมเข้าร่วมประชุม ได้ข้อสรุป

1. มีความพอใจในราคา 80 บาท เนื่องจากราคาถูกลงจำหน่ายได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่วนต่าง 9.60 บาท อยู่ได้ แต่ขอเพิ่มจำนวนเล่มเพิ่มมากกว่านี้
1.1 ขอจำนวนเล่มเพิ่มขึ้นเป็น 10 เล่ม เนื่องจำนวนสลากที่ได้รับในปัจจุบัน 5 เล่ม ไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ต้องไปซื้อจากยี่ปั๊ว ซึ่งจำหน่ายในราคาแพง
1.2 ขอรับตามความต้องการและความสามารถในการจำหน่าย ซึ่งตัวแทนพร้อมรับความเสี่ยงในกรณีที่สลากจำหน่ายไม่หมด
2. ไม่เห็นด้วยกับการจำหน่ายแบบออนไลน์และการขายในร้านสะดวกซื้อ
3. อยากให้จัดสรรสลากให้กับผู้ขายจริงที่ไม่มีโควตา และให้กับคนที่อยู่ในจังหวัดนั้นจริงๆ

อุดรธานี-จันทบุรี

วันที่ 23-24 กรกฎาคม 2558 เดินทางไปจังหวัดอุดรธานี เพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้ค้าสลากได้ข้อสรุป

1. มีความพอใจในราคา 80 บาท ราคาถูกลงจำหน่ายได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่วนต่าง 9.60 บาท อยู่ได้ แต่ขอเพิ่มจำนวนเล่มให้มากกว่านี้
1.1 ขอจำนวนเล่มเพิ่มขึ้นเป็น 10 เล่ม เนื่องจากจำนวนสลากที่ได้รับในปัจจุบัน 5 เล่ม ไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ต้องไปซื้อจากยี่ปั๊วซึ่งจำหน่ายในราคาแพง
1.2 ขอรับตามความต้องการและความสามารถในการจำหน่าย ซึ่งตัวแทนพร้อมรับความเสี่ยงในกรณีที่สลากจำหน่ายไม่หมด
2. ไม่เห็นด้วยกับการจำหน่ายแบบออนไลน์และการขายในร้านสะดวกซื้อ
3. อยากให้จัดสรรสลากให้กับผู้ขายจริงที่ไม่มีโควตา
4. ให้จังหวัดสำรวจผู้ขายจริง
5. ขอให้เพิ่มราคาจำหน่ายจากคู่ละ 80 บาท เป็นคู่ละ 90 บาท โดยราคาที่ออกจากสำนักงานฯ 70.40 บาท เท่าเดิม เพื่อให้มีกำไรต่อฉบับมากขึ้น
6. ควรมีรางวัลแจ๊กพอตเหมือนเดิม เพื่อเป็นการจูงใจลูกค้า
7. ให้มีการกำหนดราคาขายส่งของยี่ปั๊ว และให้มีสถานที่ขายส่งให้ชัดเจน
8. มูลนิธิ องค์กร สมาคม ไม่ควรได้รับการจัดสรรสลากในปริมาณมาก ควรกระจายให้กับรายย่อยที่เป็นผู้ขายจริง
9. ผู้พิการรายย่อย อยากให้จัดสรรสลากเพิ่มจากเดิม 3 เล่ม เป็นคนละ 10 เล่ม

วันที่ 1 สิงหาคม 2558 เดินทางไปจังหวัดจันทบุรี เพื่อรับฟังความคิดเห็นตัวแทนจำหน่าย 10 คน เข้าร่วมประชุม โดยมีนายสมหมาย วิเชียรฉันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เข้าร่วมประชุมได้ข้อสรุปดังนี้

1. มีความพอใจในราคา 80 บาท เนื่องจากราคาถูกลงจำหน่ายได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่วนต่าง 9.60 บาท อยู่ได้ แต่ขอเพิ่มจำนวนเล่มให้มากกว่านี้
1.1 ขอจำนวนเล่มเพิ่มขึ้นเป็น 10 เล่ม เนื่องจำนวนสลากที่ได้รับในปัจจุบัน 5 เล่ม ไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ต้องไปซื้อจากยี่ปั๊ว ซึ่งจำหน่ายในราคาแพง (ส่วนใหญ่เห็นด้วย)
1.2 ขอรับตามความต้องการและความสามารถในการจำหน่าย ซึ่งตัวแทนพร้อมรับความเสี่ยงในกรณีที่สลากจำหน่ายไม่หมด
2. ไม่เห็นด้วยกับการจำหน่ายแบบออนไลน์
3. อยากให้จัดสรรสลากให้กับผู้ขายจริงที่ไม่มีโควตา
4. ให้มารับสลากกับจังหวัด เพื่อเป็นการลดต้นทุน

นครราชสีมา-เชียงใหม่

วันที่ 4-5 สิงหาคม 2558 เดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เชิญตัวแทนจำหน่าย 60 คน โดยมีปลัดจังหวัดและสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมมีข้อสรุปดังนี้

1. มีความพอใจในราคา 80 บาท เนื่องจากราคาถูกลงจำหน่ายได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่วนต่าง 9.60 บาท อยู่ได้ แต่ขอเพิ่มจำนวนเล่มให้มากกว่านี้
1.1 ขอจำนวนเล่มเพิ่มขึ้นเป็น 10 เล่ม เนื่องจำนวนสลากที่ได้รับในปัจจุบัน 5 เล่ม ไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ต้องไปซื้อจากยี่ปั๊ว ซึ่งจำหน่ายในราคาแพง
1.2 ขอรับตามความต้องการและความสามารถในการจำหน่าย ซึ่งตัวแทนพร้อมรับความเสี่ยงในกรณีที่สลากจำหน่ายไม่หมด
2. ไม่เห็นด้วยกับการจำหน่ายแบบออนไลน์ เพราะจะทำให้รายย่อยไม่สามารถขายสลากได้ และผู้พิการเข้าถึงได้ยาก รวมทั้งทำให้เกิดผู้ซื้อหน้าใหม่ เพราะเข้าถึงได้ง่าย
3. อยากให้จัดสรรสลากให้กับผู้ขายจริงที่ไม่มีโควตา
4. อยากให้สำนักงานฯ รื้อระบบการจัดสรรโควตาใหม่ทั้งหมด ต้องตัดพ่อค้าคนกลางออก

วันที่ 10-11 สิงหาคม 2558 พบตัวแทนผู้จำหน่าย ทั้งที่มีโควตาและไม่มีโควตา รวมทั้งตัวแทนสมาคมผู้พิการที่จำหน่ายสลาก 120 คน เข้าร่วมประชุม ได้ข้อสรุปดังนี้

1. มีความพอใจในราคา 80 บาท เนื่องจากราคาถูกลงจำหน่ายได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่วนต่างในราคา 9.60 บาท อยู่ได้ แต่ขอเพิ่มจำนวนเล่มให้มากกว่านี้
2. ต้องการให้สำนักงานฯ เพิ่มสลากให้เป็นคนละ 10 เล่ม เนื่องจำนวนสลากที่ได้รับในปัจจุบัน 5 เล่ม ไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย และไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ต้องไปซื้อจากยี่ปั๊ว ซึ่งจำหน่ายในราคาแพง
3. ไม่เห็นด้วยกับการจำหน่ายแบบออนไลน์ เพราะจะทำให้รายย่อยไม่สามารถขายสลากได้ และผู้พิการเข้าถึงได้ยาก
4. อยากให้จัดสรรสลากให้กับผู้ขายจริงที่ไม่มีโควตา
5. ช่องทางที่จะสามารถเข้าไปยื่นขอโควตามีน้อยเกินไป ควรเพิ่มช่องทางให้มากกว่านี้ เพราะช่องทางทาง อินเทอร์เน็ตอาจจะยุ่งยาก บางคนไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
6. ควรเพิ่มช่องทางในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของสำนักงานฯ ให้มากกว่านี้ เนื่องจากข่าวสารที่ได้รับขาดความชัดเจน ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวลือ ทำให้เกิดความสับสน

วังสะพุงศูนย์การค้าสลากไทย

วังสะพุงขอ 5 เล่ม แจกคนขายหวยตัวจริง

วันที่ 20-21 สิงหาคม 2558 เดินทางไปอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อสอบถามผู้ค้าสลาก ทั้งที่มีโควตาและไม่มีโควตา รวมทั้งตัวแทนสมาคมผู้พิการที่จำหน่ายสลาก 3,000 คน โดยมีนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยและสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุม ได้ข้อสรุปดังนี้

1. สนับสนุนแนวทางที่ 1 ให้สำนักงานฯ จัดสรรสลากให้คนละ 5 เล่ม เพื่อให้ผู้ค้าสลากรายย่อยซึ่งเป็นคนขายจริงได้รับโควตาครบทุกคน และขอให้มีการขึ้นทะเบียนอย่างชัดเจน
2. ไม่ต้องการให้มีการวางเงินสดล่วงหน้า เนื่องจากผู้ขายส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย จึงไม่มีเงินทุนหมุนเวียน แต่หากต้องมีการวางเงินสดล่วงหน้า ก็ขอให้สำนักงานฯ ออกมาตรการช่วยเหลือ อาทิ การให้กู้ยืมเงินจากธนาคาร โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ
3. ต้องการมารับสลากที่จังหวัด เพื่อลดต้นทุนในการเดินทางมารับสลากในกรุงเทพฯ

เพิ่มโควตารายย่อย หวั่นสลากไม่พอแจก

วันที่ 25 สิงหาคม 2558 ลงพื้นที่ศูนย์การค้าสลากไทย จังหวัดนนทบุรีสอบถามความคิดเห็นของผู้จำหน่ายสลาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ขายส่ง (ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว) ได้ข้อสรุปดังนี้

1. หากเปิดให้ผู้จำหน่ายรายย่อยที่ไม่มีโควตาซึ่งเป็นผู้ขายจริงได้รับสลากโดยตรงจากสำนักงานฯ เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อผู้ขายส่ง สามารถปรับตัวได้ แต่น่าจะมีผู้มาซื้อเพิ่ม เพราะจำนวนสลากที่สำนักงานฯ จัดสรรให้ไม่น่าจะเพียงพอ
2. ราคาขายส่งแพง เนื่องจากไม่มีคนมาปล่อยสลาก ทำให้ปริมาณสลากไม่เพียงพอ
3. ไม่ควรมีการวางเงินค้ำประกัน เนื่องจากจะเป็นภาระต่อผู้ขาย

วันที่ 26 สิงหาคม 2558 นายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และพ.ท. หนุน ศันสนาคม ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสลากฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน “Road Map ระยะที่ 2 การจัดสรรสลากเพื่อความยังยืน” ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี
วันที่ 26 สิงหาคม 2558 นายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และ พ.ท. หนุน ศันสนาคม ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสลากฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน “Road Map ระยะที่ 2 การจัดสรรสลากเพื่อความยั่งยืน” ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 สำนักงานสลากฯ จัดประชาพิจารณ์เป็นครั้งสุดท้าย โดยเชิญผู้ค้าสลากฯ และประชาชนทั่วไปประมาณ 400-500 คน ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรสลากฯ ทั้ง 74 ล้านฉบับที่จะหมดอายุสิ้นเดือนธันวาคม 2558 สำนักงานสลากฯ นำเสนอแผนการจัดสรรสลาก 5 แนวทาง คือ จัดสรรสลากฯ ให้รายย่อยไม่เกินรายละ 5 เล่ม, ไม่เกินรายละ 10 เล่ม, ไม่เกิน 50 เล่ม, ไม่จำกัดจำนวนและขายผ่านเครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์

ขณะเดียวกันมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากผู้ค้าสลากบางกลุ่ม จัดสรรตามความต้องการของรายย่อย โดยไม่จำกัดจำนวน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขาย บางกลุ่มเสนอให้ใช้วิธีการผสม กล่าวคือ จัดสรรสลากให้กับรายย่อยและจำหน่ายสลากผ่านเครื่องออนไลน์ด้วย และที่น่าสนใจที่สุดคือ มีกลุ่มผู้ค้าสลากที่ลงทะเบียนกับสำนักงานสลากฯ จำนวน 4 แสนราย แต่สำนักงานสลากฯ จัดสรรให้แค่ 3,000 ราย เรียกร้องให้สำนักงานสลากฯ จัดสรรสลากฯ ให้กับผู้ค้าสลากที่เหลือ 397,000 ราย คนละ 5 เล่ม ทางคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสลากฯ ชี้แจงว่า “สำนักงานสลากฯ จะจัดสรรสลากให้กับคนขายหวยตัวจริง ซึ่งมีประมาณ 39,000-40,000 รายเท่านั้น”

จำนวนผู้ขายจริง

โควตาสลาก

รายใหญ่ 3.6 พันราย โควตา 34 ล้านฉบับ-รายย่อย 3.5 หมื่นรายมี 40 ล้านฉบับ

นอกจากนี้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้นำผลการศึกษาสำรวจผู้ค้าสลากตัวจริงจาก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพบก ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจตามแผงขายสลาก ตามที่ตัวแทนจำหน่ายเคยแจ้งไว้กับสำนักงานสลากฯ ก่อนหน้านี้ สรุปว่ามีผู้ค้าสลากตัวจริงรวมทั้งสิ้น 39,757 ราย ประกอบไปด้วย ผู้ค้าสลากรายย่อย 39,169 ราย และผู้ค้าสลากประเภทองค์กร มูลนิธิ สมาคมอีก 588 ราย

จากนั้น คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสลากกินแบ่งรัฐบาล นำข้อมูลจาก 3 หน่วยงานมาทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลบัญชีรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากของสำนักงานสลากฯ มีอยู่ประมาณ 39,346 ราย ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก 74 ล้านฉบับ ซึ่งประกอบด้วยผู้ค้าสลากประเภทองค์กร มูลนิธิ สมาคมและนิติบุคคลมีจำนวนทั้งสิ้น 3,603 ราย ถือครองโควตาสลาก 34.58 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 47.1% ของโควตาสลากทั้งหมด 74 ล้านฉบับ ส่วนผู้ค้าสลากรายย่อยมี 35,743 ราย ถือครองโควตาสลาก 39.42 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 52.9% โดยข้อมูลทั้งส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ถูกนำมาประมวลผล สรุปเป็นแนวทางการจัดสลากใหม่ 5 วิธีที่เสนอให้บอร์ดสลากตัดสินใจมีข้อดีและข้อเสียดังนี้

วิธีที่ 1 จัดสรรสลากให้ผู้ค้ารายย่อยไม่เกิน 5 เล่มคู่ต่อราย ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานสลากฯ ได้มีการจัดสรรสลากให้แก่ผู้ค้าสลากรายย่อย รายละ 5 เล่มคู่เท่ากันทุกราย และผู้พิการบางส่วนยังได้รับรายละ 3 เล่มคู่ ข้อดี คือ ไม่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมแต่อย่างไร เมื่อครบสัญญา ก็ต่อสัญญารายเดิมต่อไป ส่วนข้อเสีย ปริมาณสลากที่ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยได้รับ ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องไปซื้อสลากเพิ่มเติมจากยี่ปั๊ว ซึ่งทำให้ยี่ปั๊วมีอำนาจต่อรองและกำหนดราคา และจากการลงพื้นที่พบว่า มีตัวแทนจำหน่ายรายย่อยบางส่วนไม่ได้จำหน่ายจริง และยังมีผู้จำหน่ายสลากจริงบางส่วนที่ไม่ได้รับการจัดสรรสลาก จึงต้องหาวิธีจัดสรรสลากเพิ่มให้กับผู้จำหน่ายสลากจริงที่ไม่ได้รับการจัดสรรสลาก (เพิ่มจำนวนผู้จำหน่ายจริง)

วิธีที่ 2 จัดสรรสลากให้ผู้ค้ารายย่อยไม่เกิน 10 เล่มคู่ต่อราย เนื่องจาก ผู้ค้าสลากรายย่อยส่วนใหญ่ต้องการสลากรายละ 10 เล่มคู่ ทำให้ผู้ค้าสลากรายย่อยมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพในแต่ละเดือน ไม่ต้องไปหาซื้อสลากเพิ่มในราคาที่สูงกว่า 70.40 บาทต่อคู่ ข้อดี คือ จัดสรรสลากให้ตามความต้องการของตัวแทนรายย่อยส่วนมากได้ แต่ข้อเสีย คือ ต้องจัดสรรสลากให้กับผู้ค้ารายย่อย 35,800 ราย เพิ่มเดิมได้รายละ 5 เล่มคู่เป็น 10 เล่มคู่ ทำให้สำนักงานสลากฯต้องพิมพ์สลากเพิ่มอีก 179,000 เล่มคู่ หรือ 17.9 ล้านคู่ ขณะที่แท่นพิมพ์ของสำนักงานสลากฯ มีกำลังการผลิตเหลืออยู่แค่ 13 ล้านคู่เท่านั้น (กำลังการผลิตสูงสุด 100 ล้านฉบับ ปัจจุบันพิมพ์ออกขาย 74 ล้านฉบับ มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลือ 26 ล้านฉบับ หรือ 13 ล้านคู่)

วิธีที่ 3 จัดสรรสลากให้ผู้ค้ารายย่อยไม่เกิน 50 เล่มคู่ต่อราย เนื่องจากผู้ค้าสลากรายย่อยในแต่ละพื้นที่มีความต้องการจำหน่ายสลากไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและทำเลที่ตั้งของจุดจำหน่าย จากข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ค้าสลากรายย่อยแต่ละรายไม่น่าจะขายสลากได้เกินกว่า 50 เล่มคู่ ข้อดี คือ ผู้ค้าสลากจะได้รับสลากตามความต้องการและความสามารถในการจำหน่ายที่แท้จริง แต่ต้องจำกัดจำนวนเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้นำสลากไปขายต่อให้ผู้อื่น ข้อเสีย คือ ต้องมีการพิมพ์สลากเพิ่มตามความต้องการของผู้ค้าสลาก ซึ่งอาจจะมีปริมาณเกินกว่ากำลังการพิมพ์ของสำนักงานสลากฯ

วิธีที่ 4 จัดสรรสลากให้ผู้ค้ารายย่อยไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้เนื่องผู้ค้าสลากรายย่อยบางส่วนต้องการจำหน่ายสลากตามความสามารถ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความต้องการไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและทำเลที่ตั้งของจุดจำหน่าย ข้อดี คือ ตัวแทนจำหน่ายจะได้รับสลากตามความต้องการและความสามารถในการจำหน่ายที่แท้จริง ข้อเสีย คือ ต้องมีการพิมพ์สลากเพิ่มตามความต้องการซึ่งอาจจะมีปริมาณเกินกว่ากำลังการผลิตของสำนักงานสลากฯ ส่วนที่เหลือพิมพ์ได้ไม่เกิน 13 ล้านคู่

ข้อ 5 จำหน่ายสลากผ่านเครื่องออนไลน์ ตามข้อเสนอของนักวิชาการและผู้ค้าสลากบางส่วน มองว่า การแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา ควรเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้ประชาชน เช่น จำหน่ายผ่านเครื่อง แต่ต้องไม่มีจำนวนมากจนทำให้เกิดผลกระทบกับรายได้ของผู้ค้าสลากรายย่อย ข้อดี คือ เพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสลากให้กับผู้ซื้อ ข้อเสีย คือ อาจมีผลกระทบต่อผู้ค้าสลากรายย่อยบางพื้นที่

อ่าน ผลการศึกษาการจัดสรรโควตาสลากใหม่ ฉบับสมบูรณ์