ThaiPublica > คนในข่าว > ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ชี้วาระใหม่ “The Future of ASEAN” ที่ต้องร่วมมือกัน

‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ชี้วาระใหม่ “The Future of ASEAN” ที่ต้องร่วมมือกัน

12 กุมภาพันธ์ 2023


ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “The Future of ASEAN” ในงาน Business Meeting จัดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 โดยหอการค้ามาเลเซีย-ไทย(Malaysian-Thai Chamber of Commerce) เพื่อให้ผู้นำจากอุตสาหกรรมหลายสาขาได้รับฟังวิสัยทัศน์ในการผลักดันอาเซียนให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีอนาคตที่รุ่งเรือง

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยได้กล่าวเปิดงาน ขณะที่นาย เย็บ ซู ชวน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน)กล่าวต้อนรับ

  • “ทนง พิทยะ” ชี้ ถึงเวลา ASEAN ทบทวนกลยุทธ์ใหม่ สร้างพลังเชิงรุกที่แข็งแกร่งร่วมกัน
  • นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียวัย 75 ปีก้าวขึ้นเวทีอย่างกระฉับกระเฉง เมื่อดร.คณิศ ศรีสุพรรณ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ประกาศเรียนเชิญหลังให้ข้อมูลเกี่ยวกับดาโต๊ะ สรี อันวาร์สั้นๆ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้รู้จักนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่มากขึ้น

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์กล่าวคำว่า “กาเซะ” หรือขอบคุณ ในภาษามลายู จากนั้นได้ขอบคุณ ดร.คณิศ นาย เย็บ ซู ชวน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน)และดร.ทนง พิทยะ โดยพูดว่า

    “ทนง เป็นเพื่อนรักกันมานาน และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีเพื่อนอีกหลายคนที่อยู่ในห้องนี้ คงต้องขอเอ่ยชื่อสัก 2-3 คน มีคุณไพโรจน์(เปี่ยมพงษ์ศานต์)”

    พร้อมกับยกมือป้องแสงไฟที่เข้าตาเพื่อมองหาเพื่อนคนอื่นๆในห้อง Grand Ballroom รร.รอยัล ออร์คิดเชอราตัน สถานที่จัดงาน ฺBusiness Meeting ให้ชัดขึ้น แต่ก็บอกว่า”เห็นไม่ค่อยชัด”

    “ผมซาบซึ้งมากกับความรู้สึกดีๆที่ออกมาจากใจ และในช่วง 2 วันนี้ผมได้รับมิตรภาพและความจริงใจ ที่หวังว่าจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนระหว่างสองฝ่ายที่มีความหมายมากขึ้น แข็งขันมากขึ้น ไม่เฉพาะในด้านการค้า การลงทุนเท่านั้น แต่ในด้านวัฒนธรรมด้วย”

    “ผมซึ้งใจ เพราะสำหรับผมแล้ววิถีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ในทางการเมือง หรือรัฐบาล ทั้งหมดเป็นเรื่องของมนุษยธรรมและความเห็นอกเห็นใจ(humanity and compassion)”

    วันนี้เรามาพูดกันถึงอนาคตของอาเซียน อนาคตของอาเซียนคืออนาคตของประชาชนที่มีนับพันล้านคน ไม่ใช่จากนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องที่ว่าเราจะกำหนดวาระใหม่สำหรับอนาคตขึ้นมาอย่างไร ที่จะทำให้เราสามารถประเมินผลได้ ทั้งจากคนยากจน พื้นที่ปกครองที่ยากจน ที่จะส่งผลให้อาเซียนยกระดับขึ้นไปอีกขั้น

    จากนั้นดาโต๊ะ สรี อันวาร์ได้แนะนำรัฐมนตรีในคณะที่ร่วมเดินทางเยือนมาในครั้งนี้ด้วยคือดาโต๊ะ สรี ซัมบรี บิน อับดุล คาเดร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ดาโต๊ะ สรี ไซฟุดดิน อิสมาอิล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย นายนิก นัซมี นิก อาหมัด รัฐมนตรีกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ “ที่สำคัญที่สุดสำหรับผม อาซีซาะห์(ดาโต๊ะ สรี ดร.วัน อาซีซาะห์ วัน อิสมาอิล)”

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ได้พูดในหลายประเด็นด้วยกัน ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับไทย สถานการณ์ในภาคใต้ของไทย สถานการณ์ในเมียนมา และอนาคตของอาเซียน

    ในฐานะเพื่อนและครอบครัว พร้อมช่วยปัญหาภาคใต้

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์กล่าวว่า ก่อนที่จะพูดถึงอนาคตของอาเซียน ขอพูดถึงความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ดร.ทนงได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ศักยภาพทางการค้า การลงทุนระหว่างสองประเทศไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งก็ค่อนข้างน่าคิดว่าทำไมประเทศเพื่อนบ้านกันมาเลเซียและไทย ที่มีความสัมพันธ์ทวิภาคที่ดี แต่ไม่ได้นำไปสู่ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ทั้งๆที่ในระดับประชาชนกับประชาชนมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างมหาศาลบริเวณชายแดน ของทั้งสองประเทศด้านการค้า รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยว

    “ผมดีใจที่เมื่อวาน(9 ก.พ.)ในการพบปะกับพลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) พลเอกประวิตร (วงษ์สุวรรณ) และคุณอนุทิน (ชาญวีรกูล)ต่างก็มีความมุ่งมั่นและกระตือรือร้น และการพบของคณะตัวแทนทั้งสองประเทศก็ยอดเยี่ยมมาก ตรงไปตรงมา และชัดเจน ทั้งในประเด็นข้อกังวล ความริเริ่มและการดำเนินการเพื่อสันติในภาคใต้ของไทย”

    “ผมบอกชัดเจนว่าจุดยืนของผมคือ ไม่ประนีประนอม ไม่ทนต่อความรุนแรง ดังนั้นเราจึงต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการแสวงหาความร่วมมือจากเพื่อนของเรา กลุ่มมุสลิมในภาคใต้ และจากหน่วยงานหลักของที่นี่ โดยเฉพาะกองทัพ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาภายในที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเอง”

    “But as Friend and family members we have tried to facilitate and we prepare to do that in a more meaningful way…”

    “แต่ในฐานะของเพื่อนและสมาชิกในครอบครัว เราได้พยายามอำนวยความสะดวกและเตรียมที่จะช่วยในแนวทางที่จับต้องได้มากขึ้น”

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ กล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ คนกลุ่มน้อย ความแตกต่างด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และการขาดความไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกรุงเทพกังวลอย่างมาก เพราะมีความรุนแรง มีการใช้กำลังเป็นระยะ ซึ่งมาจากทั้งคนกลุ่มน้อยและบางครั้งมาจากการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่มากเกินไป

    อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาหนักถึงขั้นที่ว่าไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะเห็นว่าบรรดาผู้นำที่นี่ต่างก็มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา สิ่งที่เราต้องทำก็คือ โน้มน้าวให้เพื่อนของเราที่อยู่ในภาคใต้ ซึ่งบางคนผมก็รู้จักเป็นการส่วนตัวได้เข้าใจว่า พวกเขานั้นเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไทย และส่วนหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งพวกเขายังสามารถรักษาความเป็นตัวตนได้ ทั้งในด้านวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา

    ประเด็นเหล่านี้เป็นปรัชญาทางการเมืองของผม ที่ผมพยายามจะนำเสนอให้กับมาเลเซียมาตลอด มาเลเซียเป็นประเทศที่มีหลากหลายทางเชื้อชาติ หลายศาสนา และผมต้องการนำเสนอแนวคิดใหม่นี้ให้กับมาเลเซียว่า พลเมืองทุกคนต้องได้รับการยอมรับในสิทธิ ได้รับการเคารพในเรื่องความเชื่อ และตระหนักว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียที่ยิ่งใหญ่

    เช่นเดียวกับอาเซียน เห็นได้จากการที่อาเซียนสร้างผู้นำที่มีความสามารถทั้ง นายถนัด คอมันตร์(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศไทย) นายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศอินโดนีเซีย) นายตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซีย) และคนอื่นๆ ที่มองการณ์ไกลเพื่ออาเซียนของเรา สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก

    “ผมอยู่ในแวดวงการเมืองมานาน ได้อ่านประวัติศาสตร์ของหลายประเทศ ทั้งไทย ฟิลิปปินส์ ยุคที่มีระบบอาณานิคม รวมทั้งยุคสมัยของมาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ก็ถือว่ายอดเยี่ยมที่เราวางวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นให้กับภูมิภาคของเรา แม้เราอาเซียนยังไม่เติบใหญ่เต็มที่ในแง่ entity ในด้านการค้า การลงทุน แต่มีความสำเร็จอย่างมากในด้านสันติภาพ ความมั่นคง และเพื่อนบ้านที่ดี แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งในระดับนานาชาติ และในระดับโลก ซึ่งผมเห็นว่าคนรุ่นเราหรือคนรุ่นต่อไปควรตระหนักถึงเรื่องนี้ และฟื้นฟูสปิริต อุดมการณ์ และการมองการณ์ไกลในบรรดาผู้นำในรุ่นต่อไป”

    แยกเมียนมาออกไปก่อน

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์กล่าวต่อว่า อาเซียนต้องก้าวไปไกลกว่านี้ แต่โชคไม่ดีที่อาเซียนยังเผชิญปัญหาความปั่นป่วนในเมียนมา

    “เมื่อวานนี้(9 ก.พ) ผมได้เรียนพลเอกประยุทธ์ว่า ประเทศไทยเผชิญปัญหานี้เพราะมีพรมแดนที่ติดเมียนมาเป็นระยะทางยาว แต่มาเลเซียประสบปัญหาใหญ่เพราะมีผู้อพยพเข้ามาราว 2 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์จากเมียนมา”

    อาเซียนบอกกันว่า เราต้องมีส่วนร่วม(engagement) ซึ่งเรามี engagement กันมาร่วม 40 ปี และแต่ละประเทศก็มีขีดจำกัด แต่ผมเชื่อใน engagement ผมได้พูดคุยกับประธานาธิบดีโจโควีของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ได้พูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุงของสิงคโปร์ สุลต่านฮัสาซานัล โบลเกียห์แห่งบูรไน และจะพูดคุยกับประธานาธิบดีบองบอง ฟิลิปินส์ในสัปดาห์หน้า

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ย้ำว่า ต้องก้าวไปไกลและทำมากขึ้นจากที่พยายามในปัจจุบัน

    “เราไม่ต้องการให้คนข้างนอกเข้ามาแทรกแซง เราไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ยุโรปมาบอกว่าเราต้องทำอะไร แต่เราก็ต้องทำอะไรบ้าง เราต้องกล้าพอที่จะพยายามแก้ไขปัญหานี้ หากบอกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาภายในของเมียนมา ก็ถูกต้องแล้ว ผมไม่คิดว่าเราควรเข้าไปยุ่งแล้วกลายเป็นรบรากับเมียนมา แต่ปัญหานี้กระทบเรา กระทบประเทศไทย ที่มีผู้อพยพจากเมียนมากจำนวนมาก มีผลกระทบกับบังคลาเทศที่กำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาเลเซียก็เจอปัญหาผู้อพยพจากเมียนมาเข้ามามากที่สุด”

    สำหรับผมยอมรับว่า “ผมเป็นผู้นำที่ถือว่าอ่อนประสบการณ์ที่สุดในการเมืองระหว่างผู้นำอาเซียน ผมได้แต่ร้องว่าเราต้องทำมากกว่านี้แต่ก็หวังว่าจะมีการแก้ปัญหาด้วยปัญญา(wisdom) เพราะว่าแทนที่อาเซียนเราจะก้าวไปข้างหน้า แต่ว่าเรากับถูกตรึงติดอยู่กับปัญหาในอดีต เรายังติดอยู่กับปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ การขาดความยุติธรรม ทั้งๆที่เราควรจะก้าวไปข้างหน้าได้แล้ว ดังนั้นผมเชื่อว่าทั้งในปีนี้และปีหน้า ผู้นำอาเซียนควรจะร่วมกันก้าวต่อไป

    ปัญหาในเมียนมามีผลต่อการก้าวไปข้างหน้าเพื่ออนาคตของอาเซียนทั้งกลุ่ม เราย่ำอยู่กับที่กับปัญหาในอดีต ย่ำอยู่กับที่ในปัญหาการเลือกปฏิบัติ ย่ำอยู่กับที่ในเรื่องความรุนแรง อย่างไรก็ตามเราควรก้าวข้าม และผมเห็นว่าผู้นำอาเซียนควรสะท้อนสิ่งเหล่านี้ในปีนี้และปีหน้า

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ กล่าวว่า ยังมองอนาคตของอาเซียนในแง่ดี แต่อาเซียนควรแยกเมียนมาออกไปก่อนในตอนนี้ “We should carve Myanmar out for now”

    “ตอนนี้เราควรแยกเมียนมาออกไปก่อน และผมไม่คิดว่าปัญหาของพม่าจะสกัดการเดินไปข้างหน้าของเรา และน่าจะเป็นการดีหากเรามีฉันทามติที่หนักแน่นในการส่งสารที่หนักแน่นถึงรัฐบาลเมียนมา”

    “รัฐบาลมีสิทธิ์ทุกอยางที่จะมีนโยบายและลำดับความสำคัญภายในประเทศของตัวเอง แต่ไม่มีประเทศไหนในยุคนี้ที่ยังคงดำเนินนโยบายแบบเลือกปฏิบัติ ไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนของตนเอง มีการข่มขู่ หรือแย่กว่านั้นคือ การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของตนเอง”

    “หวังว่าโอกาสนั้นจะถูกคว้าไว้ พูดตามตรง อาเซียนมีความแตกต่างทางการทูต ที่ย้ำแล้วย้ำในจุดยืนของตน แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์”

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ กล่าวว่า อาเซียนมีความเป็นอิสระอย่างมากมาโดยตลอด และไม่ชอบให้ภูมิภาคอื่นมาบงการ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ขัดกัน เพราะการที่ไม่อยากให้ใครมาแทรกแซง เราก็ต้องคิดหากลไกใหม่ เพื่อยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตนเอง เพราะอย่างแรกเราก็ไม่อดกลั้น และอยางที่ผลที่สะท้อนกลับมานั้นกระทบอาเซียนทั้งกลุ่ม และนอกเหนือจากอาเซียน ซึ่งเห็นได้ชัดจากบังคลาเทศ และไม่เพียงมาเลเซีย ไทย เท่านั้น อินโดนีเซียก็เริ่มประสบปัญหาแล้ว

    ร่วมมือแทนที่จะแข่งขันกัน

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีความริเริ่มจากดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่จะผลักดันการค้าเสรี ในอาเซียน ซึ่งเป็นการมองการณ์ไกลที่ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์แห่งความสำเร็จด้วยความร่วมมือของอาเซียน แต่เราต้องก้าวไปไกลกว่านี้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเชื่อมโยง การก้าวสู่ดิจิทัล การลงทุนใหม่ การใช้สิ่งเหล่านี้เป็นฐานสำคัญในการสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ

    แต่น่าเสียดายที่ประเทศต่างต้องตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งเราทำอะไรไม่ได้มาก แต่เราต้องแน่ใจว่าเรารักษาความเป็นอิสระไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ขณะเดียวกันก็มี engagement ที่ดีทั้งจีนและสหรัฐ และได้ประโยชน์จากการลงทุนใหม่ สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆที่จะส่งผลทางบวกประชาชนส่วนใหญ่

    สำหรับข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน(ASEAN FTA) ที่ยังคงมีผลและใช้กันอยู่ ผมต้องการที่จะผลักดันการค้า การลงทุนด้วยการใช้ข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งไม่ใช่เป็นการแข่งขันระหว่างกัน ที่ผ่านมามาเลเซีย ไทย อินโดนีเซียต่างก็เป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ ก็แข่งขันกันเอง แทนที่จะร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ก็เพราะว่าที่ผ่านมาเราต่างมีอิสระอย่างมาก และมีนโยบายคุ้มครอง

    “ทำไมเราไม่คิดกันว่าให้ประเทศหนึ่งผลิตรถบรรทุก อีกประเทศหนึ่งผลิตรถบัสหรือรถประเภทอื่น ดังนั้น เราต้องก้าวข้ามมองในด้านใหม่ๆ ที่เราแน่ใจเป็นแนวทางที่เราได้ประโยชน์ และมุ่งไปที่ความเชี่ยวชาญในด้านที่มีและนำเสนอผลิตภัณฑ์นี้ให้กับประเทศสมาชิกอื่นๆ”

    สำหรับประเทศไทย ดาโต๊ะ สรี อันวาร์กล่าวว่า มาเลเซียจะได้ประโยชน์จากธุรกิจอาหาร ดิจิทัล การขนส่งและพลังงาน ซึ่งเปรียบเทียบกันแล้ว ประเทศไทยประสบความสำเร็จมากกว่า มาเลเซียยังตามไม่ทัน แต่มาเลเซียสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ยางพาราและน้ำมันปาล์มให้กับไทย คิดว่าหากเราร่วมมือกัน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อแผนการลงทุนใหม่

    เสนอทบทวน AMF ดึง ASEAN+3 ร่วม

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาอาเซียนมีความริเริ่มเชียงใหม่(Chiangmai Initiative) รวมทั้งคิดที่จะจัดตั้ง Asian Monetary Fund ซึ่งคิดว่าจะเป็นกันชนให้ได้

    “เราไม่สามารถให้โครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ (ระดับภูมิภาค) ถูกกำหนดโดยบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่ง เราสามารถทำงานร่วมกับพวกเขาได้ แต่เราควรมีจุดแข็งภายในประเทศ ภูมิภาค และเอเชียของเราเอง และไม่จำเป็นต้องแข่งขัน (กันเอง) แต่ต้องมีแนวกันชน”

    “สำหรับคนที่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ มันจะมีประโยชน์อย่างมาก เมื่อสัญญาณของปัญหาใด ๆ เพิ่มขึ้น แม้กระทั่งในสมัยนั้น (ปี 1990s) เราก็มีและเริ่มเตือนกันและกันในทันทีเกี่ยวกับดุลการชำระเงิน การอ่อนค่าของสกุลเงิน หรือในประเด็นเหล่านี้ บางครั้งก็แค่แจ้ง บางครั้งก็เตือน เพราะบางประเทศก็ยังมีปัญหาภายในที่ต้องจัดการ ทั้งแรงกดดันภายใน และการเมือง ในยุคนั้นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบนัก ” เมื่อถึงตอนนี้ดาโต๊ะ สรี อันวาร์กล่าวในเชิงล้อเล่นพร้อมกับหัวเราะว่า” นี่คือเหตุผลว่าทำไมตอนนี้ผมนั่งเก้าอี้กระทรวงการคลังด้วย เพื่อที่เพื่อนร่วมงานจะไม่โหดกับรัฐมนตรีคลังมากนัก เพราะนายกรัฐมนตรีก็อยู่ด้วย”

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์กล่าวว่า ควรนำแนวคิดการจัดตั้ง Asian Monetary Fund มาทบทวน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศอาเซียน+3 โดยเปิดให้ประเทศ ASEAN+3 ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เข้าร่วม หรืออาจจะชวนอินเดีย ออสเตรเลียเข้ามาด้วยก็ได้ โดยส่วนตัวก็ไม่ได้ไม่เห็นด้วยแต่อย่างใด เพราะต้องเคารพความเห็นชอบร่วมกันของอาเซียน

    ประชาธิปไตยคือความรับผิดชอบ

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ปิดท้ายด้วยเน้นถึงหลักประชาธิปไตยโดยกล่าวว่า อาเซียนประสบความสำเร็จอย่างดี แต่สำหรับมาเลเซียนั้น น่าเสียดายที่ต้องเจอปัญหาการขาดธรรมาภิบาล นำประเทศไปสู่การคอร์รัปชั่น ดังนั้นก็ต้องเข้าใจประชาธิปไตยว่า คือ ความรับผิดชอบต่อการกระทำ(accountability)

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์กล่าวว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบ ผู้นำไม่ได้รับผิดชอบเพียงครั้งเดียวในช่วง 4-5 ปี ผู้นำต้องรับผิดชอบต่ออำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่มีต่อประชาชน และควรจะเป็นผู้นำรัฐบาลที่มือสะอาด ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และดูแลให้มีความยุติธรรมสำหรับพลเมืองทุกคน ซึ่งผมคิดเป็นความท้าทายที่สำคัญในมาเลเซีย

    บางคนบอกว่านั่นเป็นเพราะผลพวงของอดีต แต่วันนี้ผมมาพูดถึงอนาคตของอาเซียน ถ้าจะพูดถึงอดีตก็เป็นเรื่องยาว เนลสัน แมนเดลา เคยกล่าวไว้ว่า เราต้องให้อภัยและเดินไปข้างหน้า แต่เราต้องไม่ลืม เพราะสำหรับเราแล้วไม่ควรยอมรับหรืออดกลั้นต่อความอยุติธรรมใดๆ

    ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนหน้านี้หลายปีผมได้มาประเทศไทยเพื่อเปิดตัวหนังสือ ผมพยายามไม่พูดถึงสิ่งที่ผ่านมา และหากจะพูดถึงสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ คือ ไม่ว่า ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด หรือทำตามคำสั่งจากผู้บริหาร อย่างไรก็แล้ว แต่เราก็ต้องมีหลักนิติธรม “rule of law”

    และย้ำว่า “ประชาธิปไตยคือความรับผิดชอย และทำให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะต้องถูกขับเคลื่อนไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน แต่เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่”

    ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม ได้เยือนไทยในเดือนกันยายน 2565 จากการเชิญของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (Foreign Correspondant Club — FCCT) เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียครั้งต่อไป (มาเลเซียจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน)

  • “อันวาร์ อิบราฮิม” ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซียกับการเลือกตั้งครั้งหน้า
  • “อันวาร์ อิบราฮิม” สาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย สิ้นสุด 3 ทศวรรษที่รอคอย