ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์ใช้ภาษีนำเข้าคุ้มครองอุตสาหกรรมรถยนต์ชั่วคราว 200 วัน

ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์ใช้ภาษีนำเข้าคุ้มครองอุตสาหกรรมรถยนต์ชั่วคราว 200 วัน

17 มกราคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 10-16 มกราคม 2564

  • ฟิลิปปินส์ใช้ภาษีนำเข้าคุ้มครองอุตสาหกรรมรถยนต์ชั่วคราว 200 วัน
  • ฟิลิปปินส์ขยายเวลาห้ามต่างชาติเข้าถึง 31 มกราคม
  • เมียนมาเตรียมเปิดตัวฐานข้อมูลที่ดินดิจิทัล
  • เมียนมา-จีนเตรียมศึกษาความเป็นไปได้โครงการรถไฟมัณฑะเลย์-จ๊อกผิ่ว-มูเซ
  • เมียนมายกเลิกสัญญาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับอิตาเลียนไทย
  • กัมพูชาเตรียมทำ Travel Bubble กับอาเซียน+3
  • สิงค์โปร์จับมือมาเลเซียรักษาห่วงโซ่อุปทานช่วงภาวะฉุกเฉิน
  • ฟิลิปปินส์ใช้ภาษีนำเข้าคุ้มครองอุตสาหกรรมรถยนต์ชั่วคราว 200 วัน

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/business/2019/11/15/1968821/vehicle-sales-zoom-year-high-october

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ประกาศเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์โดยสารและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก

    ในแถลงการณ์ กระทรวงฯได้พิจารณาเบื้องต้นคำร้องขอให้คุ้มครองธุรกิจที่ยื่นโดย Philippine Metalworkers Alliance พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ในประเทศได้รับกระทบรุนแรง

    นอกจากนี้ยังพบว่า สถานการณ์ยังวิกฤติ และความล่าช้าในการกำหนดมาตรการจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรม และยากต่อการแก้ไข ด้วยเหตุนี้กระทรวงฯจึงตัดสินใจเรียกเก็บภาษีคุ้มครองชั่วคราวในรูปแบบของตั๋วเงินสดจำนวน 70,000 เปโซต่อคันสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนำเข้า และ 110,000 เปโซต่อคันสำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กนำเข้า

    “ฟิลิปปินส์มีตลาดที่เปิดมากที่สุดแห่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรา แม้โดยทั่วไปแล้วเราจะไม่จำกัดสินค้าที่เข้ามาในตลาด แต่เราก็จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่าการแข่งขันมีความเท่าเทียม สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศของเราด้วย” นายรามอน โลเปซ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์

    มาตรการคุ้มครองชั่วคราวจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 200 วัน นับจากวันที่กรมศุลกากรออกคำสั่งและในขณะที่มีการสอบสวนอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการภาษีศุลกากร

    นายโลเปซกล่าวอีกว่า “มาตรการคุ้มครองชั่วคราวจะช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศมีทางรอด ขณะที่ต้องเผชิญกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของแบรนด์คู่แข่ง แต่ไม่ได้ไม่ได้ห้ามการนำเข้า และผู้บริโภคจะยังคงมีทางเลือกในการเลือก แต่รถยนต์ที่นำเข้ารุ่นที่อยู่ภายใต้ประกาศฉบับนี้จะต้องปฏิบัติตามมาตรการภาษีคุ้มครองชั่วคราว”

    “แนวทางนี้จะเอื้อต่อการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมในประเทศให้มีประสิทธิภาพทางต้นทุนและและมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น”

    ภายใต้กฎหมายฉบับที่ 8800 หรือ พระราชบัญญัติมาตรการคุ้มครอง บุคคลใดไม่ว่าโดยกำเนิดธรรมชาติหรือตามกฎหมาย เป็นสมาชิกหรือเป็นตัวแทนอุตสาหกรรมในประเทศ สามารถยื่นคำร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม เพื่อขอให้ดำเนินการเพื่อแก้ไขผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมในประเทศ อันเกิดจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น หรือการทดแทนสินค้าโดยตรง ในกรณีนี้ผู้ยื่นคำร้องคือ Philippine Metalworkers ‘Alliance ซึ่งเป็นสหภาพแห่งชาติด้านยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้ารวมถึง บริษัทในเครือที่ประกอบด้วยผู้เล่นรายสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์

    กระทรวงฯพบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 35% ในช่วงที่มีการสอบสวนตั้งแต่ปี 2014-2018 ขณะที่ส่วนแบ่งการนำเข้าเทียบกับการผลิตพบว่าการนำเข้าเกินการผลิตในประเทศจาก 295% ในปี 2014 เป็น 349% ในปี 2018 การนำเข้ารถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กซึ่งรวมถึงรถปิกอัพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดียวกันจาก 17,273 คันในปี 2014 เป็น 51,969 คันในปี 2018 และส่วนแบ่งการนำเข้าเมื่อเทียบกับการผลิตในประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 645% ในปี 2015 เป็น 1,364% ในปี 2018

    แม้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจะพยายามปกป้องส่วนแบ่งการตลาด และแข่งขันกับซัพพลายเออร์รถยนต์จากต่างประเทศ ด้วยการเพิ่มการผลิตและการขายในประเทศ แต่ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ตลาดในประเทศที่ขยายตัวในช่วงเวลาดังกล่าวได้เต็มที่ ส่วนแบ่งการตลาดของยอดขายรถยนต์นั่งในประเทศหดตัวอยู่ 22%-25% ขณะที่ส่วนแบ่งการนำเข้ามีสัดส่วนมากกว่า 70% ของตลาด

    ส่วนแบ่งของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กลดลงจาก 18% ในปี 2014 เป็น 7% ในปี 2018 ขณะที่การนำเข้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นประมาณ 82% ในปี 2014 เป็น 93% ปี 2018 ของตลาดฟิลิปปินส์ ยอดขายของอุตสาหกรรมในประเทศลดลงมากแม้ตลาดขยายตัว นอกจากนี้ข้อมูลจากหน่วยงานสถิติของฟิลิปปินส์แสดงให้เห็นว่า การจ้างงานในภาคการผลิตยานยนต์ซึ่งรวมถึงการผลิตยานยนต์ตัวถัง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมลดลง 8% ในปี 2018 เมื่อเทียบกับการจ้างงาน 90,275 ตำแหน่ง ในปี 2017

    “การใช้มาตรการคุ้มครอง เพื่อคุ้มครองโรงงานผลิตและผู้ผลิตในประเทศ และเพื่อป้องกันไม่ให้ บริษัทอื่นๆ ย้ายออกนอกประเทศ หากว่ายังจำได้ การหยุดผลิตอีซูซุ D-Max ในเดือนกรกฎาคม 2019 และการปิดโรงงานประกอบของฮอนด้า มอเตอร์ส ฟิลิปปินส์ในไตรมาสแรกของปี 2020 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศและเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังอาจดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศและสร้างงานเพิ่มขึ้น” นายโลเปซกล่าว

    โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมในประเทศประสบปัญหาส่วนแบ่งการตลาด การขาย การจ้างงานลดลง และมีสินค้าคงเหลือสะสม นอกจากนี้ยังมีผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดและความสามารถในการลงทุน นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับกำลังการผลิตส่วนเกินและกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น ไทย อินโดนีเซีย และจีน

    คณะกรรมการภาษีจะดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นทางการรวมถึงการทำประชามติในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากนั้นจะส่งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์

    ฟิลิปปินส์ขยายเวลาห้ามต่างชาติเข้าถึง 31 มกราคม

    ที่มาภาพ:
    https://www.rappler.com/nation/philippines-lifts-ban-non-essential-outbound-travel-october-21-2020

    รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ขยายการบังคับใช้ข้อจำกัดการเดินทาง สำหรับ 30 ประเทศที่การติดเชื้อไวรัสโควิดที่กลายพันธุ์ไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 15 มกราคมที่กำหนดไว้ในกว่า ใหม่ 2019

    “คณะทำงานร่วมสำหรับการบริหารสถานการณ์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่หรือ IATF-EID อนุมัติคำแนะนำให้ขยายการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม ” นายแฮร์รี่ โรเก้ จูเนียร์ โฆษกของประธานาธิบดีกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม

    การห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาครอบคลุม จากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และจีน รวมถึงประเทศอื่นๆ

    นายโรเก้ระบุว่า IATF-EID ยังได้สั่งให้กระทรวงคมนาคม”ดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับสายการบินที่อนุญาตให้ผู้โดยสารที่ถูกห้ามไม่ให้เข้าฟิลิปปินส์ตามข้อจำกัดการเดินทาง ขึ้นเครื่อง”

    ขณะเดียวกันประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต้ ยังไม่ได้อนุมัติคำเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้เพิ่ม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ไว้ในรายชื่อประเทศที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งประธานาธิบดีจะประกาศด้วยตัวเอง หากเห็นชอบ.

    เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขตรวจพบไวรัสโควิดที่กลายพันธ์ซึ่งเแป็นตัวเดียวกับที่พบในอังกฤษ ชาวฟิลิปปินส์ที่เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมีผลตรวจเป็นบวก

    เมียนมาเตรียมเปิดตัวฐานข้อมูลที่ดินดิจิทัล

    อู ตอง ทุน รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศของเมียนมา กล่าวว่าจะมีการเปิด ระบบฐานข้อมูลที่ดินดิจิทัลในเร็วๆ นี้

    “ฐานข้อมูลที่ดินดิจิทัลจะเป็นการสร้างความโปร่งใส่เกี่ยวกับการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน” อู ตอง ตุน กล่าวในการสัมมนาออนไลน์เรื่อง ‘New Way of Working with Government’ (หนทางใหม่ในการทำงานกับรัฐบาล) จัดโดยหอการค้าอังกฤษ-เมียนมา “โดยจะมีเครื่องมือการลงทุนและระบบการชำระเงินออนไลน์เข้ามาช่วยให้กระบวนการลงทุนสะดวกและปลอดภัย”

    รัฐบาลเห็นว่า ในช่วงโรคระบาดโควิด 19 ผู้คนหันมาใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านระบบชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งบริษัทและธุรกิจต่างๆ เริ่มเปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

    นอกจากนี้ภาคโครงสร้างพื้นฐานยังขยายตัว โดย อู ตอง ทุน ยกตัวอย่างจากโครงการเขตนิคมอุตสาหกรรมเมียนมา-เกาหลีใต้และโครงการเมืองอมตะย่างกุ้งที่เป็นความร่วมมือกับประเทศไทย

    สุดท้ายนี้ อู ตอง ทุน ยังพูดถึงเรื่อง e-government ระบบการจ่ายเงินแบบดิจิทัล และโอกาสในการลงทุนในภาคการเงินและพลังงานทดแทน

    เมียนมา-จีนเตรียมศึกษาความเป็นไปได้โครงการรถไฟมัณฑะเลย์-จ๊อกผิ่ว-มูเซ

    ที่มาภาพ: https://www.irrawaddy.com/news/burma/feasibility-study-bri-railway-link-myanmar-take-18-months.html
    เมื่อวันที่ 11 มกราคม เมียนมาและจีนตกลงเซ็น MOU เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของ โครงการทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองจ๊อกผิ่ว รัฐยะไข่-เมืองมัณฑะเลย์-เมืองมูเซ

    บริษัท ไชน่า เรลเวย์ เอ้อร์ย่วน เอนจิเนียริง กรุ๊ป (China Railway Eryuan Engineering Group Co., Ltd.) นำเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้โครงการรถไฟช่วงมัณฑะเลย์-เมืองมูเซระหว่างที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเยือนประเทศเมียนมาครั้งแรกของปี 2020 นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านเทคนิคและการเงิน

    อู ถั่นห์ ซิน หม่อง รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมและการสื่อสารกล่าวว่า ทางรถไฟเป็นโครงการที่สำคัญในข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และกรอบระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา โดยความร่วมมือนี้จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่แน่นแฟ้นมากขึ้น

    รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำการเชื่อมรางรถไฟระหว่างเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน กับเมืองมูเซ มัณฑะเลย์ และจ๊อกผิ่ว ซึ่งจ๊อกผิ่วเป็นเมืองที่จะมีการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกโดยจีนอีกด้วย

    การรถไฟเมียนมาระบุว่า โครงการสร้างรางรถไฟมูเซ-มัณฑะเลย์จะใช้งบประมาณลงทุนจำนวน 8.9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ นายเฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่าเปิดเผยว่า ทางรถไฟในฝั่งของจีนจะสร้างเสร็จภายในปี 2023 และจะเปิดให้สามารถมีรถไฟวิ่งระหว่างจีนและเมียนมาได้ ซึ่งการเชื่อมต่อนี้จะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาให้เติบโตมากขึ้น

    เมียนมายกเลิกสัญญาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับอิตาเลียนไทย

    ที่มาภาพ:
    http://www.thaibizmyanmar.com/en/news/detail.php?ID=1378
    รัฐบาลเมียนมาเปิดเผยว่า ได้มีการ ยกเลิกสัญญาโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่ทำกับบมจ.อิตาเลียนไทยในปี 2015 จำนวน 7 ฉบับ จากทั้งหมด 8 ฉบับ เนื่องจากทางอิตาเลียนไทยไม่สามารถดำเนินการตามแผนที่ตกลงไว้ได้

    เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 บริษัทฯ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา Project Companies ทั้ง 5 บริษัท ได้รับหนังสือแจ้ง การบอกเลิกสัญญาสัมปทานรวม 7 ฉบับ จาก DSEZ MC เนื่องจาก DSEZ MC อ้างว่า Project Companies ผิดนัดไม่ชำระ ค่าสิทธิตามสัญญาสัมปทาน และไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการในการเริ่มด าเนินการตามสัญญา สัมปทานได้ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/1/2564 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564 ได้พิจารณาแนวทางการ ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และได้มีมติให้ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทฯ ดำเนินการจัดทำหนังสือชี้แจงและโต้แย้งข้อกล่าวหา ของ DSEZ MC ข้างต้นโดยด่วน ซึ่งบริษัทฯ จะแจ้งความคืบหน้าต่อไป

    รายงานของเมียนมาไทมส์ ระบุว่า จากการสอบถามคณะกรรมการบริหารโครงการ ได้ความว่า การยกเลิกสัญญายังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ “เรายังไม่ได้อนุมัติการยกเลิกสัญญาแต่อย่างใด และยังไม่มีความเห็นอะไรในตอนนี้” นาย อู ซาน เมี่ยน รองประธานคณะกรรมการโครงการกล่าว

    อิตาเลียนไทยกำลังหารือกับที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

    ในเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่าจะเริ่มทำการสำรวจเพื่อประเมิน CAPEX (Capital Expenditure) สำหรับการเข้าร่วมโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย

    รัฐบาลเมียนมาในปัจจุบันกำลังพึ่งพาการสนับสนุนด้านการเงินและเทคนิคในการเริ่มต้นก่อสร้างโครงการที่ล่าช้ามาเป็นเวลานาน หลังจากทางการญี่ปุ่นเสนอว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนในทวายแก่เมียนมาและไทยในเดือนพฤศจิกายน

    โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้นคาดว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อสร้างเสร็จจะมีขนาดใหญ่กว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาในเมืองย่างกุ้งประมาณ 8 เท่า และใหญ่กว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจ็อกผิ่วในรัฐยะไข่ 10 เท่า

    โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายตั้งอยู่ทางเหนือจากเมืองทวาย 20 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเมืองหลักของเขตตะนาวศรีในแถบชายฝั่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา ติดกับชายแดนประเทศไทย มีเนื้อที่ของโครงการรวมกัน 2 หมื่นเฮกตาร์ (200 ตารางกิโลเมตร) โดยมีทั้งโซนอุตสาหกรรมและโซนท่าเรือน้ำลึก

    นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมายังมีการกู้เงินจากไทยเพื่อสร้างถนนไฮเวย์ระหว่างทวายและชายแดนของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปี 2023 และการเชื่อมระหว่างโครงการกับโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติก็คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีเดียวกัน

    ทั้งนี้บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทที่จดทะเบียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (“Project Companies”) รวม 5 บริษัท ได้รับสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก โดยได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Dawei Special Economic Zone Management Committee (“DSEZ MC”)) เพื่อ ดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่รวม 27 ตารางกิโลเมตร พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ จำเป็นต่อนิคมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558 จำนวน 6 ฉบับ และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 อีก 1 ฉบับ รวมสัญญาสัมปทานจำนวน 7 ฉบับ

    กัมพูชาเตรียมทำ Travel Bubble กับอาเซียน+3

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/ministry-mulls-asean3-travel-bubble
    โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยว นายต็อป โซเพียก กล่าวกับสำนักข่าวเดอะ โพสต์ ในวันที่ 10 มกราคม ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชามี แผนการเปิด Travel Bubble อนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างกัมพูชากับ 12 ประเทศในภูมิภาค โดยหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19

    นายโซเพียก ขยายความของ Travel Bubble ว่า เป็นแพ็คเกจการท่องเที่ยวพิเศษที่ช่วยเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกันกับประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโรค หรือประเทศที่ยังไม่มีการระบาดในวงกว้าง

    นายโซเฟียกกล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่าแผนการดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวจะทำงานร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดก่อนเพื่อร่างและปรับปรุงเงื่อนไขในการเดินทางของ Travel Bubble และหลังจากนั้นจึงทำการเซ็น MOU กับบริษัทท่องเที่ยวเพื่อประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว

    นายธรณ์ สีนัน ประธานสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียแปซิฟิกเปิดเผยว่า “การเปิด Travel Bubble จะเป็นการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศจากนักท่องเที่ยวอาเซียนและจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แม้ว่าจะไม่ได้มีส่วนในการช่วยเหลือมากนัก แต่ก็ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาบ้าง”

    กระทรวงการท่องเที่ยวรายงานตัวเลขของนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคม-ตุลาคม ในปีที่ผ่านมาว่า มีจำนวนลดลงเหลือเพียง 1.26 ล้านคน ลดลง 76.1% จากจำนวนในปี 2019 ที่มีนักท่องเที่ยว 5.29 ล้านคน

    สิงค์โปร์จับมือมาเลเซียรักษาห่วงโซ่อุปทานช่วงภาวะฉุกเฉิน

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/singapore-malaysia-to-work-closely-to-keep-supply-chains-going-amid-state-of-emergency

    นายชาน ชุนซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมกล่าวเมื่อวันที่ 13 มกราคมว่า รัฐบาลสิงค์โปร์และมาเลเซียจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อ รักษาห่วงโซ่อุปทานให้ดำเนินต่อไปได้ ในช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในมาเลเซีย

    นายชาน ชุนซิงกล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างการเยี่ยมชมบริษัทดูปองท์ สิงคโปร์ ว่า ตอนนี้สิงคโปร์กำลังติดต่อกับมาเลเซียอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าการขนส่งสินค้าและการค้าจะยังคงเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย และหลายวันที่ผ่านมานั้น การค้าและการขนส่งยังเป็นไปตามปกติ

    การประกาศภาวะฉุกเฉินของมาเลเซียในวันจันทร์ มาจากตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้มีการควบคุมการเข้าออกเมืองต่างๆ ได้แก่ มะละกา ยะโฮร์ ปีนัง สลังงอร์ ซาบาห์ และดินแดนสหพันธ์มาเลเซียตะวันตก กัวลาลัมเปอร์ ลาบวน ปุตราจายา ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคมจนถึงวันที่ 26 มกราคม

    นายชาน ชุนซิง เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด 19 สิงคโปร์ได้เริ่มเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่การขนส่งสินค้าหยุดชะงักโดยการเพิ่มแหล่งนำเข้าสินค้า กักตุนสินค้า และเพิ่มปริมาณการผลิตภายในประเทศให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งการหยุดชะงักอาจมีสาเหตุได้ทั้งการระบาดของโควิด นโยบายของรัฐบาลอื่น หรือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

    “อันที่จริง สิงคโปร์ควรเตรียมพร้อมระบบห่วงโซ่อุปทานให้สามารถรับมือกับสถานการณ์การขนส่งหยุดชะงักจากโรคโควิดที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ไม่ใช่แค่มาเลเซียเท่านั้น” นายชาน ชุนซิง กล่าวเพิ่มเติม “สิงคโปร์ในตอนนี้ มีความมั่นใจ แต่ไม่ได้วางใจ”

    นายชาน ชุนซิงยังกล่าวอีกว่า สิงคโปร์จะพยายามควบคุมปริมาณของสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันต่อไปเรื่อยๆ ทั้งอาหารและเครื่องใช้จำเป็น และตราบใดที่แก้ปัญหาอย่างใจเย็น สิงคโปร์จะสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และสามารถใช้ความหลากหลายของแหล่งสินค้าในการรักษาปริมาณอาหารและเครื่องใช้จำเป็นได้เพียงพอสำหรับทุกคน