ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อาเซียน-สหรัฐฯ พยายามร่วมกันมากขึ้นแก้ปัญหาเมียนมาอย่างสันติ

ASEAN Roundup อาเซียน-สหรัฐฯ พยายามร่วมกันมากขึ้นแก้ปัญหาเมียนมาอย่างสันติ

15 พฤษภาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 8-14 พฤษภาคม 2565

  • อาเซียน-สหรัฐฯ พยายามร่วมกันมากขึ้นแก้ปัญหาเมียนมาอย่างสันติ
  • ฟิลิปปินส์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันในกรุงมะนิลา 33 เปโซ
  • คลังฟิลิปินส์ตีกันประธานาธิบดีคนใหม่ยกลิกเสรีนำเข้าข้าว
  • เวียดนามยกเลิกข้อกำหนดตรวจโควิด-19 ก่อนเข้าประเทศ 15 พ.ค
  • เมียนมาจะเปิดให้นักท่องเที่ยวขอ e-Visaได้
  • ASEAN+3 ส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระดับภูมิภาค
  • อาเซียน-สหรัฐฯ พยายามร่วมกันมากขึ้นแก้ปัญหาเมียนมาอย่างสันติ

    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/54567

    สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มความพยายามร่วมกันเป็นสองเท่าเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติในเมียนมา ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามที่ที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน

    ความตกลงดังกล่าวมีขึ้นจากผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งพิเศษที่จัดขึ้นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ภายใต้การเป็นประธานร่วมของฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และประธานอาเซียน 2022 และประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ

    แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม(Joint Vision Statement )จากการประชุมสุดยอดพิเศษระบุว่า “เรายังคงกังวลอย่างมากเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในเมียนมา เราเน้นย้ำถึงความพันธสัญญาของเมียนมาที่มีต่อฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 และเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้ออย่างทันท่วงทีและครบถ้วน”

    ทั้งสองฝ่ายจะยังคงสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมา รวมถึงผ่านการทำงานของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา ในการสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ โดยสามารถเข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่ และการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมีประสิทธิผลแก่ประชาชนชาวเมียนมา รวมทั้งผู้ยากไร้ที่สุด โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ

    “เราขอย้ำความมุ่งมั่นของเราเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และยังคงเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาในทันที และเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงชาวต่างชาติด้วย” “เรายินดีที่มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา และผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา เพื่อให้มั่นใจว่ามีการทำงานร่วมกันในการดำเนินการที่สำคัญนี้

    ฟิลิปปินส์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันในกรุงมะนิลา 33 เปโซ

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/business/2021/06/18/2106225/philippines-global-competitiveness-ranking-worst-five-years
    ฟิลิปปินส์ได้ปรับเพิ่ม ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันในกรุงมะนิลาเมืองหลวงและพื้นที่ใกล้เคียงอีก 33 เปโซ (0.63 เหรียญสหรัฐ) เพื่อรับกับระดับราคาที่สูงขึ้น หลังจากเพิ่มค่าจ้างรายวันครั้งสุดท้ายในพื้นที่นี้เดือนพฤศจิกายน 2561

    ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันจะเพิ่มเป็น 570 เปโซต่อวันสำหรับพนักงานในภาคนอกภาคเกษตร และ 533 เปโซสำหรับคนงานการเกษตร กระทรวงแรงงานฟิลิปปินส์ระบุในแถลงการณ์

    การปรับค่าจ้างขั้นต่ำรายวันจะ “ปกป้องผู้ได้รับค่าแรงขั้นต่ำราวหนึ่งล้านราย” จาก “ค่าจ้างต่ำเกินควร” และฟื้นฟู “อำนาจการซื้อของผู้ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ” หลังจากราคาสินค้าพื้นฐาน สินค้าโภคภัณฑ์ และปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้น” กระทรวงฯ ระบุ

    ความปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเร่งตัวขึ้นเป็น 4.9% ในเดือนเมษายน ซึ่งเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานที่สูงขึ้น

    นายเบนจามิน ดิออกโน ผู้ว่าการธนาคารกลาง กล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่า อุปทานที่ชะงักงันมีส่วนทำให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและต้องมีการ ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แทรกแซงได้ทันท่วงทีเพื่อป้องกันผลกระทบทางอ้อมทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น

    การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างรายวันและเงินเดือนขั้นต่ำยังครอบคลุมพื้นที่ วิซายัสตะวันตก ภาคกลางของฟิลิปปินส์ด้วย ซึ่งคนงานประมาณ 375,000 คนจะได้ประโยชน์

    คลังฟิลิปินส์ตีกันประธานาธิบดีคนใหม่ยกลิกเสรีนำเข้าข้าว

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/business/2022/02/11/2159950/philippine-rice-imports-hit-29-million-mt
    กระทรวงการคลัง (DOF) ได้ปกป้องการบังคับใช้กฎหมายเปิดเสรีนำเข้าข้าว (Rice Tariffication Law :RTL) ซึ่งอนุญาตให้นำเข้าข้าวได้โดยไม่มีข้อจำกัดในอัตราภาษี 35% เนื่องจากว่าที่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ อาร์. มาร์กอส จูเนียร์ ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเตรียมที่จะระงับใช้กฎหมาย RTL ที่ใช้มาได้ 3 ปีซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดีดูเตอร์เตที่กำลังพ้นตำแหน่ง

    ภายใต้ RTL ข้าวที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 35% และนอกประเทศอาเซียนเสียภาษี 40% ภายในปริมาณนำเข้า (Minimum Access Volume: MAV) 350,000 ตัน และ180% สำหรับปริมาณนอก MAV

    นายคาร์ลอส จี. โดมิงเกซ ที่ 3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคมว่า การเปิดเสรีข้าวภายใต้ RTL ได้ทำให้ราคาอาหารหลักของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ 100 ล้านคนลดลง และสร้างทำเงินนับหลายพันล้านเปโซให้กับภาคเกษตรกรรม

    ในด้านผู้บริโภค นายโดมิเกซกล่าวว่า RTL ได้ทำให้ราคาข้าวลงสู่ระดับเฉลี่ยปัจจุบันที่ 39 เปโซต่อกิโลกรัม หรือลดลงประมาณ 7 เปโซต่อกิโลกรัมจากระดับสูงสุดที่ประมาณ 46 เปโซ ก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในปี 2561

    ประธานาธิบดีดูเตอร์เตลงนาม RTL เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีชื่อว่า Republic Act No.11203 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 มีนาคม 2562 และใช้แทนนโยบายการจำกัดการนำเข้าข้าวเชิงปริมาณ (Quantitative Restrictions – QR)

    มาร์กอส ที่มีคะแนนนำในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี กล่าวว่า หากได้รับเลือกตั้งก็จะระงับใช้กฎหมายนำเข้าข้าวเสรี และยังให้คำมั่นว่าจะลดราคาขายปลีกข้าวลงมาที่ 20 เปโซต่อกิโลกรัม

    นายโดมิงเกซชี้ว่า ปัจจุบันข้าวเป็นอาหารที่มีราคาไม่แพงมาก โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยของฟิลิปปินส์ซึ่งมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารหลักประมาณ16% ของรายได้ เป็นผลจากการใช้กฏหมาย RTL นอกจากนี้ยังช่วยให้อุตสาหกรรมพ้นจากการถูกหาประโยชน์ในประเทศที่ใช้ประโยชน์จากนโยบายกีดกันข้าวมานานหลายทศวรรษ

    นายโดมิงเกซกล่าวว่า หลังจากที่ล้มเหลวมาเป็นเวลากว่า 30 ปีภายใต้ฝ่ายการบริหารชุดก่อนๆ ในที่สุดกฎหมายเปิดเสรีนำเข้าข้าวก็บรรลุผล กฎหมายได้เปิดตลาดข้าวของฟิลิปปินส์และมีผลให้ราคาอาหารหลักของประเทศสำหรับชาวฟิลิปปินส์กว่า 100 ล้านคนลดลง และข้าวก็ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักของเงินเฟ้ออีกต่อไป

    นายโดมิงเกซเสนอการปฏิรูปการนำเข้าข้าวเสรีครั้งแรกเมื่อสามทศวรรษที่แล้ว ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ในสมัยประธานาธิบดีโคราซอน ซี. อากิโน

    สำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ (NEDA) ประมาณการว่า จากกฏหมาย RTLที่ทำให้ข้าวมีราคาไม่แพง ทำให้ในอีกสามปีต่อจากนี้ สัดส่วนของเด็กที่ขาดสารอาหารและประชากรที่เสี่ยงต่อความหิวโหยในประเทศจะลดลง 2.8% และ 15.4% ตามลำดับ และมีประชากรที่เสี่ยงต่อความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการลดลง 2.1 ล้านคน

    ในปี 2561 ก่อนที่ RTL จะมีผลบังคับใช้ ราคาขายปลีกข้าวสารปกติ (RMR) พุ่งขึ้นเป็น 46.04 เปโซต่อกิโลกรัม แต่หลังจาก RTL มีผลบังคับใช้ ราคาเฉลี่ยของข้าวประเภทนี้ลดลงเหลือ 39.13 เปโซ ณ เดือนเมษายน 2565 หรือลดลง 6.91 เปโซต่อกิโลกรัม

    RTL ยังมีผลให้เงินจำนวนหลายพันล้านเปโซไหลเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าว (Competitiveness Enhancement Fund :RCEF) มูลค่า 10,000 ล้านเปโซ

    กองทุน RCEF จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย RTL โดยกำหนดให้นำรายได้จากการเก็บภาษีนำเข้าข้าวจำนวน 10,000 ล้านเปโซต่อปี เป็นเวลา 6 ปีเพื่อสนับสนุนชาวนาฟิลิปปินส์ให้สามารถแข่งขันกับข้าวที่นำเข้ามาได้

    กองทุนนี้ใช้เฉพาะสนับสนุนทางการเงินในโครงการที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ปลูกเพื่อให้เข้าถึงปุ๋ย เครื่องจักรและอุปกรณ์ เมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน แลโปรแกรมการฝึกทักษะการใช้เครื่องจักรในที่เพาะปลูกและเทคนิคการเกษตรสมัยใหม่

    ภายใต้ RTL ภาษีนำเข้าทั้งหมดที่เก็บได้จากการนำเข้าข้าวที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2562 จะถูกส่งไปยัง RCEF และโครงการพลิกโฉมการเกษตรอื่น ๆ

    ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 สำนักงานศุลกากรได้เก็บภาษีนำเข้าข้าวไปแล้ว 6.6 พันล้านเปโซ ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของ 1 หมื่นล้านเปโซที่จัดสรรให้ RCEF ต่อปี

    ก่อนที่ RTL มีผลบังคับสำนักงานอาหารแห่งชาติ (National Food Authority:NFA) ผูกขาดการนำเข้าข้าว โดยมีผู้ค้าเอกชนสองสามรายได้รับใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถควบคุมราคาและปริมาณข้าวผ่านการกักตุนและการยักย้ายถ่ายเท อีกทั้งบทบาทของ NFA ถูกจำกัดเฉพาะด้านการควบคุมและรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ รวมทั้งการรักษาปริมาณสต็อกข้าวภายในประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร

    นายโดมิงเกซกล่าวว่า การนำเข้าข้าวเสรี ทำให้รัฐบาลสามารถจัดการกับวิกฤติโควิด-19 ได้ ด้วยความเข้มแข็งในด้านความมั่นคงด้านอาหาร และชี้ว่าแม้จะมีข้อจำกัดด้านลอจิสติกส์อันเป็นผลจากข้อจำกัดการสัญจรหรือการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเพื่อปกป้องผู้คนและชุมชนจากการระบาดใหญ่ รัฐบาลก็สามารถดูแลการหมุนเวียนผลผลิตจากพื้นที่เพาะปลูกในท้องถิ่นไปถึงมือผู้บริโภคในประเทศได้

    การค้าข้าวในฟิลิปปินส์ มี 2 รูปแบบ
    1)การค้าปลีกแบบสมัยใหม่ (Supermarket) ในปัจจุบัน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย ข้าวใน 2 ลักษณะ ดังนี้

  • การตักจำหน่ายเป็น กรัม/กิโลกรัม มีการจำ หน่ายข้าวหลากหลายชนิด อาทิ Melagkit Premium, Jasmine, Milagrosa, Passion, Brown Healthy, California, Commodore, Platinum,Denurado และ GS Supreme
  • ข้าวบรรจุถุง เป็นข้าวที่บรรจุถุงในหลากหลายขนาดขึ้นอยู่กับจำนวนกิโลกรัมที่บรรจุต่อถุงมีตั้งแต่บรรจุถุง 2 กิโลกรัม 5 กิโลกรัม 10 กิโลกรัม 20 กิโลกรัม และ 25 กิโลกรัม ซึ่งข้าว Thai Jasmine ที่ระบุว่า นำเข้าจากไทย เป็นข้าวที่มีราคาสูงที่สุดในขนาดบรรจุถุง 5 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีข้าวออร์แกนิคอยู่ด้วย เช่น Red rice , Brown rice และ Black rice มีหลากหลายขนาดบรรจุเช่นเดียวกัน
  • 2) การค้าในตลาดแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวแบบตักจำหน่ายที่ มีข้าวหลากหลายประเภท อาทิSinandomeng, Well milled rice, Denorado, Ganador, Thai rice, Blue Bird, Sung Song, Thai Jasmine, Fancy rice, Malangkit เป็นต้น และยังมีข้าวออร์แกนิค อาทิRed rice, Brown rice, Black rice, Perurutongและ Ifugao นอกจากนี้ ใน ตลาดนี้ยังพบร้านค้าที่ได้รับการรับรองจาก NFA ให้จำหน่ายข้าว NFA ที่มีราคา ถูกกว่าราคาข้าวทั่วไป ซึ่งพบว่า Sinandomeng เป็นข้าวที่มีผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด

    เวียดนามยกเลิกข้อกำหนดตรวจโควิด-19 ก่อนเข้าประเทศ 15 พ.ค

    ที่มาภาพ:https://tuoitrenews.vn/news/society/20220514/vietnam-to-lift-preentry-covid19-test-requirements-for-entrants-on-may-15/67120.html
    เวียดนามจะยกเลิกข้อกำหนดการทดสอบโควิด-19 ก่อนเข้าประเทศสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาถึงทั้งหมดตั้งแต่วันอาทิตย์นี้ จากการสั่งการของนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์

    แนวปฏิบัตินี้มีผลเมื่อเวลา 0:00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม และมีขึ้นหลังจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงทั้งในเวียดนามและทั่วโลก

    ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ นายกรัฐมนตรีอ้างประกาศองค์การอนามัยโลกที่ว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีแนวโน้มลดลงทั้งในจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในระดับโลก และวัคซีนพื้นฐานยังคงมีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์ต่างๆ ของ ไวรัสโควิด

    อีกทั้ง หลายประเทศได้ดำเนินการผ่อนคลายข้อจำกัดของโควิด-19 รวมถึงการยกเลิกการทดสอบก่อนเข้าประเทศ
    นายกรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด พร้อมให้คำแนะนำที่เหมาะสมและทันท่วงที

    กระทรวงการต่างประเทศต้อง สั่งการให้หน่วยงานของเวียดนามในต่างประเทศชี้แจงให้ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าเวียดนามให้ปฏิบัติตามระเบียบการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดภายใต้คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

    ปัจจุบันกฎที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ผู้เดินทางทั้งหมด ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะต้องมีผลตรวจหาเชื้อเป็นลบจากการทดสอบ แบบ RT-PCR/RT-LAMP ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนหน้า หรือให้ผลลบจากการตรวจด้วย ATK ภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พร้อมกับการทำใบรับรองทางการแพทย์ จากนั้นเวียดนามได้ยกเลิกใช้ประกาศสาธารณสุขกับชาวต่างชาติที่เดินทางมาถึงตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน และสำหรับผู้เดินทางภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน

    ยอดผู้ติดเชื้อโควิดใหม่รายวัน จำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตจาก ในเวียดนามลดลงอย่างมากตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม จากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมกว้างขึ้น

    ตามรายงานของกระทรวงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม อัตราความครอบคลุมของวัคซีนโควิด-19 ทั้งเข็มแรกและเข็มที่สองสำหรับประชากรผู้ใหญ่ของประเทศนั้นสูงถึง 100% และของวัคซีนเข็มที่ 3 อยู่ที่ 57.5% อัตราการครอบคลุมของวัคซีนครั้งแรกและครั้งที่สองในเด็กอายุ 12 ถึง 17 ปีอยู่ที่ 100% และ 96.4% ตามลำดับ ขณะที่ความครอบคลุมของวัคซีนครั้งแรกสำหรับเด็กอายุ 5 ถึง 12 ปีอยู่ที่ 13.7%

    ปัจจุบัน เวียดนามเป็นหนึ่งใน 6 ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครอบคลุมสูงที่สุดในโลก กระทรวงระบุ

    เวียดนามซึ่งมีประชากร 98 ล้านคน มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)จำนวน 10,693,141 ราย รักษาหาย 9,344,029 ราย และเสียชีวิต 43,063 ราย นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดเมื่อต้นปี 2563

    ผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตในประเทศลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีผู้ป่วยใหม่ 2,227 รายยและผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ในวันที่ 13 พฤษภาคม เทียบกับ 24,623 และ 20 ต่อเดือนตามลำดับ

    เมียนมาจะเปิดให้นักท่องเที่ยวขอe-Visaได้


    รัฐบาลทหารของเมียนมาจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวยื่นขอวีซ่าได้ นักท่องเที่ยวยื่นขอวีซ่าได้หลังจากระงับไปมากกว่าสองปี สื่อของทางการ ระบุในวันพฤหัสบดี (14)

    เมียนมาปิดพรมแดนสำหรับนักท่องเที่ยวในเดือนมีนาคม 2563ที่จุดเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
    หนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar รายงานว่า เพื่อเพื่อพัฒนาภาคการท่องเที่ยว… การสมัครขอวีซ่าออนไลน์หรือ e-Visa (Tourist) จะเปิดตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2565″

    เมียนมาเปิดให้ยื่นวีซานักธุรกิจผ่านออนไลน์ตั้งแต่วันที่1 เมษายนพร้อมกับการบริการของเที่ยวบินพาณิชย์สำหรับนักเดินทางเพื่อธุรกิจ โดยผู้เดินทางเข้าประเทศต้องเข้ารับการตรวจโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึง แต่ไม่ต้องกักกันอีกต่อไป

    เมียนมาเริ่มใช้แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการยื่นขอวีซ่ามาตั้งแต่ปี 2555 และเปิดบริการ e-visa จากเว็บไซต์

    ASEAN+3 ส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระดับภูมิภาค

    ที่มาภาพ:https://www.mof.go.th/th/detail/1543205599/2022-05-12-10-02-26#gallery-1

    นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อานวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วม และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ของประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่นสาธารณรัฐเกาหลี และผู้บริหารระดับสูงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF ) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) เข้าร่วมการประชุมซึ่งที่ประชุมได้หารือ ประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจและความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3สรุปได้ดังนี้

    1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ที่ประชุมได้รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคจากผู้แทนIMF ADB และ AMRO ซึ่งต่างเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการดำเนินมาตรการที่ตรงเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และนโยบายการสนับสนุนการฟื้นตัว รวมทั้งการเพิ่มของอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในภูมิภาคโดย IMF คาดการณ์ว่าในปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ในขณะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 และคาดว่าในปี 2566 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับอย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 องค์กร ได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะจากความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและยูเครน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยเหตุนี้ อาเซียน+3 ต้องมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมการดำเนินโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนกลุ่มเปราะปราง รวมทั้งความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนในการระดมทุนสาหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    2. สานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามภารกิจหลักของAMRO ได้แก่ การเฝ้าระวังเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 การสนับสนุนการดำเนินการภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับประเทศสมาชิกอาเซียน+3 โดยเร่งรัดให้ AMRO จัดทำทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Direction) ฉบับใหม่ เพื่อมุ่งยกระดับการดำเนินงานของ AMRO ในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานโยบายที่เชื่อถือได้และการสนับสนุนกลไก CMIM ในอนาคต รวมทั้งได้รับทราบการแต่งตั้งผู้อำนวยการ AMRO คนใหม่คือ ดร. Li Kou Qing จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะเข้ารับตำแหน่งแทนผู้อานวยการAMRO คนปัจจุบัน (นาย Toshinori Doi) ที่กาลังจะหมดวาระการดำรงตาแหน่งในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565

    3. มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (CMIM) สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งรวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของCMIM ให้เป็นกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบว่าประเทศสมาชิกสามารถหาข้อสรุปร่วมกันถึงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่สำหรับCMIM และกระบวนการการนำเงินสกุลท้องถิ่นมาสมทบในCMIM และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 พิจารณากำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของCMIM ในอนาคตต่อไป

    4.มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของABMI ตามแผนการดำเนินงานระยะกลางปี2562-2565 ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินการสร้างระบบนิเวศสาหรับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้และการส่งเสริมการสร้างมาตรฐานและการประสานกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ เพื่อสนับสนุนการออกตราสารหนี้เงินสกุลท้องถิ่นของอาเซียน+3 ซึ่งรวมถึงตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน

    5. ทิศทางความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ในอนาคต ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการที่สาคัญความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ในอนาคตได้แก่การจัดหาเงินทุนสาหรับโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนากลไกเพื่อรองรับปัญหาด้านมหภาคและปัญหาเชิงโครงสร้างการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติและการส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เรื่อง“เทคโนโลยีทางด้านการเงิน(Financial Digitalization)” และ “การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Transition Finance)” เป็นหัวข้อความร่วมมือทางการเงินใหม่ของอาเซียน+3

    ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ใช้โอกาสนี้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืนและกล่าวสนับสนุนการพัฒนาพันธบัตรของภูมิภาคอาเซียน+3 โดยการส่งเสริมการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพื่อเป็นการระดมทุนสาหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งสนับสนุนความคิดริเริ่มในการหารือเรื่องเทคโนโลยีทางด้านการเงินและการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนเนื่องจากเห็นว่าอาเซียน+3 สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินในการพัฒนาประสิทธิภาพของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคได้ ในขณะที่การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนจะสนับสนุนให้สมาชิกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้ นอกจากนี้ ทั้ง2 ประเด็นดังกล่าวยังสอดคล้องกับประเด็นสำคัญ (Priorities) ของกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Financeำ Ministers’ Process) ประจาปี 2565 ในวาระที่ประเทศไทยดารงตาแหน่งเจ้าภาพเอเปคด้วย

    ทั้งนี้ การประชุม AFMGM+3 ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียน+3ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างกันเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาคและสนับสนุนการฟื้นตัวของภูมิภาคจากโควิด 19 อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน+3 อาทิการเพิ่มประสิทธิภาพของCMIM ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาคการส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรเงินสกุลท้องถิ่นตลอดจนการส่งเสริมมาตรการริเริ่มใหม่ๆเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ในการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการเชื่อมโยงทางดิจิทัล เพื่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่สมดุลและยั่งยืน