ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเล็งตั้ง 7 cluster เศรษฐกิจทางทะเลในปี 2573 มุ่งศูนย์กลางภูมิภาค

ASEAN Roundup เวียดนามเล็งตั้ง 7 cluster เศรษฐกิจทางทะเลในปี 2573 มุ่งศูนย์กลางภูมิภาค

14 สิงหาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-13 สิงหาคม 2565

  • เวียดนามเล็งตั้ง 7 cluster เศรษฐกิจทางทะเลในปี 2573 มุ่งศูนย์กลางภูมิภาค
  • นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจ ดึงเงินกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐเข้าเวียดนามใน 30 ปี
  • เวียดนามตั้งเป้าเปิดตัวแพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลทันสมัยปี 2568
  • เวียดนามลดภาษีนำเข้าน้ำมันเบนซินครึ่งหนึ่งเหลือ 10%
  • กัมพูชาผลิตทองคำแล้ว 3.5 ตันในต้นเดือนสิงหาคม
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ระงับการขอใบอนุญาตบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ 3 ปี
  • ธนาคารกลางเมียนมาปรับกรอบขึ้นลงเงินจั๊ตแคบลงเป็น 0.3%
  • อินโดนีเซียประกาศภาษีส่งออกนิกเกิลไตรมาสที่ 3
  • เทสลาลงนามซื้อนิกเกิลอินโดนีเซีย 5 พันล้านดอลลาร์
  • ไทย-มาเลเซียประชุมความร่วมมือทวิภาคีครั้งที่ 14

  • เวียดนามเล็งตั้ง 7 cluster เศรษฐกิจทางทะเลในปี 2573 มุ่งศูนย์กลางภูมิภาค

    ที่มาภาพ:https://en.vietnamplus.vn/vietnam-targets-seven-marine-economic-clusters-by-2030/235479.vnp#&gid=1&pid=1
    เวียดนามจะตั้ง กลุ่มเศรษฐกิจ(cluster)ทางทะเลภายในปี 2573 ขึ้น 7 แห่งเพื่อเปลี่ยนเวียดนามให้เป็นประเทศทางทะเลที่เข้มแข็ง

    แผนการดังกล่าวอยู่ภายใต้ประกาศคำสั่งที่เพิ่งลงนามโดยรองนายกรัฐมนตรีเล วาน ถันห์ ซึ่งอนุมัติโครงการการพัฒนาคลัสเตอร์เศรษฐกิจทางทะเลที่จะผลักดันเวียดนามให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางทะเลที่แข็งแกร่งภายในปี 2573

    โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกลุ่มเศรษฐกิจทางทะเล 7 แห่งในอีก 10 ปีข้างหน้าในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีข้อได้เปรียบ และพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจทางทะเลชั้นนำ 3-4 แห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    คลัสเตอร์จะให้ความสำคัญกับการบริการ ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ดึงดูดองค์กรขนาดใหญ่และโครงการที่ใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลและเศรษฐกิจทางทะเล

    คลัสเตอร์เศรษฐกิจเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการรวมและเสริมสร้างการป้องกันและความมั่นคงของชาติในทะเลและหมู่เกาะต่างๆ

    นอกจากนี้การพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเลและเกาะถือเป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญสำหรับการใช้ประโยชน์จากศักยภาพและจุดแข็งของทรัพยากรการท่องเที่ยว ในแต่ละภูมิภาคและชายฝั่งทั้งหมดของเวียดนามอย่างมีประสิทธิภาพ

    โครงการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวด้วยศูนย์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการพักผ่อน คอมเพล็กซ์ และรีสอร์ททางทะเลและเกาะที่ได้มาตรฐานระดับสากลในกลุ่มต่างๆ ในภาคกลาง พื้นที่ชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ (เกียนซาง – ก่าเมา) และพื้นที่อื่นๆ ที่มีเงื่อนไขเหมาะสม

    นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจ ดึงเงินกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐเข้าเวียดนามใน 30 ปี

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/industrial-parks-economic-zones-attract-over-100-billion-usd-over-30-years/235279.vnp

    ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจทั่วประเทศดึงดูดการลงทุนกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างงานให้กับแรงงานมากกว่า 4 ล้านคนในเวียดนาม จากข้อมูลของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน

    นอกจากนี้นิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจยังมีสัดส่วน 50% ในมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ

    กระทรวงกำลังจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อเป็นมาตรการในการขยายนิคมอุตสาหกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพของเขตเศรษฐกิจ เนื่องจากยังมีปัญหาอยู่ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในด้านต่างๆ สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ยังไม่เห็นการปรับปรุงแก้ไขชัดเจน

    ในแนวทางปฏิบัติกระทรวงเสนอให้มีการร่างกฎหมายว่าด้วยนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจภายในปี 2565 และการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีด้านกลไกการประสานงานระหว่างกระทรวง ภาคส่วน และท้องถิ่นในการจัดการนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ

    นอกจากนี้ยังคำนึงถึงการกำหนดพื้นที่สูงสุดของนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ ตลอดจนกำหนดทิศทางในการดึงดูดการลงทุนให้สอดคล้องกับจุดแข็งของแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐกับภาคเอกชนในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจใหม่สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเฉพาะ

    เวียดนามตั้งเป้าเปิดตัวแพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลทันสมัยปี 2568

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-targets-launch-of-modern-digital-finance-platform-by-2025/235480.vnp
    นายโฮ่ ดึ๊ก ฟ้อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในแผนพลิกโฉมดิจิทัลของกระทรวงการคลังถึงปี 2568 ซึ่งวางวิสัยทัศน์ไว้จนถึงปี 2573 โดยมีเป้าหมาย ที่จะสร้าง แพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลที่ทันสมัย ​​ยั่งยืน และบูรณาการระดับประเทศ มีส่วนสนับสนุนการเติบโตและความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและความมั่นคงทางการเงิน

    กระทรวงจะต่อยอดความสำเร็จทางเทคโนโลยีในเชิงรุกจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และติดตามผลการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อค่อยๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของภาคการเงิน การให้บริการทางการเงินดิจิทัล และการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจ และ สังคม

    ตัวชี้วัดการพัฒนา e-finance คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

    กระทรวงจะดำเนินการจัดตั้งแพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลที่ทันสมัย ​​เปิดเผยและโปร่งใสภายในปี 2568 โดยอิงจากบิ๊กดาต้าและข้อมูลทางการเงินแบบเปิด ภายในปี 2573 ระบบนิเวศทางการเงินดิจิทัลที่สมบูรณ์และทันสมัยจะถูกสร้างขึ้นในทุกสาขา เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของข้อมูล

    ภาคการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการสร้าง เชื่อมต่อ แบ่งปันข้อมูลและปรับแพลตฟอร์มเป็นดิจิทัล ตอบสนองความต้องการธุรกรรมการเงินสาธารณะอย่างครอบคลุมและการใช้ข้อมูลดิจิทัลโดยรัฐบาล ผู้คน ธุรกิจ และองค์กร

    นอกจากนี้ ข้าราชการและพนักงานของรัฐจะได้รับการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการปฏิบัติ

    เวียดนามลดภาษีนำเข้าน้ำมันเบนซินครึ่งหนึ่งเหลือ 10%

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/vietnam-halves-import-tariff-on-gasoline-to-10-4497341.html

    เวียดนามลดอัตราภาษีน้ำมันเบนซินตามกรอบทั่วไป(Most Favored Nation:MFN) ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 10% ในวันจันทร์(8 ส.ค.) เนื่องจากพยายามกระจายแหล่งอุปทาน

    อัตราภาษีนำเข้าตามกรอบทั่วไปเป็นอัตรามาตรฐานที่ใช้เป็นการทั่วไปกับทุกประเทศ สำหรับการค้าระหว่างสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เว้นแต่จะมีข้อตกลงทางการค้าแยกต่างหาก

    แต่การปรับลดภาษีครั้งนี้ไม่น่าจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง เนื่องจากเวียดนามนำเข้าน้ำมันมากกว่า 90% จากประเทศสมาชิกอาเซียนและเกาหลีใต้ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) โดยมีอัตราภาษี 8% แต่จะลดการพึ่งพาแหล่งน้ำมันเหล่านั้นและช่วยกระจายแหล่งนำเข้าของเวียดนาม

    ภาษีมีสัดส่วน 19.4-22% ในราคาน้ำมันในเวียดนาม ซึ่งต่ำกว่าในหลายประเทศ

    กัมพูชาผลิตทองคำแล้ว 3.5 ตันในต้นเดือนสิงหาคม

    เหมืองทองโอกะวาว กัมพูชา ที่มาภาพ: https://www.emeraldresources.com.au/
    ผู้ผลิตทองคำ 2 รายของกัมพูชาได้สกัดทองคำแท่งบริสุทธิ์จำนวน 252 แท่ง ซึ่งมีน้ำหนัก 3,563 กิโลกรัม ในช่วงต้นของเดือนสิงหาคมนี้ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งในวันที่ 9 ส.ค.

    นาย Ung Dipola ปลัดกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานเปิดเผยว่า Renaissance Minerals (Cambodia) Ltd., ซึ่งเป็นบริษัทในเครือEmerald Resources NL ที่จดทะเบียนในออสเตรเลียและดำเนินงานในจังหวัดมณฑลคีรี ได้ผลิตทองคำแท่งบริสุทธิ์ 232 แท่งซึ่งมีทองคำที่มีเนื้อทอง 90% รวมน้ำหนักประมาณ 3,543 กิโลกรัม และได้จ่ายค่าสัมปทานแล้วกว่า 5.1 ล้านดอลลาร์

    ในจังหวัดพระวิหาร เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม บริษัท Delcom (Kampuchea) Pte Ltd ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลาง เริ่มทดลองการผลิตและได้ผลิตทองคำแท่งบริสุทธ์จำนวน 20 แท่งซึ่งมีน้ำหนักรวมประมาณ 20 กิโลกรัม นาย Dipola กล่าว และว่า บริษัทมีแผนที่จะผลิตให้ได้ 340 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งจะหมายถึงค่าสัมปทานประมาณ 600,000 เหรียญต่อปี

    นาย Dipola เปิดเผยว่า ได้ออกใบอนุญาตขุดทองให้กับอีก 5 บริษัท และไม่มีธุรกิจเหมืองทองคำอย่างเป็นทางการในจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ว่าจะมีใบอนุญาตสำรวจทองคำอยู่ 3 ฉบับ โดยสองใบมอบให้กับบริษัทในเครือของบริษัท Angkor Gold Corp ของแคนาดา และบริษัท Oriental Wisdom ของจีน

    นาย Ty Norin รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่กล่าวว่า เพื่อเสริมสร้างการจัดการและพัฒนาภาคเหมืองแร่ กระทรวงได้จัดตั้งกลไกการออกใบอนุญาตล่วงหน้าซึ่งคำนึงถึงประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม และเพื่อตอบสนองกับความกังวลเกี่ยวกับการขุดทองที่ไม่เป็นระเบียบ “กระทรวงได้จัดตั้งคณะทำงานสี่ชุดเพื่อตรวจสอบและตรวจทานการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแร่ ตามประเภทของธุรกิจ

    “คณะทำงานปราบปรามการขุดทองอย่างผิดกฎหมายในชุมชนจุงพลา จังหวัดมณฑลคีรี พนมไชในจังหวัดกำปงธม และพนมรุ้งในจังหวัดพระวิหาร”

    นาย Hong Vanak นักวิจัยจาก Royal Academy of Cambodia กล่าวว่า บริษัท Renaissance มีการผลิตทองคำเพิ่มขึ้นอย่างมาก และค่าสัมปทานที่ได้มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต พร้อมให้ความเห็นว่า ธุรกิจเหมืองแร่อย่างเป็นทางการ เป็นโอกาสสำหรับแรงงานในภูมิภาค “รัฐบาลควรกดดันให้บริษัทต่างๆ ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการขุด และควรอนุญาตให้บริษัทประเภทเหล่านี้สำรวจทองคำในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”

    โครงการเหมืองทองของบริษัท Renaissance ตั้งอยู่ในพื้นที่โอกะวาวในอำเภอแก้วสีมาทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดมณฑลคีรี บริษัทเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนปีที่แล้ว และวางแผนที่จะผลิตทองคำแท่งเฉลี่ย 3 ตันต่อปี

    กัมพูชาคาดว่าโครงการทองคำโอกะวาว จะสร้างรายได้ 185 ล้านดอลลาร์ต่อปีในรูปกระแสเงินสดก่อนหักภาษี โดย 40 ล้านดอลลาร์มาจากค่าสัมปทานและภาษีที่โอนไปยังงบประมาณของประเทศ

    ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ระงับการขอใบอนุญาตบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ 3 ปี

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/happens/827
    ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์กล่าวว่าจะระงับ การเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือน (virtual asset services providers :VASP) รายใหม่เป็นเวลา 3 ปีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ และจะประเมินอีกครั้ง โดยพิจารณาจากการพัฒนาของตลาด

    ธนาคารกลางระบุว่า “มีเป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมในภาคการเงินและสร้างความมั่นใจว่าความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องยังคงอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้”

    การยื่นขอใบอนุญาตที่ผ่านขั้นตอนที่ 2 ของกระบวนการออกใบอนุญาตของธนาคารภายในวันที่ 31 สิงหาคม จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและประเมินตามปกติ รายที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนจะไม่ได้รับการพิจารณา

    สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลาง ซึ่งต้องการขยายการดำเนินงานด้านสกุลเงินคริปโท จะยังคงสามารถยื่นขอใบอนุญาต VASP ได้

    ในปีที่แล้วธนาคารกลางเปิดเผยว่า ประมาณ 53% ของประชากรผู้ใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคาร บ่งชี้ว่าสามารถใช้บริการสกุลเงินคริปโทในประเทศเป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อกระตุ้นการรวมบริการทางการเงินได้

    ธนาคารกลางเมียนมาปรับกรอบขึ้นลงเงินจั๊ตแคบลงเป็น 0.3%

    ที่มาภาพ: https://www.frontiermyanmar.net/en/the-currency-crisis-and-why-we-should-brace-for-stagflation/
    ธนาคารกลางเมียนมาประกาศว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน จึงได้ปรับกรอบการขึ้นลงของเงินจั๊ตเป็น 0.3% จาก 0.5% ที่ประกาศเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 โดยกรอบขึ้นลงในการซื้อขายเงินจั๊ตใหม่นี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2565

    ตัวแทนแลกเปลี่ยนเงินตราที่ได้รับอนุญาต ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ต้องแลกเงินในอัตราแลกเปลี่ยนกับธนาคารคู่ค้าที่ขึ้นลงตามกรอบ 0.3% ที่กำหนด สำหรับธุรกรรมทุกรูปแบบและการโอนเงินจากต่างประเทศ

    แถลงการณ์ที่ลงนามโดยอู วิน ทอว์ รองผู้ว่าการธนาคาร ระบุว่า การฝ่าฝืนกฎการควบคุมเงินตราจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ภายใต้กฎหมายและกฎเกณฑ์การจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

    ผู้ค้าเงินในประเทศเปิดเผยว่า เงินจั๊ตอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ประมาณ 2,600 จั๊ต ในตลาดมืด แม้ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงที่ 2,100 จั๊ต ส่งผลให้ทางการขายดอลลาร์ผ่านการประมูลให้กับภาคส่วนที่ต้องการ เพื่อควบคุมค่าเงินดอลลาร์ที่พุ่งสูงขึ้นและสกัดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ

    ในปี 2564 มีการขายเงินดอลลาร์รวม 443.8 ล้านเหรียญสหรัฐในอัตราประมูล

    เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,000 จั๊ตในตลาดมืด ส่งผลให้ทองคำบริสุทธิ์แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.22 ล้านจั๊ตต่อ 0.578 ออนซ์หรือ 16 กรัม

    คณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลตลาดทองคำและสกุลเงินได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ตามการแนะนำของคณะกรรมการกลางว่าด้วยการดูแลการค้าและสินค้า(Central Committee on Ensuring Smooth Flow of Trade and Goods) เนื่องจากเสถียรภาพของตลาดทองคำและสกุลเงินมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกทางการค้า

    คณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินคดีกับการปั่นราคาในตลาด ตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามกฎการชำระเงินในประเทศหรือไม่ และดำเนินการกับผู้ค้าที่ตั้งใจจะแทรกแซงตลาดที่เสรีและเป็นธรรมภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ การถือครองเงินตราต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย การค้าที่ผิดกฎหมาย และการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้บิดเบือนราคา

    อินโดนีเซียประกาศภาษีส่งออกนิกเกิลไตรมาสที่ 3

    ที่มาภาพ: https://www.mining.com/web/indonesia-to-issue-nickel-export-tax-rules-in-q3/
    อินโดนีเซียวางแผนที่จะประกาศ นโยบายภาษีส่งออกนิกเกิลในไตรมาสที่สามของปีเนื่องจากทางการพยายามเพิ่มรายได้จากการส่งออก ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงในประเทศมากขึ้น

    อินโดนีเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกแร่นิกเกิลรายใหญ่ ได้สั่งห้ามการส่งออกนิกเกิลที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปในปี 2563 เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมถลุงแร่ แต่การพัฒนาส่วนใหญ่ได้มุ่งไปสู่การผลิต nickel pig iron(NPI) นิกเกิลดิบ และ ferronickel(โลหะผสมเหล็กกล้ากับนิกเกิล) ซึ่งมีปริมาณนิกเกิลค่อนข้างต่ำ

    Septian Hario Seto รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงประสานงานด้านการเดินเรือและการลงทุนกล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการเรียกเก็บภาษีจาก NPI และ ferronickel แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดของอัตราภาษีที่วางแผนไว้ และกล่าวว่ารัฐบาลจะพิจารณาตามราคานิกเกิลและราคาถ่านหินที่ใช้ในการผลิตเป็นแหล่งพลังงาน

    รัฐบาลมุ่งที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งนิกเกิลจำนวนมากของประเทศเพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศ

    อินโดนีเซียได้รับข้อตกลงการลงทุนจากนักลงทุนชาวเกาหลีใต้เช่น LG และ Hyundai เพื่อผลิตแบตเตอรี่และ EV ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงทบทวนความจำเป็นในการจำกัดจำนวนโรงถลุงแร่ที่ผลิต NPI หรือเฟอร์โรนิเคิลเพื่อรักษาแหล่งแร่

    อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าแร่สำรองจะใช้ประโยชน์ได้นาน 25 ปีถึง 30 ปี โรงถลุงแร่ที่ผลิต NPI และเฟอร์โรนิเคิลในอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีกำลังการผลิตนิกเกิลติดตั้งรวมกันประมาณ 1.3 ล้านตัน

    เทสลาลงนามซื้อนิกเกิลอินโดนีเซีย 5 พันล้านดอลลาร์

    บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน เทสลา ได้ลงนามในสัญญามูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อนิกเกิลจากสองบริษัทในอินโดนีเซีย รัฐมนตรีกล่าวเมื่อวันจันทร์(8 ส.ค)

    อินโดนีเซียพยายามชักชวนเทสลาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

    เทสลาตกลงที่จะทำสัญญา 5 ปีกับบริษัทแปรรูปนิกเกิล รวมถึง Zhijang Huayou บริษัทเหมืองแร่ของจีนที่มีโรงงานใน Morowali บนเกาะสุลาเวสีที่อุดมด้วยนิกเกิล นาย Luhut Pandjaitan รัฐมนตรีประสานงานด้านการลงทุนและกิจการทางทะเลกล่าว

    “ข่าวดีก็คือพวกเขา [Tesla] ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ [นิกเกิล] จากอินโดนีเซีย” นาย Luhut ให้สัมภาษณ์ CNBC Indonesia

    “สัญญานี้น่าจะมีมูลค่าประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ”

    การประกาศดังกล่าวมีขึ้นไม่ถึง 3 เดือนหลังจากประธานาธิบดีโจโก วิโดโด พบกับ อีลอน มัสก์ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ เทสลา ในเท็กซัส และแม้กลุ่มผู้สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมจะเตือนเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมว่าอุตสาหกรรมนิกเกิลกำลังก่อมลพิษในแม่น้ำและสร้างผลกระทบต่อป่า

    นาย Luhut กล่าวว่า การลงทุนตามแผนของเทสลาในอินโดนีเซียนั้นล่าช้าออกไป ส่วนหนึ่งมาจากการที่มัสก์เสนอซื้อ Twitter ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านโซเชียลมีเดีย

    สื่ออินโดนีเซียรายงานว่าอีกบริษัทหนึ่งที่ลงนามในสัญญาซื้อขายนิกเกิลกับเทสลาคือ CNGR Advanced Material ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ของจีน

    นาย Luhut ยังกล่าวว่า บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ และโฟล์กสวาเกนของเยอรมนีได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทในอินโดนีเซียด้วย เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งสองบริษัทมุ่งเน้นรถยนต์ไฟฟ้า

    “ฟอร์ดลงนาม [ข้อตกลง] เมื่อสามสัปดาห์ก่อน มูลค่าการลงทุน 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งอาจจะมากกว่านั้น – นี่เป็นเพียงตัวเลขเริ่มต้น” นาย Luhut กล่าวและว่า เขาคาดหวังว่าคณะผู้แทนเทสลาจะไปเยือนจาการ์ตาเพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนในอินโดนีเซีย

    อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2568 หนึ่งในห้าของรถยนต์ที่ผลิตในอินโดนีเซียจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

    อินโดนีเซียผลิตรถยนต์ได้ 1 ล้านคันต่อปีซึ่งส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน แต่กำลังพัฒนาตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

    ฮุนไดของเกาหลีใต้เพิ่งเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกที่ผลิตจากโรงงานในอินโดนีเซียในรุ่น Ioniq 5 ในขณะเดียวกัน Wuling Motors ของจีนได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก AirEv ซึ่งประกอบที่โรงงานในอินโดนีเซีย

    อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ส่งผลดีต่ออินโดนีเซียมากนัก หากเทสลาซื้อเพียงนิกเกิลดิบและนำไปแปรรูปที่โรงงานขนาดใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ครึ่งล้านคันต่อปี นักวิเคราะห์เตือน

    ไทย-มาเลเซียประชุมความร่วมมือทวิภาคีครั้งที่ 14

    ที่มาภาพ:https://www.mfa.go.th/th/content/jcthaimalaysia10082565?page=5d5bd3c915e39c306002a907&menu=5d5bd3c915e39c306002a908

    เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และดาโตะ ซรี ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย เป็นประธานร่วมของ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ 14และ การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ที่กรุงเทพมหานคร การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยบรรยากาศของมิตรภาพและได้มีการหารือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นในทุกมิติ

    การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างความยืดหยุ่นฟื้นตัวได้ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย” เพื่อสะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยและมาเลเซียจะต้องร่วมมือกันวางยุทธศาสตร์และเพิ่มพูนความร่วมมือในการส่งเสริมความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวของทั้งสองประเทศ รวมทั้งสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ที่ประชุมมุ่งเน้นการหารือโดยให้ความสำคัญกับ 3P ประกอบด้วยการเพิ่มพูนการปกป้องคุ้มครองให้แก่ประชาชน (protection) การนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง (prosperity) และการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน (partnership) ระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

    1. การปกป้องคุ้มครองประชาชน

  • ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกันในด้านการบริหารจัดการชายแดน โดยเฉพาะการรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติ ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยยินดีที่ฝ่ายมาเลเซียแสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 1 เพื่อหารือประเด็นความมั่นคงต่าง ๆ ในรายละเอียดต่อไป
  • ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องที่จะแสวงหาแนวทางความร่วมมือในด้านพลังงานทางเลือกเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานระหว่างกันด้วย

    2. การส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง

  • การค้า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2568
  • การท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะร่วมกันส่งเสริมการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชาชนและกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเห็นพ้องที่จะแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  • การเสริมสร้างความเชื่อมโยง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดให้โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงการสร้างถนนเชื่อมต่อด่านสะเดาแห่งใหม่-บูกิตกายูฮิตัม และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก 2 แห่ง รวมทั้งจะศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงอื่น ๆ อาทิ โครงการความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดสตูลและรัฐปะลิส และเส้นทางรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย
  • เศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งสองฝ่ายมุ่งที่จะแสวงหาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นสาขาความร่วมมือใหม่ โดยทั้งสองฝ่ายแสดงพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ การจับคู่ทางธุรกิจ และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มผลิตภาพ
  • แรงงาน ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการแรงงาน การจัดฝึกอบรมอาชีพ และการส่งเสริมการจ้างงาน

    3. การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน

  • ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระดับประชาชนให้ใกล้ชิดผ่านการมอบทุนฝึกอบรมและทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงาน และโครงการเสริมสร้างศักยภาพ ทั้งสองฝ่ายแสดงความสนใจที่จะกระชับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
  • ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับพหุภาคี โดยมุ่งกระชับความร่วมมือในทุกระดับเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อพัฒนาการล่าสุดในภูมิภาค รวมทั้งสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนเพื่อรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค อนึ่ง ฝ่ายไทยขอบคุณมาเลเซียที่สนับสนุนบทบาทของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565

    ทั้งสองฝ่ายแสดงความพอใจกับผลลัพธ์ของการประชุมซึ่งจะช่วยเพิ่มพลวัตให้แก่ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย – มาเลเซีย รวมทั้งกำหนดทิศทางความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคีระหว่างกันในอนาคต ทั้งนี้ ฝ่ายมาเลเซียได้แสดงความขอบคุณฝ่ายไทยสำหรับการจัดการประชุมในครั้งนี้และแสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ 15 และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 6 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ตามวันที่ทั้งสองฝ่ายจะเห็นพ้องกันต่อไป