ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียรุกให้สิทธิประโยชน์ภาษีเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

ASEAN Roundup มาเลเซียรุกให้สิทธิประโยชน์ภาษีเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

23 พฤษภาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 16-22 พฤษภาคม 2564

  • มาเลเซียรุกให้สิทธิประโยชน์ภาษีเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า
  • อินโดนีเซียเล็งเก็บภาษีคาร์บอนคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • อาลีบาบาลงทุนในค้าปลีกเวียดนาม
  • กัมพูชาเปิดตัวสภาธุรกิจกัมพูชา
  • รัฐบาลทหารเมียนมาอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าให้บริษัทจีน
  • มาเลเซียรุกให้สิทธิประโยชน์ภาษีเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

    ที่มาภาพ: https://paultan.org/2015/09/10/proton-iriz-ev-300-km-electric-car-on-display-at-igem/proton-iriz-ev-2/

    มาเลเซียพร้อมที่จะเสนอมาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อเร่งการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ โดยจะมีการประกาศนโยบายผลักดัน EV ภายใต้นโยบายยานยนต์แห่งชาติ (National Automotive Policy: NAP) 2020 ในเร็วๆ นี้

    ดาโต๊ะมาดานี ซาฮารี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันยานยนต์มาเลเซีย (Malaysia Automotive, Robotics and IoT Institute: MARii) กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมนโยบายเพื่อเร่งการพัฒนา EV

    “ขณะนี้เราให้สิ่งจูงใจที่กำหนดตามผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของโครงการ แต่ภายใต้นโยบายเร่งรัด EV ใหม่ จะมีมาตรการจูงใจที่คงที่ ซึ่งส่วนหนึ่งคือ ภาษีสรรพสามิต อากรขาเข้า และภาษีการขาย ที่ผู้ใช้และอุตสาหกรรมจะพอใจ แต่นอกเหนือจากนั้น หากโครงการนำสิ่งพิเศษเข้ามาในมาเลเซีย เรายินดีที่จะพิจารณาสิ่งจูงใจในระดับที่สูงขึ้นไปอีก และสิ่งนั้นจะได้รับการปรับให้สอดคล้องกับประโยชน์ที่นำเข้ามาในประเทศ” ดาโต๊ะมาดานีกล่าว

    “ในแง่ของสิทธิจูงใจทางภาษี (สำหรับผู้ซื้อ) นโยบายเร่งด่วนกำลังอยู่ระหว่างการสรุปและเรากำลังพิจารณาที่จะขยายขอบเขตของสิทธิประโยชน์จูงใจให้ครอบคลุมผู้ใช้ เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษนี้ด้วยเมื่อซื้อ EV” ดาโต๊ะมาดานีกล่าว

    ดาโต๊ะมาดานีกล่าวว่า ผู้ใช้โดยทั่วไปจะได้รับประโยชน์ในแง่ของสิทธิประโยชน์โดยตรง ทั้งในรูปแบบของภาษีการใช้ถนน โครงการที่จอดรถสีเขียว ส่วนลดค่าผ่านทางและส่วนลดสำหรับการติดตั้งแท่นชาร์จที่บ้าน

    “กลไกนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาขั้นสุดท้ายโดยรัฐบาล แต่นอกเหนือจากนั้น ตามหลักการแล้ว เรากำลังดำเนินการเพื่อการยกเว้นภาษีในระดับที่ดี ไม่ว่าจะในรูปแบบของการลดภาษีจำนวนมาก ในแง่ภาษีสรรพสามิต อากรขาเข้า และภาษีขายสำหรับ EVs” ดาโต๊ะมาดานีกล่าว

    อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีใหม่หลังจากลดลงภายใต้นโยบายใหม่ยังไม่มีรายละเอียด แต่ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตสำหรับ EV ที่นำเข้าทั้งคันกำหนดไว้ที่ระดับต่ำ 10% ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด นอกจากนี้ นโยบายใหม่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะยกเว้นภาษีให้กี่คันและลดให้นานเท่าไร

    การศึกษาโดยศูนย์เทคโนโลยีสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของมาเลเซีย (Malaysian Green Technology And Climate Change Centre: MGTC) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ชี้ให้เห็นตัวเลขบางอย่างในแผนแม่บทลดการปล่อยคาร์บอน (Low Carbon Footprint Blueprint) ระบุว่า จะมีการลดหย่อนภาษีเต็มรูปแบบสำหรับรถยนต์ EV ที่นำเข้าทั้งคันจำนวน 10,000 คัน โดยได้รับการยกเว้นจนถึงสิ้นปี 2565 ส่วนในปี 2566-2568 รถ EV นำเข้าทั้งคันจะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีสรรพสามิต 50% ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวจนกว่า BEV ที่ประกอบในประเทศจะมีจำหน่ายในตลาด

    นอกจากนี้ยังมีการกำหนดคุณสมบัติสำหรับ Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินที่ใช้พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยขึ้นอยู่กับการใช้ไฟฟ้าต่อการชาร์จหนึ่งครั้งและไม่มีการชาร์จเครื่องยนต์ ซึ่งกำหนดไว้ที่ระยะเริ่มต้น 30 กิโลเมตร (ตาม New European Driving Cycle — หรือ มาตรฐานการวัดระยะทางของทางยุโรป NEDC) สำหรับปีนี้และขยายเป็น 55 กิโลเมตร ช่วงปี 2565-2567 และเป็น 75 กิโลเมตรของการวิ่งไกลสุดต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (ตามมาตรฐานการวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถยนต์ คุณภาพไอเสีย Worldwide Harmonized Light-Duty Vehicles Test Procedure: WLTP) ช่วงปี 2568-2570 ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 100 กิโลเมตร ในปี 2028-2030

    ดาโต๊ะมาดานีกล่าวว่า คาดว่านโยบายดังกล่าวจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ เพื่อขออนุมัติก่อนที่จะประกาศในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเลื่อนจากไตรมาสแรกของปีนี้ที่วางเป้าไว้

    “ขอบเขตของนโยบายใหม่นี้จะรวมถึงรถยนต์นั่ง สกูตเตอร์ รถมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ นอกจากนี้ยังครอบคลุมโรงงานรับจ้างผลิตชิ้นส่วน (OEM) ผู้ผลิต EV และ บริษัทที่ใช้ EV ในรูปแบบของบริการ เช่น SoCar และ Grab”

    ดาโต๊ะมาดานีกล่าวว่า MARii จัดทำนโยบายแบบเฉพาะเจาะจงและสมาคมได้เห็นด้วย รวมทั้งสะท้อนความเห็นความต้องการจากหลากหลายมุม ซึ่งทำให้ได้ภาพกว้างทั้งอุปสงค์และอุปทานเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของ EV ในประเทศ

    เขากล่าวว่าภายใต้นโยบายเร่งรัด MARii ได้จัดหมวดหมู่ภาคต่อไปที่จะได้รับการส่งเสริมในมาเลเซียซึ่งเป็นยานยนต์รุ่นต่อไปซึ่งประกอบด้วยยานยนต์สีเขียวโดยที่ EV เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่โดดเด่น

    “ระบบนิเวศภายในนโยบายเร่งรัดนี้ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การชาร์จ การทดสอบและสิ่งอำนวยความสะดวกและอื่นๆ

    นอกจากนี้เรายังรวมส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเพื่อเป็นแรงจูงใจในนโยบายใหม่ ในการพัฒนาเทคโนโลยีท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานและความสามารถ

    อินโดนีเซียเล็งเก็บภาษีคาร์บอนคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/article/indonesia-budget-tax/update-1-indonesia-considering-carbon-tax-under-major-tax-overhaul-document-idUSL2N2N80IY

    อินโดนีเซียได้ร่างข้อเสนอที่จะนำภาษีคาร์บอนมาใช้เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกเหนือจากการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และการปฏิรูปภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยกเครื่องระบบภาษีครั้งใหญ่ เอกสารของกระทรวงการคลังระบุ

    เอกสารที่อัปโหลดขึ้นเว็บไซต์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับทางเลือกที่รัฐบาลกำลังพิจารณามากกว่าที่นำเสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันก่อนหน้า

    สำหรับภาษีคาร์บอน การปล่อยก๊าซจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ดีเซล และน้ำมันเบนซินโดยโรงงานและยานยนต์อาจตกเป็นเป้าหมายไปและยังบ่งชี้ไปที่ “ภาคส่วนที่ใช้ปล่อยคาร์บอนเข้มข้น เช่น เยื่อกระดาษและกระดาษ, ปูนซีเมนต์, การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

    อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตถ่านหินก๊าซและน้ำมันชั้นนำ เป็นหนึ่งในผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผลมาจากปัจจัยหลักคืออัตราการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของป่าและพื้นที่ป่าพรุที่กักเก็บคาร์บอนสูง

    ต่อข้อสังเกตที่ว่าภาษีคาร์บอนจะเพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจ กระทรวงระบุว่า จะมีนโยบายเพื่อส่งเสริมกำลังซื้อของประชาชนควบคู่ไปด้วย “เพื่อลดการต่อต้านและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น”

    กระทรวงระบุว่า รายได้จากภาษีจะนำไปลงทุนในภาคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและโครงการสวัสดิการ

    สมาคมเหมืองถ่านหินอินโดนีเซียกล่าวว่า ยังไม่ได้รับการปรึกษาหารือเกี่ยวกับแผนดังกล่าว แต่เตือนว่าการเก็บภาษีเพิ่มเติมจะสร้างแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมที่ไม่มีอนาคตอยู่แล้ว

    “ประเด็นที่สองคือ ถ้าเรากำลังพูดถึงการลดคาร์บอน เราได้ดำเนินการหลายด้านแล้ว” เฮนดรา ซินาเดีย กรรมการบริหารสมาคมกล่าวและชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการฟื้นฟูด้วยการลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่า และการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

    ในอีกส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่เสนอ รัฐบาลกำลังพิจารณาปรับขั้นรายได้และตารางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะ “สร้างระบบภาษีที่ดีและเป็นธรรมมากขึ้น” แต่ไม่ได้ให้รายละเอียด”

    ปัจจุบันอินโดนีเซียมีอัตราภาษี 4 ขั้นตั้งแต่ 5-30% แต่มีข้อเสนอแนะจากองค์กรต่างๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ให้ขยายอัตราภาษีให้ครอบคลุมชนชั้นกลางและปรับเป็นระบบอัตราภาษีก้าวหน้ามากขึ้น

    ข้อเสนอเชิงนโยบายอื่นๆ ได้แก่ การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการยกเลิกข้อยกเว้นจำนวนมากที่ รัฐบาลมองว่าเป็นการบิดเบือนความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

    ปัจจุบันมีการใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% กับการขายสินค้าและบริการส่วนใหญ่ ยกเว้นสินค้าเกษตร อาหารหลักที่คนส่วนใหญ่บริโภคและบริการด้านการสุขภาพและการศึกษา

    อาลีบาบาลงทุนในค้าปลีกเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/companies/alibaba-invests-in-vinmart-operator-the-crownx-4279938.html

    กลุ่มบริษัทที่นำโดยอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีน จะลงทุน 400 ล้านดอลลาร์ในบริษัทย่อยของกลุ่ม บริษัทหม่าซาน กรุ๊ป (Masan Group) ที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีก VinMart

    กลุ่มบริษัทยังมี Baring Private Equity Asia ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อซื้อหุ้นร้อยละ 5.5 ใน CrownX คิดเป็นมูลค่า 6.9 พันล้านดอลลาร์ Masan จะเป็นถือหุ้นสัดส่วน 80.2% ในบริษัทจากข้อตกลง

    จากการที่อาลีบาบาเข้าร่วม CrownX จะเป็นพันธมิตรกับบริษัทอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลาซาด้า เพื่อเร่งตลาดออฟไลน์สู่ออนไลน์ในเวียดนาม

    VinCommerce ซึ่งเป็น บริษัทย่อยของ CrownX ที่ดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาร์เกต VinMart และเครือร้านสะดวกซื้อ VinMart+ จะเป็นผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของลาซาด้าในเวียดนาม และจะใช้ร้านค้าเป็นจุดรับสินค้าสำหรับการสั่งซื้อทางออนไลน์

    “ธุรกรรมดังกล่าวถือเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า CrownX มีศักยภาพในการสร้างระบบนิเวศสำหรับผู้บริโภคที่ใช้เทคโนโลยีเป็นแห่งแรกของเวียดนาม และขยายการเข้าถึงเพื่อให้บริการผู้บริโภคทั่วประเทศ” Masan ระบุในแถลงการณ์

    นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือกับนักลงทุนรายอื่นสำหรับการลงทุนเชิงกลยุทธ์เพิ่มเติมใน CrownX อีก 300-400 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะทำข้อตกลงได้ในปีนี้

    กัมพูชาเปิดตัวสภาธุรกิจกัมพูชา

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/trade-body-launched-bangkok-deepen-ties

    เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม กัมพูชาเปิดตัวสภาธุรกิจกัมพูชา (Cambodia Business Council: CBC) ในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนทางธุรกิจแบบครบวงจร รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างกัมพูชาและไทย

    นายอูก ซอร์พวน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทยกล่าวว่า CBC ริเริ่มโดยสถานทูตกัมพูชาในกรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก โดย CBC ทำหน้าที่เป็นเวทีในการกระชับยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ปี 2564-2566 (Economic Diplomacy Strategy 2021-2023) ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 18 มกราคม และเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคกับประเทศอื่น

    ในวันเดียวกันนั้น นายซอร์พวนกล่าวกับที่ประชุมสามัญ CBC ผ่านระบบออนไลน์ครั้งแรกว่า สถานทูตกัมพูชาในไทยมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องกับประชาคมธุรกิจในประเทศไทย และแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและดำเนินการเพื่อดึงความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพ

    นายซอร์พวนย้ำถึงข้อดีของการรักษาความสัมพันธ์ที่จริงใจกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศไทย ในฐานะช่องทางการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน

    “เรามีความเข้มงวดและแน่วแน่ในหน้าที่ของเราในการให้การสนับสนุน บริษัทต่างๆ ที่ต้องการขยายการดำเนินงานไปยังกัมพูชา เพื่อให้ได้ประโยชน์จากแรงงานที่ค่าจ้างไม่สูง สภาพแวดล้อมทางภาษีที่เอื้ออำนวย และนโยบายจูงใจที่รัฐบาลจัดไว้

    “การจัดตั้งสภาธุรกิจกัมพูชา ผมหวังว่าการเป็นหุ้นส่วนระหว่างประชาคมธุรกิจกัมพูชาและไทยจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองอาณาจักร”

    “ผมสนับสนุนให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกลไกนี้และใช้ศักยภาพในการร่วมมือทางธุรกิจอย่างเต็มที่” นายซอร์พวนกล่าว

    นายสมบัติ สุธี ประธานใหม่ของ CBC กล่าวว่า สภาไม่เพียงแต่เกี่ยวกับการค้าการค้าและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วย

    “แนวคิดในการจัดตั้ง CBC ในประเทศไทยเป็นแนวคิดที่ชัดเจนสำหรับผม เราทุกคนมีจุดแข็งและจุดอ่อน แต่เราสามารถใช้เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ของเราได้”

    “อย่างที่ทราบกันดีว่า CBC มีเป้าหมายที่จะเป็นจุดบริการครบวงจรสำหรับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจในกัมพูชา แต่ภารกิจของเราคือ ชี้แนะสิ่งที่ทำให้เรามีเอกลักษณ์เฉพาะในประเทศไทย และนำสินค้าไทยเข้าสู่กัมพูชา เมื่อเราทุกคนผนึกกำลังเป็นพันธมิตร เราจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเผชิญกับโลกาภิวัตน์” นายสุธีกล่าว

    นายธีรวัฒน์ จิตรจักร รองประธาน CBC ซึ่งได้รับเลือกครั้งนี้ เป็นเจ้าของธุรกิจหลายแห่งในประเทศไทยกล่าวว่า สภาจะเป็น“ ตัวเปลี่ยนเกมที่สำคัญ” ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจของทั้งสองประเทศ

    “เรามีความยินดีอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ CBC เนื่องจากจะเป็นสะพานเชื่อมให้นักธุรกิจและนักลงทุนไทยติดต่อโดยตรงกับฝ่ายกัมพูชา”

    นายซอร์พวนกล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ 9 รายในกัมพูชา โดยมีการลงทุน FDI ในกัมพูชาจำนวน 967.89 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2537 ถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2560

    นายซอร์พวนากล่าวว่า บริษัทไทยกว่า 1,000 รายได้จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา รวมทั้งกลุ่มบริษัทบีเจซี, บิ๊กซี, เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น บมจ.ซีพีออลล์ มีแผนจะนำเชนร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่นเข้าไปกัมพูชา

    “หลังจากการเปิดตัว CBC กัมพูชาจะเปิดตัว [องค์กรที่มีรูปแบบคล้ายกัน] ในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และอื่นๆ ในอนาคต”

    การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยแตะระดับ 7.236 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ลดลง 23.17% จากปี 2019 สาเหตุหลักมาจากการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจของการระบาดของโรคโควิด-19

    กัมพูชาส่งออกสินค้าไปไทย 1.148 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 ลดลง 49.49% เมื่อเทียบเป็นรายปีและนำเข้า 6.089 พันล้านดอลลาร์ 14.80% จากปี 2562

    รัฐบาลทหารเมียนมาอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าให้บริษัทจีน

    ที่มาภาพ: https://myanmar-now.org/en/news/junta-approves-25bn-power-plant-project-backed-by-chinese-companies
    รัฐบาลทหารของเมียนมาได้อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะสร้างและดำเนินการโดยบริษัทของจีน

    โครงการนี้เป็นหนึ่งในการลงทุนใหม่ 15 โครงการที่ประกาศโดยคณะกรรมการลงทุน (Myanmar Investment Commission: MIC) ของรัฐบาลเมียนมา

    เจ้าหน้าที่ของสำนักงานดูแลด้านการลงทุนและการจัดตั้งบริษัทของเมียนมา (Directorate of Investment and Company Administration: DICA) ที่เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน เปิดเผยว่า โครงการนี้มีชื่อว่า Mee Lin Chaing และจะพัฒนาขึ้นในภูมิภาคอิรวดี นับเป็นการลงทุนใหม่ที่ใหญ่ที่สุดที่ได้รับการอนุมัตินับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในความโกลาหลและส่งผลให้เศรษฐกิจชะงัก

    “โครงการนี้ต้องได้รับความเห็นชอบของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้รับการอนุมัติจาก MIC ดังนั้นจึงหมายความว่า กระบวนการในการขอรับความเห็นชอบเสร็จสิ้นแล้ว วัดจากการที่รัฐบาลทหารได้อนุมัติแล้ว” พนักงานกล่าว

    สถานีไฟฟ้าจะผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 1,390 เมกะวัตต์ บริษัทจีน 3 แห่งจะเป็นลงทุนในโครงการ 81% ในขณะที่กลุ่ม บริษัท Supreme ของเมียนมาจะลงทุน 19%

    บริษัท Union Resources and Engineering Company (UREC) จะมีสัดส่วนการถือหุ้นมากที่สุด 41% ในขณะที่ Yunnan Energy Investment จะถือหุ้น 39% และกลุ่มบริษัท Zhefu Holding จะถือ 1% ที่เหลือ UREC เป็นบริษัทย่อย Yunnan Energy Investment ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลยูนนาน

    โครงการจะได้รับการพัฒนาในรูปแบบ Build-Own-Operate-Transfer (รัฐให้สิทธิแก่เอกชน ในการจัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบ ก่อสร้าง และดําเนินการให้บริการในช่วงระยะเวลาที่กําหนด) ก่อนที่จะส่งมอบให้กับรัฐ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เมื่อได้รับอนุมัติจากนายวิน ข่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy Party)

    ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD หม่อง มิ่นต์ ส.ส. จากพรรคตัวแทนทหารฝ่ายค้าน ตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสของโครงการและถามว่า เหตุใดบริษัทได้รับอนุญาตให้ดำเนินการโดยไม่ต้องประมูล

    ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้สั่งให้ธนาคารกลางตรวจสอบบัญชีของนายวิน ข่าย, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงและคู่สมรสของพวกเขา หลังจากนั้นรัฐบาล NLD ก็ไม่ได้ประกาศเกี่ยวกับโครงการนี้อีก

    Supreme Group ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น กรรมการของบริษัทรายหนึ่งกล่าวว่า ฝ่ายบริหารได้ตัดสินใจที่จะไม่พูดคุยต่อสาธารณะเกี่ยวกับโครงการ Mee Lin Chaing ในขณะนี้

    Supreme Group เป็นหุ้นส่วนในเมียนมาของ บริษัท Sinohydro ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ที่มีโรงไฟฟ้าขนาด 135 เมกะวัตต์ในเจ้าผิวก์ ทางตอนใต้ของรัฐยะไข่

    เจ้าของ Supreme Group คือ ดร.เส่ง มินต์ หรือที่รู้จักกันในนาม อา เส่ง เคยเป็นอดีตนายกสมาคมวิศวกรรมแห่งเมียนมา ลูกชายของเขา ซอว์ ไหน่ เต็ง เป็นผู้บริหารบริษัท

    Yunnan Energy Investment ยังดำเนินการโรงไฟฟ้าก๊าซ 106 เมกะวัตต์ในเขตทาเคตาของย่างกุ้ง โครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติในเดือนมกราคม 2559 ขณะที่มินต์ ฉ่วย เป็นมุขมนตรีประจำย่างกุ้ง ซึ่งหลังจากการรัฐประหารได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีรักษาการของรัฐบาลทหาร

    รัฐบาลทหารได้แต่งตั้งนายพลที่มีอำนาจมากที่สุดเป็นอันดับ 4 คือพลโท โม มิ่นต์ ทุน ดูแลคณะกรรมการการลงทุนที่ตั้งขึ้นใหม่

    การกอบโกยอำนาจของนายพล มิน อ่อง หล่าย และความพยายามในภายหลัง ในการปราปปรามการไม่เห็นด้วยด้วยการใช้กำลังทำร้ายและการสังหารหมู่ ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับนักลงทุนจำนวนมาก และนำไปสู่การเรียกร้องจากนักเคลื่อนไหว ให้ธุรกิจต่างๆ ตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับกองทัพ

    Electricite de France บริษัทพลังงานของรัฐของฝรั่งเศสได้ระงับการมีส่วนร่วมในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเชวลี 3 มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ในขณะที่การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่กับ DICA ลดลง 80% นับตั้งแต่รัฐประหาร

    นักเศรษฐศาสตร์ชาวเมียนมาซึ่งไม่เปิดเผยตัวกล่าวว่า จีนมีแนวโน้มที่จะชดเชยการลงทุนที่ลดลงจากประเทศอื่นๆ “พวกเขาจะใช้โอกาสนี้ในการลงทุนมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นธรรมหรือไม่ก็ตาม”