ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ทนง พิทยะ” ชี้ ถึงเวลา ASEAN ทบทวนกลยุทธ์ใหม่ สร้างพลังเชิงรุกที่แข็งแกร่งร่วมกัน

“ทนง พิทยะ” ชี้ ถึงเวลา ASEAN ทบทวนกลยุทธ์ใหม่ สร้างพลังเชิงรุกที่แข็งแกร่งร่วมกัน

10 กุมภาพันธ์ 2023


วันที่ 10 กุมภาพันธ์ หอการค้ามาเลเซีย-ไทย(Malaysian-Thai Chamber of Commerce)ได้จัดงาน Business Meeting เพื่อให้ผู้นำจากอุตสาหกรรมหลายสาขา ได้รับฟังการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “The Future of ASEAN” จากดาโต๊ะ สรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2566 พร้อมเปิดเวทีให้สอบถามเกี่ยวกับประเด็นโยบาย

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยได้กล่าวเปิดงานและให้มุมมองถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะร่วมมือกันระหว่างมาเลเซียและไทย

ดร.ทนงกล่าวว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับ ฯพณฯ ในการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ และก็รอมานานมาก กว่าความหวังของผมที่ว่าสักวันหนึ่ง ฯพณฯ อันวาร์ อิบราฮิม จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เป็นจริง”

  • “อันวาร์ อิบราฮิม” สาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย สิ้นสุด 3 ทศวรรษที่รอคอย
  • มิตรภาพของเราเริ่มต้นขึ้นเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียเริ่มขึ้นในปี 2540 ฯพณฯ อันวาร์ อิบราฮิมเป็นผู้คร่ำหวอดทางการเมือง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนผมเป็นเพียงนายธนาคารที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศไทย เราได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีคลังอาเซียน(ASEAN)คนอื่นๆ หลายครั้งเพื่อหาแนวทางแก้ไข ไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ จากการขยายวงของวิกฤติไปทั่วอาเซียน

    “ผมยังจำคำปลอบใจของ ฯพณฯ ที่ให้กำลังใจผมในการเผชิญวิกฤติการเงินที่กำลังเกิดขึ้น”

    วิกฤติเศรษฐกิจเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร วันนี้มีความเข้าใจอย่างชัดเจนและถ่องแท้ไม่มากก็น้อย และเราพร้อมกับรัฐมนตรีคลังอาเซียนคนอื่นๆ ได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจที่ถดถอยของเรา เราตระหนักดีว่าความผิดพลาดของเราในการบริหารจัดการกับการเงินระหว่างประเทศที่ไม่ดีอาจเป็นอันตรายต่อประเทศของเราอย่างมาก

    เราพบกันครั้งสุดท้ายในการประชุมธนาคารโลก-ไอเอ็มเอฟที่ฮ่องกง ซึ่งเราพยายามเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนการเงินเอเชีย(Asian Monetary Fund) เพื่อป้องกันวิกฤติการเงินครั้งใหม่ในเอเชีย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

    “หลังจากการแก้ปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจในสี่เดือน ผมลาออกและยุติอาชีพนักการเมืองเพื่อกลับไปดูแลธนาคารที่มีปัญหาทางการเงินไม่ให้ล้มละลาย ผมเดินหน้าชีวิตในฐานะนักการธนาคารมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่มีความสุข ในขณะที่ ฯพณฯ อันวาร์ อิบราฮิมยังคงเป็นผู้นำทางการเมืองรุ่นใหม่ที่มีอนาคตสดใสมากที่สุดของมาเลเซีย ตั้งแต่นั้นมา ผมแน่ใจเลยว่าวันหนึ่ง ฯพณฯ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย”

    อย่างไรก็ตาม ก็ต้องใช้เวลาถึง 25 ปี ฯพณฯ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากและทุกข์ทรมาน ถูกลิดรอนอิสรภาพและถูกจองจำเกือบทศวรรษในช่วงเวลานั้น

    เราพบกัน 2-3 ครั้งในประเทศไทย และถึงคราวที่ผมต้องปลอบใจและให้กำลังใจ ฯพณฯ ให้ยืนหยัดกับความเชื่อมั่นในการต่อสู้กับการประพฤติตนที่ไม่สมควรทางการเมือง และวันนี้เจตจำนงทางการเมืองอันแรงกล้าของ ฯพณฯ ที่จะรับใช้ชาวมาเลเซียก็ได้รับการตอบรับในที่สุด

    “ผมเชื่อว่า ฯพณฯ จะเป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศอาเซียนทั้งหมด”

    “ผมจำได้ว่าในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งอาเซียน ผู้นำของเราได้ริเริ่มให้เกิดข้อตกลงต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือในโครงการอาเซียนที่มีความมุ่งหวังสูงในทุกประเทศสมาชิก แม้ว่าหลายโครงการยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ในขณะนั้น ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรม ผมยังคงชื่นชมในความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของอาเซียนร่วมกัน”

    ปัจจุบันอาเซียนได้พัฒนาไปสู่เขตการค้าเสรีที่ประสบความสำเร็จ และน่าการลงทุน อีกทั้งมีความร่วมมือทางธุรกิจในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผมอดคิดไม่ได้ว่า เราพึ่งพาความสัมพันธ์ภายนอกมากกว่าความสัมพันธ์ภายในอาเซียน เราไม่ได้ดำเนินการที่มากพอในการสร้างธุรกิจที่ร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในระดับภูมิภาค

    ดร.ทนงกล่าวว่า….

    “ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนควรทบทวนกลยุทธ์ใหม่ ในการเริ่มเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคขึ้นอีกครั้ง แทนที่จะติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ผมเชื่ออย่างแท้จริงว่า ด้วยการเป็นผู้นำของ ฯพณฯ ในการดึงให้สมาชิกอาเซียนทำงานร่วมกันเชิงรุกจะสร้างพลังที่แข็งแกร่งเพื่อความรุ่งเรืองของอาเซียน”

    การเยือนไทยในฐานะนายกรัฐมนตรีมาเลเซียของ ฯพณฯ เป็นหมุดหมายของการฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเราให้กลับคืนมาใหม่ ชาวมาเลเซียและชาวไทยได้เดินทางและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเสรีข้ามพรมแดนของเรา แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลของเราจะไม่ได้มองที่จะใช้การอยู่ร่วมกันของเรา เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน

    ดร.ทนงกล่าวปิดท้ายว่า อย่าลืมว่าประเทศไทยและมาเลเซียยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจร่วมกันมากมาย ที่เราสามารถพัฒนาร่วมกันได้ รวมกันแล้ว เรามีพลังงานและอาหารอุดมสมบูรณ์ รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับผู้บริโภคจากต่างประเทศ