ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเตรียมคุมเข้มนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำ

ASEAN Roundup เวียดนามเตรียมคุมเข้มนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำ

4 ธันวาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2565

  • เวียดนามเตรียมคุมเข้มนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำ
  • เวียดนามส่งออกข้าวสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้
  • ไทย-เวียดนามได้ข้อตกลงส่งออกข้าวใหม่
  • กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าว 1 ล้านตันใน 5 ปีข้างหน้า
  • รัฐบาลเวียดนามจะขายหุ้นใน 141 บริษัท แปรรูป 19 รัฐวิสาหกิจ
  • เมียนมาคลายกฎโควิดสำหรับต่างชาติ
  • ธนาคารกลางเมียนมาอนุญาตผู้ส่งออกถือหยวน-บาทได้ 35%
  • อินโดนีเซียกลับมาให้ Multiple Visa อีกครั้ง
  • อันวาร์ อิบราฮิมควบตำแหน่งรมต.คลัง
  • เวียดนามเตรียมคุมเข้มนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำ

    ที่มาภาพ: http://asiacom.vn/rice-is-an-integral-part-of-life-in-vietnam/
    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ากำลังร่างกฎหมายการค้าข้าวเพื่อจำกัดการนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำ หลังจากปริมาณการนำเข้าข้าวเกรดต่ำจากอินเดียเพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาที่ต่ำและภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย(ASEAN-India Free Trade Area) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวและความมั่นคงทางอาหารของเวียดนามเอง

    สถิติของกระทรวงพบว่า ปีที่แล้ว เวียดนามนำเข้าข้าวหนึ่งล้านตันจากประเทศต่างๆ รวมถึงกว่า 72% จากอินเดีย

    ข้าวคุณภาพต่ำรวมถึงข้าวหัก ที่นำเข้าจากอินเดียส่วนใหญ่ใช้ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เค้ก อาหารสัตว์ เบียร์และสุรา

    เวียดนามซึ่งส่งออกข้าวเกรดสูงเป็นหลักปีละ 6-6.5 ล้านตันไปยัง 156 ประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ ได้นำเข้าข้าวอินเดียเพียง 5,000 ตันในปี 2562 ตามข้อมูลของกระทรวง

    ฟาม ไท่ บินห์ ผู้อำนวยการทั่วไปของ Trung An Hi-tech Farming Joint Stock Company กล่าวว่า “รายได้ของชาวนาเวียดนามยังคงไม่แน่นอน แทนที่จะนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำ ผู้ประกอบการสามารถซื้อข้าวในตลาดภายในประเทศได้ ซึ่งจะช่วยให้ราคาขายสูงขึ้นและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น”

    ตามร่างกฎหมาย หากปริมาณการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตในประเทศ ก็จะมีการคุมเข้มการนำเข้า

    นอกจากนี้ผู้ค้าข้าวยังต้องเผชิญกับบทลงโทษที่เข้มงวดขึ้นหากไม่จัดทำรายงานประจำไตรมาสและประจำปีเกี่ยวกับการส่งออกและสินค้าคงคลังตามที่กำหนด

    เวียดนามส่งออกข้าวสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnams-rice-exports-to-surpass-annual-target/238810.vnp
    ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามยังคงสูงในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่การส่งออกข้าวไปยังประเทศในยุโรป จีน และฟิลิปปินส์เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้การส่งออกข้าวในปีนี้คาดว่าจะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 7 ล้านตัน

    สถิติจากกระทรวงการพัฒนาการเกษตรและชนบทแสดงให้เห็นว่า เวียดนามจัดส่งข้าวประมาณ 600,000 ตัน มูลค่า 296 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมดในปีนี้จนถึงเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่เกือบ 6.7 ล้านตันและ 3.24 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ปีนี้ ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้น 17% เป็น 3.4 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามยังได้รับคำสั่งซื้อข้าวจากสหภาพยุโรปและจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวที่มีคุณภาพและข้าวหอม

    ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เวียดนามจัดส่งข้าวกว่า 50,000 ตันไปยังตลาดยุโรป สร้างรายได้ 37 ล้านเหรียญสหรัฐ พุ่งสูงขึ้น 84% ในเชิงปริมาณและเพิ่มขึ้น 96% ในเชิงมูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

    ผู้สังเกตการณ์ในตลาดระบุว่า การส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป เป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปทานข้าวสาลีและทำให้ต้องหันมาบริโภคข้าวแทน

    ขณะที่ราคาข้าวหัก 5% ของเวียดนามในตลาดโลกยังคงสูงถึง 438 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน สูงกว่าของไทย 13-28 เหรียญสหรัฐฯ และสูงกว่าอินเดีย 60-65 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน

    อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก สั่งห้ามส่งออกข้าวหักและเก็บภาษีส่งออก 20% สำหรับข้าวหลายชนิด ส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดโลกลดลง และทำให้ราคาข้าวเวียดนามสูงขึ้น เล ทันห์ ฮวา รองผู้อำนวยการ Department of Agricultural Product Processing and Market Development กล่าว ในระหว่างการสัมมนาล่าสุดเรื่องการเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทานข้าวในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

    “หลายประเทศเพิ่มการนำเข้าข้าวเพื่อทดแทนข้าวสาลี เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้การส่งออกข้าวมีการเติบโตที่สดใสในช่วงปลายปี ในความเห็นของผม การส่งออกข้าวของเวียดนามจะทำสถิติสูงสุดเหมือนปี 2555 โดยส่งออกได้มากกว่า 7 ล้านตัน” ฮวา กล่าว

    ไทย-เวียดนามได้ข้อตกลงส่งออกข้าวใหม่

    ราคาส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นทั่ว ศูนย์กลางสำคัญๆ ของเอเชียในสัปดาห์นี้ เนื่องจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งที่มาจากอินโดนีเซีย ขณะที่ผู้ซื้อบางรายหันไปใช้ซื้อข้าวอินเดียที่มีราคาถูกกว่า

    ข้าวหัก 5% ของเวียดนามเสนอขายในราคา 440-445 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 438 เหรีญญสหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

    “ราคาสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Bulog หน่วยงานจัดหาอาหารของอินโดนีเซีย” ผู้ค้าในนครโฮจิมินห์กล่าว

    “ราคาที่สูงขึ้นของเวียดนามอาจกระตุ้นให้ผู้ซื้อชาวคิวบาหันไปซื้อข้าวราคาถูกจากอินเดีย” ผู้ค้ากล่าว พร้อมเสริมว่า เรือลำหนึ่งกำลังบรรทุกข้าว 28,000 ตันที่ท่าเรือคากินาดา ในรัฐอานธรประเทศทางตอนใต้ของอินเดีย เพื่อส่งมอบไปยังคิวบา นอกจากนี้อุปทานในประเทศใกล้หมด จึงมีแนวโน้มว่าจะทำให้ราคาข้าวเวียดนามยังคงอยู่ในระดับสูงในอีก 2-3 สัปดาห์หน้า

    ราคาข้าวหัก 5% ที่เป็นข้าวนึ่ง ของอินเดียผู้ส่งออกอันดับต้น ๆ อยู่ที่ 375-380 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 373-378 เหรียญสหรัฐฯต่อตันในสัปดาห์ที่แล้ว

    “ข้าวอินเดียมีจำหน่ายในราคาส่วนลด ทำให้ผู้ซื้อหันมาซื้อกับอินเดียแทนประเทศผู้ส่งออกรายอื่น” ผู้ส่งออกจากเมืองคากินาดาในรัฐอานธรประเทศกล่าว

    การส่งออกข้าวบาสมาตีระดับพรีเมียมของอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 15% จากปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ซื้อรายสำคัญในตะวันออกกลางเพิ่มการ
    สต็อกข้าวในคลัง

    ราคาข้าวหัก 5% ของไทย เพิ่มขึ้นเป็น 427-440 เหรียญสหรัฐต่อตันในสัปดาห์นี้ จาก 419-425 เหรียญสหรัฐฯในสัปดาห์ที่แล้ว โดยผู้ค้าระบุว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นมาจากข่าวข้อตกลงใหม่

    “ราคาพุ่งขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว หลังมีข่าวว่าอินโดนีเซียต้องการซื้อข้าว 1 ถึง 2 แสนตัน” ผู้ค้ารายหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าว ผู้ค้ารายอื่นกล่าวว่า ผู้นำเข้าในประเทศกำลังเพิ่มสต็อกก่อนสิ้นปี ก็มีผลให้ราคาเพิ่มขึ้น

    ในขณะเดียวกัน คณะผู้แทนบังกลาเทศกำลังเดินทางเยือนไทย เวียดนาม และกัมพูชาในสัปดาห์นี้ เพื่อขอนำเข้าข้าว เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงอาหารระบุ เนื่องจากประสบปัญหาในการสำรองข้าว

    กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าว 1 ล้านตันใน 5 ปีข้างหน้า

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501192888/one-million-tons-rice-export-target-set-for-next-five-years/

    กัมพูชาซึ่งมุ่งมั่นที่จะสร้างชื่อประเทศในฐานะ “ตะกร้าข้าว” และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ มีเป้าหมายที่จะส่งออกข้าวอย่างน้อยหนึ่งล้านตันต่อปี ในปี 2566 เป็นต้นไป และทำรายได้ประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี จากการส่งออกข้าวสารและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่ทำจากข้าวกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    “ในอีก 5 ปีข้างหน้า รัฐบาลกัมพูชาต้องการส่งออกข้าวอย่างน้อยปีละ 1 ล้านตัน” เจ้าหน้าที่ของสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Federation:CRF) กล่าว

    กัมพูชายังต้องการมีส่วนร่วมในตลาดโลกผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 150,000 ตันและสร้างรายได้ 7,000 เหรียญสหรัฐฯต่อตันต่อปี โดยการขยายตัวของการส่งออกข้าวน่าจะได้รับการสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่ทำจากข้าว การพัฒนาตลาดใหม่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในสหภาพยุโรป และแน่นอนว่าตลาดจีน

    “รัฐบาลต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้ขยายไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีมูลค่าเพิ่มสำหรับตลาดใหม่” CRF ระบุ

    “เราเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศเติบโต และจะสามารถตอบสนองความต้องการในท้องถิ่นรวมถึงการส่งออกไปต่างประเทศได้” กล่าว

    รัฐบาลได้เปิดตลาดใหม่ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (CEPA) และบันทึกความเข้าใจหลายฉบับ (MOU) CRF เป็นองค์กรที่รัฐบาลรับรอง และมีสมาชิกกว่า 240 รายจากภาคเกษตรกรรมกล่าว

    กัมพูชาได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MoU) กับติมอร์ตะวันออก (ติมอร์เลสเตอร์) ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ และจีน และขณะที่ยังเดินหน้าเจรจาเพื่อการส่งออกข้าวและการลงทุนในภาคการเกษตรกับหลายประเทศ

    เป้าหมายของการส่งออกข้าวกัมพูชาไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม เพราะในเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2565 กัมพูชาได้จัดส่งข้าว 509,249 ตัน มูลค่า 323.90 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 10.67% ในช่วง 10 เดือนแรกของปีที่แล้ว นายพาน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวในการประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนว่า ได้ส่งออกข้าวไปยัง 56 ประเทศแล้ว

    ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชามีรายได้ 3.07 พันล้านดอลลาร์จากการส่งออกสินค้าเกษตร 7.62 ล้านตัน จากรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง (MAFF) เมื่อวันเสาร์

    จากจำนวนข้าวสารทั้งหมดที่กัมพูชาจัดส่งในเดือนมกราคมถึงกันยายน 2565 จีนเป็นผู้ซื้อ 198,107 ตัน (44.09%) นอกจากจีนแล้ว ยังมี 9 ประเทศที่คิดเป็นกว่า 81% ของตลาดส่งออกของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝรั่งเศสคิดเป็น 14.83% มาเลเซีย 5.58% เนเธอร์แลนด์ 4.65% อิตาลี 2.65% กาบอง 2.63% บรูไน 2.44% สหราชอาณาจักร 2.25% และเยอรมนี 2.08% ข้าวที่เหลือซื้อโดยอีก 48 ประเทศ

    ตามรายงานราคาอาหารเดือนกันยายนของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) และกระทรวงเกษตร ในเดือนมกราคมถึงกันยายน กัมพูชาส่งออกข้าวสารมูลค่าเกือบ 287 ล้านเหรียญาสหรัฐฯ(450,000 ตัน) ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% ในช่วงกว่า 9 เดือนของปีนี้ และยังมีการส่งออกข้าวเปลือกกว่า 2.36 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 564 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    “ราคาส่งออกลดลงเนื่องจากราคาข้าวทั่วโลกลดลง เป็นผลจากผลผลิตส่วนเกินในประเทศผู้ผลิตข้าว” รายงานของ WFP ระบุ

    ในทำนองเดียวกัน ในข้าวสารทั้งหมดที่จัดส่งในเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม ข้าวหอม คิดเป็น 65.8% ข้าวขาว 30% ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ อย่างละกว่า 2%

    แถลงการณ์ของกระทรวงฯ ระบุว่าในปี 2564 กัมพูชาส่งออกข้าวสาร 617,069 ตัน มูลค่า 527 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามรายงานของ MAFF น้อยกว่าการส่งออกในปี 2563 ราว 10.68% ในจำนวนนี้ 74.13% (457,415 ตัน) เป็นข้าวหอม ข้าวขาว 24.16% (149,080 ตัน) และ1.71% (10,574 ตัน) ตามลำดับ

    ในขณะเดียวกันจีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของข้าวสารกัมพูชาด้วยปริมาณ 309,709 ตัน ประเทศในสหภาพยุโรปซื้อ 155,773 ตัน และประเทศสมาชิกอาเซียนนำเข้า 63,165 ตัน ส่วนที่เหลืออีก 88,422 ตันส่งออกไปยังปลายทางอื่น

    กระทรวงฯ ระบุว่า กัมพูชาส่งออกข้าวเปลือกไปยังเวียดนามจำนวน 3.52 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 61.16% จากปี 2563 และสร้างรายได้กว่า 631 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    สมาพันธ์ค้าข้าวกล่าวว่า จากการที่รัฐบาลกัมพูชากำหนดเป้าหมายการส่งออกปี 2565 ไว้ที่ 1 ล้านตัน สมาพันธ์ฯ จะพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวหอมที่มีความต้องการของตลาดสูง

    “ตามแผนที่มีคือ ผลิตพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ให้ผลผลิตสูง และต้นทุนต่ำ เพื่อเพิ่มคุณภาพข้าวเพื่อการส่งออก เราจะพิจารณาราคาขายที่เหมาะสมมากขึ้นโดยไม่ต้องขายในราคาที่สูงในประเทศคู่แข่ง” สมาพันธ์ระบุ

    รัฐบาลเวียดนามจะขายหุ้นใน 141 บริษัท แปรรูป 19 รัฐวิสาหกิจ

    รัฐบาลเวียดนามมีแผนที่จะขายหุ้นใน 141 บริษัทและแปรรูปอีก 19 บริษัทภายในปี 2568

    จากการตัดสินใจปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจในช่วงปี 2565-2568 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน รัฐบาลจะคงสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ 126 แห่ง และบริษัทจำกัดแบบมีผู้ถือหุ้นรายเดียวอีก 195 แห่ง และปรับโครงสร้างอีก 26 แห่ง

    การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการแปรรูปได้ชะลอตัวลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด

    กระทรวงการคลังรายงานว่า รัฐบาลระดมทุนได้ประมาณ 3.36 ล้านล้านด่อง (135.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จากการขายเงินลงทุนในรัฐวิสาหกิจในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้

    ในช่วงปี 2559-2563 มีการแปรรูป 180 บริษัท ทำให้รัฐบาลสามารถระดมทุนได้เกือบ 177.4 ล้านล้านด่อง หรือ 6.5 เท่าของมูลค่าตามบัญชี จากข้อมูลของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและปฏิรูปธุรกิจ

    เมียนมาคลายกฎโควิดสำหรับต่างชาติ

    ที่มาภาพ: https://www.gnlm.com.mm/covid-restrictions-to-be-eased-for-travellers-to-myanmar-via-intl-flights/
    กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จะผ่อนคลายกฎระเบียบและข้อบังคับสำหรับโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าเมียนมา เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม หลังจากอัตราการติดเชื้อในประเทศลดลงและการตรวจหาเชื้อที่ได้ผลบวกลดลงต่ำกว่า 1% มาเป็นเวลา 14 วันติดต่อกัน

    ก่อนหน้านี้ผู้เดินทางเข้าต้องแสดงใบรับการฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้รับวัคซีนครบถ้วนหรือมีผลการทดสอบ RT-PCR เป็นลบภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นพวกเขาจะต้องทำการทดสอบ RDT ที่สนามบิน

    ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เช้าวันที่ 1 ธันวาคม ข้อกำหนดในการตรวจกับ RDT จะมีการผ่อนปรนให้กับผู้เดินทางเข้าเมียน มา โดยมีรายละเอียดเผยแพร่ใน “ข้อกำหนดด้านสาธารณสุขสำหรับผู้เดินทางที่ต้องการเข้าเมียนมาผ่านเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ” ในวันเดียวกัน

    นอกจากนี้ ข้อกำหนดด้านสาธารณสุขสำหรับผู้เดินทางโดยเที่ยวบินบรรเทาทุกข์และผู้เดินทางผ่านพรมแดนทางบกจะยังคงเหมือนเดิมตามข้อกำหนดที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565

    ธนาคารกลางเมียนมาอนุญาตผู้ส่งออกถือหยวน-บาทได้ 35%

    ที่มาภาพ: https://www.frontiermyanmar.net/en/the-currency-crisis-and-why-we-should-brace-for-stagflation/
    ธนาคารกลางแห่งเมียนมาประกาศให้ ใช้สกุลเงินหยวนจีนและเงินบาทในการส่งออกสินค้าได้นอกเหนือจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

    อ่อง อ่อง จากธนาคารกลางแห่งเมียนมากล่าวว่า “สินค้าส่งออก เช่น ถั่วและถั่วพัลส์ พืชน้ำมันที่ใช้บริโภค ข้าวโพด ยางพารา ผลิตภัณฑ์ทางทะเล สินค้าปศุสัตว์ ได้รับอนุญาตให้ชำระเป็นสกุลเงินหยวนจีนและไทยบาท

    แต่ต้องนำรายได้จากการส่งออกที่ได้รับในสกุลเงินหยวนและเงินบาทประมาณ 65% มาแลกกับธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาต เป็นสกุลเงินท้องถิ่นตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอ้างอิงของธนาคารกลาง ผู้ส่งออกสามารถใช้ 35% ของรายได้จากการส่งออกและโอนหรือขายให้กับผู้อื่นได้อย่างเสรี

    ผู้ส่งออกและผู้ซื้อสามารถใช้รายได้จากการส่งออกได้ภายใน 30 วัน และต้องขายรายได้ที่ไม่ได้ใช้ให้กับธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตหลังจาก 30 วัน

    ธนาคารกลางเมียนมามีการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศบนเว็บไซต์ทางการทุกวัน

    อินโดนีเซียกลับมาให้ Multiple Visa อีกครั้ง

    ที่มาภาพ: https://international-adviser.com/indonesia-to-increase-taxes-for-high-net-worth-individuals/

    สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของอินโดนีเซียได้กลับมาให้ Multiple Visa หรือ วีซ่าที่สามารถเข้าประเทศได้หลายครั้งอีกครั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หลังจากระงับไว้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

    ผู้ถือวีซ่าสามารถพำนักในอินโดนีเซียได้สูงสุด 60 วันสำหรับเดินทางแต่ละครั้งภายในหนึ่งปี โดยไม่จำเป็นต้องยื่นขอวีซ่าใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ถือวีซ่านี้สามารถเข้าประเทศอินโดนีเซียผ่านทางจังหวัดเกาะรีเยาเท่านั้น และสามารถเดินทางออกจากที่นั่นเพื่อเยี่ยมชมพื้นที่อื่น ๆ ของอินโดนีเซียได้

    นอกจากนี้ ผู้ถือวีซ่า Multiple Visa สามารถทำกิจกรรมต่อไปนี้ในอินโดนีเซีย คือ การพบปะกับราชการอย่างเป็นทางการ การวางแผน/การวิจัยก่อนการลงทุน การเยี่ยมญาติ และการเดินทางเพื่อธุรกิจ

    สำหรับข้อกำหนดในการขอวีซ่าเข้าอินโดนีเซียแบบ Multiple Visa ได้แก่ หนังสือเดินทางมีอายุอย่างน้อย 18 เดือน, จดหมายเชิญจากผู้สนับสนุนชาวอินโดนีเซียระบุวัตถุประสงค์ของการเดินทางของผู้ยื่นขอและระยะเวลาพำนัก ผู้สนับสนุนชาวอินโดนีเซียจะต้องส่งใบยื่นขอออนไลน์ไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงจาการ์ตาในนามของผู้ยื่นขอ, จดหมายสมัครงานจากบริษัทของผู้ยื่นขอเอง,รูปถ่ายขนาดหนังสือเดินทางหนึ่งรูป (พื้นหลังสีขาว), สำเนาตั๋วเครื่องบินไป-กลับอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ยื่นขอ,ชำระค่าธรรมเนียม 3 ล้านรูเปียะห์ (193 ดอลลาร์สหรัฐ),สเตทเม้นท์จากธนาคารที่แสดงว่าผู้ยื่นขอมีเงินอย่างน้อย 2,000 เหรียญสหรัฐเพื่อการค่าครองชีพในขณะที่อยู่ในอินโดนีเซีย,หลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างครบถ้วน และ หลักฐานประกันสุขภาพ

    โดยปกติกระบวนการจะใช้เวลา 5 วันทำการ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะออกหนังสืออนุมัติวีซ่าให้ จากนั้นจะถูกส่งไปยังสถานทูตอินโดนีเซียที่ใกล้ที่สุดของผู้ยื่นขอซึ่งจะออกวีซ่าให้

    อันวาร์ อิบราฮิมควบตำแหน่งรมต.คลัง

    อันวาร์ อิบราฮิม ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี ที่มาภาพ:Official Facebook Page of Anwar Ibrahim
    อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เข้าทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่ง เพราะต้องการประคับประคองการฟื้นตัวที่เปราะบางหลังการแพร่ระบาด และเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวในปีหน้า

    “ผมต้องการเริ่มแนวทางใหม่” และให้ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจแก่ผู้ค้าในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ อันวาร์กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีเมื่อเย็นวันศุกร์ (2 ธ.ค.)

    ความท้าทายเร่งด่วนของอันวาร์คือการนำเสนองบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังประสบกับแรงกดดันของเงินเฟ้อ ค่าเงินที่อ่อนค่า และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวย

    อันวาร์เป็นนักปฏิรูปที่เป็นผู้นำแนวร่วมหลายเชื้อชาติ ทำให้การปกป้องกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นมีความสำคัญลำดับต้นในการบริหารของเขา

    รัฐบาลของเขาจะเผชิญกับ “แรงกดดันจากสาธารณะให้ใช้เงินอุดหนุนเพื่อตรึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น” ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการรวมงบประมาณ นักวิเคราะห์ของ Fitch Ratings นำโดย Kathleen Chen ระบุในบทวิเคราะห์

    ธนาคารกลางมาเลเซียคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียคาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 4-5% ในปี 2566 จากที่คาดการณ์ไว้มากกว่า 7% ในปีนี้ ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเปิดประเทศอีกครั้งในปี 2565 ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศพุ่งขึ้น 14.2% ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบกว่าหนึ่งปี

    การชะลอตัวที่คาดการณ์ไว้อาจทำให้รัฐบาลของอันวาร์ยังคงต้องใช้เงินพยุง ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2565 ชะลอแผนการลดการขาดดุลงบประมาณและคุมหนี้สาธารณะ

    อันวาร์ยังเสนอชื่ออาหมัด ซาฮิด ฮามิดี ผู้นำอัมโน และฟาดิลลาห์ ยูโซฟ แห่งกาบุงกัน ปาร์ตี ซาราวัก เป็นรองนายกรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีที่เล็กลง โดยมีรัฐมนตรีเพียง 25 คน จากการแต่งตั้งที่กระจายไปตามผู้นำระดับสูงของพรรคต่างๆ ซึ่งร่วมกันจัดตั้งเป็นรัฐบาล และหนึ่งในนั้นเต็งกู ซาฟรุล อาซิซ อดีตรัฐมนตรีคลัง จะเป็นรัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม Anthony Loke จะเป็นรัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่ และดร.ซาลีฮา มุสตาฟาจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข

    อันวาร์กล่าวว่า เขาได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อรายงานความจำเป็นในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีโดยด่วน “มีหลายคนมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ที่นั่งมีจำกัด เพราะเราไม่ต้องการให้มีรัฐมนตรีหรือผู้แทนพิเศษมากเกินไป เพื่อที่เราจะประหยัดเงินและใช้กับประชาชนได้” อันวาร์กล่าวในการปราศรัยที่งานหนึ่งในเมืองเประ โดยย้ำถึงเป้าหมายของเขาที่จะให้คณะรัฐมนตรีมีความคล่องตัว

    อันวาร์ได้พูดคุยกับพันธมิตรหลายแห่งรวมถึงพรรคการเมืองในกลุ่มพันธมิตร PH ของเขาในการตัดสินใจว่าใครจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีรายชื่อคณะรัฐมนตรีจะแสดงให้เห็นว่า เขาจะต้องประนีประนอมแบบใดเพื่อให้รัฐบาลร่วมของเขาอยู่ได้ ก่อนการลงมติไว้วางใจในวันที่ 19 ธันวาคม

    อันวาร์กล่าวว่า คณะบริหารของเขาจะมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น เงินเฟ้อและการว่างงาน หลังจากจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว “ผมจะมีการประชุมนัดพิเศษกับพวกเขาในวันจันทร์เพื่อตั้งกฎพื้นฐานสองสามข้อทันที”

    นักลงทุนต่างขานรับการเข้ารับตำแหน่งของเขา โดยหวังว่าอันวาร์จะนำมาซึ่งความมั่นคง หลังจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ทำให้มีนายกรัฐมนตรีถึง 3 คนในรอบหลายปี